พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย

  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 320

เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย

หลายบทว่า เตน โข ปน สมเยน เวรณฺชา ทุพฺภิกฺขา โหต

ความว่า โดยสมัยที่เวรัญชพราหมณ์ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเมืองเวรัญชาจําพรรษานั้น เมืองเวรัญชา เป็นเมืองมีภิกษาหาได้ยาก.

บทว่า ทุพฺภิกฺขา แปลว่า มีภิกษาหาได้โดยยาก. ก็ความมีภิกษาหาได้ยากนั้น ย่อมมีในถิ่นที่พวกมนุษย์ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส ในเวลาที่ข้าวกล้าสมบูรณ์ดีก็ตาม ในเวลาปุพพัณณะและอปรัณณะมีราคาถูกก็ตาม (มีราคาตกต่ํา). แต่ในเมืองเวรัญชา หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ โดยที่แท้ ได้มีเพราะโทษคือความอดยาก เหตุที่มีข้าวกล้าเสียหาย เพราะฉะนั้น ท่านพระอุบาลีเถระ เมื่อจะแสดงความข้อนั้น จึงกล่าว่า ทฺวีหิติกา ดังนี้เป็นต้น.

ในคําว่า ทฺวีหิติกา เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ : -

บทว่า ทฺวีหิติกา ได้แก่ ความพยายามที่เป็นไปแล้ว ๒ อย่าง.ความเคลื่อนไหว ชื่อว่า อีหิตะ (ความพยายาม). ความพยายามนี้เป็นไปแล้ว๒ อย่างคือ จิตตอิริยา (ความเคลื่อนไหวแห่งจิต) ๑ จิตตอีหา (ความพากเพียรแห่งจิต) ๑.

ในบทว่า ทฺวีหิติกา นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า ความเคลื่อนไหวแห่งจิตที่เป็นไปแล้ว ๒ อย่างนี้ คือ พวกเราขอวัตถุอะไรๆ อยู่ในที่นี้จักได้หรือจักไม่ได้หนอแล อีกอย่างหนึ่ง พวกเราจักอาจเพื่อเป็นอยู่หรือจักไม่อาจหนอแล.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ทฺวีหิติกา แปลว่า เป็นผู้อยู่อย่างฝืดเคือง.จริงอยู่ บททั้งหลายเป็นต้นคือ อีหิตํ (ความพยายาม) อีหา (ความพรากเพียร)

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 321

อิริยนํ (ความเคลื่อนไหว) ปวตฺตนํ (ความเป็นไป) ชีวิตํ (ความเป็นอยู่) มีใจความอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในบทว่า ทฺวีหิติกา นี้ จึงมีใจความเฉพาะบทดังนี้ คือ ความพยายามความเป็นทุกข์ย่อมเป็นไปในเมืองเวรัญชานี้ เพราะเหตุนั้น เมืองเวรัญชานี้ จึงชื่อว่า ทฺวีหิติกา.

บทว่า เสตฏฺิกา ความว่า เมืองเวรัญชา ชื่อว่ามีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ที่เมืองเวรัญชานี้มีกระดูกขาวเกลื่อน.มีอธิบายว่า ซากศพของพวกมนุษย์กําพร้า ผู้ขอแม้ตลอดวันก็ไม่ได้อะไรๆ ตายแล้ว มีกระดูกสีเหมือนเห็ดหัวงูเกลื่อนกลาดอยู่ในที่นั้นๆ. ปาฐะว่าเสตัฏฏิกา ดังนี้บ้าง. ความหมายแห่งปาฐะนั้นว่า โรคตายขาว มีอยู่ในเมืองเวรัญชานี้ เหตุนั้นเมืองเวรัญชานี้ จึงชื่อว่า มีโรคตายขาว. ความอาดูร คือความเสียดแทงเพราะความเจ็บไข้ ชื่อว่า อัฏฏิ. ก็ในเมืองเวรัญชานั้น ในเวลาที่ข้ากล้ามีท้องมาน รวงข้าวสาลีก็ดี รวงข้าวเหนียวและข้าวละมานก็ดีมีสีขาวๆ ถูกโรคตายขาวนั่นเองทําให้เสีย ก็ขาดน้ำนม ไม่มีเมล็ดข้าวสารงอกออกมา (คือตกเป็นรวงออกมา) เพราะฉะนั้น เมืองเวรัญชานี้ ท่านจึงเรียกว่าเสตัฏฏิกา (เมืองมีโรคข้าวกล้าตายขาว).

