พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อุโบสถขันธกะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  12 มี.ค. 2565
หมายเลข  42810
อ่าน  1,957

[เล่มที่ 6] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวรรค

เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๑

อุโบสถขันธกะ

เรื่องปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 147/377

ทรงแสดงธรรมีกถา 378

พระพุทธานุญาตวันประชุม 378

ประชุมนั่งนิ่ง 148/378

พระพุทธานุญาตให้กล่าวธรรม 379

พระพุทธานุญาตปาติโมกขุทเทส 149/375

นิทานุทเทสวิภังค์ 150/380

สวดปาติโมกข์ในวันอุโบสถ 151/383

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวดปาติโมกข์ 152/384

เรื่องพระมหากัปปินเถระดําริจะไม่ทําอุโบสถ 153/384

อรรถกถาวินิจฉัยในอุโบสถขันธกะ 386

อรรถกถาสีมากถา 388

อรรถกถานิมิตวินิจฉัย 389

สมมติสีมาและนิมิตแห่งสีมา 154/395

วิธีสมมติสีมา 395

กรรมวาจาสมมติสีมา 395

เรื่องสมมติสีมาใหญ่เกินขนาด 155/396

เรื่องสมมติสีมาคร่อมแม่น้ํา 156/396

เรื่องสมมติโรงอุโบสถ 157/397

กรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ 397

เรื่องสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่งในอาวาสเดียว 158/398

วิธีถอนโรงอุโบสถ 398

กรรมวาจาถอนโรงอุโบสถ 399

สมมติโรงอุโบสถเล็กเกินขนาด 159/399

วิธีสมมติพ้นที่ ด้านหน้าโรงอุโบสถ 400

กรรมวาจาสมมติพ้นที่ ด้านหน้าโรงอุโบสถ 400

พระเถระลงประชุมก่อน 160/400

ภิกษุหลายวัดทําอุโบสถร่วมกัน 161/401

พระมหากัสสปเถระเดินทางไปทําอุโบสถ 162/401

วิธีสมมติติจีวราวิปปวาส 402

กรรมวาจาสมมติติจีวราวิปปวาส 402

กรรมวาจาถอนติจีวราวิปปวาส 405

วิธีถอนสมานสังวาสสีมา 405

กรรมวาจาถอนสมานสังวาสสีมา 405

อพัทธสีมา 164/406

สีมาสังกระ สีมาคาบเกี่ยว 165/407

สีมาสังกระ สีมาทับสีมา 407

อรรถกถาวิธีผูกมหาสีมา 408

อรรถกถาวิธีผูกขัณฑสีมา 409

อรรถกถาวิธีผูกสีมา 2 ชั้น 410

อรรถกถาวิธีผูกสีมาบนศิลาดาดเป็นต้น 411

อรรถกถาทีปารสีมา 416

อรรถกถาวิธีถอนสีมา 422

อรรถกถาอพัทธสีมา 423

อรรถกถาสัตตัพภันตรสีมา 424

อรรถกถาอุทกุกเขปสีมา 425

อรรถกถาสีมาสัมเภท 430

วันอุโบสถมี๒ 166/432

กระทําอุโบสถมี๔ อย่าง 432

อรรถกถาอุโบสถและอุโบสถกรรม 433

ปาติโมกขุทเทส ๕ 167/434

ทรงห้ามสวดปาฏิโมกข์ย่อ 434

พระพุทธานุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ย่อเมื่อมีอันตราย 435

อันตราย 10 ประการ 435

อรรถกถาปาติโมกขุทเทส 436

จะแสดงธรรมต้องได้รับอาราธนาก่อน 168/438

ถามพระวินัยต้องได้รับสมมติก่อน 169/438

วิธีสมมติเป็นผู้ถาม 438

กรรมวาจาสมมติตน 439

กรรมวาจาสมมติผู้อื่น 439

ถามพระวินัยต้องตรวจดูบริษัทก่อน 439

วิธีสมมติเป็นผู้วิสัชนา 440

วิสัชนาพระวินัยต้องตรวจดูบริษัทก่อน 441

โจทก์ต้องขอโอกาสต่อจําเลย 170/441

ก่อนโจทต้องพิจารณาดูบุคคล 441

ก่อนขอโอกาสต้องพิจารณาดูบุคคล 442

เรื่องห้ามทํากรรมไม่เป็นธรรม 171/442

แกล้งสวดปาติโมกข์ไม่ให้ได้ยิน 172/443

ห้ามสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ 173/444

ต้องได้รับอาราธนาจึงสวดปาติโมกข์ได้ 174/444

อรรถกถาอัชเฌสนา 445

หน้าที่สวดปาติโมกข์ 175/448

ส่งภิกษุไปศึกษาปาติโมกข์ 176/448

พระพุทธานุญาตให้เรียนปักขคณนา 177/456

พระพุทธานุญาตให้บอกวันอุโบสถ 178/451

บุพกรณ์และบุพกิจในโรงอุโบสถ 179/452

จะไปไหนต้องอาปุจฉาก่อน 180/453

อรรถกถาอัชเฌสนา 455

พระพุทธานุญาตให้นําปาริสุทธิของพระอาพาธมา 181/460

พระพุทธานุญาตให้นําฉันทะของภิกษุอาพาธมา 182/462

พวกญาติเป็นต้นจับภิกษุ 183/465

ภิกษุวิกลจริต 184/466

อาการทําอุโบสถ ๓ อย่าง 468

๑. สวดปาติโมกข์ 185/468

๒. บอกความบรสิุทธิ์ 468

๓. อธิษฐาน 471

อรรถกถาปาริสุทธิและฉันทะ 472

แสดงอาบัติก่อนทําอุโบสถ 186/476

อรรถกถาวิธีแสดงอาบัติ 481

ทําอุโบสถไม่ต้องอาบัติ ๑๕ ข้อ 191/484

ทําอุโบสถเป็นหมู่สําคัญว่าพร้อมกัน ๑๕ ข้อ 192/488

มีความสงสัยทําอุโบสถ ๑๕ ข้อ 193/490

ฝืนใจทําอุโบสถ ๑๕ ข้อ 194/492

มุ่งความแตกร้าวทําอุโบสถ ๑๕ ข้อ 195/493

เปยยาลมุข ๗๐๐ ติกะ 196/495

วันอุโบสถต่างกัน 197/495

มุ่งความแตกร้าว 198/496

ภิกษุนานาสังวาสและสมานสังวาส 199/499

ไม่ควรไปไหนในวันอุโบสถ 200/500

วัชชนียบุคคลในอุโบสถ 201/502

หัวข้อประจําขันธกะ 204/504

อรรถกถาในวัดคาสมัคคสัญญิโนปัณณรสกาทิกถา 506


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 6]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 377

อุโบสถขันธกะ

เรื่องปริพาชกอัญญเดียรถีย์

[๑๔๗] ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ถึง วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ย่อมประชุมกันกล่าวธรรม คนทั้งหลายเข้าไปหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาได้ความรัก ได้ความเลื่อมใส ในพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ๆ ย่อมได้พรรคพวก ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช เสด็จไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีพระราชปริวิตกแห่งพระราชหฤทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ถึงวัน ๑๔ ด่า ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ย่อมประชุมกันกล่าวธรรม คนทั้งหลายเข้าไปหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาได้ความรัก ได้ความเลื่อมใส ในพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ย่อมได้พรรคพวก ไฉนหนอพระคุณเจ้าทั้งหลาย พึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์บ้าง จึงท้าวเธอเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท้าวเธอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลข้อปริวิตกนั้นต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ถึงวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ย่อมประชุมกันกล่าวธรรม คนทั้งหลายเข้าไปหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาได้ความรัก ได้ความเลื่อมใส ในพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ๆ ย่อมได้พรรคพวก ไฉนหนอพระ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 378

คุณเจ้าทั้งหลายพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์บ้าง หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงประชุมกัน ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์บ้างเถิดพระพุทธเจ้าข้า.

ทรงแสดงธรรมีกถา

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ครั้นท้าวเธออันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำประทักษิณเสด็จกลับไป.

พระพุทธานุญาตวันประชุม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกัน ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์.

ประชุมนั่งนิ่ง

[๑๔๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายพูดกันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ภิกษุเหล่านั้น จึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ แล้วนั่งนิ่งเสีย คนทั้งหลายเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรประชุมกันใน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 379

๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ จึงได้นั่งนิ่งเสียเหมือนสุกรอ้วนเล่า ธรรมเนียมภิกษุผู้ประชุมกัน ควรกล่าวธรรมมิใช่หรือ ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระพุทธานุญาตให้กล่าวธรรม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันกล่าวธรรม ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์.

พระพุทธานุญาตปาติโมกขุทเทส

[๑๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไป ณ ที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งพระทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอเราพึงอนุญาตสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้เป็นปาติโมกขุทเทสของพวกเธอ ปาติโมกขุทเทสนั้นจักเป็นอุโบสถกรรมของพวกเธอ ครั้นเวลาสายัณห์ พระองค์เสด็จออกจากที่เร้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอเราพึงอนุญาตสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้เป็นปาติโมกขุทเทสของพวกเธอ ปาติโมกขุทเทสนั้นจักเป็นอุโบสถกรรมของพวกเธอ ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุพึงสวดอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 380

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่ แล้วสงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์ อะไรเป็นบุพพกิจของสงฆ์ ท่านทั้งหลายพึงบอกความบริสุทธิ์ ข้าพเจ้าจักสวดปาติโมกข์ พวกเราบรรดาที่มีอยู่ทั้งหมดจงฟัง จงใส่ใจซึ่งปาติโมกข์นั้นให้สำเร็จประโยชน์ ท่านผู้ใดมีอาบัติ ท่านผู้นั้นพึงเปิดเผย เมื่ออาบัติไม่มี พึงนิ่งอยู่ ก็ด้วยความเป็นผู้นิ่งแล ข้าพเจ้าจักทราบท่านทั้งหลายว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การสวดประกาศกว่าจะครบ ๓ จบ ในบริษัทเห็นปานนี้ย่อมเป็นเหมือนการกล่าวแก้เฉพาะรูป ที่ถูกถามผู้เดียว ฉะนั้น ก็ภิกษุรูปใด เมื่อสวดประกาศกว่าจะครบ ๓ จบ รู้ลึกได้ ไม่ยอมเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น ท่านทั้งหลาย ก็สัมปชานมุสาวาท พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย เพราะฉะนั้น ภิกษุต้องอาบัติแล้วระลึกได้ หวังความบริสุทธิ์ พึงเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ เพราะเปิดเผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่เธอ.

นิทานุเทสวิภังค์

[๑๕๐] คำว่า ปาติโมกข์ นี้ เป็นเบื้องต้น เป็นประธาน เป็นประมุขแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า ปาติโมกข์.

คำว่า ท่านทั้งหลาย นี้ เป็นคำกล่าวที่อ่อนหวาน เป็นคำแสดงความเคารพ.

คำว่า ท่านทั้งหลาย นี้ เป็นชื่อของถ้อยคำที่ประกอบด้วยความเคารพและประกอบด้วยความยำเกรง.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 381

คำว่า จักสวด คือจักบอก จักแสดง จักทำให้ปรากฏ จักริเริ่ม จักเปิดเผย จักจำแนก จักทำให้ตื้น จักประกาศ.

บทว่า นั้น ตรัสเรียกปาติโมกข์.

คำว่า ที่มี่อยู่ทั้งหมด ความว่า ภิกษุในบริษัทนั้นมีจำนวนเท่าไร เป็นเถระก็ตาม นวกะก็ตาม มัชฌิมะก็ตาม เหล่านี้เรียกว่า ที่มีอยู่ทั้งหมด.

คำว่า จงฟังให้สำเร็จประโยชน์ ความว่า จงตั้งใจ มนสิการ ประมวลเรื่องทั้งหมดด้วยใจ.

คำว่า จงใส่ใจ ความว่า จงเป็นผู้มีจิตแน่วแน่ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่ซัดส่าย ทั้งใจฟัง.

คำว่า ท่านผู้ใดมีอาบัติ ความว่า ภิกษุเถระก็ตาม นวกะก็ตาม มัชฌิมะก็ตาม มีอาบัติ ๕ กอง ตัวใดตัวหนึ่ง มีอาบัติ ๗ กอง ตัวใดตัวหนึ่ง.

คำว่า ท่านผู้นั้นพึงเปิดเผย ความว่า ภิกษุนั้นพึงแสดง พึงเปิดเผย พึงทำให้ตื้น พึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ท่ามกลางคณะ หรือในบุคคลผู้หนึ่ง.

อาบัติชื่อว่า ไม่มี คือ ภิกษุไม่ต้องอาบัติ หรือว่าต้อง แต่ออกแล้ว.

คำว่า พึงนิ่งอยู่ คือพึงนิ่ง ไม่ต้องพูด.

คำว่า ข้าพเจ้าจักทราบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ คือรู้จัก จักทรงจำไว้.

คำว่า ย่อมเป็นเหมือนการกล่าวแก้ เฉพาะรูปที่ถูกถามผู้เดียว ความว่า พึงรู้ในบริษัทนั้นว่า ถามเรา ดังนี้ เหมือนภิกษุรูป ๑ ถูกภิกษุอีกรูป ๑ ถาม พึงแก้ฉะนั้น.

