พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

พุทธคุณกถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41763
อ่าน  1,723

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 185

เวรัญชกัณฑวรรณนา

พุทธคุณกถา หน้า 185

อธิบายพุทธคุณบทว่า อรหํ หน้า 185

ส้งสารวัฏ คือ ปฏิจจสมุปบาท ฯ หน้า 186

ธัมมัฏฐิติญาณ หน้า 188

อรรถาธิบายพุทธคุณบทว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน หน้า 193

อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า สุคโต หน้า 194

อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า โลกวิทู หน้า 196

อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า อนุตฺตโร หน้า 201

อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า ปุริสทมฺมสารถิ หน้า 202

อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า สตฺถา หน้า 203

อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า เทวมนุสฺสานํ หน้า 203

อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า พุทฺโธ หน้า 205

อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า ภควา หน้า 205

พระธรรมงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด หน้า 214

อรรถาธิบายศัพท์ว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ หน้า 216

อรรถาธิบายศัพท์ว่า สมฺโมทนียํ สาราณียํ หน้า 220

อรรถาธิบายศัพท์ว่า เอกมนฺตํ นิสีทิ หน้า 220

การนั่งเว้นโทษ ๖ อย่าง หน้า 221

อรรถาธิบายศัพท์ต่างๆ มี เอตํ เป็นต้น หน้า 222

เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้าว่าเป็นคนไม่มีรส หน้า 226

ปริยายศัพท์ลงในอรรถ ๓ อย่าง หน้า 226

เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไร้โภคะ หน้า 230

เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้กล่าวการขาดสูญ หน้า 231

เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้รังเกียจ หน้า 232

เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้มักเผาผลาญ หน้า 233

เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ปราศจากครรภ์ หน้า 234

ไก่ตัวออกก่อนเรียกว่าไก่ตัวพี่ หน้า 238

โพธิศัพท์หมายความถึง ๔ นัย หน้า 240

ข้อเปรียบเทียบการทรงบำเพ็ญอนุปัสสนา หน้า 241

พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ หน้า 243


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 1]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 185

พุทธคุณกถา

ก็ในคําทั้งหลายมีอาทิว่า อิติปิ โส ภควา เป็นต้น มีโยชนาดังต่อไปนี้ก่อนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุแม้นี้, เป็นสัมมาสัมพุทธะ เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้รู้แจ้งโลกเพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างยอดเยี่ยม เพราะเหตุแม้นี้, เป็นครูสอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้เบิกบานแล้วเพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้จําแนกแจกธรรม เพราะเหตุแม้นี้. มีอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเหตุนี้และเหตุนี้.

(๑) บัดนี้ จักกระทําการพรรณนาโดยนัยพิสดารแห่งบทเหล่านั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในสุตตันตนัย และเพื่อรื่นเริงแห่งจิตด้วยธรรมีกถาอันประกอบด้วยพุทธคุณ ในวาระเริ่มต้นแห่งการสังวรรณนาพระวินัยแห่งพระวินัยธรทั้งหลาย. เพราะเหตุนั้น พึงทราบวินิจฉัย ในคําที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้เป็นต้น.

[อธิบายพุทธคุณ บทว่า อรหํ]

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นพระอรหันต์เพราะเหตุเหล่านี้ก่อน คือ เพราะเป็นผู้ไกล และทรงทําลายข้าศึกทั้งหลาย และทรงหักกําจักรทั้งหลาย เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น เพราะไม่มีความลับในการทําบาป.


(๑) องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๙๐.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 186

ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกล คือทรงดํารงอยู่ในพระคุณอันไกลแสนไกลจากสรรพกิเลส เพราะทรงกําจัดเสียซึ่งกิเลสทั้งหลายพร้อมทั้งวาสนาด้วยมรรค เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ไกล. อนึ่ง ข้าศึกคือกิเลสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงทําลายเสียแล้วด้วยมรรค เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะทรงทําลายข้าศึกทั้งหลายเสีย. อนึ่ง ซี่กําทั้งหมดแห่งสังสารจักร มีดุมอันสําเร็จด้วยอวิชชาและภวตัณหา มีคํากล่าวคืออภิสังขารมีบุญเป็นต้น มีกงคือชรามรณะอันร้อยไว้ด้วยเพลาที่สําเร็จด้วยอาสวสมุทัย คุมเข้าไว้ในรถกล่าวคือภพสามอันเป็นไปแล้ว ตลอดกาลหาเบื้องต้นมิได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงยืนหยัดอยู่แล้วบนปฐพีคือศีล ด้วยพระยุคลบาทคือพระวิริยะ ทรงถือผรสุคือญาณ อันกระทําซึ่งความสิ้นไปแห่งกรรม ด้วยพระหัตถ์คือศรัทธา ทรงหักเสียได้แล้วในพระโพธิมัณฑ์ เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะทรงหักกําจักรเสีย (๑)

[สังสารวัฏฏ์ คือปฏิจจสมุปบาทเป็นปัจจัยกัน]

(๑) อีกอย่างหนึ่ง สังสารวัฏฏ์มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกว่า สังสารจักร. ก็อวิชชาเป็นดุมของสังสารจักรนั้นเพราะเป็นมูลเหตุ, มีชรามรณะเป็นกง เพราะเป็นที่สุด, ธรรม ๑๐ อย่างที่เหลือเป็นกํา เพราะมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ และเพราะมีชรามรณะเป็นที่สุด. บรรดาธรรมมีอวิชชาเป็นต้นนั้น ความไม่รู้ในอริยสัจจ์มีทุกข์เป็นต้น ชื่อว่าอวิชชา. ก็อวิชชาในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายในกามภพ. อวิชชาในรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายในรูปภพ. อวิชชาในอรูปภพ


(๑) พระธรรมบัณฑิต (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙) วัดสัมพันธวงศ์ แปล.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 187

เป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายในอรูปภพ. สังขารในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิวิญญาณในกามภพ. ในรูปภพและอรูปภพ ก็นัยนี้. ปฏิสนธิวิญญาณในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่นามรูปในกามภพ. ในรูปภพ ก็อย่างนั้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่นามอย่างเดียวในอรูปภพ. นามรูปในกามภพเป็นปัจจัยแก่อายตนะ ๖ ในกามภพ. นามรูปในรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่อายตนะทั้ง ๓ ในรูปภพ. นามในอรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่อายตนะอย่างเดียวในอรูปภพ. อายตนะ ๖ ในกามภพเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ ๖ อย่างในกามภพ. ๓ อายตนะในรูปภพ เป็นปัจจัยแก่ ๓ ผัสสะในรูปภพ. ๑ อายตนะในอรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ ๑ ผัสสะในอรูปภพ. ผัสสะ ๖ ในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่เวทนา ๖ ในกามภพ. ๓ ผัสสะในรูปภพ เป็นปัจจัยแก่ ๓ ผัสสะในรูปภพนั้นนั่นเอง. ผัสสะ ๑ ในอรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่เวทนา ๑ ในอรูปภพนั้นนั่นเอง. เวทนา ๖ ในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ตัณหากาย ๖ ในกามภพ. เวทนา ๓ ในรูปภพ เป็นปัจจัยแก่ตัณหากาย ๓ ในรูปภพนั้นนั่นเอง. เวทนา ๑ ในอรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ตัณหากาย ๑ ในอรูปภพ. ตัณหานั้นๆ ในกามภพเป็นต้นนั้นๆ ย่อมเป็นปัจจัยแก่อุปาทานนั้นๆ. อุปาทานเป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่ภพเป็นต้น.

คืออย่างไร. คือว่า คนบางคนในโลกนี้คิดว่า จักบริโภคกาม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะกามุปาทานเป็นปัจจัย เพราะความเต็มรอบแห่งทุจริต เขาย่อมเกิดในอบาย.กรรมเป็นเหตุเกิดในอบายนั้นของบุคคลนั้น เป็นกรรมภพ, ความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลาย เป็นชาติ, ความแก่หง่อมเป็นชรา, ความแตกทําลาย เป็นมรณะ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 188

อีกคนหนึ่งคิดว่า จักเสวยสมบัติในสวรรค์ ประพฤติสุจริตอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะความบริบูรณ์แห่งสุจริต เขาย่อมเกิดในสวรรค์. คําว่ากรรมเป็นเหตุเกิดในสวรรค์นั้นของเขา เป็นกรรมภพเป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกันนั้น. ส่วนอีกคนหนึ่งคิดว่า จักเสวยสมบัติในพรหมโลก ย่อมเจริญเมตตา เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะกามุปาทานเป็นปัจจัย เขาย่อมเกิดในพรหมโลก เพราะความบริบูรณ์แห่งภาวนา. คําว่า กรรมเป็นเหตุเกิดในพรหมโลกนั้นของเขา เป็นกรรมภพเป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกันนั้น. อีกคนหนึ่งคิดว่า จักเสวยสมบัติในอรูปภพ จึงเจริญสมาบัติทั้งหลายมีอากาสานัญจายตนะเป็นต้นอย่างนั้นนั่นแล เพราะความบริบูรณ์แห่งภาวนา เขาย่อมเกิดในอรูปภพนั้นๆ. กรรมเป็นเหตุเกิดในอรูปภพนั้นของเขา เป็นกรรมภพ. ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแต่กรรม เป็นอุปปัตติภพ, ความเกิดแห่งขันธ์ทั้งหลาย เป็นชาติ, ความแก่หง่อม เป็นชรา, ความแตกทําลาย เป็นมรณะแล. ในโยชนาทั้งหลายแม้มีอุปาทานที่เหลือเป็นมูล ก็นัยนี้.

[ธรรมฐิติญาณ]

ปัญญาในการกําหนดปัจจัย โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า อวิชชานี้เป็นตัวเหตุ สังขารทั้งหลายเกิดมาจากเหตุ อวิชชาและสังขารแม้ทั้งสองนี้ก็เป็นเหตุสมุปปันนธรรม (ธรรมที่เป็นเหตุและเกิดจากเหตุ) ชื่อธรรมฐิติญาณ. ปัญญาในการกําหนดปัจจัย โดยนัยที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า อวิชชาทั้งที่เป็นอตีตัทธา (อดีตกาล) ทั้งที่เป็นอนาคตัทธา (อนาคตกาล) เป็นตัวเหตุ สังขารทั้งหลายเกิดมาจากเหตุ อวิชชาและสังขารแม้ทั้งสองนี้ ก็เป็นเหตุสมุปปันนธรรม (ธรรมที่เป็นเหตุและเกิดจากเหตุ) ชื่อธรรมฐิติญาณแล. ทุกๆ บท ผู้ศึกษาพึงให้พิสดารโดยนัยนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 189

[สังเขปและอัทธาในปฏิจจสมุปบาท]

บรรดาองค์แห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น อวิชชาและสังขารเป็นสังเขปหนึ่ง. วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา เป็นสังเขปหนึ่ง. ตัณหา อุปาทานและภพ เป็นสังเขปหนึ่ง. ชาติและชรามรณะเป็นสังเขปหนึ่ง. ก็ในสังเขป ๔ นั้น สังเขปต้นเป็นอตีตัทธา. สองสังเขปกลางเป็นปัจจุปปันนัทธา ชาติและชรามรณะเป็นอนาคตัทธา.

[วัฏฏะและสนธิ ๓ ในปฏิจจสมุปบาท]

อนึ่ง ในสังเขปต้นนั้น ตัณหา อุปาทานและภพ ย่อมเป็นอันท่านถือเอาแล้ว ด้วยศัพท์ คือ อวิชชาและสังขารนั่นแล เพราะฉะนั้น ธรรม ๕ เหล่านี้จัดเป็นกรรมวัฏฏ์ในอดีต. ธรรม ๕ อย่าง มีวิญญาณ เป็นต้น จัดเป็นวิปากวัฏฏ์ในปัจจุบัน. อวิชชาและสังขาร เป็นอันท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์ คือ ตัณหา อุปาทานและภพนั่นเอง เพราะฉะนั้น ธรรม ๕ เหล่านี้จัดเป็นกรรมวัฏฏ์ในกาลบัดนี้. ธรรม ๕ เหล่านี้ จัดเป็นวิปากวัฏฏ์ต่อไป (ในอนาคต) เพราะองค์ปฏิจจสมุปบาท มีวิญญาณ เป็นต้น ท่านแสดงไขโดยอ้างถึงชาติ ชรา มรณะ. ปฏิจจสมุปบาท มีอวิชชาเป็นต้นนั้น ว่าโดยอาการมี ๒๐ อย่าง.

อนึ่ง ในองค์ปฏิจจสมุปบาทมีสังขารเป็นต้นนี้ ระหว่างสังขารกับวิญญาณ เป็นสนธิหนึ่ง. ระหว่างเวทนากับตัณหา เป็นสนธิหนึ่ง. ระหว่างภพกับชาติ เป็นสนธิหนึ่ง ฉะนี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น ทรงทราบ ทรงแทงตลอดปฏิจจสมุปบาทนี้ ซึ่งมีสังเขป ๔ อัทธา ๓ อาการ ๒๐ สนธิ ๓ โดยอาการทุกอย่าง ด้วยประการฉะนี้. ความรู้นั้น ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ (โดยสภาพตามเป็นจริง) ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 190

เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกําหนดปัจจัย ชื่อธรรมฐิติญาณ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ธรรมเหล่านั้นตามเป็นจริง ด้วยธรรมฐิติญาณนี้แล้ว ทรงเบื่อหน่ายคลายความพอใจจะพ้นไปในธรรมมีอวิชชาเป็นต้นนั้น จึงได้หัก ทําลาย กําจัดเสีย ซึ่งซี่กําทั้งหลายแห่งสังสารจักรมีประการดังกล่าวแล้วนี้. พระองค์ทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะทรงหักกําจักรเสีย แม้ด้วยประการอย่างนี้ (๑)

(๑) อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมควรซึ่งจีวราทิปัจจัย และบูชาวิเศษทั้งหลาย เพราะพระองค์เป็นผู้ควรซึ่งทักษิณาอันเลิศ. เพราะฉะนั้น ในเมื่อพระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว เทพและมนุษย์ผู้มเหสักข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งจึงไม่ทําการบูชาในที่อื่น. จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทรงบูชาพระตถาคต ด้วยพวงแก้วเท่าเขาสิเนรุ. อนึ่ง เทพและมนุษย์เหล่าอื่น มีพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าโกศลเป็นต้น ก็ทรงบูชาแล้วตามกําลัง. อนึ่ง พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสละพระราชทรัพย์ถึง ๙๖ โกฏิ ทรงสร้างพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลังในสกลชมพูทวีป ทรงพระราชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว. ก็จะกล่าวอะไรถึงบูชาวิเศษเหล่าอื่น. เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะเป็นผู้ควรซึ่งปัจจัยเป็นต้น. อนึ่ง เหล่าคนพาลผู้ถือตัวว่าเป็นบัณฑิตพวกไรๆ ในโลก ย่อมทําบาปในที่ลับ เพราะกลัวแต่ความติเตียนฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมทรงกระทําดังนั้น ในบางครั้งก็หาไม่ เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะไม่มีความลับในการกระทําบาป. ก็ในพระนามนี้ มีคาถาประพันธ์มีเนื้อความดังนี้ว่า


(๑) องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๙๕.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 191

พระมุนีนั้น เพราะความที่พระองค์เป็นผู้ไกล และทรงทําลายข้าศึกคือกิเลสทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้หักกําแห่งสังสารจักร เป็นผู้ควรซึ่งปัจจัยเป็นต้น ย่อมไม่ทรงทําบาปในที่ลับ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงถวายพระนามว่า อรหํ.

