พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. เจโตขีลสูตร ว่าด้วยตะปูตรึงใจ ๕ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ต.ค. 2564
หมายเลข  39288
อ่าน  382

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 451

ปัญจมปัณณาสก์

กิมพิลวรรควรรณนาที่ ๑

๕. เจโตขีลสูตร

ว่าด้วยตะปูตรึงใจ ๕ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 451

๕. เจโตขีลสูตร

ว่าด้วยตะปูตรึงใจ ๕ ประการ

[๒๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตะปูตรึงใจ ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดา ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดา จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๑.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในธรรม ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในธรรม จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๒.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๓.

อีกบระการหนึ่ง ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขา ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขา จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๔.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมโกรธ มีใจไม่แช่มชื่น มีจิตอันโทสะกระทบแล้ว กระด้างในพวกเพื่อนพรหมจรรย์ จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมใจ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 452

เพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๕.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตะปูตรึงใจ ๕ ประการนี้แล.

จบเจโตขีลสูตรที่ ๕

อรรถกถาเจโตขีลสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในเจโตขีลสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า เจโตขีลา ได้แก่ ความกระด้าง ความเป็นขยะ ความเป็นหลักตอแห่งจิต. บทว่า สตฺถริ กงฺขติ ความว่า ภิกษุย่อมสงสัยในพระวรกาย หรือในพระคุณของพระศาสดา. เมื่อสงสัยในพระวรกาย ย่อมสงสัยว่า พระวรกายชื่อว่า ประดับด้วยปุริสลักษณะ ๓๒ มีอยู่ หรือไม่มีหนอ ดังนี้ เมื่อสงสัยในคุณ ย่อมสงสัยว่า พระสัพพัญญุตญาณ ซึ่งสามารถรู้อดีต อนาคต และปัจจุบันมีอยู่ หรือไม่มีหนอ ดังนี้. บทว่า วิจิกิจฺฉติ ได้แก่ เลือกเฟ้นยาก ย่อมถึงความลำบาก คือไม่สามารถจะตัดสินใจได้. บทว่า นาธิมุจฺจติ ได้แก่ ย่อมไม่ได้ความน้อมใจ เชื่อว่าสิ่งนั้นอย่างนี้. บทว่า น สมฺปสีทติ ความว่า หยั่งลงในคุณแล้ว ก็ไม่สามารถจะเลื่อมใส คือมีใจไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีความสงสัยได้. บทว่า อาตปฺปาย ได้แก่ เพื่อทำความเพียร เผาผลาญกิเลส. บทว่า อนุโยคาย ได้แก่ เพื่อความประกอบบ่อยๆ. บทว่า สาตจฺจาย ได้แก่ เพื่อทำติดต่อกัน. บทว่า ปธานาย ได้แก่ เพื่อตั้งความเพียร. บทว่า อยํ ปโม เจโตขีโล ความว่า ภาวะนี้เป็นความกระด้างแห่งจิต ข้อที่หนึ่ง คือความสงสัยในพระศาสดานี้ อย่างนี้แล ภิกษุนั้น ก็ละยังไม่ได้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 453

บทว่า ธมฺเม คือ ในปริยัติธรรม และปฏิเวธธรรม. ก็เมื่อสงสัยในปริยัติธรรม ย่อมสงสัยว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกันว่า พระไตรปิฎกพุทธพจน์ มีแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ดังนี้ พระพุทธพจน์นั้นมีอยู่ หรือไม่มีหนอ ดังนี้. เมื่อสงสัยในปฏิเวธธรรม ย่อมสงสัยว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกันว่า ผลแห่งวิปัสสนา ชื่อว่า มรรค ผลของมรรค ชื่อว่า ผล ธรรมที่สละคืนสังขารทั้งปวง ชื่อว่า นิพพาน ดังนี้ นิพพานนั้นมีอยู่ หรือไม่มีหนอ ดังนี้.

บทว่า สงฺเฆ กงฺขติ ความว่า ย่อมสงสัยว่า ชื่อว่า สงฆ์ ผู้ดำเนินตามปฏิปทาเห็นปานนี้ ตามบทเป็นต้นว่า อุชุปฏิปนฺโน ดังนี้ เป็นชุมนุมแห่งบุคคล ๘ คือ ท่านผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ท่านผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ มีอยู่ หรือไม่มีหนอ ดังนี้.

เมื่อสงสัยในสิกขา ย่อมสงสัยว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกันว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ดังนี้ สิกขานั้นมีอยู่ หรือไม่มีหนอ ดังนี้.

บทว่า อยํ ปญฺจโม ความว่า ภาวะนี้เป็นความกระด้าง ความเป็นขยะ เป็นหลักตอแห่งจิต ข้อที่ห้า คือ ความขัดเคืองในเพื่อนสพรหมจารี.

จบอรรถกถา เจโตขีลสูตรที่ ๕