พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

มงคลสูตรที่ ๔ ว่าด้วยอุดมมงคล ๓๘

  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 124

มงคลสูตรที่ ๔

ว่าด้วยอุดมมงคล ๓๘

[๓๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาคนหนึ่งมีรัศมีอันงดงามยิ่ง ทำพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

[๓๑๘] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดีได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์ได้โปรดตรัสอุดมมงคล.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาตอบว่า

การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล.

การอยู่ในประเทศอันสมควรมงคล ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล.

พาหุสัจจะ ๑ ศิลปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาษิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 125

การบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล.

ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้ เป็นอุดมมงคล.

การงดเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล.

การเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมตามกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล.

ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมตามกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล.

ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล.

จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 126

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทำมงคล เช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.

จบมงคลสูตรที่ ๔

อรรถกถามงคลสูตรที่ ๔

คาถาที่ ๑ (มี ๓ มงคล)

มงคลสูตร มีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.

ถามว่า พระสูตรนี้ มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร.

ตอบว่า พระสูตรนี้ มีเหตุเกิดขึ้นดังต่อไปนี้.

ดังได้สดับมา ในชมพูทวีป มหาชนประชุมกันในที่ทั้งหลายมีประตูพระนคร สันถาคาร (ห้องโถง) และที่ประชุมเป็นต้น ในที่นั้นๆ แม้ให้เงินและทองแล้ว ก็ชวนกันและกันกล่าวพาหิรกถา มีเรื่องการลักนางสีดาเป็นต้น มีประการต่างๆ เรื่องหนึ่งๆ กว่าจะจบลง ก็ใช้เวลาถึง ๔ เดือน ในบรรดาพาหิรกถาเหล่านั้น มงคลกถาก็ตั้งขึ้นว่า อะไรหนอแลชื่อว่า มงคล สิ่งที่เห็นแล้วหรือชื่อว่า มงคล. สิ่งที่ฟังแล้วหรือชื่อว่า มงคล. สิ่งที่ได้ทราบแล้วหรือชื่อว่า มงคล. ใครเล่ารู้จักมงคล.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 127

ครั้งนั้น ชายคนหนึ่งชื่อว่า ทิฏฐมังคลิกะ พูดว่า ข้าพเจ้าย่อมรู้จักมงคล สิ่งที่เห็นแล้ว ชื่อว่า เป็นมงคลในโลก รูปที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าสิ่งที่เห็นแล้ว คือ คนบางคนในโลกนี้ตื่นแต่เช้าตรู่ เห็นนกแอ่นลมบ้าง เห็นต้นมะตูมหนุ่มบ้าง, หญิงมีครรภ์บ้าง, กุมารทั้งหลายซึ่งประดับตกแต่งแล้วบ้าง, หม้อน้ำที่เต็มบ้าง, ปลาตะเพียนสดบ้าง, ม้าอาชาไนยบ้าง, รถเทียมม้าอาชาไนยบ้าง, โคอุสภะบ้าง, แม่โคบ้าง สีแดงบ้าง ก็หรือว่าเห็นรูปแม้อื่นใดที่ สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่งเห็นปานนี้ นี้เขาเรียกกันว่า ทิฏฐมงคล.

คำของชายคนนั้น บางพวกก็ยอมรับ บางพวกก็ไม่ยอมรับ ชนพวกใดไม่ยอมรับ ชนพวกนั้นก็ถูกเถียงกับนายทิฏฐมังคลิกะนี้.

ครั้งนั้น ชายคนหนึ่งชื่อว่า สุตมังคลิกะ กล่าวว่า แน่ะผู้เจริญ ชื่อว่า จักษุนี้ เห็นรูปที่ดีบ้าง ที่งามบ้าง ไม่งามบ้าง ที่ชอบใจบ้าง ที่ไม่ชอบใจบ้าง ถ้าหากว่ารูปที่ตานั้นเห็นแล้วจักพึงเป็นมงคลไซร้ แม้รูปทุกชนิดก็พึงเป็นมงคล รูปที่เห็นแล้วจึงไม่ใช่เป็นมงคล แต่อีกอย่างหนึ่งแล เสียงที่ฟังแล้ว (ต่างหาก) เป็นมงคล (เพราะว่า) เสียงที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าสิ่งที่ได้ฟังแล้วคือ คนบางคนในโลกนี้ลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว ย่อมฟังเสียงว่า วัฑฒะ เจริญบ้าง, ว่า วัฑฒมานะ เจริญอยู่บ้าง, ปุณณะ เต็มบ้าง, ปุสสะ ขาวบ้าง, สุมนา ดอกมะลิบ้าง, สิริ มิ่งขวัญบ้าง สิริวัฒน์ เจริญด้วยมิ่งขวัญบ้าง, หรือว่า วันนี้ฤกษ์ดี, ยามดี, วันดี, มงคลดี หรือฟังเสียงที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่งเห็นปานนี้ นี้เขาเรียกกันว่า สุตมงคล คำแม้ของสุตมังคลิกะนั้น บางพวกก็ยอมรับ บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกใดไม่ยอมรับ พวกนั้นก็ถกเถียงกับนายสุตมังคลิกะนั้น.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 128

ครั้งนั้น ชายคนหนึ่งชื่อว่า มุตมังคลิกะ พูดว่า ท่านผู้เจริญ สิ่งที่ได้ฟังนี้ บุคคลย่อมได้ฟังสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ถ้าหากสิ่งที่ได้ฟังนั้นเป็นมงคลไซร้ แม้ทุกสิ่งที่ได้ฟังก็เป็นมงคลหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ ฟังหาเป็นมงคลไม่ แต่อีกประการหนึ่งแล สิ่งที่ได้ทราบ จัดว่าเป็นมงคล กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าสิ่งที่ได้ทราบเป็นมงคล คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ตื่นแต่เช้า สูดกลิ่นดอกไม้มีกลิ่นดอกปทุมบ้าง เคี้ยวไม้ชำระฟันสีขาวบ้าง จับต้องแผ่นดินบ้าง จับต้องข้าวกล้าที่เขียวสดบ้าง จับต้องโคมัย สดบ้าง จับต้องเต่าบ้าง จับต้องเกวียนบรรทุกงาบ้าง ดอกไม้บ้าง ผลไม้บ้าง หรือว่า ย่อมลูบไล้ร่างกายอย่างดีด้วยดินขาว (ดินสอพอง) นุ่งผ้าสาฏกสีขาวบ้าง โพกผ้าขาวบ้าง. ก็หรือว่าสูดกลิ่นแม้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่งเห็นปานนี้ หรือว่าลิ้มรส... หรือว่าถูกต้องโผฏฐัพพะ... นี้เขาเรียกกันว่า มุตมงคล. คำของนายมุตมังคลิกะแม้นั้น บางพวกก็เชื่อถือ บางพวกไม่เธอถือ.

ในบรรดาคนเหล่านั้น นายทิฏฐมังคลิกะ ไม่อาจจะให้นายสุตมังคลิกะ และนายมุตมังคลิกะยินยอมได้ หายสุตมังคลิกะก็ไม่อาจจะให้นายทิฏฐมงคลิกะ และนายสุตมังคลิกะยินยอมได้ นายทิฏฐมังคลิกะและนายสุตมังคลิกะนอกนี้ก็ไม่อาจให้นายมุตมังคลิกะยินยอมได้ ก็ในบรรดามนุษย์เหล่านี้ มนุษย์เหล่าใด เชื่อถือคำของนายทิฏฐมังคลิกะ มนุษย์เหล่านั้นก็ลงสันนิษฐานกันว่า สิ่งที่เห็นแล้วเท่านั้นเป็นมงคล มนุษย์เหล่าใดเชื่อคำของนายสุตมังคลิกะและนายมุตมังคลิกะ มนุษย์เหล่านั้นก็ลงสันนิษฐานว่า สิ่งที่ได้ฟังแล้วเท่านั้นเป็น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 129

มงคล (หรือว่า) สิ่งที่ได้ทราบแล้วเท่านั้นเป็นมงคล ถ้อยคำปรารภมงคลนี้ ปรากฏไปทั่วแล้วในชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้.

ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้นรวมกันเป็นพวกๆ คิดมงคลทั้งหลายกันว่า "อะไรหนอแล เป็นมงคล" แม้อารักขเทวดาทั้งหลายของพวกมนุษย์เหล่านั้นฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ก็คิดมงคลทั้งหลายกันเหมือนกัน ภุมมเทวดาทั้งหลายที่เป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้นมีอยู่, ครั้งนั้น ภุมมเทวดาทั้งหลาย ฟังจากเทวดาเหล่านั้นแล้ว ก็คิดมงคลทั้งหลายเหมือนกัน, อากาสัฏฐเทวดาที่เป็นมิตรของภุมมเทวดาแม้เหล่านั้นก็มีอยู่... ฯลฯ เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกา ที่เป็นมิตรของอากาสัฏฐเทวดาก็มีอยู่ โดยอุบายนี้นั้นแล จนถึงอกนิษฐเทวดาที่เป็นมิตรของสุทัสสีเทวดาก็มีอยู่ ครั้งนั้น แม้อกนิษฐเทวดาฟังจากสุทัสสีเทวดานั้นแล้ว ก็รวมกันเป็นพวกๆ เหมือนอย่างนั้น คิดมงคลทั้งหลาย การคิดเรื่องมงคลเกิดขึ้นในที่ทุกแห่งจนถึงหมื่นจักรวาลด้วยประการฉะนี้. ก็การคิดเรื่องมงคลนั้น ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว แม้อันนักคิดทั้งหลายวินิจฉัยกันอยู่ว่า สิ่งนี้เป็นมงคลๆ ก็ไม่ถึงการตกลงกันได้เลย คิดกันอยู่สิ้นเวลา ๑๒ ปี พวกมนุษย์ พวกเทวดาและพวกพรหมทั้งปวง เว้นพระอริยสาวกทั้งหลาย แตกกันเป็น ๓ พวก คือ พวกทิฏฐมังคลิกะพวก ๑ พวกสุตมังคลิกะพวก ๑ พวกมุตมังคลิกะพวก ๑ ไม่มีใครแม้คนเดียวที่ชื่อว่าถึงการตัดสินใจได้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เท่านั้นเป็นมงคล ความโกลาหลเรื่องมงคลเกิดขึ้นแล้วในโลก.

ชื่อว่า โกลาหลมี ๕ อย่าง คือ กัปปโกลาหล ๑ จักกวัตติโกลาหล ๑ พุทธโกลาหล ๑ มังคลโกลาหล ๑ โมเนยยโกลาหล ๑

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 130

ในบรรดาโกลาหลเหล่านั้น พวกเทพชั้นกามาวจร สนานเกล้า สยายผม ร้องไห้น้ำตานองหน้า ใช้มือเช็ดน้ำตา นุ่งห่มผ้าสีแดง ถือเพศที่แปลกๆ อย่างยิ่ง เที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไปแสนปี กัปจักสิ้น โลกนี้จักพินาศ และมหาสมุทรจักเหือดแห้ง มหาปฐพีนี้และภูเขาสิเนรุราช จักไหม้ พินาศ ความพินาศแห่งโลก จักมีถึงพรหมโลก แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และเจริญอุเบกขาเถิด ท่าน ทั้งหลายจงบำรุงเลี้ยงมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล จงตื่น อย่าประมาท นี้ชื่อว่า กัปปโกลาหล.

เทวดาชั้นกามาวจรนั้นแหละ เที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไป ๑๐๐ ปี พระเจ้าจักรพรรดิจักทรงอุบัติขึ้นในโลกนี้ชื่อว่า จักกวัตติ- โกลาหล.

ส่วนเทพเจ้าชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย ประดับประดาด้วยพรหมาภรณ์ กระทำผ้าโพกศีรษะสำหรับพรหมไว้บนเศียร เกิดปีติโสมนัสระลึกถึงพุทธคุณ เที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไป ๑,๐๐๐ ปี พระพุทธเจ้าจักทรงอุบัติขึ้นในโลก นี้ชื่อว่า พุทธโกลาหล.

พวกเทพเจ้าชั้นสุทธาวาสนั้นเอง ทราบวาระจิตของมนุษย์แล้ว ก็เที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไป ๑๒ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจัก ตรัสมงคล นี้ชื่อว่า มังคลโกลาหล.

เทพเจ้าทั้งหลายชั้นสุทธาวาสนั้นแล เที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไป ๗ ปี ภิกษุรูปหนึ่ง จักประชุมพร้อมกันกับพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามโมเนยยปฎิปทา นี้ชื่อว่า โมเนยยโกลาหล.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 131

ในบรรดาโกหาหลทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ มังคลโกลาหลนี้ เกิดขึ้นแล้วในโลก ในเมื่อพวกเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายแตกกันเป็น ๓ พวก ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิมงคลเป็นต้น ครั้งนั้น เมื่อเทพเจ้าทั้งหลายและมนุษย์ทั้งหลายค้นหากันแล้วๆ ไม่ได้มงคลทั้งหลายอยู่ โดยล่วงไป ๑๒ ปี เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ก็มาประชุมพร้อมกัน คิดร่วมกันอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เจ้าของเรือน (พ่อเจ้าเรือน) ย่อมบอกเนื้อความแก่พวกชนในเรือน, นายบ้าน ย่อมบอกเนื้อความแก่ชนทั้งหลายผู้อยู่ในบ้าน, พระราชา ย่อมตรัสบอกเนื้อความแก่พวกมนุษย์ทั้งปวง แม้ฉันใด ท้าวสักกะจอมเทพนี้ ซึ่งเป็นผู้เลิศและประเสริฐ คือเป็นอธิบดีแห่งเทวโลกทั้งสอง ด้วยบุญ ด้วยเดช ด้วยความเป็นใหญ่ (และ) ด้วยปัญญา ไฉนหนอ พวกเราจะพึงบอกเนื้อความ นี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพฉันนั้นเหมือนกัน. เทวดาเหล่านั้นจึงพากันไปยังสำนักของท้าวสักกะ ถวายบังคมท้าวสักกะจอมเทพ ผู้มีพระวรกายย้อนเป็นสิริประดับด้วยฉลองพระองค์และอาภรณ์ แวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสร ๒ โกฏิกึ่ง ผู้ประทับนั่งแล้วบนแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่โคนต้นปาริฉัตร ตามสมควรแก่ขณะนั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูลเนื้อความนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอเดชะ ขอพระองค์พึงทราบเถิดว่า บัดนี้มงคลปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว (คือ) เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล พวกหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่ได้ฟังแล้วเป็นมงคล อีกพวกหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่ได้ทราบ แล้วเป็นมงคล ในบรรดาทั้ง ๓ พวกนั้น พวกข้าพระองค์และพวกอื่น ก็ตกลงกันได้ ดังพวกข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระองค์ทรงพยากรณ์ (มงคลปัญหา) แก่พวกข้าพระองค์ตามความเป็นจริงเถิด.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 132

เทวราชแม้โดยปกติทรงมีปัญญา ตรัสถามว่า มงคลคาถานี้เกิดที่ไหนก่อน. เทวดาทั้งหลายก็ทูลว่า พวกข้าพระองค์ได้ฟังมงคลปัญหานี้ ของพวกเทพชั้นจาตุมมหาราช ต่อจากนั้นเทวดาทั้งหลายก็ทูลว่า พวกเทพเจ้าชั้นจาตุมมหาราชทั้งหลาย (ได้ฟังปัญหา) ของพวกอากาสัฏฐเทวดา พวกอากาสัฏฐเทวดาก็ได้ฟังปัญหาของพวกภุมมเทวดา พวกภุมมเทวดาก็ได้ฟังปัญหาของพวกเทวดาผู้รักษามนุษย์ พวกเทพยดาซึ่งรักษามนุษย์ก็กล่าวว่า ปัญหาตั้งขึ้นแล้วในมนุษยโลก.

ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพจึงตรัสถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า (ขณะนี้) ประทับอยู่ที่ไหน. พวกเทวดาทั้งหลายก็กราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ พระองค์ ประทับอยู่ในมนุษยโลก. ท้าวสักกะตรัสถามว่า ใครได้ทูลถามปัญหานั้นกะพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. เทพยดาทั้งหลายทูลว่า ข้าแต่เทวะ ยังไม่มีใครทูลถาม. ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เพราะเหตุไรหนอแล พวกท่านจึงละเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้แสดงมงคลที่ไม่มีส่วนเหลือ แล้วสำคัญเราว่าเป็นผู้ควรถาม ชื่อว่าทิ้งไฟเสียแล้ว มาใช้แสงหิ่งห้อย ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พวกท่านจงไป จงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พวกท่านก็จักได้การตอบปัญหาซึ่งมีสิริ (มีคุณค่า) อย่างแน่นอน.

ท้าวสักกะเทวราชจึงตรัสสั่งเทพบุตรองค์หนึ่งว่า ท่านจงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า เทพบุตรองค์นั้นประดับองค์ด้วยเครื่องอลังการตามสมควรขณะนั้น โชติช่วงอยู่ ประดุจสายฟ้า มีหมู่เทพแวดล้อมมายังพระมหาวิหารเชตวัน กราบถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อจะทูลถาม

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 133

มงคลปัญหา จึงได้กล่าวด้วยคาถา. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแก้ปัญหานั้นของเทพบุตรนั้น จึงได้ตรัสพระสูตรนี้.

เนื้อความแห่งคำทั้งหลายมีคำว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้นในพระสูตรนั้นแต่โดยย่อ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว ในอรรถกถาแห่งกสิภารทวาชสูตร ส่วนชนทั้งหลายผู้ปรารถนาความพิสดาร พึงถือเอาเนื้อความโดยนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ในอรรถกถามัชฌิมนิกาย ชื่อ ปปัญจสูทนี

ก็ในกสิภารทวาชสูตร ท่านกล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในบ้านพราหมณ์ชื่อ เอกนาฬา ในทักขิณาคิรีชนบท ในแคว้นมคธ (แต่) ใน มงคลสูตรนี้ ท่านกล่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี ข้าพเจ้าจักพรรณนาบทที่ไม่เคยพรรณาในมงคลสูตรนี้ เริ่มต้นแต่บทว่า สาวตฺถิยํ เป็นต้นไป คือ

บทว่า สาวตฺถิยํ ได้แก่ ในพระนครซึ่งมีชื่ออย่างนี้.

