พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

เรื่องเวรัญชพราหมณ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41744
อ่าน  962

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวรัญชกัณฑ์

เรื่องเวรัญชพราหมณ์ หน้า 1

เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า หน้า 2

ทรงอุปมาด้วยลูกไก่ หน้า 5

ทรงแสดงฌานสี่และวิชชาสาม หน้า 6

บุพเพนิวาสานุสติญาณ หน้า 7

จุตูปปาตญาณ หน้า 7

อาสวักขยญาณ หน้า 8

เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก หน้า 9

เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย หน้า 10

พระพุทธประเพณี หน้า 10

พระมหาโมคัลลานะเปล่งสีหนาท หน้า 11

เหตุให้พระศาสนาดํารงอยู่ไม่นานและนาน หน้า 12

ปรารภเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท หน้า 15

เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์ หน้า 16


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 1]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 1

เวรัญชกัณฑ์

เรื่องเวรัญชพราหมณ์

[๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญพระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดม พระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์แม้เพราะเหตุนี้ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบแม้เพราะเหตุนี้ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เสด็จไปดีแม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบโลกแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลายแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพุทธะแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงทําโลกนี้พร้อมทั้ง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 2

เทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี

เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า

[๒] หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพุทธสํานัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เวรัญชพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคํานี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลําดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อที่ข้าพเจ้าทราบมานี้นั้นเป็นเช่นนั้นจริง อันการที่ท่านพระโคดมไม่ไหว้ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลําดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะนี้นั้น ไม่สมควรเลย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่าตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป.

ว. ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 3

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทําให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทําไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

ว. ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ.

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะสมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทําให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทําไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.

ว. ท่านพระโคดมกล่าวการไม่ทํา.

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทํา ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวการไม่ทํากายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทําสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทํา ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.

ว. ท่านพระโคดมกล่าวความขาดสูญ.

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 4

ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.

    ว. ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ.

    ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.

    ว. ท่านพระโคดมช่างกําจัด.

    ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกําจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกําจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกําจัดสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.

    ว. ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ.

    ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทําให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทําไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนช่างเผาผลาญ พราหมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาป-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 5

อกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทําให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทําไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.

ว. ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด.

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทําให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทําไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด พราหมณ์ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทําให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทําไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่าพระสมณโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.

ทรงอุปมาด้วยลูกไก่

[๓] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไก่เหล่านั้น อันแม่ไก่พึงกกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใดทําลายกระเปาะฟอง ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง.

ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 6

ทรงแสดงฌานสี่และวิชชาสาม

ภ. เราก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชาเกิดในฟอง อันกระเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกระเปาะฟอง คือ อวิชชา แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดํารงมั่นไม่ฟันเฟือน กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.

ปฐมฌาน

เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่

ทุติยฌาน

เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติ และสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่.

ตติยฌาน

เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้.

จตุตถฌาน

เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 7

บุพเพนิวาสานุสติญาณ

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสติญาณ เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอุเทศ พร้อมทั้งอาการด้วยประการฉะนี้ พราหมณ์ วิชชาที่หนึ่งนี่แล เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากําจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืด เรากําจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร เผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ฉะนั้น ความชําแรกออกครั้งที่หนึ่งของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทําลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.

จุตูปปาตญาณ

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิต

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 8

ไปเพื่อญาณ เครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้ พราหมณ์ วิชชาที่สองนี้แล เราได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากําจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากําจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ฉะนั้น ความชําแรกออกครั้งที่สองของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทําลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.

อาสวักขยญาณ

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัด

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 9

ตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทําได้ทําเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์ วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากําจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากําจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชําแรกออกครั้งที่สามของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทําลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.

เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก

[๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ทูลคํานี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิดบอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจําข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จําเดิมแต่วันนี้

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 10

เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรงรับอาราธนาอยู่จําพรรษาที่เมืองเวรัญชาของข้าพเจ้าเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นเวรัญชพราหมณ์ทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทําประทักษิณหลีกไป.

เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย

[๕] ก็โดยสมัยนั้นแล เมืองเวรัญชามีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทําไม่ได้ง่าย ครั้งนั้น พวกพ่อค้าม้าชาวอุตราปถะมีม้าประมาณ ๕๐๐ ตัว ได้เข้าพักแรมตลอดฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาได้ตกแต่งข้าวแดงสําหรับภิกษุรูปละแล่งไว้ที่คอกม้า เวลาเช้าภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา เมื่อไม่ได้บิณฑบาต จึงเที่ยวไปบิณฑบาตที่คอกม้า รับข้าวแดงรูปละแล่งนําไปสู่อารามแล้วลงครกโขลกฉัน ส่วนท่านพระอานนท์บดข้าวแดงแล่งหนึ่งที่ศิลา แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ เสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้นอยู่ได้ทรงสดับเสียงครกแล้ว.

