พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. สามเณรปัญหา ในขุททกปาฐะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 พ.ย. 2564
หมายเลข  40015
อ่าน  484

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑

๔. สามเณรปัญหาในขุททกปาฐะ

สามเณรปัญหาในขุททกปาฐะ 4/96

พรรณนากุมารปัญหา 96

อัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง 96

ประโยชน์ของการวางบทตั้ง 97

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๑ 98

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๒ 101

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๓ 102

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๔ 103

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๕ 106

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๖ 107

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๗ 109

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๘ 111

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๙ 113

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๑๐ 115


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 39]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 96

สามเณรปัญหาในขุททกปาฐะ

[๔] อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑ สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร. อะไรเอ่ยชื่อว่า ๒ นามและรูป. อะไรเอ่ยชื่อว่า ๓ เวทนา ๓. อะไรเอ่ยชื่อว่า ๔ อริยสัจ ๔. อะไรเอ่ยชื่อว่า ๕ อุปาทานขันธ์ ๕. อะไรเอ่ยชื่อว่า ๖ อายตนะภายใน ๖. อะไรเอ่ยชื่อว่า ๗ โพชฌงค์ ๗.อะไรเอ่ยชื่อว่า ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘. อะไรเอ่ยชื่อว่า๙ สัตตาวาส ๙. อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑๐ ท่านผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ เรียกว่าพระอรหันต์.

จบสามเณรปัญหา

๔. กถาพรรณนากุมารปัญหา (๑)

อัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง

บัดนี้ ถึงลำดับพรรณนาความของกุมารปัญหา [สามเณรปัญหา] เป็นต้นอย่างนี้ว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่าหนึ่ง ข้าพเจ้าจักกล่าวเหตุเกิดเรื่องของกุมารปัญหาเหล่านั้น และประโยชน์แห่งการวางบทตั้งในที่นี้แล้วจึงจักทำการพรรณนาความ. จะกล่าวเหตุเกิดเรื่องของกุมารปัญหาเหล่านั้นก่อน. ชื่อว่าโสปากะเป็นพระมหาสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ท่านโสปากะนั้น สำเร็จพระอรหันต์


๑. บาลีเป็นสามเณรปัญหา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 97

เมื่ออายุได้ ๗ ขวบโดยกำเนิด. พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยการพยากรณ์ [ตอบ] ปัญหาแก่ท่าน ทรงเห็นว่าท่านเป็นผู้สามารถพยากรณ์ปัญหาทั้งหลาย ที่มีความอันพระองค์ทรงประสงค์แล้ว จึงตรัสถามปัญหา โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่าหนึ่ง.ท่านก็พยากรณ์ และทำจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์นั้น. อันนั้นนั่นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านพระโสปากะนั้น.

นี้เป็นเหตุเกิดเรื่องของสามเณรปัญหาเหล่านั้น.

ประโยชน์ของการวางบทตั้ง

ก็เพราะเหตุที่ประกาศจิตตภาวนา โดยระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ด้วยสรณคมน์ ประกาศศีลภาวนาด้วยสิกขาบทและประกาศกายภาวนาด้วยทวัตติงสาการ ฉะนั้น บัดนี้ จึงวางการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้เป็นบทตั้งในที่นี้ เพื่อแสดงมุข คือ ปัญญาภาวนา โดยประการต่างๆ หรือเพราะเหตุที่สมาธิมีศีลเป็นปทัฏฐาน และปัญญามีสมาธิเป็นปทัฏฐาน เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวัว่า

สีเล ปติฏฺาย นโร สปญฺโ จิตฺตํ ปญฺญฺจ ภาวยํ นรชนผู้มีปัญญา ตั้งอยู่ในศีล เจริญจิตและปัญญา ดังนี้ ฉะนั้น จึงควรทราบแม้ว่า ข้าพเจ้าครั้นแสดงศีลด้วยสิกขาบททั้งหลาย และสมาธิที่มีศีลนั้นเป็นโคจรด้วยทวัตติงสาการแล้ว จึงวางปัญหาพยากรณ์เป็นบทตั้งไว้ในที่นี้ เพื่อแสดงประเภทแห่งปัญญา อันเป็นเครื่องตรวจตราธรรมต่างๆ สำหรับผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว.

