ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๓๖

 
khampan.a
วันที่  28 พ.ย. 2564
หมายเลข  41219
อ่าน  1,191

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๓๖
* *





~ บรรพชิตครองจีวร แสดงเพศของศากยบุตร คือ ผู้ที่จะประพฤติดำเนินตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทำในสิ่งที่ไม่ดีได้อย่างไร อย่างเช่น พูดเล่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพูดเล่นหรือ? เพราะฉะนั้น ต้องเห็นกิเลสแม้เพียงเล็กน้อย ต้องเห็นโทษที่น่ารังเกียจจริงๆ จึงสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ในเพศบรรพชิตได้ มิฉะนั้น ก็ไปอบายภูมิ เพราะหลอกคนอื่น ลวงคนอื่นโดยการครองจีวรแล้วก็ไม่ประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ ก่อนตายเป็นคนดีหรือเปล่า? รู้อะไรหรือเปล่า? เราจะรู้ไหมว่าเราจะตายเมื่อไหร่ วันนี้ก็ได้ โดยที่ยังเป็นคนไม่รู้อะไรเลย กิเลสก็เยอะ โลภะ
(ความติดข้อง) ก็มาก โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) ก็มาก จะฆ่าใคร วันไหน จะทำร้ายใครแค่ไหน จะทุจริตอย่างไร ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือเปล่า เพราะเหตุว่า เราไม่รู้ว่ากิเลสที่มีกำลัง จะเกิดเมื่อไหร่ วันไหน เพียงแค่คำพูดของคนอื่นไม่กี่คำ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดการทำร้ายร่างกายได้ เป็นไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก่อนตายสิ่งที่ควรรู้ ก็คือ เกิดมาแล้วต้องตาย แต่ตายโดยที่ไม่รู้อะไรเลย กับ รู้ความจริงทีละเล็กทีละน้อย อย่างน้อยที่สุดก็รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะอะไร อะไรดี อะไรชั่ว ก็ยังดีกว่าไม่รู้อะไรเลย

~ ถ้าทุกคนมีความเมตตา (เป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดีต่อกัน) ช่วยกันทำประโยชน์จะเดือดร้อนไหม? ก็ไม่เดือดร้อน แต่ทำไมเดือดร้อน? ก็เพราะไม่ได้เป็นมิตรสหายกันอย่างจริงใจ หวังแต่ประโยชน์ของตน อยากได้ ทำทุจริตกรรม ก็ทำ เบียดเบียนคนอื่นก็ทำ เพราะไม่รู้ว่าเป็นโทษ

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะสอนให้คนอื่นทำชั่วไหม? ไม่มีทางที่พระองค์จะทรงสอนอย่างนั้น, เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าได้ฟังคำสอนของพระองค์ที่ลึกซึ้งและมีปัญญาเจริญขึ้น ก็จะทำให้ ไม่ทำชั่ว

~ ต้องเห็นว่า การฟังธรรมหรือการสนทนาธรรม ประโยชน์จริงๆ คือ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้จะเพียงเล็กน้อยสักคำเดียว ก็ยังดีกว่าเข้าใจผิด หรือว่าเข้าใจเพียงนิดหน่อยไม่กระจ่างไม่ชัดเจนซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ก็ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไตร่ตรอง และสนทนากัน ถ้ามีข้อสงสัยก็จะได้ช่วยกันคิดไตร่ตรองให้ชัดเจนขึ้น

~ พระธรรมแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็น "ธรรมเดช" คือ มีกำลังสามารถที่จะเผาความไม่รู้ให้หมดไปได้ จากความไม่รู้เลยแล้วได้ยินได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังด้วยดี โดยความเคารพ สามารถที่จะเกิดปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้องซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น คำว่า เป็นธรรม ต่อไปนี้ เข้าใจอย่างมั่นคง เพื่อที่ต่อไปได้ฟัง เข้าใจ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นอีก จนกระทั่งรู้ความจริงอย่างที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้

~ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเปรียบในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณ เพราะฉะนั้น ฟังคำของพระองค์ ก็จะทำให้จากความที่ไม่เคยรู้อะไรมาเลยกี่ชาติ ต่อจากนี้ก็จะไม่ใช่เป็นคนไม่รู้ เพราะได้เริ่มสะสมความเข้าใจในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

~ สิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็พูด หวังดี ตัวเองจะเป็นอย่างไร ไม่สำคัญเลย ทุกคนเกิดแล้วก็ต้องตายเหมือนกันหมด อะไรจะเกิดขึ้น ก็เพราะมีเหตุที่จะให้เป็นอย่างนั้น เหตุที่ดีนำมาซึ่งผลที่ดี ผลที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้น มาจากกรรมที่ไม่ดีต่างหาก ไม่ได้มาจากคำพูดที่ถูกต้อง

~ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหมอที่ประเสริฐยิ่งกว่าหมอใดๆ เพราะเหตุว่า สามารถที่จะรักษาโรคที่อยู่ในใจ จนกระทั่งหมดโรคได้ โดยที่แต่ละคนถ้าไม่รู้จักหมอคนนี้นายแพทย์ท่านนี้ จะไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นโรค ร้ายไหม โรคนี้ [โรคไม่รู้] ไม่มีใครรู้จัก ถ้าไม่ได้พบผู้ตรัสรู้ ทรงพระนามว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ ทุกอย่างที่เป็นกุศลในชีวิตประจำวัน ทำแล้วหรือยัง หรือว่ายังทำไม่ได้ ถ้าชาตินี้ทำไม่ได้ ชาติต่อไปจะเป็นอย่างไร คิดว่าชาติต่อไปจะทำได้หรือถ้าชาตินี้ทำไม่ได้ ในเมื่อชาตินี้ยังยาก ชาติหน้าย่อมยากยิ่งขึ้นไปอีก

~ อกุศลของเขา เราไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกุศลเมื่อไหร่ ไม่เดือดร้อน ไม่พลอยเป็นอกุศลไปด้วย เพราะฉะนั้น ใครกล่าวอย่างไรด้วยจิตประเภทใด ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็ไม่ใช่เราเป็นอกุศลจิต แต่เขาเป็นอกุศลจิต รู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นธรรมที่ควรละ

~ เมื่อผิด ต้องแก้ ถ้าปล่อยไป ก็ไม่มีวันที่จะถูกได้ และอีกประการหนึ่ง ก็คือว่า คำว่า สายเกินไป หมายความว่า เดี๋ยวนี้ไม่ทำ เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มทำเดี๋ยวนี้ ก็จะไม่สายเกินไป ถ้าทุกคนเห็นประโยชน์จริงๆ และร่วมแรงร่วมใจ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งในการที่เราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ หมายความว่า ต้องศึกษาให้เข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คิดเองแล้วก็ทำลายคำสอนของพระองค์ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัญญา ใครเริ่มเดี๋ยวนี้ คือ ผู้ที่มีปัญญา ที่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดแก้ได้ เมื่อแก้ เดี๋ยวนี้ เริ่มเลย

~ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะทำ อย่างบุตรก็มีหน้าที่ต่อมารดาบิดา ปรนนิบัติท่านทุกประการ พระศาสนามีพระธรรมเป็นพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ต้องดูแลอย่างดีไหม ต้องศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่งไหม? ต้องช่วยกันทะนุบำรุงและให้คนอื่นได้มีโอกาสได้ยินได้ฟังคำที่พระองค์ได้ทรงพระมหากรุณาบำเพ็ญพระบารมีเพื่อแต่ละคนที่สะสมมาที่เห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ใครไม่ทำ เราก็ทำ ถ้าทุกคนเห็นอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ พระศาสนาก็จะดำรงอยู่ต่อไปได้

~ ยากที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และเมื่อเกิดมาแล้วทุกคนต้องตาย แต่ก่อนตายควรที่จะได้เป็นคนดี ถ้าเข้าใจธรรม เป็นคนดีขึ้นแน่นอน ในชีวิตนี้สิ่งที่สะสมสืบต่อที่ประเสริฐอย่างยิ่ง คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกที่จะนำไปสู่คุณความดีทั้งปวง

