พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

กถาว่าด้วยทุติยฌาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41765
อ่าน  470
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 259

กถาว่าด้วยทุติยฌาน

สองบทว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ความว่า เพราะเข้าไปสงบ คือเพราะก้าวล่วงองค์ทั้ง ๒ เหล่านี้ คือ วิตกและวิจาร. มีอธิบายว่า เพราะวิตกวิจารไม่ปรากฏในขณะแห่งทุติยฌาน.

พึงทราบสันนิษฐานว่า ในบรรดาฌานทั้ง ๒ นั้น ธรรมในปฐมฌานแม้ทั้งหมด ไม่มีอยู่ในทุติยฌาน ด้วยว่า ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น มีอยู่ในปฐมฌานเป็นอย่างหนึ่ง ในทุติยฌานนี้ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้ก็จริง ถึงกระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสอย่างนี้ว่า เพราะเข้าไปสงบวิตกวิจาร เพื่อจะทรงแสดงว่า การบรรลุฌานอื่นจากปฐมฌานมีทุติยฌานเป็นต้น จะมีได้เพราะก้าวล่วงองค์ที่หยาบๆ ได้.

[อรรถาธิบายอัชฌัตตศัพท์]

ในอธิการนี้ บัณฑิตประสงค์เอา นิยกัชฌัตตัง ชื่อว่า อัชฌัตตัง. แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพียงเท่านี้ว่า อัชฌัตตังปัจจัตตัง (๑) เท่านั้น. ก็เพราะบัณฑิตประสงค์เอา นิยกัชฌัตตัง ชื่อว่า อัชฌัตตัง ฉะนั้น ในบทว่า อชฺฌตฺตํ นี้ บัณฑิตพึงเห็นเนื้อความดังนี้ว่า เกิดแล้วในตน คือเกิดแล้วในสันดานของตน.

[อรรถาธิบาย สัมปสาทนศัพท์]

ศรัทธา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า สัมปสาทนะ ในบทว่า สมฺปสาทนํ นี้ แม้ฌาน ก็ตรัสเรียกว่า สัมปสาทนะ เพราะ


(๑) อภิ. วิ. ๓๕/๓๒๕ - ๓๔๘.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 260

ประกอบด้วยความผ่องใส เหมือนผ้าสีเขียว เพราะประกอบด้วยสีเขียวฉะนั้น อีกอย่างหนึ่ง เพราะฌานนั้น ย่อมยังใจให้เลื่อมใสด้วยดี เพราะประกอบด้วยศรัทธาที่เป็นเครื่องยังใจให้ผ่องใส (และ) เพราะสงบระงับความกําเริบแห่งวิตกและวิจารเสียได้ เพราะเหตุแม้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า สมฺปสาทนํ. ก็ในอรรถวิกัปนี้ พึงทราบสัมพันธ์เฉพาะบทอย่างนี้ว่า สมฺปสาทนํ เจตโส (เป็นความผ่องใสแห่งใจ). แต่ในอรรถวิกัปต้น พึงประกอบบทว่า เจตโส นั่น เข้ากับ เอโกทิภาวะ.

[อรรถาธิบาย เอโกทิภาวศัพท์]

ในบทว่า เอโกทิภาวํ นั้น มีอรรถโยชนาดังต่อไปนี้ :- สมาธิชื่อว่า เอโกทิ เพราะอรรถว่า เป็นธรรมเอกผุดขึ้น. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นธรรมที่เลิศ คือธรรมประเสริฐที่สุด ผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารไม่ผุดขึ้น. จริงอยู่ แม้คนที่ประเสริฐที่สุด เขาก็เรียกว่า เป็นเอก ในโลก. อีกอย่างหนึ่ง จะกล่าวว่าสมาธิที่เว้นจากวิตกและวิจาร ชื่อว่าเป็นธรรมเอก คือไม่มีสหาย ดังนี้บ้าง ก็ควร อีกบรรยายหนึ่ง สมาธิ ชื่อว่า อุทิ เพราะอรรถว่า ย่อมยังสัมปยุตธรรมให้ผุดขึ้น อธิบายว่า ให้ตั้งขึ้น. สมาธินั้น เป็นเอก เพราะอรรถว่า ประเสริฐและผุดขึ้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เอโกทิ. คําว่า เอโกทิ นั่น เป็นชื่อของสมาธิ. ทุติยฌาน ย่อมยังสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้ ดังกล่าวนี้ให้เกิด คือให้เจริญ. เหตุนั้น ทุติยฌานนี้ จึงชื่อว่า เอโกทิภาพ. ก็เพราะสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้นั้นย่อมมีแก่ใจ หามีแก่สัตว์ แก่ชีวะไม่ ฉะนั้น ทุติยฌานนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เจตโส เอโกทิภาวํ (เป็นเอโกทิภาพแห่งใจ).