นี้เป็นประโยชน์ของการวางปัญหาเหล่านั้น เป็นบทตั้งในที่นี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 98

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ย ชื่อว่า ๑

บัดนี้ จะพรรณนาความของปัญหาเหล่านั้น. ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบในธรรมอย่างหนึ่งอันใด ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้โดยลำดับ อนึ่ง ท่านพระโสปากะนี้ เมื่อหน่ายในธรรมอย่างหนึ่งอันใด ได้ทำที่สุดทุกข์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหมายถึงธรรมนั้น จึงตรัสถามปัญหาว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่าหนึ่ง.พระเถระทูลตอบด้วยเทศนาเป็นบุคคลธิษฐานว่า สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร. ในข้อนี้ พระสูตรทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสัมมาสติเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายดังนี้ เป็นเครื่องสาธกในความเกิดข้อยุติด้วยการตอบอย่างนี้. ในข้อนี้ สัตว์ทั้งปวงท่านกล่าวว่า ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหารโดยอาหารใด อาหารนั้น หรือความที่สัตว์เหล่านั้นตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร พึงทราบว่า พระเถระผู้ถูกตรัสถามว่า อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑ ทูลชี้แจงแล้ว. จริงอยู่ ข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ว่าชื่อว่า ๑ ในที่นี้ แต่มิใช่ตรัสเพื่อให้รู้ว่า ชื่อว่า ๑ อย่างอื่นในพระศาสนาหรือในโลก ไม่มี. ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมอย่างหนึ่ง ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรม คือปัจจุบัน ในธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือในธรรมอย่างหนึ่งว่า สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมอย่างหนึ่งนี้แลภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 99

โดยชอบ เห็นที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรม คือปัจจุบัน คำนั้นใดเรากล่าวว่า ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑ ดังนี้ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว.

ในคำว่า อาหารฏฺิติกา นี้ พระเถระถือเอาปัจจัยด้วย อาหารศัพท์ เรียกสัตว์ทั้งปวงที่ตั้งอยู่ได้ด้วยปัจจัยว่า ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร เหมือนปัจจัยท่านเรียกว่าอาหาร ในพระบาลีเป็นต้นอย่างนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากด้วยการมนสิการโดยไม่แยบคายในสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดแห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดฉะนั้น แต่เมื่อท่านหมายเอาอาหาร ๔ กล่าวว่า ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหารดังนี้. คำว่าทั้งปวง ก็น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะพระบาลีว่า เทพที่เป็นอสัญญีสัตว์ ไม่มีเหตุ ไม่มีอาหาร ไม่ผัสสะ ไม่มีเวทนา.

ในข้อนั้น พึงมีคำชี้แจงดังนี้ แม้เมื่อถูกกล่าวอย่างนี้ ความที่ขันธ์ทั้งหลายเท่านั้นตั้งอยู่ได้ด้วยปัจจัย ก็ถูกแท้ เพราะพระบาลีว่า ธรรมเหล่าไหนมีปัจจัย. ปัญจขันธ์ คือรูปขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ แต่ความที่สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ได้ด้วยปัจจัย คำนี้เห็นจะไม่ถูกแน่ทีเดียว ข้อนี้ ไม่ควรเห็นอย่างนี้. เพราะอะไร เพราะกล่าวรวมไว้เสร็จถึงขันธ์ในสัตว์ทั้งหลาย. จริงอยู่ท่านกล่าวรวมไว้เสร็จในสัตว์ทั้งหลายแล้ว เพราะอะไร. เพราะท่านอาศัยขันธบัญญัติ. อย่างไร. เหมือนอุปจารแห่งบ้านในเรือน เหมือนอย่างว่า เมื่อเรือนหลังเดียว หรือสองหลัง แม้สามหลังแห่งบ้าน ถูกไฟไหม้ ก็กล่าวรวมความไว้เสร็จถึงบ้านในเรือนอย่างนี้ว่า บ้านถูกไฟไหม้เพราะอาศัยเรือนหลายหลังบัญญัติ ฉันใด ก็พึงทราบว่า กล่าวรวมความไว้เสร็จถึงว่าสัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร ในสัตว์ทั้งหลายที่ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร เพราะอรรถว่าเป็น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 100

ปัจจัยในขันธ์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ พึงทราบว่า เมื่อขันธ์ทั้งหลาย เกิดแก่และตายอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอเกิดแก่และตายอยู่ทุกขณะ ดังนี้ เป็นอันทรงแสดงว่าตรัสรวมความไว้เสร็จถึงขันธ์ในสัตว์เหล่านั้น เมื่อใด สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหารที่เรียกว่าปัจจัยอันใด อาหารอันนั้นหรือความที่สัตว์ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร พึงทราบว่า มีหนึ่ง เพราะว่าอาหารหรือความที่สัตว์ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร ย่อมเป็นฐานที่ตั้งแห่งนิพพิทาความหน่าย เพราะเป็นเหตุแห่งอนิจจตาความเป็นของไม่เที่ยง. เมื่อนั้นภิกษุเมื่อหน่าย เพราะเห็นอนิจจตาในสังขารทั้งหลายที่เข้าใจกันว่าสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้โดยลำดับ ย่อมบรรลุปรมัตถวิสุทธิ ความบริสุทธิ์โดยปรมัตถ์ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งวิสุทธิ.

