๗. โภชนทานสูตร ว่าด้วยทายกผู้ให้โภชนะชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 85
ปฐมปัณณาสก์
สุมนวรรคที่ ๔
๗. โภชนทานสูตร
ว่าด้วยทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่า ให้ฐานะ ๕ อย่าง แก่ปฏิคาหก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 85
๗. โภชนทานสูตร
ว่าด้วยทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่า ให้ฐานะ ๕ อย่าง แก่ปฏิคาหก
[๓๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่า ให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก ๕ อย่างเป็นไฉน คือ ให้อายุ ๑ ให้วรรณะ ๑ ให้สุข ๑ ให้กำลัง ๑ ให้ปฏิภาณ ๑ ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุข ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกำลัง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะ เป็นทาน ชื่อว่า ให้ฐานะ ๕ อย่าง นี้แล.
ปราชญ์ผู้มีปัญญา ให้อายุย่อมได้อายุ ให้กำลังย่อมได้กำลัง ให้วรรณะย่อมได้วรรณะ ให้ปฏิภาณย่อมได้ปฏิภาณ ให้สุขย่อมได้สุข ครั้นให้อายุ กำลัง วรรณะ สุข และปฏิภาณแล้ว จะเกิดในที่ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศ.
จบโภชนทานสูตรที่ ๗
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 86
อรรถกถาโภชนทานสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในโภชนทานสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อายุํ เทติ ได้แก่ ชื่อว่าย่อมให้อายุ. บทว่า วณฺณํ คือ ผิวพรรณแห่งร่างกาย. บทว่า สุขํ คือ สุขทางกาย และทางใจ. บทว่า พลํ คือ เรี่ยวแรงแห่งร่างกาย. บทว่า ปฏิภาณํ คือ ฉลาดผูกปัญหา และแก้ปัญหา.
จบอรรถกถา โภชนาทานสูตรที่ ๗