[อธิบายพุทธคุณบทว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ]

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เพราะทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบ และด้วยพระองค์เอง. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงตรัสรู้ชอบเองซึ่งธรรมทั้งปวง คือ ทรงตรัสรู้ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง โดยความเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ทรงตรัสรู้ธรรมที่ควรกําหนดรู้ โดยความเป็นธรรมที่ควรกําหนดรู้ ทรงตรัสรู้ธรรมที่ควรละ โดยความเป็นธรรมที่ควรละ ทรงตรัสรู้ธรรมที่ควรทําให้แจ้งโดยความเป็นธรรมที่ควรทําให้แจ้ง ทรงตรัสรู้ธรรมที่ควรทําให้เจริญ โดยความเป็นธรรมที่ควรทําให้เจริญ. ด้วยเหตุนั้นแหละ พระองค์จึงตรัสว่า

สิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เราได้รู้ยิ่งแล้ว สิ่งที่ควรให้เจริญ เราก็ให้เจริญแล้ว และสิ่งที่ควรละ เราก็ละได้แล้ว เพราะเหตุนั้น พราหมณ์ เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า. (๑)

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงตรัสรู้ซึ่งธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง แม้ด้วยการยกขึ้นทีละบทอย่างนี้ว่า จักษุเป็นทุกขสัจจ์ ตัณหาในภพก่อน อันยังจักษุนั้นให้เกิด โดยความเป็นมูลเหตุแห่งจักษุนั้น


(๑) ขุ. สุ. ๒๕/๔๔๔.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 192

เป็นสมุทยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งจักษุและเหตุเกิดแห่งจักษุทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ ข้อปฏิบัติเป็นเหตุให้รู้นิโรธ เป็นมรรคสัจ. ใน โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย และมนะ ก็มีนัยเช่นนี้.

บัณฑิตพึงประกอบอายตนะ ๖ มีรูปเป็นต้น วิญญาณกาย ๖ มีจักษุวิญญาณเป็นต้น ผัสสะ ๖ มีจักษุสัมผัสเป็นต้น เวทนา ๖ มีจักษุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น สัญญา ๖ มีรูปสัญญาเป็นต้น เจตนา ๖ มีรูปสัญเจตนาเป็นต้น ตัณหากาย ๖ มีรูปตัณหาเป็นต้น วิตก ๖ มีรูปวิตกเป็นต้น วิจาร ๖ มีรูปวิจารเป็นต้น ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ สัญญา๑๐ ด้วยอํานาจอุทธุมาตกสัญญาเป็นต้น อาการ ๓๒ มีผมเป็นต้น อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ภพ ๙ มีกามภพเป็นต้น ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น อัปปมัญญา ๔ มีเมตตาภาวนาเป็นต้น อรูปสมาบัติ ๔ มีอากาสานัญจายตนะเป็นต้น และองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท โดยปฏิโลมมีชรามรณะเป็นต้น โดยอนุโลมมีอวิชชาเป็นต้น โดยนัยนี้นั่นแล. ในชรามรณะเป็นต้นนั้น มีการประกอบบทเดียวดังต่อไปนี้ : -

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงตรัสรู้ คือ ทรงตรัสรู้ตามสมควร ได้แก่ แทงตลอดซึ่งธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง ด้วยการยกขึ้นทีละบทอย่างนี้ว่า ชรามรณะ เป็นทุกขสัจ ชาติ เป็นสมุทยสัจ การสลัดออกเสีย ซึ่งชรามรณะและเหตุเกิดแห่งชรามรณะนั้น แม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ ข้อปฏิบัติเป็นเหตุให้รู้นิโรธ เป็นมรรคสัจ. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวว่า อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เพราะทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 193

[อรรถาธิบายพุทธคุณบทว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน]

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ชื่อว่าผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ก็เพราะทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ. ในวิชชาและจรณะนั้น วิชชา ๓ ก็ดี วิชชา ๘ ก็ดี ชื่อว่าวิชชา. วิชชา ๓ พึงทราบตามนัยที่ตรัสไว้ในภยเภรวสูตรนั่นแล. วิชชา ๘ ในอัมพัฏฐสูตร. ก็ในวิชชา ๓ และวิชชา ๘ นั้น วิชชา ๘ พระองค์ตรัสประมวลอภิญญา ๖ กับวิปัสสนาญาณและมโนมยิทธิเข้าด้วยกัน. ธรรม ๑๕ นี้ คือ สีลสังวร ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ชาคริยานุโยค สัทธรรม ๗ ณาน ๔ พึงทราบว่า ชื่อว่าจรณะ. จริงอยู่ ธรรม ๑๕ นี้แหละ พระองค์ตรัสเรียกว่าจรณะ เพราะเหตุที่เป็นเครื่องดําเนิน คือ เป็นเครื่องไปสู่ทิศ คืออมตธรรมของพระอริยสาวก. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนมหานาม พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศีล ดังนี้เป็นต้น (๑) ผู้ศึกษาพึงทราบความพิสดาร. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยวิชชาเหล่านี้และด้วยจรณะนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ในความถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะนั้น ความถึงพร้อมด้วยวิชชา ยังความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระสัพพัญญูให้เต็มอยู่. ความถึงพร้อมด้วยจรณะ ยังความที่พระองค์เป็นผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาให้เต็มอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงรู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ด้วยความเป็นสัพพัญญู แล้วทรงเว้นสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เสีย ด้วยความเป็นผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงชักนําในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะฉะนั้นแล. เพราะเหตุนั้น เหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น


(๑) ม. ม. ๑๓/๒๖.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 194

จึงเป็นผู้ปฏิบัติดี หาเป็นผู้ปฏิบัติชั่วไม่. พวกสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหาเป็นผู้ปฏิบัติชั่วเหมือนอย่างเหล่าสาวกของพวกบุคคลผู้มีวิชชาและจรณะวิบัติทําตนให้เดือดร้อนเป็นต้นฉะนั้นไม่.

[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า สุคโต] (๑)

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สุคโต เพราะภาวะที่ทรงดําเนินไปงาม เพราะภาวะที่เสด็จไปยังสถานที่ดี เพราะภาวะที่เสด็จไปโดยชอบ และเพราะภาวะที่ตรัสไว้โดยชอบ. ก็ แม้ คมนํ จะกล่าวว่า คตํ ก็ได้. และการทรงดําเนินนั้น ของพระผู้มีพระภาคเจ้างดงาม บริสุทธิ์หาโทษมิได้. ก็การทรงดําเนินนั้นได้แก่อะไร? ได้แก่ทางอันประเสริฐ. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เสด็จไปได้ยังทิศอันเกษม ไม่ข้องขัดด้วยการเสด็จไปนั้น เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะภาวะที่ทรงดําเนินไปงาม. อนึ่ง พระองค์เสด็จไปยังสถานที่ดี คือ อมตนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า สุคโต แม้เพราะเสด็จไปยังสถานที่ดี. อนึ่ง พระองค์เสด็จไปโดยชอบ เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะไม่กลับมาหาเหล่ากิเลสที่มรรคนั้นๆ ละได้แล้ว. สมจริงดังคําที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระองค์ทรงพระนามว่า สุคโต เพราะอรรถว่าไม่กลับมา ไม่คืนมา ไม่หวนกลับมาหาเหล่ากิเลสที่โสดาปัตติมรรคละได้แล้ว ฯลฯ พระองค์ทรงพระนามว่า สุคโต เพราะอรรถว่าไม่กลับมา ไม่คืนมา ไม่หวนกลับมาหาเหล่ากิเลสที่อรหัตตมรรคละได้แล้ว. อีกประการหนึ่ง พระองค์เสด็จไปโดยชอบ คือเสด็จไปทรงกระทําประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่โลกทั้งหมดอย่างเดียว ด้วย


(๑) องค์การศึกษาแผนกบาลีแปลออกสอบในสนามหลวง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 195

การปฏิบัติชอบที่ทรงบําเพ็ญมาด้วยอํานาจพระบารมี ๓๐ ทัศ กําหนดจําเดิมตั้งแต่แทบพระบาทของพระพุทธทีปังกรจนถึงควงไม้โพธิ์ และไม่เสด็จเข้าไปใกล้ส่วนสุดเหล่านี้คือ เรื่องเที่ยง เรื่องขาดสูญ ความสุขในกาม ความทําตนให้ลําบาก เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า สุคโต แม้เพราะเสด็จไปโดยชอบ. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบ คือตรัสพระวาจาที่ควร ในฐานะที่ควรเท่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า สุคโต แม้เพราะตรัสโดยชอบ.

ในข้อนั้นมีพระสูตรเป็นเครื่องสาธกดังต่อไปนี้ว่า พระตถาคตทรงรู้วาจาใด ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนพวกอื่น พระตถาคตย่อมไม่ตรัสพระวาจานั้น, พระตถาคตทรงรู้วาจาใด จริง แท้ แต่ไม่เป็นประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนพวกอื่น วาจาแม้นั้น พระตถาคตก็ไม่ตรัส. ก็แลพระตถาคตทรงรู้วาจาใด จริง แท้ เป็นประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนพวกอื่น ในวาจานั้น พระตถาคตก็ทรงเป็นกาลัญญู (ผู้รู้กาล) เพื่อพยากรณ์วาจานั้น. พระตถาคตทรงรู้วาจาแม้ใด ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเหล่าอื่น พระตถาคตไม่ตรัสวาจานั้น, พระตถาคตทรงรู้วาจาแม้ใด จริง แท้ แต่ไม่เป็นประโยชน์และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเหล่าอื่น วาจาแม้นั้น พระตถาคตก็ไม่ตรัส, ก็แลพระตถาคตทรงรู้วาจาใด จริง แท้ เป็นประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเหล่าอื่น ในวาจานั้น พระตถาคตก็เป็นกาลัญญู (ผู้รู้กาล) เพื่อพยากรณ์วาจานั้น (๑) พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า สุคโต แม้เพราะตรัสพระวาจาชอบด้วยประการฉะนี้.


(๑) ม. ม. ๑๓/๙๑.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 196

[อรรถาธิบายพุทธคุณบทว่า โลกวิทู]

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า โลกวิทู เพราะพระองค์ทรงรู้แจ้งโลก โดยประการทุกอย่าง. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงรู้ คือ ทรงรู้ทั่วถึง ทรงแทงตลอดโลก โดยประการทั้งปวง โดยสภาพบ้าง โดยสมุทัยบ้าง โดยนิโรธบ้าง โดยอุบายเป็นเหตุถึงนิโรธบ้าง. เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนอาวุโส ในที่สุดแห่งโลกใดแล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติ เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกนั้นว่า อันบุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงถึง ด้วยการไป (ด้วยกาย) ดูก่อนอาวุโส และเราไม่กล่าวว่า การยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกเลยจะทําที่สุดแห่งทุกข์ได้, ดูก่อนอาวุโส อีกอย่างหนึ่ง เราย่อมบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ที่กเลวระประมาณวาหนึ่งนี้แล ซึ่งมีสัญญา มีใจ,

ที่สุดแห่งโลก บุคคลไม่พึงถึงได้ด้วยการไป (ด้วยกาย) ในกาลไหนๆ และจะไม่มีการพ้นจากทุกข์ได้ เพราะยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก เพราะเหตุนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลกมีปัญญาดีถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นผู้สงบ รู้ที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่ปรารถนาโลกนี้และโลกอื่น (๑)

[อรรถาธิบายโลก ๓]

อีกอย่างหนึ่ง โลกมี ๓ คือ สังขารโลก (โลกคือสังขาร) สัตวโลก (โลกคือหมู่สัตว์) โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน).


(๑) องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๖๒

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 197

บรรดาโลกทั้ง ๓ นั้น โลกในอาคตสถานว่า โลก ๑ คือ สรรพสัตว์ดํารงอยู่ได้เพราะอาหาร (๑) ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นสังขารโลก. โลกในอาคตสถานว่า โลกเที่ยง หรือว่า โลกไม่เที่ยง (๒) ดังนี้เป็นต้น พึงทราบว่า เป็นสัตวโลก. โลกในอาคตสถานว่า

พระจันทร์และอาทิตย์รุ่งโรจน์ย่อมเวียนส่องทิศทั้งหลายให้สว่างไสว ตลอดที่มีประมาณเพียงใด, โลกมีประการตั้งพันก็ย่อมสว่างไสว ตลอดที่มีประมาณเพียงนั้น, อํานาจของท่านย่อมเป็นไปในโลกตั้งพันจักรวาลนี้ (๓) ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นโอกาสโลก.

[พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓]

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงรู้แจ้งโลกแม้ทั้ง ๓ นั้น โดยประการทั้งปวง. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงรู้แจ้งแม้สังขารโลกนี้ โดยประการทั้งปวง คือ:-

โลก ๑ คือ สรรพสัตว์ ดํารงอยู่ได้เพราะอาหาร, โลก ๒ คือ นาม ๑ รูป ๑, โลก ๓ คือ เวทนา ๓, โลก ๔ คือ อาหาร ๔, โลก ๕ คือ อุปาทานขันธ์ ๕, โลก ๖ คือ อายตนะภายใน ๖, โลก ๗ คือ วิญญาณฐิติ ๗, โลก ๘ คือ โลกธรรม ๘, โลก ๙ คือ สัตตาวาส ๙, โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐, โลก ๑๒ คือ อายตนะ ๑๒, โลก ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘. (๔)


(๑) ขุ. ปฏิ. ๓๑/๑๗๙.

(๒) ม.ม. ๑๓/๑๔๓.

(๓) ม.มู. ๑๒/๕๙๔.

(๔) ขุ. ปฏิ. ๓๑/๑๗๙.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 198

อนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงทราบอาสยะ (คือฉันทะเป็นที่มานอน) อนุสัย (คือกิเลสที่ตามนอนอยู่ในสันดาน) จริต (คือความประพฤติ) อธิมุตติ (คืออัธยาศัย) ของเหล่าสัตว์แม้ทั้งปวง, (และ) ย่อมทรงทราบสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุน้อย ผู้มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุมาก ผู้มีอินทรีย์กล้า ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี ผู้มีอาการชั่ว ผู้จะพึงให้รู้ได้ง่าย ผู้จะพึงให้รู้ได้ยาก ผู้ควร (จะตรัสรู้) ผู้ไม่ควร (จะตรัสรู้) เพราะฉะนั้น แม้สัตวโลกอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งแล้วโดยประการทั้งปวง. เหมือนอย่างว่า พระองค์ทรงรู้แจ้งสัตวโลก ฉันใด, แม้โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) ก็ทรงรู้แจ้งแล้ว ฉันนั้น. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้ทรงรู้แจ้ง คือได้ทรงทราบ ได้แก่ทรงแทงตลอดแล้วซึ่งโลกธาตุอันไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยพระพุทธญาณอันไม่มีที่สุดตลอดอนันตจักรวาล อย่างนี้ คือ จักรวาลหนึ่ง ว่าโดยส่วนยาวและส่วนกว้างมีประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์, ท่านกล่าวประมาณไว้โดยรอบ,

จักรวาลมีปริมณฑลทั้งหมด ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์, แผ่นดินนี้ในจักรวาลนั้น บัณฑิตกล่าวไว้โดยความหนามีประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์.

น้ำสําหรับรองแผ่นดิน ซึ่งมีประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์นั้นนั่นแลไว้ โดยความหนาก็มีประมาณเท่านั้น ตั้งอยู่บนลม,

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 199

ลมสําหรับธารน้ำแม้นั้นไว้ พุ่งขึ้นจดท้องฟ้าสูง ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์, ความตั้งอยู่แห่งโลกเป็นดังนี้.

ก็ในจักรวาลนี้ ที่ตั้งอยู่แล้วอย่างนี้ มีภูเขาสิเนรุเยี่ยมกว่าบรรดาภูเขาทั้งหลายหยั่งลงในห้วงมหรรณพ ถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์, สูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน.

มหาบรรพตใหญ่ทั้ง ๗ เหล่านี้ คือเขายุคันธร ๑ เขาอิสินธร ๑ เขากรวิกะ ๑ เขาสุทัสสนะ ๑ เขาเนมินธร ๑ เขาวินัตตกะ ๑ เขาอัสสกัณณะ ๑ เป็นของทิพย์ วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ หยั่งลง (ในห้วงมหรรณพ) และสูงขึ้นไป (เบื้องบน) ตามลําดับโดยประมาณกึ่งหนึ่งๆ จากประมาณแห่งสิเนรุที่กล่าวแล้วทั้งเบื้องล่างและเบื้องบนนั้น เป็นสถานที่อยู่ของท้าวมหาราช (ทั้ง ๔) มีเทวดาและยักษ์อาศัยอยู่ ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบภูเขาสิเนรุ ด้วยอํานาจเป็นเครื่องล้อม.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 200

หิมวันตบรรพต สูง ๕๐๐ โยชน์ โดยส่วนยาว และกว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด.