ก็ในปัญหาข้อแรกนี้ มีปาฐะอยู่ ๒ อย่างว่า เอกํ นาม กึ และ [เอกํ นาม] กิห. ในปาฐะทั้ง ๒ นั้น ปาฐะชาวสิงหลว่า กิห. ด้วยว่า ชาวสิงหลเหล่านั้น แทนที่จะกล่าวว่า กึ ก็กล่าวเสียว่า กิห. อาจารย์ชาวสิงหลบางพวกกล่าวว่า คำว่า เป็นนิบาต ปาฐะแม้ของพวกที่ถือลัทธิฝ่ายเถรวาทก็อย่างนี้เหมือนกัน. แต่ทั้ง ๒ ปาฐะ ความก็อย่างเดียวกัน. ชอบใจอย่างใดก็พึงสวดพึงกล่าวอย่างนั้น. เหมือนอย่างว่า บางแห่ง ก็กล่าวว่า ทุขํ และบางแห่งก็กล่าวว่า ทุกฺขํ ในบาลีทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ว่า สุเขน ผุฏฺโ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 101

อถ วา ทุเขน ทุกฺขํ โทมนสฺสํ ปฏิสํเวเทติ ฉันใด บางแห่งก็ว่า เอกํ บางแห่งก็ว่า เอกกํ ก็ฉันนั้น. แต่ในที่นี้มีปาฐะนี้อย่างเดียวว่า เอกํ นาม.

พรรณนาปัญหาว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๒

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์นี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไป เหมือนนัยแรกว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๒ พระเถระกล่าวซ้ำว่า เทฺว ๒ ทูลตอบด้วยเทศนาเป็นบุคลาธิษฐานว่า คือนามและรูป. บรรดานามและรูปนั้น เรื่องที่มิใช่รูปทั้งหมด ท่านเรียกว่านาม เพราะน้อมมุ่งหน้าสู่อารมณ์อย่างหนึ่ง เพราะเป็นเหตุน้อมจิตไปอย่างหนึ่ง. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาธรรมที่มีอาสวะเท่านั้น เพราะเป็นเหตุแห่งนิพพิทาความหน่าย ส่วนมหาภูตรูป ๔ และรูปทั้งหมดที่อาศัยมหาภูตรูปนั้นเป็นไป ท่านเรียกว่ารูป เพราะอรรถว่า แตกสลาย. รูปนั้นในที่นี้ ท่านประสงค์เอาทั้งหมด.แต่พระเถระกล่าวในที่นี้ว่า ชื่อว่า ๒ คือนามและรูป ก็โดยความประสงค์นี้แล มิใช่กล่าวเพราะไม่มีธรรม ๒ อย่างอื่น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๒ อย่าง ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในธรรม ๒ อย่าง คือนามและรูป ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในธรรม ๒ อย่างนี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนั้นใดว่า ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒ ดังนี้ คำนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.

ก็ในปัญหาข้อนี้ พึงทราบว่า ภิกษุละอัตตทิฏฐิความเห็นว่าเป็นตนได้ ด้วยการเห็นเพียงนามรูปแล้ว เมื่อหน่ายโดยมุขคือการพิจารณาเห็นอนัตตา

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 102

ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ย่อมบรรลุปรมัตถวิสุทธิได้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

เมื่อใด เห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งวิสุทธิ ดังนี้.

พรรณนาปัญหาว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๓

บัดนี้ พระศาสดาผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาแม้นี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไปเหมือนนัยก่อนๆ ว่า อะไรเอ่ยชื่อว่า ๓. พระเถระกล่าวซ้ำว่า ตีณิ ๓ เมื่อแสดงสังขยาจำนวนที่เหมาะแก่ลิงค์เพศศัพท์ แห่งความที่พึงพยากรณ์อีก จึงทูลตอบว่า ติสฺโส เวทนา คือเวทนา ๓. อีกนัยหนึ่ง พระเถระคิดว่า จำเราจะกลับคำว่า ตีณิ ความของเวทนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ติสฺโส เวทนา เมื่อแสดงจึงทูลตอบ.บัณฑิตพึงทราบความในข้อนี้ ดังกล่าวมาฉะนี้. ด้วยว่าเทศนาของเหล่าท่านผู้บรรลุเทศนาอันวิลาศ เพราะความแตกฉานแห่งปฏิสัมภิทา มีกถามุขเป็นอันมาก แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า ตีณิ นี้ เป็นบทเกิน. แต่พระเถระกล่าวในที่นี้ว่า ติสฺโส เวทนา คือ เวทนา ๓ ก็ตามนัยก่อนๆ นั่นแล มิใช่กล่าวเพราะไม่มีธรรม ๓ อย่างอื่น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๓ เหล่านี้ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในธรรม ๓ คือเวทนา ๓ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 103

๓ เหล่านี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนี้ใดว่า ปัญหา ๓ อุทเทส ๓ ไวยากรณ์ ๓ ดังนี้ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว ดังนี้.