ดังได้สดับมา นครนั้นได้เป็นสถานที่อยู่ของฤาษี ชื่อว่า สวัตถะ นครนั้นชาวโลกเรียกว่า สาวัตถี ด้วยสามารถที่เป็นอิตถีลิงค์ เหมือนที่อยู่ของฤาษีชื่อว่า กุสัมพะ ชาวโลกเรียกว่า โกสัมพี ที่อยู่ของฤาษีชื่อว่า กากัณฑะ ชาวโลกเรียกว่า กากัณฑี ฉะนั้น แต่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้ว่า เพราะเหตุที่เมื่อชนทั้งหลายถามถึงกองเกวียนที่มารวมกันอยู่ ณ ที่นั้นว่า มีสินค้าอะไรบ้าง ชนทั้งหลายก็ตอบว่ามีสินค้าทุกอย่าง เพราะฉะนั้น สถานที่นี้ ชาวโลกจึงเรียกว่า สาวัตถี หมายเอาคำนั้น. ในพระนครสาวัตถีนั้น. ด้วยคำว่า สาวตฺถิยํ นี้ พระอานนทเถระแสดงถึงโคจรคามของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 134

ราชกุมารชื่อว่า เชตะ มีอยู่ สถานที่นั้นชื่อว่า เชตวัน เพราะเป็นป่าของเจ้าเชตนั้น เนื่องจากเจ้าเช่นนั้นปลูกบำรุงให้เจริญไว้. ในพระเชตวันนั้น. คหบดีชื่อว่า อนาถบิณฑิกะ เพราะอรรถว่าเป็นผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาทั้งหลาย. แห่งอนาถบิณฑิกะคหบดีนั้น. อธิบายว่า ในอารามที่คหบดี ชื่อว่า อนาถบิณฑิกะ สร้างสำเร็จโดยการบริจาคทรัพย์ ๕๔ โกฏิ ด้วยคำว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม นี้เป็นอันพระอานนท์แสดงถึงที่อยู่อันสมควรแก่ บรรพชิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.

ศัพท์ว่า อถ ใช้ในอรรถว่า ไม่กำหนดกาล (แน่นอน)

ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า แสดงถึงระหว่างแห่งอธิการด้วยคำว่า อถ โข นั้น พระอานนท์แสดงถึงเวลาที่ไม่กำหนดนั้นแล ว่า ในระหว่างอธิการนี้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าในวิหารนั้น. ถามว่า เรื่องนั้นคืออะไร. ตอบว่า เรื่องนั้นคือ เทวดาองค์ใดองค์หนึ่งเป็นต้น เกิดขึ้นแล้วในระหว่างแห่งอธิการ.

ในบรรดาคำทั้งสองนั้น คำว่า อญฺตรา เป็นการแสดงถึงสิ่งที่ไม่ได้กำหนดแน่นอน จริงอยู่ เทวดาองค์นั้นไม่ปรากฏชื่อและโคตร เพราะฉะนั้น พระอานนท์จึงกล่าวว่า อญฺตรา (เทวดา) องค์ใดองค์หนึ่ง เทวดาก็คือ เทพเจ้านั่นเอง คำว่า เทวดา นี้ใช้ทั่วไปทั้งเทวดาผู้หญิงและผู้ชาย แต่ในพระสูตรนี้ เทวดาเป็นผู้ชายเท่านั้น. เทวบุตรองค์นั้น. แต่ท่านกล่าวว่า เทวดา ดังนี้ เพราะเหตุไร. ตอบว่า เทวบุตรที่ท่านเรียกว่า เทวดา ก็ด้วยอำนาจสาธารณนาม.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 135

อภิกฺกนฺต ศัพท์ ในคำนี้ว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา ปรากฏในอรรถว่าสิ้นไป (ขยะ) ดี (สุนทร) งาม (อภิรูป) น่าชื่นชม (อัพภานุโมทนา) เป็นต้น.

ในบรรดาคำเหล่านั้น อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า สิ้นไป ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค็ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์ก็นั่งอยู่นานแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด ดังนี้.

อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า ดี ในประโยคทั้งหลายมีอาทิ อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ดีกว่า ประณีตกว่า บุคคลทั้ง ๔ จำพวกเหล่านี้.

อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า งาม ในประโยคทั้งหลายมีอาทิ อย่างนี้ว่า

ใครนะ มีผิวพรรณงามยิ่ง รุ่งเรือง อยู่ด้วยฤทธิ์ ด้วยศ ส่องทิศทั้งปวงให้สว่าง ไสวอยู่ ย่อมไหว้เท้าทั้งสองของเรา ดังนี้.

อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า น่าชื่นชม ในประโยคทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าชื่นชม แต่ในมงคลสูตรนี้ อภิกนฺต ศัพท์ใช้ในอรรถว่า ขยะ สิ้นไป เพราะเหตุนั้น เมื่อราตรีล่วงแล้ว อธิบายว่า เมื่อราตรีสิ้นแล้ว.

อภิกฺกนฺต ศัพท์ ในคำว่า อภิกนฺตวณฺณา นี้ ใช้ในอรรถว่างาม.

ส่วน วณฺณ ศัพท์ ปรากฎในอรรถทั้งหลายมีอรรถว่า ผิวพรรณ (ฉวิ) การชมเชย (ถุติ) สกุลวงศ์ (กุลวัคคะ) เหตุ (การณะ) รูปร่าง (สัณฐานะ) ประมาณ (ปมาณะ) และอายตนะคือสี (รูปายตนะ) เป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 136

ในบรรดาอรรถเหล่านั้น วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า ผิวพรรณ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์มี วรรณะเพียงดังทอง.

วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า การชมเชย ในประโยคทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี การชมเชยพระสมณโคดมเหล่านี้ ท่านรวบรวมไว้ตั้งแต่เมื่อใด.

วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า สกุลวงศ์ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิ อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะเหล่านี้มีอยู่ ๔ จำพวก.

วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า เหตุ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิ อย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอแล ภิกษุ จึงถูกเรียกว่า เป็นผู้ขโมยกลิ่น.

วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า รูปร่าง ในประโยคทั้งหลายมี อาทิอย่างนี้ว่า นิรมิตรูปแห่งพระยาช้างใหญ่.

วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า ประมาณ ในประโยคทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า บาตรมี ๓ ขนาด.

วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า อายตนะคือสี ในประโยค ทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า วรรณะ คันธะ รสะ โอชะ.

แต่ในมงคลสูตรนี้ วณฺณ ศัพท์นั้น พึงเห็นว่า ปรากฏในอรรถว่า ผิวพรรณ.

เพราะเหตุนั้น เทพบุตรนั้นเป็นผู้มีวรรณะงามยิ่ง อธิบายว่า มี ผิวพรรณงาม.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 137

เกวล ศัพท์ ในคำว่า เกวลกปฺปํ นี้ มีอรรถเป็นอเนก คือมีอรรถว่า ไม่มีส่วนเหลือ อนวเสสะ, โดยมาก เยภุยยะ, ไม่เจือกัน อัพยามิสสะ ไม่ใช่มาก อนติเรกะ, มั่นคง ทัฬหัตถะ, แยกจากกัน วิสังโยคะ เป็นต้น.

จริงอย่างนั้น เกวล ศัพท์นั้นมีอรรถว่า ไม่มีส่วนเหลือ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงประกาศ) พรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง (ไม่มีส่วนเหลือ)

เกวล ศัพท์นั้นมีอรรถว่า เป็นไปโดยมาก ในประโยคทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า ก็ชาวอังคะและชาวมคธะส่วนมากถือขาทนียะและโภชนียะเป็นอันมากจักเข้าไปหา.

เกวล ศัพท์มีอรรถว่า ไม่เจือกัน ในประโยคทั้งหลายมีอาทิ อย่างนี้ว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นย่อมมีได้.

เกวล ศัพท์มีอรรถว่า ไม่ใช่มาก ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ จักบรรลุคุณวิเศษ. เพราะอาศัยเหตุสักว่าศรัทธาอย่างเดียว แน่แท้.

เกวล ศัพท์มีอรรถว่า มั่นคง ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สัทธิวิหาริกของพระอนุรุทธะ ผู้มีอายุ ชื่อว่า พาหิกะ ดำรงอยู่เพื่อทำลายสงฆ์อย่างเดียว (มั่นคง).

เกวล ศัพท์มีอรรถว่า การแยกจากกัน ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านผู้อยู่แต่ผู้เดียว ท่านเรียกว่า บุรุษผู้สูงสุด.

แต่ในมงคลสูตรนี้ ท่านประสงค์เอา เกวล ศัพท์นั้นซึ่งมีอรรถว่า ไม่มีส่วนเหลือ (ทั้งสิ้น).

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 138

ส่วน กปฺป ศัพท์นี้ มีอรรถเป็นอเนก เป็นต้นว่า ความเชื่อถือ อภิสัททหนะ, โวหาร โวหาระ, กาล กาละ, บัญญัติ บัญญัติ, การตัด เฉทนะ, กำหนด วิกัปปะ, ข้ออ้าง เลสะ, โดยรอบ สมันตภาวะ เป็นต้น.

จริงอย่างนั้น กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า เชื่อถือ ในประโยคทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า ข้อนั้นบุคคลพึงน้อมใจเชื่อ ต่อพระสมณโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ซึ่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยประการใดแล.

กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า โวหาระ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บริโภคผลไม้ ด้วยสมณกัปปะทั้ง ๕.

กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า กาละ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า โดยสมัยใด เราจักอยู่ตลอดกาลเป็นนิจ.

กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า บัญญัติ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า เพราะเหตุนี้ พระกัปปะ ผู้มีอายุ.

กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า การตัด ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า เขาประดับตกแต่งแล้วตัดผม โกนหนวดแล้ว.

กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า กำหนด ในประโยคทั้งหลายอาทิมีอาทิอย่างนี้ว่า กัปปะว่า ถ้าหากว่าตะวันคล้อยไปชั่ว ๒ องคุลี (ภิกษุวัชชีย่อมบัญญัติว่า) ย่อมควรเพื่อฉันอาหารได้.

กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า ข้ออ้าง ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้ออ้างเพื่อจะนอนมีอยู่.

กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า โดยรอบ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ ว่า ทำพระเวฬุวันโดยรอบทั้งสิ้นให้สว่างไสว.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 139

แต่ในมงคลสูตรนี้ ท่านประสงค์เอา กปฺป ศัพท์ ในความหมายว่า โดยรอบ.

เพราะเหตุนั้นในคำว่า เกวลกปฺปํ เชตวนํ นี้ พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ยังพระเชตวันทั้งสิ้นโดยรอบ.

บทว่า โอภาเสตฺวา ความว่า แผ่ไปแล้วด้วยแสงสว่าง อธิบายว่า กระทำแล้วให้สว่างเป็นอันเดียวกัน คือให้โชติช่วงเป็นอันเดียวกัน ดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์ ฉะนั้น.

คำว่า เยน ในคำว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ เป็นตติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถสัตตมีวิภัตติ.

บัณฑิตพึงเห็นเนื้อความในคำว่า ยตฺถ ภควา ตตฺถ อุปสงฺกมิ นี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่ใด ก็เข้าไปเฝ้าแล้วซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าในที่นั้น โดยกาลนั้น, อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในคำว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเหตุใด เทวบุตรก็เข้าเฝ้าด้วยเหตุนั้น ดังนี้

ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า อันเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าโดยเหตุไร? ตอบว่า เข้าไปเฝ้าแล้ว มีคำอธิบายว่า ไปแล้ว ด้วย ความประสงค์ที่จะบรรลุคุณวิเศษที่ประการต่างๆ ดุจไม้ใหญ่ที่ผลิดอกอกผลอยู่เป็นนิจ อันหมู่นกทั้งหลายเข้าไปหาอยู่ ด้วยประสงค์จะบริโภคผลที่อร่อย ฉะนั้น. คำว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นการแสดงถึงการสิ้นสุดแห่งการเข้าไปเฝ้า อีกอย่างหนึ่ง เทวดานั้น ไปแล้วอย่างนี้ มีคำอธิบายว่า ไปแล้วสู่สถานที่อัน ใกล้กว่า คือที่ใกล้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าต่อจากนั้น.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 140

คำว่า ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา ความว่า ถวายบังคมคือนอบน้อม นมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า.

คำว่า เอกมนฺตํ เป็นคำแสดงถึง นปุสกสิงค์ มีคำอธิบายว่า ณ โอกาสข้างหนึ่ง คือ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า เอกมนฺตํ เป็นทุติยวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ (แปลว่า ณ, ใน).

คำว่า อฏฺาสิ เป็นการปฏิเสธอิริยาบถอื่นมีการนั่งเป็นต้น อธิบายว่า สำเร็จการยืน ได้แก่ เป็นผู้ยืนอยู่แล้ว. ถามว่า ก็เทวดานั้นยืนอย่างไร? ชื่อว่า ยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

ตอบว่า เทวดาเว้นแล้วซึ่งโทษ (๘ อย่าง) เหล่านี้คือ ไม่ยืนข้างหลัง ๑ ไม่ยืนข้างหน้า ๑ ไม่ยืนใกล้ ๑ ไม่ยืนไกล ๑ ไม่ยืนตรงหน้า ๑ ไม่ยืนเหนือลม ๑ ไม่ยืนต่ำกว่า ๑ ไม่ยืนสูงกว่า ๑ ชื่อว่า ยืนแล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

ถามว่า ก็เทวบุตรนี้ยืนเท่านั้น ไม่นั่ง เพราะเหตุไร?

ตอบว่า เพราะเทวดาทั้งหลายประสงค์จะกลับไว อธิบายว่า จริงอยู่เทวดาทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์บางอย่างเท่านั้น จึงมายังมนุษยโลก ซึ่งเปรียบประดุจส้วมที่เต็มด้วยของไม่สะอาด ก็โดยปกติมนุษยโลกเป็นของปฏิกูลแก่เทวดาเหล่านั้น เพราะเป็นสถานที่มีกลิ่นเหม็นนับจำเดิมแต่ ๑๐๐ โยชน์ พวกเทวดาจึงไม่ยินดีในมนุษยโลกนั้น เพราะเหตุนั้นเทวดานั้นทำธุระที่ตนมาเสร็จแล้ว ก็ไม่ยอมนั่ง เพราะต้องการจะกลับไว ชนทั้งหลายย่อมนั่ง เพื่อจะบรรเทาความอ่อนเพลียแห่งอิริยาบถ อันเกิดจากการเดินเป็นต้น อันใดความเพลียอันนั้นของเทวดาทั้งหลายย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นเทวดาจึงไม่ยอมนั่ง

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 141

ก็มหาสาวกทั้งหลายเหล่าใด ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่แล้ว เทวดาก็นับถือมหาสาวกเหล่านั้น จึงไม่นั่ง. อีกอย่างหนึ่ง เทวดาไม่ยอมนั่งเพราะ เคารพในพระพุทธเจ้า ด้วยว่าเมื่อเทวดาทั้งหลายจะนั่ง อาสนะก็บังเกิดขึ้น เทวดาไม่ปรารถนาอาสนะนั้นจึงไม่คิดแม้เพื่อจะนั่ง ได้ยืนอยู่แล้ว ณ ส่วน ข้างหนึ่ง.

คำว่า เอกมนฺตํ ิตา โข สา เทวตา ความว่า เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล ด้วยเหตุเหล่านี้อย่างนี้.

คำว่า ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ อธิบายว่า ได้ทูลแล้วกะพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำที่นิยมอักขระบท (คือด้วยคาถา).

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า พหู เป็นการแสดงการนับที่ไม่แน่นอน มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายว่า ด้วยคำว่า พหู นั้น ย่อมมีร้อยเป็นอเนก มีพัน เป็นอเนก มีแสนเป็นอเนก.

สัตว์โลกที่ชื่อว่า เทพ เพราะอรรถว่า ย่อมเล่น อธิบายว่า เทวดาทั้งหลายย่อมเล่นด้วยกามคุณ ๕ หรือว่าย่อมโชติช่วงด้วยสิริของตน อีกอย่างหนึ่ง เทวดามี ๓ ประเภท ด้วยอำนาจสมมติเทพ อุปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ. เหมือนอย่างที่พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้ว่า คำว่า เทว ได้แก่เทพ ๓ ประเภท คือ สมมติเทพ ๑ อุปปัตติเทพ ๑ วิสุทธิเทพ ๑ อธิบายว่า พระราชาทั้งหลาย พระเทวีทั้งหลาย และพระราชกุมารทั้งหลาย พระราชกุมารีทั้งหลาย ชื่อว่า สมมติเทพ. เทพในสวรรค์ชั้นนั้นๆ นับตั้งแต่เทพชั้นจาตุมมหาราชไป ชื่อว่า อุปปัตติเทพ. พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่า วิสุทธิเทพ.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 142

ในบรรดาเทพ ๓ จำพวกเหล่านั้น อุปปัตติเทพ ท่านประสงค์เอา ในพระสูตรนี้.

สัตว์โลกที่ชื่อว่า มนุษย์ เพราะอรรถว่าเป็นเหล่ากอแห่งพระมนู ก็พระโบราณาจารย์ทั้งหลายย่อมกล่าวว่า สัตว์โลกทั้งหลายที่ชื่อว่ามนุษย์ เพราะเป็นผู้มีใจสูง.

มนุษย์เหล่านั้นมี ๔ จำพวกคือ พวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป ๑ พวก มนุษย์ชาวอมรโคยาน (๑) ๑ พวกมนุษย์อุตตรกุรุ ๑ พวกมนุษย์ชาวปุพพวิเทหะ ๑ มนุษย์ชาวชมพูทวีป ท่านประสงค์เอาในพระสูตรนี้.

สัตว์ทั้งหลายย่อมถึงความเจริญด้วยเหตุเหล่านี้ เหตุนั้น เหตุเหล่านี้จึงชื่อว่า มงคล อธิบายว่า ย่อมถึงความสำเร็จ คือความเจริญ.

