พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. นกุลสูตร ว่าด้วยคําเตือนของนกุลมารดาคฤหปตานี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ต.ค. 2564
หมายเลข  39363
อ่าน  436

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 558

ปฐมปัณณาสก์

สาราณิยาทิวรรคที่ ๒

๖. นกุลสูตร

ว่าด้วยคําเตือนของนกุลมารดาคฤหปตานี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 558

๖. นกุลสูตร

ว่าด้วยคำเตือนของนกุลมารดาคฤหปตานี

[๒๘๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ป่าเภสกาลามิคทายวัน ใกล้นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ สมัยนั้น นกุลบิดาคฤหบดีอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น นกุลมารดาคฤหปตานีได้กล่าวเตือน นกุลบิดาคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใย กระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงติเตียน ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า เมื่อเราล่วงไปแล้ว นกุลมารดาคฤหปตานี จักไม่สามารถเลี้ยงทารก ดำรงการอยู่ครองเรือนไว้ได้ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะดิฉันเป็นคนฉลาดปั่นฝ้าย ทำขนสัตว์ เมื่อท่านล่วงไปแล้ว ดิฉันย่อมสามารถเลี้ยงทารก ดำรงการอยู่ครองเรือนไว้ได้ เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใยกระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงติเตียน.

ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า เมื่อเราล่วงไปแล้ว นกุลมารดาคฤหปตานี จักได้คนอื่นเป็นสามี แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ ทั้งท่านทั้งดิฉันย่อมรู้ว่า ได้อยู่ร่วมกันมาอย่างเคร่งครัด ต่อระเบียบประเพณีตลอด ๑๖ ปี เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใย กระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงติเตียน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 559

ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงไยอย่างนี้ว่า เมื่อเราล่วงไปแล้ว นกุลมารดาคฤหปตานี จักไม่ต้องการเห็น พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ต้องการเห็น พระภิกษุสงฆ์ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะดิฉันต้องการเห็น พระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างยิ่ง และต้องการเห็น พระภิกษุสงฆ์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใย กระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงติเตียน.

ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า เมื่อเราล่วงไปแล้ว นกุลมารดาคฤหปตานี จักไม่เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะบรรดาสาวิกา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์ นุ่งห่มผ้าขาว กระทำให้บริบูรณ์ในศีล มีประมาณเท่าใด ดิฉันก็เป็นคนหนึ่ง ในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ก็ผู้ใดพึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลง ขอผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้า ทูลพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งกำลังประทับอยู่ที่ป่าเภสกาลามิคทายวัน ใกล้นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ แล้วจงทูลถามเถิด เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใย กระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงติเตียน.

ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงใย อย่างนี้ว่า นกุลมารดาคฤหปตานี จักไม่ได้ความสงบใจ ณ ภายใน แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะพวกสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์ นุ่งห่มผ้าขาว ได้ความสงบใจ ณ ภายใน มีประมาณเท่าใด ดิฉันเป็นคนหนึ่งใน จำนวนสาวิกานั้น ก็ผู้ใดพึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลง ขอผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งกำลังประทับอยู่ที่ ป่าเภสกาลามิคทายวัน ใกล้นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ แล้วจงทูลถามเถิด

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 560

เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใยกระทำกาละเลย เพราะการกระทำ กาละของผู้มีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงติเตียน.

ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า นกุลมารดาคฤหปตานี ยังไม่ถึงการหยั่งลง ยังไม่ถึงที่พึ่ง ยังไม่ถึงความเบาใจ ยังไม่ข้ามพ้นความสงสัย ยังไม่ปราศจากความเคลือบแคลง ยังไม่ถึงความแกล้วกล้า ในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หมดความเชื่อถือต่อผู้อื่น ในศาสนาของพระศาสดา แต่ข้อนั้น ท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะพวกสาวิกา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ได้ถึงการหยั่งลง ได้ถึงที่พึ่ง ถึงความเบาใจ ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความเชื่อถือต่อผู้อื่น ในศาสนาของพระศาสดา มีประมาณเท่าใด ดิฉันก็เป็นคนหนึ่ง ในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ก็ผู้ใดพึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลง ขอผู้นั้น จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งประทับอยู่ที่ป่าเภสกาลามิคทายวัน ใกล้นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ แล้วจงทูลถามเถิด เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใย กระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงติเตียน.

ครั้งนั้นแล เมื่อนกุลบิดาคฤหบดี อันนกุลมารดาคฤหปตานี กล่าวเตือนนี้ ความเจ็บป่วยนั้น ได้สงบระงับโดยพลัน และนกุลบิดาคฤหบดี ได้หายจากการเจ็บป่วยนั้น ก็และการเจ็บป่วยนั้น อันนกุลบิดาคฤหบดีละได้แล้ว โดยประการนั้น ครั้งนั้นนกุลบิดาคฤหบดี พอหายจากการเจ็บป่วยไม่นาน ถือไม้เท้าเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกะนกุลบิดาคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่นกุลมารดาคฤหปตานี เป็นผู้อนุเคราะห์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 561