ในปัญหาข้อนี้ พึงทราบว่า ภิกษุละสุขสัญญา ความสำคัญว่าสุขด้วยการเห็นเวทนาทั้งสามเป็นทุกข์ แล้วหน่ายโดยมุขคือการพิจารณาเห็นทุกข์ตามแนวพระสูตรที่ตรัสไว้ว่า เวทนาความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมดนั้นเรากล่าวว่าเป็นทุกข์ หรือตามแนวความเป็นทุกข์ เพราะทุกข์เป็นทุกข์ เพราะแปรปรวนและเป็นทุกข์เพราะปัจจัยปรุงแต่งอย่างนี้ว่า

โย สุขํ ทุกฺขโต อทฺท ทุกฺขมทฺทกฺขิ สลฺลโต อทุกฺขมสุขํ สนฺตํ อทฺทกฺขิ นํ อนิจฺจโต.

ผู้ใดเห็นสุขเป็นทุกข์ เห็นทุกข์เป็นดังลูกศร เห็นอทุกขมสุขมีอยู่ ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นเวทนานั้นเป็นของไม่เที่ยง ดังนี้.

ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ย่อมบรรลุปรมัตถวิสุทธิได้เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งวิสุทธิดังนี้.

พรรณนาปัญหาว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๔

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาแม้นี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไป เหมือนนัยก่อนๆ ว่า อะไร

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 104

เอ่ย ชื่อว่า ๔ ในปัญหาข้อนี้ ในฝ่ายพยากรณ์ปัญหานี้ บางแห่ง ท่านประสงค์เอาอาหาร ๔ ตามนัยก่อนๆ เหมือนอย่างตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๔ ภิกษุเมื่อหน่าย ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ในธรรม ๔ คือ อาหาร ๔.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมเหล่านี้แลภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้. คำนั้นใดว่าปัญหา ๔ อุทเทส ๔ ไวยากรณ์ ๔ ดังนี้ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว ดังนี้.

บางแห่ง ภิกษุผู้มีจิตอบรมดีแล้วในคุณธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้โดยลำดับ คุณธรรมเหล่านั้น ก็คือสติปัฏฐานสี่ เหมือนอย่างพระกชังคลาภิกษุณีกล่าวไว้ว่า

ผู้มีอายุ ในธรรม ๔ ภิกษุมีจิตอบรมดีแล้วโดยชอบ เห็นที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน ในธรรม ๔ คือ สติปัฏฐาน ๔ ผู้มีอายุ ในธรรม ๔ เหล่านี้แล ภิกษุมีจิตอบรมดีแล้วโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนั้นใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ปัญหา ๔ อุทเทส ๔ ไวยากรณ์ ๔ คำนี้ ดิฉันอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว ดังนี้.

แต่ในที่นี้ การตัดภวตัณหามีได้ เพราะตรัสรู้ตามและแทงตลอดอริยสัจ ๔ เหล่าใด เพราะเหตุที่อริยสัจ ๔ เหล่านั้น ท่านประสงค์เอาแล้วหรือเพราะเหตุที่ปัญหากรรมที่ท่านพยากรณ์ด้วยปริยายนี้ เป็นอันพยากรณ์ดี

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 105

แล้วทั้งนั้น ฉะนั้น พระเถระกล่าวซ้ำว่า จตฺตาริ ๔ จึงทูลตอบว่า อริยสจฺจานิ อริยสัจทั้งหลาย. ในคำนั้นศัพท์ว่า จตฺตาริ ๔ เป็นการกำหนดด้วยจำนวน.บทว่า อริยสจฺจานิ ได้แก่ สัจจะที่เป็นอริยะ อธิบายว่า ไม่ผิดไม่คลาดเคลื่อน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เป็นของแท้ ไม่ผิด ไม่แปรเป็นอื่น เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า อริยสัจ.

อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุใดท่านอธิบายไว้ว่า เพราะเป็นสัจจะอันโลกทั้งเทวโลกพึงดำเนิน พึงบรรลุ. เพราะดำเนินไปในทางเจริญที่เข้าใจกันว่าฐานที่ควรพยายามบ้าง เพราะไม่ดำเนินไปในทางไม่เจริญบ้าง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกทั้งหลาย ที่รับรู้กันว่าเป็นพระอริยะ เพราะประกอบพร้อมด้วยอริยธรรม คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ย่อมแทงตลอดอริยสัจเหล่านี้ แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า อริยสัจ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ ฯลฯ อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล พระอริยะทั้งหลายย่อมแทงตลอดอริยสัจ ๔ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอริยสัจ.