[เมืองเวรัญชามีปันส่วนซื้ออาหารเลี้ยงชีพ]

ในเวลาหว่าน ข้าวกล้าที่ประชาชนแม้ผสมพันธุ์หว่านไว้ดีแล้ว ย่อมสําเร็จเป็นสลากเท่านั้น ในเมืองเวรัญชานั้น เพราะเหตุนั้น เมืองเวรัญชานั้นจึงชื่อว่า มีข้าวกล้าที่หว่านสําเร็จเป็นสลาก. อีกอย่างหนึ่ง ประชาชนทั้งหลาย ย่อมให้ชีวิตเป็นไปในเมืองเวรัญชานั้นด้วยสลาก (คือการแจงบัตร) เพราะฉะนั้น เมืองเวรัญชานั้น จึงชื่อว่า มีชีวิตเป็นไปได้ด้วนสลาก.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 322

มีคํากล่าวอธิบายไว้อย่างไร? มีคํากล่าวอธิบายไว้อย่างนี้คือ ดังได้สดับมา ในเมืองเวรัญชานั้น เมื่อประชาชนทั้งหลายผู้ชื้อ ไปยังสํานักของพวกพ่อค้าผู้ขายข้าวเปลือก พวกมนุษย์มีกําลัง (ทรัพย์) กดขี่พวกมนุษย์ผู้ไม่มีกําลัง (ทรัพย์) แล้วซื้อเอาข้าวเปลือกไป (หมด) พวกมนุษย์ไม่มีกําลัง (ทรัพย์) เมื่อไม่ได้ (ข้าวเปลือก) ย่อมส่งเสียงดัง. พวกพ่อค้าผู้ขายข้าวเปลือกปรึกษากันว่า พวกเราจักทําการสงเคราะห์ประชาชนทั้งหมด จึงสั่งให้ช่างผู้ตวงข้าวเปลือก นั่งในสํานักงานที่ๆ ตวงข้าวเปลือก แล้วให้ผู้ชํานาญการดูกหาปณะนั่งอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่ง. พวกมนุษย์ผู้มีความต้องการข้าวเปลือก ก็ไปยังสํานักงานของผู้ชํานาญการดูกหาปณะ. ผู้ชํานาญการดูกหาปณะนายนั้น ถือเอามูลค่าโดยลําดับแห่งชนผู้มาแล้ว จึงเขียนสลาก (คือบัตร) ให้ไปว่า ควรให้แก่ชนชื่อนี้ มีประมาณเท่านี้. พวกมนุษย์ผู้มีความต้องการข้าวเปลือกเหล่านั้น รับเอาสลากนั้นแล้ว ไปยังสํานักของช่างผู้ตวงข้าวเปลือก แล้วรับเอาข้าวเปลือกโดยลําดับที่เขาตวงให้. ประชาชนทั้งหลาย ย่อมให้ชีวิตเป็นไป ในเมืองเวรัญชานั้นด้วยสลาก เพราะเหตุนั้น เมืองเวรัญชานั้น จึงชื่อว่า มีชีวิตเป็นไปได้ด้วยสลาก ดังพรรณนามาฉะนี้.

หลายบทว่า น สุกรา อุฺเฉน ปคฺคเหน ยาเปตุํ ความว่าภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทําไม่ได้ง่าย.มีคําอธิบายว่า ใครๆ ถือบาตรแล้วจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหาอย่างที่พวกพระอริยเจ้าทําการแสวงหา คือเที่ยวภิกขาจารนั้น ก็ทําไม่ได้ง่ายๆ เลย. ได้ยินว่า คราวนั้น ในเมืองเวรัญชานั้นพวกภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตตลอด ๗ - ๘ หมู่บ้าน ก็ไม่ได้อาหารพอสักว่ายังอัตภาพให้เป็นไป แม้ในวันหนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 323

[พ่อค้าม้าถวายข้าวทะนานหนึ่งแก่ภิกษุรูปหนึ่ง]

ข้อว่า เตน โข ปน สมเยน อุตฺตราปถกา อสฺสวาณิชาฯ เปฯ อสฺโสสิ โข ภควา อุทุกฺขลสทฺทํ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เตน ความว่า โดยสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอาศัยเมืองเวรัญชาจําพรรษานั้น พวกพ่อค้าม้า ผู้อยู่ในอุตราปถชนบท หรือผู้ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะมาจากอุตตราปถชนบท รับ (ซื้อ) เอาม้า ๕๐๐ ตัวในสถานที่เป็นถิ่นเกิดของม้าทั้งหลายในอุตตราปถชนบทแล้ว เมื่อปรารถนารายได้ (ผลกําไร) ๒ - ๓ เท่า ก็ไปยังต่างประเทศ แล้วเข้าพักฤดูฝนอยู่ในเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยฝูงม้ามีประมาณ ๕๐๐ ซึ่งเป็นสินค้าที่ตนจะต้องขายเหล่านั้น.

ถามว่า เพราะเหตุไร จึงต้องพักอยู่เช่นนั้น?