คำว่า จินฺตยุํ ได้แก่ คิดกันแล้ว.

คำว่า อากงฺขมานา ได้แก่ ปรารถนาอยู่ คือต้องการอยู่ หวังอยู่

บทว่า โสตฺถานํ ได้แก่ ความสวัสดี มีคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ซึ่งความมีอยู่แห่งคำทั้งหลายอันงาม คือดี คือสวย อันเป็นไปในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพทั้งปวง.

คำว่า พฺรูหิ ได้แก่ จงแสดง คือ จงประกาศ จงบอก จงเปิดเผย จงจำแนก จงทำให้แจ้ง.

คำว่า มงฺคลํ ได้แก่ เหตุแห่งความสำเร็จ คือเหตุแห่งความเจริญ ได้แก่ เหตุแห่งสมบัติทั้งปวง.


๑. ในบางแห่งว่า อปรโคยานทวีป.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 143

คำว่า อุตฺตมํ ได้แก่ ประเสริฐ คือ เลิศ ได้แก่ นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่โลกทั้งปวง นี้คือการอธิบายตามลำดับบทแห่งคาถา. ส่วนการประมวลเนื้อความมีดังต่อไปนี้.

เทพบุตรนั้น เชิญเทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาลให้ประชุมกันในจักรวาลอันเดียวนี้ เพื่อต้องการจะฟังมงคลปัญหา ได้เห็นแล้วซึ่งเทวดา มารและพรหมทั้งปวง ผู้เนรมิตอัตภาพให้ละเอียด ประมาณเท่าปลายขนทรายเส้นหนึ่ง เป็น ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ บ้าง ๓๐ บ้าง ๔๐ บ้าง ๕๐ บ้าง ๖๐ บ้าง ๗๐ บ้าง ๘๐ บ้าง ผู้ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับนั่งเหนือบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้แล้ว ผู้รุ่งโรจน์ก้าวล่วง (เทพ, มาร, และพรหม) เหล่านั้น ด้วยพระสิริและพระเดช และได้ทราบถึงความปริวิตกแห่งใจของพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น แม้ที่ยังไม่ได้มาในสมัยนั้นด้วยใจ เพื่อจะถอนเสียซึ่งลูกศรคือความสงสัยของเทพเจ้าและมนุษย์ทั้งปวง จึงได้ทูลว่า เทพเจ้าและมนุษย์เป็นอันมาก หวังอยู่ซึ่งความสวัสดี คือปรารถนาความสวัสดีแห่งตน จึงพากันคิดมงคลทั้งหลายข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เป็นผู้ซึ่งข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ตามความอนุมัติของเทพเจ้าเหล่านั้น และด้วยความอนุเคราะห์ของมนุษย์ทั้งหลาย ขอจงตรัสบอกซึ่งมงคลอย่างสูงสุด คือว่าขอพระองค์ได้อาศัยความอนุเคราะห์ต่อข้าพระองค์ทั้งหลาย โปรดตรัสบอกมงคลอันสูงสุด เพราะจะนำประโยชน์สุขมาให้โดยส่วนเดียว แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ทั้งปวง ทีเดียว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของเทพบุตรนี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 144

การไม่คบ คือการไม่เข้าไปนั่งใกล้ ชื่อว่า อเสวนา ในพระคาถานั้น. ในคำว่า พาลานํ มีวิเคราะห์ว่า ชนทั้งหลายเหล่าใด ย่อมอ่อนแอ เหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า คนพาล.

ถามว่า ย่อมอ่อนแอ เพราะเหตุไร? ตอบว่า ชนทั้งหลายย่อมเป็นอยู่สักว่าลมหายใจเข้าออก อธิบายว่า ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยปัญญา. ซึ่งคนพาลทั้งหลายเหล่านั้น.

ในคำว่า ปณฺฑิตานํ มีวิเคราะห์ว่า ชนทั้งหลายเหล่าใดย่อมดำเนินไปด้วยปัญญา เหตุนั้น ชนเหล่านั้น ชื่อว่า บัณฑิต อธิบายว่า ชนทั้งหลายย่อมดำเนินไป ด้วยญาณคติในประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ. ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น.

การคบ คือการเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่ การมีบุคคลนั้นเป็นสหาย การมีบุคคลนั้นเป็นเพื่อน ชื่อว่า เสวนา.

การทำสักการะ การทำความเคารพ การนับถือและการกราบไหว้ ชื่อว่า บูชา.

คำว่า ปูชเนยฺยานํ หมายถึง ผู้ควรแก่การบูชา.

คำว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรวบรวมการกระทำทั้งหมดคือ การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ เข้าด้วยกันแล้วตรัสว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ข้อนั้นเป็นมงคลอันสูงสุด มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ท่านจงถือเอาในคำที่ท่านถามว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกมงคลอันสูงสุด ทั้ง ๓ นี้ ว่า เป็นมงคลอันสูงสุดก่อน

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 145

ดังนี้ก่อน นี้คือการอธิบายบทแห่งพระคาถานี้. ส่วนการอธิบายเนื้อความแห่งพระคาถานั้น ผู้ศึกษาพึงทราบอย่างนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงสดับคำของเทพบุตรนี้ อย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบคนพาลทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น.

ในข้อนี้มีกถา (ถ้อยคำที่ควรพูด) อยู่ ๔ ประการดังนี้คือ ปุจฉิตกถา ๑ อปุจฉิตกถา ๑ สานุสันธิกถา ๑ อนนุสันธิกถา ๑.

ในถ้อยคำทั้ง ๔ ประเภทนั้น ถ้อยคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อมีผู้ทูลถามในปัญหาทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดม ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า ผู้ฟัง ทำอย่างไร จึงชื่อว่า เป็นผู้ฟังที่ดี และว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอ ดังนี้ ตรัสตอบแล้ว ชื่อว่า ปุจฺฉิตกถา.

ถ้อยคำที่พระองค์ซึ่งไม่มีผู้ทูลถาม ปัญหาทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า สิ่งใดที่ชนพวกอื่นกล่าวว่าเป็นสุข สิ่งนั้นพระอริยเจ้ากล่าวว่าเป็นทุกข์ ดังนี้ ตรัสแล้ว ด้วยสามารถอัธยาศัยของตน (ผู้ฟัง) เท่านั้น ชื่อว่า อปุจฺฉิตกถา.

พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้ทั้งปวงชื่อว่า สานุสนฺธิกถา เพราะพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลายเราจะแสดงธรรมที่มีเหตุซึ่งผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้.

อนนุสนฺธิกถา (ถ้อยคำที่พูดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล) ไม่มีในศาสนานี้.

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 146

ในบรรดากถาทั้งหลายเหล่านี้ มงคลกถานี้ชื่อว่า ปุจฉิตกถา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเทวบุตรทูลถามแล้วได้ตรัสไว้ ดังพรรณนามานี้.

ก็ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในปุจฉิตกถา ดังต่อไปนี้ :-

ในบรรดาบุคคลทั้งหลายที่ควรคบและไม่ควรคบ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกถึงบุคคลที่ไม่ควรคบก่อน แล้วตรัสบอกถึงบุคคลที่ควรคบในภายหลัง เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาด เป็นผู้ฉลาดในหนทางและที่ไม่ใช่หนทาง เมื่อมีผู้ถามถึงทาง จึงได้บอกทางที่ควรละก่อน แล้วบอกทางที่ควรถือเอาในภายหลังนั้นว่า ในสถานที่ชื่อโน้นมีทางอยู่สองแพร่ง ในบรรดาทางทั้งสองนั้น ท่านจงละทางซ้าย แล้วถือเอาทางขวา ฉะนั้น.

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเช่นกับคนที่ฉลาดในหนทาง สมดังที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า ดูก่อนติสสะ คำว่าบุรุษผู้ฉลาดในหนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยว่าพระองค์ทรงฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกอื่น ฉลาดในบ่วงของมัจจุ ฉลาดในธรรมที่ไม่ใช่บ่วงของมัจจุ ฉลาดในบ่วงของมาร ฉลาดในธรรมที่มิใช่บ่วงของมาร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสบอกถึงบุคคลที่ไม่ควรเสพก่อนจึงตรัสว่า อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบคนพาลทั้งหลาย และเมื่อตรัสบอกบุคคลที่ควรเสพ จึงตรัสว่า ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา การคบบัณฑิตทั้งหลาย.

ด้วยว่า พวกคนพาลอันบุคคลไม่ควรคบ คือไม่ควรเข้านั่งใกล้ก่อน ราวกะว่าทางที่ควรเว้น ต่อจากนั้นก็ควรคบคือควรเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตทั้งหลาย ดุจทางที่ควรถือเอา. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสมงคล

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 147

จึงได้ตรัสถึงการไม่คนพวกคนพาลก่อน (ตรัส) ถึงการคบบัณฑิตทั้งหลายในภายหลัง. ตอบว่า เพราะเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถือเอาแล้วซึ่งความเห็นอันเป็นมงคล ในมงคลทั้งหลายมีทิฏฐิมงคลเป็นต้นนี้ เพราะด้วยการเสพกับคนพาล และมงคลทิฏฐินี้ก็เป็นอัปมงคล ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงติเตียนการคลุกคลีกับอกัลยาณมิตร ซึ่งหักรานประโยชน์ในโลกนี้ ในโลกอื่นนั้น และเมื่อทรงสรรเสริญการคบกัลยาณมิตรผู้ทำประโยชน์ในโลกทั้งสองให้สำเร็จ จึงได้ตรัสการไม่คบพวกคนพาลก่อน และตรัสการคบบัณฑิตทั้งหลายในภายหลัง แก่เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.

สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบแล้วด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีปาณาติบาต เป็นต้นเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ชื่อว่า คนพาล. ในบรรดาคนพาลและบัณฑิตทั้งสองนั้น พวกคนพาลเหล่านั้น บัณฑิตจะพึงทราบได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาล มีพาลลักษณะ ๓ ประการเหล่านี้ ดังนี้ (๑)

อีกอย่างหนึ่ง ชนทั้งหลายเหล่านี้คือ ครูทั้งหกมีปูรณกัสสปเป็นต้น ชนทั้งหลายมีพระเทวทัต พระโกกาลิกะ พระกฏโมสกติสสะ พระขัณฑเทวีบุตร พระสมุททัตตะ และนางจิญจมาณวิกาเป็นต้น และพระภาดาของพระเจ้าทีฆวิทในอดีตกาล และสัตว์เห็นปานนี้เหล่าอื่น พึงทราบว่า คนพาล ชนเหล่านั้น ย่อมทำตนเองและชนทั้งหลายที่ทำตามถ้อยคำของตนให้ถึงความพินาศ ด้วยตนที่ถือเอาผิดประดุจเรือนที่ถูกไฟไหม้ทั่วแล้วฉะนั้น เหมือนอย่างพระภาดาของพระเจ้าทีฆวิทมีอัตภาพประมาณ ๖๐ โยชน์ นอนหงายตกไป อันไฟไหม้อยู่


๑. อัง. ติก. ๒๐/ ข้อ ๔๔๒

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 148

ในมหานรกสิ้น ๔ พุทธันดร และเหมือนอย่างสกุล ๕๐๐ สกุลซึ่งชอบใจทิฏฐิของพระองค์เข้าถึงความเป็นสหายของพระองค์นั้นแหละไหม้อยู่ในมหานรก สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายไฟพ้นจากเรือนไม้อ้อและเรือนหญ้าแล้วย่อมติดแม้เรือนยอด ซึ่งฉาบทาทั่วแล้ว ลมเข้าไม่ได้มีกลอนปิดสนิท หน้าต่างปิดแล้ว แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภัยทั้งหลายอย่างใด อย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น ภัยเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเกิดแต่คนพาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่ อุปัทวะทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ อุปสรรคทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น อุปสรรคเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเกิดแต่คนพาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แล คนพาลจึงเป็นผู้มีภัย บัณฑิตไม่มีภัย คนพาลมีอุปัทวะ บัณฑิตไม่มีอุปัทวะ คนพาลมีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีอุปสรรค ฉันนั้นเหมือนกันแล.

อีกอย่างหนึ่ง คนพาลเป็นเช่นกับปลาเน่า บุคคลที่คนคนพาลนั้นเป็นเช่นกับใบไม้ที่ห่อปลาเน่า คนพาลจึงถึงความเป็นผู้ที่วิญญูชนทั้งหลายจะพึงทิ้งเสีย และถึงความเป็นผู้ที่วิญญูชนทั้งหลายจะพึงรังเกียจ สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

นรชนใดย่อมใช้ปลายหญ้าคาผูกซึ่งปลาเน่า แม้หญ้าคาก็เหม็นเน่า มีกลิ่นฟุ้งไปฉันใด การคบคนพาลก็ฉันนั้น.

ก็แม้ อกิตติบัณฑิต เมื่อท้าวสักกะจอมเทพประทานพรอยู่ ก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 149

บุคคลไม่พึงเห็น ไม่พึงฟังคนพาล และไม่พึงอยู่ร่วมกับคนพาล ไม่ควรสนทนาปราศรัยกับคนพาล และไม่ควรพอใจการ สนทนาปราศรัยกับคนพาล

(ท้าวสักกะตรัสถามว่า)

ดูก่อนกัสสปะ คนพาลได้ทำอะไร ให้แก่ท่านแลหรือ ท่านจงบอกถึงเหตุ ดูก่อนกัสสปะ เพราะเหตุไร ท่านจึงชมต้องการเห็นคนพาล

(อกิตติดาบสตอบว่า)

(เพราะ) คนพาลมีปัญญาทราม ย่อมแนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ ย่อมประกอบในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำในทางที่ผิดๆ เป็นความประเสริฐ (ของคนพาล) คนพาล แม้เขาพูดดีๆ ก็โกรธ คนพาลนั้นย่อมไม่รู้จักอุบายเครื่องแนะนำ การไม่เห็นคนพาลนั้นเสียได้เป็นการดี.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงติเตียนการคบคนพาลโดยประการทั้งปวงอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า การไม่คบพวกคนพาลเป็นมงคล บัดนี้เมื่อจะตรัสสรรเสริญการคบบัณฑิตจึงตรัส ปณฺฑิตานณฺจ เสวนา ว่าเป็นมงคล.

สัตว์ทั้งหลายที่ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ มีปาณาติบาตเป็นต้น จำพวกใดจำพวกหนึ่งชื่อว่า บัณฑิต ในบรรดาการคบคนพาลและบัณฑิตทั้งสองนั้น บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น จะพึงทราบได้โดยอาการ ๓ อย่าง ดังที่ตรัส

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 150

ไว้ในพระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต มีบัณฑิตลักษณะอยู่ ๓ ประการเหล่านี้ ดังนี้เป็นต้น. (๑)

อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอสีติมหาสาวก รวมทั้งสาวกของพระตถาคตเจ้าเหล่าอื่น และชนทั้งหลายมีสุเนตตดาบส มหาโควินทพราหมณ์ วิธูรบัณฑิต สรภังคดาบส มโหสถบัณฑิต สุตโสมบัณฑิต พระเจ้านิมิราช อโยฆรกุมาร และอกิตติบัณฑิตเป็นต้น พึงทราบว่า บัณฑิต.

บัณฑิตเหล่านั้นเป็นผู้สามารถกำจัดภัยอุปัทวะและอุปสรรคทั้งปวงของพวกตน ผู้กระทำตามถ้อยคำของตน (บัณฑิต) ดุจการอารักขาในเวลามีภัย ดุจประทีปในที่มืด และดุจการได้ข้าวและน้ำเป็นต้น ในเวลาที่ถูกความทุกข์ อันเกิดจากความหิวกระหายเป็นต้นครอบงำ ฉะนั้น.

จริงอย่างนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย นับไม่ถ้วน ไม่มีประมาณ อาศัยแล้วซึ่งพระตถาคตถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ บางพวกดำรงอยู่ในพรหมโลก บางพวกเกิดแล้วในเทวโลก สกุล ๘๐,๐๐๐ สกุลทำใจให้เลื่อมใสในพระสารีบุตรเถระ อุปัฏฐากพระเถระด้วยปัจจัย ๔ บังเกิดแล้วในสวรรค์. สกุลทั้งหลาย ทำใจให้เลื่อมใสแล้วในพระมหาสาวกทั้งปวงมีพระมหาโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นต้นก็บังเกิดในสวรรค์เหมือนอย่างนั้น ชนทั้งหลายบางพวกซึ่งเป็นสาวกของสุเนตตศาสดาเท่านั้น บังเกิดแล้วในพรหมโลก บางพวกถึงความเป็นสหายของเทพทั้งหลายชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ฯลฯ หรือบางพวกถึงแล้วซึ่งความเป็นสหายของคหบดีมหาศาล สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภัยย่อมไม่มีแต่บัณฑิต อุปัทวะย่อมไม่มีแต่บัณฑิต อุปสรรคย่อมไม่มีแต่บัณฑิต.


๑. อัง. ติก. ๒๐/ ข้อ ๔๔๒.

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 151

อีกประการหนึ่ง บัณฑิตเช่นกับภัณฑะแห่งของหอมมีกฤษณาและดอกไม้เป็นต้น บุคคลที่คบบัณฑิตนั้น เป็นเช่นกับด้วยใบไม้ที่ห่อของหอมมีกฤษณาและดอกไม้เป็นต้น ย่อมถึงความเป็นผู้อันวิญญูชนทั้งหลายพึงสรรเสริญ และความเป็นผู้เป็นที่ฟูใจแห่งวิญญูชนทั้งหลาย สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า

ก็นรชนใดย่อมใช้ใบไม้ห่อกฤษณา แม้ใบไม้ทั้งหลาย มีหอมฟุ้งขจรไปฉันใด การคบนักปราชญ์ก็ฉันนั้น.

ก็แม้อกิตติบัณฑิต เมื่อท้าวสักกะจอมเทพประทานพรอยู่ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า

บุคคลพึงเห็นนักปราชญ์ พึงฟังนักปราชญ์ พึงอยู่ร่วมดับนักปราชญ์ พึงกระทำการสนทนาปราศรัยกับนักปราชญ์นั้น และพึงชอบใจในการสนทนากับนักปราชญ์นั้น.