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าอริยสัจ เพราะเป็นสัจจะของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นอริยะ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอริยะในโลกทั้งเทวโลก ฯลฯ ทั้งเทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอริยสัจ.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 106

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าอริยสัจ แม้เพราะทำให้สำเร็จความเป็นอริยะ เพราะอริยสัจเหล่านั้น ทรงรู้ยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสัจ ๔ เหล่านี้แล ตถาคตตรัสรู้ยิ่งเองตามเป็นจริง ตถาคตจึงถูกเรียกว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

ความแห่งบทของอริยสัจเหล่านั้นมีดังนี้ ความตัดขาดภวตัณหา ย่อมมีได้ เพราะความตรัสรู้ตามและแทงตลอดอริยสัจเหล่านั้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจนี้นั้น อันเราตถาคตตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อันเราตถาคตตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว ภวตัณหาเราตถาคตก็ถอนได้แล้ว ตัณหาที่นำไปในภพ ก็สิ้นแล้ว บัดนี้ การเกิดอีกไม่มีกันละ ดังนี้.

พรรณนาปัญหาว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๕

พระศาสดา มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาแม้นี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไปตามนัยก่อนๆ ว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๕.พระเถระกล่าวซ้ำว่า ปญฺจ ๕ จึงทูลตอบว่า อุปาทานขันธ์ ในคำเหล่านั้น คำว่า ปญฺจ ๕ เป็นการกำหนดจำนวน. ขันธ์ทั้งหลาย ที่ถูกอุปาทานให้เกิดมา หรือที่ทำอุปาทานให้เกิด ชื่อว่าอุปาทานขันธ์. รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอาสวะ อันบุคคลพึงยึดถือ คำนี้เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์เหล่านั้น ก็ในที่นี้ พระเถระกล่าวว่า อุปาทานขันธ์ ๕

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 107

ตามนัยก่อนนั่นแล มิใช่กล่าวเพราะไม่มีธรรม ๕ อย่างอื่น. เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๕ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้. ในธรรม ๕ คืออุปาทานขันธ์ ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๕ เหล่านี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนี้ใดว่า ปัญหา ๕ อุทเทส ๕ ไวยากรณ์ ๕ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว ดังนี้.

ก็ในปัญหาข้อนี้ ภิกษุเมื่อพิจารณาโดยความเกิดความดับเป็นอารมณ์ได้อมตะด้วยวิปัสสนาแล้ว ย่อมทำให้แจ้งอมตะคือพระนิพพาน โดยลำดับ.เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ยโต ยโต สมฺมสติ ขนฺธานํ อุทยพฺพยํ ลภตี ปิติปาโมชฺชํ อมตํ ตํ วิชานตํ

พิจารณาความเกิดความดับแห่งขันธ์ทั้งหลายโดยประการใดๆ ปีติและปราโมชอันเป็นอมตะ ย่อมได้แก่ท่านผู้เห็นความเกิดความดับนั้น โดยประการนั้นๆ ดังนี้.

พรรณนาปัญหาว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๖

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์แม้นี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไปตามนัยก่อนๆ ว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๖ พระเถระกล่าวซ้ำว่า ฉ หก จึงทูลตอบว่า อายตนะภายใน. ในคำเหล่านั้นคำว่า ฉ ๖ เป็นการกำหนดจำนวน. อายตนะทั้งหลายที่ประกอบในภายใน

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 108

หรือกระทำตนให้เป็นที่อาศัยเป็นไป ชื่อว่า อัชฌัตติกะ. ชื่อว่า อายตนะ เพราะต่อหรือเพราะก่อความเจริญ หรือเพราะนำสังสารทุกข์มายืดยาว คำนี้เป็นชื่อของจักษุ ตา, โสตะ หู, ฆานะ จมูก, ชิวหา ลิ้น, กายะ กาย, มนะ ใจ.ก็ในที่นี้ พระเถระกล่าวว่า อายตนะภายใน ๖ ตามนัยก่อน มิใช่กล่าวเพราะไม่มีธรรม หก อย่างอื่น. เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๖ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้. ในธรรม ๖ คืออายตนะภายใน ๖ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๖ เหล่านี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนี้ใดว่า ปัญหา ๖ อุทเทศ ๖ ไวยากรณ์ ๖ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว.