บริษัทที่ชื่อว่า เห็นปานนี้ ตรัสเรียกภิกษุบริษัท.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 382

คำว่า การสวดประกาศกว่าจะครบ ๓ จบ ความว่า สวดประกาศแม้ครั้งที่ ๑ สวดประกาศแม้ครั้งที่ ๒ สวดประกาศแม้ครั้งที่ ๓.

บทว่า ระลึกได้ คือรู้ จำได้.

อาบัติที่ชื่อว่า มีอยู่ คือภิกษุต้องอาบัติแล้ว หรือต้องแล้วยังมิได้ออก.

คำว่า ไม่ยอมเปิดเผย ความว่า ไม่ยอมแสดง ไม่ยอมเปิดเผย ไม่ยอมทำให้ตื้น ไม่ยอมประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ท่ามกลางคณะ หรือในบุคคลผู้ ๑.

คำว่า สัมปชานมุสาวาท ย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น คือ สัมปชานมุสาวาท. เป็นอะไร เป็นอาบัติทุกกฏ.

คำว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย ความว่าเป็นธรรมทำอันตรายแก่อะไร เป็นธรรมทำอันตรายแก่การบรรลุปฐมฌาน เป็นธรรมทำอันตรายแก่การบรรลุทุติยฌาน เป็นธรรมทำอันตรายแก่การบรรลุตติยฌาน เป็นธรรมทำอันตรายแก่การบรรลุจตุตถฌาน เป็นธรรมทำอันตรายแก่การบรรลุฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ เนกขัมมะ นิสสรณะ ปวิเวก กุศลธรรม.

บทว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะเหตุดังนั้น.

บทว่า ระลึกได้ คือรู้ จำได้.

บทว่า หวังความบริสุทธิ์ คือประสงค์เพื่ออกจากอาบัติ ประสงค์เพื่อความหมดจด.

อาบัติที่ชื่อว่า มีอยู่ คือภิกษุต้องอาบัติแล้ว หรือต้องแล้วยังมิได้ออก.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 383

คำว่า พึงเปิดเผย ความว่า พึงทำให้แจ้งในท่ามกลางสงฆ์ ท่านกลางคณะ หรือในบุคคลผู้หนึ่ง.

คำว่า เพราะเปิดเผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่เธอ ความว่า ความผาสุกมีเพื่ออะไร ความผาสุกมีเพื่อบรรลุปฐมฌาน ความผาสุกมีเพื่อบรรลุทุติยฌาน. ความผาสุกมีเพื่อบรรลุตติยฌาน ความผาสุกมีเพื่อบรรลุจตตุถฌาน ความผาสุกมีเพื่อบรรลุฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ เนกขัมมะ นิสสรณะ ปวิเวก กุศลธรรม.

สวดปาติโมกข์วันอุโบสถ

[๑๕๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการสวดปาติโมกข์แล้ว จึงสวดปาติโมกข์ทุกวัน ภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ทุกวัน รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ในวันอุโบสถ.

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการสวดปาติโมกข์ในวันอุโบสถแล้ว จึงสวดปาติโมกข์ปักษ์ละ ๓ ครั้ง คือ ในวันที่ ๑๔ วันที่ ๑๕ และวันที่ ๘ํ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ปักษ์ละ ๓ ครั้ง รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ ปักษ์ละ ๑ ครั้ง คือในวันที่ ๑๔ หรือวันที่ ๑๕.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 384

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวดปาติโมกข์

[๑๕๒] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สวดปาติโมกข์แก่บริษัทเท่าที่มีอยู่ คือเฉพาะบริษัทของตนๆ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์แก่บริษัทเท่าที่มีอยู่ คือเฉพาะบริษัทของตนๆ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุโบสถกรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติอุโบสถกรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน ดังนี้ แล้วมีความดำริต่อไปว่าความพร้อมเพรียงมีเพียงเท่าไรหนอแล มีเพียงอาวาสหนึ่ง หรือทั่วทั้งแผ่นดินแล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตความพร้อมเพรียงเพียงชั่วอาวาสเดียวเท่านั้น.

เรื่องพระมหากัปปินเถระดำริจะไม่ทำอุโบสถ

[๑๕๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะพักอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขตพระนครราชคฤห์ คราวหนึ่ง ท่านไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถหรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านพระมหากัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ แล้วได้ทรงหายพระ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 385

องค์ไปในคิชฌกูฏบรรพต มาปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แล้วพระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสนะที่เขาจัดถวาย ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสคำนี้กะท่านพระกัปปินะผู้นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่งว่า ดูก่อนกัปปินะ เธอไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถหรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้วด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ดังนี้มิใช่หรือ.

ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ซึ่งอุโบสถ ดูก่อนพราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้.

ท่านพระมหากัปปินะรับสนองพระพุทธพจน์ว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปในที่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤดูทายวัน มาปรากฏ ณ คิชฌกูฏบรรพต โดยรวดเร็ว เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 386

อรรถกถาวินิจฉัยในอุโบสถขันธกะ

ในบทว่า อญฺติตฺถิยา นี้ มีวิเคราะห์ว่า ลัทธิ ท่านเรียกให้ชื่อว่า ติดถะ แปลว่าท่า ท่าอื่น ชื่ออัญญติตถะ, ท่าอื่นของชนเหล่านั้นมีอยู่ เหตุนั้นชนเหล่านั้น จึงชื่อว่า อัญญเดียรถีย์ มีคำอธิบายว่า ผู้มีลัทธิอื่นจากลัทธิในศาสนานี้.

สองบทว่า ธมฺมํ ภาสนฺติ มีความว่า ย่อมชี้แจงถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำของเหล่าอัญญเดียรถีย์นั้น.

สองบทว่า เต ลภนฺติ คือ มนุษย์เหล่านั้นย่อมได้.

บทว่า มูคสูกรา คือ เหมือนสุกรตัวอ้วน.

ในข้อว่า อนชฺฌาปนฺโน วา โหติ อาปชฺชิตฺวา วา วุฏฺิโต นี้ พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า ภิกษุไม่ต้องอาบัติใด หรือต้องแล้ว แต่ออกแล้ว อาบัตินี้ชื่อว่า อาบัติไม่มี.

ข้อว่า สมฺปชานมุสาวาโท กึ โหติ มีความว่า สัมปชานมุสาวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุนั้น นี้ว่าโดยอาบัติ เป็นอาบัติอะไร? คือ เป็นอาบัติชนิดไหน?

ข้อว่า ทุกฺกฏํ โหติ คือเป็นอาบัติทุกกฏ. ก็อาบัติทุกกฏนั้นแล ผู้ศึกษาอย่าพึงเข้าใจว่า เป็นอาบัติตามลักษณะแห่งมุสาวาท แต่ควรทราบว่า เป็นอาบัติมีการไม่ทำในวจีทวารเป็นสมุฏฐาน ตามพระวาจาของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันที่จริงพระอุบาลีเถระก็ได้กล่าวว่า.

ภิกษุไม่บอกด้วยวาจากับมนุษย์ไรๆ (ผู้อยู่ใกล้) และไม่เอิ้นบอกกะชนเหล่าอื่น (ผู้อยู่ห่าง) แต่ต้องอาบัติมีวาจาเป็นสมุฏฐาน

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 387

หาต้องอาบัติมีกายเป็นสมุฏฐานไม่ ปัญหาข้อนี้ผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันนัก.

บทว่า อนฺตรายิโก คือ ทำอันตราย.

ข้อว่า กิสฺส ผาสุ โหติ มีความว่า ความสำราญย่อมมีเพื่อประโยชน์อะไร?

ข้อว่า ปมสฺส ฌานสฺส อธิคมาย มีความว่า ความสำราญย่อมมี คือ ความสุขย่อมมีแก่ภิกษุนั้น เพื่อประโยชน์แก่ความบรรลุปฐมฌาน. นัยในคุณวิเศษทั้งปวง มีทุติยฌานเป็นต้น ก็เหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปาติโมกขุทเทสครั้งแรก ทั้งอุทเทส ทั้งนิทเทส ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า เทวสิกํ ได้แก่ ทุกๆ วัน.

หลายบทว่า จาตุทฺทเส วา ปณฺณรเส วา มีความว่า ในวันจาตุททสี ๒ ครั้ง ในปักษ์ที่ ๓ และที่ ๗ แห่งฤดูอันหนึ่ง. ในวันปัณณรสี ๖ ครั้ง ในปักษ์ที่เหลือจากนั้น อันนี้เป็นอรรถอันหนึ่งก่อน. และอรรถนี้กล่าวด้วยมุ่งเอาจิตตามปกติ. แต่เมื่อปัจจัยเห็นปานนั้นมี ก็สมควรจะสวดในวันจาตุททสี หรือวันปัณณรสี วันใดวันหนึ่งก็ได้ ตามพระบาลีว่า สกึ ปกฺขสฺส จาตุทฺทเส วา ปณฺณรเส วา. ก็เนื้อความนี้ บัณฑิตพึงทราบ แม้โดยพระบาลีว่า อุโบสถของภิกษุทั้งหลายผู้เจ้าถิ่นเป็นวันจาตุททสี, อุโบสถของภิกษุทั้งหลายผู้อาคันตุกะเป็นวันปัณณรสี, ถ้าภิกษุผู้เจ้าถิ่นมากกว่าภิกษุผู้อาคันตุกะ ต้องคล้อยตามภิกษุผู้เจ้าถิ่น.


๑. มหาวคฺค. ปฐม ๒๖๑

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 388

อรรถกถาสีมากถา

ข้อว่า พึงกำหนดนิมิตก่อนนั้น มีความว่า พระวินัยธรพึงทักว่า ในทิศบูรพา อะไรเป็นนิมิต? เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตอบว่า ภูเขา เจ้าข้า พระวินัยธรพึงระบุอีกว่า ภูเขานั้นเป็นนิมิต. พึงกำหนดนิมิตก่อนอย่างนี้. แต่จะกำหนดอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจะทำภูเขานั่นเป็นนิมิต จักทำภูเขานั่นเป็นนิมิต ทำภูเขานั่นเป็นนิมิตแล้ว ภูเขานั่นจงเป็นนิมิต เป็นนิมิตแล้ว จักเป็นนิมิติ ดังนี้ ใช้ไม่ได้. แม้ในนิมิตทั้งหลายมีศิลาเป็นต้น มีนัยเหมือนกัน ก็พระวินัยธรทักนิมิตไปโดยลำดับอย่างนี้ว่า ในทิศน้อยแห่งทิศบูรพา ในทิศทักษิณ ในทิศน้อยแห่งทิศทักษิณ ในทิศปัศจิม ในทิศน้อยแห่งทิศปัศจิม ในทิศอุดร ในทิศน้อยแห่งทิศอุดร อะไรเป็นนิมิต? เมื่อผู้ใดผู้หนึ่ง ตอบว่า น้ำ เจ้าข้า เมื่อตนระบุว่า น้ำนั่นเป็นนิมิต แล้วอย่าหยุดในทิศนี้ พึงทักซ้ำอีกว่า ในทิศบูรพา อะไรเป็นนิมิต? เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตอบว่า ภูเขาเจ้าข้า พึงระบุว่า ภูเขานั่น เป็นนิมิต. พึงกำหนดนิมิตที่ได้กำหนดไว้ที่แรกอย่างนี้แล้ว จึงค่อยหยุด. จริงอยู่ ด้วยการกำหนดอย่างนี้นิมิตกับนิมิตจึงจัดว่าเชื่อมถึงกัน. ครั้นกำหนดนิมิตอย่างนี้แล้ว ลำดับนั้น พึงสมมติสีมาด้วยกรรมวาจาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เป็นลำดับไป. ในที่สุดแห่งกรรมวาจาพื้นที่ภายในนิมิตทั้งหลายย่อมเป็นสีมา ตัวนิมิตทั้งหลายเป็นภายนอกสีมา. นิมิตทั้งหลายในสีมานั้น แม้กำหนดครั้งเดียว ก็เป็นอันกำหนดไว้ดีแล้วแท้. แต่ในอันธกอรรถกถา แก้ว่า เมื่อจะผูกมณฑลสีมา ต้องกำหนดนิมิต ๓ ครั้ง. และอุปสัมบันก็ได้ อนุปสัมบันก็ไค้ จงตอบอย่างนี้ว่า ภูเขา เจ้าข้า ฯลฯ น้ำ เจ้าข้า ควรทั้งนั้น.