(ท้าวสักกะตรัสถามว่า)

ดูก่อนกัสสปะ นักปราชญ์ได้ทำอะไร ให้แก่ท่านหรือหนอ ท่านจงบอกถึงเหตุ ดูก่อนกัสสปะ เพราะเหตุไร ท่านจึงปรารถนาเห็นนักปราชญ์.

(อกิตติดาบสทูลสว่า)

เพราะนักปราชญ์เป็นผู้มีปัญญาย่อมแนะนำอุบายที่ควรแนะนำ นักปราชญ์นั้นย่อมประกอบในสิ่งที่เป็นธุระ การแนะนำดี

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 152

เป็นความดีของนักปราชญ์นั้น นักปราชญ์นั้นเขาพูดชอบก็ไม่โกรธ นักปราชญ์นั้นย่อมรู้จักอุบายเครื่องแนะนำ การสมาคมกับนักปราชญ์นั้นจึงเป็นความดี.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงสรรเสริญการคบหาบัณฑิต โดยประการทั้งปวง จึงตรัสว่า การเสพบัณฑิตทั้งหลายเป็นมงคล ดังพรรณนามาฉะนี้ บัดนี้ เมื่อจะทรงสรรเสริญการบูชาปูชนียบุคคลทั้งหลาย ผู้เข้าถึงแล้วซึ่งภาวะที่ควรบูชาโดยลำดับ ด้วยการไม่เสพคนพาลทั้งหลาย และด้วยการเสพบัณฑิตทั้งหลายนั้น จึงตรัสว่า ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมมุตฺตมํ การบูชาปชนียบุคคลทั้งหลาย นี้เป็นอุดมมงคล.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายผู้ชื่อว่าเป็น พุทธะ เพราะเว้นจากโทษทั้งปวง และเพราะประกอบด้วยพระคุณทั้งปวง พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย ผู้มาในภายหลังแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ชื่อว่า ปูชนียบุคคล ในพระคาถานั้น ด้วยว่าการบูชาพระทักขิเณยยบุคคลเหล่านั้นแม้จะน้อยก็ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขตลอดกาลนาน ก็ในข้อนี้มีนายสุมนมาลาการเป็นต้นเป็นตัวอย่าง. ในเรื่องการบูชาบุคคลที่ควรบูชา นำความสุขมาให้ตลอดกาลนานนั้น ข้าพเจ้าจะยกเรื่องเพียงเรื่องเดียวเป็นตัวอย่าง.

ดังได้สดับมา ในเวลาเช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่ง (สบง) เรียบร้อยแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ครั้งนั้นนายสุมนมาลาการ ถือดอกไม้ทั้งหลายเพื่อพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแคว้นมคธ กำลังไปอยู่ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ยังผู้อื่นให้เลื่อมใส ผู้ควรเลื่อมใสผู้ประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ทรงรุ่งเรืองอยู่ด้วยพุทธสิริ ผู้เสด็จถึงประตูพระนคร (พอดี) นายสุมนมาลาการนั้น

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 153

ครั้นเห็นแล้วก็ได้มีความดำริอย่างนี้ว่า พระราชาทรงรับดอกไม้ทั้งหลายแล้ว จะพึงประทานทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะ หรือ ๑,๐๐๐ กหาปณะ (แก่เรา) ก็ทรัพย์นั้นพึงเป็นความสุขยิ่งกว่าในโลกนี้ แต่การบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้ามีผลประมาณ มิได้ นับมิได้ ย่อมนำความสุขมาสิ้นกาลนาน เอาเถิด เราจะบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า.

นายสุมนมาลาการนั้น มีใจเลื่อมใส ถือดอกไม้กำมือหนึ่ง ซัดไปแล้วเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดอกไม้ทั้งหลายไปทางอากาศ ได้เป็นเพดานดอกไม้ ดำรงอยู่แล้วเบื้องบนรองพระผู้มีพระภาคเจ้า นายมาลาการเห็นอานุภาพนั้นแล้ว ย่อมมีใจเลื่อมใสยิ่งขึ้น ได้ซัดดอกไม้ไปอีกกำมือหนึ่ง ดอกไม้เหล่านั้น ไปเป็นเกราะดอกไม้ดำรงอยู่แล้ว นายมาลาการซัดดอกไม้ไปถึง ๘ กำมือด้วยอาการอย่างนี้ ดอกไม้เหล่านั้นไปเป็นเรือนยอด. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทับอยู่แล้วภายในเรือนยอด หมู่มหาชนประชุมกันแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสรรเสริญนายมาลาการ จึงได้ทรงกระทำการแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ พระอานนทเถระคิดว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทำการแย้มทั้งหลายให้ปรากฏ เพราะเรื่องมิใช่เหตุ มิใช่ปัจจัย ดังนี้แล้วจึงทูลถาม ถึงเหตุที่ทำให้แย้มพระโอษฐ์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ นายมาลาการนี้ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสิ้นแสนกัป ในที่สุดก็จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่า สุมนิสสระ ด้วยอานุภาพแห่งหารบูชานี้.

ก็ในที่สุดแห่งพระวาจา เพื่อจะแสดงพระธรรมเทศนา จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นแลที่บุคคลทำแล้วเป็น

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 154

กรรมดี นายสุมนมาลาการเอิบอิ่มแล้วด้วยกรรมใดย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมใด (กรรมนั้นแล) อันบุคคลทำแล้วเป็นกรรมดี ดังนี้.

ในที่สุดแห่งคาถา สัตว์ทั้งหลาย ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม.

การบูชาปูชนียบุคคลเหล่านั้น แม้จะน้อยอย่างนี้ ก็พึงทราบว่า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน ก็การบูชานั้นเป็นอามิสบูชาเท่านั้น (ยังให้ผลถึงเพียงนี้) จะป่วยกล่าวไยถึงการปฏิบัติบูชา เพราะกุลบุตรเหล่าใด ย่อมบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการถึงรัตนะ ด้วยการรับสิกขาบท ด้วยการสมาทานองค์อุโบสถ และด้วยคุณทั้งหลายของตนมีปาริสุทธิศีล ๔ เป็นต้น ใครเล่าจักพรรณนาผล แห่งการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นได้ ก็ชนทั้งหลายเหล่านั้นท่านกล่าวว่า ย่อมบูชาพระตถาคตเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ ในมหาปรินิพพานสูตรว่า อานนท์ ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี คนใดแลปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมปฏิบัติสมควร มีปกติประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง แม้การบูชาพระปัจเจกพุทธะ และพระอริยสาวกทั้งหลาย ก็พึงทราบว่านำประโยชน์สุขมาให้เช่นกัน โดยทำนองเดียวกับการบูชานี้.

อีกอย่างหนึ่ง (พึงทราบบุคคลผู้ควรบูชาในข้อนี้อย่างนี้ว่า) พี่ชายก็ดี พี่หญิงก็ดี ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ควรบูชาของน้องชายหรือน้องหญิง สำหรับคฤหัสถ์ทั้งหลาย, บิดามารดาเป็นบุคคลผู้ควรบูชา สำหรับบุตร, สามี แม่ผัว

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 155

พ่อผัว เป็นบุคคลผู้ควรบูชาสำหรับหญิงสาวในสกุลทั้งหลาย ด้วยว่าการบูชา แม้ซึ่งบุคลเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นมงคลเหมือนกัน เพราะการบูชานั้น ท่านนับว่าเป็นกุศลธรรม และเพราะการบูชานั้น เป็นเหตุแห่งความเจริญแห่งอายุเป็นต้น สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ชนเหล่าใดแล จักเป็นผู้เกื้อกูลแก่มารดา เป็นผู้เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ จักสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้อยู่ เพราะเหตุแห่งการสมาทานกุศลธรรมเหล่านั้น ชนเหล่านั้นจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะบ้าง ดังนี้เป็นต้น

ด้วยพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๓ ประการคือ การ ไม่คบคนพาลทั้งหลาย ๑ การคบบัณฑิตทั้งหลาย ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชาทั้งหลาย ๑ ด้วยประการฉะนี้.

ในมงคลทั้ง ๓ ประการนั้น การไม่คบคนพาลทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะป้องกันอันตรายมีภัยเป็นต้นเสียได้ เนื่องจากการคบคนพาลเป็นปัจจัย และเพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์เกื้อกูลในโลกทั้งสอง การคบบัณฑิตทั้งหลาย และการบูชาทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งนิพพานและสุคติ โดยนัยที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว ด้วยการพรรณนาผลและสมบัติของการบูชานั้น. แต่ว่าต่อจากนี้ไป ข้าพเจ้าจักไม่ได้แสดงมาติกาเลย กำหนดมงคลได้ ณ ที่ใด ก็จักพรรณนาความเป็นมงคล ณ ที่นั้น.

จบการพรรณาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า

อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 156

คาถาที่ ๒ (มี ๓ มงคล)

พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้อันเทวดาทูลเชื้อเชิญเพื่อให้ตรัสมงคลเดียวว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกมงคลอันสูงสุด ดังนี้ อย่างนี้ ก็ตรัสถึง ๓ มงคล ด้วยคาถาเดียว เหมือนบุรุษที่มีจิตใจกว้างขวาง เขาขอน้อย ก็ให้มากฉะนั้น เพราะเหตุที่พระองค์ทรงปรารถนาจะให้เทวดาทั้งหลายได้สดับแม้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น และเพราะมงคลมีอยู่หลายอย่าง พระองค์จึงเริ่มตรัสถึงมงคลทั้งหลายเป็นอเนก แม้อีก ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ ดังนี้เป็นต้น เพราะความที่พระองค์เป็นผู้ปรารถนาจะชักนำสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นไว้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลนั้นๆ อันเป็นมงคล.

ในพระคาถาที่ ๒ นั้น ข้าพเจ้าจะได้พรรณาบทคาถาที่ ๑ ก่อน. คำว่า ปฏิรูโป แปลว่า สมควร. บ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ชนบทก็ดี หรือโอกาส เป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลายแห่งใดแห่งหนึ่ง ชื่อว่า เทสะ.

การอยู่ในประเทศนั้นชื่อว่า วาสะ.

บทว่า ปุพฺเพ ได้แก่ กาลก่อน คือ ในชาติทั้งหลายที่ล่วงมาแล้ว.

ความเป็นผู้มีกุศลอันสั่งสมไว้แล้วชื่อว่า กตปุญฺตา.

จิตท่านเรียกว่า อัตตา อีกอย่างหนึ่ง อัตภาพทั้งสิ้น ท่านก็เรียกว่า อัตตา.

การตั้งความปรารถนา อธิบายว่า การประกอบไว้ คือการวางไว้ ซึ่งตนนั้นโดยชอบ ชื่อว่า สัมมาปณิธิ.

คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นแหละ ดังนี้แล. นี่คือการพรรณนาเฉพาะบทในคาถานี้ ส่วนการพรรณนาเนื้อความ พึงทราบดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 157

ที่ชื่อว่า ปฏิรูปเทส ได้แก่ประเทศใดที่บริษัททั้ง ๔ เที่ยวไป ประเทศที่บุญกิริยาวัตถุทั้งหลายมีทานเป็นต้นย่อมเป็นไป ประเทศที่นวังคสัตถุศาสน์ย่อมรุ่งเรือง การอยู่ในปฏิรูปเทสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งการบำเพ็ญบุญของสัตว์ทั้งหลาย ก็ในข้อนี้มีเรื่องของชาวประมงผู้เข้าไปสู่เกาะสิงหลเป็นต้นเป็นตัวอย่าง.

อีกนัยหนึ่ง ที่ชื่อว่าปฏิรูปเทส ได้แก่ ประเทศ คือ (โพธิมณฑล) ควงแห่งต้นโพธิเป็นที่ตรัสรู้แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงพระธรรมจักร ประเทศ คือควงแห่งต้นคัณฑามพพฤกษ์ที่พระผู้มี พระภาคเจ้าทรงเแสดงยมกปาฏิหาริย์ทรงทำลายความมัวเมาของเดียรถีย์ทั้งปวงในท่ามกลางบริษัท (ซึ่งมาประชุมกันในเนื้อที่) ถึง ๑๒ โยชน์ ประเทศที่เสด็จลงจากเทวโลก (ที่สังกัสสนคร) ก็แม้หรือว่า ประเทศอื่นใดอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีเมืองสาวัตถีและเมืองราชคฤห์เป็นต้น การอยู่ในปฏิรูปเทสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็น มงคล เพราะเป็นปัจจัยให้ได้อนุตตริยะ ๖ ประการ.

อีกนัยหนึ่ง (ที่ชื่อว่าปฏิรูปเทส) ได้แก่ประเทศ ในทิศตะวันออก มีนิคมชื่อว่า กชังคละ ต่อจากนิคมนั้นไปเป็นบ้านมหาสาลา ต่อจากบ้านมหาสาลานั้นไปเป็นปัจจันต ชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ.

ในทิศอาคเณย์ (ปุรตฺถิมทกฺขิณาย อนุทิสาย) มีแม่น้ำชื่อว่า สัสลวดี ต่อจากแม่น้ำสัลลวดีนั้นไป เป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 158

ในทิศใต้ (ทกฺขิณาย ทิสาย) มีนิคนชื่อว่าเสตะกัณณิกะ ถัดจากนิคมนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ

ในทิศตะวันตก (ปจฺฉิมาย ทิสาย) มีร้านพราหมณ์ชื่อ ถูนะ ถัดจากบ้านพราหมณ์ชื่อถูนะไป เป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิม ประเทศ.

ในทิศอุดร (เหนือ) (อุตฺตราย ทิสาย) มีภูเขาชื่อว่า อุสีรัทธชะ ต่อจากภูเขานั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ.

มัชฌิมประเทศนี้ยาว ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๒๕๐ โยชน์ วัด โดยรอบได้ ๙๐๐ โยชน์มัชฌิมประเทศน์ ชื่อว่า ปฏิรูปเทส.

พระเจ้าจักรพรรดิ ผู้เป็นอิสริยาธิบดี แห่งทวีปใหญ่ ๔ ทวีปและทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีป ก็ทรงอุบัติไหมัชฌิมประเทศนี้ พระมหาสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรและพระโมคัลคัลลาน์เป็นต้น ซึ่งบำเพ็ญบารมีหนึ่งอสงไขยแสนกัป ก็บังเกิดขึ้นในมัชฌิมประเทศนี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย บำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยกับแสนกัป ก็อุบัติขึ้นในมัชฌิมประเทศนี้ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้บำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขย หรือ ๘ อสงไขย หรือ ๑๖ อสงไขย กับแสนกัป ก็บังเกิดขึ้นในมัชฌิมประเทศนี้.

ในมัชฌิมประเทศนั้น สัตว์ทั้งหลายรับโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วดำรงอยู่ในเบญจศีล ก็มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ดำรงอยู่ในโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็เหมือนกัน แต่ดำรงอยู่ในโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายแล้ว มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วย มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วย การอยู่ในประเทศนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็น มงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งสมบัติทั้งหลายเหล่านี้ด้วย.

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 159

การสั่งสมกุศลปรารภพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระขีณาสพทั้งหลายในชาติที่ล่วงมาแล้ว ชื่อว่า ปุพฺเพ กตปุญฺตา แม้ปุพเพกตปุญญตา นั้นก็ชื่อว่าเป็น มงคล.

ถามว่า เพราะเหตุไร?

ตอบว่า เพราะคำอธิบายว่า บุคคลย่อมบรรลุพระอรหันต์ได้ในที่สุดแห่งคาถา แม้ประกอบด้วยบท ๔ อันท่านแสดงแล้วต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตนฟังแล้วเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือเฉพาะหน้าของพระพุทธสาวก.

ก็มนุษย์ผู้ใดได้สั่งสมบุญไว้ในปางก่อน เป็นผู้มีมูลแห่งกุศลอันหนาขึ้นแล้ว มนุษย์ผู้นั้นเจริญวิปัสสนาแล้วย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะได้ ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นเอง เหมือนอย่างพระเจ้ามหากัปปินะ และอัครมเหสีของพระองค์ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปุพฺเพ จ กตปุญฺตา มงฺคลํ.

ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึง การตั้งตนไว้ชอบ ต่อไป คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำตนซึ่งเป็นผู้ทุศีล ให้ตั้งอยู่ในศีล ทำตนซึ่งไม่มีศรัทธาให้ตั้งอยู่ในศรัทธาสัมปทา ทำตนซึ่งเป็นคนตระหนี่ให้ตั้งอยู่ในจาคะสัมปทา นี้ท่านเรียกว่า อตฺตสมฺมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ การตั้งตนไว้ชอบนี้ จัดว่าเป็นมงคล.

ถามว่า เพราะเหตุไร?

ตอบว่า เพราะเป็นเหตุให้ละเวร ที่เป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพ และให้บรรลุอานิสงส์ต่างๆ.

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 160

ด้วยคาถาแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสมงคล ๓ มงคลเท่านั้นคือ การอยู่ในปฏิรูปเทส ๑ การกระทำบุญไว้ในปางก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ ดังพรรณนามาฉะนี้ ก็ความที่แห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าอธิบายให้แจ่มแจ้งแล้วในมงคลนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้แล.

จบการพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า

ปฏิรูปเทสวาโส จ ดังนี้เป็นต้น

คาถาที่ ๓ (มี ๔ มงคล)

บัดนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบอธิบายในมงคลข้อว่า พาหุสจฺจญฺจ เป็นต้นนี้ ดังต่อไปนี้.

ความเป็นผู้ได้สดับมาก ชื่อว่า พาหุสจฺจํ.

ความเป็นผู้ฉลาดในหัตถกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งชื่อว่า สิปฺปํ (ศิลปะ)

การฝึกกายวาจาและจิต ชื่อว่า วินโย (วินัย)

บทว่า สุสิกฺขิโต ได้แก่ ศึกษาแล้วด้วยดี.

บทว่า สุภาสิตา ได้แก่ กล่าวแล้วด้วยดี.

บทว่า ยา เป็นการแสดงถึงคำที่ไม่แน่นอน.

คำที่เปล่ง คำที่เป็นทาง ชื่อว่า วาจา.