ก็ในปัญหาข้อนี้ ภิกษุพิจารณาอายตนะภายใน ๖ โดยความเป็นของว่าง ตามพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า สุญฺโ คาโม บ้านว่าง นี้เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ ดังนี้ โดยความเป็นของเปล่าและโดยความเป็นของลวง เพราะตั้งอยู่ได้ไม่นาน เหมือนฟองน้ำและพยับแดดฉะนั้นก็หน่าย. ทำที่สุดทุกข์โดยลำดับ ย่อมเข้าถึงที่ซึ่งมัจจุราชมองไม่เห็น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ยถา ปุพฺพุฬกํ ปสฺเส ยถา ปสฺเส มรีจิกํ เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ.

มัจจุราชย่อมมองไม่เห็นผู้ที่มองเห็นโลกเหมือนเห็นฟองน้ำ เหมือนเห็นพยับแดดฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 109

พรรณนาปัญหาว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๗

พระศาสดาผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไป ตามนัยก่อนๆ ว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๗.วิญญาณฐิติ ๗ พระเถระกล่าวในการพยากรณ์ปัญหาใหญ่ก็จริง ถึงอย่างนั้นภิกษุผู้มีจิตอบรมดีแล้วในธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ พระเถระเมื่อแสดงธรรมเหล่านั้น จึงทูลตอบว่า โพชฌงค์ ๗. อนึ่งเล่าความข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุมัติแล้ว เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย กชังคลาภิกษุณีเป็นบัณฑิต ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย กชังคลาภิกษุณี มีปัญญามาก พวกท่านเข้าไปหาคฤหบดีแม้ที่เตียง สอบถามข้อความนี้ แม้เราก็พึงพยากรณ์ความข้อนั้นเหมือนอย่างที่ กชังคลาภิกษุณี พยากรณ์ฉะนั้น.

กชังคลาภิกษุณี นั้นพยากรณ์ไว้อย่างนี้ว่า

ผู้มีอายุ ในธรรม ๗ ภิกษุมีจิตอบรมดีแล้ว โดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้. ในธรรม ๗ คือโพชฌงค์ ๗ ผู้มีอายุ ในธรรม ๗ เหล่านี้แล ภิกษุผู้มีจิตอบรมดีแล้ว โดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้. คำนั้นใดว่าปัญหา ๗ อุทเทส ๗ ไวยากรณ์ ๗ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว. ดังนี้.

ความข้อนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุมัติแล้วด้วยประการฉะนี้.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 110

ในคำเหล่านั้น คำว่า สตฺต ๗ เป็นการกำหนดจำนวนเด็ดขาดไม่ขาดไม่เกิน. คำว่า โพชฌงค์ นี้เป็นชื่อของธรรมมีสติเป็นต้น. ความของบทในโพชฌงค์ ๗ นี้มีดังนี้ ชื่อว่า โพธิ เพราะวิเคราะห์ว่า พระอริยสาวกย่อมตรัสรู้ ด้วยธรรมสามัคคี กล่าวคือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขา อันเป็นปฏิปักษ์ต่ออุปัทวะเป็นอันมาก มีความหดหู่ความฟุ้งซ่าน ความหยุดเพียร ความพยายาม กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถามุโยคและความยึดถือด้วยอุจเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิเป็นต้น อันเกิดขึ้นในขณะแห่งมรรคจิต ส่วนโลกิยะและโลกุตระนั้น ท่านอธิบายว่า ลุกขึ้นจากความหลับคือสันดานที่มีกิเลส หรือแทงตลอดอริยสัจ ๔ หรือทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั่นแล เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตรัสรู้ยิ่งเองซึ่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิ.

อีกอย่างหนึ่งแม้พระอริยสาวก ก็ชื่อว่าโพธิ เพราะวิเคราะห์ว่า ตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคีนั้น มีประการตามที่กล่าวมาแล้ว. ดังนั้น ชื่อว่าโพชฌงค์เพราะเป็นองค์คือส่วนแห่งโพธิ กล่าวคือธรรมสามัคคีนั้น เหมือนอย่างองค์แห่งฌานและองค์แห่งมรรค อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโพชฌงค์ แม้เพราะเป็นองค์ของพระอริยสาวกที่ได้โวหารว่าโพธินั้น เหมือนอย่างองค์คือส่วนของกองทัพและองค์คือส่วนของรถเป็นต้นฉะนั้น.

อีกประการหนึ่ง พึงทราบอรรถว่าโพชฌงค์แห่งโพชฌงค์ทั้งหลายโดยวิธีที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทาอย่างนี้ว่า ในบทว่า โพชฌงค์ ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะอรรถว่าอะไร ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะตรัสรู้ ชื่อว่าโพชฌงค์เพราะตรัสรู้ตาม ชื่อว่าโพชฌงค์เพราะแทงตลอด ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะตรัสรู้พร้อม. พระโยคาวจร เมื่อ

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 111

เจริญทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ เหล่านี้อย่างนี้ไม่นานนัก ก็จะเป็นผู้ได้คุณมีความหน่ายโดยส่วนเดียวเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อความดับ ดังนี้.