แก้ว่า เพราะว่าในประเทศนั้น ใครๆ ไม่อาจเดินทางไกล ตลอด๔ เดือนในฤดูฝนได้ ... ก็พวกพ่อค้าม้าเหล่านั้น เมื่อจะเข้าพักฤดูฝน จึงได้สั่งให้นายช่างสร้างเรือนพักสําหรับตน และโรงม้าสําหรับพวกม้าไว้ในสถานที่น้ำจะท่วมไม่ได้ ในภายนอกพระนครแล้ว กั้นรั้วไว้. สถานที่พักของพวกพ่อค้าเหล่านั้นๆ ปรากฏว่า อัสสมัณฑลิกา (คอกม้า) เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระ จึงกล่าวไว้ว่า พวกพ่อค้าม้าเหล่านั้น ได้ตกแต่งข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ สําหรับภิกษุทั้งหลายไว้ที่คอกม้า ดังนี้.

บทว่า ปตฺถปตฺถปุลกํ ได้แก่ ข้าวแดงมีประมาณแล่งหนึ่งๆ สําหรับภิกษุรูปหนึ่งๆ ชื่อว่าแล่งหนึ่ง มีประมาณเท่าทะนานหนึ่ง เพียงพอเพื่อเลี้ยงอัตภาพให้เป็นไป สําหรับคนหนึ่ง. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 324

ตรัสไว้ว่า ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้ ไม่เพียงพอเพื่อเลี้ยงอัตภาพให้เป็นไปสําหรับคน ๒ คน (๑)

ข้าวสารเหนียว ที่บุคคลทําให้หมดแกลบแล้วนึ่งให้สุกจึงถือเอา เขาเรียกชื่อว่า ข้าวแดง. จริงอยู่ ถ้าข้าวสารเหนียวนั้น ยังมีแกลบอยู่ สัตว์จําพวกตัวแมลง ย่อมเจาะไชได้ ย่อมไม่ควรเก็บไว้นาน เพราะฉะนั้น พวกพ่อค้าเหล่านั้น ได้ทําให้เป็นของควรเก็บไว้ได้นาน แล้วถือเอาข้าวสารเหนียว จึงเดินทางไกล ด้วยคิดว่า ในสถานที่ใด หญ้าอันเป็นอาหารที่พวกม้ากิน จักเป็นของหาได้ยาก ในสถานที่นั้นแล ข้าวสารเหนียวนั้น จักเป็นอาหารของม้า.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พวกพ่อค้าเหล่านั้น จึงได้ตกแต่งข้าวสารเหนียวนั้นไว้สําหรับภิกษุทั้งหลาย?

ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :- จริงอยู่ พวกมนุษย์ชาวอุตตราปถชนบทเหล่านั้น จะเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส เหมือนอย่างพวกมนุษย์ชาวทักขิณาปถชนบทหามิได้. ความจริง พวกมนุษย์ชาวอุตตราปถชนบทเหล่านั้น เป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส เป็นพุทธมามกะ ธรรมมามกะสังฆมามกะ, พวกพ่อค้าเหล่านั้น ในเวลาเช้า เมื่อเข้าไปยังเมืองด้วยกรณียกิจบางอย่างนั่นเอง ได้พบภิกษุ ๗ - ๘ รูป ผู้นุ่งห่มเรียบร้อย สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถเที่ยวไปบิณฑบาตแม้ทั่วเมืองก็ไม่ได้วัตถุอะไรๆ ตั้ง ๒ - ๓ วัน ครั้นเห็นแล้วพวกพ่อค้าเหล่านั้น ได้มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย อาศัยเมืองนี้อยู่จําพรรษา ฉาตกภัยก็กําลังเป็นไป และท่านเหล่านี้ก็ไม่ได้วัตถุอะไรๆ ย่อมลําบากเป็นอย่างยิ่ง ทั้งพวกเราก็เป็นอาคันตุกะ ย่อมไม่อาจตระเตรียมข้าวต้ม และข้าวสวยถวายพระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้น ทุกวันๆ ได้ แต่ม้าทั้งหลาย


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๓๓๓. ชาตกฏกถา. ๘/๒๙๑

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 325

ของพวกเราได้อาหารสองมื้อ คือในเวลาเย็นและเวลาเช้า ไฉนหนอพวกเราพึงแบ่งถวายข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ แก่ภิกษุรูปหนึ่งๆ จากอาหารมือเช้าของม้าตัวหนึ่งๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย จักไม่ลําบาก ทั้งม้าก็จักพอยังชีวิตให้เป็นไปได้.