คำที่เหลือ มีนัยดังข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล นี้คือการพรรณนาเฉพาะบทในพระคาถานี้ ส่วนการพรรณนาเนื้อความ ผู้ศึกษาพึงทราบดังนี้.

ที่ชื่อว่า พาหุสจฺจํ ได้แก่ การทรงไว้ซึ่งคำสอนของพระศาสดา ที่ท่านพรรณนาไว้ โดยนัยว่า ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมไว้ซึ่งสุตะ

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 161

ดังนี้เป็นต้น และโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สดับมาก คือทรงไว้ซึ่งสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ เป็นต้น พาหุสัจจะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ละอกุศลธรรม และบรรลุกุศลธรรม และเพราะเป็นเหตุทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ โดยลำดับ. สมจริงดังคำ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็อริยสาวกได้สดับแล้วแล ย่อมละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละธรรมที่มีโทษ บำเพ็ญธรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์อยู่ ดังนี้เป็นต้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แม้อื่นอื่นกว่า ภิกษุย่อมเข้าไปเพ่ง ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมทั้งหลายที่ตนทรงไว้แล้ว เมื่อเธอเข้าไปเพ่งอยู่ซึ่งเนื้อความธรรมย่อมทนต่อการเพ่งพินิจ เมื่อมีการอดทนต่อการเพ่งพินิจธรรมอยู่ ความพอใจก็เกิดขึ้น ผู้ที่เกิดความพอใจ ย่อมอุตสาหะ เมื่ออุตสาหะ ย่อมไตร่ตรอง เมื่อไตร่ตรอง ย่อมเพียรพยายาม เมื่อเพียรพยายาม ก็ย่อมทำให้แจ้ง ซึ่งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.

อีกอย่างหนึ่ง แม้พาหุสัจจะของฆราวาส ที่ไม่มีโทษ พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะนำประโยชน์สุขในโลกทั้งสองมาให้.

ชื่อว่า ศิลปะ (มี ๒ ชนิด) คือ อาคาริยศิลปะ และอนาคาริยศิลปะ ในศิลปะทั้งสองอย่างนั้น อาคาริยศิลปะ ได้แก่ การงานที่เว้นจากการเบียดเป็นสัตว์อื่น เว้นจากอกุศล มีการงานของนายช่างแก้ว และนายช่างทอง เป็นต้น อาคาริยศิลปะนั้น ชื่อว่า เป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์ในโลกนี้ (ส่วน) การจัดทำสมณบริขารมีการจัดแจงและการเย็บจีวรเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 162

ชื่อว่า อนาคาริยศิลปะ ศิลปะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพรรณนาไว้ใน ที่นั้นๆ โดยนัยว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ขยัน ในกิจที่ควรกระทำทั้งน้อยและใหญ่ของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น (และ) ที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า นี่คือธรรมอันทำที่พึ่ง ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในโลกทั้ง ๒ มาให้ตนและชนเหล่าอื่น.

ที่ชื่อว่า วินย มี ๒ อย่าง คือ อาคาริยวินัย ๑ อนาคาริยวินัย ๑ ในสองอย่างนั้น การเว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า อาคาริยวินัย. วินัยนั้น ชื่อว่า อันบุคคลศึกษาดีแล้ว ด้วยการไม่ต้องโทษ คือสังกิเลสในวินัยนั้น และด้วยการกำหนดคุณแห่งความประพฤติ ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในโลกทั้งสอง.

ส่วนการไม่ต้องอาบัติ ๗ กอง ชื่อว่า อนาคาริยวินัย แม้อนาคาริยวินัยนั้น ชื่อว่า อันภิกษุศึกษาดีแล้ว โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล. อีกอย่างหนึ่ง ปาริสุทธิศีล ๔ ชื่อว่า อนาคาริยวินัย. อนาคาริยวินัยนั้น อันภิกษุศึกษาอยู่ โดยประการที่ตนดำรงอยู่ในอนาคาริยวินัยนั้นแล้ว บรรลุพระอรหัต ชื่อว่าศึกษาดีแล้ว พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้บรรลุโลกิยสุขและโลกุตรสุข.

วาจาที่เว้นจากโทษมีมุสาวาทเป็นต้น ชื่อว่า วาจาสุภาษิต สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นวาจาสุภาษิต ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง วาจาที่ไม่เพ้อเจ้อ ก็ชื่อว่า วาจาสุภาษิตเหมือนกัน เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 163

สัตบุรุษทั้งหลายกล่าววาจาสุภาษิตว่า เป็นวาจาสูงสุด เป็นที่หนึ่ง บุคคลพึงกล่าว วาจาอันเป็นธรรม ไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นธรรมนั้น เป็นที่สอง พึงกล่าววาจาเป็นที่รัก ไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รักนั้นเป็นที่สาม พึงกล่าววาจาจริง ไม่พึงกล่าว วาจาเหลาะแหละนั้น เป็นที่สี่ ดังนี้.

แม้วาจาสุภาษิตธรรมนี้ พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในโลกทั้งสอง. ก็เพราะเหตุที่วาจาสุภาษิตนี้นับเนื่องอยู่ในวินัยอยู่แล้วนี้เอง ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงไม่สงเคราะห์วาจาสุภาษิตนี้ด้วยวินัยศัพท์ สงเคราะห์แต่วินัย (เท่านั้น ด้วยวินัยศัพท์)

อีกอย่างหนึ่ง จะมีประโยชน์อะไรด้วยความลำบากนี้ วาจาเป็นเครื่องแสดงพระธรรมแก่คนเหล่าอื่น ก็พึงทราบว่า เป็นวาจาสุภาษิต ในที่นี้ จริงอยู่วาจาสุภาษิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายได้บรรลุประโยชน์เกื้อกูล และความสุขในโลกทั้งสอง และพระนิพพาน ท่านกล่าวไว้ว่า

พระพุทธเจ้าตรัสวาจาใด อันเกษม เพื่อบรรลุพระนิพพาน เพื่อกระทำที่สุดทุกข์ วาจานั้นแล สูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย.

ด้วยพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการคือ ความ เป็นพหูสูต (พาหุสัจจะ) ๑ ศิลปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาษิต ๑


๑. สุภาสิตสูตร สัง. สคาถา. ๑๕/ข้อ ๗๓๙.

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 164

ด้วยประการฉะนี้ ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านั้น เป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายให้แจ่มแจ้ง ในมงคลนั้นๆ แล้ว ดังนี้แล.

การพรรณนาความแห่งพระคาถานี้ว่า

พาหุสจฺจญฺจ เป็นต้น จบ

คาถาที่ ๔ (มี ๔ มงคล)

บัดนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในบาทคาถานี้ว่า มาตาปิตุอุปฏฺานํ ดังนี้เป็นต้น ดังต่อไปนี้.

มารดาด้วย บิดาด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มาตาปิตุ มารดาและบิดา.

การบำรุง ชื่อว่า อุปฏฺานํ.

บุตรทั้งหลายด้วย ภรรยาทั้งหลายด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ปุตฺตทารสฺส ซึ่งบุตรและภรรยา.

การสงเคราะห์ ชื่อว่า สงฺคโห.

การงานทั้งหลาย เป็นการงานที่อากูลหามิได้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อนากุลา.

การงานทั้งหลายนั้นเอง ชื่อว่า กมฺมนฺตา.

คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล. นี้คือการพรรณนาเฉพาะบท ส่วนการพรรณนาเนื้อความ ผู้ศึกษาพึงทราบดังต่อไปนี้.

สตรีผู้ให้เกิด ท่านเรียกว่า มารดา, บิดาก็เหมือนกัน.

การกระทำอุปการะด้วยการล้างเท้า การนวด การอบ การอาบน้ำ และการให้ปัจจัย ๔ ชื่อว่า อุปัฏฐานะ การบำรุง.

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 165

พึงทราบอธิบายในการบำรุงเลี้ยงนั้น ดังต่อไปนี้. เพราะเหตุที่ มารดาบิดา เป็นผู้มีอุปการะมาก หวังประโยชน์ เป็นผู้อนุเคราะห์ต่อบุตรทั้งหลาย ซึ่งท่านเห็นบุตรเหล่านั้น เล่นอยู่ข้างนอก มีสรีระเปื้อนฝุ่นมาแล้ว ก็เช็ดฝุ่นให้ กอดจูบที่ศีรษะและยังความรักให้เกิด. บุตรทั้งหลายเลี้ยงมารดาบิดา ด้วยการทูนไว้บนศีรษะแม้สิ้น ๑๐๐ ปี ก็ไม่สามารถที่จะตอบแทนอุปการคุณแห่งการบำรุงเลี้ยงนั้นได้ และเพราะเหตุที่ท่านทั้งสองนั้น เป็นผู้บำรุง เป็นผู้เลี้ยงดู เป็นผู้แสดงโลกนี้ เป็นผู้เสมอกับพระพรหม เป็นบุพพาจารย์ ฉะนั้น การบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาทั้งสองนั้น จึงนำมาซึ่งการสรรเสริญในโลกนี้ ละไปแล้ว ก็นำความสุขในสวรรค์มาให้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นมงคล สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

มารดาบิดาทั้งหลาย ผู้อนุเคราะห์แก่ปชา (บุตรธิดา) ท่านเรียกว่า เป็นพรหม ว่าเป็นบุพพาจารย์ ว่าเป็นอาหุเนยยบุคคลของบุตรทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิต พึงนอบน้อมและสักการะมารดาบิดาเหล่านั้น ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบ การอาบน้ำ และการล้างเท้า ด้วยการปรนนิบัติในมารดาบิดาทั้งสองนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น ในโลกนี้นั้นแล เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ (๑) ดังนี้.


๑. ขุ. อิติวุตตกะ ๒๕/ ข้อ ๒๘๖.

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 166

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า การบำรุงมี ๕ อย่าง มีการเลี้ยงดู การกระทำหน้าที่ และการดำรงวงศ์ตระกูลเป็นต้น การบำรุงนั้น พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์เกื้อกูล ในปัจจุบัน ๕ อย่าง มีการห้ามจากบาปเป็นต้น สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดาซึ่งเป็นทิศเบื้องหน้า บุตรพึงบำรุง ด้วยสถาน ๕ คือ

๑. เราอันท่านเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงท่านตอบ

๒. เราจักกระทำกิจ ของมารดาบิดาเหล่านั้น

๓. เราจักดำรงวงศ์สกุลของมารดาบิดาเหล่านั้น

๔. เราจักรักษาทรัพย์สมบัติของมารดาบิดาเหล่านั้น

๕. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เราจักเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา (ทำบุญอุทิศให้) ดังนี้.

ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดาซึ่งเป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล จักอนุเคราะห์บุตร ด้วยสถาน ๕ คือ

๑. ท่านทั้งสองย่อมห้าม (บุตร) จากบาป

๒. ย่อมให้ตั้งอยู่ในความดี

๓. ย่อมให้ศึกษาศิลปะ

๔. ย่อมหาภรรยาที่สมควรให้

๕. ย่อมมอบทรัพย์สมบัติให้ในสมัย ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 167

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใด ย่อมบำรุงมารดาและบิดา ด้วยการให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย หรือด้วยให้สมาทานศีล หรือด้วยให้บรรพชา ผู้นี้จัดว่าเป็น ยอดของชนทั้งหลายผู้บำรุงมารดาบิดาในโลกนี้.

การบำรุงมารดาบิดานั้นของผู้นั้น เป็นการกระทำการตอบแทนต่ออุปการคุณ ที่มารดาและบิดากระทำไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ทั้งหลายที่เป็นไปในปัจจุบัน และเป็นไปในสัมปรายภพมิใช่น้อย.

ในคำว่า ปุตฺตทารสฺส นี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บุตรทั้งหลายก็ดี ธิดาทั้งหลายก็ดี ที่เกิดแล้วของตน ย่อมถึงการนับว่าบุตรทั้งนั้น. ภรรยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ในบรรดาภรรยา ๒๐ จำพวก ชื่อว่า ทาระ.

บุตรทั้งหลายด้วย ทาระทั้งหลายด้วย ชื่อว่า ปุตฺตทารา (บุตรและภรรยาทั้งหลาย). ซึ่งบุตรและภรรยานั้น. การกระทำอุปการะด้วยฐานะทั้งหลาย มีการยกย่องเป็นต้น ชื่อว่า สังคหะ การกระทำอุปการะนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์เกื้อกูลอันเป็นไปในปัจจุบัน มีความเป็นผู้จัดการงานดีเป็นต้น. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ภรรยาซึ่งเป็นทิศเบื้องหลัง สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ แลคือ

๑. ด้วยการยกย่อง

๒. ด้วยการไม่ดูหมิ่น

๓. ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ

๔. ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ให้

๕. ด้วยการให้เครื่องประดับ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 168

ดูก่อนคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีพึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ เหล่าแล ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยฐานะ ๕ คือ

๑. เป็นผู้จัดการงานดี

๒. เป็นคนสงเคราะห์คนข้างเคียง (ของสามี) ดี

๓. เป็นผู้ไม่ประพฤตินอกใจ

๔. ย่อมรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้

๕. เป็นคนขยันไม่เกียจคร้านในการงานทั้งปวง ดังนี้.

เพราะสงเคราะห์ (รวม) บุตรภรรยา ที่ทรงแสดงไว้ในสิงคาลสูตร นี้ว่า บุตรและภรรยา พึงทราบว่าเป็นทิศเบื้องหลังดังนี้ ด้วยภริยาศัพท์.

อีกอย่างหนึ่ง นัยอื่นอีก มีดังต่อไปนี้ :-

การสงเคราะห์ด้วยทาน ปิยวาจา และอัตถจริยา ที่ประกอบด้วยธรรม ชื่อว่า สังคหะ คือ การให้เสบียงในวันอุโบสถทั้งหลาย การให้ดูนักษัตรในวันนักขัตฤกษ์ทั้งหลาย การกระทำมงคลในวันมงคลทั้งหลาย การโอวาทสั่งสอนในประโยชน์ทั้งหลาย ที่เป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพ การสงเคราะห์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์เกื้อกูล อันเป็นไปในปัจจุบัน และสัมปรายภพ โดยนัยก่อนนั่นแล และเพราะเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้แม้อันเทวดาทั้งหลายพึงนอบน้อม. สมจริงดังคำที่ท้าวสักกะจอมเทพตรัสไว้ว่า

คฤหัสถ์เหล่าใด เป็นผู้กระทำบุญ มี ศีล เป็นอุบาสก ย่อมเลี้ยงภรรยาโดยธรรม ดูก่อนมาตลี เราย่อมนอบน้อมคฤหัสถ์เหล่านั้น ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 169

การงานทั้งหลายมีเกษตรกรรม โครักขกรรม และพาณิชกรรมเป็นต้น พึงเว้นแล้วจากการงานที่อากูล นี้การทำเวลาให้ล่วงไป การกระทำที่ไม่สมควรกระทำ และการ กระทำย่อหย่อนเป็นต้น เพราะประกอบด้วยความเป็นผู้รู้กาล เพราะมีปกติการทำเหมาะสม เพราะไม่เกียจคร้าน เพราะถึงพร้อมด้วยความอุตสาหะและความเพียร และเพราะเป็นการงานที่ไม่เสื่อมเสีย ชื่อว่าการงานที่ไม่อากูล. การงานที่ไม่อากูลนี้ อันบุคคลประกอบแล้วอย่างนี้ เพราะเหตุที่ตนเอง บุตรภรรยา หรือทาส และกรรมกรทั้งหลายเป็นผู้ฉลาด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการได้ทรัพย์ ข้าวเปลือก และความเจริญในปัจจุบันนี้เทียว. สมจริงตามพระดำรัสที่พระผู้มี พระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

บุคคลผู้มีการงาน กระทำสมควร เป็นปกติ ขยัน ย่อมหาทรัพย์ได้ ดังนี้.

และว่า

บุคคลที่ชอบนอนหลับกลางวัน ขี้เกียจลุกขึ้นกลางคืน เมาเป็นนิตย์ เป็นนักเลง ไม่อาจจะอยู่ครองเรือนให้ดีได้ ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยบุรุษผู้ทอดทิ้งการงาน ด้วยอ้างเลสว่า เวลานี้หนาวนัก เวลานี้ร้อนนัก เวลานี้เย็นเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 170

ส่วนผู้ใดไม่สำคัญความหนาวและความร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า กระทำกิจของบุรุษอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข ดังนี้.

และว่า

เมื่อบุคคลรวบรวมโภคะทั้งหลายอยู่ เหมือนภมรผนวกอยู่ซึ่งรังฉะนั้น โภคะทั้งหลายย่อมถึงการสั่งสม ดุจจอมปลวก อันตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น ดังนี้.

ด้วยพระคาถาแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการนี้ คือ การบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรและภรรยา ๑ การงานทั้งหลายที่ไม่อากูล ๑

อีกอย่างหนึ่ง คาถานี้มี ๕ มงคลเพราะแยกการสงเคราะห์บุตรและภรรยาออกเป็น ๒. อีกอย่างหนึ่งมี ๓ มงคล เพราะรวมการบำรุงมารดาบิดาเป็นข้อเดียวเท่านั้น ก็ความที่แห่งมงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายให้แจ่มแจ้งแล้วในมงคลนั้นๆ นั่นแล.

จบการพรรณหาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า

มาตาปิตุอุปฏฺานํ เป็นต้น

คาถาที่ ๕ (มี ๔ มงคล)

บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคาถานี้ว่า ทานญฺจ ดังนี้ เป็นต้น ดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 171

ขอใหที่ชื่อว่า ทาน เพราะอรรถว่าสิ่งของเป็นเครื่องให้. มีคำอธิบายว่า สิ่งของของตนอันบุคคลย่อมมอบให้แก่ผู้อื่น.

การประพฤติธรรม หรือการประพฤติที่ไม่ไปปราศจากธรรม ชื่อว่า ธรรมจริยา.

ชนทั้งหลายเหล่านี้ อันเราทั้งหลายย่อมรู้จัก เพราะเหตุนั้นชนทั้งหลายเหล่านี้ จึงชื่อว่า ญาติ.