พรรณนาปัญหาว่าอะไรเอ่ย ชื่อว่า ๘

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาแม้นี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่าอะไรเอ่ยชื่อว่า ๘. พระเถระกล่าวโลกธรรม ๘ ไว้ในการพยากรณ์มากปัญหา ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น ภิกษุผู้มีจิตอบรมดีแล้วในธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ พระเถระเมื่อแสดงธรรมเหล่านั้น ไม่กล่าวว่า องค์อริยะแห่งมรรค ๘ เพราะเหตุที่ ธรรมดามรรคอันพ้นจากองค์ ๘ หามีไม่ แต่ว่ามรรคมีเพียงองค์ ๘ เท่านั้น ฉะนั้นเมื่อจะให้สำเร็จความข้อนั้นจึงทูลตอบ โดยวิลาสแห่งเทศนาว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ความและเทศนานัยข้อนี้ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุมัติแล้วทั้งนั้นเหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย กชังคลาภิกษุณี เป็นบัณฑิต ฯลฯ แม้เราก็พึงพยากรณ์เหมือนกชังคลาภิกษุณีพยากรณ์ นั่นแล.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 112

ก็พระกชังคลาภิกษุณีนั้น พยากรณ์ไว้อย่างนี้ว่า

ผู้มีอายุ ในธรรม ๘ ภิกษุผู้มีจิตอบรมดีแล้วโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนั้นใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ปัญหา ๘ อุทเทส ๘ ไวยากรณ์ ๘ คำนี้ ดิฉันอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว ดังนี้.

ความและเทศนานี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุมัติแล้วด้วยประการฉะนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริโย แปลว่า อันผู้ต้องการพระนิพพานพึงบรรลุ. อนึ่งมรรคพึงทราบว่า อริยะ เพราะเป็นไปห่างไกลจากกิเลสทั้งหลาย. เพราะกระทำให้เป็นพระอริยะ และแม้เพราะได้อริยผล. องค์ของมรรคนั้นมี ๘ เพราะเหตุนั้น มรรคนั้น จึงชื่อว่ามีองค์ ๘. มรรคนี้นั้นพึงทราบว่าเป็นเพียงองค์เท่านั้น เพราะมรรคมีสภาพที่บุคคลจะไม่พึงได้ โดยแยกออกจากองค์ เหมือนกองทัพมีองค์ ๔ และดนตรีมีองค์ ๕. บุคคลย่อมค้นหาพระนิพพานด้วยทางนี้หรือแสวงหาเอง หรือฆ่ากิเลสไป เหตุนั้น ทางนี้จึงชื่อว่ามรรค.

ภิกษุเมื่อเจริญมรรคมีประเภท ๘ และมีองค์ ๘ นี้อย่างนี้ ย่อมทำลายอวิชชา ทำวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งพระนิพพาน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน สมดังตรัสไว้อย่างนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หางเมล็ดข้าวสาลี หรือหางเมล็ดข้าวเหนียว ที่เขาตั้งไว้ชอบ เอามือหรือเท้าเหยียบ จักตำเอามือหรือเท้าได้ หรือจักทำให้ห้อเลือดได้ ข้อนี้เป็นไปได้. เพราะอะไร. เพราะหางเมล็ด

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 113

เขาตั้งไว้ชอบ ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา ทำวิชชาให้เกิด จักทำให้แจ้งพระนิพพานได้ ก็ด้วยทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ ข้อนี้เป็นไปได้ดังนี้.

พรรณนาปัญหาว่า อะไรเอ่ยชื่อว่า ๙

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ยชื่อว่า ๙. พระเถระกล่าวซ้ำว่า นว ๙ จึงทูลตอบว่า สัตตาวาส.

ในคำนั้น คำว่า นว ๙ เป็นการกำหนดจำนวน. คำว่า สัตว์ ได้แก่สัตว์มีชีวิต ที่ท่านบัญญัติที่อาศัยขันธ์อันนับเนื่องในชีวิตินทรีย์. คำว่า อาวาส ได้แก่ชื่อว่าอาวาส เพราะเป็นที่อยู่อาศัย. ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าสัตตาวาส นับเป็นทางแห่งเทศนา. แต่เมื่อว่าโดยอรรถใจความ คำนี้เป็นชื่อของสัตว์ ๙ ประเภท เหมือนอย่างที่ท่าน (๑) กล่าวไว้ว่า