พวกพ่อค้าเหล่านั้น จึงไปยังสํานักของภิกษุทั้งหลายเรียนบอกข้อความนั่นให้ทราบ แล้วเรียนขอว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงได้รับข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ แล้วทําให้เป็นอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งฉันเถิดดังนี้แล้ว จึงได้ตกแต่งข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ ไว้ทุกวันๆ เพราะเหตุนั้นท่านพระอุบาลีเถระ จึงกล่าวไว้ว่า พวกพ่อค้าม้าเหล่านั้น ได้ตกแต่งข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ สําหรับภิกษุทั้งหลายไว้ที่คอกม้า.

บทว่า ปฺณตฺตํ แปลว่า ได้ตั้งไว้แล้ว โดยสังเขปอย่างนิตยภัต.

[อรรถาธิบาย ปุพพัณหสมัยศัพท์]

บัดนี้ ควรทราบวินิจฉัยในคําว่า ภิกฺขู ปุพฺพณฺหสมยํ นิวาเสตฺวาเป็นต้นต่อไป :-

บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ แปลว่า สมัยอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งวันอธิบายว่า ในปุพพัณหสมัย. อีกอย่างหนึ่ง สมัยตอนเช้า ชื่อว่า ปุพพัณหสมัย ท่านกล่าวคําอธิบายไว้ว่า ขณะหนึ่งในเวลาเช้า. เมื่ออธิบายอย่างนี้ทุติยาวิภัตติ ย่อมได้ในอรรถแห่งอัจจันตสังโยค.

บทว่า นิวาเสตฺวา แปลว่า นุ่งห่มแล้ว. บทว่า นิวาเสตฺวานั่นพึงทราบ ด้วยสามารถแห่งการผลัดเปลี่ยนการนุ่งห่มในวิหาร. ในกาลก่อนแต่เวลาเที่ยวบิณฑบาตนั้น ภิกษุเหล่านั้น จะไม่ได้นุ่งห่ม ก็หามิได้เลย.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 326

บทว่า ปตฺตจีวรมาทาย ความว่า เอามือทั้ง ๒ อุ้มบาตร เอาจีวรคล้องกาย อธิบายว่า รับไว้ คือพาดไว้. จริงอยู่ พวกภิกษุเมื่อถือเอา (บาตรและจีวร) ด้วยประการใดๆ ก็ตาม ท่านก็เรียกว่า ถือเอา เหมือนกัน.เหมือนในประโยคว่า พอถือเอาได้เท่านั้น ก็หลีกไป ดังนี้.

สองบทว่า ปิณฺฑํ อลภมานา ความว่า เทียวไปทั่วทั้งเมืองเวรัญชาอย่าว่าแต่ก้อนข้าวเลย ไม่ได้โดยที่สุดแม้เพียงคําว่านิมนต์ โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด.

[พวกภิกษุได้ข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ นําไปจัดการฉันเอง]

หลายบทว่า ปตฺถปตฺถปุลกํ อารามํ หริตฺวา ความว่า ถือเอาข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ ที่ตนได้ในที่ที่ไปแล้วๆ นําไปยังอาราม.

หลายบทว่า อุทุกฺขเล โกฏฺเฏตฺวา ปริภุฺชนฺติ ความว่าใครๆ ผู้ที่จะเป็นกัปปิยการกรับเอาข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ นั้น ไปหุงต้มเป็นข้าวต้มหรือข้าวสวย ถวายแก่พระเถระเหล่านั้น ย่อมไม่มี. การหุงต้มแม้เองย่อมไม่เป็นสมณสารูป ทั้งไม่สมควร. ภิกษุเหล่านั้นรวมเป็นพวกๆ พวกละ๘ รูปบ้าง พวกละ ๑๐ รูปบ้าง ปรึกษากันว่า ความเป็นผู้มีความประพฤติเบาและเปลื้องจากการหุงต้มให้สุกเอง จัดมีแก่พวกเรา ด้วยวิธีอย่างนี้ ดังนี้จึงโขลกตําในครกแล้วเอาน้ำชุบส่วนของตนๆ ให้ชุ่มแล้วก็ฉัน ครั้นเธอเหล่านั้นฉันแล้วก็เป็นผู้มีขวนขวายน้อย บําเพ็ญสมณธรรมอยู่ ด้วยประการฉะนี้.

[พ่อค้าม้าถวายข้าวแดงแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า]

ส่วนพวกพ่อค้าม้าเหล่านั้น ก็ถวายข้าวแดงแล่งหนึ่ง และเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดที่ควรแก่ข้าวแดงนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ท่านพระอานนท์

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 327

นําเอาข้าวแดงนั้นมาบดที่ศิลา. ข้าวแดงนั้นอันบุรุษบัณฑิตผู้มีบุญทําแล้ว ย่อมเป็นที่ชอบใจทีเดียว. คราวนั้น ท่านพระอานนท์ ครั้นบดข้าวแดงนั้น ก็ปรุงด้วยเครื่องปรุงมีเนยใสเป็นต้น น้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

ขณะนั้น พวกเทวดา ได้แทรกทิพโยชาลงในข้าวแดงที่ปรุงนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้น ครั้นเสวยแล้วก็ทรงยังกาลให้ผ่านไปด้วยผลสมาบัติ จําเนียรกาลตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เสด็จเที่ยวทรงบาตร.

[พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้แล้ว ๒๐ ปี ไม่มีผู้อุปัฏฐากประจํา]

ถามว่า ก็คราวนั้น พระอานนทเถระ ยังไม่ได้เป็นผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือ?

แก้ว่า ยังไม่ได้เป็น ทั้งท่านก็ไม่ได้รับตําแหน่งผู้อุปัฏฐากเลย.ความจริง ในครั้งปฐมโพธิกาล ชื่อว่าภิกษุผู้อุปัฏฐากประจํา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในภายใน ๒๐ พรรษา ย่อมไม่มี. บางคราว พระนาคสมาลเถระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า, บางคราว พระนาคิตเถระ, บางคราว พระเมฆิยเถระ, บางคราว พระอุปวาณเถระ, บางคราว พระสาคตเถระ,บางคราว พระเถระผู้เป็นโอรสของเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระเถระเหล่านั้นอุปัฏฐากตามความพอใจของตนแล้ว ก็หลีกไปในเวลาที่ตนปรารถนา (จะหลีกไป). พระอานนทเถระ เมื่อท่านเหล่านั้นอุปัฏฐากอยู่ ก็เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย เมื่อท่านเหล่านั้นหลีกไปแล้วก็ทําวัตรปฏิบัติเสียเอง ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงใฝ่พระทัยอยู่ว่า พระญาติผู้ใหญ่ของเราไม่ได้รับตําแหน่งเป็นผู้อุปัฏฐากก่อน แม้ก็จริง ถึงกระนั้นพระอานนท์นี้แหละ เป็นผู้สมควรในฐานะทั้งหลายเห็นปานนี้ ดังนั้น จึงทรงนิ่งเงียบไว้ เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า ท่านพระอานนท์

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 328

บดข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ ที่ศิลาแล้ว น้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้น.

[พราหมณ์และชาวเมืองไม่ได้ถวายภัตแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า]

ถามว่า ก็ในเวลาข้าวยากหมากแพง มนุษย์ทั้งหลายเกิดความอุตสาหะทําบุญกันอย่างเหลือเกิน ถึงตนเองก็ไม่บริโภค ย่อมสําคัญของที่ตนควรถวายแก่พวกภิกษุมิใช่หรือ? เพราะเหตุไร ในคราวนั้น พวกมนุษย์เหล่านั้นจึงไม่ได้ถวายแม้ภิกษาสักทัพพีเล่า, และเวรัญชพราหมณ์นี้ ก็ได้ทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้าให้อยู่จําพรรษา ด้วยความอุตสาหะเป็นอย่างมาก, เพราะเหตุไรพราหมณ์นั้น จึงไม่รู้แม้ความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่?

ตอบว่า เพราะถูกมารดลใจ. จริงอยู่ มารได้ดลใจ คือทําเวรัญชพราหมณ์ ผู้พอสักว่าหลีกไปจากสํานักพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น และชาวนครทั้งสิ้นให้ลุ่มหลงทั้งหมด ตลอดสถานที่มีประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ (เมืองเวรัญชา) อันเป็นสถานที่พวกภิกษุอาจเที่ยวไปบิณฑบาต ในเวลาก่อนฉันแล้วกลับมาได้ ทําให้พวกมนุษย์ทั้งหมดกําหนดไม่ได้แล้วก็หลีกไป เพราะฉะนั้น ใครๆ จึงไม่ได้ใฝ่ใจถึงกิจที่ตนควรทํา โดยที่สุดแม้สามีจิกรรม.

ถามว่า ก็แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทราบมารจะดลใจหรือ? จึงทรงเข้าจําพรรษาในเมืองเวรัญชานั้น.

แก้ว่า ไม่ทรงทราบ ก็หามิได้.

ถามว่า เมื่อทรงทราบเช่นนั้น เพราะเหตุไร จึงไม่ทรงเข้าจําพรรษาในบรรดาพระนครแห่งใดแห่งหนึ่ง มีนครจัมปา สาวัตถีและราชคฤห์เป็นต้น?