~ ไม่มีคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะนำกิเลสที่มีมากออกไปได้หรือค่อยๆ ลดไปได้เลย แต่ตรงกันข้าม พอมีความเข้าใจเกิดขึ้น น่าอัศจรรย์ที่เปลี่ยนจากความที่เป็นคนไม่ดีมาก่อน ค่อยๆ ดีขึ้น

~ ผู้ที่ต้องการความจริง เขาไม่หนีการสนทนาธรรม เพราะประโยชน์คือการที่จะได้เข้าใจถูกต้อง สนทนาเพื่ออะไร เพื่อรู้ว่าอะไรถูก จึงทิ้งสิ่งที่ผิด นั่นคือ ประโยชน์ของการสนทนาธรรม

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร คำของพระองค์เปลี่ยนได้ไหม? เมื่อพระองค์ไม่ได้ตรัส แล้วเราไปทำสิ่งที่พระองค์ไม่ได้ตรัสไว้หมายความว่า ไม่ได้เป็นคนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เชื่อฟังคำของพระองค์ เพราะเหตุว่า ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่จะทำสิ่งใดที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในการที่จะศึกษาให้เข้าใจ เพื่อประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้ว ทุกอย่างที่ทำ ทำลายพระพุทธศาสนา

~ ความประพฤติที่ผิดทั้งหมด มาจากความไม่รู้ แล้วใครจะรู้ว่าไม่รู้ ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พระธรรมไม่ได้สาธารณะ คือ ไม่ทั่วไปกับทุกคน แต่ต้องสำหรับคนที่สะสมมาที่จะเห็นคุณค่าและศึกษาด้วยความเคารพจริงๆ ที่รู้ว่า ทุกคำของพระองค์ เพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต

~ เกิดมาแล้ว จากโลกนี้ไปแน่นอน แต่ว่าขอให้ได้เป็นคนดีและเข้าใจธรรม แต่ไม่ลืมความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น) ทำอย่างดีที่สุด ผลจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอนัตตา แต่จะห้ามไม่ให้ทำความดีได้ไหม ในเมื่อสะสมมาที่เห็นคุณของความดี คนนั้นก็จะทำสิ่งที่ดี

~ กิเลสทั้งหลาย อยู่ที่ไหน? อยู่ที่ใจ ใครก็เอาออกไม่ได้ ความไม่รู้และกิเลสทั้งหมดที่สะสมมา ดี ชั่ว อยู่ที่ใจ แต่สิ่งที่ควรพลัดพรากจากไป ก็คือ อกุศลและความไม่รู้ ใครเอาออกไปได้ไหม ถ้าไม่ใช่ปัญญา (ความเข้าใจถูกความเห็นถูก)


* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๓๕




...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง

และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Sea
วันที่ 28 พ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jaturong
วันที่ 28 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 28 พ.ย. 2564

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Lai
วันที่ 28 พ.ย. 2564

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
มังกรทอง
วันที่ 1 ธ.ค. 2564

ต้องเห็นว่า การฟังธรรมหรือการสนทนาธรรม ประโยชน์จริงๆ คือ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้จะเพียงเล็กน้อยสักคำเดียว ก็ยังดีกว่าเข้าใจผิด หรือว่าเข้าใจเพียงนิดหน่อยไม่กระจ่างไม่ชัดเจนซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ก็ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไตร่ตรอง และสนทนากัน ถ้ามีข้อสงสัยก็จะได้ช่วยกันคิดไตร่ตรองให้ชัดเจนขึ้น

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
มังกรทอง
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

อกุศลของเขา เราไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกุศลเมื่อไหร่ ไม่เดือดร้อน ไม่พลอยเป็นอกุศลไปด้วย เพราะฉะนั้น ใครกล่าวอย่างไรด้วยจิตประเภทใด ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็ไม่ใช่เราเป็นอกุศลจิต แต่เขาเป็นอกุศลจิต รู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นธรรมที่ควรละ น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธู สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
มังกรทอง
วันที่ 6 เม.ย. 2566

ทุกคำที่ให้มา จักสิกขาจนเข้าใจ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว น้อมรับไปในธัมมา อาจารย์สุจินต์ตรง มุ่งดำรงพุทธศาสนา เปี่ยมล้นด้วยเมตตา อีกกรุณาเกินประมาณ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