ผู้มีอายุ เหล่าสัตว์มีกายต่างกันมีสัญญาต่างกัน มีอยู่ เหมือนมนุษย์บางพวก เทพบางพวก และวินิปาติกะทางพวก นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๑. เหล่าสัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ เหมือนทวยเทพที่อยู่ในหมู่พรหมผู้เกิดเป็นพวกแรก นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๒. เหล่าสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน มีอยู่ เหมือนทวยเทพเหล่าอาภัสสระ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๓. เหล่าสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ เหมือนทวยเทพเหล่าสุภกิณหะ นี้เป็น


๑. ที.ปาฏิ. ๓/ข้อ ๔๕๗.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 114

สัตตาวาสที่ ๔. เหล่าสัตว์ที่ไม่มีสัญญา ไม่เสวยอารมณ์มีอยู่ เหมือนทวยเทพเหล่าอสัญญสัตว์นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๕. เหล่าสัตว์ ฯลฯ ที่เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ นี้เป็นสัตตวาสที่ ๖. เหล่าสัตว์ ฯลฯ ที่เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๗. เหล่าสัตว์ ฯลฯ ที่เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๘. เหล่าสัตว์ ฯลฯ ที่เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ นี้เป็นสัตตาวาสนี้ ๙.

ก็ในที่นี้ พระเถระ กล่าวว่า สัตตาวาส ๙ ก็ตามนัยก่อนๆ นั่นแหละ มิใช่กล่าวเพราะไม่มีธรรม ๙ อย่างอื่น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๙ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ในธรรม ๙ คือ สัตตาวาส. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๙ เหล่านี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนั้นใด เรากล่าวว่า ปัญหา ๙ อุทเทส ๙ ไวยากรณ์ ๙ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว.

ก็ในปัญหานี้ ภิกษุละความเห็นว่ายั่งยืนงามความเป็นตนสุขเสียด้วยญาตปริญญา ในสัตตาวาส เพราะบาลีว่า ธรรม ๙ ควรกำหนดรู้ คือ สัตตวาส ๙. หน่ายด้วยการเห็นเป็นเพียงกองสังขารล้วนๆ คลายกำหนัดด้วยการเห็นอนิจจลักษณะด้วยตีรณปริญญา หลุดพ้นด้วยการเห็นทุกขลักษณะ เห็นที่สุดโดยชอบด้วยการเห็นอนัตตลักษณะ ตรัสรู้ความเป็นธรรมชอบด้วยปหานปริญญา ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีพุทธดำรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๙ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้. ในธรรม ๙ คือ สัตตาวาส ๙ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 115

พรรณนาปัญหาว่า อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑๐

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์แม้นี้อย่างนี้ จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑๐ ในปัญหานั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้ในการพยากรณ์ทั้งหลาย นอกจากการพยากรณ์ปัญหานี้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๑๐ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้. ในธรรม ๑๐ คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๑๐ ภิกษุเมื่อหน่าย โดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนั้นใดเรากล่าวว่า ปัญหา ๑๐ อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว ดังนี้.

ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น ในที่นี้ เพราะเหตุที่พระเถระไม่นำตัวเองเข้าไป ประสงค์แต่จะพยากรณ์พระอรหัต หรือเพราะเหตุที่ปัญหากรรม ที่พระเถระพยากรณ์โดยปริยายนี้ เป็นอันพยากรณ์ดีแล้ว ฉะนั้น ท่านที่ประกอบองค์ ๑๐ เหล่าใดท่านเรียกว่าพระอรหันต์ พระเถระเมื่อแสดงการบรรลุองค์ ๑๐ เหล่านั้นจึงทูลตอบด้วยเทศนาเป็นบุคลาธิษฐานว่า ท่านผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๑๐ ท่านเรียกว่า พระอรหันต์. เพราะในข้อนี้ ท่านผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๑๐ เหล่าใด ท่านเรียกว่า พระอรหันต์ พึงทราบว่าองค์ ๑๐. เหล่านั้น พระเถระถูกตรัสถามว่า อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑๐ จึงทูลชี้แจง. ก็องค์ ๑๐ เหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่ตรัสไว้ในพระสูตรทั้งหลายเป็นต้น อย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 116

ภิกษุทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า อเสขะ อเสขะ ภิกษุเป็นอเสขะ ด้วยเหตุเท่าไรพระเจ้าข้า. ตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นอเสขะ สัมมาสังกัปปะ เป็นอเสขะ สัมมาวาจา เป็นอเสขะ สัมมากัมมันตะ เป็นอเสขะ สัมมาอาชีวะ เป็นอเสขะ สัมมาวายามะเป็นอเสขะ สัมมาสติเป็นอเสขะ สัมมาสมาธิเป็นอเสขะ สัมมาญาณะเป็นอเสขะ และสัมมาวิมุตติเป็นอเสขะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นอเสขะแล.

จบพรรณนากุมารปัญหา

แห่ง

อรรถกถาขุททกปาฐะ ปรมัตถโชติกา