แก้ว่า พระนครทั้งหลายมีนครจัมปา สาวัตถี และราชคฤห์เป็นต้นจงยกไว้, แม้ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงเสด็จไปยังอุตรกุรุทวีปหรือไตรทศบุรี

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 329

แล้วเข้าจําพรรษาในปีนั้นไซร้. มารก็พึงดลใจชาวอุดรกุรุทวีปหรือไตรทศบุรีแม้นั้นได้. ได้ยินว่า มารนั้น ได้เป็นผู้มีจิตถูกความอาฆาตเข้ากลุ้มรุมอย่างยิ่งตลอดศกนั้น, ส่วนในเมืองเวรัญชานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดีว่า พวกพ่อค้าม้า จักทําการสงเคราะห์ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงทรงเข้าพรรษาในเมืองเวรัญชานั่นแล.

[มารได้สามารถทําอันตายแก่ปัจจัย ๔ ได้]

ถามว่า ก็มาร ไม่สามารถจะดลใจพวกพ่อค้าได้หรือ?

แก้ว่า จะไม่สามารถ ก็หามิได้ แต่เพราะพ่อค้าเหล่านั้นได้มาในเมื่อประชาชนถูกมารดลใจเสร็จสิ้นลงแล้ว.

ถามว่า เพราะเหตุไร มารจึงไม่กลับมาดลใจอีกเล่า?แก้ว่า เพราะไม่เป็นวิสัย จึงไม่กลับมา.

จริงอยู่ มารนั้น ย่อมไม่อาจเพื่อทําอันตราย แก่ภิกษุที่บุคคลนําไปเฉพาะพระตถาคต แก่นิพัทธทาน แก่วัตถุทานที่บุคคลกําหนดถวายไว้แล้ว.ความจริง ใครๆ ไม่สามารถจะทําอันตรายแก่ปัจจัย ๔ ได้. แก่ปัจจัย ๔เหล่าไหน? ใครๆ ไม่สามารถจะทําอันตรายแก่ปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ :-

ใครๆ ไม่สามารถจะทําอันตรายแก่นิพัทธทาน โดยสังเขปว่า ภิกษาที่บุคคลนําไปเฉพาะพระตถาคต หรือแก่ปัจจัย ๔ ที่บุคคลบริจาคแล้วแต่พระตถาคตโดยสังเขปว่าวัตถุทานที่บุคคลกําหนดถวายไว้แล้ว ๑.

ใครๆ ไม่สามารถจะทําอันตรายแก่พระชนมชีพ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ ๑

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 330

ใครๆ ไม่สามารถจะทําอันตรายแก่พระอนุพยัญชนะ ๘๐ หรือแก่พระรัศมี ที่ซ่านออกข้างละวาได้. จริงอยู่ รัศมีแม้แห่งพระจันทร์ พระอาทิตย์เทวดาและพรหม พอไปถึงประเทศแห่งพระอนุพยัญชนะและพระรัศมีที่ซ่านออกข้างละวา ของพระตถาคตแล้ว ก็หมดอานุภาพไป ๑,

ใครๆ ไม่สามารถจะทําอันตรายแก่พระสัพพัญุตญาณ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ ๑ (รวมเป็น ๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้).

เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกเสวยและฉันภิกษา ที่มารทําอันตรายไม่ได้ในคราวนั้น.

[พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามสิ่งที่เป็นประโยชน์]

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเสวยอยู่อย่างนั้น วันหนึ่ง (ได้ทรงสดับเสียงครกแล).

หลายบทว่า อสฺโสสี โข ภควา อุทุกฺขลสทฺทํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับเสียงครก ที่เกิดเพราะสากกระทบ (ครก) ของพวกภิกษุผู้โขลกตําข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ อยู่. พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคําเป็นต้น ซึ่งมีต่อจากคํานั้นไปอย่างนี้ว่า พระตถาคตทั้งหลาย แม้ทรงทราบอยู่ ดังนี้ ก็เพื่อแสดงการเฉลยพระดํารัส ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามข้างหน้าว่า ดูก่อนอานนท์! นั้นเสียงครกหรือหนอแล?

ในคําเหล่านั้น มีการพรรณนาโดยสังเขปดังต่อไปนี้ :-

ธรรมดาว่า พระตถาคตทั้งหลาย แม้เมื่อทรงทราบอยู่ ถ้าเหตุแห่งการถามเช่นนั้น มีอยู่ไซร้ จึงตรัสถาม, แต่ถ้าเหตุแห่งการถามเช่นนั้น ไม่มีไซร้, ถึงทราบอยู่ ก็ไม่ตรัสถาม. ก็เพราะขึ้นชื่อว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงทราบ ไม่มี, เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวคําว่าแม้เมื่อไม่รู้