๑. โหหิติ ภวิสฺสติ ทั้ง ๒ คำนี้ คล้ายๆ กับว่าใช้คำใดก็ได้ ท่านใช้ตามภาษาของท่านโดย สะดวก ครั้นมาแปลเป็นภาษาไทยเข้าก็ลำบาก นอกจากจะแปลขอไปทีพอได้ความ หรือมิฉะนั้น ก็ยกคำบาลีนั้นมาให้เห็นในคำแปลว่า ... นิมิตฺตํ โหหิติ นิมิตฺตํ ภวิสฺสติ เพราะต่างก็เป็นกิริยาในความว่ามี ว่าเป็นรูปอนาคตด้วยกัน.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 389

อรรถกถานิมิตวินิจฉัย

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในนิมิตทั้งหลาย มีปัพพตนิมิตเป็นต้น อย่างนี้:-

ภูเขามี ๓ ชนิด คือ ภูเขาดินล้วน ๑ ภูเขาศิลาล้วน ๑ ภูเขาศิลาปนดิน ๑. ภูเขานั้นใช้ได้ทั้ง ๓ ชนิด. แต่กองทรายใช้ไม่ได้. และตั้งแต่ขนาดเท่าช้างถึงภูเขาสิเนรุ ก็ใช้ไม่ได้. ถ้ามีภูเขา ๔ เทือก ใน ๔ ทิศ หรือมี ๓ เทือก ใน ๓ ทิศ แม้จะสมมติสีมาด้วยปัพพตนิมิตทั้งนั้น ทั้ง ๔ หรือ ๓ ก็ควร. แค่จะสมมติด้วยนิมิตเพียง ๒ หรือเพียง ๑ ไม่ควร. แม้ในปาสาณนิมิต เป็นต้นนอกจากนี้ก็มีนัยเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น เมื่อจะทำภูเขาให้เป็นนิมิต ควรถามว่า เนื่องเป็นอันเดียวกัน. หรือไม่เนื่องเป็นอันเดียวกัน ถ้าเนื่องเป็นอันเดียวกัน, ไม่ควรใช้. ด้วยว่า แม้กำหนดภูเขานั้นเป็นนิมิต ๔ ทิศ หรือทั้ง ๘ ทิศ ย่อมเป็นอันกำหนดแล้วเพียงนิมิตเดียวเท่านั้น. เพราะเหตุนั้นภูเขาที่ตั้งโอบรอบวัดที่อยู่โดยสัณฐานดังกงจักร อย่างนั้น ควรกำหนดในทิศเดียว ในทิศอื่นๆ พึงกันภูเขานั้นไว้ภายนอก กำหนดนิมิตชนิดอื่นภายในแต่ภูเขานั้นเข้ามา. หากว่าประสงค์จะทำภูเขาเสี้ยวหนึ่งหรือกึ่งหนึ่งไว้ภายในสีมา. อย่ากำหนดภูเขาประสงค์จะทำประเทศเท่าใดไว้ภายใน. พึงกำหนดนิมิตชนิดใดชนิดหนึ่ง มีต้นไม้และจอมปลวกเป็นต้น ที่เกิด ณ ภูเขานั้นเองข้างนอกแห่งประเทศเท่านั้น. หากประสงค์จะกันเอาภูเขาทั้งหมด ประมาณโยชน์ ๑ หรือ ๒ โยชน์ไว้ภายใน. พึงกำหนดต้นไม้หรือจอมปลวกเป็นต้น ซึ่งเกิด ณ ภาคพื้นข้างนอกภูเขาเป็นนิมิต.

วินิจฉัยในปาสาณนิมิต:-


๑. เอกิสฺสาเอว ปน ทิสาย ฐิเตหิ ตโต พหูหิปิ สมฺมนฺนิตุํ น วฏฺฏติ. ทฺวีหิ ปน ทฺวีสุ ทิสาสุ ิเตหิปิ วฏฺฏตีติ วิมติวิโนทนี.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 390

แม้ก้อนเหล็ก ก็นับว่าศิลาได้เหมือนกัน. เพราะฉะนั้น ศิลาชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ควร. แต่เมื่อว่าโดยขนาด ขนาดเท่าช้างนับเป็นภูเขา, เพราะฉะนั้น ศิลาขนาดเท่าช้างนั้น จึงไม่ควร. ส่วนศิลาขนาดเท่าโคเขื่อง และกระบือเขื่องๆ ใช้ได้. โดยกำหนดอย่างต่ำ ขนาดเท่าก้อนน้ำอ้อยหนัก ๓๒ ปะละ ก็ใช้ได้ ย่อมกว่านั้นหรือแม้อิฐขนาดใหญ่ ก็ใช้ไม่ได้. แม้กองศิลาที่ไม่นับเข้าในนิมิตก็ใช้ไม่ได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงกองดินกองทราย. ศิลาดาดซึ่งราบเสมอพื้นดิน คล้ายวงลานก็ดี ศิลาดาดที่ตั้งสูงพ้นพื้นดินคล้ายตอก็ดี บรรดามี ศิลาแม้นั้น ถ้าได้ขนาด ใช้ได้. ศิลาดาดแม้ใหญ่เกินไป ย่อมนับว่าเป็นศิลาด้วย. เพราะฉะนั้น ถ้าประสงค์จะกันประเทศอันหนึ่งแต่ศิลาดาดขนาดใหญ่ไว้ภายในสีมา, อย่ากำหนดศิลาดาดนั้นเป็นนิมิต พึงกำหนดศิลาอื่นเหนือศิลาดาดนั้น หากทำวัดที่อยู่บนศิลาดาด หรือศิลาดาดยื่นไปทางท่ามกลางวัดที่อยู่ ศิลาดาดเห็นปานนี้ ใช้ไม่ได้. เพราะถ้ากำหนดศิลาดาดนั้นเป็นนิมิต วัดที่อยู่ย่อมอยู่บนนิมิต และธรรมดานิมิตต้องอยู่ภายนอกสีมา แม้วัดที่อยู่ก็ถึงภายนอกสีมา. ศิลาดาดตั้งโอบรอบวัดที่อยู่ควรกำหนดเป็นนิมิตในทิศเดียว อย่ากำหนดในทิศอื่น.

วินิจฉัยในวนนิมิต:-

ดงหญ้า หรือป่าไม้มีตาลและมะพร้าวเป็นต้นที่มีเปลือกแข็ง ใช้ไม่ได้ แต่หมู่ไม้มีแก่นข้างในเป็นต้นว่าไม้สากะและไม้สาละ หรือหมู่ไม้ปนไม้มีแก่น ก็ใช้ได้ ก็ป่าไม้นั้นแล โดยกำหนดอย่างต่ำ แม้เพียง ๔ - ๕ ต้น ก็ใช้ได้ หย่อนกว่านั้น ใช้ไม่ได้ มากกว่านั้นแม้ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็ใช้ได้. ถ้าทำวัดที่อยู่ไว้กลางป่า ไม่ควรกำหนดป่าเป็นนิมิต. แม้ประสงค์จะกันเอาป่าส่วน


๑.หนักประมาณ ๕ ชั่ง.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 391

หนึ่งไว้ภายในสีมา อย่ากำหนดป่าเป็นนิมิต พึงกำหนดต้นไม้หรือศิลาเป็นต้น ในป่านั้น เป็นนิมิต. ป่าที่ตั้งล้อมวัดที่อยู่ พึงกำหนดเป็นนิมิตในทิศเดียว อย่ากำหนดในทิศอื่น.

วินิจฉัยในรุกขนิมิต:-

ต้นไม้มีเปลือกแข็ง เช่นต้นตาลต้นมะพร้าวเป็นต้นใช้ไม่ได้. ต้นไม้ มีแก่นข้างใน ยังเป็นอยู่ โดยที่สุด สูงเพียง ๘ นิ้ว. วัดโดยรอบแม้ลำต้นเท่าเล่มเข็ม ก็ใช้ได้. ย่อมกว่านั้น ใช้ไม่ได้ โตกว่านั้นขึ้นไป แม้ต้นไทรที่ขึ้นงามไพศาลตั้ง ๑๒ โยชน์ ก็ควร. ต้นไม้ที่เขาเพาะพืชให้งอกงามในภาชนะทั้งหลาย มีกระบอกและกระถางเป็นต้น แม้ได้ขนาด ก็ใช้ไม่ได้ แต่เอาออกจากกระบอกและกระถางเป็นต้นนั้นปลูกลงในพื้นดิน แม้ในขณะนั้น แล้วทำซุ้มรดน้ำกำหนดเป็นนิมิต ก็ควร. การแตกรากและกิ่งใหม่ไม่ใช่เหตุ แต่การแตกรากและกิ่งนั้น ย่อมเหมาะสำหรับต้นไม้ที่เขาตัดลำต้นเพาะ อันพระวินัยธรเมื่อกำหนดจะระบุว่า ต้นไม้ หรือว่า ต้นสากะ หรือว่า ต้นสาละ ดังนี้ ก็ใช้ได้. แต่กำหนดต้นไม้ที่เนื่องเป็นอันเดียวกัน เช่นต้นไทรที่ขึ้นงามไพศาล เป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่นอีก ไม่ควร.

วินิจฉัยในบรรดานิมิต:-

ทางทั้งหลาย มีทางป่า ทางนา ทางแม่น้ำ ทางเหมืองเป็นต้น ใช้ไม่ได้. ทางเดินเท้า หรือทางเกวียน ซึ่งผ่านไป ๒ - ๓ ระยะบ้าน จึงใช้ได้. ส่วนทางเดินเท้าใด แยกออกจากทางเกวียนแล้วกลับลงสู่ทางเกวียนนั่นเองอีก


๑. ในวินัยมุขเล่ม ๓ หน้า ๑๖ ว่าลำต้นเท่าลำเข็ม. ในฎีกาสารตฺถทีปนี ภาค ๔ หน้า ๒๑๓ ว่า สูจิทณฺฑกปฺปมาโณติ สีหลทีเป เลขนทณฺฑปฺปมาโณติ วทนฺติ. โส จ กนิฏฺงฺคุลิปริมาโณติ ทฏฺพฺพํ: โดยนัยฏีกานี้ ก็คือด้ามเหล็กจาร. ศัพท์ว่า สจิตณฺฑ นี้ยังมีใช้ในเสนาสนกฺขนฺธกวณฺณนา หน้า ๓๘๗,๓๘๘ อีกว่า อฏฺงฺคุลิสูจิทณฺฑมตฺโตปิเวฬุ ... อฏฺงฺคุลสูจิทณฺฑมตฺโตปิ ทารุภณฺฑโก ... ซึ่งหมายความว่า ด้ามเหล็กจารทั้งนั้น.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 392

ก็ดี ทางเดินเท้าและทางเกวียนเหล่าใด ใช้ไม่ได้ก็ดี ทางเหล่านั้น ใช้ไม่ได้. ทางทั้งหลายที่พ่อค้าเดินเท้า และพ่อค้าเกวียนยังใช้เดินอยู่เสมอ จึงใช้ได้. ถ้าทาง ๒ แพร่งแยกจากกันไปแล้ว ภายหลังบรรจบเป็นทางเดียวกัน เช่นทูบเกวียนไซร้ ทางนั้นพึงกำหนดตรงที่แยกเป็น ๒ แพร่ง หรือที่บรรจบเป็นนิมิตครั้งเดียวแล้ว อย่ากำหนดอีก. เพราะนิมิตนั้น เป็นนิมิตเนื่องเป็นอันเดียวกัน ถ้าทาง ๔ แพร่งอ้อมรอบวัดอยู่แล้วแยกไปในทิศทั้ง ๔ กำหนดทาง หนึ่งตรงท่ามกลางแล้ว จะกำหนดอีกทางหนึ่ง ไม่ควร. เพราะนิมิตนั้น เป็นนิมิตเนื่องเป็นอันเดียวกัน. แต่จะกำหนดทางที่ผ่านทะแยงมุมไปเป็นนิมิตในด้านอื่น ควรอยู่. ส่วนทางที่ลัดผ่านท่ามกลางวัดที่อยู่ไป ไม่ควรกำหนด. เมื่อกำหนดแล้ว วัดที่อยู่ย่อมอยู่บนนิมิต. ถ้าภิกษุทั้งหลายจะทำทางล้อด้านในแห่งทางเกวียนเป็นนิมิต ทางย่อมอยู่ภายนอกสีมา, ถ้าจะทำทางล้อด้านนอกเป็นนิมิต ทางล้อด้านนอกเทียว ย่อมอยู่ภายนอกสีมา. ทางที่เหลือนับเข้าภายในสีมา. อันพระวินัยธรผู้จะกำหนดทางเป็นนิจ สมควรกำหนดโดยชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งในชื่อว่า มคฺโค, ปนฺโถ ปโถ, ปชฺโช เป็นอาทิ. ทางที่ไปได้รอบวัดที่อยู่ โดยสัณฐานดังคู กำหนดเป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่นไม่ควร.