ชมพูทวีปท่านประกาศแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งต้นชมพูใด ต้นชมพูที่ชื่อว่า นคะ นั้นวัดโดยรอบลําต้นประมาณ ๑๕ โยชน์ (๑) ความยาวของลําต้น และกิ่งประมาณ ๕๐ โยชน์ ความกว้างโดยรอบประมาณ ๑๐๐ โยชน์ และสูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้นนั่นแล.

จักรวาลบรรพต หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ๒๘,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน จักรวาลบรรพตนี้ตั้งล้อมรอบโลกธาตุทั้งหมดนั้นอยู่.

[ขนาดพระจันทร์เป็นต้นประมาณ ๔๙ โยชน์]

ในโลกธาตุนั้น ดวงจันทร์ (วัดโดยตรงโดยส่วนยาว ส่วนกว้าง และส่วนสูง) ๔๙ โยชน์ ดวงอาทิตย์ประมาณ ๕๐ โยชน์ ภพดาวดึงส์ประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ภพอสูร อวีจิมหานรก และชมพูทวีปก็มีประมาณเท่านั้น อมรโคยานทวีปประมาณ ๗,๐๐๐ โยชน์ ปุพพวิเทหทวีปก็มีประมาณเท่านั้น อุตตรกุรุทวีป ประมาณ ๘,๐๐๐ โยชน์ ก็แล ทวีปใหญ่ๆ ในโลกธาตุนี้ แต่ละ


(๑) ฎีกาสารรัตถทีปนี แก้เป็น ปณฺณรสโยชนปฺปมาณกฺขนฺธปริกฺเขปา ๑/๔๐๑.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 201

ทวีปๆ มีทวีปเล็กๆ เป็นบริวาร ทวีปละห้าร้อยๆ จักรวาลหนึ่งแม้ทั้งหมดนั้น ชื่อว่าโลกธาตุหนึ่ง ในระหว่างแห่งจักรวาลนั้น เป็นโลกันตริกนรก. แม้โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยประการอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่า โลกวิทู เพราะความที่พระองค์ทรงรู้แจ้งโลก โดยประการทั้งปวงแม้ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้.

[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า อนุตฺตโร]

บทว่า อนุตฺตโร ความว่า บุคคลผู้ยิ่งกว่า ชื่อว่าย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เพราะไม่มีใครๆ ที่จะดีวิเศษกว่าพระองค์โดยคุณของตน เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อนุตฺตโร (ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า). จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ย่อมครอบงําโลกทั้งหมด ด้วยพระคุณคือศีลบ้าง ด้วยพระคุณคือสมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะบ้าง. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นไม่มีผู้เสมอ หาผู้เสมอเหมือนมิได้ หาผู้เปรียบมิได้ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ หาบุคคลผู้ทัดเทียมมิได้ ด้วยพระคุณคือศีลบ้าง ด้วยพระคุณคือสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะบ้าง. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เรายังไม่เล็งเห็นสมณะ หรือพราหมณ์คนอื่นเลย ผู้จะสมบูรณ์ด้วยศีลยิ่งกว่าเรา ในโลกกับทั้งเทวดา มาร พรหม และในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์และเทวดา มนุษย์. (๑) ควรทราบความพิสดาร (แห่งพระสูตรนั้น). พระสูตรทั้งหลายมีอัคคัปปสาทสูตรเป็นต้น และคาถามีอาทิว่า อาจารย์ของเราไม่มี (๒) ดังนี้ ก็ควรให้พิสดารตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั้น


(๑) สํ. ส. ๑๕/๒๐๔.

(๒) ม.มู. ๑๒/๓๒๙.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 202

[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า ปุริสทมฺมสารถิ]

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ยังบุรุษผู้พอจะฝึกได้ให้แล่นไป. มีอธิบายไว้ว่าย่อมฝึก คือแนะนํา. สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ก็ดี มนุษย์ผู้ชายก็ดี อมนุษย์ผู้ชายก็ดี ผู้ที่ยังมิได้ฝึก ควรเพื่อจะฝึกได้ ชื่อว่า ปุริสทัมมา ในคําว่า ปุริสทมฺมสารถิ นั้น. จริงอย่างนั้น แม้สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ มีอาทิอย่างนี้ คือ อปลาลนาคราช จุโฬทรนาคราช มโหทรนาคราช อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช อาลวาฬนาคราช (และ) ช้างชื่อธนบาลก์ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว คือทรงทําให้สิ้นพยศแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลทั้งหลาย. แม้มนุษย์ผู้ชายมีสัจจกนิครณฐบุตร อัมพัฏฐมาณพ โปกขรสาติพราหมณ์ โสณทัณฑพราหมณ์ และกูฏทันตพราหมณ์เป็นต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว. แม้อมนุษย์ผู้ชาย มีอาฬวกยักษ์ สูจิโลมยักษ์ ขรโลมยักษ์ และท้าวสักกเทวราชเป็นต้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว คือทรงแนะนําแล้ว ด้วยอุบายเครื่องแนะนําอย่างวิจิตร. ก็แลในอรรถนี้ควรยังพระสูตรนี้ให้พิสดารดังนี้ ดูกรนายเกสี เราย่อมฝึกบุรุษผู้พอจะฝึกได้ ด้วยอุบายละเอียดบ้าง หยาบบ้าง ทั้งละเอียดทั้งหยาบบ้าง (๑)

อีกอย่างหนึ่ง สองบทว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ นี้รวมเป็นอรรถบทเดียวกันก็ได้. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังบุรุษ ผู้ควรจะฝึกได้ให้แล่นไป เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับนั่งอยู่โดยบัลลังก์เดียวเท่านั้น ทรงแล่นไปได้ไม่ติดขัดตลอดทิศทั้ง ๘ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตจึงเรียกว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ (เป็นสารถีผู้ฝึก


(๑) องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๕๑.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 203

บุรุษที่พอจะฝึกได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า). ก็แลในอรรถนี้ ควรยังพระสูตรนี้ให้พิสดารดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวควรฝึกได้ อันนายควาญช้างไสไปแล้ว ย่อมวิ่งไปสู่ทิศเดียวเท่านั้น (๑)

[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า สตฺถา]

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พระนามว่า สัตถา (เป็นพระศาสดา) เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ทรงสั่งสอน (สรรพสัตว์) ด้วยประโยชน์ปัจจุบัน ด้วยประโยชน์ภายหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งตามสมควร. อีกอย่างหนึ่ง ก็ในบทว่า สตฺถา นี้ พึงทราบใจความนิเทศนัยมีอาทิดังนี้ว่า คําว่า สตฺถา ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นดุจนายพวก. เหมือนอย่างว่า นายพวกย่อมพาพวกให้เวียนข้ามทางกันดาร คือให้เวียนข้ามทางกันดารเพราะโจร กันดารเพราะสัตว์ร้าย กันดารเพราะข้าวแพง กันดารเพราะไม่มีน้ำ คือย่อมให้ข้ามพ้น ให้ข้ามไป ให้ข้ามถึง ได้แก่ ให้บรรลุถึงถิ่นที่เกษม ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงเป็นพระศาสดา คือทรงเป็นดุจนายพวก ทําเหล่าสัตว์ให้เวียนข้ามทางกันดาร ได้แก่ ให้เวียนข้ามทางกันดารคือชาติ (๒) เป็นต้น.

[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า เทวมนุสฺสานํ]

บทว่า เทวมนุสฺสานํ แปลว่า ของเทวดาทั้งหลายด้วย ของมนุษย์ทั้งหลายด้วย. คําว่า เทวมนุสฺสานํ นั่น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ด้วยอํานาจกําหนดสัตว์ชั้นสูง และด้วยอํานาจการกําหนดภัพพบุคคล (บุคคลผู้ควรตรัสรู้มรรคผล).

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าทรงเป็นพระศาสดา แม้ของพวกสัตว์ดิรัจฉาน เพราะทรงประทานอนุสาสนีให้เหมือนกัน. จริงอยู่ สัตว์ดิรัจฉาน


(๑) ม. อุ. ๑๔/๔๐๙.

(๒) ขุ. จู. ๓๐/๓๑๓

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 204

แม้เหล่านั้น บรรลุอุปนิสัยสมบัติ ก็เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งมรรค และผล ในภพที่ ๒ หรือที่ ๓ เพราะอุปนิสัยสมบัตินั้นนั่นแล. ก็ในความเป็นพระศาสดาของพวกสัตว์ดิรัจฉานนี้ มีมัณฑูกเทวบุตรเป็นต้น เป็นอุทาหรณ์.

[เรื่องกบฟังธรรมของพระพุทธเจ้าได้เป็นเทพบุตร]

ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมแก่ชนชาวนครจําปาอยู่ที่ริมฝังสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ยังมีกบตัวหนึ่งได้ถือเอานิมิตในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้า (ซึ่งกําลังทรงแสดงธรรมอยู่). (ขณะนั้น) มีคนเลี้ยงโคคนหนึ่ง เมื่อจะยืน ยันไม้เท้าได้ (ยืน) กดลงที่ศีรษะกบนั้น. กบตัวนั้นก็ตายในทันใดนั้นนั่นเอง แล้วเกิดในวิมานทองประมาณ ๑๒ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ เหมือนนอนหลับแล้วตื่นขึ้นฉะนั้น.

ในภพดาวดึงส์นั้น มัณฑูกเทพบุตรเห็นตนเองอันหมู่นางฟ้าแวดล้อมแล้ว ใคร่ครวญอยู่ว่า เว้ย ชื่อแม้เรา มาเกิดในที่นี้ ได้กระทํากรรมอะไรหนอแล? ก็มิได้เห็นกรรมอะไรๆ อย่างอื่น นอกจาการถือเอานิมิตในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้า (เท่านั้น). มัณฑูกเทวบุตรจึงมาพร้อมทั้งวิมานในทันใดนั้นนั่นเอง แล้วถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งที่ทรงทราบอยู่แล (แต่) ตรัสถามว่า

ใครช่างรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ( และ) ยศ มีพรรณงดงามยิ่งนัก ยังทิศทั้งปวงให้สว่างอยู่ กําลังไหว้เท้าของเรา?

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 205

มัณฑูกเทวบุตร กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในชาติปางก่อน ข้าพระองค์ได้เป็นกบอยู่ในน้ำ มีน้ำเป็นที่เที่ยวไป เมื่อข้าพระองค์กําลังฟังธรรมของพระองค์อยู่ คนเลี้ยงโคได้ฆ่าข้าพระองค์แล้ว (๑)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่มัณฑูกเทวบุตรนั้นแล้ว. สัตว์จํานวน ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม. ฝ่ายเทพบุตรก็ดํารงอยู่ในพระโสดาปัตติผล ได้ทําการแย้มแล้วก็หลีกไปแล.

[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า พุทฺโธ]

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า พุทฺโธ ด้วยอํานาจพระญาณอันเกิดในที่สุดแห่งวิโมกข์ เพราะขึ้นชื่อว่า เญยยธรรมอะไรๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดอันพระองค์ตรัสรู้แล้ว. อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระองค์ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ด้วยพระองค์เองบ้าง ทรงยังสัตว์เหล่าอื่นให้ตรัสรู้บ้าง, ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะเหตุมีอาทิอย่างนี้บ้าง, เพื่อจะให้ทราบเนื้อความแม้นี้แจ่มแจ้ง บัณฑิตควรขยายนิเทศนัย หรือปฏิสัมภิทานัยแม้ทั้งหมดที่เป็นไปแล้วให้พิสดารอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย ทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะทรงยังประชาสัตว์ให้ตรัสรู้ (๒) ดังนี้.

[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า ภควา]

(๓) ก็คําว่า ภควา นี้เป็นคําร้องเรียกพระองค์ ด้วยความเป็นผู้วิเศษ


(๑) ขุ. นิทาน. ๒๖/๘๙ - ๙๐.

(๒) ขุ. จู. ๓๐/๒๗๑. ขุ. ปฏิ. ๓๑/๒๖๑

(๓) องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๘๗ - ๒๔๘๘.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 206

ด้วยพระคุณ เป็นผู้สูงกว่าสัตว์ และเป็นผู้ควรเคารพโดยฐานครู. ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า

คําว่า ภควา เป็นคําประเสริฐสุด คําว่า ภควา เป็นคําสูงสุด เพราะเหตุที่พระองค์ควรแก่ความเคารพโดยฐานครู บัณฑิตจึงเรียกว่า ภควา.

[ชื่อมี ๔ อย่าง]

จริงอยู่ นามมี ๔ อย่าง คือ อาวัตถิกนาม ลิงคิกนาม เนมิตตกนาม อธิจจสมุปปันนนาม มีคําอธิบายว่า นามที่ตั้งตามความปรารถนาตามโวหารของโลก ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนนาม, ในนาม ๔ อย่างนั้น คํามีอาทิอย่างนี้คือ ลูกโค โคหนุ่ม โคกําลัง เป็นอาวัตถิกนาม (นามที่บัญญัติอาศัยความกําหนด). คํามีอาทิอย่างนี้ คือ มีไม้เท้า มีร่ม มีหงอน มีงวง เป็นลิงคิกนาม (นามที่เรียกตามเหตุหรือลักษณะ). คํามีอาทิอย่างนี้คือ มีวิชชา ๓ มีอภิญญา ๖เป็นเนมิตตกนาม (นามที่เกิดขึ้นโดยคุณนิมิต). คํามีอาทิอย่างนี้คือ เจริญศรี เจริญทรัพย์ ซึ่งเป็นไปไม่คํานึงถึงเนื้อความของคํา เป็นอธิจจสมุปปันนนาม (นามที่ตั้งตามใจชอบ). ก็แต่ว่า พระนามว่า ภควา นี้ เป็นเนมิตตกนาม พระนางมหามายาก็มิได้ทรงขนาน พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็มิได้ทรงขนาน พระญาติ ๘๐,๐๐๐ ก็มิได้ทรงขนาน เทวดาวิเศษทั้งหลายมีท้าวสักกะและท้าวสันดุสิตเป็นต้นก็มิได้ทรงขนาน. จริงอยู่ คํานี้ พระธรรมเสนาบดีกล่าวแล้วว่า พระนามว่า ภควา นี้ เกิดในที่สุดแห่งความพ้นพิเศษ เป็นบัญญัติที่แจ่มใสแก่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับได้เฉพาะซึ่งพระสัพพัญุตญาณที่โคนพระโพธิพฤกษ์ (๑)


(๑) ขุ. จู. ๓๐/๑๑.

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 207

ก็เพื่อจะประกาศพระคุณที่เกิดจากคุณเนมิตตกนามนี้นั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถานี้ไว้ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ทรงมีพระอิสริยยศ ทรงเสพ (อริยคุณ) มีส่วน (แห่งจตุปัจจัย) ทรงจําแนก (ธรรมรัตน์) เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ได้ทรงทําการหักกิเลส, เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ทรงเป็นครู เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด เป็นผู้มีโชค เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด มีพระองค์อบรมดีแล้วด้วยญายธรรมเป็นอันมาก เสด็จถึงที่สุดแห่งภพ, เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา.

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 208

อนึ่ง ในพระคาถานี้ บัณฑิตพึงเห็นใจความแห่งบทเหล่านั้นๆ ตามนัยที่กล่าวแล้วในนิเทศนั้นแล. ส่วนนัยอื่นอีก มีดังนี้คือ : -

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด เป็นผู้มีโชค (คือมีส่วนแห่งบารมีธรรม) ทรงหักกิเลส ทรงประกอบด้วยภัคคธรรม ทรงจําแนก ทรงเสพ และทรงคลายการไปในภพทั้งหลายเสียแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา.

พึงทราบวินิจฉัยในพระคาถานั้นต่อไป, ผู้ศึกษาพึงทราบอรรถรูปว่า เพราะภาคยธรรม (คือกุศล) อันถึงซึ่งฝังแห่งพระบารมี มีทานและศีลเป็นต้น อันยังสุขทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตตระให้บังเกิด มีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น, ฉะนั้น ในเมื่อควรจะเฉลิมพระนามว่า ภาคยวา แต่ท่านถือเอาลักษณะแห่งนิรุตติว่า ลงตัวอักษรใหม่ แปลงตัวอักษร เป็นต้น หรือถือเอาลักษณะ คือ รวมเข้าในชุดศัพท์มี ปิโสทรศัพท์เป็นต้น ตามนัยแห่งศัพท์ จึงเฉลิมพระนามว่า ภควา ดังนี้.

[พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหักกิเลสได้ตั้งแสนอย่าง]

อนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงหักกิเลสเครื่องเร่าร้อนกระวนกระวายทุกอย่าง ตั้งแสนอย่าง มีประเภทคือ โลภะ โทสะ โมหะ วิปรีตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ ตัณหา อวิชชา, อกุศลมูล ๓ ทุจริต ๓ สังกิเลส ๓ มลทิน ๓

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 209

วิสมะ ๓ สัญญา ๓ วิตก ๓ ปปัญจะ ๓, วิปริเยสะ ๔ อาสวะ ๔ คัณฐะ ๔ โอฆะ ๔ โยคะ ๔ อคติ ๔ ตัณหุปาทาน ๔, เจโตขีละ ๕ วินิพันธะ ๕ นีวรณ์ ๕ อภินันทนะ ๕, วิวาทมูล ๖ ตัณหากาย ๖, อนุสัย ๗, มิจฉัตตะ ๘, ตัณหามูลกะ ๙, อกุศลกรรมบถ ๑๐, ทิฏฐิ ๖๒, และตัณหาวิปริต ๑๐๘, หรือโดยย่อได้ทรงหักมาร ๕ คือ กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร และเทวบุตรมาร, ฉะนั้น ในเมื่อควรจะเฉลิมพระนามว่า ภัคควา แต่ท่านเฉลิมพระนามว่า ภควา เพราะพระองค์ทรงหักอันตรายเหล่านั้นได้แล้ว.

(๑) อนึ่ง ในตอนนี้ท่านกล่าวไว้ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงหักราคะได้แล้ว ทรงหักโทสะได้แล้ว ทรงหักโมหะได้แล้ว หาอาสวะมิได้, ธรรมอันเป็นบาปทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงหักเสียแล้ว, เพราะเหตุนั้น จึงเฉลิมพระนามว่า ภควา.

ก็ความถึงพร้อมด้วยรูปกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงบุญลักษณะนับร้อย ย่อมเป็นอันท่านแสดงแล้ว ด้วยความที่พระองค์ทรงมีพระกายสมส่วน. ความถึงพร้อมด้วยพระธรรมกาย ย่อมเป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยความที่พระองค์ทรงหักโทสะได้แล้ว. ความที่พระองค์ทรงเป็นผู้อันหมู่นักวิจารณ์ฝ่ายโลกีย์นับถือมาก ความที่พระองค์เป็นผู้อันคฤหัสถ์และบรรพชิตพึงเข้าเฝ้า ความที่พระองค์ทรงเป็นผู้สามารถในการบําบัดทุกข์กายและจิตของคฤหัสถ์และบรรพชิตเหล่านั้นผู้เข้าเฝ้าแล้ว ความที่พระองค์ทรงมีพระ-


(๑) องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๐๕.

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 210

อุปการะด้วยอามิสทานและธรรมทาน และความที่พระองค์ทรงสามารถในการชักชวนด้วยความสุข ทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตตระ ย่อมเป็นอันท่านแสดงแล้วเช่นเดียวกัน.

อนึ่ง เพราะ ภค ศัพท์ ย่อมเป็นไปในธรรม ๖ ประการ คือ ความเป็นใหญ่ ธรรม ยศ สิริ กามะ และความเพียรในโลก. ก็แล ความเป็นใหญ่ในจิตของพระองค์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ยอดเยี่ยม หรือความเป็นใหญ่ที่สมมติกันทางโลกิยะ มีการทํากายให้เล็กละเอียด และทํากายให้ลอยไปได้ (มีการหายตัวและการล่องหน) เป็นต้น ก็ทรงมีอยู่อย่างบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง พระโลกุตตรธรรม ก็เช่นเดียวกัน คือทรงมีอยู่อย่างบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง. พระยศอันแผ่คลุมโลกสาม ซึ่งทรงบรรลุด้วยพระคุณตามที่เป็นจริงบริสุทธิ์ยิ่งนัก. พระสิริแห่งพระอังคาพยพน้อยใหญ่ทุกส่วนบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง สามารถยังความเลื่อมใสแห่งดวงตาและดวงใจของชนผู้ขวนขวายในการดูพระรูปกายให้บังเกิด. กามะที่ชนทั้งหลายหมายรู้กันว่า ความสําเร็จแห่งประโยชน์ที่ปรารถนา (ก็มีอยู่) เพราะความที่แห่งความปรารถนาที่พระองค์ทรงตั้งไว้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์ หรือเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นนั้นๆ สําเร็จแล้วอย่างนั้นทีเดียว หรือว่าความเพียร กล่าวคือความพยายามโดยชอบ อันเป็นเหตุแห่งความบังเกิดขึ้นของความเป็นครูแห่งโลกทั้งปวง ก็ทรงมีอยู่ เหตุนั้น แม้เพราะพระองค์ทรงประกอบแล้วด้วยภคธรรมเหล่านี้ ก็เฉลิมพระนามได้ว่า ภควา ด้วยอรรถนี้ว่า ภคธรรมทั้งหลายของพระองค์มีอยู่ ดังนี้.

อนึ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้จําแนก มีอธิบายว่า ทรงแจก คือเปิดเผย แสดงซึ่งธรรมทั้งปวง โดยประเภทมีกุศลเป็นต้น หรือซึ่งธรรมมี

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 211

กุศลเป็นต้น โดยประเภทมีขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น หรือซึ่งอริยสัจจ์ คือ ทุกข์ ด้วยอรรถว่าเป็นสิ่งบีบคั้น เป็นสิ่งถูกปรุงแต่ง เป็นสิ่งแผดเผา และเป็นสิ่งแปรผัน, ซึ่งสมุทัย ด้วยอรรถว่าหอบทุกข์มาให้ เป็นต้นเค้า เป็นเครื่องพัวพัน และเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว, ซึ่งนิโรธ ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องสลัดออก เป็นสภาพสงัด ไม่ถูกปรุงแต่ง และเป็นอมตะ ซึ่งมรรค ด้วยอรรถว่าเป็นธรรมนําออกจากทุกข์ เป็นเหตุ เป็นเครื่องชี้ และเป็นความเป็นใหญ่, ฉะนั้น ในเมื่อควรเฉลิมพระนามว่า วิภัตตวา ก็เฉลิมพระนามได้ว่า ภควา.

อนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงคบ คือ ทรงเสพ หมายความว่า ได้ทรงทําให้มาก ซึ่งทิพพวิหาร พรหมวิหาร และอริยวิหาร ซึ่งกายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก ซึ่งสุญญตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ และซึ่งอุตตริมนุสสธรรมเหล่าอื่น ทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตตระ, ฉะนั้น ในเมื่อควรเฉลิมพระนามว่า ภัตตวา ก็เฉลิมพระนามได้ว่า ภควา.

อนึ่ง เพราะความไป กล่าวคือตัณหาในภพทั้ง ๓ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงคายเสียแล้ว, ฉะนั้น ในเมื่อควรเฉลิมพระนามว่า ภเวสุ วนฺตคมโน (ผู้มีความไปในภพทั้งหลายอันคายแล้ว) แต่ถวายพระนามว่า ภควา เพราะถือเอา ภ อักษรแต่ ภว ศัพท์ ค อักษรแต่ คมน ศัพท์ และ ว อักษรแต่ วนฺต ศัพท์ ทําให้เป็นทีฆะ เปรียบเหมือนถ้อยคําในทางโลก เมื่อควรจะกล่าวว่า เมหนสฺส ขสฺส มาลา (ระเบียบแห่งโอกาสอันลับ) เขากล่าวว่า เมขลา ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 212

[อรรถาธิบาย สเทวกะ ศัพท์ เป็นต้น]

หลายบทว่า โส อิมํ โลกํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงทําโลกนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง. บัดนี้ จะชี้แจงคําที่ควรกล่าวต่อไป : -

บทว่า สเทวกํ คือพร้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย ชื่อ สเทวกะ (พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงทําโลกนี้) พร้อมด้วยมาร ที่ชื่อว่า สมารกะ พร้อมด้วยพรหม ที่ชื่อว่า สพรหมกะ พร้อมด้วยสมณะและพราหมณ์ ที่ชื่อว่า สัสสมณพราหมณี (ให้แจ้งชัด) ด้วยอาการอย่างนี้. ที่ชื่อว่า ปชา เพราะความเป็นผู้เกิดจากกรรมกิเลสของตน. ซึ่งหมู่สัตว์นั้น พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ชื่อว่า สเทวมนุสสะ.

บรรดาคําว่า สเทวกะ เป็นต้น พึงทราบการถือเอาเทวดาชั้นกามาวจร ๕ ชั้น ด้วยคําว่า สเทวกะ (พร้อมด้วยเทวดา). พึงทราบการถือเอาเทวดาชั้นกามาวจรชั้นที่ ๖ ด้วยคําว่า สมารกะ. พึงทราบการถือเอาพรหมมีพรหมชั้นพรหมกายิกาเป็นต้น ด้วยคําว่า สพรหมกะ. พึงทราบการถือเอาสมณะและพราหมณ์ผู้เป็นข้าศึกศัตรูต่อพระศาสนา และการถือเอาสมณะและพราหมณ์ผู้มีบาปอันสงบแล้ว และผู้มีบาปอันลอยแล้ว ด้วยคําว่า สัสสมณพราหมณี. พึงทราบการถือเอาสัตวโลก โดยคําว่า ปชา. พึงทราบการถือเอาสมมติเทพและมนุษย์ที่เหลือ ด้วยคําว่า สเทวมนุสสะ.

บรรดาบททั้ง ๕ นี้ ดังพรรณนามานี้ โอกาสโลก พึงทราบว่าท่านถือเอาแล้วด้วยบททั้ง ๓ (คือ สเทวกะ ๑ สมารกะ ๑ สพรหมกะ ๑) สัตวโลกพึงทราบว่า ท่านถือเอาแล้วด้วยบททั้ง ๒ (คือสัสสมณพราหมณี และสเทวมนุสสะ) ด้วยอํานาจแห่งหมู่สัตว์.

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 213

อีกนัยหนึ่ง อรูปาวจรโลก ท่านถือเอาแล้วด้วย สเทวกศัพท์. กามาวจรเทวโลก ๖ ชั้น ท่านถือเอาแล้วด้วย สมารกศัพท์. พรหมโลกที่มีรูปท่านถือเอาแล้วด้วย สพรหมกศัพท์, มนุษย์โลกกับเหล่าสมมติเทพหรือสัตวโลกทั้งหมดที่เหลือ ท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์ มีสัสสมณพราหมณี เป็นต้น ด้วยอํานาจแห่งบริษัท ๔.

อีกอย่างหนึ่ง ในคําทั้งหลาย มีคําว่า สเทวกะ เป็นต้นนี้ พระกิตติศัพท์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ประกาศความที่แห่งโลกแม้ทั้งปวง อันพระองค์ทรงกระทําให้แจ้งแล้ว โดยกําหนดอย่างอุกฤษฏ์ด้วยคําว่า สเทวกะ ฟุ้งขจรไปแล้ว. เพราะเหตุนั้น ชนเหล่าใดพึงมีความสงสัยว่า มารชื่อ วสวัดดี ผู้มีอานุภาพมาก เป็นใหญ่กว่าเทวดาชั้นฉกามาวจร, แม้มารนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงทําให้แจ้งได้อย่างไร? พระกิตติศัพท์ฟุ้งขจรไปทําลายความสงสัยของชนเหล่านั้น ด้วยคําว่า สมารกํ (พร้อมด้วยมาร).

อนึ่ง ชนเหล่าใดพึงมีความสงสัยว่า พรหมผู้มีอานุภาพมาก ย่อมส่องแสงสว่างไปในหนึ่งพันจักรวาลด้วยองคุลีหนึ่ง ในสองพันจักรวาลด้วยสององคุลี. ฯลฯ ย่อมส่องแสงสว่างไปในหมื่นจักรวาลด้วยสิบองคุลี และได้เสวยสุขอันเกิดจากฌานสมาบัติอย่างเยี่ยมอยู่, แม้พรหมนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทําให้แจ้งได้อย่างไร? พระกิตติศัพท์ฟุ้งขจรไปทําลายความสงสัยของชนเหล่านั้น ด้วยคําว่า สสฺสมณพฺราหฺมณิํ ปชํ (ซึ่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์).

พระกิตติศัพท์ (ของพระผู้มีพระภาคเจ้า) ครั้นประกาศความที่ฐานะอย่างอุกฤษฏ์ทั้งหลาย อันพระองค์ทรงทําให้แจ้งแล้วอย่างนั้น ในลำดับนั้น

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 214

เมื่อจะประกาศความที่สัตวโลกซึ่งยังเหลือ อันพระองค์ทรงกระทําให้แจ้งแล้วด้วยอํานาจการกําหนดอย่างอุกฤษฏ์ จนกระทั่งถึงสมมติเทพและพวกมนุษย์ที่ยังเหลือ ฟุ้งขจรไปแล้ว ด้วยคําว่า สเทวมนุสฺสํ (พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์) ในบททั้งหลายมีบทว่า สเทวกํ เป็นต้นนี้ มีลําดับอนุสนธิเท่านี้.

[อรรถาธิบาย สยํ ศัพท์เป็นต้น]

อนึ่ง ในคําว่า สยํ อภิญฺา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทติ นี้พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ : -

บทว่า สยํ แปลว่า ด้วยพระองค์เอง, สยํ ศัพท์นี้ เป็นศัพท์มีใจความที่คนอื่นจะพึงนําไปหามิได้. บทว่า อภิฺา ความว่า ทรงรู้ด้วยความรู้ยิ่ง คือด้วยพระญาณอันยิ่ง. บทว่า สจฺฉิกตฺวา คือทรงทําให้ประจักษ์. ด้วยบทว่า สจฺฉิกตฺวา นั่น เป็นอันท่านทําการห้ามกิจมีการอนุมานเป็นต้นเสีย. บทว่า ปเวเทติ ความว่า คือทรงยังหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้ คือให้รู้ ได้แก่ทรงประกาศให้รู้.

[พระธรรมงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด]

ข้อว่า โส ธมฺมํ เทเสติ อาทิกลฺยาณํฯ เป ฯ ปริโยสานกลฺยาณํ มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ต้องสละสุขอันเกิดแต่วิเวกอย่างยอดเยี่ยมแล้ว ทรงแสดงธรรมอยู่ ก็เพราะทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย. ก็แลพระองค์เมื่อทรงแสดงธรรมนั้น จะน้อยหรือมากก็ตาม ทรงแสดงครบถ้วนทั้ง ๓ ประการ มีความงามในเบื้องต้นเป็นอาทิเท่านั้น. คืออย่างไร? คืออย่างนี้ ความพิสดารว่า แม้พระคาถาเดียว ก็มีความงามในเบื้องต้นด้วยบาททีแรก มีความงามในท่ามกลางด้วยบาทที่ ๒ และที่ ๓

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 215

มีความงามในที่สุดด้วยบาทที่สุด เพราะพระธรรมมีความงามรอบด้าน. พระสูตรมีอนุสนธิเดียว มีความงามในเบื้องต้นด้วยคํานิทาน. มีความงามในที่สุดด้วยคํานิคม. มีความงามในท่ามกลางด้วยคําที่เหลือ. พระสูตรที่มีอนุสนธิต่างๆ มีความงามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิแรก, มีความงามในที่สุดด้วยอนุสนธิในที่สุด. มีความงามในท่ามกลางด้วยอนุสนธิที่เหลือ ศาสนธรรมแม้ทั้งสิ้นมีความงามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นอรรถของตนบ้าง, มีความงามในท่ามกลางด้วยสมถะและวิปัสสนา มรรคและผลบ้าง, มีความงามในที่สุดด้วยพระนิพพานบ้าง.

อีกอย่างหนึ่ง มีความงามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ. มีความงามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค, มีความงามในที่สุดด้วยผลและพระนิพพาน.

(๑) อีกอย่างหนึ่ง มีความงามในเบื้องต้นด้วยความตรัสรู้ดีของพระพุทธเจ้า มีความงามในท่ามกลางด้วยความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม มีความงามในที่สุดด้วยการปฏิบัติดีของพระสงฆ์.

