พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

เรื่องระหว่างทุติยตติยสังคายนา

  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 68

เรื่องระหว่างทุติยตติยสังคายนา

พระเถระทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นสังคายนาทุติยสังคีตินี้อย่างนั้นแล้ว จึงตรวจดูว่า แม้ในอนาคตเสนียด (เสี้ยนหนาม) เห็นปานนี้ จักเกิดขึ้นแก่พระศาสนาหรือหนอแล? แล้วได้เห็นเหตุนี้ว่า ในปีที่ ๑๘ ต่อจาก ๑๐๐ ปีแต่ปีนี้ไป พระราชาทรงพระนามว่าพระเจ้าธรรมาโศก จะทรงอุบัติขึ้นในพระนครปาฏลีบุตร ครอบครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น ท้าวเธอจักทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แล้วจักยังลาภและสักการะเป็นอันมากให้เป็นไป, ในครั้งนั้น พวกเดียรถีย์ผู้ปรารถนาลาภและสักการะจักบวชในพระศาสนาแล้วแสดงทิฏฐิของตน เสนียดใหญ่จักเกิดขึ้นในพระศาสนาด้วยอาการอย่างนี้.

[ติสสมหาพรหมจักแก้ความเสื่อมพระศาสนาในอนาคต]

ครั้งนั้น พระเถระเหล่านั้นได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เมื่อเสนียดนั่นเกิดขึ้นแล้ว พวกเราจักทันเห็นหรือไม่หนอ? ลําดับนั้น พระเถระทั้งหมดนั่นแล ทราบความที่ตนเป็นผู้ไม่ทันเห็น (เหตุการณ์) ในเวลานั้น จึงคิดว่าใครเล่าหนอ จักเป็นผู้สามารถให้อธิกรณ์นั้นระงับได้ แล้วได้ตรวจดูมนุษยโลก และเทวโลกชั้นกามาวจรทั้งสิ้น ก็มิได้เห็นใครๆ ได้เห็นแต่ท้าวมหาพรหมชื่อติสสะในพรหมโลก ผู้มีอายุยังเหลือน้อย ได้อบรมมรรคเพื่อบังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงขึ้นไป. พระเถระทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นเห็นแล้วจึงได้มีความดําริดังนี้ว่า ถ้าพวกเราพึงทําความอุตสาหะ เพื่อต้องการให้พรหมนั่นเกิดในมนุษยโลกไซร้, พรหมนั่นก็จักถือปฏิสนธิในเรือนของโมคคลี-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 69

พราหมณ์แน่นอน. และต่อจากนั้นก็จักถูกเล้าโลมด้วยมนต์แล้วออกบวช, ครั้นติสสทารกนั้นบวชแล้วอย่างนี้ เล่าเรียนพระพุทธพจน์ทั้งสิ้น เป็นผู้ได้บรรลุปฏิสัมภิทา จักย่ํายีพวกเดียรถีย์ วินิจฉัยอธิกรณ์นั้นแล้ว เชิดชูพระศาสนา.

[พวกพระเถระไปเชิญติสสมหาพรหมให้มาเกิดในมนุษยโลก]

พระเถระเหล่านั้นไปยังพรหมโลก แล้วได้กล่าวคํานี้กะท้าวติสสมหาพรหมว่า ดูก่อนสหายผู้นิรทุกข์ ในปีที่ ๑๘ ถัดจาก ๑๐๐ ปีแต่ปีนี้ไป เสนียดอย่างใหญ่จักเกิดขึ้นในพระศาสนา, และพวกเราได้ตรวจดูมนุษยโลก และเทวโลกชั้นฉกามาวจรทั้งสิ้น ก็มิได้เห็นใครๆ ผู้สามารถ เพื่อจะเชิดชูพระศาสนาได้, ค้นดูตลอดพรหมโลกจึงได้พบท่านผู้เจริญ, ดังพวกข้าพเจ้าขอโอกาส ท่านสัตบุรุษ ขอท่านจงให้ปฏิญญา (แก่พวกข้าพเจ้า) เพื่อเกิดในมนุษยโลก แล้วเชิดชูพระศาสนาของพระทศพลเถิด.

[ติสสมหาพรหมรับปฏิญญามาเกิดในมนุษยโลก]

เมื่อพระเถระทั้งหลาย กล่าวเชิญอย่างนั้นแล้ว ท้าวมหาพรหมจึงดําริว่า ได้ยินว่า เราจักเป็นผู้สามารถเพื่อชําระเสนียดซึ่งจะเกิดขึ้นในพระศาสนาแล้วเชิดชูพระศาสนา ดังนี้ แล้วเป็นผู้หรรษาร่าเริงบันเทิงใจ ได้ให้ปฏิญญารับว่า ดีละ. พระเถระทั้งหลายพิจารณากิจที่ควรทํานั้นในพรหมโลกเสร็จแล้วก็พากันกลับมาอีก.

[พวกพระเถระลงทัณฑกรรมแก่พระสิคควะและพระจัณฑวัชชี]

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเถระทั้ง ๒ รูป คือ พระสิคควเถระ และพระจัณฑวัชชีเถระ ยังเป็นพระนวกะอยู่. พระเถระเหล่านั้น เป็นภิกษุหนุ่มทรงพระไตรปิฎก บรรลุปฏิสัมภิทา สิ้นอาสวะแล้ว เป็นสัทธิวิหาริกของ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 70

พระโสณกะ. พระเถระทั้ง ๒ รูปนั้น ไม่ได้มาร่วมระงับอธิกรณ์นั้น. พระเถระทั้งหลาย จึงกล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส พวกท่านหาได้เป็นผู้ร่วมคิดของพวกเราในอธิกรณ์นี้ไม่, เพราะเหตุนั้น ทัณฑกรรมนี้จงมีแก่พวกท่าน คือ ท้าวมหาพรหมชื่อติสสะ จักถือปฏิสนธิในเรือนของโมคคลีพราหมณ์, บรรดาท่านทั้งสอง รูปหนึ่งจงชักนําท้าวติสสมหาพรหมนั้นมาบวช, รูปหนึ่งจงให้เรียนพระพุทธพจน์ ดังนี้

    พระเถระแม้เหล่านั้นทุกๆ รูป มีพระสัพพกามีเป็นต้น เป็นผู้มีฤทธิ์มาก รุ่งเรืองแล้วในโลก ดํารงอยู่จนตลอดอายุแล้วก็ปรินิพพาน เหมือนกองไฟลุกโชติช่วงดับไปแล้วฉะนั้น พระเถระชื่อแม้เหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว ถึงความเป็นผู้ชํานาญแตกฉานในปฏิสัมภิทา ครั้นทําทุติยสังคายนาชําระพระศาสนาให้หมดจด ทําเหตุเพื่อความเจริญแห่งพระสัทธรรม แม้ในอนาคตแล้ว ก็เข้าถึงอํานาจแห่งความเป็นผู้ไม่เที่ยง ธีรชนทราบความที่สังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นของลามก ก้าวล่วงได้โดยยากอย่างนี้แล้ว ก็ควรพากเพียร เพื่อบรรลุอมตบทที่เป็นบทยั่งยืน ดังนี้แล.

    พรรณนาทุติยสังคีติ เป็นอันจบลงแล้วโดยอาการทั้งปวง ด้วยลําดับคําเพียงเท่านี้.