พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. วณิชชสูตร ว่าด้วยการค้าขายที่อุบาสกไม่ควรประกอบ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39254
อ่าน  431

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 376

จตุตถปัณณาสก์

อุปาสกวรรคที่ ๓

๗. วณิชชสูตร

ว่าด้วยการค้าขายที่อุบาสก ไม่ควรประกอบ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 376

๗. วณิชชสูตร

ว่าด้วยการค้าขายที่อุบาสก ไม่ควรประกอบ

[๑๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ การค้าขายศัสตรา ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การค้าขายเนื้อสัตว์ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ.

จบวณิชชสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 377

อรรถกถาวณิชชสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในวณิชชสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า วณิชฺชา ได้แก่ ทำการค้าขาย. บทว่า อุปาสเกน ได้แก่ ผู้ถึงสรณะ ๓. บทว่า สตฺถวณิชฺชา ได้แก่ ให้เขาทำอาวุธ แล้วก็ขายอาวุธนั้น. บทว่า สตฺตวณิชฺชา ได้แก่ ขายมนุษย์. บทว่า มํสวณิชฺชา ได้แก่ เลี้ยงสุกร และเนื้อเป็นต้นขาย. บทว่า มชฺชวณิชฺชา ได้แก่ ให้เขาทำของเมาอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ขายของเมา. บทว่า วิสวณิชฺชา ได้แก่ ให้เขาทำยาพิษ แล้วก็ขายยาพิษนั้น. การทำด้วยตนเอง การชักชวนคนอื่นให้ทำการค้านี้ทั้งหมด ก็ไม่ควรด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถา วณิชชสูตรที่ ๗