พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

เริ่มเรื่องทุติยสังคายนา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41747
อ่าน  718
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 64

เริ่มเรื่องทุติยสังคายนา

ก็เพื่อรู้ทุติยสังคายนาแจ่มแจ้ง ควรทราบลําดับดังต่อไปนี้ จริงอยู่ ในกาลใด

พระเถระทั้ง ๕๐๐ มีพระมหากัสสปะเป็นต้น ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว มีปัญญาอันรุ่งเรืองเหล่านั้น ครั้นสังคายนาพระสัทธรรม และยังพระสัทธรรมให้รุ่งเรืองในที่ทั้งปวงแล้ว ดํารงอยู่จนถึงที่สุดแห่งชีวิต ไม่มีอาลัย สิ้นเชื้อดับไป เหมือนประทีปดับไปฉะนั้น

[ภิกษุชาววัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ]

ในกาลนั้น เมื่อคืนและวันล่วงไปโดยลําดับ ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปี พวกภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองไพศาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการเหล่านี้ ในเมืองไพศาลี คือ : -

กปฺปติ สิงฺคีโลณกปฺโป กัปปะว่า เก็บเกลือไว้ด้วยเขนงฉันกับบิณฑบาตที่ไม่เค็ม ก็ควร,

กปฺปติ ทฺวงฺคุลกปฺโป กัปปะว่า จะฉันโภชนะ ในวิกาลเมื่อเงาคล้อยไป ๒ องคุลี ก็ควร,

กปฺปติ คามนฺตรกปฺโป กัปปะว่า ภิกษุตั้งใจว่าจะไปในละแวกบ้าน ห้ามภัตแล้ว ฉันโภชนะที่ไม่เป็นเดน ก็ควร,

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 65

กปฺปติ อาวาสกปฺโป กัปปะว่า จะแยกกันทําสังฆกรรมมีอุโบสถเป็นต้น ในเสนาสนะต่างแห่งในสีมาเดียวกัน ก็ควร,

กปฺปติ อนุมติกปฺโป กัปปะว่า เมื่อตั้งใจว่าจะถือเอาอนุมัติในเวลาที่พวกภิกษุผู้ยังไม่มา มาแล้ว เมื่อเธอเหล่านั้นยังไม่ทันมา สงฆ์เป็นวรรคจะทํากรรมนั้น แล้วอนุมัติภายหลัง ก็ควร,

กปฺปติ อาจิณฺณกปฺโป กัปปะว่า ข้อที่อาจารย์และอุปัชฌาย์เคยประพฤติมา ย่อมควร,

กปฺปติ อมถิตกปฺโป กัปปะว่า ภิกษุฉันแล้ว ห้ามโภชนะแล้ว ฉันนมสดที่ยังไม่เป็นทธิ ซึ่งไม่เป็นเดน ย่อมควร,

กปฺปติ ชโลคิํ ปาตุํ ภิกษุจะดื่มสุราอย่างอ่อน ที่ยังไม่ถึงเป็นน้ำเมา ก็ควร,

กปฺปติ อทสกํ นิสีทนํ ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชาย ก็ควร,

กปฺปติ ชาตรูปรชตํ ทองและเงินควรแก่ภิกษุ (๑)

พระราชาทรงพระนามว่า กาฬาโศก ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ทรงเป็นฝักฝ่ายของพวกภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้นแล้ว.

[พระยสเถระได้ทราบเรื่องภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ]

ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระยสกากัณฑกบุตร เที่ยวจาริกไปในวัชชีชนบท ได้สดับว่า ข่าวว่าพวกภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองไพศาลีแสดงวัตถุ ๑๐


(๑) วิ. จุลฺ. ๗/๓๙๖.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 66

ประการในเมืองไพศาลี ดังนี้ จึงดําริว่า ข้อที่เราได้ฟังความวิบัติแห่งพระศาสนาของพระทศพลแล้ว จะพึงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยเสีย ไม่สมควรแก่เราเลยเอาละ เราจะข่มพวกอธรรมวาทีเสีย แล้วจะยกย่องธรรม ดังนี้ จึงได้ไปทางเมืองไพศาลี.