วินิจฉัยในวัมมิกนิมิต:-

จอมปลวก โดยกำหนดอย่างเล็กที่สุด แม้เกิดในวันนั้น สูง ๘ นิ้ว ขนาดเท่าเขาโค ก็ใช้ได้. ย่อมกว่านั้น ใช้ไม่ได้ เขื่องกว่านั้นขึ้นไป แม้เท่ากับภูเขาหิมพานต์ ใช้ได้. แต่กำหนดจอมปลวกที่ติดกันเป็นพืดเดียวตั้งล้อมรอบวัดอยู่ เป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่นอีก ไม่ควร.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 393

วินิจฉัยในนทีนิมิต:-

ในสมัยแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม เมื่อฝนตกติดๆ กันอย่างนี้คือ ทุกกึ่งเดือน ทุก ๑๐ วัน ทุก ๕ วัน พอฝนหายแล้ว กระแสแห่งแม่น้ำใดขาดแห้ง แม่น้ำนี้ไม่นับเป็นแม่น้ำ. แต่ในคราวฝนเช่นนี้ กระแสแห่งแม่น้ำใดไหลไม่ขาดตลอดฤดูฝน ๔ เดือน ลึกพอจะเปียกอันตรวาสกของนางภิกษุณี ผู้นุ่งห่มได้ปริมณฑล ๓ ลุยข้าม ณ เอกเทศแห่งใดแห่งหนึ่ง, แม่น้ำนี้นับว่าเป็นแม่น้ำ, เมื่อผูกนทีสีมาเป็นนิมิตได้. ในการไปสู่ฝั่งแม่น้ำของนางภิกษุณีก็ดี ในการทำสังฆกรรมมีอุโบสถเป็นต้นก็ดี ในการสมมตินทีปารสีมาก็ดี ประสงค์แม่น้ำชนิดนี้แล ก็แม่น้ำใด โอบรอบวัดที่อยู่ โดยสัณฐานดังทูบเกวียนก็ดี โดยสัณฐานดังคูก็ดี คล้ายทาง, กำหนดแม่น้ำนั้นเป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่น ไม่ควร. แม้ในแม่น้ำ ๔ สาย ซึ่งผ่านตัดกันและกันไป ใน ๔ ทิศแห่งวัดที่อยู่ ก็มีนัยเหมือนกัน. แต่จะกำหนดแม่น้ำทั้ง ๔ สาย ซึ่งไม่เชื่อมต่อกันเป็นนิมิต ใช้ได้. ถ้าชนทั้งหลายปักหลักเรียงกันเหมือนทำรั้วกั้นกระแสน้ำด้วยเถาวัลย์และใบไม้เป็นต้น และน้ำล้นท่วมทำนบไหลไปได้ จะทำให้เป็นนิมิต ควรอยู่. เมื่อเขาทำทำนบไม่ให้น้ำไหล แม่น้ำที่ไม่ไหล ไม่ควรทำให้เป็นนิมิต. ในที่ซึ่งน้ำไหล ทำให้เป็นนทีนิมิต ในที่ซึ่งน้ำไม่ไหล ทำให้เป็นอุทกนิมิต ควรอยู่. แต่แม่น้ำที่ไม่ไหล เพราะขาดน้ำ ในคราวฝนแล้ง หรือในฤดูร้อน ใช้ได้. ชนทั้งหลายชักลำรางไขน้ำมาแต่แม่น้ำใหญ่ ลำรางนั้นเป็นเช่นกับแม่น้ำเขิน ไหลอยู่เป็นนิจ ให้สำเร็จข้าวกล้า ๓ คราว ถึงน้ำไหลไปได้ก็จริง แต่ก็ไม่ควรทำเป็นนิมิต. ส่วนลำรางอันใดในชั้นเดิม แม้เขาขุดชักมาจากแม่น้ำใหญ่ ในกาลอื่นเซาะพังกลายเป็นแม่น้ำ ไหลไปได้เอง ตามทางที่เขาขุดชักมานั้นแหละ โดยกาลต่อไป เกลื่อนกลาดไปด้วยสัตว์น้ำ มีจรเข้

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 394

เป็นอาทิ เป็นแม่น้ำที่จะพึงสัญจรไปได้ด้วยเรือเป็นต้น จะทำลำรางนั้น คือที่กลายเป็นแม่น้ำแล้ว ให้เป็นนิมิต สมควรอยู่.

วินิจฉัยในอุทกนิมิต:-

ในที่ซึ่งไม่มีน้ำ จะตักน้ำใส่ให้เต็มในเรือก็ดี ในหม้อก็ดี ในภาชนะ มีอ่างเป็นต้นก็ดี แล้วกำหนดให้เป็นอุทกนิมิต ไม่ควร. น้ำที่ถึงแผ่นดินเท่านั้น จึงใช้ได้. ก็น้ำถึงแผ่นดินนั่นแล เป็นน้ำไม่ไหล ขังอยู่ในที่ทั้งหลายมีบ่อ สระเกิดเอง และทะเลสาปเป็นต้น. ส่วนน้ำในแม่น้ำลึกและคลองไขน้ำเป็นต้นซึ่งไหล ใช้ไม่ได้. แต่ในอันธกอรรถกถาแก้ว่า น้ำที่ต้องโพงขึ้น ในชลาลัยทั้งหลายมีบ่อเป็นต้น ซึ่งลึก ไม่ควรทำเป็นนิมิต. คำนั้นท่านกล่าวไม่ชอบ เป็นแต่เพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น. อันน้ำที่ขังอยู่ โดยที่สุด แม้ในแอ่งที่สุกรขุดไว้ก็ดี ในหลุมสำหรับเล่นของเด็กชาวบ้านก็ดี น้ำที่เขาขุดหลุมในแผ่นดิน แล้วเอาหม้อตักมาใส่ให้เต็มในขณะนั้นก็ดี ถ้าขังอยู่จนถึงสวดกรรมวาจาจบได้ จะน้อยหรือมากก็ตามที ย่อมใช้ได้. และควรทำกองศิลาและกองทรายเป็นต้น หรือเสาศิลาหรือเสาไม้ไว้ในที่นั้น เพื่อทำความหมายนิมิต ภิกษุจะทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำกองศิลาเป็นต้นนั้นก็ควร. แต่ในลาภสีมา ไม่ควรทำ. ส่วนสมานสังวาสกสีมา ย่อมไม่ทำความเบียดเบียนใครๆ ย่อมให้สำเร็จ เฉพาะวินัยกรรมของภิกษุทั้งหลายอย่างเดียว: เพราะฉะนั้น ในสมานสังวาสกสีมานี้ จึงควรทำเอง หรือให้ผู้อื่นทำกองศิลาเป็นต้นได้.

อรรถกถานิมิตวินิจฉัย จบ

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 395

สมมติสีมาและนิมิตแห่งสีมา

[๑๕๔] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติว่า ความพร้อมเพรียงมีเพียงชั่วอาวาสเดียวเท่านั้นแล้วได้มีความปริวิตกต่อไปว่า อาวาสหนึ่งกำหนดเพียงเท่าไร จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสมมติสีมาอย่างนี้:-

วิธีสมมติสีมา

ชั้นต้นพึงทักนิมิต คือ ปัพพตนิมิต ปาสาณนิมิต วนนิมิต รุกขนิมิต มัคคนิมิต วัมมิกนิมิต นทีนิมิต อุทกนิมิต ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

กรรมวาจาสมมติสีมา

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบแล้วเพียงไร ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมา ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น นี้เป็นญัตติ.

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบแล้วเพียงไร สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ซึ่งสีมา ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น การสมมติสีมาให้มีสังวาส

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 396

เสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

สีมาอันสงฆ์สมมติให้มีสังวาสเสมอกัน มึอุโบสถเดียวกันแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั้น ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

เรื่องสมมติสีมาใหญ่เกินขนาด

[๑๕๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคดีย์คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการสมมติสีมาแล้ว จึงสมมติสีมาใหญ่เกินถึง ๔ โยชน์บ้าง ๕ โยชน์บ้าง ๖ โยชน์บ้าง ภิกษุทั้งหลายจะมาทำอุโบสถ ย่อมมาถึงต่อเมื่อกำลังสวดปาติโมกข์บ้าง มาถึงต่อเมื่อสวดจบบ้าง แรมคืนอยู่ในระหว่างทางบ้าง จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาใหญ่เกินถึง ๔ โยชน์ หรือ ๖ โยชน์ รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมามีประมาณ ๓ โยชน์ เป็นอย่างยิ่ง.

เรื่องสมมติสีมาคร่อมแม่น้ำ

[๑๕๖] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สมมติสีมาคร่อมแม่น้ำ ภิกษุทั้งหลายจะมาทำอุโบสถ ถูกน้ำพัดไปก็มี บาตรถูกน้ำพัดไปก็มี จีวรถูกน้ำพัดไปก็มี จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาคร่อมแม่น้ำ รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ.

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 397

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมาคร่อมแม่น้ำที่มีเรือจอดประจำหรือมีสะพานถาวร.

เรื่องสมมติโรงอุโบสถ

[๑๕๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายสวดปาติโมกข์ตามบริเวณวิหารโดยมิได้กำหนดที่ พระอาคันตุกะทั้งหลายไม่รู้ว่า วันนี้พระสงฆ์จักทำอุโบสถที่ไหน จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ตามบริเวณวิหารโดยมิได้กำหนดที่ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น หรือถ้ำ ที่สงฆ์จำนงให้เป็นโรงอุโบสถแล้วทำอุโบสถ.

เรื่องสมมติโรงอุโบสถ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติโรงอุโบสถอย่างนี้.

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า ดังนี้:-

กรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติวิหารมีชื่อนี้ ให้เป็นโรงอุโบสถ นี้เป็นญัตติ.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 398

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติอยู่บัดนิ้ ซึ่งวิหารมีชื่อนี้ ให้เป็นโรงอุโบสถ การสมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

วิหารมีชื่อนี้อันสงฆ์สมมติให้เป็นโรงอุโบสถแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

กรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ จบ

เรื่องสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่งในอาวาสเดียวกัน

[๑๕๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงอุโบสถทั้ง ๒ ด้วยตั้งใจว่า สงฆ์จักทำอุโบสถที่นี้ สงฆ์จักทำอุโบสถ ณ ที่นี้ จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ไม่พึงสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่ง รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถอนโรงอุโบสถแห่งหนึ่งแล้วทำอุโบสถในโรงอุโบสถแห่งหนึ่ง.

วิธีถอนโรงอุโบสถ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอนโรงอุโบสถอย่างนี้.

ภิกษุแม้ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 399

กรรมวาจาถอนโรงอุโบสถ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ นี้เป็นญัตติ.

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ถอนอยู่บัดนี้ ซึ่งโรงอุโบสถมีซึ่งนี้ การถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

โรงอุโบสถมีชื่อนี้อันสงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.

สมมติโรงอุโบสถเล็กเกินขนาด

[๑๕๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถเล็กเกินขนาด ถึงวันอุโบสถภิกษุสงฆ์ลงประชุมกันมาก ภิกษุทั้งหลายต้องนั่งฟังปาติโมกข์ในพื้นที่ซึ่งมิได้สมมติ จึงภิกษุเหล่านั้นได้หารือกันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า พึงสมมติโรงอุโบสถแล้ว จึงทำอุโบสถ ดังนี้ ก็พวกเรานั่งฟังปาติโมกข์ในพื้นที่ซึ่งมิได้สมมติ อุโบสถเป็นอันพวกเราทำแล้ว หรือไม่เป็นอันทำหนอ จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่งในพื้นที่ซึ่งสมมติแล้วก็ตาม มิได้สมมติก็ตาม เพราะได้ฟังปาติโมกข์ ฉะนั้นอุโบสถย่อมเป็นอันเธอได้ทำแล้วเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถให้ใหญ่เท่าที่จำนง.

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 400

วิธีสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ

ดูก่อนภิกษุทั้งพลาย ก็แล พึงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถอย่างนี้

พึงทักนิมิตก่อน ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

กรรมวาจาสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้แล้วโดยรอบเพียงไร ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ ด้วยนิมิตเหล่านั้น นี้เป็นญัตติ.

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้แล้วโดยรอบเพียงไร สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ ซึ่งพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ ด้วยนิมิตเหล่านั้น การสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถด้วยนิมิตเหล่านั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

พื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถอันสงฆ์สมมติแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั้น ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

พระเถระลงประชุมก่อน

[๑๖๐] ก็โดยสมัยนั่นแล ในวันอุโบสถ นวกภิกษุทั้งหลายในอาวาสแห่งหนึ่งประชุมกันก่อนแล้วหลีกไป ด้วยนึกว่าพระเถระทั้งหลายยังไม่มาก่อน ต่อเวลาพลบค่ำจึงทำอุโบสถได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระ

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 401

ภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระทั้งหลายลงประชุมก่อน.

ภิกษุหลายวัดทำอุโบสถร่วมกัน

[๑๖๑] ก็โดยสมัยนั้นแล อาวาสในพระนครราชคฤห์หลายแห่ง มีสีมาอันเดียวกัน ภิกษุทั้งหลายในอาวาสเหล่านั้นวิวาทกันว่า ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาวาสในพระนครราชคฤห์นี้ก็หลายแห่ง มีสีมาอันเดียวกัน ภิกษุทั้งหลายในอาวาสเหล่านั้นวิวาทกันว่า ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทุกๆ รูปพึงประชุมทำอุโบสถแห่งเดียวกัน ก็หรือภิกษุผู้เถระอยู่ในอาวาสใด พึงประชุมทำอุโบสถในอาวาสนั้น แต่สงฆ์เป็นวรรคไม่พึงทำอุโบสถ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

พระมหากัสสปเถระเดินทางไปทำอุโบสถ

[๑๖๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปมาจากอันธกวินทวิหาร สู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ในระหว่างทางข้ามแม่น้ำ ได้ถูกน้ำพัดไปเล็กน้อย จีวรของท่านเปียก ภิกษุทั้งหลายได้ถามท่านพระมหากัสสปว่า อาวุโส เพราะเหตุไรจีวรของท่านจึงเปียก? ท่านตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมมาจากอันธกวินทวิหารสู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ณ ที่นี้ ได้ข้ามแม่น้ำ

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 402

ในระหว่างทาง ถูกน้ำพัดไปเล็กน้อย เพราะเหตุนั้นจีวรของผมจึงเปียก ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร.

วิธีสมมติติจีวราวิปปวาส

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติติจีวราวิปปวาสสีมาอย่างนี้.

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

กรรมวาจาสมมติติจีวราวิปปวาส

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร นี้เป็นญัตติ.

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอถัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ซึ่งสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร การสมมติสีมานี้ ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 403

สีมานี้สงฆ์สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการสมมติติจีวราวิปปวาสแล้ว จึงเก็บจีวรไว้ในละแวกบ้าน จีวรเหล่านั้นหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง ภิกษุทั้งหลายมีแต่ผ้าไม่ดี มีจีวรเศร้าหมอง.

ภิกษุทั้งหลายจึงถามกันอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เพราะเหตุไร พวกท่านจึงมีแต่ผ้าไม่ดี มีจีวรเศร้าหมองเล่า?

ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกผมทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการสมมติติจีวราวิปปวาสแล้ว จึงเก็บจีวรไว้ในละแวกบ้าน ณ ตำบลนี้ จีวรเหล่านั้นหายเสียบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง เพราะเหตุนั้น พวกผมจึงมีแต่ผ้าไม่ดี มีจีวรเศร้าหมอง.

ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน.

วิธีสมมติติจีวราวิปปวาส

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติติจีวราวิปปวาสสีมาอย่างนี้.

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 404

กรรมวาจาสมนติติจีวราวิปปวาส

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน นี้เป็นญัตติ.

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์สมมติอยู่ บัดนี้ซึ่งสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน การสมมติสีมานี้ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

สีมานั้นสงฆ์สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้านแล้ว ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

[๑๖๓] พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะสมมติสีมา พึงสมมติสมานสังวาสสีมาก่อน ภายหลังจึงสมมติติจีวราวิปปวาส เมื่อจะถอนสีมา พึงถอนติจีวราวิปปวาสก่อน ภายหลังจึงถอนสมานสังวาสสีมา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอนติจีวราวิปปวาสอย่างนี้.

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 405

กรรมวาจาถอนติจีวราวิปปวาส

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้นใด อันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น นี้เป็นญัตติ.

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้นใด อันสงฆ์สมมติไว้แล้ว สงฆ์ถอนอยู่บัดนี้ซึ่งแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น การถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น สงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

วิธีถอนสมานสังวาสสีมา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอนสมานสังวาสสีมาอย่างนี้.

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

กรรมวาจาถอนสมานสังวาสสีมา

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน ให้มีอุโบสถเดียวกัน ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนสีมานั้น นี้เป็นญัตติ.

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 406

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน ให้มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์ถอนอยู่ บัดนี้ซึ่งสีมานั้น การถอนสีมามีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

สีมามีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันนั้น อันสงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

อพัทธสีมา

[๑๖๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์ยังไม่ได้สมมติ ยังไม่ได้กำหนดสีมา ภิกษุเข้าอาศัยบ้านหรือนิคมใดอยู่ เขตของบ้านนั้นเป็นคามสีมาบ้าง เขตของนิคมนั้นเป็นนิคมสีมาบ้าง สีมานี้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ในบ้านหรือนิคมนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าในป่าหาคนตั้งบ้านเรือนมิได้ชั่ว ๗ อัพภันดรโดยรอบ เป็นสัตตัพภันตรสีมา สีมานี้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันในป่านั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำทั้งหมด สมมติเป็นสีมาไม่ได้ สมุทรทั้งหมด สมมติเป็นสีมาไม่ได้ ชาตสระทั้งหมด สมมติเป็นสีมาไม่ได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในแม่น้ำ ในสมุทร หรือในชาตสระ ชั่ววักน้ำสาดโดยรอบแห่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง เป็นอุทกุกเขปสีมา สีมานี้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ในน่านน้ำนั้น.

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 407

สีมาสังกระ สีมาคาบเกี่ยว

[๑๖๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีมาอันภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ สีมาอันภิกษุเหล่าใดสมมติแล้วในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา รูปใดสมมติคาบเกี่ยว ต้องอาบัติทุกกฏ.

สีมาสังกระ สีมาทับสีมา

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สมมติสีมาทับสีมา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีมาอันภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ สีมาอันภิกษุเหล่าใดสมมติแล้วในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาทับสีมา รูปใดสมมติทับ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะสมมติสีมา เว้นสีมันตริกไว้แล้วสมมติสีมา.

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 408

อรรถกถาวิธีผูกมหาสีมา

ก็แลสงฆ์จะสมมติสีมา ด้วยนิมิต ๘ อย่างนี้ ไม่คละกันก็ดี คละสลับกันก็ดี ควรทั้งนั้น. สีมานั้นที่สมมติผูกอย่างนั้น ไม่เป็นอันผูก ด้วยนิมิตเดียว หรือ ๒ นิมิต. ส่วนสีมาที่ผูกด้วยนิมิตมีประการดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่ ๓ ขึ้นไป ถึง ๑๑๐ นิมิตย่อมเป็นอันผูก, สีมานั้นที่ผูกด้วยนิมิต ๓ มีสัณฐานดังกระจับ, ที่ผูกด้วยนิมิต ๔ เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสบ้าง มีสัณฐานดังกระจับ, พระจันทร์ครึ่งดวง และตะโพนเป็นต้นบ้าง ที่ผูกด้วยนิมิตมากกว่านั้น มีสัณฐานต่างๆ กันบ้าง.

พระมหาสุมัตเถระกล่าวว่า อันภิกษุทั้งหลายผู้ประสงค์จะผูกสีมานั้น พึงถามภิกษุทั้งหลายในวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันทั้งหลาย ถึงเขตกำหนดสีมาแห่งวัดที่อยู่นั้นๆ เว้นสีมันตริกแห่งสีมาของวัดที่อยู่ทั้งหลายที่ผูกสีมา เว้นอุปจารแห่งสีมาของวัดที่อยู่ทั้งหลายที่ไม่ได้ผูกสีมาเสีย จวบสมัยไม่เป็นที่ท่องเที่ยวของภิกษุทั้งหลายผู้จาริกไปในทิศ, ถ้าประสงค์จะผูกสีมาในคามเขตตำบลหนึ่ง. วัดที่อยู่เหล่าใดในคามเขตนั้นผูกสีมาแล้ว พึงส่งข่าวแก่ภิกษุทั้งหลายในวัดที่อยู่เหล่านั้นว่า เราทั้งหลายจักผูกสีมาในวันนี้ ท่านทั้งหลายอย่าออกจากเขต กำหนดสีมาของตนๆ.

วัดที่อยู่เหล่าใดในคามเขตนั้นไม่ได้ผูกสีมา พึงนิมนต์ภิกษุทั้งหลายในวัดที่อยู่เหล่านั้นให้ประชุมรวมเป็นหมู่เดียวกัน พึงให้นำฉันทะของภิกษุทั้งหลายผู้ควรแก่ฉันทะมา. ถ้าปรารถนาจะกันคามเขตแม้เหล่าอื่นไว้ภายในสีมาไซร้ ภิกษุเหล่าใดอยู่ในคามเขตเหล่านั้น แม้ภิกษุเหล่านั้นต้องมา เมื่อไม่มา ต้องนำฉันทะมา.

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 409

ฝ่ายพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าคามเขตต่างๆ ย่อมเป็นเช่นกับสีมาที่ผูกต่างแผนกกัน. ฉันทะและปาริสุทธิย่อมไม่มาจากคามเขตนั้นๆ , แต่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ภายในนิมิตต้องมา ดังนี้. แล้วกล่าวเสริมอีกว่า ในเวลาสมมติสมานสังวาสกสีมา การมาก็ตาม ไม่มาก็ตาม ของภิกษุเหล่านั้น ย่อมควร. แต่ในเวลาสมมติอวิปปวาสสีมา ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ภายในนิมิต ต้องมา. เมื่อไม่มา ต้องนำฉันทะมา. ก็แลเมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมกันแล้ว ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะได้นำมาแล้ว อย่างนั้น พึงวางอารามิกบุรุษและสามเณรเขื่องๆ ไว้ในทางเหล่านั้น และในที่ทั้งหลายมีท่าน้ำและประตูบ้านเป็นต้น เพื่อนำภิกษุ อาคันตุกะมาเข้าหัตถบาสเร็วๆ และเพื่อกันไว้ภายนอกสีมา แล้วพึงตีกลองสัญญา หรือเป่าสังข์สัญญา แล้วผูกสีมาด้วยกรรมวาจาว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ เป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในลำดับแห่งการกำหนดนิมิต. ในเวลาที่จบกรรมวาจานั่นเอง กันนิมิตทั้งหลายไว้ภายนอก สีมาย่อมหยั่งลงไปในเบื้องล่างลึกถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด.

อรรถกถาวิธีผูกมหาสีมา จบ

อรรถกกถาวิธีผูกขัณฑสีมา

ภิกษุทั้งหลายผู้จะสมมติสังวาสกสีมานี้ ควรผูกขัณฑสีมาก่อน เพื่อทำสังฆกรรมทั้งหลายมีบรรพชาและอุปสมบทเป็นต้นได้สะดวก, ก็แลเมื่อจะผูกขัณฑสีมานั้น ต้องรู้จักวัตร. ก็ถ้าจะผูกในวัดที่อยู่ที่ทายกสร้างให้ประดิษฐานวัตถุทั้งปวง มีต้นโพธิ์ เจดีย์และหอฉันเป็นต้นเสร็จแล้ว อย่าผูกตรงกลางวัดที่อยู่อันเป็นสถานที่ประชุมของชนมาก พึงผูกในโอกาสอันสงัด ที่สุดท้ายวัดที่อยู่. เมื่อจะผูกในวัดที่อยู่ที่ทายกไม่ได้สร้าง พึงกะที่ไว้สำหรับวัตถุทั้งปวง มีต้นโพธิ์และเจดีย์เป็นต้นไว้แล้ว เมื่อประดิษฐานวัตถุทั้งหลายเสร็จแล้ว ขัณฑ

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 410

สีมาจะอยู่ในโอกาสอันสงัดสุดท้ายวัดที่อยู่ด้วยประการใด พึงผูกด้วยประการนั้นเถิด. ขัณฑสีมานั้นโดยกำหนดอย่างต่ำที่สุดถ้าจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ใช้ได้. ย่อมกว่านั้น ใช้ไม่ได้, ที่ใหญ่แม้จุภิกษุจำนวนพัน ก็ใช้ได้. เมื่อจะผูกขัณฑสีมานั้น พึงวางศิลาที่ควรเป็นนิมิตได้ไว้โดยรอบโรงที่จะผูกสีมา. อย่ายืนอยู่ในขัณฑสีมา ผูกมหาสีมา, อย่ายืนอยู่ในมหาสีมา ผูกขัณฑสีมา. แต่ต้องยืนอยู่เฉพาะในขัณฑสีมา ผูกขัณฑสีมา, ต้องยืนอยู่เฉพาะในมหาสีมา ผูกมหาสีมา.

อรรถกถาวิธีผูกมหาสีมา จบ

อรรถกถาวิธีผูกสีมา ๒ ชั้น

ในสีมา ๓ ชนิดนั้น มีวิธีผูก ดังต่อไป:-

พึงกำหนดนิมิตทั้งหลายโดยรอบอย่างนี้ว่า ศิลานั่นเป็นนิมิต แล้วผูกสีมาด้วยกรรมวาจา. ลำดับนั้น พึงทำอวิปปวาสกรรมวาจาซ้ำลง เพื่อทำขัณฑสีมานั้นแลให้มั่นคง. จริงอยู่ เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายผู้มาด้วยคิดว่า เราทั้งหลายจักถอนสีมา จักไม่อาจถอน. ครั้นสมมติสีมาแล้ว พึงวางศิลาหมายสีมันตริกไว้ภายนอก. สีมันตริกว่าโดยส่วนแคบที่สุด ประมาณศอก ๑ จึงควร. ในกุรุนทีแก้ว่า แม้ประมาณคืบ ๑ ก็ควร ในมหาปัจจรีแก้ว่า แม้ประมาณ ๔ นิ้วก็ควร. ก็ถ้าวัดที่อยู่ใหญ่ ควรผูกขัณฑสีมาไว้ ๒ แห่งก็ได้ ๓ แห่งก็ได้ เกินกว่านั้นก็ได้. ครั้นสมมติขัณฑสีมาอย่างนั้นแล้ว ในเวลาจะสมมติมหาสีมา พึงออกจากขัณฑสีมา ยืนอยู่ในมหาสีมา กำหนดศิลาหมายสีมันตริก เดินวนไปโดยรอบ, ลำดับนั้น พึงกำหนดนิมิตทั้งหลายที่เหลือแล้ว อย่าละหัตถบาสกัน พึงสมมติสมานสังวาสกสีมาด้วยกรรมวาจาแล้ว ทำอวิปปวาสกรรมวาจาด้วย เพื่อทำสมานสังวาสกสีมานั้นให้มั่นคง.