พระพุทธประเพณี

พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระตถาคตทั้งหลายทรงกำจัดสิ่งที่ไม่ประกอบด้วย

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 11

ประโยชน์ด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการสองอย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงครกหรือหนอ จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญว่า ดีละ ดีละ อานนท์ พวกเธอเป็นสัตบุรุษชนะวิเศษแล้ว พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลังจักดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุกอันระคนด้วยเนื้อ.

พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท

[๖] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคํานี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้เมืองเวรัญชามีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทําไม่ได้ง่าย พระพุทธเจ้าข้า พื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดินผืนใหญ่นี้ สมบูรณ์ มีรสอันโอชา เหมือนน้ำผึ้งหวี่ที่ไม่มีตัวอ่อนฉะนั้น ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงพลิกแผ่นดิน ภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ ก็สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเล่า เธอจะทําอย่างไรแก่สัตว์เหล่านั้น.

ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตฝ่ามือข้างหนึ่งให้เป็นดุจแผ่นดินใหญ่ ยังสัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเหล่านั้นให้ไปอยู่ในฝ่ามือนั้น จักพลิกแผ่นดินด้วยมืออีกข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 12

ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การพลิกแผ่นดิน เธออย่าพอใจเลย สัตว์ทั้งหลายจะพึงได้รับผลตรงกันข้าม.

ม. ขอประทานพระวโรกาส ขอภิกษุสงฆ์ทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตในอุตรกุรุทวีป พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์เล่า เธอจักทําอย่างไรแก่ภิกษุเหล่านั้น.

ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักทําให้ภิกษุทั้งหมดไปได้ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตถึงอุตรกุรุทวีป เธออย่าพอใจเลย.

เหตุให้พระศาสนาดํารงอยู่ไม่นานและนาน

[๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดํารงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดํารงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตําบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหน ไม่ดํารงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดํารงอยู่นาน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดํารงอยู่นาน ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดํารงอยู่นาน.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 13

    ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดํารงอยู่นานพระพุทธเจ้าข้า.

    ภ. ดูก่อนสารีบุตร พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาฏิโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ดูก่อนสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กําจัดซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลันฉันนั้นเหมือนกัน เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงกําหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนสาวก.

    ดูก่อนสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามเวสสภู ทรงกําหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ําสอนภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูป ในไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวแห่ง

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 14

หนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จงทําในใจอย่างนี้ อย่าได้ทําในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้ ลําดับนั้นแล จิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามเวสสภูทรงสั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ําสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยองจึงมีคํานี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน.

    ดูก่อนสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดํารงอยู่นาน.

    ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดํารงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า.

    ภ. ดูก่อนสารีบุตร พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวกเพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดํารงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ดูก่อนสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 15

ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้กําจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดํารงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.

ดูก่อนสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดํารงอยู่นาน.

ปรารภเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท

[๘] ลําดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะ ทําผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระสุคต ถึงเวลาแล้ว ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้พระศาสนานี้ยั่งยืนดํารงอยู่ได้นาน

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จงรอก่อน สารีบุตร จงยับยั้งก่อน สารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกําจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรม

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 16

บางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนานแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกําจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลายแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกําจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกําจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ ดูก่อนสารีบุตร ก็ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมอง บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ํา ก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ําเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์

[๙] ครั้นปวารณาพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จําพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท ข้อนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจะบอกลาเวรัญชพราหมณ์

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 17

ท่านพระอานนท์ทูลสนองพระพุทธดํารัสว่า เป็นดังรับสั่งพระพุทธเจ้าข้า

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรมีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดําเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย ทันใดนั้น เวรัญชพราหมณ์ดําเนินเข้าไปสู่ที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพระองค์รับสั่งว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราเป็นผู้อันท่านนิมนต์อยู่จําพรรษาแล้ว เราขอบอกลาท่าน เราปรารถนาจะหลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท.

เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า เป็นความจริง ท่านพระโคดม ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์อยู่จําพรรษา ก็แต่ว่าไทยธรรมอันใดที่จะพึงถวาย ไทยธรรมอันนั้นข้าพเจ้ายังมิได้ถวาย และไทยธรรมนั้นมิใช่ว่าจะไม่มี ทั้งประสงค์จะไม่ถวายก็หาไม่ ภายในไตรมาสนี้ พระองค์จะพึงได้ไทยธรรมนั้นจากไหน เพราะฆราวาสมีกิจมาก มีกรณียะมาก ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยพระสงฆ์จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอัชเฌสนาโดยดุษณีภาพ และแล้วทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.

หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของตน โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตตกาลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านพระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว.

ขณะนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวร เสด็จพระพุทธดําเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้ว

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 18

ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเวรัญชพราหมณ์อังคาส ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนให้ห้ามภัตรแล้ว ได้ถวายไตรจีวรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสวยเสร็จทรงนําพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้วให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครอง รูปละสํารับ จึงพระองค์ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชาตามพระพุทธาภิรมย์แล้วเสด็จพระพุทธดําเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมืองกัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธดําเนินถึงพระนครพาราณสีครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่พระนครพาราณสีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลําดับ ถึงพระนครเวสาลีนั้นแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น.

    เวรัญชภาณวาร จบ