การงานทั้งหลายที่มีโทษหามิได้ ชื่อว่า การงานไม่มีโทษ. มีคำอธิบายว่า การงานทั้งหลายที่บัณฑิตไม่ติเตียน คือไม่ครหา. คำที่เหลือมีนัย อันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล. นี้คือการพรรณนาเฉพาะบท. ส่วนการพรรณนาเนื้อความ ผู้ศึกษาพึงทราบดังต่อไปนี้.

เจตนาเป็นเครื่องบริจาคทานวัตถุ ๑๐ อย่าง มีข้าวเป็นต้น ซึ่งมีความยินดีในเบื้องต้น เจาะจงผู้อื่น ชื่อว่า ทาน.

อีกอย่างหนึ่ง อโลภะ ที่สัมปยุตด้วยเจตนานั้น ชื่อว่า ทาน. ด้วยว่า บุคคลย่อมมอบให้ซึ่งวัตถุนั้นแก่บุคคลอื่น ด้วยอโลภะนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ที่ชื่อว่า ทาน เพราะอรรถว่าวัตถุเป็นเครื่องให้. ทานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลวิเศษทั้งหลายอันเป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพ มีความเป็นที่รักของชนเป็นอันมากเป็นต้น. ก็ในข้อนี้ พึงระลึกถึงพระสูตรทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนสีหะ ทายกที่เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักเป็นที่พอใจของชนเป็นอันมาก ดังนี้.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ทานมี ๒ อย่างคือ อามิสทาน และธรรมทาน ในทาน ๒ อย่างนั้น อามิสทาน มีประการอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล.

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 172

การแสดงธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศแล้ว อันเป็นที่สิ้นทุกข์และนำความสุขมาให้ ในโลกนี้และโลกหน้า เพราะปรารถนาประโยชน์ เกื้อกูลแก่บุคคลเหล่าอื่น ชื่อว่า ธรรมทาน. ก็ในบรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานนี้เท่านั้นจัดว่าเป็นเลิศ. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรม ย่อมชนะควานยินดีทั้งปวง ความ สิ้นตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.

ในทานทั้ง ๒ อย่างนั้น ความที่อามิสทานเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วนั้นแล ส่วนธรรมทาน เพราะเป็นที่ตั้งแห่งคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้รู้ จักอรรถเป็นต้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นมงคล สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร โดยประการใดๆ บุคคลนั้นเป็นผู้รู้แจ้ง ซึ่งอรรถ (รู้ผล) และเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งธรรม (รู้เหตุ) ในธรรมนั้นๆ โดยประการนั้นๆ ดังนี้เป็นต้น.

การประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า ธรรมจริยา. ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย การประพฤติธรรม คือ การประพฤติสม่ำเสมอทางกายมี ๓ อย่างแล ดังนี้เป็นต้น. ก็การประพฤติธรรมนี้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้อุบัติในโลกสวรรค์.

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 173

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งธรรมจริยาและสมจริยาแล สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก ดังนี้.

ชนทั้งหลายผู้มีความเกี่ยวข้องกันทั้งทางฝ่ายมารดาหรือบิดา จนถึง ๗ ชั่วโคตร ชื่อว่า ญาติ.

การสงเคราะห์ซึ่งญาติเหล่านั้น ผู้ซึ่งอันความเสื่อมโภคะหรือความเสื่อมเพราะความเจ็บป่วยครอบงำแล้วซึ่งมายังสำนักของตน ด้วยวัตถุทั้งหลาย มีอาหาร เสื้อผ้า ทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นตามกำลัง พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษ มีการสรรเสริญ เป็นต้น อันเป็นไปในปัจจุบัน และการบรรลุคุณวิเศษมีการไปสู่สวรรค์เป็นต้น อันเป็นไปในสัมปรายภพ.

การงานทั้งหลาย มีการสมาทานศีลอุโบสถ การกระทำการขวนขวาย การปลูกไม้ดอก ไม้ผลและต้นไม้ และการสร้างสะพานเป็นต้น ชื่อว่า การงานที่ไม่มีโทษ. จริงอยู่การงานที่ไม่มีโทษเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุประโยชน์สุขนานัปการ ก็ในข้อนี้ พึงระลึกถึงสูตรทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนวิสาขา ข้อที่สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าอยู่จำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์แปด เบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก จะพึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาทั้งหลายชั้นจาตุมมหาราชิกา นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้แล ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการคือ ทาน ๑ ธรรมจริยา ๑ การสงเคราะห์ญาติทั้งหลาย ๑ การงานทั้งหลายที่ไม่มีโทษ ๑ ด้วยพระคาถานี้ ดังพรรณนามาฉะนี้.

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 174

ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าอธิบายไว้ชัดแล้ว ในมงคลนั้นๆ นั่นแล.

จบการพรรณเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า

ทานญฺจ เป็นต้น

คาถาที่ ๖ (มี ๓ มงคล)

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในพระคาถานี้ว่า อารตี วิรตี เป็นต้น ดังต่อไปนี้.

การงด ชื่อว่า อารตี. การเว้น ชื่อว่า วิรตี.

อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายย่อมเว้น (จากบาป) ด้วยเจตนานี้ เหตุนั้น เจตนานี้ ชื่อว่า วิรัติ. (ที่ชื่อว่า วิรัติ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า เป็นเครื่องงดเว้นแห่งสัตว์ทั้งหลาย หรือเป็นเครื่องให้สัตว์ทั้งหลายงดเว้น).

บทว่า ปาปา ได้แก่ จากอกุศล.

ที่ชื่อว่า มชฺชํ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความเมา การดื่มซึ่งมัชชะ (น้ำเมา) ชื่อว่า มชฺชปานํ. (เว้น) จากการดื่มน้ำเมานั้น. การสำรวมชื่อว่า สํยโม. ความไม่ประมาทชื่อว่า อปฺปมาโท. บทว่า ธมฺเมสุ ได้แก่ ในกุศลธรรมทั้งหลาย. คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วแล. นี้คือการพรรณนาเฉพาะบท. ส่วนการพรรณนาเนื้อความ พึงทราบดังต่อไปนี้.

การไม่ยินดีของบุคคลผู้มีปกติเห็นโทษในบาป ด้วยใจนั้นแล ชื่อว่า การงด. การเว้นด้วยกายและด้วยวาจา ด้วยสามารถแห่งกรรมและทวาร ชื่อว่า วิรัติ.

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 175

ก็ชื่อว่าวิรัตินั้นมี ๓ อย่าง คือ สัมปัตตวิรัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ สมุจเฉทวิรัติ ๑.

ในวิรัติทั้ง ๓ อย่างนี้ การงดเว้นของกุลบุตรจากวัตถุที่ประจวบเข้าเพราะอาศัยชาติ หรือสกุล หรือโคตรของตน โดยนัยว่า ข้อที่เราจะพึงฆ่าสัตว์ พึงถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้นี้ไม่ควร ชื่อว่า สัมปัตตวิรัติ. ส่วนว่ากุลบุตร ไม่ประพฤติล่วงเกินสิกขาบทมีปาณาติบาตเป็นต้น จำเดิมแต่ความเป็นไปแห่งวิรัติ อันเป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งการสมาทานสิกขาบท ชื่อว่า สมาทานวิรัติ.

ภัยเวร ๕ ประการ ของพระอริยสาวกสงบระงับไป จำเดิมแต่ความเป็นไปแห่งวิรัติอันสัมปยุตด้วยอริยมรรค ชื่อว่า สมุจเฉทวิรัติ.

อกุศล ๔ อย่างนั้นใด กล่าวคือกรรมกิเลสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ พิสดารอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร กรรมกิเลสคือปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร และมุสาวาท ดังนี้ ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์รวบรวมไว้ ด้วยคาถาอย่างนี้ว่า

บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญ (กรรมกิเลส ๔ ประการคือ) ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ มุสาวาท ๑ การประพฤติผิดภรรยาผู้อื่น ๑ ดังนี้.

อกุศลทั้ง ๔ ประการ ชื่อว่า บาป.

การงดเว้นจากบาปนั้น การงดและการเว้นทั้งหมดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษนานาประการ

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 176

มีการละเวรภัยอันเป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพเสียได้ ก็ในข้อนี้พึงระลึกถึงพระสูตรทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร พระอริยสาวกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตแล.

ก็ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงการสำรวมจากการดื่มน้ำเมาต่อไป.

ก็คำว่า มชฺชปานา จ สํยโม นี้ เป็นชื่อแห่งการงดเว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท คือการดื่มซึ่งน้ำเมากล่าวคือสุราและเมรัย ก็เพราะเหตุที่บุคคลผู้ดื่มน้ำเมาเป็นปกติ ย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่รู้ธรรม ย่อมทำอันตรายแก่มารดา ทำอันตรายแก่บิดา ทำอันตรายแม้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระตถาคต ย่อมถูกติเตียนในปัจจุบัน เข้าถึงทุคติในสัมปรายภพ (และ) ถึงความเป็นบ้าในภพต่อๆ ไป. ส่วนการงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา ย่อมบรรลุซึ่งการดับโทษเหล่านั้นเสียได้ และบรรลุความถึงพร้อมแห่งคุณ ซึ่งตรงกันข้ามกับโทษที่กล่าวแล้วนั้น. เพราะฉะนั้น การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมานี้ พึงทราบว่า เป็นมงคล.

ชื่อว่าความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไป

โดยเนื้อความ ความไม่อยู่ปราศจากสติในกุศลธรรมทั้งหลาย พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับความประมาท ที่ตรัสไว้ในคัมภีร์วิภังค์ (๑) ว่า การกระทำ โดยไม่เคารพในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย การกระทำไม่ติดต่อ การกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติท้อแท้ การหมดความพอใจ การทอดธุระ การไม่ซ่องเสพ การไม่เจริญ การไม่กระทำให้มาก การไม่อธิษฐาน (ไม่ตั้งใจไว้) การไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า ความประมาท. ความ


๑. อภิ. วิ. ๓๕/ ข้อ ๘๑๓.

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 177

ประมาท คือ กิริยาที่ประมาท สภาพที่เป็นผู้มัวเมา เห็นปานนี้ใด นี้เราเรียกว่า ความประมาท ดังนี้ ชื่อว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย.

ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลายนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุกุศลธรรมนานาประการ หรือเพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุอมตธรรม ในข้อนั้น พึงระลึกถึงคำสอนของพระศาสดา มีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสส่งไปอยู่อย่างนี้เป็นต้น และว่า ความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสมงคล ๓ ประการ คือ การงดเว้นจากบาป ๑ การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ ด้วยคาถานี้ ดังพรรณนามาฉะนี้.

ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้ว ในมงคลนั้นๆ นั่นเอง ดังนี้แล.

จบการพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า

อารตี วิรตี เป็นต้น

คาถาที่ ๗ (มี ๕ มงคล)

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคาถานี้ว่า คารโว จ เป็นต้นดังต่อไปนี้.

ความเคารพ ชื่อว่า คารวะ.

ความประพฤติถ่อมตน ชื่อว่า นิวาตะ.

ความสันโดษ ชื่อว่า สันตฏุฐี.

การรู้อุปการะที่ผู้อื่นทำแล้ว ชื่อว่า กตัญญุตา.

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 178

บทว่า กาเลน ได้แก่ โดยขณะ คือ โดยสมัย.

การฟังธรรมชื่อว่า ธัมมัสสวนะ คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแหละ. นี่คือการพรรณนาเฉพาะบท ส่วนการพรรณนาเนื้อความ พึงทราบดังต่อไปนี้.

การกระทำความเคารพ การกระทำความหนักแน่น ความเป็นผู้มีคารวะตามสมควร ในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า สาวกของพระตถาคตเจ้า อาจารย์ อุปัชฌาย์ มารดาบิดา พี่ชายพี่สาว เป็นต้น ที่ควรแก่การกระทำความเคารพ ชื่อว่า คารวะ เพราะคารวะนี้นั้น เป็นเหตุแห่งการไปสู่สุคติภพเป็นต้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ (ในจูฬกัมมวิภังคสูตร) ว่า

บุคคลกระทำความเคารพในบุคคลผู้ควรเคารพ ได้แก่นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา บุคคลเช่นนั้น เบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ด้วยกรรมนั้นอันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานแล้วอย่างนี้. ถ้าหากว่าเบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก เขาไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ จะอุบัติในที่ใดๆ ในภายหลัง ย่อมเป็นคนมีสกุลสูง ในที่นั้นๆ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๗ ประการเหล่านี้. ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ มีความเคารพในพระศาสดาเป็นต้น เพราะฉะนั้น ความเคารพ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นมงคล.

ความเป็นผู้อ่อนน้อม คือความเป็นผู้มีความประพฤติถ่อมตน ชื่อว่า นิวาตะ ความประพฤติถ่อมตน. บุคคลประกอบด้วยความเป็นผู้ประพฤติถ่อมตนใด ถูกนำมานะออกแล้ว ถูกนำความกระด้างออกแล้ว เป็นผู้เสมอด้วย

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 179

ผ้าเช็ดเท้า เป็นผู้เสมอด้วยโคเขาขาด และเป็นผู้เสมอด้วยงูที่ถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว เป็นผู้มีวาจาอ่อนหวานไพเราะและเสนาะโสต นี้ชื่อว่า นิวาตะ. นิวาตะ นี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการได้คุณ มียศเป็นต้น ก็ท่านได้กล่าวไว้ว่า บุคคลที่มีความประพฤติถ่อมตนเช่นนั้น เป็นผู้ไม่กระด้างแล้ว ย่อมได้ยศ ดังนี้เป็นต้น.

ความพอใจด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ชื่อว่า สันตุฏฐี ความสัน โดษ. ความสันโดษนั้นมี ๑๒ อย่าง คือ ในจีวรมี ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษ. แม้ในบิณฑบาตเป็นต้นก็มีอย่างละ ๓ เหมือนกัน การพรรณนาประเภทแห่งสันโดษนั้นมีดังต่อไปนี้.

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ได้จีวรดีก็ตามไม่ดีก็ตาม เธอยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้นนั่นแหละ ไม่ปรารถนาจีวรอื่น แม้เมื่อจะได้จีวรมาอีก ก็ไม่ยอมรับ นี้คือความยินดีตามมีตามได้ (ยถาลาภสันโดษ) ในจีวรของภิกษุนั้น แต่ถ้าหากว่าภิกษุนั้นเป็นผู้อาพาธ เมื่อครองจีวรหนัก (กายย่อมน้อมลง) เธอย่อมลำบาก เธอก็เปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุผู้เป็นสภาคกันเสีย แล้วยังอัตภาพ ให้เป็นไปด้วยจีวรที่เบา นี้จัดว่าสันโดษเหมือนกัน นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษ ในจีวรของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นผู้มีปกติได้ปัจจัยที่ประณีต ภิกษุรูปนั้นได้จีวร มีค่ามากผืนใดผืนหนึ่ง ในบรรดาปัจจัยทั้งหลาย มีบาตรและจีวรเป็นต้น แล้วคิดว่า จีวรอันมีค่ามากนี้ สมควรแก่พระเถระทั้งหลาย ผู้บวชมานาน หรือผู้เป็นพหูสูต ดังนี้แล้วจึงได้ถวายจีวรนั้นแก่พระเถระเหล่านั้น ตนเองถือเอาจีวรที่ไม่มีเจ้าของ จากกองหยากเยื่อ หรือจากป่า หรือจากที่แห่งใด

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 180

แห่งหนึ่งทำเป็นสังฆาฏิ แม้ทรงผ้านั้นไว้ ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษแล. นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษ ในจีวรของภิกษุนั้น.

ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ได้บิณฑบาต จะเศร้าหมองก็ตาม ประณีตก็ตาม เธอยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้นนั่นเอง ไม่ต้องการบิณฑบาตอื่น แม้เมื่อจะได้ก็ไม่ยอมรับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษ ในบิณฑบาตของภิกษุนี้.

แต่ถ้าหากว่าภิกษุเป็นผู้อาพาธ ฉันบิณฑบาตที่เลว ก็ถึงความป่วยหนัก ภิกษุนั้นก็ถวายบิณฑบาตแก่ภิกษุที่เป็นสภาคกัน แล้วฉันเนยใส นมส้ม น้ำผึ้ง และนมสด เป็นต้น จากมือของภิกษุนั้นแล้วประพฤติสมณธรรมอยู่ ก็จัดว่าสันโดษอยู่นั่นเอง นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษ ในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้บิณฑบาตอันประณีต เธอคิดว่า บิณฑบาตนี้ เหมาะสมสำหรับพระเถระทั้งหลาย ผู้บวชมานาน และแก่เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายเหล่าอื่น ผู้เว้นจากบิณฑบาตอันประณีตแล้ว ไม่อาจจะให้อัตภาพเป็นไปได้ ดังนี้แล้วจึงถวายบิณฑบาตอันประณีตนั้นแก่พระเถระ หรือภิกษุเหล่านั้นเสีย ตนเองเที่ยวบิณฑบาต แม้ฉันอาหารที่เจือกัน (ฉันรวมกันหลายๆ สิ่ง) ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษอยู่นั้นเอง นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษ ในบิณฑบาตของภิกษุนี้.

ก็เสนาสนะถึงแก่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เธอก็พอใจด้วยเสนาสนะ นั้นนั่นเอง ไม่รับเสนาสนะอื่นอีก ซึ่งมาถึงเข้าแม้จะดีกว่า นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษ ในเสนาสนะของภิกษุนั้น.