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 411

จริงอยู่ เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายผู้มาด้วยคิดว่า เราทั้งหลายจักถอนสีมา จักไม่สามารถถอนได้. แต่ถ้ากำหนดนิมิตแห่งขัณฑสีมาแล้ว ลำดับนั้น จึงกำหนดนิมิตที่สีมันตริกแล้วกำหนดนิมิตแห่งมหาสีมา. ครั้นกำหนดนิมิตใน ๓ สถานอย่างนี้แล้ว, ปรารถนาจะผูกสีมาใด. จะผูกสีมานั้นก่อนก็ควร. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ควรผูกตั้งต้นขัณฑสีมาไปโดยนัยตามที่กล่าวแล้ว.

ก็บรรดาสีมาทั้งหลายที่สงฆ์ผูกอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้สถิตอยู่ในขัณฑสีมา ย่อมไม่ทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุผู้ทำกรรมในมหาสีมา, หรือผู้สถิตอยู่ในมหาสีมา ย่อมไม่ทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุผู้ทำกรรมในขัณฑสีมา อนึ่งภิกษุผู้สถิตอยู่ในสีมันตริก ย่อมไม่ทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุทั้ง ๒ พวก แต่ภิกษุผู้สถิตในสีมันตริก ย่อมทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุผู้สถิตในคามเขตกระทำกรรม, จริงอยู่สีมันตริกย่อมควบถึงคามเขต.

อรรถกถาวิธีผูกสีมา ๒ ชั้น จบ

อรรถกถาวิธีผูกสีมาบนศิลาดาดเป็นต้น

อันที่จริง ธรรมดาสีมานั้น ซึ่งภิกษุสงฆ์ผูกแล้วบนพื้นแผ่นดินอย่างเดียวเท่านั้น จึงจัดว่าเป็นอันผูก หามิได้. โดยที่แท้ สีมาที่ภิกษุสงฆ์ผูกไว้บนศิลาดาดก็ดี ในเรือนคือกุฎีก็ดี ในกุฎีที่เร้นก็ดี ในปราสาทก็ดี บนยอดเขาก็ดี จัดว่าเป็นอันผูกแล้วเหมือนกันทั้งนั้น.

ในสถานที่เหล่านั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายจะผูกบนศิลาดาด อย่าสกัดรอย หรือขุดหลุมดังครกบนหลังศิลาทำให้เป็นนิมิต. ควรวางศิลาที่ได้ขนาดเป็น


๑. ตามนัยโยชนาแปลว่า ... ย่อมถึงความเป็นคามเขต.

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 412

นิมิตแล้วกำหนดให้เป็นนิมิต, สมมติด้วยกรรมวาจา. ในเวลาจบกรรมวาจา สีมาย่อมหยั่งลงไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด. ศิลาที่เป็นนิมิตจะไม่ตั้งอยู่ในที่เดิม เพราะฉะนั้น ควรทำรอยให้ปรากฏโดยรอบ หรือสกัดเจาะศิลาที่มุมทั้ง ๔ หรือจารึกอักษรไว้ว่า ตรงนี้เป็นแดนกำหนดสีมาก็ได้. ภิกษุบางพวกริษยา จุดไฟขึ้น ด้วยคิดว่า จักเผาสีมาเสีย ย่อมไหม้แต่ศิลา สีมาหาไหม้ไม่.

เมื่อจะผูกในเรือนคือกุฎีเล่า อย่ากำหนดฝาเป็นนิมิต ควรวางศิลาเป็นนิมิต กะสถานที่ว่างพอจุภิกษุ ๒๑ รูปไว้ข้างในแล้วสมมติสีมาเถิด. ร่วมในฝาเท่านั้นย่อมเป็นสีมา. ถ้าในร่วมในฝาไม่มีที่ว่างพอจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ควรวางศิลานิมิตที่หน้ามุขก็ได้ แล้วสมมติสีมา. ถ้าแม้หน้ามุขนั้นไม่พอ ควรวางนิมิตทั้งหลายในที่ซึ่งน้ำตกจากชายคาภายนอก แล้วจึงสมมติสีมา. ก็เมื่อสมมติสีมาอย่างนั้น เรือนคือกุฎีทั้งหมด เป็นอันตั้งอยู่ในสีมาแท้.

เมื่อจะผูกในกุฎีที่เร้น ซึ่งมีฝา ๔ ด้านเล่า อย่ากำหนดฝาเป็นนิมิต ควรกำหนดแต่ศิลา. เมื่อข้างในไม่มีที่ว่าง ควรวางนิมิตทั้งหลายไว้ที่หน้ามุขก็ได้. ถ้าหน้ามุขยังไม่พอ ควรวางศิลานิมิตทั้งหลายไว้ในที่ซึ่งน้ำตกจากชายคาในภายนอก แล้วกำหนดนิมิตสมมติสีมา. เมื่อผูกอย่างนี้ ย่อมเป็นสีมาทั้งภายในทั้งภายนอกกุฎีที่เร้น.

เมื่อจะผูกบนปราสาทเล่า อย่ากำหนดฝาเป็นนิมิต พึงวางศิลาทั้งหลายไว้ภายในแล้วสมมติสีมาเถิด. ถ้าภายในปราสาทไม่พอ พึงวางศิลาทั้งหลายที่หน้ามุขแล้วสมมติเถิด. สีมาที่สมมติอย่างนี้ย่อมอยู่เฉพาะบนปราสาทเท่านั้น. ไม่หยั่งลงไปถึงข้างล่าง แต่ถ้าปราสาทที่ทำบนรอดที่ร้อยในเสามากต้น ฝาชั้นล่างสูงขึ้นไปเนื่องเป็นอันเดียวกับไม้รอดทั้งหลาย โดยประการที่มีร่วมในแห่งนิมิตทั้งหลาย สีมาย่อมหยั่งถึงภายใต้. ส่วนสีมาที่ผูกบนพื้นปราสาทเสาเดียว ถ้าบน

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 413

ปลายเสา มีโอกาสพอจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ย่อมหยั่งถึงภายใต้. ถ้าวางศิลาทั้งหลายในที่เป็นต้นว่า กระดานเรียบอันยื่นออกไปจากฝาปราสาทแล้วผูกสีมา ฝาปราสาทย่อมอยู่ภายในสีมา, ส่วนการที่สีมานั้นจะหยั่งถึงภายใต้หรือไม่หยั่งลงไป พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. เมื่อจะกำหนดนิมิตภายใต้ปราสาทเล่า อย่ากำหนดฝาและเสาไม้เป็นนิมิต แต่จะกำหนดเสาศิลาซึ่งยึดฝาไว้ควรอยู่. สีมาที่กำหนดอย่างนี้ ย่อมมีเฉพาะร่วมในแห่งเสาริมโดยรอบของภายใต้ปราสาท. แต่ถ้าฝาภายใต้ปราสาทเป็นของเนื่องถึงพื้นชั้นบน สีมาย่อมขึ้นไปถึงชั้นบนปราสาทด้วย ถ้าทำนิมิตในที่ซึ่งน้ำตกจากชายคานอกปราสาท ปราสาททั้งหมดตั้งอยู่ในสีมา.

ถ้าพื้นบนยอดเขาเป็นที่ควรแก่โอกาสพอจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ผูกสีมาบนพื้นนั้น อย่างที่ผูกบนศิลาดาด; แม้ภายใต้ภูเขาสีมาย่อมหยั่งลงไปถึง โดยกำหนดนั้นเหมือนกัน. แม้บนภูเขาที่มีสัณฐานดังโคนต้นตาลเล่า สีมาที่ผูกไว้ข้างบน ย่อมหยั่งลงไปถึงข้างล่างเหมือนกัน. ส่วนภูเขาใดมีสัณฐานดังดอกเห็ด ข้างบนมีโอกาสพอจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ข้างล่างไม่มี สีมาที่ผูกบนภูเขานั้น ไม่หยั่งลงไปข้างล่าง. ด้วยประการอย่างนี้ ภูเขามีสัณฐานดังตะโพนหรือมีสัณฐานดังบัณเฑาะก์ก็ตามที ข้างล่างหรือตรงกลางแห่งภูเขาใด ไม่มีพื้นที่เท่าตัวสีมา สีมาที่ผูกบนภูเขานั้น ไม่หยั่งลงข้างล่าง ส่วนภูเขาใดมี ๒ ยอดตั้งอยู่ใกล้กัน บนยอดแม้อันหนึ่งไม่พอเป็นประมาณแห่งสีมา ควรก่อหรือถมตรงระหว่างยอดแห่งภูเขานั้นให้เต็ม ทำให้เนื่องเป็นพื้นเดียวกันแล้วจึงสมมติสีมาข้างบน, ภูเขาลูก ๑ คล้ายพังพานงู เบื้องบนภูเขานั้น ผูกสีมาได้ เพราะมีโอกาสได้ประ มาณเป็นสีมา; ถ้าภายใต้ภูเขานั้น มีเงื้อมอากาศ สีมาไม่หยั่งลงไป. แต่ถ้าตรงกลางเงื้อมอากาศนั้น มีศิลาโพรงเท่าขนาดสีมา สีมาย่อมหยั่งลงไปถึง. และศิลานั้นเป็นของตั้งอยู่ในสีมาแท้. ถ้าแม้ฝาแห่งที่เร้นภายใต้ภูเขานั้นตั้งจดถึง

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 414

ส่วนยอด สีมาย่อมหยั่งถึง ทั้งข้างล่าง ทั้งข้างบน ย่อมเป็นสีมาหมด. แต่ว่าด้านในที่เร้นในภายใต้ อยู่ข้างนอกแนวแห่งแดนเป็นที่กำหนดสีมาที่อยู่ข้างบน สีมาไม่หยั่งไปถึงภายนอก (แห่งที่เร้น) ถ้าแม้ด้านนอกที่เร้น อยู่ข้างในแถวแห่งแดนเป็นที่กำหนดสีมาที่อยู่ข้างบนนั้น สีมาไม่หยั่งไปถึงในภายใน (แห่งที่เร้น) ถ้าแม้ข้างบนภูเขานั้นมีโอกาสเป็นที่กำหนดสีมาเล็ก ข้างใต้มีที่เร้นใหญ่เกินโอกาสกำหนดสีมา สีมาย่อมมีเฉพาะข้างบนเท่านั้น ไม่หยั่งลงไปถึง ภายใต้ แต่ถ้าที่เร้นเล็กขนาดเท่าสีมาขนาดเล็กที่สุด สีมาข้างบนใหญ่. สีมาที่ตั้งครอบที่เร้นไว้นั้น ย่อมหยั่งลงไปถึง. ถ้าที่เร้นเล็กเกินไป ไม่ได้ขนาดกับสีมา สีมาย่อมมีเฉพาะข้างบนเท่านั้น ไม่หยั่งลงในภายใต้ ถ้าภูเขามีสัณฐานดังพังพานงูนั้น พังตกลงไปเองครึ่งหนึ่ง แม้ถ้าได้ประมาณสีมา ส่วนที่ตกลงไปภายนอก ไม่เป็นสีมา. ส่วนที่ไม่ตกลงไป ถ้าได้ประมาณสีมา ยังคงเป็นสีมา.