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 331

หลายบทว่า กาลํ วิทิตฺวา ปุจฺฉนฺติ ความว่า ถ้าเวลาแห่งการตรัสถามนั้นๆ มีอยู่ไซร้, ทรงทราบกาลนั้นแล้ว จึงตรัสถาม ถ้าเวลาแห่งการตรัสถามนั้น ไม่มีไซร้, ทรงทราบกาลแม้อย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ตรัสถาม.อนึ่ง พระตถาคตทั้งหลาย แม้เมื่อจะตรัสถามอย่างนั้น ย่อมตรัสถามแต่คําที่ประกอบด้วยประโยชน์ คือ ย่อมตรัสถามเฉพาะแต่คําที่อิงอาศัยประโยชน์อิงอาศัยเหตุเท่านั้น หาตรัสถามคําที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ไม่. เพราะเหตุไร? เพราะพระตถาคตทั้งหลาย ทรงขจัดคําที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เสียได้ด้วยมรรคชื่อว่าเสตุ. มรรคท่านเรียกวา เสตุ. มีคําอธิบายไว้ว่า การขจัดคือ การตัดขาดด้วยดี ซึ่งคําเช่นนั้นด้วยมรรคนั่นเอง.

บัดนี้ ท่านพระอุบาลีเถระ เมื่อจะแสดงถึงพระดํารัส ที่อิงอาศัยประโยชน์ซึ่งพระตถาคตทั้งหลายตรัสถามนั้น ในบทว่า อตฺถสฺหิตํ นี้จึงกล่าวคํามีอาทิว่า ทฺวีหิ อากาเรหิ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาเรหิ คือ ด้วยเหตุทั้งหลาย.

สองบทว่า ธมฺมํ วา เทเสสฺสาม ความว่า เราจักแสดงพระสูตรที่ประกอบด้วยอัตถุปปัตติเหตุ (คือเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า) หรือชาดกที่ประกอบด้วยเหตุแห่งบุรพจริต (คือความประพฤติในชาติก่อน)

หลายบทว่า สาวกานํ วา สิกฺขาปทํ ปฺาเปสฺสาม ความว่าหรือเราจักทําโทษที่ล่วงเกินให้ปรากฏ ด้วยการถามนั้น แล้วจักบัญญัติสิขาบทคือตั้งข้อบังคับหนักหรือเบาไว้แก่สาวกทั้งหลาย.

ในคําว่า อถโข ภควา ฯเปฯ เอตมตฺถํ อาโรเจสิ นี้ หามีคําอะไรๆ ที่ควรกล่าวไว้ไม่. เพราะว่า ท่านพระอานนท์เมื่อทูลบอกการได้ข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ ความเป็นผู้มีความประพฤติเบา และเปลื้องจากการหุงต้ม

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 332

ให้สุกเอง ของพวกภิกษุ ที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในตอนต้นนั่นแล เรียกว่า ได้ทูลบอกข้อความนั่นแล้ว.

[พวกภิกษุจําพรรษาเมืองเวรัญชาชํานะความอดอยากได้]

ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงทําให้ท่านพระอานนท์รื่นเริงจึงได้ตรัสพระดํารัสนี้ว่า ดีละ ดีละ อานนท์! ก็แลครั้นทรงประทานสาธุการแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรมยอมรับเอาอาการอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาการทั้ง ๒จึงได้ตรัสรู้ ดูก่อนอานนท์! พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะวิเศษแล้ว. พวกเพื่อนสพรหมจารีชั้นหลัง จักดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุกที่ระคนด้วยเนื้อ.

ในคําว่า ตุมฺเหหิ เป็นต้นนั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ :- (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า) ดูก่อนอานนท์! ในคราวทุพภิกขภัย คือ ในคราวที่มีก้อนข้าวอันหาได้ยากอย่างนี้ พวกท่านเป็นสัตบุรุษชนะวิเศษแล้ว ด้วยความเป็นผู้ประพฤติเบานี้ และด้วยธรรมอันเป็นเครื่องขูดเกลานี้.

ถามว่า พวกเธอชนะอะไร?

แก้ว่า ชนะทุพภิกขภัยได้ ชนะความโลภได้ ชนะความประพฤติด้วยอํานาจแห่งความปรารถนาได้.

ถามว่า ชนะอย่างไร?

แก้ว่า แม้ภิกษุรูปหนึ่ง ย่อมไม่มีความคิด หรือความคับแค้นใจว่าเมืองเวรัญชานี้ มีภิกษาหาได้ยาก แต่บ้านและนิคมในระหว่างโดยรอย (แห่งเมืองเวรัญชานี้) มีข้าวกล้าโน้มลงด้วยความหนักคือผล คือว่ามีภิกษาดี มีก้อนข้าวหาได้โดยง่าย เอาเถิดพวกเราไปที่บ้านและนิคมนั้นแล้ว จึงจักฉัน,แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็จะทรงรับเอาพวกเราอยู่ในเมืองนี้

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 333

ทีเดียว ดังนี้. ทุพภิกขภัยอันภิกษุเหล่านั้นชนะได้แล้ว คือครอบงําได้แล้วได้แก่ให้เป็นไปในอํานาจตนแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ก่อน.

