พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. อุตตริมนุสสธรรมสูตร ว่าด้วยผู้ควรและไม่ควรบรรลุอุตริมนุสธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ต.ค. 2564
หมายเลข  39427
อ่าน  554

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 802

ทุติยปัณณาสก์

อรหันตวรรคที่ ๓

๓. อุตตริมนุสสธรรมสูตร

ว่าด้วยผู้ควร และไม่ควร บรรลุอุตริมนุสธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 802

๓. อุตตริมนุสสธรรมสูตร

ว่าด้วยผู้ควร และไม่ควร บรรลุอุตริมนุสธรรม

[๓๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ควร เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะชั้นวิเศษ อันสามารถกระทำ ความเป็นพระอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้มีสติเลอะเลือน ๑ ความเป็นผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ๑ ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณ ในโภชนะ ๑ ความโกหก ๑ การพูดเลียบเคียง ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควร เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งญาณทัสสนะชั้นวิเศษ อันสามารถกระทำ ความเป็นพระอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควร เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งญาณทัสสนะชั้นวิเศษ อันสามารถกระทำ ความเป็นพระอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้มีสติเลอะเลือน ๑ ความเป็นผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ๑ ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณ ในโภชนะ ๑ ความโกหก ๑ การพูดเลียบเคียง ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ควร เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งญาณทัสสนะชั้นวิเศษ อันสามารถกระทำ ความเป็นพระอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์.

จบอุตตริมนุสสธรรมสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 803

อรรถกถาอุตตริมนุสสธรรมสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอุตตริมนุสสธรรมสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา ได้แก่ ธรรมที่ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์. บทว่า อลมริยาณทสฺสนวิเสสํ ได้แก่ ญาณทัสสนะพิเศษ ที่สามารถทำคน ให้เป็นพระอริยเจ้าได้ อธิบายว่า ได้แก่มรรค ๔ ผล ๔. บทว่า กุหนํ ได้แก่ เรื่องโกหก ๓ อย่าง. บทว่า ลปนํ ได้แก่ การกล่าวยกย่อง หรือกด เพราะประสงค์จะได้.

จบอรรถกถา อุตตริมนุสสธรรมสูตรที่ ๓