ถ้าหากว่าเธออาพาธ อยู่ในเสนาสนะที่ไม่มีลม ย่อมเดือดร้อนอย่างยิ่ง ด้วยโรคดีเป็นต้น เธอจึงถวายเสนาสนะแก่ภิกษุที่เป็นสภาคกัน อยู่ในเสนา-

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 181

สนะที่มีลมและหนาวเย็น. ซึ่งถึงเข้าแก่ภิกษุนั้น แม้ประพฤติสมณธรรมอยู่ ก็เป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษ ในเสนาสนะของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ไม่ยอมรับเสนาสนะที่ดีแม้มาถึงเข้า คิดว่า เสนาสนะที่ดีเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อภิกษุนั่งอยู่ในเสนาสนะที่ดีนั้น ก็ย่อมก้าวลงสู่ถีนมิทธะได้ ก็เมื่อเธอถูกความหลับครอบงำ ตื่นขึ้นอยู่ กามวิตกทั้งหลายก็ฟุ้งขึ้น ภิกษุนั้นปฏิเสธเสนาสนะที่ดีนั้น แล้วอยู่ในเสนาสนะแห่งใดแห่งหนึ่ง มีที่โล่งแจ้ง โคนไม้ และกองฟางเป็นต้น ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษ ในเสนาสนะของภิกษุนั้น.

ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ได้เภสัช จะเป็นลูกสมอ หรือมะขามป้อมก็ตาม ยังอัตภาพนั้นให้เป็นไปด้วยเภสัชนั้นนั่นเอง ไม่ปรารถนาแม้เนยใส น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น ที่ภิกษุเหล่าอื่นได้มาแล้ว แม้จะได้มาก็ไม่ยอมรับ นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษ ในคิลานปัจจัยลงภิกษุนั้น.

ก็ถ้าภิกษุเป็นผู้อาพาธต้องการน้ำมัน (แต่) ได้น้ำอ้อยมา เธอให้น้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุที่เป็นสภาคกันแล้ว ทำยาด้วยน้ำมันจากมือแห่งภิกษุนั้น แม้ประพฤติสมณธรรมอยู่ ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษอยู่นั้นเอง นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษ ในคิลานปัจจัยของภิกษุนี้.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง วางชิ้นสมอที่ดองด้วยน้ำมูตรไว้ในภาชนะใบหนึ่ง อันภิกษุอื่นพูดอยู่ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าหากว่าท่านต้องการ ท่านก็จงถือเอาของหวาน ๔ อย่างในภาชนะใบหนึ่ง ถ้าหากว่าพยาธิของภิกษุนั้นย่อมสงบได้ ด้วยเภสัชอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาเภสัช ๒ อย่างเหล่านั้น ใช่แต่เท่า

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 182

นั้น สมอดองด้วยน้ำมูตรเน่า บัณฑิตทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว และภิกษุนี้ก็คิดว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า บรรพชาอาศัยยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า. เธอพึงทำความอุตสาหะในยาดองด้วยน้ำมูตรเน่านั้น (พึงฉัน) ตลอดชีวิต จึงห้ามเภสัชที่เป็นของหวานทั้ง ๔ เสีย แล้วทำยาด้วย สมอดองน้ำมูตรเน่า ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งเทียว นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษ ในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.

สันโดษนี้ทั้งหมดมีประเภทดังกล่าวมาแล้วอย่างนี้ ท่านเรียกว่า สันตุฏฐี. สันตุฏฐีนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการละบาป ธรรมทั้งหลาย มีความปรารถนาเกินไป ความปรารถนาลามก ความอยากใหญ่เป็นต้น และการบรรลุคุณธรรม เพราะเป็นเหตุแห่งสุคติ เพราะเป็นเหตุแห่งการสั่งสมอริยมรรค และเพราะเป็นเหตุแห่งความเที่ยวไปสะดวกใน ทิศทั้ง ๔ เป็นต้น. และท่านกล่าวไว้ว่า

ผู้ที่สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ เป็นผู้เที่ยวไปสะดวกในทิศทั้ง ๔ และเป็นผู้ไม่คับแค้น ดังนี้เป็นต้น. (๑)

การรู้อุปการคุณที่คนใดคนหนึ่งได้กระทำไว้ จะน้อยหรือมากก็ตาม โดยการระลึกถึงบ่อยๆ ชื่อว่า กตัญญุตา. อีกอย่างหนึ่ง บุญทั้งหลายนั่นเอง ชื่อว่ามีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะป้องกันอันตรายจากทุกข์ มีทุกข์ในนรกเป็นต้น เพราะการระลึกถึงอุปการะแม้แห่งบุญเหล่านั้น ก็พึงทราบว่า กตัญญุตา.


๑. ขัคควิสาณสูตร ขุ. สุ ๒๕/ ข้อ ๒๙๖.

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 183

ความเป็นผู้กตัญญูนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ มีความเป็นผู้อันสัปบุรุษทั้งหลาย พึงสรรเสริญเป็นต้น ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่หาได้ยากในโลกเหล่านี้มีอยู่ ๒ จำพวก. ๒ จำพวกอะไรบ้าง คือ ผู้ที่ทำอุปการะก่อน ๑ ผู้กตัญญูกตเวที ๑.

ในกาลใด จิตสหรคตด้วยอุทธัจจะ หรือถูกกามวิตกอย่างใดอย่างหนึ่ง มีกามวิตกเป็นต้นครอบงำ การฟังธรรมเพื่อบรรเทากามวิตกเป็นต้นนั้นในกาลนั้น ชื่อว่า กาเลน ธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมตามกาล. อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า การฟังธรรมทุกๆ วันที่ ๕ (แห่งสัปดาห์) ชื่อว่าฟังธรรมตามกาล อย่างที่ท่านพระอนุรุทธะผู้มีอายุกราบทูลว่า (๑) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ทุกๆ ๕ วันแล พวกข้าพระองค์พึงนั่งสนทนาธรรมกถากันตลอดคืนยังรุ่ง พระพุทธะเจ้าข้า.

อีกอย่างหนึ่ง ในกาลใด บุคคลเข้าไปหากัลยาณมิตรทั้งหลายแล้ว สามารถจะฟังธรรมที่จะบรรเทาความสงสัยของตนเสียได้ การฟังธรรมแม้ในกาลนั้น พึงทราบว่า การฟังธรรมตามกาล ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุเข้าไปหา ท่านผู้รู้เหล่านั้นสอบถามปัญหา และย่อมแก้ปัญหาตามกาลอันสมควรดังนี้เป็นต้น. การฟังธรรมตามกาลนี้นั้น ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้บรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ มีการละนิวรณ์ การเห็นอานิสงส์ ๔ ประการ และการบรรลุการสิ้นอาสวะเป็นต้น สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด พระอริยสาวกตั้งใจมนสิการ น้อมเข้ามาในใจโดยประการทั้งปวง ตั้งใจฟัง ฟังธรรมอยู่ ในสมัยนั้น นิวรณ์ ๕ ประการ ย่อม


๑. ม. มู ๑๒/ ข้อ ๓๖๔.

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 184

ไม่มีแก่เธอ และตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมหวังอานิสงส์ ๔ ประ การ แห่งธรรมทั้งหลายตามที่ตนได้ฟังมา แห่งธรรมทั้งหลายที่ตนแทงตลอดแล้ว ฯลฯ และว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ อันภิกษุอบรมแล้วโดยชอบ ปฏิบัติตามโดยชอบตามกาล ย่อมให้ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลายโดยลำดับ.

๔ ประการคืออะไรบ้าง คือ การฟังธรรมตามกาล ๑ ดังนี้เป็นต้น

ในพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๕ ประการคือ

ความคารวะ ๑

ความถ่อมตน ๑

ความสันโดษ ๑

ความเป็นผู้กตัญญู ๑

การฟังธรรมตามกาล ๑ ดังพรรณนามาฉะนี้.

ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายให้แจ่มแจ้ง แล้วในมงคลข้อนั้นๆ นั่นแล.

จบการพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า

คารโว จ นิวาโต เป็นต้น

คาถาที่ ๘

(มี ๔ มงคล)

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในมงคลข้อว่า ขนฺตี จ เป็นต้น ดังต่อไปนี้. ความอดทน ชื่อว่า ขันติ.

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 185

การว่ากล่าวได้โดยง่าย เพราะความเป็นผู้ปกติรับด้วยมือขวา (เคารพ) มีอยู่ในบุคคลนี้ เพราะเหตุนี้ บุคคลนี้จึงชื่อว่า สุวโจ ผู้ว่าได้โดยง่าย.

กรรมของผู้ว่าง่ายนั้นชื่อว่า โสวจสฺส ภาวะแห่ง โสวจสฺส นั้นชื่อว่า โสวจสฺสตา ความเป็นผู้ว่าได้โดยง่าย.

นักบวชทั้งหลาย ที่ชื่อว่า สมณะ ก็เพราะสงบระงับกิเลสเสียได้.

การดู ชื่อว่า ทัสสนะ การสนทนาซึ่งพระธรรมชื่อว่า ธัมมสากัจฉา คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล นี่คือการพรรณนาเฉพาะบท ส่วนการพรรณนาเนื้อความพึงทราบดังต่อไปนี้.

อธิวาสนขันติ ชื่อว่า ขันติ. ภิกษุประกอบแล้ว ด้วยขันติ ก็เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ราวกะว่าไม่ได้ยิน และราวกะว่าไม่ได้เห็น ในเมื่อบุคคลด่าอยู่ ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ หรือเบียดเบียนอยู่ ด้วยกรรมทั้งหลายมีการฆ่าและการจองจำเป็นต้น เสมือนขันติวาทีดาบสฉะนั้น. ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า สมณะเป็นผู้แสดงความอดทน ในอดีตสิ้นกาลนาน (เพราะ) พระเจ้ากาสิกราช ได้รับสั่งให้ตัด ซึ่งขันติวาทีดาบสนั้น ผู้ดำรงอยู่แล้วด้วย ขันตินั้นแล ดังนี้.

หรือว่าภิกษุย่อมมนสิการ โดยความเป็นผู้กระทำว่าดี ราวกะท่าน ปุณณเถระผู้มีอายุ เพราะไม่ถือโทษยิ่งกว่านั้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า (พระปุณณเถระกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าหากว่าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตกะจักด่า จักบริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในการด่า

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 186

บริภาษนั้น ข้าพระองค์จักคิดอย่างนี้ว่า ดีหนอ ที่มนุษย์เมืองสุนาปรันตกะ ฯลฯ ดีทีเดียวหนอ ที่พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ไม่ใช้ฝ่ามือประหารข้าพระองค์ดังนี้เป็นต้น และอธิวาสนขันติที่ภิกษุประกอบแล้ว เป็นผู้ที่แม้ฤาษีทั้งหลาย พึงสรรเสริญ ดังที่สรภังคฤาษีกล่าวไว้ว่า

บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้ จะไม่เศร้าโศกในกาลไหนๆ ฤาษีทั้งหลายสรรเสริญการละความลบหลู่ ท่านทั้งหลายจงอดทนคำหยาบคายที่คนทั้งปวงกล่าวแล้ว สัปบุรุษทั้งหลายกล่าวขันตินี้ว่าสูงสุด ดังนี้.

ภิกษุเช่นนั้นแม้เทวดาทั้งหลายก็สรรเสริญ ดังที่ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสไว้ว่า

ผู้ใดแล เป็นคนมีกำลัง อดกลั้นต่อคนผู้ทรุพลไว้ ความอดกลั้นของบุคคลนั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นขันติอย่างยิ่ง เพราะคนทุรพลต้องอดทนอยู่เป็นนิตย์. (๑)

ผู้ที่มีความอดทนแม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ตรัสสรรเสริญ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

ผู้ใดไม่โกรธไม่ประทุษร้าย ย่อมอดกลั้นต่อการฆ่าและการจองจำ เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีขันติเป็นพลัง ผู้มีพลังเป็นเสนา ว่า เป็นพราหมณ์.


๑. สัง. สคาถวรรค ๑๕/ ข้อ ๘๗๕.

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 187

ก็ขันตินี้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการได้รับคุณทั้งหลาย ที่ท่านกล่าวพรรณนาไว้ในที่นี้เหล่านี้ และคุณทั้งหลายเหล่าอื่น.

การไม่ถึงความฟุ้งซ่าน หรือความเป็นผู้นิ่ง หรือคิดถึงคุณและโทษ ในเมื่อตนถูกว่ากล่าวประกอบด้วยธรรม (แต่) ทำความเอื้อเฟื้อความเคารพ และความอ่อนน้อมอย่างยิ่งแล้วกล่าวว่า ดีละ (ที่ท่านได้กรุณาว่ากล่าวตักเตือน ข้าพเจ้า) ดังนี้ชื่อว่า โสวจสฺสตา ความเป็นผู้ว่าง่าย ความเป็นผู้ว่าง่ายนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้โอวาทและอนุศาสนี จากสำนักของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย และเพราะเป็นเหตุให้ได้ละโทษและบรรลุคุณ.

การเข้าไปหา การอุปัฏฐาก การระลึกถึง การฟังและการเห็นบรรพชิตทั้งหลายผู้มีกิเลสอันสงบแล้ว ผู้อบรมกาย วาจา จิตและปัญญาแล้ว ผู้ประกอบด้วยความฝึกฝนและความสงบอย่างสูง ชื่อว่า การเห็นสมณะทั้งหลาย การเข้าไปหาทั้งหมดเป็นต้นนั้น ท่านกล่าวว่า ทัสสนะ (การเห็น) เพราะไม่ได้แสดงสิ่งที่ต่ำช้า ข้อนี้พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเหตุไร เพราะมีอุปการะมาก และพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้การห็นว่ามีอุปการะมากแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ดังนี้เป็นอาทิ เพราะกุลบุตรที่ปรารถนาประโยชน์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้ทรงศีลมาถึงประตูเรือน ถ้าหากว่าไทยธรรมมีอยู่ ก็พึงต้อนรับด้วยไทยธรรม ตามกำลัง ถ้าหากว่าไทยธรรมไม่มี ก็พึงไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ เมื่อการไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์นั้นไม่สำเร็จ (ไหว้ไม่สะดวก) ก็พึงประคองอัญชลีนมัสการ แม้เมื่อการประคองอัญชลีนมัสการนั้นไม่สำเร็จ ก็พึงนั่งมองด้วยจิตที่เลื่อมใส ด้วยนัยน์ตาทั้งสองที่ประกอบด้วยความรัก เพราะว่าด้วยบุญที่มีการมองดูอย่างนี้เป็นมูลเหตุ โรคนัยน์ตาก็ดี โทษก็ดี ฝ้าก็ดี ไฝก็ดี ย่อมไม่มีตลอดพันชาติเป็นอเนก เขามี

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 188

จักษุที่แจ่มใส ประกอบด้วยสิริ มีวรรณะ ๕ เช่น กับด้วยหน้าต่างแก้วมณี ที่เปิดไว้ในวิมานแก้ว เป็นผู้มีปกติได้สมบัติทุกอย่าง ทั้งในเทวโลก ทั้งในมนุษยโลกประมาณสิ้นแสนกัป ข้อที่บุคคลมีปัญญา เกิดเป็นมนุษย์มีปัญญา จะพึงเสวยวิบากสมบัติเห็นปานนั้น ด้วยคุณซึ่งเกิดจากการเห็นสมณะที่เป็นไปโดยชอบ นี้ไม่น่าอัศจรรย์ (แต่) ข้อที่บัณฑิตทั้งหลายกล่าวสรรเสริญวิบากสมบัติ แห่งการเห็นสมณะซึ่งเกิดจากเหตุ เพียงศรัทธาอย่างเดียวเท่านั้น แม้ของสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย อย่างนี้ว่า

นกฮูกชื่อว่าโกสิยะนี้มีนัยน์ตากลม อยู่ที่ภูเขาเวทิยกะมานาน มีความสุขหนอ ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้เสด็จลุกขึ้นตามกาล

นกฮูกนั้นทำใจให้เลื่อมใสในเรา (ตถาคต) ในภิกษุสงฆ์ผู้เลิศ จะไม่ไปสู่ทุคติสิ้นแสนกัป

เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว อันกุศลกรรมตักเตือนแล้ว จักเป็นพระพุทธเจ้า ปรากฏพระนามว่า โสมนัส ผู้มีพระญาณ อันไม่สิ้นสุด ดังนี้ (จึงเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์)

ชื่อว่า การสนทนาธรรมตามกาล (กาเลน ธมฺมสากจฺฉา) ข้าพเจ้า จะได้กล่าวต่อไป ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาใกล้รุ่ง ภิกษุนักพระสูตร ๒ รูป สนทนาพระสูตรกัน นักวินัย ๒ รูป สนทนาพระวินัยกัน นักอภิธรรม ๒ รูป สนทนาอภิธรรมกัน พระภิกษุผู้กล่าวชาดก ๒ รูป สนทนาชาดก

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 189

กัน พระภิกษุผู้เรียนอรรถกถา ๒ รูป สนทนาอรรถกถากัน หรือว่าภิกษุทั้งหลาย ย่อมสนทนากันในกาลนั้นๆ เพื่อชำระจิตที่หดหู่ ฟุ้งซ่าน และสงสัยเป็นไปในเบื้องหน้า การสนทนาธรรมตามกาลนั้น ท่านเรียกว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้ฉลาดในอาคม (ปริยัติ) เป็นต้น.

ด้วยพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ มงคล คือ ขันติ ๑ โสวจัสสตา ๑ การเห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมตามกาล ๑ ดังพรรณนามาฉะนี้ และความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าก็ได้อธิบายไว้ ชัดเจนแล้วในมงคลนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้แล.

จบการพรรณนาเนื้อความแห่งคาถานี้ว่า

ขนฺตี จ เป็นต้น

คาถาที่ ๙ (มี ๔ มงคล)

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคาถามีบทว่า ตโป จ เป็นต้นดังต่อไปนี้ ธรรมที่ชื่อว่า ตบะ เพราะอรรถว่าแผดเผาบาปธรรมทั้งหลาย. ความประพฤติที่ประเสริฐ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า พรหมจรรย์. อีกอย่างหนึ่ง ความประพฤติ ของพรหมทั้งหลาย ชื่อว่า พรหมจรรย์ มีคำอธิบายว่า ความประพฤติอย่างประเสริฐ. การเห็นอริยสัจทั้งหลาย ชื่อว่า อริยสจฺจานทสฺสนํ อาจารย์ บางพวกกล่าวว่า อริยสจฺจานิ ทสฺสนํ ดังนี้ก็มี ข้อนี้ไม่ดี.

ที่ชื่อว่า นิพพาน เพราะออกจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ที่ชื่อว่า วานะ.

