พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. จักกสูตร ว่าด้วยองค์คุณของพระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ต.ค. 2564
หมายเลข  39204
อ่าน  407

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 273

ตติยปัณณาสก์

ราชวรรคที่ ๔

๑. จักกสูตร

ว่าด้วยองค์คุณของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 273

ราชวรรคที่ ๔

๑. จักกสูตร

ว่าด้วยองค์คุณของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ

[๑๓๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อมทรงยังจักรให้เป็นไป โดยธรรมทีเดียว จักรนั้นย่อมเป็นจักร อันมนุษย์ผู้เป็นข้าศึกใดๆ จะต้านทานมิได้ องค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ เป็นผู้ทรงรู้ผล ๑ ทรงรู้เหตุ ๑ ทรงรู้ประมาณ ๑ ทรงรู้จักกาล ๑ ทรงรู้จักบริษัท ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ นี้แล ย่อมทรงยังจักรให้เป็นไป โดยธรรมทีเดียว จักรนั้นย่อมเป็นจักร อันมนุษย์ผู้เป็นข้าศึกใดๆ จะต้านทานมิได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมทรงยังธรรมจักรชั้นเยี่ยม ให้เป็นไปโดยธรรมทีเดียว ธรรมจักรนั้น ย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้ ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลกนี้ ทรงรู้จักผล ๑ ทรงรู้จักเหตุ ๑ ทรงรู้จักประมาณ ๑ ทรงรู้จักกาล ๑ ทรงรู้จักบริษัท ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมทรงยังธรรมจักรชั้นเยี่ยมให้เป็นไปโดยธรรมทีเดียว ธรรมจักรนั้น ย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ ใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

จบจักกสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 274

ราชวรรควรรณนาที่ ๔

อรรถกถาจักกสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในจักกสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ธมฺเมน ได้แก่ โดยกุศลธรรม ๑๐. บทว่า จกฺกํ ได้แก่ อาณาจักร. บทว่า อตฺถญฺญู ได้แก่ รู้ประโยชน์แห่งราชสมบัติ. บทว่า ธมฺมญฺญู ได้แก่ รู้ธรรมคือประเพณี. บทว่า มตฺตญฺญู ได้แก่ รู้ประมาณในการลงราชอาชญา หรือในการเก็บภาษีอากร. บทว่า กาลญฺญู ได้แก่ รู้เวลา เสวยสุขในราชสมบัติ เวลากระทำการวินิจฉัย และเวลาเสด็จจาริกไปในชนบท. บทว่า ปริสญฺญู ได้แก่ รู้ว่า นี้ชุมนุมกษัตริย์ นี้ชุมนุมพราหมณ์ นี้ชุมนุมแพศย์ นี้ชุมนุมศูทร นี้ชุมนุมสมณะ.

ในตถาคตวาร พึงทราบเนื้อความดังนี้. บทว่า อตฺถญฺญู ได้แก่ รู้อรรถ ๕. บทว่า ธมฺมญฺญู ได้แก่ รู้ธรรม ๔. บทว่า มตฺตญฺญู ได้แก่ รู้ประมาณในการรับ และบริโภคปัจจัย ๔. บทว่า กาลญฺญู ได้แก่ รู้กาล อย่างนี้ว่า นี้เวลาหลีกเร้น นี้เวลาเข้าสมาบัติ นี้เวลาแสดงธรรม นี้เวลาจาริกไปในชนบท. บทว่า ปริสญฺญู ได้แก่ รู้ว่า นี้บริษัทกษัตริย์ ฯลฯ นี้บริษัทสมณะ. บทว่า อนุตฺตรํ ได้แก่ ยอดเยี่ยมโดยโลกุตตรธรรม ๙. บทว่า ธมฺมจกฺกํ ได้แก่ จักรอันประเสริฐที่สุด.

จบอรรถกถา จักกสูตรที่ ๑