ขัณฑสีมาเป็นพื้นที่ลุ่ม พูนถมขัณฑสีมานั้น ทำให้มีพื้นที่สูงขึ้น คงเป็นสีมาตามเดิม. ชนทั้งหลายทำเรือนในสีมา เรือนนั้นเป็นอันนั้นอยู่ในสีมาด้วย. ขุดสระโบกขรณีในสีมา สีมานั้น ก็คงเป็นสีมาอยู่นั่นเอง. ห้วงน้ำไหลท่วมมณฑลสีมาไป จะผูกแคร่ทำสังฆกรรมในย่านสีมา ก็ควร. แม่น้ำ มีอุโมงค์อยู่ภายใต้สีมา. ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั่งอยู่ในแม่น้ำมีอุโมงค์นั้น ถ้าแม่น้ำนั้นผ่านไปก่อน สีมาผูกทีหลัง, ไม่ยังกรรมให้เสีย. ถ้าผูกสีมาก่อน, แม่น้ำผ่านไปทีหลัง, ภิกษุนั้นยังกรรมให้เสีย. อนึ่ง ภิกษุผู้สถิตอยู่ ณ ภายใต้พื้นแผ่นดิน ย่อมยังกรรมให้เสียเหมือนกัน. ก็ต้นไทรมีอยู่ในลานขัณฑสีมา. กิ่งแห่งต้นไทรนั้น หรือย่านไทรที่ยื่นออกจากต้นไทรนั้น จดพื้นแผ่นดินแห่งมหาสีมาก็ดี จดต้นไม้เป็นต้นที่เกิดในมหาสีมานั้นก็ดี, พึงชำระมหาสีมาให้หมดจด แล้วจึงทำกรรม หรือตัดกิ่งและย่านไทรเหล่านั้นเสีย กระทำให้ตั้งอยู่ภายนอกก็ได้. ภิกษุผู้ขึ้นไปบนกิ่งไม้เป็นต้นที่ไม่จดกัน ควรนำมาเข้าหัตถบาส. ด้วย ประการอย่างนั้น กิ่งแห่งต้นไม้ที่เกิดในมหาสีมาก็ดี ย่านไทรก็ดี ย่อมตั้งอยู่

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 415

ในลานแห่งขัณฑสีมา ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. พึงชำระสีมาให้หมดจดแล้ว จึงทำกรรม หรือตัดกิ่งและย่านไทรเหล่านั้นเสีย กระทำให้ตั้งอยู่ภายนอกก็ได้ ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. หากว่าเมื่อสงฆ์กำลังทำกรรมในย่านขัณฑสีมา ภิกษุบางรูปนั่งอยู่บนกิ่งไม้ที่ทอดอยู่บนอากาศยื่นเข้าไปในย่านสีมา เท้าของเธอถึงภาคพื้นก็ดี สบงจีวรของเธอถูกภาคพื้นก็ดี, ไม่สมควรทำกรรม. แต่ให้เธอยกเท้าทั้ง ๒ และสบงจีวรขึ้นเสียแล้วทำกรรม ควรอยู่. อันลักษณะนี้ บัณฑิตพึงทราบแม้ตามนัยก่อน. ส่วนเนื้อความที่แปลกกัน มีดังต่อไปนี้:-

ให้เธอยกขึ้นแล้วทำกรรมในขัณฑสีมานั้น ไม่ควร ต้องนำมาเข้าหัตถบาสแท้. ถ้าภูเขาซึ่งตั้งอยู่ภายในสีมาสูงตรงขึ้นไป ภิกษุผู้สถิตอยู่บนภูเขานั้น ต้องนำมาเข้าหัตถบาส. แม้ในภิกษุผู้เข้าไปข้างในภูเขาด้วยฤทธึ์ ก็มีนัยเหมือนกัน. แท้จริง สีมาที่สงฆ์ผูกเท่านั้น ไม่ครอบถึงประเทศที่ไม่ได้ประมาณ วัตถุไม่เลือกว่าชนิดไรที่เกิดในพัทธสีมา ถึงกันเข้าด้วยความเกี่ยวพันเป็นอันเดียวกันในที่ใดที่หนึ่งย่อมนับว่าเป็นสีมาทั้งนั้น.

วินิจฉัยในบทว่า ติโยชนปรมํ นี้ว่า สีมาชื่อว่ามี ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่ง เพราะมี ๓ โยชน์เป็นประมาณอย่างสูง. ซึ่งสีมามี ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่งนั้น. สีมานั้น ภิกษุผู้จะสมมติต้องสถิตอยู่ตรงกลาง สมมติให้มีโยชน์กึ่งในทิศทั้ง ๔ คือวัดจากที่ซึ่งตนสถิตนั้นออกไป. แต่ถ้าสถิตอยู่ตรงกลางแล้ว วัดออกไปทิศละ ๓ โยชน์. ย่อมรวมเป็น ๖ โยชน์. เช่นนี้ ใช้ไม่ได้. ภิกษุจะสมมติสีมา ๔ เหลี่ยมเท่ากัน หรือ ๓ เหลี่ยม พึงสมมติให้วัดจากมุมหนึ่งไปหามุมหนึ่งได้ระยะ ๓ โยชน์. ก็ถ้าให้ที่สุดรอบแห่งใดแห่งหนึ่งเกิน ๓ โยชน์ไปแม้เพียงปลายเส้นผมเดียว ต้องอาบัติด้วย ทั้งสีมาไม่เป็นสีมาด้วย.

อรรถกถาวิธีผูกสีมาบนศิลาดาด จบ

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 416

อรรถกถานทีปารสีมา

วินิจฉัยในบทว่า นทีปารํ นี้ต่อไป:-

ที่ว่า ฝั่ง เพราะเหตุว่า กั้นไว้, ถามว่า กั้นอะไร? ตอบว่ากั้นแม่น้ำ, ฝั่งแห่งแม่น้ำ ชื่อนทีปารา ความว่า ซึ่งสีมาครอบฝั่งแม่น้ำนั้น. (๑) ก็ลักษณะแห่งแม่น้ำ ในบทว่า นทีปารํ นี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในนทีนิมิตนั่นเอง.

ข้อว่า ยตฺถสฺส ธุวนาวา วา มีความว่า ในแม่น้ำใด มีเรือสัญจรไปมาเป็นนิจ ที่ท่าทั้งหลายอันยังเป็นสถานที่ผูกสีมา, เรือใด โดยกำหนด อย่างเล็กที่สุด พอพาคนไปได้ ๓ คนทั้งคนพาย ก็ถ้าเรือนั้น เขานำไปข้างเหนือหรือข้างใต้ ด้วยกรณียกิจเฉพาะบางอย่างเพื่อต้องการจะกลับมาอีกก็ดี ถูกพวกขโมยลักไป แต่พึงได้คืนเป็นแน่ก็ดี อนึ่ง เรือใด ถูกพายุเชือกขาด คลื่นซัดออกไปกลางแม่น้ำ พึงนำกลับคืนมาได้แน่นอนก็ดี เรือนั้นย่อมเป็น ธุวนาวาอีกเทียว. เรือเขาเข็นขึ้นบกไว้ในเมื่อน้ำลงงวดก็ดี เรือที่เขาเอาสิ่งของเป็นต้นว่า ปูนขาวและน้ำเชื้อบรรทุกเต็มจอดไว้ก็ดี จัดเป็นธุวนาวาได้. ถ้าเป็นเรือแตก หรือมีแนวกระดานครากออก ย่อมไม่ควร. แต่พระมหาปทุมัตเถระกล่าวว่า แม้หากว่า ภิกษุทั้งหลายยืมเรือมาชั่วคราว จอดไว้ในที่ผูกสีมาแล้ว กำหนดนิมิต เรือนั้นจัด เป็นธุวนาวาเหมือนกัน.


๑. ฎีกาและโยชนา แก้ปารยติว่า อชฺโฌตฺถรติ และว่าที่เป็นปารา มิใช่ปารํ เอาฝั่งโน้น ก็เพราะเพ่งเอาสีมาศัพท์ ดังนั้นน่าจะแปลว่า สีมาชื่อว่า คร่อม ก็เพราะย่อมคร่อม ถามว่า ย่อมคร่อมอะไร? ตอบว่า ย่อมคร่อมแม่น้ำ. สีมาคร่อมแม่น้ำ ชื่อนทีปารสีมา. ซึ่งนทีปารสีมานั้น. อธิบายว่า ซึ่งสีมาอันคร่อมแม่น้ำอยู่. อนึ่งบาลีตรงนี้เป็น นทีปารสีมํ แต่ ยุ. และสี. เป็น นทีปารํ สีมํ อย่างในอรรถกถา.

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 417

ในบทว่า ธุวนาวา นั้น พระมหาสุมัตเถระแก้ว่า นิมิตก็ดี สีมาก็ดี ย่อมไปด้วยกรรมวาจา หาได้ไปด้วยเรือไม่, แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตธุวนาวาไว้, เพราะฉะนั้น ต้องเป็นเรือประจำแท้ๆ จึงจะสมควร.

ข้อว่า ธุวเสตุ วา มีความว่า แม่น้ำใด มีสะพานสำหรับพวกคนเดินเท้า ซึ่งทำเสร็จด้วยไม้ขนานกัน หรือเรียบด้วยแผ่นกระดานก็ดี มีสะพานใหญ่ควรแก่การสัญจรแห่งสัตว์พาหนะ มีช้างและม้าเป็นต้นก็ดี ชั้นที่สุด แม้สะพานที่พอเดินไปได้คนเดียว ซึ่งเขาตัดไม้ประกอบพอเป็นทางสัญจรของมนุษย์ทั้งหลาย ในขณะนั้นเองย่อมนับว่า สะพานถาวร เหมือนกัน. แต่ถ้าแม้เอามือยืดหวายและเถาวัลย์เป็นต้น ที่ผูกไว้ข้างบนแล้ว ยังไม่อาจได้ข้ามไปโดยสะพานนั้นได้, ไม่ควร.

ข้อว่า เอวรูปํ นทีปารสีมํ สมฺมนฺนิตุํ มีความว่า ในแม่น้ำใด มีเรือประจำหรือสะพานถาวรมีประการดังกล่าวแล้วนี้ ที่ท่าตรงกันนั้นเอง เราอนุญาตให้สมมตินทีปารสีมาเห็นปานนั้นในแม่น้ำนั้นได้. ถ้าเรือประจำก็ดี สะพานถาวรก็ดี ไม่มีที่ท่าตรงกัน ขึ้นไปข้างบนหรือลงไปข้างล่างหน่อยหนึ่ง จึงมี แม้อย่างนี้ ก็ควร. แต่พระกรวิกติสสเถระกล่าวว่า แม้ในระยะเพียง คาวุตหนึ่ง มีเรือประจำหรือสะพานถาวร ก็ควร.

ก็แล เมื่อภิกษุจะสมมตินทีปารสีมานี้ พึงยืนที่ฝั่งหนึ่ง กำหนดนิมิตที่ฝั่งแม่น้ำทางเหนือน้ำ แล้ววนไปรอบตัวตั้งแต่นิมิตนั้น พึงกำหนดนิมิตที่ฝั่งแม่น้ำทางใต้น้ำ ในที่สุดแห่งแดนกำหนดเท่าที่ต้องการแล้ว กำหนดนิมิตที่ฝั่งแม่น้ำ ในที่ซึ่งตรงข้ามกับฝั่งโน้น. ตั้งแต่นั้นไป พึงกำหนดเรื่อยไปจนถึงนิมิตที่ฝั่งแม่น้ำ ซึ่งตรงกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่งทางเหนือน้ำ ด้วยอำนาจแดนกำหนดเท่าที่ต้องการ แล้วกลับมาเชื่อมกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 418

หนึ่ง. ลำดับนั้นพึงให้ภิกษุทั้งหลายซึ่งสถิตอยู่ภายในนิมิตทั้งปวงเข้าหัตถบาส แล้วสมมติสีมาด้วยกรรมวาจา ภิกษุผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำ แม้ไม่มา ก็ไม่ทำให้เสียกรรม. ในขณะที่สมมติเสร็จ เว้นแม่น้ำเสีย ร่วมในแห่งนิมิตทั้งหลายย่อมเป็นสีมาอันเดียวกัน ทั้งฝั่งนอกและฝั่งใน. ส่วนแม่น้ำ ไม่นับว่าเป็นพัทธสีมา เพราะว่าแม่น้ำนั่นเป็นนทีสีมาแผนกหนึ่งแล้ว. หากว่า ภายในแม่น้ำมีเกาะ ปรารถนาจะทำเกาะนั้นไว้ภายในสีมา พึงกำหนดนิมิตทั้งหลายที่ฝั่งซึ่งตนสถิตอยู่ตามนัยก่อนนั่นแล แล้วกำหนดนิมิตที่ท้ายเกาะทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น ลำดับนั้น พึงกำหนดนิมิตที่ฝั่งโน้น ในที่ซึ่งตรงกันข้ามกับนิมิตที่ฝั่งนี้แห่งแม่น้ำ ตั้งแต่นั้นไป พึงกำหนดเรื่อยไปจนถึงนิมิตซึ่งตรงกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่งทางเหนือน้ำ ตามนัยก่อนนั่นแล ลำดับนั้นพึงกำหนดนิมิตที่ท้ายเกาะทั้งฝั่งโน้นและฝั่งนี้ แล้วกลับมาเชื่อมกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่ง ลำดับนั้น พึงให้ภิกษุทั้งหลายที่ฝั่งทั้ง ๒ และที่เกาะเข้าหัตถบาสกันทั้งหมด แล้วสมมติสีมาด้วยกรรมวาจา.

ภิกษุผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำ แม้ไม่มา ก็ไม่ทำให้เสียกรรม. ในขณะที่สมมติเสร็จ เว้นแม่น้ำเสียร่วมในแห่งนิมิตทั้งหลาย ทั้ง ๒ ฝั่ง แม่น้ำ ทั้งเกาะ ย่อมเป็นสีมาอันเดียวกัน. ส่วนแม่น้ำคงเป็นนทีสีมา. ก็แล ถ้าเกาะยาวเกินกว่าแดนกำหนดสีมาแห่งวัดที่อยู่ไปทางเหนือน้ำ หรือทางใต้น้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้น พึงกำหนดนิมิตท้ายเกาะฝั่งในซึ่งตรงกันกับนิมิตแห่งแดนกำหนดสีมา ตั้งแต่นั้นไป เมื่อจะโอบรอบหัวเกาะ ต้องกำหนดนิมิตท้ายเกาะฝั่งนอก ซึ่ง ตรงกันข้ามกับนิมิตท้ายเกาะฝั่งในอีก. ต่อจากนั้นไป พึงเริ่มต้นแต่นิมิตที่ตรงกันข้ามที่ฝั่งโน้น กำหนดนิมิตที่ฝั่งโน้น และนิมิตท้ายเกาะทั้งฝั่งนอกและฝั่งในเสร็จ ตามนัยก่อนนั่นแล แล้ว จึงทำการเชื่อมกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 419

สีมาที่กำหนดนิมิตสมมติอย่างนี้ย่อมมีสัณฐานดังภูเขา. แต่ถ้าเกาะยาวเกินกว่าแดนกำหนดสีมาแห่งวิหาร ทั้งเหนือน้ำ ทั้งใต้น้ำไซร้, เมื่อกำหนดนิมิตโอบรอบหัวเกาะทั้ง ๒ ตามนัยก่อนนั่นแล แล้วจึงทำการเชื่อมนิมิต. สีมาที่กำหนดสมมติอย่างนี้ ย่อมมีสัณฐานดังตะโพน. ถ้าเป็นเกาะเล็กอยู่ภายในแห่งแดนกำหนดสีมาวิหาร พึงกำหนดนิมิตทั้งหลายตาม นัยแรกแห่งนัยทั้งปวง. สีมาที่กำหนดสมมติอย่างนั้น ย่อมมีสัณฐานดังบัณเฑาะว์.