การทำให้แจ้ง ชื่อว่า สจฺฉิกิริยา.

การทำให้แจ้ง ซึ่งพระนิพพาน ชื่อ นิพฺพานสจฺฉิกิริยา.

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 190

คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล นี่คือการพรรณาเฉพาะบท ส่วนการพรรณนาเนื้อความ ผู้ศึกษาพึงทราบ ดังต่อไปนี้.

การสำรวมอินทรีย์ โดยแผดเผาอกุศลธรรมทั้งหลาย มีอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้น หรือความเพียร อันแผดเผาความเกียจคร้านชื่อว่า ตปะ. เพราะว่าบุคคลที่ประกอบด้วยตปะนั้น ท่านเรียกว่า อาตาปี ผู้มีตบะ หรือผู้มีความเพียรเป็นเครื่องแผดเผาบาป.

ตบะนี้นั้น พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ละอภิชฌาเป็นต้น เสียได้ และเป็นเหตุให้ได้ฌานเป็นต้น.

ชื่อว่า พรหมจรรย์ เป็นชื่อแห่งเมถุนวิรัติ, สมณธรรม, ศาสนา และมรรค จริงอย่างนั้น เมถุนวิรัติในธรรมทั้งหลาย มีคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า บุคคลละความประพฤติที่ไม่ประเสริฐ เป็นผู้มีปกติประพฤติประเสริฐ ดังนี้ ท่านเรียกว่า พรหมจรรย์.

สมณธรรมทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ ท่านก็เรียกว่า พรหมจรรย์.

ศาสนาในธรรมทั้งหลาย มีคำเป็นอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป เราจักยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่พรหมจรรย์ของเรานี้ จักไม่บริบูรณ์ ไม่แพร่หลาย กว้างขวาง มีคนรู้จักมาก ดังนี้ ท่านก็เรียกว่า พรหมจรรย์.

มรรคในคำทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ อัฏฐังคิกมรรค อันประเสริฐนี้เท่านั้นแล เป็นตัวพรหมจรรย์ คือ สัมมาทิฏฐิ ดังนี้ ท่านก็ เรียกว่า พรหมจรรย์. แต่ในพระสูตรนี้ คำทั้งปวงที่เหลือก็ใช้ได้ เพราะยึดถือ เอามรรคเป็นเบื้องหน้าในการเห็นอริยสัจ ก็พรหมจรรย์นี้นั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษ มีประการต่างๆ สูงๆ ขึ้นไป.

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 191

การเห็นมรรค ด้วยสามารถแห่งการบรรลุอริยสัจ ๔ มีเนื้อความที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในกุมารปัญหา ชื่อว่า อริสัจจานทัสสนะ การเห็นอริยสัจนั้นท่านกล่าวว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ท่านพ้นจากทุกข์ ในสังสารเสียได้.

ชื่อว่า การกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ข้าพเจ้าจักได้กล่าวต่อไป. ในมงคลสูตรนี้ คำว่า อรหัตตผล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ไว้ว่า นิพพาน เพราะว่าอรหัตตผลนั้น เรียกว่า นิพพาน เพราะออกจากตัณหาที่เรียกว่า วานะ เพราะร้อยรัดคติ ๕ ไว้. การบรรลุหรือการพิจารณาพระนิพพานนั้น ท่านเรียกว่า สัจฉิกิริยา การกระทำให้แจ้ง แต่การกระทำให้แจ้งพระนิพพานนอกนี้ สำเร็จได้ ก็ด้วยการเห็นอริยสัจเท่านั้น เพราะเหตุนั้นพระนิพพานนี้ จึงไม่ได้ประสงค์เอาในมงคลนี้ การกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนี้ พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ดังพรรณนามาฉะนี้.

ด้วยพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการคือ ตบะ ๑ พรหมจริยา ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การทำนิพพานให้แจ้ง ๑ ดังพรรณนามาฉะนี้ ก็ความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วใน มงคลนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้แล.

จบการพรรณนาเนื้อความแห่งคาถานี้ว่า

ตโป จ เป็นต้น

คาถาที่ ๑๐ (มี ๔ มงคล)

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในมงคลข้อว่า ผุฏฺสฺส โลกธมฺเมหิ เป็นต้นนี้ ดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 192

บทว่า ผุฏฺสฺส ได้แก่ สัมผัส คือถูกต้อง ได้แก่ ถึงพร้อม.

ธรรมทั้งหลายในโลก ชื่อว่า โลกธรรม มีคำอธิบายว่า โลกยังเป็นไปอยู่ตราบใด ธรรมทั้งหลายก็ไม่หมุนกลับตราบนั้น.

มโน คือ มานัส ชื่อว่า จิต.

บทว่า ยสฺส ได้แก่ พระนวกะ หรือพระมัชฌิมะ หรือพระเถระ.

บทว่า น กมฺปติ ได้แก่ ไม่หวั่น ไม่สะเทือน.

บทว่า อโสกํ ได้แก่ ไม่เศร้าโศก คือถอนลูกศรคือความโศกเสียได้.

บทว่า วิรชํ ได้แก่ ผู้ปราศจากราคะ คือผู้กำจัดราคะได้แล้ว.

บทว่า เขมํ ได้แก่ ไม่มีภัย คือไร้อุปัทวะ คำที่เหลือมีนัยดังข้าพเจ้ากล่าวแล้วแล นี้เป็นการพรรณนาเฉพาะบทก่อน ส่วนการพรรณนาเนื้อความ พึงทราบดังต่อไปนี้.

จิตของผู้ใด อันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ก็ไม่หวั่นไหว คือ จิตของผู้ใด อันโลกธรรมทั้ง ๘ มีลาภเป็นต้น ถูกต้องแล้ว คือครอบงำแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ได้แก่ ไม่คลอนแคลน ไม่สะเทือน จิตนั้นของบุคคลนั้น อันใครๆ ไม่พึงให้หวั่นไหวได้ เพราะนำโลกุตรมรรคมาให้.

ถามว่า ก็จิตของใครถูกโลกธรรมเหล่านี้ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว.

ตอบว่า จิตของพระอรหันตขีณาสพ ย่อมไม่หวั่นไหว หาใช่จิตของใครอื่นไม่ สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

ภูเขาศิลาแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะลมฉันใด รูป รส เสียง กลิ่น

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 193

สัมผัส รวมทั้งธรรมที่น่าปรารถนา และธรรมนี้ไม่น่าปรารถนา หาได้ทำจิตซึ่งตั้งมั่น หลุดพ้นแล้วของท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ ทั้งท่านย่อมเห็นความสิ้นไปแห่งสภาวธรรม เหล่านั้นด้วย ดังนี้ (๑)

จิตของพระขีณาสพเท่านั้น ชื่อว่า อโสกํ ไม่เศร้าโศก. จริงอยู่ จิตของพระขีณาสพเหล่านั้น ชื่อว่า ไม่เศร้าโศก เพราะไม่มีความโศก ที่ท่านเรียกกันโดยนัยว่า ความโศก ความเศร้าโศก ความเป็นผู้เศร้าโศก ความเศร้าโศกในภายใน ความแห้งเกรียมในภายใน ความที่ใจเผาไหม้ ดังนี้เป็นต้น.

อาจารย์บางพวก เรียกจิตที่ไม่เศร้าโศกนี้ว่า พระนิพพาน.

จิตที่ไม่เศร้าโศกนั้น ท่านไม่ต่อกับบทก่อน (จิตที่ถูกโลกธรรม) เหมือนอย่างว่า คำว่าจิตไม่เศร้าโศกเป็นจิตของพระขีณาสพฉันใด แม้คำว่า จิตที่ปราศจากธุลี จิตเกษม ก็เป็นจิตของพระขีณาสพเหมือนกันฉันนั้น ด้วยว่า จิตของพระขีณาสพนั้น ชื่อว่า ปราศจากธุลี เพราะเป็นจิตที่ปราศจากธุลีคือ ราคะ โทสะ และโมหะ และ ชื่อว่า เกษม เพราะเป็นจิตที่ปลอดจากโยคะทั้งสี่ เพราะจิตของพระขีณาสพนี้ แม้จะมี ๓ อย่าง (อโสกํ วิรชํ เขมํ) ด้วยสามารถที่ท่านถือเอาในปวัตติขณะนั้นๆ แสดงไว้โดยอาการนั้นๆ ก็พึง ทราบว่า เป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้ยอดเยี่ยมในโลก มีความที่ขันธ์ไม่เป็นไปอีกเป็นต้น (ไม่ต้องเกิดอีก) และนำมาซึ่งความเป็น อาหุเนยยบุคคล เป็นต้น.


๑. อัง. ฉักก. ๒๒/ ข้อ ๓๒๖.

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 194

ด้วยพระคาถานี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการ ความที่จิตไม่หวั่นไหว ด้วยโลกธรรม ๘ อย่าง ๑ จิตไม่เศร้าโศก ๑ จิตปราศจากธุลี ๑ จิตเกษม ๑ ดังพรรณนามาฉะนี้ ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านี้เป็นมงคล ข้าพเจ้า ได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้ว ในมงคลนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้แล

จบการพรรณนาเนื้อความ แห่งคาถาที่ว่า

ผุฏฺสฺส โลกธมฺเมหิ เป็นต้นนี้

คาถาที่ ๑๑

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๓๘ ประการ ด้วยพระคาถา ๑๐ พระคาถาว่า อเสวน จ พาลานํ ดังนี้เป็นต้น ดังพรรณนามาฉะนี้. บัดนี้ เมื่อจะทรงชมเชยมงคล ที่พระองค์ตรัสไว้เหล่านี้แล จึงได้ตรัสพระคาถาสุดท้าย นี้ว่า เอตาทิสานิ กตฺวาน ดังนี้เป็นต้น.

การพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถาสุดท้ายนั้น มีดังต่อไปนี้.

คำว่า เอตาทิสานิ ความว่า มงคลทั้งหลาย มีการไม่เสพพวกคนพาลเป็นต้น เช่นนี้ เหล่านี้ คือที่มีประการอันเรากล่าวแล้ว.

บทว่า กตฺวาน ได้แก่ การทำแล้ว จริงอยู่บท ๓ บท คือ กตฺวาน กตฺวา กริตฺวา โดยเนื้อความก็ไม่ใช่อื่น (ถือเป็นอันเดียวกัน)

บทว่า สพฺพตฺถมปราชิตา ความว่า เป็นผู้แม้อันศัตรูอย่างหนึ่งในบรรดาศัตรู ๔ ประเภท อันต่างโดยขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร และ เทวปุตตมาร จะให้พ่ายแพ้ไม่ได้ อธิบายว่า ทำมารทั้ง ๔ ประเภทเหล่านั้น

 
  ข้อความที่ 72  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 195

ให้พ่ายแพ้เสียเอง ก็ อักษรในคำว่า สพฺพตฺถมปราชิตา นี้ พึงทราบว่า เป็นการเชื่อมบท (บทสนธิ)

บาทคาถาว่า สพฺพตฺถ โสตถึ คจฺฉนฺติ ความว่า บุคคลกระทำตามมงคล เหล่านี้แล้ว เป็นผู้ที่มารทั้ง ๔ ให้แพ้ไม่ได้ ย่อมถึงความสวัสดี ในที่ทั้งปวง คือในโลกนี้และโลกหน้า และในสถานที่ทั้งหลาย มีทางเดินจงกรมเป็นต้น มีคำอธิบายว่า อาสวะ การเข่นฆ่า และความเร่าร้อนเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้น จากการคบคนพาลเป็นต้น ชนทั้งหลายเหล่านั้นย่อมถึงความ สวัสดี เพราะไม่มีอาสวะ การเข่นฆ่าและความเร่าร้อนเหล่านั้น ถือว่า เป็นผู้ไม่มีอุปัทวะ ไม่มีอุปสรรค มีความเกษม ไม่มีภัย ย่อมถึงความสวัสดีได้ ก็อนุนาสิก (นิคคหิต) ในคำว่า สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ นี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพื่อความสะดวกในการประพันธ์คาถา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลง ด้วยบาทพระคาถานี้ว่า ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมํ.

ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลงอย่างไร?

ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลง โดยพุทธประสงค์อย่างนี้ว่า ดูก่อนเทวบุตร ก็เพราะชนเหล่าใดกระทำตามมงคลเหล่านี้ อย่างนี้ ชนเหล่านั้นย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง ฉะนั้น ท่านจงถือเอามงคลทั้ง ๓๘ ประการ มีการไม่เสพพวกคนพาลเป็นต้นนั้น เป็นมงคลอย่างสูงสุด ได้แก่ ประเสริฐที่สุด คือเลิศสำหรับชนทั้งหลายเหล่านั้น ผู้กระทำตามมงคลเหล่านี้นี้.

ก็ในที่สุดแห่งพระเทศนา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้จบลงแล้วอย่างนี้ เทวดาประมาณแสนโกฏิบรรลุพระอรหัต. ผู้ที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี นับไม่ถ้วน.

 
  ข้อความที่ 73  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 196

ต่อจากนั้นในวันที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระอานนทเถระ มาแล้วตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อคืนนี้เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วถาม มงคลปัญหา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงได้กล่าวมงคล ๓๘ ประการ แก่เทวดานั้น ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนมงคลนี้ ครั้นเรียนมงคลปริยาขึ้นแล้วจงบอกภิกษุทั้งหลาย. พระเถระเรียนเอาแล้ว จึงได้บอกภิกษุทั้งหลาย มงคลสูตรนี้นั้น อาจารย์นำสืบๆ กันมา ย่อมเป็นมาได้จนถึงทุกวันนี้ พรหมจรรย์นี้พึงทราบว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ประกาศดีแล้ว จนกระทั่งบริบูรณ์ แพร่หลายกว้างขวาง มีคนรู้กันมาก และเป็นปึกแผ่น ด้วยประการฉะนี้.

สรุปมงคล ๓๘

บัดนี้ เพื่อความฉลาดในการอบรมญาณ ในมงคลเหล่านี้นั้นแหละ จึงมีโยชนา (วาจาประกอบการอธิบายความให้เชื่อมกัน) จำเดิมแต่ต้นดังต่อไปนี้.

สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ผู้ใคร่ต่อความสุขในโลกนี้ โลกหน้าและโลกุตรสุข ละการเสพคนพาล อาศัยบัณฑิตทั้งหลาย บูชาซึ่งบุคคลทั้งหลาย ที่ควรบูชา อันการอยู่ในประเทศอันสมควร และการเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในปางก่อน ตักเตือนอยู่ ในการสั่งสมกุศล จึงตั้งตนไว้ชอบ มีอัตภาพอันประดับแล้ว ด้วยพาหุสัจจะ ศิลปะ และวินัย กล่าวอยู่ซึ่งวาจาสุภาษิต อันสมควรแก่วินัย ตนยังไม่ละความเป็นคฤหัสถ์ตราบใด ก็ชำระหนี้เก่าโดยการเลี้ยงดู มารดาบิดาอยู่ตราบนั้น ประกอบหนี้ใหม่ด้วยการสงเคราะห์บุตรและภรรยาอยู่ บรรลุถึงความสำเร็จแห่งสมบัติ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้น ด้วยความเป็นผู้มีการงานไม่อากูล ถือเอาสาระแห่งโภคะด้วยการให้ทานและสาระแห่ง

 
  ข้อความที่ 74  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 197

ชีวิตด้วยการประพฤติธรรม กระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนของตน ด้วยการสงเคราะห์ญาติ และกระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนอื่น ด้วยการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ เว้นการเบียดเบียนคนอื่น ด้วยการงดจากบาปและการเบียดเบียนตน ด้วยการสำรวมจากการดื่มน้ำเมา เจริญธรรมฝ่ายกุศลทั้งหลาย ด้วยความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย สละเพศคฤหัสถ์ ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในกุศลธรรมที่ตนเจริญแล้ว แม้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นบรรพชิต ก็ยินดีความถึงพร้อมด้วยวัตร ด้วยความเคารพและความอ่อนน้อม ในทักขิเณยยบุคคลทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า พุทธสาวก อุปัชฌาย์และอาจารย์เป็นต้น. สละความคิดในปัจจัย ด้วยความสันโดษ ดำรงอยู่ในสัปปุริสภูมิ ด้วยความกตัญญุ ละจิตที่ท้อแท้เสียได้ด้วยการฟังธรรม ครอบงำอันตรายทั้งปวงเสียได้ด้วยความอดทน ทำตนให้มีที่พึ่งด้วยการเป็นผู้ว่าง่าย เห็นอยู่ซึ่งการประกอบความเพียรในการปฏิบัติ ด้วยการเห็นสมณะ บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยเสียได้ด้วยการสนทนาธรรม ทำศีลวิสุทธิให้บริบูรณ์ ด้วยการสำรวมอินทรีย์และตบะ ทำจิตตวิสุทธิให้บริบูรณ์ด้วยพรหมจรรย์คือสมณธรรม ทำวิสุทธิอีก ๔ อย่างที่เหลือจากนั้นให้บริบูรณ์ (ทิฏฐิ, กังขา, มัคคา, ปฏิปทา) บรรลุญาณทัสสนวิสุทธิ. อันเป็นปริยายแห่งอริยสัจจทัสสนะ ด้วยปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) นี้ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน กล่าวคือ อรหัตตผล ซึ่งครั้นทำให้แจ้งแล้ว ก็เป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ ดุจภูเขาสิเนรุไม่หวั่นไหว เพราะลมและฝนฉะนั้น จึงเป็นบุคคลที่ไม่เศร้าโศก มีจิตปราศจากธุลี มีจิตเกษม ก็บุคคลเหล่าใดเป็นผู้มีจิตเกษม บุคคลเหล่านั้น

 
  ข้อความที่ 75  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 198

เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง และย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า

เอตาทิสานิ กตฺวาน สพฺพตฺถมปราชิตา สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ ตนฺเตสํ มงคลมุตฺตมํ.

เหล่าชนครั้นกระทำการมงคลทั้ง ๓๘ ประการเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน การถึงความสวัสดีนั้นเป็นมงคลอย่างสูงสุดของชนเหล่านั้น.

จบการพรรณนามงคลสูตร ในอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อ ปรมัตถโชติกา