พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ยัสสทิสสูตร ว่าด้วยองค์คุณของกษัตริย์และของภิกษุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ต.ค. 2564
หมายเลข  39207
อ่าน  431

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 279

ตติยปัณณาสก์

ราชวรรคที่ ๔

๔. ยัสสทิสสูตร

ว่าด้วยองค์คุณของกษัตริย์ และของภิกษุ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 279

๔. ยัสสทิสสูตร

ว่าด้วยองค์คุณของกษัตริย์ และของภิกษุ

[๑๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาผู้กษัตริย์ได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ จะทรงประทับอยู่ ณ ทิศใดๆ ก็เหมือนกับ ประทับอยู่ ณ รัฐของพระองค์เอง องค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ พระราชาผู้กษัตริย์ได้มูรธาภิเษกแล้วในโลกนี้ ทรงเป็นอุภโตสุชาติทั้งฝ่ายพระมารดา ทั้งฝ่ายพระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้อันใครๆ จะคัดค้านตำหนิ โดยอ้างถึงพระชาติไม่ได้ ๑ ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชโภคะมาก มีฉาง และพระคลังบริบูรณ์ ๑ ทรงเป็นผู้มีกำลัง ประกอบด้วยจตุรงคินีเสนา ผู้เชื่อฟังทำตามรับสั่ง ๑ ทรงมีปริณายกเป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา สามารถคิดเหตุการณ์ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ๑ ธรรม ๔ ประการนี้ของพระองค์ ย่อมยังพระยศให้แก่กล้า พระองค์ทรงประกอบด้วยธรรม ที่มีพระยศเป็นที่ ๕ นี้ จะทรงประทับอยู่ ณ ทิศใดๆ ก็เหมือนกับประทับอยู่ ณ รัฐของพระองค์เอง ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า ข้อนั้น ย่อมมี สำหรับพระราชาผู้ครองรัฐอย่างนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะอยู่ ณ ทิศใดๆ ก็เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วเทียว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษา อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เหมือนพระราชาผู้กษัตริย์ได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงสมบูรณ์ด้วยพระชาติฉะนั้น ๑ เธอเป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ เหมือนพระราชาผู้กษัตริย์ได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงมั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 280

มีพระราชโภคะมาก มีฉางและพระคลังบริบูรณ์ฉะนั้น ๑ เธอเป็นผู้ปรารภ ความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย เหมือนพระราชาผู้กษัตริย์ได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงสมบูรณ์ด้วยกำลังฉะนั้น ๑ เธอเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเครื่องหยั่งเห็นความเกิด และความดับ อันประเสริฐ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เหมือนพระราชาผู้กษัตริย์ได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงสมบูรณ์ด้วยปริณายกฉะนั้น ๑ ธรรม ๔ ประการนี้ของเธอ ย่อมบ่มวิมุตติให้แก่กล้า เธอประกอบด้วยธรรมมีวิมุตติเป็นที่ ๕ นี้ ย่อมอยู่ ณ ทิศใดๆ ก็เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วเทียว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าข้อนั้น ย่อมมีสำหรับภิกษุ ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนั้น.

จบยัสสทิสสูตรที่ ๔

อรรถกถายัสสทิสสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในยัสสทิสสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อุภโต ได้แก่ จากทั้ง ๒ ฝ่าย. บทว่า มาติโต จ ปิติโต จ ความว่า ก็พระราชาพระองค์ใดมีพระมารดาเป็นกษัตริย์ พระมารดาของพระมารดาเป็นกษัตริย์ แม้พระมารดาของพระมารดานั้น ก็มีพระมารดาเป็นกษัตริย์ มีพระบิดาเป็นกษัตริย์ พระบิดาของพระบิดาเป็นกษัตริย์ แม้พระบิดาของพระบิดานั้น ก็มีพระบิดาเป็นกษัตริย์ พระราชาพระองค์นั้น ชื่อว่า มีพระกำเนิดดีจากทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายพระมารดา ทั้งฝ่ายพระบิดา. บทว่า สํสุทฺธคหณิโก ได้แก่ ประกอบด้วยพระครรภ์ของพระมารดา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 281

หมดจดดี. ก็เตโชธาตุซึ่งเกิดแต่กรรม ท่านเรียกว่า คหณี (ครรภ์) ในคำว่า สมเวปากินิยา คหณิยา (ครรภ์ซึ่งมีวิบากเสมอกัน) นี้. บิดาของบิดาชื่อ ปิตามหะ ชั้นของปิตามหะ ชื่อปิตามหยุค ในคำว่า ยาว สตฺตมา ปิตามหยุคา (ถึง ๗ ชั่วปิตามหะ) นี้. ประมาณอายุ ท่านเรียกว่า ยุค. แลคำนี้เป็นเพียง คำพูดกันเท่านั้น. แต่โดยเนื้อความ ปิตามหะนั่นแหละ เป็นปิตามหยุค บรรพบุรุษทั้งหมดเลยนั้นขึ้นไป ท่านถือเอาด้วยศัพท์ ปิตามหะทั้งนั้น เป็นผู้มีพระครรภ์หมดจดดี ถึง ๗ ชั่วบุรุษอย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ท่านแสดงว่า ไม่ถูกคัดค้าน ไม่ถูกติเตียน เพราะเรื่องพระกำเนิด.

บทว่า อกฺขิตฺโต ความว่า ไม่ถูกคัดค้าน คือ ไม่ถูกเพ่งเล็งว่า จงนำเขาออกไป ประโยชน์อะไรด้วยผู้นี้. บทว่า อนุปกุฏฺโ ความว่า ไม่ถูกติเตียน คือไม่เคยถูกด่าหรือนินทา. ถามว่า เพราะเรื่องอะไร. แก้ว่า เพราะเรื่องพระกำเนิด. อธิบายว่า ด้วยคำเห็นปานนี้ว่า ผู้นี้มีกำเนิดเลว แม้ด้วยประการฉะนี้. ในบทว่า อทฺโธ เป็นต้น ความว่า คนใดคนหนึ่ง เป็นผู้มั่งคั่ง เพราะสมบัติซึ่งเป็นของของตน แต่ในที่นี้มิใช่เป็นผู้มั่งคั่ง อย่างเดียวเท่านั้น เป็นผู้มีทรัพย์มาก อธิบายว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทรัพย์มาก คือนับประมาณไม่ได้. เป็นผู้มีโภคะมาก เพราะพระองค์มีโภคะมาก คือโอฬาร ด้วยกามคุณ ๕ โกสะ ในคำว่า ปริปุณฺณโกสโกฏฺาคาโร ท่านกล่าว หมายเอาเรือนคลัง ความว่า มีเรือนคลังบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ที่วางเก็บไว้ และมียุ้งฉางบริบูรณ์ด้วยข้าวเปลือก. อีกอย่างหนึ่ง โกสะมี ๔ อย่าง คือ ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ ทัพพลเดินเท้า. โกฏฐาคาร (คลังยุ้งฉาง) มี ๓ อย่าง คือ คลังทรัพย์ ยุ้งฉางข้าวเปลือก คลังผ้า. พระราชาเป็นผู้มีพระคลัง และยุ้งฉางบริบูรณ์ เพราะพระองค์มีพระคลัง และยุ้งฉางแม้ทั้งหมดนั้นบริบูรณ์.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 282

บทว่า อสฺสวาย ความว่า เมื่อพระราชทานทรัพย์แม้มากแก่ใครๆ เสนาไม่เชื่อฟัง เสนานั้นชื่อว่า เป็นผู้ไม่เชื่อฟัง แม้จะมิได้พระราชทาน แก่ใครๆ เสนาก็เชื่อฟัง เสนานี้ชื่อว่า เป็นผู้เชื่อฟัง. บทว่า โอวาทปฏิการาย ความว่า ผู้กระทำตามพระโอวาทที่พระราชทานว่า ท่านทั้งหลายพึงทำสิ่งนี้ ไม่พึงทำสิ่งนี้. บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต. บทว่า พฺยตฺโต ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นผู้ฉลาดคือปัญญา. บทว่า เมธาวี ได้แก่ ประกอบด้วยปัญญาเครื่องให้เกิดตำแหน่ง. บทว่า ปฏิพโล ได้แก่ สามารถ. บทว่า อตฺเถ จินฺเตตุํ ได้แก่ เพื่อคิดเอาประโยชน์คือ ความเจริญ. ความจริง พระราชานั้น ทรงดำริโดยอิงประโยชน์ปัจจุบัน นั่นแหละ ว่า แม้ในอดีตก็ได้มีแล้วอย่างนี้ ถึงในอนาคตก็จักมีอย่างนี้. บทว่า วิชิตาวีนํ ได้แก่ ผู้มีชัยชนะที่ทรงชนะวิเศษแล้ว หรือทรงประกอบด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่. บทว่า วิมุตฺตจิตฺตานํ ได้แก่ ผู้มีใจหลุดพ้นด้วยวิมุตติ ๕.

จบอรรถกถา ยัสสทิสสูตรที่ ๔