ถามว่า ชนะความโลภได้อย่างไร?

แก้ว่า แม้ภิกษุรูปหนึ่ง ไม่ได้ทําให้ราตรีขาดด้วยอํานาจแห่งความโลภว่า เมืองเวรัญชานี้ มีภิกษาหาได้ยาก, ส่วนบ้านและนิคมในระหว่างโดยรอบ (แห่งเมืองเวรัญชานี้) มีข้าวกล้าโน้มลงด้วยความหนัก คือผล ได้แก่มีภิกษาดี มีก้อนข้าวหาได้โดยง่าย เอาเถิด พวกเราจักพากันไปฉันที่บ้านและนิคมนั้น หรือไม่ได้ทําให้พรรษาขาด ด้วยคิดว่า พวกเราจะเข้าจําพรรษาในบ้านและนิคมนั้น ในพรรษาหลังดังนี้, ความโลภอันภิกษุเหล่านั้นชนะได้แล้วด้วยอาการอย่างนี้.

ถามว่า ชนะความประพฤติ ด้วยอํานาจแห่งความปรารถนาได้อย่างไร?

แก้ว่า แม้ภิกษุรูปหนึ่ง ไม่ได้ให้ความปรารถนาเห็นปานนี้เกิดขึ้นเลยว่า เมืองเวรัญชานี้ ภิกษาหาได้ยาก และมนุษย์ทั้งหลายนี้ย่อมไม่สําคัญพวกเรา แม้ผู้พักอยู่ตั้ง ๒ - ๔ เดือน ในคุณอะไรเลย ไฉนหนอ ! พวกเราทําการค้าคุณธรรม (อวดอุตริมนุสธรรม) คือ ประกาศซึ่งกันและกัน แก่มนุษย์ทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ภิกษุรูปโน้น ได้ปฐมฌาน ฯลฯ รูปโน้นได้อภิญญา ๖ ดังนี้ แล้วปรนปรือท้อง ภายหลัง จึงค่อยอธิษฐานศีล ดังนี้,ความประพฤติด้วยอํานาจแห่งความปรารถนา อันภิกษุเหล่านั้นชนะได้แล้วคือ ครอบงําได้แล้ว เป็นไปในอํานาจของตนแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.

ส่วนในอนาคต เพื่อพรหมจารีชั้นหลัง นั่งอยู่ในวิหารแล้ว แม้ได้ (ภัตตาหาร) โดยความยากลําบากเพียงเล็กน้อย ก็จะดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุก

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 334

ที่ระคนด้วยเนื้อ คือ จักทําให้เป็นของดูหมิ่น น่าติเตียน โดยนัยเป็นต้นว่าข้าวสุกนี้อะไรกัน? เป็นท้องเล็น แฉะไป ไม่เค็ม เค็มจัด ไม่เปรี้ยวเปรี้ยวจัด จะประโยชน์อะไรด้วยข้าวสุกนี้? ดังนี้.

อีกอย่างหนึ่ง (พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอธิบายไว้ว่า) ขึ้นชื่อว่าชนบทจะมีภิกษาหาได้ยากตลอดกาลก็หามิได้คือ บางคราว ก็มีภิกษาหาได้ยาก บางคราว ก็มีภิกษาหาได้ง่าย ในกาลใด ชนบทนี้นั้น จักมีภิกษาหาได้ง่าย ในกาลนั้น มนุษย์ทั้งหลายเสื่อมใสต่อข้อปฏิบัตินี้ของพวกท่านผู้เป็นสัตบุรุษแล้ว จักสําคัญข้าวสาลีวิกัติ และข้าวสุกที่ระคนด้วยเนื้อ อันมีประการหลายอย่าง โดยประเภทมีข้าวต้มและของขบฉันเป็นต้น ที่ตนพึงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย, ปัจฉิมชนตาชน กล่าวคือ เพื่อนสพรหมจารี ของพวกท่านนั่งอยู่ในระหว่างพวกท่านแล้ว เสวยอยู่ซึ่งสักการะ ที่อาศัยพวกท่านเกิดขึ้นแล้วนั่นแล จักดูเหมือน และจะทําความดูถูก อันมีการเสวยสักการะนั้นเป็นปัจจัย.

ถามว่า จักทําความดูถูกอย่างไร

แก้ว่า จักทําความดูถูกอย่างนี้ว่า เพราะเหตุไร พวกท่านจึงหุงต้มภัตมีประมาณเท่านี้เล่า ภาชนะของพวกท่าน ซึ่งเป็นที่ที่พวกท่านจะพึงใส่ของๆ ตนเก็บไว้ ไม่มีหรือ