พระไตรปิฏกครบบริบรูณ์ (6-7)
ชาวพุทธที่เกิดในสมัยที่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสื่อม ยังไม่ลบเลือน ยังไม่สูญไปนั้น แม้ว่ายังมีพระไตรปิฏกและอรรถกถาครบบริบรูณ์ แต่ถ้าไม่ศึกษาพระไตรปิฏกและอรรถกถา ก็จะไม่เข้าใจพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฏกได้เลย
ฉะนั้น เมื่อยังมีพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคครบถ้วนสมบรูณ์ พุทธบริษัทก็ควรที่จะศึกษาให้เข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีอะไรบ้าง พระธรรมที่ทรงแสดงไว้มี ๓ ปิฏก คือ
พระวินัยปิฏก
พระสุตตันตปิฏก
พระอภิธรรมปิฏก
พระวินัยปิฏก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติ ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพราะอัธยาศัยของคนในโลกนี้ต่างกัน พุทธบริษัทจึงมี ๒ พวก คือบรรพชิต พวก ๑ และ คฤหัสถ์ พวก ๑ บรรพชิตเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างของพระผู้มีพระภาค คืออบรมเจริญ ปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยละอาคารบ้านเรือน แต่ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่สะสมอุปนิสัยเป็นผู้ครองเรือน ก็อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศคฤหัสถ์ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขามิคารมารดา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนต่างอัธยาศัยจริงๆ
พระวินัยส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต แต่คฤหัสถ์ก็ควรศึกษาเพื่อให้รู้ว่าควรปฏิบัติต่อบรรพชิตอย่างไร จึงจะอนุเคราะห์แก่บรรพชิตได้ถูกต้องตามพระวินัย ซึ่งจะเป็นการดำรงพระพุทธศาสนาด้วย เมื่อรู้ว่าการประพฤติอย่างไรเป็นบรรพชิต ประพฤติอย่างไรไม่ใช่บรรพชิต ก็จะรู้ว่ามีกิจของภิกษุในพระพุทธศาสนาต่างกับกิจของคฤหัสถ์อย่างไร
แต่ถ้าไม่รู้เรื่องพระวินัย คฤหัสถ์บางคนอาจจะมีความเลื่อมใสในภิกษุ ซึ่งไม่ได้ทำกิจของพระภิกษุตามพระวินัย นอกจากนั้น คฤหัสถ์ที่รู้พระวินัยก็ยังประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย เช่น กิริยาอาการของกาย วาจา ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตอย่างไร คฤหัสถ์ก็กระทำตามได้แม้ว่าจะไม่ใช่เพศบรรพชิต เพราะเป็นมารยาทที่ดีงามของสังคมทั่วๆ ไป มารยาทที่เหมาะที่ควรนั้นไม่จำกัดเชื้อชาติ สิ่งใดที่ดีก็ควรจะประพฤติปฏิบัติตามได้ ซึ่งในพระไตรปิฏกนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติความประ พฤติทางกายทางวาจาที่เหมาะที่ควรไว้
สำหรับ พระสุตตันตปิฏก บางท่านก็อาจเคยฟังมาบ้างจากรายการธรรมต่างๆ ที่วัดวาอารามหรือสถานีวิทยุ ซึ่งเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงที่พระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน พระวิหารนิโครธาราม เป็นต้น และเมื่อเสด็จไปสู่ที่ต่างๆ สนทนาธรรมกับบุคคลต่างๆ ตามอุปนิสัยของผู้ฟัง
ปิฏกที่ ๓ คือ พระอภิธรรมปิฏก บางคนอาจจะกลัวว่าพระอภิธรรมปิฏกยากมาก และไม่มีโอกาสได้ฟังบ่อย แต่เมื่อเข้าใจความหมายของธรรมว่า ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ และการที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้ถูกต้องนั้นมีหนทาง เดียวคือศึกษาพระอภิธรรม เพราะอีกนัยหนึ่งนั้น อภิธรรมเป็นธรรมส่วนละเอียดจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ คือประจักษ์แจ้งสัจจธรรม ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ
ผู้ที่ไม่ศึกษาพระอภิธรรมนั้น อาจจะเพราะคิดว่าพระอภิธรรมละเอียดมากเกินไป แต่ถ้าเข้าใจว่าอภิธรรมคือเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก กำลังได้ลาภ กำลังเสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ การเจ็บ การตาย ไม่พ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกทั้งหมดจะกี่โลกก็ตาม โลกพระจันทร์ หรือพรหมโลก ก็ไม่พ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นสัตว์ เป็นเทพ ก็มีตา มีหูฯ ลฯ ไม่พ้นไปจาก ๖ โลกนี้เลย ฉะนั้น ๖ โลกนี้คือพระอภิธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด การศึกษาพระอภิธรรมจึงเป็นการศึกษาที่ทำให้ค่อยๆ รู้จักตัวเอง รู้จักโลกตามความเป็นจริง เป็นสัจจธรรม
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...