มีคําถามว่า ก็ศรัทธานี้ และสมาธิที่มีชื่อว่า เอโกทิ นี้มีอยู่ในปฐมฌานมิใช่หรือ? เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ทุติยฌานนี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า เป็นเครื่องยังใจให้ผ่องใส และว่า เป็นเอโกทิภาพเล่า?

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 261

ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :- ด้วยว่า ปฐมฌานโน้น ชื่อว่า ยังไม่ผ่องใสดี เพราะวิตกและวิจารยังกําเริบได้ ดุจน้ำที่ขุ่นเพราะคลื่นและระลอกฉะนั้น เพราะเหตุนั้น แม้เมื่อศรัทธามีอยู่ ก็พึงทราบว่า ปฐมฌานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสว่า เป็นเครื่องยังใจให้ผ่องใส. อนึ่ง เพราะความที่ปฐมฌานยังไม่ผ่องใสด้วยดีนั่นแล แม้สมาธิในปฐมฌานนี้ ก็ยังหาเป็นธรรมปรากฏด้วยดีไม่ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ปฐมฌานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสว่าเป็นเอโกทิภาพบ้าง. ส่วนศรัทธามีกําลังได้โอกาสแล้ว เพราะในฌานนี้ไม่มีเหตุเครื่องกังวล คือวิตก วิจาร แม้สมาธิก็ปรากฏ เพราะกลับได้สหาย คือศรัทธามีกําลัง เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ทุติยฌานนี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสไว้อย่างนี้. แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพียงเท่านี้นั่นแลว่า ที่ชื่อว่า สัมปสาทนะ นั้น ได้แก่ศรัทธา ความเชื่อถือ ความปลงใจเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง ที่ชื่อว่า เจตโส เอโกทิภาวะ นั้น ได้แก่ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ (๑) ดังนี้. ก็อรรถวรรณนานี้รวมกับปาฐะในคัมภีร์วิภังค์นั่น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น ย่อมไม่ผิด คือย่อมเทียบเคียง และเสมอกันได้โดยแท้ ฉันใด บัณฑิต พึงทราบอรรถวรรณนานี้ ฉันนั้น.

[อรรถาธิบายทุติยฌานไม่มีวิตกและวิจารเพราะสงบไปแล้ว]

ในคําว่า อวิตกฺกํ อวิจารํ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :- ทุติยฌานชื่อว่าไม่มีวิตก เพราะอรรถว่า วิตกไม่มีในทุติยฌานนี้ หรือแก่ทุติยฌานนี้ เพราะละวิตกได้ด้วยภาวนา. ทุติยฌาน ชื่อว่าไม่มีวิจารก็โดยนัยนี้แล. แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า วิตกนี้และวิจารนี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทําให้พินาศไป ถูกทําให้พินาศไปด้วยดี ถูกทําให้เหือดแห้ง ถูกทําให้เหือดแห้งไปด้วยดี ถูกทําให้มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ด้วยประการ (๒) ฉะนี้.


(๑) - (๒) อภิ. วิ. ๓๕/๓๔๘.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 262

ในอธิการนี้ พระอาจารย์ผู้โจทก์ท้วงว่า ก็เนื้อความนี้ สําเร็จแล้วแม้ด้วยบทว่า เพราะสงบระงับวิตกและวิจาร ดังนี้มิใช่หรือ? เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้อีกว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารดังนี้เล่า?

ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป : - เนื้อความนี้สําเร็จแล้วอย่างนั้น จริงทีเดียว แต่คําว่า เพราะสงบระงับวิตกและวิจารนี้ แสดงอรรถ กล่าวคือความไม่มีวิตกวิจารนั้น. ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วมิใช่หรือว่า ถึงกระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้อย่างนี้ว่า เพราะสงบระงับวิตกและวิจาร เพื่อจะทรงแสดงว่าการบรรลุฌานเป็นต้นอื่นจากปฐมฌาน ย่อมมีได้ เพราะก้าวล่วงองค์ที่หยาบๆ ได้ อีกอย่างหนึ่ง ทุติยฌานนี้ ชื่อว่า สัมปสาทนะ เพราะสงบวิตกและวิจารเสียได้ หาใช่เพราะเข้าไปสงบความฟุ้งขึ้นแห่งโทษกล่าวคือกิเลสไม่ และทุติยฌานนี้ ชื่อว่า เอโกทิภาพ เพราะสงบวิตกและวิจาร และทุติยฌานนี้ชื่อว่า เอโกทิภาพ เพราะละนิวรณ์เสียได้ ไม่เหมือนอุปจารฌาน และทุติยฌานนี้ ชื่อว่า เอโกทิภาพ เพราะมีองค์ปรากฏไม่เหมือนปฐมฌาน.

เพราะเหตุนั้น คําว่า เพราะสงบวิตกวิจารนี้ ย่อมเป็นคําแสดงถึงเหตุแห่งความที่ทุติยฌานเป็นเครื่องยังใจให้ผ่องใส และเป็นธรรมเอกยังสมาธิให้ผุดขึ้น ดังกล่าวมาแล้วนี้. อนึ่ง ทุติยฌานนี้ ชื่อว่าไม่มีวิตกไม่มีวิจารเพราะสงบวิตกและวิจารเสียได้, ทุติยฌานนี้ชื่ออวิตักกาวิจาร เพราะไม่มีทั้งวิตกและวิจาร หาเหมือนตติยฌาน จตุตถฌาน และเหมือนวิญญาณมีจักษุวิญญาณเป็นต้นฉะนั้นไม่ เพราะเหตุนั้น คําว่า เพราะสงบวิตกวิจารนี้ ย่อมเป็นคําแสดงถึงเหตุแห่งความที่ทุติยฌานไม่มีทั้งวิตกไม่มีทั้งวิจาร และหาใช่เป็นคําแสดงเพียงสักว่า ความไม่มีแห่งวิตกและวิจารไม่ ดังกล่าวมาฉะนี้. แต่คําว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 263

ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร นี้ ก็เป็นคําแสดงเพียงสักว่า ความไม่มีแห่งวิตกและวิจารเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ตรัสคําต้นแล้ว ก็ควรตรัสคําหลังอีก.

บทว่า สมาธิชํ ความว่า เกิดจากปฐมฌานสมาธิ หรือจากสมาธิที่สัมปยุตต์กัน. ในพระบาลีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทุติยฌานนี้เท่านั้นว่าเกิดจากสมาธิ เพื่อสรรเสริญทุติยฌานนี้ เพราะถึงแม้ปฐมฌาน จะเกิดจากสมาธิที่สัมปยุตต์ แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น สมาธินี้เท่านั้น ควรเรียกได้ว่า สมาธิ เพราะเป็นสมาธิที่ไม่หวั่นไหวและผ่องใสอย่างยิ่ง เหตุเว้นจากความกระเพื่อมแห่งวิตกวิจาร.

คําว่า ปีติสุขํ นี้ มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง.

บทว่า ทุติยํ คือเป็นที่ ๒ โดยลําดับแห่งการคํานวณ. ฌานนี้ชื่อว่าที่ ๒ เพราะอรรถว่า พระโยคาวจรบรรลุเป็นครั้งที่ ๒ ดังนี้บ้าง.

[ปฐมฌานมีองค์ ๕ ทุติยฌานมีองค์ ๓]

ก็ในคําว่า ฌานํ นี้ พึงทราบว่า ปฐมฌานมีองค์ ๕ เพราะองค์ทั้งหลายมีวิตกเป็นต้น ฉันใด, ทุติยฌานนี้ ก็มีองค์ ๔ เพราะองค์ทั้งหลายมีสัมปสาทะเป็นต้น ฉันนั้น. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่าสัมปสาทะ (ความผ่องใส) ปีติ (ความอิ่มใจ) สุข (ความสบายใจ) เอกัคคตาแห่งจิต ชื่อว่า ฌาน (๑) อันนั้นเป็นนัยทางอ้อมเท่านั้น. แต่โดยนัยทางตรง ทุติยฌานนั่น เว้นองค์คือสัมปสาทะเสียแล้ว มีเพียงองค์ ๓ เท่านั้น. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีอยู่ในสมัยนั้น เป็นไฉน (๒) ? คําที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.

กถาว่าด้วยทุติยฌาน จบ


(๑) อภิ. วิ. ๓๕/๓๔๙.

(๒) อภิ. วิ. ๓๕/๓๕๖.