พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาแห่งอัปปมาทเปยยาล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40398
อ่าน  382

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ หน้า 138

อัปปมาทวรรควรรณนาที่ ๑๐

อรรถกถาแห่งอัปปมาทเปยยาล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 138

อัปปมาทวรรควรรณนาที่ ๑๐

อรรถกถาแห่งอัปปมาทเปยยาล

พึงทราบวินิจฉัยใน อัปปมาทเปยยาล.

ในบทว่า เอวเมว โข นี้พึงเห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง ฉันใด ความไม่ประมาทอันเป็นตัวการเป็นธรรมเลิศกว่ากุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง ฉันนั้น. ถามว่า ก็ความไม่ประมาทนี้เป็นโลกิยะมิใช่หรือ แต่กุศลธรรมเป็นโลกุตระก็มี อนึ่ง ความไม่ประมาทนี้เป็นกามาวจร แต่กุศลธรรมทั้งหลายเป็นไปในภูมิ ๔ ความไม่ประมาทนี้จะเป็นธรรมเลิศกว่าธรรมเหล่านั้นได้อย่างไร. ตอบว่า เพราะกุศลธรรมเหล่านั้นอันบุคคลผู้ได้ ย่อมได้ด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทนั้นจึงเป็นธรรมเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมเหล่านั้น ทั้งหมดมีความไม่ประมาทเป็นมูล ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า ชงฺคลานํ ได้แก่ สัตว์ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน. บทว่า ปาณานํ ได้แก่พวกสัตว์มีเท้า. บทว่า ปทชาตานิ ได้แก่ เท้าทั้งหลาย. บทว่า สโมธานํ คจฺฉนฺติ ได้แก่ ถึงการรวบรวมคือยกขึ้น. บทว่า อคฺคมกฺขายติ ได้แก่ ย่อมกล่าวว่าประเสริฐที่สุด. บทว่า ยทิทํ มหนฺตตฺเตน ได้แก่ ย่อมกล่าวว่าเลิศโดยความเป็นธรรมยิ่งใหญ่. อธิบายว่า ไม่ใช่ กล่าวว่าเลิศด้วยสามารถแห่งคุณ. บทว่า วสฺสิกํ ได้แก่ ดอกมะลิ.

มีเรื่องเล่าว่า พระภาคิยมหาราช สดับเรื่องนี้แล้ว รับสั่งให้อบด้วยกลิ่นดอกไม้ ๔ ชนิดในห้องหนึ่ง ด้วยพระประสงค์จะทดลองให้นำดอกไม้มีกลิ่นหอม ตั้งดอกมะลิกำหนึ่งไว้กลางผะอบใบหนึ่ง จัดดอกไม้ที่เหลือกำหนึ่งๆ ตั้งไว้โดยรอบดอกมะลินั้น ทรงปิดพระทวารเสด็จออกไปข้างนอก เมื่อ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 139

พระองค์รอเวลาผ่านไปครู่หนึ่งจึงเปิดพระทวารเสด็จเข้าไป กลิ่นดอกมะลิกระทบพระฆานะก่อนดอกไม้ทั้งหมด. พระองค์เสด็จบ่ายพระพักตร์ทรงไปยังมหาเจดีย์ ทรงหมอบลง ณ พื้นแผ่นดินใหญ่นั้นเอง ถวายบังคมพระเจดีย์ ด้วยทรงพระดำริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่เลิศกว่าดอกไม้ทั้งหลาย เป็นอันพระองค์ตรัสถูกต้องแล้ว ดังนี้.

บทว่า กุฎฺราชาโน ได้แก่ พระราชาผู้น้อย. บาลีว่า กุฏราชาโน ดังนี้ก็มี. บทว่า ตนฺตาวุตานํ ตัดบทเป็น ตนฺเต อาวุตานํ ความว่า ยกด้ายขึ้น คือทอ. บทนี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งปฐมาวิภัตติ. บทว่า ยานิกานิจิ ตนฺตาวุตานิ นี้มีเนื้อความในตอนต้น. อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในบทนี้แม้โดยนัยแห่งปาฐะที่เหลืออย่างนี้ว่า ตนฺตาวุตานํ อาวุตานิ กานิจิ วตฺถานิ ดังนี้ แปลว่า ผ้าชนิดใดชนิดหนึ่งที่ทอด้วยด้าย. บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น.

จบอัปปมาทวรรควรรณนาที่ ๑๐

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมตถาคตสูตร ๒. ทุติยตถาคตสูตร ๓. ตติยตถาคตสูตร ๔. จตุตถตถาคตสูตร ๕. ปทสูตร ๖. กูฏสูตร ๗. มูลคันธสูตร ๘. สารคันธสูตร ๙. ปุปผคันธสูตร ๑๐. กุฏฐราชาสูตร ๑๑. จันทิมสูตร ๑๒. สุริยสูตร ๑๓. วัตถสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา