พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ราชสูตร ว่าด้วยพระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิเคารพธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ต.ค. 2564
หมายเลข  39206
อ่าน  366

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 276

ตติยปัณณาสก์

ราชวรรคที่ ๔

๓. ราชสูตร

ว่าด้วยพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิเคารพธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 276

๓. ราชสูตร

ว่าด้วยพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิเคารพธรรม

[๑๓๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดแล ผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรน เป็นพระธรรมราชา พระเจ้าจักรพรรดิแม้พระองค์นั้น ย่อมไม่ทรงยังจักรให้เป็นไป ณ ประเทศที่ไม่มีพระราชา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ใครเป็นพระราชาของพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ธรรมซิ ภิกษุ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุ พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 277

เป็นพระธรรมราชาในโลกนี้ ทรงอาศัยธรรมนั่นแหละ ทรงสักการะ เคารพ นอบน้อมธรรม ทรงมีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรมในชนภายใน

อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรม ในกษัตริย์เหล่าอนุยนต์ [พระราชวงศานุวงศ์] ในหมู่ทหาร พราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคมชนบท สมณพราหมณ์ เนื้อ และนกทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชาพระองค์นั้น ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่ ครั้นทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครอง ที่เป็นธรรมในชนภายใน ในกษัตริย์เหล่าอนุยนต์ ในหมู่ทหาร พราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคมชนบท สมณะ พราหมณ์ เนื้อ และนกทั้งหลายแล้ว ย่อมทรงยังจักร ให้เป็นไปโดยธรรมเทียว จักรนั้นย่อมเป็นจักร อันมนุษย์ผู้เป็นข้าศึกใดๆ จะต้านทานมิได้ ดูก่อนภิกษุ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นแหละ ทรงสักการะ เคารพนอบน้อมธรรม ทรงมีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรมในพวกภิกษุว่า กายกรรมเช่นนี้ควรเสพ กายกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ วจีกรรมเช่นนี้ควรเสพ วจีกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ มโนกรรมเช่นนี้ควรเสพ มโนกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ อาชีวะเช่นนี้ควรเสพ อาชีวะ เช่นนี้ไม่ควรเสพ บ้านนิคมเช่นนี้ควรเสพ บ้านนิคมเช่นนี้ไม่ควรเสพ.

อีกประการหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรมในพวกภิกษุณี ... ในพวกอุบาสก ...

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 278

ในพวกอุบาสิกาว่า กายกรรมเช่นนี้ควรเสพ กายกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ บ้านนิคมเช่นนี้ควรเสพ บ้านนิคมเช่นนี้ไม่ควรเสพ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชาพระองค์นั้น ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่ ครั้นทรงจัดแจง การรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรม ในพวกภิกษุ ในพวกภิกษุณี ในพวกอุบาสก ในพวกอุบาสิกาแล้ว ย่อมทรงยังธรรมจักรชั้นเยี่ยม ให้เป็นไปโดยธรรมเทียว ธรรมจักรนั้น ย่อมเป็นจักร อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้.

จบราชสูตรที่ ๓

อรรถกถาราชสูตร

ราชสูตรที่ ๓ มีนัยดังกล่าวแล้วในติกนิบาต นั่นแล. แต่ในสูตรนี้ มีต่างกันอยู่ ๒ บทหลังเท่านั้น คือบทที่ว่าควรเสพ และไม่ควรเสพ. ใน ๒ บทนั้น สัมมาอาชีวะ ควรเสพ มิจฉาอาชีวะ ไม่ควรเสพ. คาม และนิคม ที่เป็นสัปปายะควรเสพ ที่ไม่เป็นสัปปายะไม่ควรเสพ.

จบอรรถกถา ราชสูตรที่ ๓