ดังได้ยินมาว่า ท่านพระยสกากัณฑกบุตร พักอยู่ที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวันใกล้เมืองไพศาลีนั้น. ก็โดยสมัยนั้นแล พวกภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองไพศาลี ใส่น้ำให้เต็มถาดทองสัมฤทธิ์แล้วตั้งไว้ในท่ามกลางสงฆ์ในวันอุโบสถนั้น กล่าวแนะนําอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองไพศาลี ผู้มาแล้วๆ อย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ท่านทั้งหลายจงถวายรูปิยะแก่สงฆ์ กหาปณะหนึ่งก็ได้, กึ่งกหาปณะก็ได้, บาทหนึ่งก็ได้, มาสกหนึ่งก็ได้, กิจของสงฆ์ที่ต้องทําด้วยบริขาร จักมี ดังนี้ (๑)

คําทั้งปวงควรเล่าจนถึงคําว่า ก็วินัยสังคีตินี้ ได้มีภิกษุ ๗๐๐ รูป ไม่หย่อนไม่เกิน, เพราะฉะนั้น วินัยสังคีตินี้ท่านจึงเรียกว่า สัตตสติกา.

ก็ภิกษุ ๑,๒๐๐,๐๐๐ รูป ซึ่งท่านพระยสกากัณฑกบุตร ชักชวนได้ประชุมกันในสันนิบาตนี้. วัตถุ ๑๐ ประการเหล่านั้น ท่านพระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเถระ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย วินิจฉัยเสร็จในท่ามกลางภิกษุเหล่านั้น, อธิกรณ์เป็นอันระงับเสร็จแล้ว.

[คัดเลือกพระเถระทําทุติยสังคายนาได้ ๗๐๐ รูป]

ภายหลังพระเถระทั้งหลาย ปรึกษากันว่า พวกเราจักสังคายนาพระธรรมและพระวินัยอีก ดังนี้ จึงได้คัดเลือกภิกษุ ๗๐๐ รูป ผู้ทรงพระไตรปิฏก บรรลุปฏิสัมภิทา แล้วนั่งประชุมกันที่วาลิการามใกล้เมืองไพศาลี ชําระมลทิน


(๑) วิ. จุลฺ. ๗/๓๙๖

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 67

แห่งพระศาสนาทั้งปวง ได้สังคายนาพระธรรมและวินัยทั้งหมด ด้วยอํานาจปิฎก นิกาย องค์ และธรรมขันธ์ซ้ำอีก เช่นเดียวกับที่พระมหากัสสปเถระสังคายนาแล้วนั่นแล.

สังคีติใดในโลก

ท่านเรียกว่า สัตตสตสังคีติ เพราะพระเถระ ๗๐๐ รูปทํา, และเรียกว่า ทุติยสังคีติ เพราะเทียบสังคีติที่ทําก่อน

สังคีตินี้ทําอยู่ ๘ เดือนจึงสําเร็จ ด้วยประการฉะนี้.

ก็แลสังคีตินี้นั้น

อันพระเถระเหล่าใดร้อยกรองไว้แล้ว บรรดาพระเถระเหล่านั้น พระเถระที่ปรากฏ (๑) คือ พระสัพพกามี ๑ พระสาฬหะ ๑ พระเรวตะ ๑ พระขุชชโสภิตะ ๑ พระยสะ ๑ พระสาณสัมภูตะ ๑ เหล่านี้ เป็นสัทธิวิหาริกของพระอานนทเถระ เคยเห็นพระตถาคต พระสุมนะ ๑ พระวาสภคามี ๑, ๒ รูปนี้บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นสัทธิวิหาริกของพระอนุรุทธะ เคยเห็นพระตถาคต ก็แลพระเถระทั้งหลายผู้ทําสังคายนาครั้งที่ ๒ ทุกๆ รูปเป็นผู้ปลงภาระแล้ว เสร็จกิจแล้ว หาอาสวะมิได้ ดังนี้แล.

จบทุติยสังคีติเท่านี้


(๑) ฎีกาสารัตถทีปนี เป็น เตสุ วิสฺสุตา ๑/๑๗๒ แม้ในอรรถโยชนาก็เป็นเช่นนี้.