๑๒. นาคิตสูตร ว่าด้วยการไม่ติดยศและไม่ให้ยศติดตน
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 639
ปฐมปัณณาสก์
เสขปริหานิยวรรคที่ ๔
๑๒. นาคิตสูตร
ว่าด้วยการไม่ติดยศ และไม่ให้ยศติดตน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 639
๑๒. นาคิตสูตร
ว่าด้วยการไม่ติดยศและไม่ให้ยศติดตน
[๓๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไป ในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงพราหมณคาม ของชาวโกศล ชื่ออิจฉานังคละ ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลคาม
พราหมณ์ และคฤหบดี ชาวบ้านอิจฉานังคละ ได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออกบวชจากศากยสกุล เสด็จถึงบ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลคาม ก็เกียรติศัพท์ อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่ง ของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดี ดังนี้ ครั้นนั้น พราหมณ์ และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ เมื่อล่วงราตรีนั้นไปแล้ว ถือขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก ไปยังไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ แล้วได้ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก ส่งเสียงอื้ออึง.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 640
ก็สมัยนั้น ท่านพระนาคิตะ เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถาม ท่านพระนาคิตะว่า ดูก่อนนาคิตะ พวกใครนั่น ส่งเสียงอื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน.
ท่านพระนาคิตะได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่านั้น คือ พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ ถือขาทนียโภชนียาหาร เป็นอันมากมา จะถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า และภิกษุสงฆ์ ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนนาคิตะ ขอเรา (ตถาคต) อย่าติดยศ และยศอย่าได้ติดเรา ดูก่อนนาคิตะ ผู้ใด เป็นผู้ไม่ได้ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ซึ่งเราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นพึงยินดีสุข ที่เกิดแต่ของไม่สะอาด สุขที่เกิดเพราะการหลับ สุขที่เกิดเพราะลาภ สักการะและการสรรเสริญ.
นา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงรับ ขอพระสุคตจงรับ เวลานี้เป็นเวลา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าควรรับ เวลานี้เป็นเวลา ที่พระสุคตควรรับ บัดนี้ พราหมณ์ และคฤหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท จักพากันหลั่งไหลไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไป เปรียบเหมือน เมื่อฝนเม็ดใหญ่ ตกลงน้ำย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีศีล และปัญญา.
พ. ดูก่อนนาคิตะ เราอย่าได้ติดยศ และยศอย่าได้ติดเรา ดูก่อนนาคิตะ ผู้ใดเป็นผู้ไม่ได้ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ซึ่งเราได้ตามความปรารถนา ได้โดย
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 641
ไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นพึงยินดีสุขอันเกิดแต่ของไม่สะอาด สุขที่เกิดเพราะการหลับ สุขที่เกิดเพราะลาภสักการะ และการสรรเสริญ ดูก่อนนาคิตะ เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้อยู่ใกล้บ้าน ผู้นั่งเข้าสมาธิอยู่ใกล้บ้าน เราย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ไฉนคนวัด จักยังท่านผู้มีอายุรูปนี้ ให้สืบต่อสมาธินั้นได้ หรือสามเณรจักยังท่านผู้มีอายุนั้น ให้เคลื่อนจากสมาธิ ฉะนั้น เราจึงไม่พอใจ ด้วยการอยู่ใกล้บ้านของภิกษุนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร นั่งโงกง่วงอยู่ในป่า เราย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนี้ จักบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย เพราะการนอนนี้ แล้วกระทำอรัญญสัญญาไว้ในใจ เป็นเอกัคคตา ฉะนั้น เราจึงพอใจ ด้วยการอยู่ในป่าของภิกษุรูปนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ไม่มีจิตเป็นสมาธินั่งอยู่ในป่า เรามีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนี้ จักตั้งจิตที่ไม่เป็นสมาธิ ให้เป็นสมาธิ หรือจักตามรักษาจิต ที่เป็นสมาธิไว้ ฉะนั้น เราจึงพอใจ ด้วยการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร มีจิตเป็นสมาธินั่งอยู่ในป่า เรามีความคิด อย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนี้ จักเปลื้องจิตที่ยังไม่หลุดพ้น ให้หลุดพ้น หรือจักตามรักษาจิต ที่หลุดพ้นแล้วไว้ ฉะนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ป่าของภิกษุนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ใกล้บ้าน ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เธอพอใจลาภ สักการะ และการสรรเสริญนั้น ย่อมละทิ้ง การหลีกออกเร้น ย่อมละทิ้งเสนาสนะสงัดอันตั้งอยู่ ในราวป่า มารวมกันอยู่ยังบ้าน นิคม และราชธานี ฉะนั้น เราจึงไม่พอใจ ด้วยการอยู่ใกล้บ้านของภิกษุนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เธอละลาภสักการะ และการสรรเสริญนั้น ย่อมไม่ละทิ้ง การหลีกออกเร้น ย่อมไม่ละทิ้ง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 642
เสนาสนะสงัด อันตั้งอยู่ในราวป่า ฉะนั้น เราจึงพอใจ ด้วยการอยู่ป่าของภิกษุนั้น อนึ่ง สมัยใด เราเดินทางไกล ย่อมไม่เห็นใครข้างหน้า หรือข้างหลัง สมัยนั้น เราย่อมมีความสบายโดยที่สุด ด้วยการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ.
จบนาคิตสูตรที่ ๑๒
จบเสกขปริหานิยวรรคที่ ๔
อรรถกถานาคิตสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในนาคิตสูตรที่ ๑๒ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า คามนฺตวิหารํ ได้แก่ ผู้อยู่ในเสนาสนะท้ายบ้าน. บทว่า สมาหิตํ นิสินฺนํ ได้แก่ ผู้นั่งเข้าสมาธิ ในเสนาสนะท้ายบ้านนั้น. บทว่า อิทานิมํ ตัดบทเป็น อิทานิ อิมํ. บทว่า สมาธิมฺหา จาเวสฺสติ ความว่า จักออกจากสมาธิ. บทว่า น อตฺตมโน โหติ ความว่า ย่อมไม่มีใจเป็นของตน (ไม่ดีใจ). บทว่า ปจลายมานํ ได้แก่ กำลังหลบอยู่. บทว่า เอกตฺตํ มีอธิบายว่า กระทำอรัญญสัญญา นั่นแหละ ไว้ในใจให้ (จิต) มีสภาพ เป็นเอก คือเป็นจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง. บทว่า อนุรกฺขิสฺสติ ได้แก่ จักอนุเคราะห์. บทว่า อธิมุตฺตํ วา จิตฺตํ วิโมเจสฺสติ ความว่า จักเปลื้องจิต ที่ยังไม่พ้นไปในเวลาอื่น ด้วยวิมุตติทั้ง ๕ ในบัดนี้. บทว่า ริญฺจติ ได้แก่ เว้นคือสลัดทิ้ง. บทว่า ปฏิปฺปณาเมตวา ได้แก่ บรรเทา คือสลัดออกไป. บทว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺมาย ได้แก่ เพื่อต้องการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 643
ด้วยเหตุนี้ คือด้วยสถานะเพียงเท่านี้ พระบรมศาสดาได้ตรัสสรรเสริญ เสนาสนะป่าไว้. แต่คำใดที่จะกล่าวในส่วนต้นแห่งพระสูตร ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว ในหนหลัง ฉะนี้แล.
จบอรรถกถา นาคิตสูตรที่ ๑๒
จบเสกขปริหานิยวรรควรรณนาที่ ๔
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. เสกสูตร ๒. ปฐมอปริหานิยสูตร ๓. ทุติยปริหานิยสูตร ๔. โมคคัลลานสูตร ๕. วิชชาภาคิยสูตร ๖. วิวาทมูลสูตร ๗. ทานสูตร ๘. อัตตการีสูตร ๙. นิทานสูตร ๑๐. กิมมิลสูตร ๑๑. ทารุกขันธสูตร ๑๒. นาคิตสูตร และอรรถกถา.