หวังประโยชน์ กล่าวเตือนพร่ำสอนท่าน ดูก่อนคฤหบดี พวกสาวิกาของเรา ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว กระทำให้บริบูรณ์ในศีล มีประมาณเท่าใด นกุลมารดาคฤหปตานี ก็เป็นคนหนึ่ง ในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น พวกสาวิกาของเรา ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ได้ความสงบใจภายใน มีประมาณเท่าใด นกุลมารดาคฤหปตานี ก็เป็นคนหนึ่ง ในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น พวกสาวิกาของเรา ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ได้ถึงการหยั่งลง ถึงที่พึ่ง ถึงความเบาใจ ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความเชื่อถือต่อผู้อื่น ในศาสนาของพระศาสดา มีประมาณเท่าใด นกุลมารดาคฤหปตานี ก็เป็นคนหนึ่ง ในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ดูก่อนคฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่นกุลมารดาคฤหปตานี เป็นผู้อนุเคราะห์หวังประโยชน์ กล่าวเตือนสั่งสอนท่าน.

จบนกุลสูตรที่ ๖

อรรถกถานกุลสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในนกุลสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า พาฬฺหคิลาโน แปลว่า เป็นไข้หนักมาก. บทว่า เอตทโวจ ความว่า คหปตานี ผู้เป็นนกุลมารดา เมื่อไม่สามารถจะจัดยา ระงับพยาธิของสามีได้ บัดนี้เมื่อจะระงับพยาธิ โดยการบันลือสีหนาท ทำสัจจกิริยา จึงนั่งใกล้สามี แล้วกล่าวคำนี้ มีอาทิว่า มา โข ตฺวํ (ท่านอย่ากังวลเลย) ดังนี้. บทว่า สาเปกฺโข ได้แก่ ยังมีตัณหา. อักษร ในบทว่า น นกุลมาตา นี้ ต้องประกอบเข้าโดยบทหลังอย่างนี้ว่า น เปกฺขติ. บทว่า สนฺถริตุํ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 562

ความว่า เพื่อกระทำให้ไม่มีช่อง. อธิบายว่า ปู (ให้เต็ม). บทว่า เวณึ โอลิขิตุํ ความว่า เพื่อเตรียมขนแกะ เอามีสางทำให้เป็นช้อง. บทว่า อญฺํ ภตฺตารํ คมิสฺสติ ความว่า เราจักมีสามีใหม่อีก. บทว่า โสฬส วํสฺสานิ คหฏฺพฺรหฺมจริยํ สมาจิณฺณํ ความว่า นับย้อนหลังจากนี้ไป ๑๖ ปี ดิฉันได้ประพฤติ พรหมจรรย์ของคฤหัสถ์ อย่างสม่ำเสมอ. บทว่า ทสฺสนกามตรา ความว่า อยากจะเฝ้า (พระพุทธเจ้า) โดยยิ่งๆ ขึ้นไป. นางได้บันลือสีหนาทโดยองค์ ๓ เหล่านี้แล้ว ได้ทำสัจจกิริยาว่า ด้วยความสัตย์จริง ขอพยาธิในร่างกายของท่าน (จงเหือดหาย) กลายเป็นความสำราญ.

บัดนี้ เพื่อจะอ้างพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสักขีพยาน ทำสัจจกิริยา แม้โดยคุณมีศีล เป็นต้นของตน นางจึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า สิยา โข ปน เต ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริปูรการินี ได้แก่ กระทำให้สมบูรณ์. บทว่า เจโตสมถสฺส ได้แก่ สมาธิกัมมัฏฐาน. บทว่า โอคาธปฺปตฺตา ได้แก่ ถึงการหยั่งลง คือเข้าถึงเนืองๆ. บทว่า ปฏิคาธปฺปตฺตา ได้แก่ ถึงการหยั่งลงเฉพาะ คือมั่นคง. บทว่า อสฺสาสปฺปตฺตา ได้แก่ ถึงความปลอดโปร่ง คือเอาเป็นที่พึ่งได้. บทว่า เวสารชฺชปฺปตฺตา ได้แก่ถึง โสมนัสญาณ. บทว่า อปรปฺปจฺจยา ความว่า ศรัทธาเนื่องด้วยผู้อื่น คือ ปฏิปทาที่ต้องอาศัยผู้อื่น ท่านเรียกว่า ปรปัจจยะ (มีผู้อื่นเป็นปัจจัย) อธิบายว่า เว้นจากการมีผู้อื่นเป็นปัจจัยนั้น.

นางคฤหปตานี ผู้เป็นมารดาของนกุลมาณพ ได้ทำสัจจกิริยา ปรารภคุณความดีของตน ด้วยองค์ ๓ เหล่านี้. บทว่า คิลานา วุฏฺิโต ความว่า

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 563

เป็นไข้แล้วหาย. บทว่า ยาวตา ได้แก่ หมู่ของผู้บำเพ็ญเพียร. บทว่า ตาสํ อญฺตรา ได้แก่ เป็นคนหนึ่งในระหว่างสาวิกาเหล่านั้น. บทว่า อนุกมฺปิกา ได้แก่ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล. บทว่า โอวาทิกา ได้แก่ ผู้ให้โอวาท. บทว่า อนุสาสิกา ได้แก่ ผู้ให้การพร่ำสอน.

จบอรรถกถา นกุลสูตรที่ ๖