นกที่ถ่ายอุจจาระรดหลังคาสถานที่สำคัญ

 
เอกพันธ์
วันที่  24 มิ.ย. 2550
หมายเลข  4091
อ่าน  2,285

ในเวลาไปสถานที่สำคัญต่างๆ มักจะเห็นว่ามีนกจำนวนมากมาถ่ายรดหลังคาของสถานที่สำคัญ ซึ่งข้างในบรรจุของที่เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวพุทธ มีพระพุทธรูปเป็นต้น นกเหล่านั้นไม่รู้อะไรว่าควรหรือไม่ควร จึงอยากทราบว่ามันบาปหรือไม่ เพราะศาสนาพุทธเปรียบคนทำบาปเหมือนจับไฟ คนที่รู้ไปจับ (ไปทำบาป) ก็ไม่ค่อยเจ็บ (ไม่บาปมาก) แต่คนที่ไม่รู้ไปจับเต็มๆ เลยในกรณีของนกเป็นอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

ตามหลักพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงเจตนาว่าเป็นกรรม คือเป็นบาปหรือบุญอยู่ที่เจตนา ถ้ามีเจตนาจะเป็นนกหรือสัตว์ประเภทใดก็ตาม กระทำความเสียหาย ทำลาย ทำความสกปรกในสถานที่ควรบูชา การกระทำนั้น เป็นบาปหรืออกุศล แต่ถ้ามีเจตนาบูชาเคารพสักการะ หรือทำความสะอาดในสถานที่ดังกล่าว ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แวะเข้ามา
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

โดยปรมัตถธรรมแล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่มี มีแต่สภาพธรรม สภาพธรรมใดที่เป็นกุศลเกิดกับใคร ที่ไหน (ภูมิใด) ก็เป็นกุศล ย่อมให้ผล คือวิบากที่เป็นสุข ส่วนสภาพธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็คือนัยตรงกันข้าม สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยที่สะสมมาต่างกัน จึงมีพฤติกรรมต่างกัน อย่าว่าแต่นกซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานเลยค่ะ แม้แต่มนุษย์บางคนก็ยังขาดความเคารพยำเกรงในพระศาสนา กระทำในสิ่งที่ทำให้พระศาสนามัวหมอง ยิ่งกว่านกที่ถ่ายบนหลังคาวัดเสียอีก

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

สัตว์ที่ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ตายจากสัตว์ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มากกว่าโดยแท้ สงสารนกจังเลย ทำบาปเพราะความไม่รู้ โอกาสจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาแสนยาก พวกเรามีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว ก็อย่าประมาทกับการฟังธรรมและเจริญกุศลทุกอย่าง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การที่เราเดินเหยียบมด โดยไม่รู้ว่ามีมด ขณะนั้นเรามีเจตนาฆ่าหรือเปล่า ไม่มี จึงไม่เป็นอกุศลกรรม ดังนั้น บาปไม่บาป อยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ ขณะที่เราโยนของจากหน้าต่างลงไป ถูกหัวคนข้างล่างตาย (ไม่รู้ว่ามีคนข้างล่าง) บาปหรือเปล่า มีเจตนาฆ่าหรือเปล่า ไม่มีครับ จึงไม่เป็นอกุศลกรรม ควรพิจารณาละเอียด คนบ้า ฆ่าคนตาย ทำด้วยความไม่รู้ แต่มีเจตนาฆ่าหรือเปล่า ตอนที่ฆ่ามีเจตนาฆ่าครับ เป็นอกุศลกรรม ดังนั้น บาปไม่บาปอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ ในทำนองเดียวกัน นกอุจจาระลงมา ถูกมดตาย นกบาปหรือเปล่า มีเจตนาฆ่าหรือเปล่า ไม่มีครับ จึงไม่เป็นบาปอกุศลกรรม มีคนเดินไป ข้างใต้พื้นดิน เป็นปูชนียสถานในทางพระพุทธศาสนา คนนั้นมีเจตนาลบหลู่ เพราะคนนั้นเป็นคนละศาสนา บาปไหม บาป เพราะมีเจตนาลบหลู่ อีกคนเดินไปและก็รู้เช่นกัน แต่เดินด้วยความนอบน้อมเพราะรู้ว่าสถานที่ตรงนั้นเป็นที่เคารพบูชา บาปไหม ไม่บาป เพราะไม่มีเจตนาลบหลู่ ดังนั้น บาปไม่บาปอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญว่ามีเจตนาที่เป็นไปในอกุศลหรือไม่ เราเดินไปที่แห่งหนึ่ง เราไม่รู้ว่าเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา (โบราณสถาน) แต่เท้าเราเปื้อนทำให้พื้น (โบราณสถาน) นั้นเปื้อน ขณะนั้นมีเจตนาที่ลบหลู่ หรือเปล่า ไม่มีครับ ดังนั้น จึงขอแสดงข้อความในพระไตรปิฎกว่า บาปไม่บาปอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ ลองอ่านดูนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