อีกอย่างหนึ่ง มีความงามในเบื้องต้นด้วยพระอภิสัมโพธิญาณ อันผู้สดับศาสนธรรมนั้นแล้ว ปฏิบัติโดยความเป็นเช่นนั้นจะพึงบรรลุ มีความงามในท่ามกลางด้วยปัจเจกโพธิญาณ มีความงามในที่สุดด้วยสาวกโพธิญาณ. อนึ่ง ศาสนธรรมนั้น เมื่อสาธุชนสดับอยู่ ย่อมนํามาแต่ความงามฝ่ายเดียวแม้ด้วยการสดับ เพราะจะข่มนิวรณธรรมไว้ได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีความงามในเบื้องต้น เมื่อสาธุชนปฏิบัติอยู่ ก็ย่อมนํามาแต่ความงามฝ่ายเดียวแม้ด้วยการปฏิบัติ เพราะจะนํามาแต่ความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนา


(๑) องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑.

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 216

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีความงามในท่ามกลาง. และเมื่อสาธุชนปฏิบัติแล้วโดยประการนั้น ก็ย่อมนํามาแต่ความงามเช่นเดียวกัน แม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติ เพราะจะนําความเป็นผู้คงที่มาให้ ในเมื่อได้สําเร็จผลแห่งการปฏิบัติแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีความงามในที่สุด.

อนึ่ง มีความงามในเบื้องต้นด้วยความบริสุทธิ์แห่งแดนเกิด เพราะศาสนธรรมมีที่พึ่งเป็นแดนเกิด มีความงามในท่ามกลางด้วยความบริสุทธิ์แห่งอรรถ มีความงามในที่สุดด้วยความบริสุทธิ์แห่งกิจ. เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เมื่อทรงแสดงธรรมจะน้อยหรือมากก็ตาม พึงทราบว่า ทรงแสดงครบถ้วนทั้ง ๓ ประการ มีความงามในเบื้องต้นเป็นอาทิ.

[อรรถาธิบายศัพท์ว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ]

ก็ในคําเป็นต้นอย่างนี้ว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ ดังนี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ : -

เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เมื่อทรงแสดงพระธรรมนี้ ชื่อว่าทรงประกาศ คือทรงแสดงศาสนพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์ด้วยนัยต่างๆ. ก็ศาสนพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์นั้น ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะถึงพร้อมด้วยอรรถ, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะถึงพร้อมด้วยพยัญชนะตามสมควร, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะประกอบพร้อมด้วยอรรถบทที่แสดง ประกาศ เปิดเผย จําแนก ทําให้ตื้น และบัญญัติ, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะถึงพร้อมด้วยอักษร บท พยัญชนะ อาการ นิรุตติ และนิเทศ, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะความที่ศาสนพรหมจรรย์เป็นต้นนั้น ลึกโดยอรรถ และลึกโดยปฏิเวธ, ชื่อว่า พรั่งพร้อม

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 217

ด้วยพยัญชนะ เพราะความที่ศาสนพรหมจรรย์นั้น ลึกโดยธรรม และลึกโดยเทศนา, ชื่อว่า พรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะความเป็นวิสัย (คืออารมณ์) แห่งอัตถปฏิสัมภิทา และปฏิภาณปฏิสัมภิทา, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะเพราะความเป็นวิสัย (คืออารมณ์) แห่งธัมมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา

พรหมจรรย์นั้น ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะเหตุว่า เป็นที่เลื่อมใสแห่งชนผู้เป็นนักปราชญ์ เพราะเป็นสิ่งอันบัณฑิตพึงรู้. ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะเหตุว่า เป็นที่เลื่อมใสแห่งโลกียชน เพราะเป็นสิ่งควรเชื่อ, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะมีความอธิบายลึก, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะมีบทตื้น, ชื่อว่าบริสุทธิ์สิ้นเชิง เพราะมีความบริบูรณ์เต็มที่ เหตุไม่มีสิ่งที่จะต้องเพิ่มเข้า ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะเป็นของหาโทษมิได้ เหตุไม่มีสิ่งที่จะต้องนําออก, ชื่อว่าพรหมจรรย์ เพราะอันบุคคลผู้เป็นใหญ่ คือผู้ประเสริฐพึงปฏิบัติ เหตุที่พรหมจรรย์นั้นอันท่านกําหนดด้วยไตรสิกขา และเพราะเป็นจริยาของท่านเหล่านั้น, ฉะนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมด้วยอรรถ พร้อมด้วยพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง.

อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรมมีเหตุ และเรื่องที่เกิดขึ้น ชื่อว่าทรงแสดง (ธรรมนั้น) มีความงามในเบื้องต้น และชื่อว่าทรงแสดง (ธรรมนั้น) มีความงามในท่ามกลาง เพราะเนื้อความไม่วิปริต และเพราะประกอบด้วยเหตุและอุทาหรณ์ โดยสมควรแก่เวไนยสัตว์ และชื่อว่าทรงแสดง (ธรรมนั้น) มีความงามในที่สุด เพราะทําให้พวกนักฟังได้ศรัทธาและความมั่นใจ ก็เมื่อทรงแสดงธรรมอยู่อย่างนั้น ชื่อว่าทรงประกาศพรหมจรรย์.

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 218

ก็พรหมจรรย์ ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะทราบชัดในธรรมที่ควรบรรลุได้ ก็ด้วยการปฏิบัติ ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะเชี่ยวชาญในพระคัมภีร์ ก็ด้วยปริยัติ ชื่อว่าบริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีสีลขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะไม่มีเครื่องเศร้าหมอง เพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์จะสละทุกข์ในวัฏฏะ และเพราะไม่มีความมุ่งหมายโลกามิส เรียกว่าพรหมจรรย์ เพราะเป็นจริยาของท่านผู้ใหญ่ โดยอรรถว่าเป็นผู้ประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก แม้เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงกล่าวได้ว่า ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมด้วยอรรถ พร้อมด้วยพยัญชนะ.

ข้อว่า สาธุ โข ปน ความว่า อนึ่ง (การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายผู้เห็นปานนั้น) เป็นความดีแล. มีคําอธิบายว่า นําประโยชน์มาให้ นําความสุขมาให้.

ข้อว่า ตถารูปานํ อรหตํ ความว่า (การเห็น) พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ซึ่งได้ความชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ในโลก เพราะได้บรรลุคุณตามเป็นจริงเห็นปานพระโคดมผู้เจริญนั้น (เป็นความดี).

ข้อว่า ทสฺสนํ โหติ ความว่า เวรัญชพราหมณ์ ทําอัธยาศัยไว้อย่างนี้ว่า แม้เพียงสักว่าการลืมตาทั้งสอง อันใสแจวด้วยประสาทแล้วมองดู ย่อมเป็นความดี ดังนี้ (จึงเข้าไปเฝ้าในภายหลัง).

[อรรถาธิบายวิเสสนสัพพนามว่า เยน เตน]

คําว่า เยน ในข้อว่า อถ โข เวรญฺโช พฺราหฺมโณ เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ นี้ เป็นตติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. เพราะฉะนั้น

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 219

ในสองบทว่า เยน เตน นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด เวรัญชพราหมณ์ ได้เข้าไปเฝ้า ณ ที่นั้น.

อีกอย่างหนึ่ง ในสองบทว่า เยน เตน นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าด้วยเหตุใด เวรัญชพราหมณ์ ก็เข้าไปเฝ้าด้วยเหตุนั้น.

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าเพราะเหตุไร?

พึงเข้าไปเฝ้า เพราะมีความประสงค์ในการบรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ เหมือนต้นไม้ใหญ่ซึ่งผลิตผลเป็นนิตย์ อันหมู่ทิชาชาติทั้งหลายพึงบินเข้าไปหา เพราะมีความประสงค์ในการจิกกินผลที่ดีฉะนั้น.

อนึ่ง บทว่า อุปสงฺกมิ มีอธิบายว่า คโต แปลว่า ไปแล้ว. คําว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นคําแสดงปริโยสานกาลกิริยาแห่งการเข้าไปเฝ้า.

อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เวรัญชพราหมณ์ ไปแล้วอย่างนั้น คือไปยังสถานที่ใกล้ชิดกว่านั้น ได้แก่ที่นับว่าใกล้ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้บ้าง.

หลายบทว่า ภควตา สทฺธิํ สมฺโมทิ ความว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสถามถึงความสุขทุกข์เป็นต้น (๑) ได้ทรงมีความรื่นเริงเป็นไปกับพราหมณ์นั้นแล้ว ฉันใด ถึงแม้พราหมณ์นั้น ก็ฉันนั้น ได้มีความรื่นเริงเป็นไปกับพระผู้มีพระภาคเจ้า คือได้ถึงความเป็นผู้รื่นเริง ได้แก่ความเป็นพวกเดียวกัน ดุจน้ำเย็นกับน้ำร้อนผสมเป็นอันเดียวกัน ฉันนั้น.


(๑) ฎีกาสารัตถทีปนีก็ดี อรรถโยชนาก็ดี เป็น ขมนียาทีนิ ได้แปลตามนั้น.

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 220

[อรรถาธิบายศัพท์ว่า สมฺโมทนียํ และ สาราณียํ]

ก็เวรัญชพราหมณ์ ได้รื่นเริง (กับพระผู้มีพระภาคเจ้า) ด้วยถ้อยคํามีอาทิว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์พออดทนได้หรือ? พอยังอัตตภาพให้เป็นไปได้หรือ? และพระสาวกทั้งหลายของพระโคดมผู้เจริญ ไม่มีอาพาธหรือ? ไม่มีทุกข์หรือ? ยังยืนคล่องแคล่วอยู่หรือ? ยังมีกําลังอยู่หรือ? ยังอยู่ผาสุกหรือ? ดังนี้ อันใด ถ้อยคําอันนั้น ชื่อว่า สัมโมทนียะ (คือถ้อยคําเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นเริง) เพราะให้เกิดความรื่นเริงกล่าวคือปีติและปราโมทย์ และเพราะเป็นถ้อยคําสมควรเพื่อความรื่นเริง ชื่อว่า สาราณียะ (คือถ้อยคําเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน) เพราะเป็นถ้อยคําที่สมควร และเพราะเป็นถ้อยคําที่ควรระลึกถึง เพื่อให้ระลึกถึงตลอดกาลแม้นานด้วยดี คือ เพื่อให้เป็นไปหาระหว่างมิได้ เหตุเป็นถ้อยคําอ่อนหวานด้วยอรรถและพยัญชนะ.

อนึ่ง ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะฟังอยู่ก็เป็นสุข. ชื่อว่า สาราณียะ เพราะตามระลึกถึงอยู่ก็เป็นสุข. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะเป็นถ้อยคําบริสุทธิ์ด้วยพยัญชนะ ชื่อว่า สาราณียะ เพราะเป็นถ้อยคําบริสุทธิ์ด้วยอรรถ ด้วยประการฉะนี้แล.

[อรรถาธิบายสองศัพท์ว่า เอกมนฺตํ นีสีทิ]

เวรัญชพราหมณ์ ยังถ้อยคําอันเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นเริง คือถ้อยคําเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ให้ผ่านไป คือให้จบลง ได้แก่ให้สําเร็จลงด้วยบรรยายมิใช่น้อยอย่างนั้นแล้ว มีความประสงค์จะทูลถามถึงประโยชน์ที่เป็นเหตุให้ตนมา จึงนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 221

ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ นี้ เป็นศัพท์แสดงภาวนปุงสกลิงค์. (ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ) เหมือนในคําทั้งหลายเป็นต้นว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ ย่อมเดินเวียนรอบไปในที่อันไม่เสมอ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ในคําว่า เอกมนฺตํ นิสีทิ นี้ พึงเห็นใจความอย่างนี้ว่า เวรัญชพราหมณ์นั้นนั่งแล้ว จะชื่อว่า เป็นผู้นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่งโดยประการใด ก็นั่งแล้วโดยประการนั้น.

อนึ่ง คําว่า เอกมนฺตํ นั้น เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. บทว่า นิสีทิ แปลว่า เข้าไปใกล้แล้ว. จริงอยู่ บุรุษทั้งหลายผู้ฉลาด เข้าไปหาครุฐานียบุคคล (คือบุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานครู) ชื่อว่าย่อมนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เพราะความเป็นผู้ฉลาดในการนั่ง ก็บรรดาบุรุษผู้ฉลาดเหล่านั้น เวรัญชพราหมณ์นี้ เป็นคนใดคนหนึ่ง. เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้น จึงนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[การนั่งเว้นโทษ ๖ อย่าง]

ถามว่า ก็บุคคลนั่งอยู่อย่างไร จึงชื่อว่าเป็นผู้นั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง?

แก้ว่า ต้องนั่งเว้นโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่าง จึงชื่อว่าเป็นผู้นั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. โทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างเป็นไฉน? โทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างนั้นคือ นั่งไกลนัก ๑ นั่งใกล้กันนัก ๑ นั่งเหนือลม ๑ นั่งที่สูง ๑ นั่งตรงหน้าเกินไป ๑ นั่งข้างหลังเกินไป ๑

จริงอยู่ บุคคลนั่งอยู่ในที่ไกลกันนัก ถ้ามีความประสงค์จะพูด จะต้องพูดด้วยเสียงดัง. นั่งในที่ใกล้กันนัก ย่อมทําความเบียดเสียดกัน. นั่งในที่เหนือลม ย่อมรบกวน (คนอื่น) ด้วยกลิ่นตัว. นั่งในที่สูง ย่อมประกาศ

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 222

ความไม่เคารพ. นั่งในที่ตรงหน้าเกินไป ถ้ามีความประสงค์จะดู จะต้องจ้องดูตาต่อตากัน. นั่งข้างหลังเกินไป ถ้ามีความประสงค์จะดู จะต้องยื่นคอออกไปดู. เพราะฉะนั้น เวรัญชพราหมณ์ แม้นี้ จึงนั่งเว้นโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างเหล่านั้นแล เหตุดังนั้น ท่านพระอุบาลีเถระ จึงกล่าวไว้ว่า พราหมณ์นั้นนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[อรรถาธิบายศัพท์ต่างๆ มี เอตํ ศัพท์ เป็นต้น]

เวรัญชพราหมณ์ นั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล จึงได้กราบทูลคํานี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า. ด้วยบทว่า เอตํ เป็นต้น พระอาจารย์แสดงใจความที่ควรจะกล่าวในบัดนี้. อักษร ทําการต่อบท. บทว่า อโวจ แปลว่า ได้กราบทูลแล้ว. ประชุมบทว่า สุตมฺเมตํ ตัดบทเป็น สุตํ เม ตํ แปลว่า ข้อนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว. พระอาจารย์แสดงในความที่ควรกล่าวในบัดนี้ด้วยคําว่า เอตํ มยา สุตํ เป็นต้น.

เวรัญชพราหมณ์ ย่อมทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยพระโคตรว่า โภ โคตม แปลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บัดนี้ ท่านพระอุบาลีเถระ เมื่อจะแสดงข้อความที่เวรัญชพราหมณ์นั้นได้ฟังแล้ว จึงได้กล่าวคํามีอาทิอย่างนี้ว่า น สมโณ โคตโม. ในคําว่า สมโณ โคตโม เป็นต้นนั้น มีการพรรณนาบทที่ไม่ง่ายดังต่อไปนี้ : -

บทว่า พฺราหฺมเณ ได้แก่ พราหมณ์โดยชาติ.

บทว่า ชิณฺเณ ได้แก่ เป็นคนแก่คร่ําคร่า คือถูกชราส่งให้ไปถึงความเป็นผู้มีอวัยวะหักเป็นท่อนเป็นต้น.

บทว่า วุฑฺเฒ ได้แก่ ผู้เข้าเขตแห่งความเจริญแห่งอวัยวะน้อยใหญ่.

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 223

บทว่า มหลฺลเก คือผู้มาตามพร้อมแล้ว ด้วยความเป็นคนแก่โดยชาติ. มีคําอธิบายว่า ผู้เกิดมานานแล้ว.

บทว่า อทฺธคเต ได้แก่ ผู้ผ่านกาลมานานแล้ว. อธิบายว่า ผู้ล่วงเลยมา ๒ - ๓ ชั่วรัชกาลแล้ว.

