พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. อสัปปุริสทานสูตร ว่าด้วยทานของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39221
อ่าน  457

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 312

ตติยปัณณาสก์

ติกัณฑกีวรรคที่ ๕

๗. อสัปปุริสทานสูตร

ว่าด้วยทานของอสัตบุรุษ และของสัตบุรุษ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 312

๗. อสัปปุริสทานสูตร

ว่าด้วยทานของอสัตบุรุษ และของสัตบุรุษ

[๑๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ อสัตบุรุษย่อมให้โดยไม่เคารพ ๑ ให้โดยไม่อ่อนน้อม ๑ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ๑ ให้ของที่เป็นเดน ๑ ไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน ๕ ประการ นี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษย่อมให้โดยเคารพ ๑ ให้โดยอ่อนน้อม ๑ ให้ด้วยมือตนเอง ๑ ให้ของไม่เป็นเดน ๑ เห็นผลที่จะมาถึงให้ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการ นี้แล.

จบอสัปปุริสทานสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 313

อรรถกถาอสัปปุริสทานสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอสัปปุริสทานสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อสกฺกจฺจํ ทานํ เทติ ได้แก่ หาเคารพ คือ ทำใจให้สะอาด ให้ทานไม่. บทว่า อจิตฺตึ กตฺวา เทติ ได้แก่ ให้ด้วยอาการไม่ยำเกรง โดยความไม่เคารพ. บทว่า อปวิฏฺํ เทติ ได้แก่ ไม่ให้ส่งๆ ไป. อีกอย่างหนึ่ง ให้เหมือนประสงค์จะทิ้ง. บทว่า อนาคมนทิฏิโก เทติ ได้แก่ หาทำความเห็นผลกรรมกันมาอย่างนี้ว่า ผลแห่งกรรมที่ทำจักมาถึงดังนี้ ให้เกิดขึ้นไม่.

ในฝ่ายขาวพึงทราบวินิจฉัยดังนี้ บทว่า จิตฺตึ กตฺวา เทติ ได้แก่ เข้าไปตั้งความยำเกรงในไทยธรรม และในทักขิไณยบุคคลแล้วให้. ในสองอย่างนั้น บุคคลกระทำไทยธรรมให้ประณีต มีรสอร่อยแล้วให้ ชื่อว่า เข้าไปตั้งความยำเกรงในไทยธรรม. บุคคลเลือกบุคคลแล้วให้ ชื่อว่า เข้าไปตั้งความยำเกรง ในทักขิไณยบุคคล. บทว่า สหตฺถา เทติ ความว่า ไม่ใช้มือของคนอื่น ให้ตามคำสั่ง ให้ด้วยมือของตนเองเท่านั้น ด้วยคิดว่า ชื่อว่า เวลาที่เราท่องเที่ยวไปในสงสาร อันไม่มีเบื้องต้น และเบื้องปลายแล้ว ได้ใช้มือ และเท้านั้น ไม่มีประมาณเลย เราจักทำความหลุดพ้นไปจากวัฏฏะ ความออกไปจากภพ ดังนี้. บทว่า อาคมนทิฏฺิโก ได้แก่ เชื่อกรรม และวิบากว่าจักเป็นปัจจัยแห่งภพ ในอนาคตแล้วให้ ดังนี้.

จบอรรถกถา อสัปปุริสทานสูตรที่ ๗