เรื่อง บาปไม่บาปอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 103

[พระโมคคลีบุตรติสสเถระอ้างพระพุทธพจน์เล่าอดีตนิทาน]

ลำดับนั้น พระเถระ (ถวายวิสัชนา) ให้พระราชาทรงเข้าพระทัยเนื้อความนี้ด้วยพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ ดังนี้. เพื่อแสดงเนื้อความนั้นนั่นแล พระเถระจึงนำติดติรชาดกมา (เป็นอุทาหรณ์) ดังต่อไปนี้.

(อ่านต่อข้างล่างครับ)

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในอดีตกาล นกกระทาชื่อ ทีปกะ เรียนถามพระดาบสว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นกเป็นอันมากเข้าใจว่า ญาติของพวกเราถูกจับอยู่แล้ว จึงพากันมา นายพรานอาศัยข้าพเจ้า (นกต่อ) ย่อมถูกต้องกรรม เมื่อนายพรานอาศัยข้าพเจ้าทำบาปนั้น ใจของข้าพเจ้าย่อมสงสัย (ว่าบาปนั้นจะมีแก่ข้าพเจ้า หรือหนอ?) .

พระดาบสตอบว่า ก็ท่านมีความคิด (อย่างนี้) หรือว่า ขอนกทั้งหลายเหล่านี้มา เพราะเสียงและเพราะเห็นรูปของเราแล้วจงถูกแร้ว หรือจงถูกฆ่า.

นกกระทา เรียนว่า ไม่มี ท่านผู้เจริญ.

(อ่านต่อนะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

ลำดับนั้น ดาบสจึงให้นกกระทานั้นเข้าใจยินยอมว่าถ้าท่านไม่มีความคิดไซร้ บาปก็ไม่มี แท้จริง กรรมย่อมถูกต้องบุคคลผู้คิดอยู่เท่านั้น หาถูกต้องบุคคลผู้ไม่คิดไม่.

ถ้าใจของท่าน ไม่ประทุษร้าย (ในการทำความชั่ว) ไซร้ กรรมที่นายพรานอาศัยท่านกระทำ ก็ไม่ถูกต้องท่าน บาปก็ไม่ติดเปื้อนท่าน ผู้มีความขวนขวายน้อย ผู้เจริญ (คือบริสุทธิ์) .

สรุป คือ บาป ไม่บาป อยู่ที่มีเจตนาเป็นไปในอกุศลที่จะเบียดเบียนหรือฆ่าหรือลบหลู่หรือไม่ครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เอกพันธ์
วันที่ 8 ก.ค. 2550

พระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชโอรสของพระองค์เอง กระทำปิตุฆาตด้วยการทรมานต่างๆ โดยเฉพาะที่ให้ผ่าพระบาท ทาด้วยน้ำมันผสมเกลือแล้วรมด้วยถ่านตะเคียน จนสวรรคต ก็ด้วยเหตุเพราะในอดีตชาติ พระราชาได้เคยสวมฉลองพระบาท คือสวมรองเท้า เข้าไปในลานพระเจดีย์ อันเป็นที่สักการบูชาของหมู่ชนทั้งหลาย นี้ประการ ๑ และอาจารย์แต่ปางก่อนยังได้แสดงอีกว่า พระองค์ได้เคยเหยียบย่ำบนเสื่อลำแพนที่เขาปูไว้เพื่อให้เป็นที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์ ด้วยพระบาทที่ยังมิได้ชำระล้างให้สะอาดเสียก่อน อีกประการ ๑ จึงส่งผลให้พระองค์รับความทุกข์ทรมานในชาตินั้น นี้เป็นผลจากกรรมเก่าที่พระเจ้าพิมพิสารได้เคยทรงกระทำเป็นการล่วงเกินพระเจดีย์และเสื่อลำแพนอันเขาจัดให้เป็นที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์แต่ชาติปางก่อน

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เอกพันธ์
วันที่ 8 ก.ค. 2550
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้ละเอียดว่า ขณะนั้นมีเจตนาอย่างไร แม้การสวมรองเท้าเข้าไปในลานพระเจดีย์ ธรรมต้องสอดคล้องทั้ง ๓ ปิฎก รวมทั้งอภิธรรมด้วย โดยนัยอภิธรรม กรรมก็คือเจตนาเจตสิก เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ดังนั้น เกิดกับอกุศลและกุศลก็ได้ ขณะที่เราไปไหว้สังเวชนียสถานที่อินเดีย หรือเข้าไปในพระเชตวันเพื่อไปสักการะ จิตขณะนั้นมีเจตนาเจตสิกไหม มี แต่เป็นเจตนาที่เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นเจตนาที่ไปนมัสการ แม้เท้าจะเปื้อน แต่เจตนาไปนมัสการ เป็นกุศล เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับกุศลก็ย่อมเป็นชาติกุศลด้วย เมื่อเป็นกุศลแล้วจะให้ผลเป็นอกุศลวิบากไม่ได้เลยครับ เป็นอฐานะ ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ดังนั้น เจตนาของท่าน (พระเจ้าพิมพิสาร) ในการเหยียบเสื่อหรือลานพระเจดีย์นั้นย่อมเป็นเจตนาที่เป็นอกุศล เช่น ไม่เคารพ เป็นต้น เพราะอกุศลย่อมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก (คือ ถูกกรีดพระบาท) เจตนาที่ไม่เป็นอกุศล คือเป็นกุศลจะให้ผลเป็นอกุศลวิบากไม่ได้เลย เป็นอฐานะ ซึ่งในเรื่องของพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้แสดงถึงเจตนาอย่างไร แต่ถ้าเรามั่นคงในเรื่องของกรรม ก็ย่อมรู้ว่ากรรมอยู่ที่เจตนา เจตนาที่เป็นกุศลจะไม่ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก เจตนาที่เป็นอกุศลจึงให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ดังนั้น ในเรื่องของพระเจ้าพิมพิสาร จึงละด้วยความเข้าใจว่าเจตนาที่ไม่เคารพและเป็นอกุศลจึงให้ผลเป็นอกุศลวิบากครับ ดังจะขอแสดงข้อความเรื่อง การเหยียบเสื่อโดยเจตนาที่เป็นอกุศล ไม่เคารพ แล้วให้ผลเป็นอกุศลวิบากครับ จะทำให้ชัดเจนขึ้นครับว่าบาปไม่บาปอยู่ที่เจตนา เป็นกุศลหรืออกุศลครับ ลองอ่านดูนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ค. 2550
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เรื่อง กรรมนิยาม

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 100

ข้อความบางตอนจาก มหาปทานสูตร

ชื่อว่านิยามนี้มี ๕ อย่าง คือ กรรมนิยาม อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตตนิยาม ธรรมนิยาม. ในนิยามทั้ง ๕ นั้น การให้ผลแห่งกุศลที่น่าปรารถนา การให้ผลแห่งอกุศลที่ไม่น่าปรารถนา นี้ชื่อกรรมนิยาม.

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ค. 2550

เชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

ฐานะและอฐานะ [พหุธาตุกสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
จิต89หรือ121
วันที่ 24 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนา คุณ " แล้วเจอกัน " ที่นำหลักฐานจากหลายแห่ง มาประกอบ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 7 เม.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