บทว่า วโยอนุปตฺเต ได้แก่ ผู้ย่างเข้าปูนปัจฉิมวัยแล้ว. ส่วนที่ ๓ อันมีในที่สุดแห่งร้อยปี ชื่อว่า ปัจฉิมวัย (คือวัยสุดท้าย).

อีกอย่างหนึ่ง ในบททั้งหลายมีบทว่า ชิณฺเณ เป็นต้นนี้ พึงทราบโยชนาอย่างนี้ว่า บทว่า ชิณฺเณ ได้แก่ ผู้เกิดก่อน. มีอธิบายว่า ผู้คล้อยตามตระกูลที่เป็นไปตลอดกาลนาน.

บทว่า วุฑฺเฒ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเจริญแห่งคุณมีศีลและมรรยาทเป็นต้น.

บทว่า มหลฺลเก คือผู้มาตามพร้อมแล้ว ด้วยความเป็นผู้มีสมบัติมาก คือผู้มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก.

บทว่า อทฺธคเต ได้แก่ ผู้ดําเนินไปตลอดทางแล้ว คือผู้ประพฤติไม่ก้าวล่วงเขตแดนแห่งคุณมีวัตรจริยาเป็นต้น ของพวกพราหมณ์.

บทว่า วโยอนุปฺปตฺเต ได้แก่ ผู้ย่างเข้าถึงความเป็นคนแก่โดยชาติ คือวัยที่สุดโต่ง.

บัดนี้ บัณฑิตพึงประกอบบททั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า อภิวาเทติ ด้วย อักษร ที่ท่านกล่าวไว้ในคําว่า น สมโณ โคตโม นี้ แล้วทราบตามเนื้อความอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่กราบไหว้ ไม่ลุกรับ ทั้งไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงนั่งบนอาสนะนี้. จริงอยู่ วา

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 224

ศัพท์ซึ่งมีอยู่ในบทเป็นต้นว่า อภิวาเทติ นี้ ย่อมเป็นไปในอรรถชื่อว่าวิภาวนะ (คือคําประกาศตามปกติของชาวโลก) ดุจ วา ศัพท์ในประโยคเป็นต้นว่า รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง.

เวรัญชพราหมณ์ ครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว ลําดับนั้น เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไม่ทรงทําสามีจิกรรม (การกระทำที่สมควร, การแสดงความเคารพ) มีการกราบไหว้เป็นต้นแก่ตน จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ คําที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วนี้นั้น เป็นเช่นนั้นจริง อธิบายว่า คํานั้นใด ที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว, คํานั้น ย่อมเป็นเช่นนั้นจริง คือข้อที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาและได้เห็นมานั้น ย่อมสมกัน คือเสมอกัน ได้แก่ ถึงความเป็นอย่างเดียวกันโดยความหมาย. เวรัญชพราหมณ์ กล่าวย้ำเรื่องที่ตนได้ฟังมาพร้อมทั้งที่ตนได้เห็นมาอย่างนี้ว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ ไม่กราบไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลําดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะเลย เมื่อจะตําหนิ (พระพุทธองค์) จึงกราบทูลว่า ตยิทํ โภ โคตม น สมฺปนฺนเมว ดังนี้, มีอธิบายว่า การที่พระองค์ไม่ทรงทําสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น ไม่สมควรเลย.

[พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคัดค้าน]

ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงเข้าไปอาศัยโทษคือการกล่าวยกตนข่มท่าน แต่มีพระประสงค์จะทรงกําจัดความไม่รู้นั้น ด้วยพระหฤทัยที่เยือกเย็นเพราะกรุณา แล้วแสดงความเหมาะสมแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพดา และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลผู้ที่เราควรกราบไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ, เพราะว่าตถาคตพึง

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 225

กราบไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ, แม้ศีรษะของบุคคลนั้น ก็พึงตกไป.

ในคําว่า นาหนฺตํ เป็นต้นนั้น มีเนื้อความสังเขปดังนี้ คือ :- ดูกรพราหมณ์ เราแม้ตรวจดูอยู่ด้วยจักษุคือสัพพัญญุตญาณ ซึ่งไม่มีอะไรขัดขวางได้ ก็ไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรกราบไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ ในโลกต่างโดยประเภทมีเทวโลกเป็นต้นนี้เลย, อีกอย่างหนึ่ง ข้อที่เราได้บรรลุความเป็นสัพพัญญูในวันนี้ ไม่เล็งเห็นบุคคลผู้ที่ควรทําการนอบน้อมเห็นปานนั้น ไม่น่าอัศจรรย์เลย, อีกประการหนึ่งแล แม้ในกาลใด เราเกิดได้ครู่หนึ่งเท่านั้น ก็ผินหน้าไปทางด้านทิศอุดร เดินไปได้ ๗ ก้าวแล้วได้ตรวจดูหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น, แม้ในกาลนั้น เราก็มิได้เล็งเห็นบุคคลที่เราควรกราบไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ ในโลกต่างโดยประเภทมีเทวโลกเป็นต้นนี้เลย, คราวนั้นแล ถึงท้าวมหาพรหมผู้เป็นพระขีณาสพ ซึ่งมีอายุได้หนึ่งหมื่นหกพันกัป ก็ได้ประคองอัญชลี เกิดความโสมนัสต้อนรับเราว่า ท่านเป็นมหาบุรุษในโลก, ท่านเป็นผู้เลิศ เจริญที่สุด และประเสริฐที่สุดแห่งโลก พร้อมทั้งเทวโลก, บุคคลผู้เยี่ยมกว่าท่าน ย่อมไม่มี, อนึ่ง แม้ในกาลนั้น เราเมื่อไม่เล็งเห็นบุคคลผู้เยี่ยมกว่าตน จึงได้เปล่งอาสภิวาจาว่า เราเป็นยอดแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก (๑) ดังนี้, บุคคลผู้ที่ควรแก่สามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นของเราแม้ผู้เกิดได้ครู่เดียว ยังไม่มี ด้วยประการฉะนี้, บัดนี้ เรานั้นได้บรรลุความเป็นสัพพัญญูแล้ว จะพึงกราบไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญใครด้วยอาสนะเล่า? ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น ท่านอย่าได้ปรารถนาการทําความนอบน้อมเห็นปานนั้น จากตถาคตเลย, ดูกรพราหมณ์ เพราะว่า


(๑) ที. มหา. ๑๐/๑๗.

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 226

ตถาคตพึงกราบไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ, แม้ศีรษะของบุคคลนั้น พึงขาดจากคอตกลงไปบนพื้นดินโดยเร็วพลันทีเดียว ดุจผลตาลที่มีเครื่องผูกหย่อนเพราะแก่หง่อม หล่นจากขั้วในที่สุดแห่งราตรี ฉะนั้น.

[เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้าว่าเป็นคนไม่มีรส]

แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ก็กําหนดไม่ได้ถึงข้อความที่พระตถาคตเจ้าเป็นเชษฐบุรุษในโลก เพราะทรามปัญญา ไม่ยอมอดกลั้นพระดํารัสนั้นถ่ายเดียวจึงกล่าวว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นคนไม่มีรส. ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นมีความประสงค์ดังนี้ว่า สามีจิกรรม คือการกราบไหว้ การลุกรับ และประนมมือไหว้อันใด ที่ประชาชนเรียกอยู่ในโลกว่า สามัคคีรส สามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น ของพระโคดมผู้เจริญ ย่อมไม่มี, เพราะฉะนั้น พระโคดมผู้เจริญ จึงเป็นคนไม่มีรส คือมีพระชาติไม่มีรส มีสภาพไม่มีรส.

ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะให้พราหมณ์นั้นเกิดใจอ่อน จึงทรงหลีกหนีความเป็นข้าศึกโดยตรงเสีย ทรงรับสมเนื้อความแห่งคํานั้นโดยประการอื่นในพระองค์ จึงตรัสว่า พราหมณ์ ปริยาย (เหตุ) นี้มีอยู่แล ดังนี้เป็นต้น.

[ปริยายศัพท์ลงในอรรถ ๓ อย่าง]

ในคําว่า ปริยาโย เป็นต้นนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ การณะชื่อว่าปริยาย. จริงอยู่ ปริยายศัพท์นี้ ย่อมเป็นไปในเทศนา วาระ และการณะ.

ความจริง ปริยายศัพท์นั่น ย่อมเป็นไปในเทศนา ในคําทั้งหลายมีอาทิว่า เธอจงทรงจําธรรมปริยายนี้ว่า มธุปิณฑิกปริยาย (๑) (ธรรมเทศนาที่ไพเราะอ่อนหวานเหมือนขนมหวาน) ดังนี้เถิด.


(๑) ม. มู. ๑๒/๒๓๐.

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 227

เป็นไปในวาระ ในคําทั้งหลายมีอาทิว่า ดูก่อนอานนท์ วันนี้เป็นวาระของใครหนอแล เพื่อโอวาทนางภิกษุณีทั้งหลาย.

เป็นไปในการณะ ในคําทั้งหลายมีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดตรัสบอกปริยาย (เหตุ) อื่น โดยอาการที่ภิกษุสงฆ์ จะพึงดํารงอยู่ในความเป็นพระอรหันต์.

ในที่นี้ ปริยายศัพท์นี้นั้น ย่อมเป็นไปในการณะ (เหตุ). เพราะฉะนั้น ในบทว่า ปริยาโย นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลกล่าวหาเราอยู่ว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นคนไม่มีรส ดังนี้ พึงพูดถูก คือพึงถึงความนับว่า เป็นผู้พูดไม่ผิด เพราะเหตุใด เหตุนั่น มีอยู่จริงแล.

ถามว่า ก็ปริยาย (เหตุ) นั้น เป็นไฉน?

แก้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ รสในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้นใด, รสในรูปเป็นต้นเหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว.

ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายไว้อย่างไร?

แก้ว่า ตรัสอธิบายไว้อย่างนี้ คือ รสในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กล่าวคือความยินดีในกามสุข เหล่านั้นใด ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนทั้งหลาย แม้ผู้ที่ชาวโลกสมมติว่า เป็นผู้ประเสริฐ ด้วยอํานาจชาติ หรือด้วยอํานาจความอุบัติ ผู้ยังยินดี เพลิดเพลิน กําหนัดในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้น, รสเหล่าใด ย่อมฉุดรั้งโลกนี้ไว้เหมือนผูกที่คอ และบัณฑิตเรียกว่า สามัคคีรส เพราะเมื่อมีความพร้อมเพรียงกันแห่งวัตถุและอารมณ์เป็นต้น ก็เกิดขึ้นได้ รสเหล่านั้นแม้ทั้งหมด พระตถาคตละได้แล้ว.

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 228

แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าควรจะตรัสว่า อันเราละได้แล้ว ก็ทรงแสดงธรรม ไม่ยกพระองค์ขึ้นข่มด้วยมมังการ. อีกนัยหนึ่ง นั่นเป็นความวิลาสแห่งเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

[พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละรสในรูปเป็นต้นได้เด็ดขาด]

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหีนา ความว่า รสในรูปเป็นต้นปราศไปจากจิตตสันดาน (ของพระตถาคต) หรืออันพระตถาคตทรงละได้แล้ว. แต่ในอรรถนี้ พึงเห็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถตติยาวิภัตติ. รสในรูปเป็นต้นชื่อว่ามีรากเหง้าอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดขาดแล้ว เพราะอรรถว่า รากเหง้าแห่งความเยื่อใยในรูปเป็นต้นเหล่านั้น อันสําเร็จมาจากตัณหาและอวิชชา อันพระองค์ทรงตัดขาดแล้ว ด้วยศัสตรา คือ อริยมรรค. ชื่อว่าอันพระองค์ทรงทําให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน เพราะอรรถว่า วัตถุแห่งรูปรสเป็นต้นเหล่านั้น อันพระองค์ทรงทําให้เป็นเหมือนตอตาลฉะนั้น. เหมือนอย่างว่า เมื่อบุคคลถอนต้นตาลขึ้นพร้อมทั้งรากแล้ว กระทําประเทศนั้นให้เป็นสักว่าตอแห่งต้นตาลนั้น ความเกิดขึ้นแห่งต้นตาลนั้น ย่อมปรากฏไม่ได้อีกฉันใด, เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงถอนรสในรูปเป็นต้นขึ้นพร้อมทั้งราก ด้วยศัสตรา คือ อริยมรรคแล้ว ทรงทําจิตตสันดานให้เป็นเพียงที่ตั้งแห่งรสในรูปเป็นต้นนั้น โดยความเป็นสถานที่เคยเกิดมาในกาลก่อน รสในรูปเป็นต้นเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ท่านเรียกว่า ตาลาวัตถุกตา (ทําให้เหมือนตาลยอดด้วน) ฉันนั้น.

อีกอย่างหนึ่ง รูปาทิรสเป็นต้นเหล่านั้น มีอันไม่งอกขึ้นเป็นธรรมดา อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทําให้เหมือนตาลยอดด้วนฉะนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ตาลาวัตถุกตา (อันพระองค์ทรงทําให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วนแล้ว). อนึ่ง เพราะรูปาทิรสเป็นต้น พระองค์ทรงทําให้เป็นเหมือนตาล

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 229

ยอดด้วน โดยนัยที่กล่าวแล้วอย่างนั้น ชื่อว่า เป็นอันพระองค์ทรงทําไม่ให้มีในภายหลัง คือทรงทําโดยอาการที่รูปาทิรสเป็นต้นเหล่านั้น จะมีในภายหลังไม่ได้, ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า อนภาวํ กตา (กระทําไม่ให้มีในภายหลัง).

[อรรถาธิบายศัพท์ อนภาวํ กตา - อนภาวํ คตา]

ในบทว่า อนภาวํ กตา นี้ ตัดบทดังนี้ คือ อนุ อภาวํ กตา เชื่อมบทเป็น อนภาวํ กตา แปลว่า ทําไม่ให้มีในภายหลัง. ปาฐะว่า อนภาวํ คตา ดังนี้ก็มี. ความแห่งปาฐะนั้นว่า ถึงแล้วซึ่งความไม่มีในภายหลัง. ในบทว่า อนภาวํ คตา นั้น ตัดบทดังนี้ คือ อนุ อภาวํ คตา เชื่อมบทเป็น อนภาวํ คตา แปลว่า ถึงแล้วซึ่งความไม่มีในภายหลังเหมือนการตัดบทในประโยคว่า อนุ อจฺฉริยา เชื่อมบทเป็น อนจฺฉริยา (๑) แปลว่า พระคาถาเหล่านี้มีความอัศจรรย์ในภายหลัง แจ่มแจ้งแล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

สองบทว่า อายติํ อนุปฺปาทธมฺมา แปลว่า มีอันไม่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นสภาพ. จริงอยู่ รูปรสเป็นต้นเหล่าใด ที่ถึงความไม่มีแล้ว รูปรสเป็นต้นเหล่านั้น จักเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า? เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ถึงแล้วซึ่งความไม่มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป.

หลายบทว่า อยํ โข พฺราหฺมณ ปริยาโย ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลกล่าวหาเราอยู่ว่า พระสมณโคดม เป็นคนไม่มีรส ดังนี้ ชื่อว่าพึงพูดถูกด้วยเหตุใด, เหตุนี้ มีอยู่จริงๆ.

หลายบทว่า โน จ โข ยํ ตฺวํ สนฺธาย วเทสิ ความว่า ก็แล เหตุที่ท่านกล่าวมุ่งหมายเอากะเรา ไม่มี.


(๑) ที. มหา. ๑๐/๔๑. วิ. มหา. ๔/๘.

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 230

ถามว่า เพราะเหตุใด พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสอย่างนั้น? เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนั้น ย่อมเป็นอันทรงรับรองความที่สามัคคีรส ซึ่งพราหมณ์กล่าวนั้นมีอยู่ในพระองค์มิใช่หรือ?

ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป : - สามัคคีรสที่พราหมณ์กล่าวหามีไม่. แท้จริง ผู้ใด เป็นผู้ควรเพื่อทําสามัคคีรสนั้น แต่ไม่ทํา, ผู้นั้น พึงเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นคนมีรูปไม่มีรส เพราะไม่มีการทําสามัคคีรสนั้น. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ควรเพื่อทรงทําสามัคคีรสนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกาศข้อความที่พระองค์เป็นผู้ไม่ควรในการทําสามัคคีรสนั้น จึงได้ตรัสว่า โน จ โข ยํ ตฺวํ สนฺธาย วเทสิ อธิบายว่า ท่านมุ่งหมายถึงเหตุอันใด จึงกล่าวกะเราว่า เป็นคนไม่มีรส เหตุอันนั้นท่านไม่ควรพูดในเราเลย.

[เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ไร้โภคะ]

พราหมณ์ ไม่สามารถจะยกความที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นคนไม่มีรส (ขึ้นค่อนขอด) ตามที่ตนประสงค์อย่างนั้น จึงกล่าวคําอื่นต่อไปอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้ไร้โภคะ.

อนึ่ง บัณฑิตครั้นทราบลําดับโยชนา โดยนัยดังกล่าวแล้วนั้นแหละในปริยายทั้งปวงในพระบาลีนี้ ก็ควรทราบใจความตามที่พราหมณ์มุ่งกล่าวไว้โดยนัยดังจะกล่าวต่อไปนี้ : -

พราหมณ์สําคัญสามีจิกรรม มีการกราบไหว้เหล่าชนผู้เจริญวัยเป็นต้นนั้นนั่นแลว่าเป็นสามัคคีบริโภคในโลก จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นผู้ไร้โภคะ เพราะความไม่มีสามีจิกรรม มีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น.

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 231

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นความไม่มีการบริโภคด้วยอํานาจฉันทราคะ (ดุจ) ของสัตว์ทั้งหลาย ในรูปารมณ์เป็นต้น ในพระองค์ จึงทรงรับรองปริยายอื่นอีก.

พราหมณ์ พิจารณาเห็นการไม่กระทํากรรมคือมรรยาทสําหรับสกุล มีการกราบไหว้เหล่าชนผู้เจริญวัยเป็นต้น ที่ประชาชนชาวโลกทํากันอยู่ในโลก จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้กล่าวการไม่กระทํา. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นการกล่าวการไม่กระทํานั้น (มีอยู่) ในพระองค์ เพราะพระองค์ตรัสการไม่กระทํากายทุจริตเป็นต้น จึงทรงรับรองปริยายอื่นอีก.

ก็เจตนาในการทําชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป ในการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ และในมิจฉาจาร พึงทราบว่า กายทุจริต ในบรรดาบทเหล่านั้น. เจตนาในการพูดเท็จ การพูดส่อเสียด พูดคําหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ พึงทราบว่า วจีทุจริต. ความโลภอยากได้ ความปองร้าย ความเห็นผิด พึงทราบว่า มโนทุจริต. อกุศลธรรมทั้งหลายที่เหลือ เว้นธรรมเหล่านั้นเสีย พึงทราบว่า อกุศลธรรมอันลามกมีส่วนมิใช่น้อย.

[เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้กล่าวการขาดสูญ]

พราหมณ์ไม่เห็นกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้นแล ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าใจว่า อาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ แบบแผนประเพณีของโลกนี้ก็จักขาดสูญ จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้กล่าวการขาดสูญ. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นการกล่าวการขาดสูญนั้น (มีอยู่) ในพระองค์ เพราะพระองค์ตรัสการขาดสูญแห่งราคะอัน

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 232

เป็นไปในกามคุณ ๕ ในจิตตุปบาทอันสหรคตด้วยโลภะ ๘ ดวง และโทสะอันบังเกิดขึ้นในอกุศลจิต ๒ ดวง ด้วยอนาคามิมรรค อนึ่ง ตรัสการขาดสูญแห่งโมหะอันเกิดแต่อกุศลทั้งหมดไม่มีเหลือ ด้วยอรหัตตมรรค ตรัสการขาดสูญแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่เหลือ นอกจากโลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นั้นด้วยมรรค ๔ ตามสมควร จึงทรงรับรองปริยายอื่นอีก.

[เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้รังเกียจ]

พราหมณ์เข้าใจว่า พระสมณโคดม ชะรอยจะทรงรังเกียจกรรมคือมรรยาทสําหรับสกุล มีการกราบไหว้เหล่าชนผู้เจริญวัยเป็นต้นนี้ เพราะเหตุนั้นพระองค์จึงไม่ทรงกระทํากรรมนั้น จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโดมผู้เจริญ เป็นผู้รังเกียจ. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นความรังเกียจนั้น (มีอยู่) ในพระองค์ เพราะพระองค์ทรงรังเกียจแต่กายทุจริตเป็นต้น. พระองค์ตรัสอธิบายไว้อย่างไร. ตรัสอธิบายไว้ว่า ทรงรังเกียจ ทรงละอาย กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓ และความเข้าถึงความถึงพร้อม ความเป็นผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยธรรมทั้งหลายที่เหลือ เว้นทุจริตเหล่านั้นที่ชื่อว่าชั่วช้า เพราะอรรถว่าเลวทราม ที่ชื่อว่าอกุศล เพราะอรรถว่าเป็นความไม่ฉลาด แม้ทั้งหมด เหมือนบุรุษผู้มีชาติคนประดับ รังเกียจคูถฉะนั้น จึงทรงรับรองปริยายอื่นอีก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายทุจฺจริเตน เป็นต้น พึงเห็นตติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ.

[เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้กําจัด]

พราหมณ์ เมื่อไม่เล็งเห็นกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นแล ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าใจว่า พระโคดมนี้ ย่อมทรงกําจัด คือทรงทํากรรมที่ควร

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 233

ทําแก่ผู้ประเสริฐในโลกนี้ ให้พินาศ, อีกอย่างหนึ่ง เพราะไม่ทรงทําสามีจิกรรมนั่น ฉะนั้น พระโคดมนี้ จึงควรถูกกําจัด คือ ควรถูกข่มขี่ จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้กําจัด.

ในบทว่า เวนยิโก นั้น มีใจความเฉพาะบท ดังต่อไปนี้ :- อุบายที่ชื่อว่า วินัย เพราะอรรถว่า ย่อมกําจัด. อธิบายว่า ย่อมทําให้พินาศ. วินัยนั่นแลชื่อ เวนยิกะ. อีกอย่างหนึ่ง บุคคลย่อมควรซึ่งการกําจัด เหตุนั้นจึงชื่อว่า เวนยิกะ (ผู้ควรกําจัด). มีอธิบายว่า ย่อมควรซึ่งอันข่มขี่. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าทรงกําจัด เพราะพระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อกําจัด คือเพื่อความสงบกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น. ในบทว่า เวนยิโก นี้ มีใจความเฉพาะบทเท่านี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า เวนยิกะ เพราะอรรถว่า ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อกําจัด (กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น). จริงอยู่ วิธีพฤทธิ์แห่งศัพท์ตัทธิต เป็นของวิจิตร. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้นั้น ทรงพิจารณาเห็นความเป็นผู้กําจัดนั้น (มีอยู่) ในพระองค์ จึงทรงรับรองปริยายอื่นอีก.

[เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้มักเผาผลาญ]

พราหมณ์เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ย่อมเผาผลาญเหล่าชนผู้เจริญวัย เพราะชนทั้งหลายเมื่อกระทําสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้น ย่อมทําเหล่าชนผู้เจริญวัยให้ยินดี ให้ร่าเริง แต่เมื่อไม่กระทํา ย่อมทําให้เดือดร้อนให้ขัดเคือง ให้เกิดโทมนัสแก่พวกเขา และพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมไม่กระทําสามีจิกรรมเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เป็นคนกําพร้า เพราะเป็นผู้เว้นจากมรรยาทของคนดี จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นผู้มักเผาผลาญ.

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 234

ในอรรถวิกัปแรกนั้น มีใจความเฉพาะบทดังต่อไปนี้ : - ธรรมที่ชื่อว่า ตบะ เพราะอรรถว่า เผาผลาญ. มีคําอธิบายว่า ย่อมรบกวน คือย่อมเบียดเบียน. คําว่า ตบะ นี้ เป็นชื่อแห่งการทําสามีจิกรรม. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตปัสสี เพราะอรรถว่า ทรงมีตบะ. ในอรรถวิกัปที่สอง บัณฑิตไม่ต้องพิจารณาถึงพยัญชนะ เรียกคนกําพร้าในโลกว่า ตปัสสี. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นความมักเผาผลาญนั้น (มีอยู่) ในพระองค์ เพราะพระองค์ถึงการนับว่าเป็นผู้เผาผลาญ เพราะทรงละเหล่าอกุศลธรรมที่เรียกว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน เพราะเผาผลาญชาวโลก จึงทรงรับรองปริยายอื่นอีก.

ในบทว่า ตปสฺสี นั้น มีใจความเฉพาะบท ดังต่อไปนี้ : - อกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า ตบะ เพราะอรรถว่า เผาผลาญ. คําว่า ตบะ นั่น เป็นชื่อแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย. แม้ข้อนี้ ก็สมจริงดังพระดํารัสที่พระองค์ตรัสไว้ในคาถาว่า บุคคลผู้ทําบาป เดือดร้อนอยู่ในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน (๑) ดังนี้เป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า ตปัสสี เพราะอรรถว่าทรงเหวี่ยง ทรงสลัด ทรงละ คือทรงกําจัดตบะธรรมเหล่านั้นเสีย.

[เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ปราศจากครรภ์]

พราหมณ์เข้าใจว่า กรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าถึงพร้อมแห่งครรภ์ในเทวโลก เพื่อได้เฉพาะซึ่งปฏิสนธิในเทวโลก และเห็นกรรมนั้นไม่มีในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้ปราศจากครรภ์. อีกอย่างหนึ่ง พราหมณ์ แม้เมื่อ


(๑) ขุ. ธ. ๒๕/๑๗

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 235

แสดงโทษ เพราะการถือปฏิสนธิในท้องแห่งมารดาของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอํานาจความโกรธ จึงกล่าวอยางนั้น.

ในบทว่า อปคพฺโภ นั้น มีใจความเฉพาะบท ดังต่อไปนี้ : - พระสมณโคดม ชื่อว่า อปคัพภะ เพราะอรรถว่า ปราศจากครรภ์ อธิบายว่า พระสมณโคดม ไม่สมควรถึงความบังเกิดยังเทวโลก. อีกอย่างหนึ่งครรภ์ของพระสมณโคดมนั้นเลว เหตุนั้น ท่านจึงชื่อ อปคัพภะ. อธิบายว่า พระสมณโคดม ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนได้แต่ครรภ์ที่เลวทรามต่อไป เพราะเป็นผู้เหินห่างจากครรภ์ในเทวโลก, เพราะเหตุนั้น ความอยู่ในครรภ์ ในท้องแห่งมารดาของพระสมณโคดมนั้น จึงเป็นการเลวบ้าง. ก็เพราะความนอนในครรภ์ต่อไปของพระผู้มีพระภาคเจ้าปราศจากไปแล้ว ฉะนั้น พระองค์เมื่อทรงพิจารณาเห็นความปราศจากครรภ์นั้น (มีอยู่) ในพระองค์ จึงทรงรับรองปริยายอื่นอีก.

ก็บรรดาบทเหล่านั้น ใจความแห่งบทเหล่านี้ว่า ยสฺส โข พฺราหฺมณ อายตึ คพฺภเสยฺยา ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ ปหีนา พึงทราบอย่างนี้ :- ดูกร พราหมณ์ ความนอนในครรภ์ในอนาคต และความเกิดในภพใหม่ของบุคคลใด ชื่อว่า ละได้แล้ว เพราะมีเหตุอันมรรคยอดเยี่ยมกําจัดเสียแล้ว.

ก็ในอธิการนี้ ชลาพุชกําเนิด พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงถือเอาด้วยคัพภเสยยศัพท์. กําเนิดนอกนี้อีก ๓ ทรงถือเอาด้วย ปุนัพภวาภินิพพัตติศัพท์.

อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในสองบทว่า คพฺภเสยฺยา ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ นี้ อย่างนี้ว่า ความนอนแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ชื่อว่า คพฺภเสยฺยา ความบังเกิด คือภพใหม่ ชื่อว่า ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ เหมือนอย่างว่า

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 236

แม้เมื่อกล่าวว่า วิญญาณฐิติ ที่ตั้งอื่นจากวิญญาณไป ย่อมไม่มี ฉันใด แม้ในที่นี้ ก็ฉันนั้น ไม่พึงเข้าใจความนอนอื่นจากสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ต่อไป. ก็ขึ้นชื่อว่า ความบังเกิดที่เป็นภพใหม่ก็มี ที่ไม่ใช่ภพใหม่ก็มี แต่ในที่นี้ประสงค์เอาที่เป็นภพใหม่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ความบังเกิด คือภพใหม่ชื่อ ปุนัพภวาภินิพพัตติ.

(๑) พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ผู้เป็นพระธรรมิศร พระธรรมราชา พระธรรมสวามี พระตถาคต ทอดพระเนตรดูพราหมณ์ แม้ผู้ด่าอยู่ด้วยอักโกสวัตถุ ๘ มีความที่พระองค์มีปกติไม่ไยดีในรูปเป็นต้น จําเดิมแต่กาลที่มาถึงโดยประการฉะนี้ ด้วยพระจักษุอันเยือกเย็นด้วยพระกรุณาอย่างเดียว ทรงกําจัดความมืดในหทัยของพราหมณ์ ดุจพระจันทร์เพ็ญและดุจพระอาทิตย์ ในสรทกาล ลอยอยู่ในอากาศอันปราศจากเมฆ ฉะนั้น เพราะพระองค์ทรงแทงตลอดธรรมธาตุอันใดแล้วถึงความงามแห่งเทศนา ธรรมธาตุนั้นพระองค์แทงตลอดดีแล้ว ทรงแสดงอักโกสวัตถุเหล่านั้นนั่นเอง โดยประการอย่างอื่นจากปริยายนั้นๆ แล้ว เมื่อจะประกาศความแผ่ไปแห่งพระกรุณาของพระองค์ ลักษณะแห่งตาทิคุณอันพระองค์ทรงได้แล้ว โดยความที่พระองค์มิได้ทรงหวั่นไหวเพราะโลกธรรม ๘ ความที่พระองค์มีจิตเสมอด้วยแผ่นดิน และความที่พระองค์มีอันไม่กําเริบเป็นธรรมซ้ำอีก ทรงพระดําริว่า พราหมณ์นี้ ย่อมทราบความที่ตนเป็นใหญ่ ด้วยเหตุมีความเป็นผู้มีผมหงอกบนศีรษะ มีฟันหัก มีหนังเหี่ยวเป็นต้นอย่างเดียว แต่หารู้ไม่แล ซึ่งตนอันชาติติดตาม ชรารึงรัด พยาธิครอบงํา มรณะกําจัด เป็นดุจหลักตอในวัฏฏะอันจะพึงตายในวันนี้แล้ว ถึงความเป็นทารกนอนหงายในพรุ่งนี้อีก ก็พราหมณ์นี้มาสู่สํานักของเราด้วยความ


(๑) องค์การศึกษาแผนกบาลีแปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๙๖.

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 237

อุตสาหะใหญ่แล ขอให้การมาของพราหมณ์นั้น จงเป็นไปกับด้วยประโยชน์เถิด ดังนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความที่พระองค์เป็นผู้เกิดก่อน ซึ่งหาผู้เทียมถึงพระองค์มิได้ ในโลกนี้ จึงยังพระธรรมเทศนาให้เจริญแก่พราหมณ์โดยนัยว่า เสยฺยถาปิ พฺราหฺมณ เป็นต้น บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺยถา เป็นนิบาต ลงในอรรถคืออุปมา. ปิศัพท์ เป็นนิบาต ลงในอรรถ คือสัมภาวนะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ยถา นาม พฺราหฺมณ ด้วยนิบาตทั้งสอง, ก็ในคําว่า ฟองไข่แห่งแม่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง นี้ ฟองไข่แห่งแม่ไก่ถึงจะมีจํานวนหย่อนหรือเกินไปจากประการดังที่กล่าวแล้ว แม้ก็จริง ถึงกระนั้น ก็ควรทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคําอย่างนี้ เพราะเป็นความสละสลวยแห่งถ้อยคํา. จริงอยู่ ถ้อยคําเช่นนั้น จัดว่าเป็นคําสละสลวยในทางโลก.

บทว่า ตานิสฺสุ ตัดบทเป็น ตานิ อสฺสุ อธิบายว่า ภเวยฺยุํ แปลว่า ไข่เหล่านั้นพึงมี.

หลายบทว่า กุกฺกุฏิยา สมฺมา อธิสยิตานิ ความว่า ฟองไข่ทั้งหลายอันแม่ไก่ตัวให้กําเนิดนั้น กางปีกออกนอนกกอยู่ข้างบนแห่งฟองไข่เหล่านั้น ชื่อว่านอนกกอยู่โดยถูกต้อง.

สองบทว่า สมฺมา ปริเสทิตานิ ความว่า เมื่อแม่ไก่ให้ฟองไข่ได้รับอุณหภูมิตามกาลเวลาอันสมควร ชื่อว่าให้อบอุ่นโดยทั่วถึงด้วยดี. มีคําอธิบายว่า ทําให้มีไออุ่น.

สองบทว่า สมฺมา ปริภาวิตานิ ความว่า ฟองไข่ทั้งหลายอันแม่ไก่ฟักถูกต้องโดยทั่วถึง ตามกาลเวลาอันสมควร. อธิบายว่า ให้ได้รับกลิ่นตัวแม่ไก่.

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 238

[ไก่ตัวออกก่อนเรียกว่าไก่ตัวพี่]

บัดนี้ เพราะฟองไข่เหล่านั้น อันแม่ไก่นั้นบริบาลอยู่ด้วยวิธีทั้ง ๓ อย่างนี้ จึงเป็นไข่ไม่เน่า แม้ยางเมือกแห่งฟองไข่เหล่านั้นที่มีอยู่ ก็จะถึงความสิ้นไป กระเปาะฟองไข่จะบาง ปลายเล็บเท้าและจะงอยปากจะแข็ง. ลูกไก่ทั้งหลาย (ที่อยู่ข้างในกระเปาะฟอง) ย่อมถึงความแก่ตัว แสงสว่างข้างนอกย่อมปรากฏถึงข้างใน เพราะกระเปาะไข่บาง เวลาแสงสว่างปรากฏอยู่นั้น ลูกไก่เหล่านั้นใฝ่ฝันอยู่ว่า นานแท้หนอ พวกเรานอนงอปีกและเท้าอยู่ในที่คับแคบ และแสงสว่างข้างนอกก็กําลังปรากฏ บัดนี้ ความอยู่อย่างสบาย จักมีแก่พวกเราในแสงสว่างนี้ ดังนี้ มีความประสงค์จะออกมา จึงเอาเท้ากะเทาะกระเปาะฟองไข่ ยื่นคอออกมา. ต่อจากนั้นกระเปาะฟองไข่นั้น ก็แตกออกเป็นสองเสี่ยง. ลูกไก่ทั้งหลาย ก็ออกมาสลัดปีกพลางร้องพลาง ตามสมควรแก่ขณะนั้น. ก็บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ที่ออกมาอยู่อย่างนั้น ตัวใดออกมาก่อนกว่าเขา ตัวนั้นเขาเรียกกันว่า ตัวพี่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระประสงค์จะยังความที่พระองค์เป็นผู้ใหญ่กว่าเขาให้สําเร็จด้วยอุปมานั้น จึงตรัสถามพราหมณ์ว่า บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใด พึงเอาปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากกะเทาะกระเปาะฟองไข่ออกมาได้ โดยความสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุกฺกุฏจฺฉาปกานํ คือบรรดาลูกไก่ทั้งหลาย.

หลายบทว่า กินฺติ สฺวาสฺส วจนีโย ความว่า ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร? คือ ควรเรียกว่า พี่ หรือ น้อง เล่า? คําที่เหลือมีใจความง่ายทั้งนั้น.

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 239

ลําดับนั้น พราหมณ์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ควรเรียกว่า พี่ มีอธิบายว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ลูกไก่ตัวนั้น ควรเรียกว่าพี่.

หากจะมีคําถามว่า เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า พี่? แก้ว่า เพราะลูกไก่ตัวนั้น มันแก่กว่าเขา อธิบายว่า เพราะลูกไก่ตัวนั้นเติบโตกว่าบรรดาลูกไก่ที่ออกมาภายหลังเหล่านั้น.

ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงเทียบเคียงข้ออุปมาแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า ฉันนั้นนั่นแล พราหมณ์ แม้เราก็เหมือนลูกไก่ตัวนั้น ในบรรดาหมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชา...

ความไม่รู้ ท่านเรียกว่า อวิชชา ในบทว่า อวิชฺชาคตาย นี้ บรรดาหมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชานั้น. คําว่า ปชาย นั่น เป็นชื่อของสัตว์. เพราะฉะนั้น ในคําว่า อวิชฺชาคตาย ปชาย นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ผู้ตกเข้าไปในภายในแห่งกระเปาะฟองคืออวิชชา.

บทว่า อณฺฑภูตาย ความว่า ผู้เป็นแล้ว ผู้เกิดแล้ว คือผู้เกิดพร้อมแล้วในฟองไข่ เหมือนอย่างว่า สัตว์บางพวกผู้เกิดในฟองไข่ เขาเรียกว่า อัณฑภูตา ฉันใด หมู่สัตว์แม้ทั้งหมดนี้ ก็ฉันนั้น ท่านเรียกว่า อัณฑภูตา เพราะความที่ตนเกิดในกระเปาะฟองไข่ คือ อวิชชา.

บทว่า ปริโยนทธฺาย ความว่า ผู้อันกระเปาะฟอง คือ อวิชชานั้น รึงรัด คือ ผูกมัด พันไว้โดยรอบ.

บทว่า อวิชฺชณฺฑโกสมฺปทาเลตฺวา ความว่า เราได้ทําลายกระเปาะฟองที่สําเร็จมาจากอวิชชานั้นแล้ว.

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 240

สองบทว่า เอโกว โลเก ความว่า ในโลกสันนิวาสแม้ทั้งสิ้น เราผู้เดียวเท่านั้น คือไม่มีคนที่สอง.

บทว่า อนุตฺตรํ ในคําว่า อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธิํ อภิสมฺพุทฺโธ นี้ ความว่า เว้นจากอริยมรรคอันเยี่ยมเสียแล้ว ประเสริฐกว่าธรรมทุกอย่าง.

บทว่า สมฺมาสมฺโพธิํ แปลว่า ซึ่งความตรัสรู้โดยชอบและด้วยพระองค์เอง. อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ซึ่งความตรัสรู้ ที่ปราชญ์สรรเสริญด้วย ดีด้วย.

[โพธิศัพท์หมายความถึง ๔ นัย]

ต้นไม้ก็ดี มรรคก็ดี สัพพัญุตญาณก็ดี นิพพานก็ดี ท่านเรียกว่า โพธิ.

จริงอยู่ ท่านเรียกต้นไม้ว่า โพธิ ในอาคตสถานทั้งหลายว่า ตรัสรู้ครั้งแรก ที่โคนโพธิพฤกษ์ และว่า ในระหว่างแห่งต้นโพธิ์ ในระหว่างแห่งแม่น้ำคยา.

มรรค ท่านเรียกว่า โพธิ ในอาคตสถานว่า ความรู้โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ในมรรคทั้ง ๔.

สัพพัญุตญาณ ท่านเรียกว่า โพธิ ในอาคตสถานว่า พระสิทธัตถโพธิสัตว์ มีพระปัญญาประเสริฐดุจแผ่นปฐพี ทรงบรรลุพระโพธิญาณ.

พระนิพพาน ท่านเรียกว่า โพธิ ในอาคตสถานว่า พระสิทธัตถโพธิสัตว์ ทรงบรรลุโพธิ อันเป็นอมตะ เป็นอสังขตะ.

แต่ในบทว่า สมฺมาสมฺโพธิํ นี้ ท่านประสงค์เอาอรหัตตมรรคญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ประสงค์เอาสัพพัญุตญาณบ้าง.

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 241

ถามว่า พระอรหัตตมรรค ของคนเหล่าอื่น จัดเป็นโพธิ (ความตรัสรู้) อย่างยอดเยี่ยมหรือไม่?

แก้ว่า ไม่เป็น.

ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่เป็น?

แก้ว่า เพราะพระอรหัตตมรรคของคนเหล่าอื่นนั้น อํานวยคุณให้ไม่ได้ทุกอย่าง.

จริงอยู่ พระอรหัตตมรรคของบรรดาคนเหล่านั้น บางคนให้เฉพาะพระอรหัตตผลเท่านั้น. ของบางคน ให้เฉพาะวิชชา ๓. ของบางคน ให้เฉพาะอภิญญา ๖. ของบางคน ให้เฉพาะปฏิสัมภิทา ๔. ของบางคน ให้เฉพาะสาวกบารมีญาณ. ถึงของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ให้เฉพาะปัจเจกโพธิญาณเท่านั้น. ส่วนพระอรหัตตมรรคของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมให้คุณสมบัติทุกอย่าง ดุจการอภิเษกของพระราชาให้ความเป็นใหญ่ในโลกทั้งหมด ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น พระอรหัตตมรรค แม้ของคนอื่นบางคน จึงไม่จัดเป็นโพธิ (ความตรัสรู้) อย่างยอดเยี่ยม ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อภิสมฺพุทฺโธ ความว่า เราได้รู้ยิ่งแล้ว คือได้แทงตลอดแล้ว อธิบายว่า เราได้บรรลุแล้ว คือได้ถึงทับแล้ว.

[ข้อเปรียบเทียบการทรงบําเพ็ญอนุปัสสนาเหมือนการฟักไข่]

บัดนี้ บัณฑิตควรเทียบเคียงคําอุปมาอุปไมย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เอวเมว โข อหํ พฺราหฺมณ แล้วพึงทราบโดยใจความ โดยนัยดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ : -

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 242

เหมือนอย่างว่า ข้อที่แม่ไก่นั้น ทํากิริยาทั้ง ๓ มีนอนกกอยู่บนฟองไข่ทั้งหลายเป็นต้นของตน ฉันใด ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ แล้วทรงบําเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในจิตตสันดานของพระองค์ ก็ฉันนั้น.

ความไม่เสื่อมไปแห่งวิปัสสนาญาณ ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบําเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนฟองไข่ทั้งหลายไม่เน่า ก็เพราะแม่ไก่ทํากิริยาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อมฉะนั้น.

ความสิ้นไปแห่งความสิเนหา คือความติดใจไปตามไตรภพ ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบําเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนความสิ้นไปแห่งยางเมือก แห่งฟองไข่ทั้งหลาย ก็เพราะแม่ไก่ทํากิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.

ความที่กระเปาะฟองคืออวิชชา เป็นธรรมชาติบาง ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบําเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนภาวะที่กระเปาะฟองไข่เป็นของบาง ก็เพราะแม่ไก่ทํากิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.

ความที่วิปัสสนาญาณเป็นคุณชาติกล้าแข็ง ผ่องใสและองอาจ ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบําเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนภาวะที่เล็บเท้า และจะงอยปากของลูกไก่เป็นของหยาบและแข็ง ก็เพราะแม่ไก่ทํากิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.

ควรทราบเวลาที่วิปัสสนาญาณแก่เต็มที่ เวลาเจริญ (และ) เวลาถือเอาห้อง ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบําเพ็ญ

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 243

อนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนเวลาที่ลูกไก่แก่เต็มที่ ก็เพราะแม่ไก่ทํากิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.

เพราะเหตุนั้น ควรทราบเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้วิปัสสนาญาณถือเอาห้อง แล้วทําลายกระเปาะฟองคืออวิชชาด้วยพระอรหัตตมรรค ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุโดยลําดับ แล้วทรงปรบปีกคืออภิญญา จึงทรงทําให้แจ้งซึ่งพระพุทธคุณทั้งหมด โดยความสวัสดี ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงบําเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนเวลาที่ลูกไก่เอาปลายเล็บเท้า และจะงอยปากกะเทาะกระเปาะฟองไข่ แล้วปรบปีกออกมาได้โดยความสวัสดี ก็เพราะแม่ไก่ทํากิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.

หลายบทว่า สฺวาหํ พฺราหฺมณ เชฏฺโ เสฏฺโ โลกสฺส ความว่า ดูกร พราหมณ์ บรรดาหมู่สัตว์ ผู้ตกอยู่ในอวิชชา เรานั้นได้ทําลายกระเปาะฟอง คือ อวิชชานั้น แล้วถึงความนับว่า เป็นผู้ที่เจริญที่สุด คือเจริญอย่างสูงสุด เพราะเป็นผู้เกิดแล้วโดยอริยชาติก่อนกว่าเขา เปรียบเหมือนบรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวที่กะเทาะกระเปาะฟองไข่ออกมาได้ก่อนกว่าเขา ย่อมเป็นไก่ตัวพี่ ฉะนั้น, ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าถึงความนับว่า เป็นผู้ประเสริฐที่สุด เพราะไม่มีใครทัดเทียมได้ด้วยพระคุณทั้งปวง.

[พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ประเสริฐเพราะบําเพ็ญเพียร]

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงประกาศความที่พระองค์เป็นผู้เจริญที่สุดและและประเสริฐที่สุดอย่างยอดเยี่ยมแก่พราหมณ์อย่างนั้นแล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงปฏิปทาที่เป็นเหตุให้พระองค์ทรงบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดเป็นต้นนั้น จําเดิมแต่ส่วนเบื้องต้น จึงตรัสว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ เป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 244

อีกอย่างหนึ่ง เพราะได้สดับข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุดอย่างยอดเยี่ยมนี้แล้ว พราหมณ์จึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุดด้วยปฏิปทาอะไรหนอแล? ดังนี้ ; พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบความคิดของพราหมณ์นั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงว่า เราได้บรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุดอย่างยอดเยี่ยมนี้ ด้วยปฏิปทานี้ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ วิริยํ อโหสิ ความว่า ดูกร พราหมณ์ ข้อที่เราเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุดอย่างยอดเยี่ยมนี้ เราหาได้บรรลุด้วยความเกียจคร้าน ด้วยความหลงลืมสติ ด้วยความมีกายกระสับกระส่าย (และ) ด้วยความเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านไม่. อีกอย่างหนึ่งแล เพราะเราได้ปรารภความเพียรแล้วแล เพื่อบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุดนั้น คือเรานั่งอยู่แล้ว ณ โพธิมัณฑ์ ได้ปรารภความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔ มีคําอธิบายว่า ได้ประคอง คือให้เป็นไปไม่ย่อหย่อน. ก็แลความเพียรนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อนเพราะเราได้ปรารภแล้วอย่างแท้จริง ทั้งมิใช่แต่ความเพียรอย่างเดียวเท่านั้น แม้สติเราก็ได้เข้าไปตั้งไว้เฉพาะแล้ว โดยความเป็นคุณธรรมบ่ายหน้าตรงต่ออารมณ์ และชื่อว่าเป็นความไม่หลงลืม เพราะปรากฏอยู่เฉพาะหน้าทีเดียว.

สองบทว่า ปสฺสทฺโธ กาโย ความว่า แม้กายของเราก็เป็นของสงบแล้ว ด้วยอํานาจแห่งความสงบกายและจิต. เพราะเมื่อนามกายสงบแล้ว แม้รูปกาย ก็เป็นอันสงบแล้วเหมือนกัน, ฉะนั้น ในพระบาลีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสให้พิเศษเลยว่า นามกาย รูปกาย ตรัสเพียงว่า กายสงบ เท่านั้น.

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 245

บทว่า อสารทฺโธ ความว่า ก็กายนั้น ชื่อว่าหาความกระสับกระส่ายมิได้ เพราะเป็นกายอันสงบแล้วนั่นแล, มีคําอธิบายว่า เป็นกายที่ปราศจากความกระวนกระวายแล้ว.

หลายบทว่า สมาหิตํ จิตฺตํ เอกคฺคํ ความว่า ถึงจิตของเราก็ตั้งอยู่แล้วโดยชอบ คือดํารงมั่นดีแล้ว ได้เป็นราวกะว่าแน่นแฟ้นแล้ว, และจิตของเรานั้น ชื่อว่ามีอารมณ์เป็นหนึ่ง, คือไม่หวั่นไหว ได้แก่ไม่มีความดิ้นรน เพราะเป็นจิตตั้งมั่นดีนั่นแล. ข้อปฏิบัติเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งฌาน เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ด้วยลําดับเพียงเท่านี้.