บทว่า อนุปริเวณิยํ ได้แก่ บริเวณนั้นๆ ในวัดที่อยู่แห่งหนึ่ง.

บทว่า อสงฺเถเตน ได้แก่ ไม่ทำที่สังเกตไว้.

สองบทว่า เอกํ สมูหนิตฺวา ได้แก่ ถอนเสียด้วยกรรมวาจา.

ข้อว่า ยโต ปาฏิโมกฺขํ สุณาติ มีความว่า ภิกษุนั่งในหัตถบาสของภิกษุทั้งหลายฟังปาติโมกข์อยู่ เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้นอุโบสถเป็นอันเธอกระทำแล้วแท้.

ก็คำว่า ยโต ปาฏิโมกฺขํ สุณาติ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เนื่องกับเรื่อง. ถึงเมื่อภิกษุนั่งแล้วในหัตถบาส แม้ไม่ฟังอุโบสถก็เป็นอันทำแล้ว.

ข้อว่า นิมิตฺต กิตฺเตตพฺพา มีความว่า จะกำหนดนิมิตชนิดใดชนิดหนึ่ง มีศิลา อิฐ ท่อนไม้และหลักเป็นต้น เล็กก็ดี ใหญ่ก็ดี ทำให้เป็นเครื่องหมายแห่งหน้ามุขอุโบสถ ไว้กลางแจ้งหรือในที่ใดที่หนึ่ง มีโรงกลมเป็นต้น ย่อมควร.

อีกอย่างหนึ่ง ข้อว่า นิมิตฺตา กิตฺเตตพฺพา มีความว่า พึงกำหนดวัตถุทั้งหลายที่ใช้เป็นนิมิตได้ก็ตาม ที่ใช้เป็นนิมิตไม่ได้ก็ตาม เป็นนิมิตเพื่อรู้แดนกำหนด.

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 420

ในข้อว่า เถเรหิ ภิกฺขูหิ ปมตรํ สนฺนิปติตุํ นี้ มีวินิจฉัยว่า หากว่าพระมหาเถระไม่มาก่อน ท่านก็ต้องทุกกฏ.

ในข้อว่า สพฺเพเหว เอกชฺฌํ สนฺนิปติตฺวา อุโปสโถ กาตพฺโพ นี้ มีวินิจฉัยว่า ถ้าอาวาสเก่า มีอยู่ท่ามกลางวัดที่อยู่. และในอาวาสเก่านี้ มีที่นั่งพอแก่ภิกษุทั้งหลาย พึงประชุมกันทำอุโบสถในอาวาสนั้น. ถ้าอาวาสเก่าทั้งทรุดโทรมทั้งคับแคบ อาวาสอื่นที่สร้างทีหลังไม่คับแคบ พึงทำอุโบสถในอาวาสนั้น.

แม้ในข้อว่า ยตฺถ วา ปน เถโร ภิกฺขุ วิหรติ นี้ มีวินิจฉัยว่า ถ้าวัดที่อยู่ของพระเถระพอแก่ภิกษุทั้งปวงเป็นที่สำราญ สะดวก พึงทำอุโบสถในวัดที่อยู่นั้น. แต่ถ้าวัดที่อยู่นั้นอยู่ในประเทศอันไม่ราบเรียบปลายแดน, พึงบอกแก่พระเถระว่า ท่านผู้เจริญ วัดที่อยู่ของท่านเป็นถิ่นที่ไม่สำราญ ไม่สะดวก ที่นี่ไม่มีโอกาสสำหรับภิกษุทั้งหมด ที่อาวาสโน้นมีโอกาส ท่านสมควรจะไปที่อาวาสนั้น. หากว่าพระเถระไม่มา พึงนำฉันทะและปาริสุทธิของท่านมา แล้วทำอุโบสถในสถานที่ผาสุกเพียงพอแก่ภิกษุทั้งปวง.

บทว่า อนฺธกวินฺทา มีความว่า วัด ชื่ออันธกวินทะ ห่างจากกรุงราชคฤห์ประมาณคาวุต ๑ เท่านั้น พระเถระอาศัยวัดนั้นอยู่มาจากอันธกวินทวิหารนั้น สู่กรุงราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ. อธิบายว่า จริงอยู่ มหาวิหาร ๑๘ ตำบล รอบกรุงราชคฤห์มีสีมาอันเดียวกันทั้งหมด สีมาแห่งมหาวิหารเหล่านั้น พระธรรมเสนาบดีผูก เพราะเหตุฉะนั้น พระมหากัสสปเถระจึงต้องมา เพื่อให้สามัคคีแก่สงฆ์ในเวฬุวัน.

สองบทว่า นทึ ตรนฺโต ได้แก่ ข้ามแม่น้ำ ชื่อสิปปินิยะ.

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 421

ข้อว่า มนํ วุฬฺโห อโหสิ มีความว่า ได้เป็นผู้มีภาวะอันน้ำพัดไปไม่ถึงนิดหน่อย.

ได้ยินว่า แม่น้ำนั้นไหลลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พัดไปด้วยกระแสอันเชี่ยว พระเถระไม่ทันใส่ใจถึงน้ำในแม่น้ำนั้น ซึ่งกำลังไหลเชี่ยวจึงได้เป็นผู้ถูกน้ำพัดไปหน่อยหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับลอย จีวรทั้งหลายของท่านถูกน้ำซัด จึงเปียก.

กรรมวาจาก่อน ย่อมไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย จำเดิมแต่กาลที่เกิดกรรมวาจานี้ว่า สมฺมตา สีมา สงฺเฆน ติจีวเรน อวิปฺปวาโส เปตฺวา คามญฺจ คามูปจารญฺจ. กรรมวาจาหลังนี้เท่านั้น ย่อมเป็นของถาวร. แต่กรรมวาจาหลังนี้ หาควรแก่นางภิกษุณีทั้งหลายไม่ กรรมวาจาก่อนเท่านั้น จึงควร. เพราะเหตุไร? เพราะว่าภิกษุณีสงฆ์ย่อมอยู่ภายในบ้าน. หากว่าพึงเป็นเช่นนั้นไซร้, ภิกษุณีสงฆ์นั้นไม่พึงได้ความบริหารไตรจีวร ด้วยกรรมวาจาหลังนั้น, แต่การบริหารของภิกษุสงฆ์นั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น กรรมวาจาก่อนนั่นแล ย่อมควร. จริงอยู่ สีมาทั้ง ๒ ย่อมได้แก่ภิกษุณีสงฆ์. ในสีมาแห่งภิกษุณีสงฆ์นั้น นางภิกษุณีทั้งหลายจะสมมติสีมาครอบสีมาแห่งภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ดี จะสมมติไว้ภายในสีมาของภิกษุทั้งหลายนั้นก็ดี ย่อมควร. แม้ในการที่ภิกษุทั้งหลาย สมมติสีมาครอบสีมาแห่งนางภิกษุณีก็มีนัยเหมือนกัน. เพราะว่าภิกษุและภิกษุณี ๒ ฝ่ายนั้น เป็นคณปูรกะ ในกรรมของกันและกันไม่ได้ ไม่ทำกรรมวาจาให้เป็นวรรค. ก็ในคำว่า เปตฺวา คามญฺจ คามูปจารญฺจ นี้ บัณฑิตพึงทราบว่าสงเคราะห์แม้ซึ่งนิคมและนครด้วยตามศัพท์นั่นแล.

อุปจารบ้านนั้น ได้แก่เครื่องล้อมแห่งบ้านที่ล้อม. โอกาสแห่งเครื่องล้อมของบ้านที่ไม่ได้ล้อม. ภิกษุผู้ทรงไตรจีวรอธิษฐานย่อมไม่ได้บริหารในอุปจารบ้านเหล่านั้น. อวิปปวาสสีมาของภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่ครอบบ้านและ

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 422

อุปจารบ้าน ด้วยประการฉะนี้. สมานสังวาสกสีมาเท่านั้น ย่อมครอบถึง. ก็บรรดาสีมา ๒ อย่างนี้สมานสังวาสกสีมาย่อมไปตามธรรมดาของตน. ส่วนอวิปปวาสสีมา ย่อมไปเฉพาะในที่ซึ่งสมานสังวาสกสีมาไปถึง. ทั้งการกำหนดนิมิตของอวิปปวาสสีมานั้น จะมีแผนกหนึ่งก็หามิได้. ในสีมา ๒ ชนิดนั้น ถ้าในเวลาสมมติอวิปปวาสสีมามีบ้านอยู่. อวิปปวาสสีมานั้น ย่อมไม่ครอบถึงบ้านนั้น. อนึ่ง ถ้าสมมติสีมาแล้ว บ้านจึงตั้งลงภายหลัง, แม้บ้านนั้นย่อมนับ เป็นสีมาด้วย. เหมือนอย่างว่า บ้านที่ตั้งลงภายหลัง ย่อมนับเป็นสีมาด้วยฉันใด แม้ประเทศแห่งบ้านที่ตั้งลงก่อน ขยายกว้างออกไปในภายหลัง ย่อมนับเป็นสีมาด้วย ก็ฉันนั้น. แม้ถ้าในเวลาสมมติสีมา เรือนทั้งหลายเขาทำไว้เสร็จแล้ว ทั้งความผูกใจว่า เราทั้งหลายจักเข้าไบ่ ก็มี แต่มนุษย์ทั้งหลายไม่เข้าไปก็ดี ทิ้งบ้านเก่าพร้อมทั้งเรือนด้วย ไปในที่อื่นเสียก็ดี. บ้านนั้นไม่จัดเป็นบ้านเลย สีมาย่อมครอบถึง. แต่ถ้าแม้สกุลหนึ่งที่เข้าไปแล้วก็ดี ที่มาแล้วก็ดี มีอยู่ บ้านนั้นคงเป็นบ้าน สีมาย่อมไม่ครอบถึง.

อรรถกถา นทีปารสีมา จบ

อรรถกถาวิธีถอนสีมา

วินิจฉัยในข้อว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว ติจีวเรน อวิปฺปวาโส สมูหนฺตพฺโพ นี้ต่อไป:-

อันภิกษุผู้จะถอนพึงรู้จักวัตร. วัตรในการถอนนั้นดังนี้ อันภิกษุผู้ยืนอยู่ในขัณฑสีมา ไม่พึงถอนอวิปปวาสสีมา, ยืนอยู่ในอวิปปวาสสีมา ไม่พึงถอนแม้ซึ่งขัณฑสีมาเหมือนกัน. แต่ต้องยืนอยู่ในขัณฑสีมา ถอนขันฑสีมาเทียว. ต้องยืนอยู่ในสีมา นอกจากนี้ถอนสีมานอกจากนี้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 423

ภิกษุทั้งหลายย่อมถอนสีมาด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เพื่อจะทำสีมาที่เล็กตามปกติให้ใหญ่ขึ้นอีก เพื่อประโยชน์แก่การขยายอาวาสออกไปบ้าง. เพื่อจะร่นสีมาที่ใหญ่โดยปกติให้เล็กลงอีก เพื่อประโยชน์แก่การให้โอกาสแห่งวิหารแก่ภิกษุเหล่าอื่นบ้าง.

บรรดาสีมา ๒ ชนิดนั้น ถ้าภิกษุทั้งหลายรู้จักทั้งขัณฑสีมาและอวิปปวาสสีมาไซร้ เธอจักอาจเพื่อจะถอน และเพื่อจะผูก. อนึ่งรู้จักขัณฑสีมา แม้ไม่รู้จักอวิปปวาสสีมา จักอาจเพื่อจะถอน และเพื่อจะผูก. ไม่รู้จักขัณฑสีมา รู้จักแต่อวิปปวาสสีมาเท่านั้น จักยืนอยู่ในที่ซึ่งปราศจากความรังเกียจ มีลานเจดีย์ ลานโพธิ์ และโรงอุโบสถเป็นต้นแล้ว บางที่ก็อาจเพื่อจะถอนได้. แต่จักไม่อาจเพื่อจะผูกคืนได้เลย. หากจะพึงผูกไซร้. จะพึงกระทำความคาบเกี่ยวแห่งสีมา กระทำวัดที่อยู่ให้ใช้ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ไม่รู้จัก ไม่พึงถอน. ฝ่ายภิกษุเหล่าใดไม่รู้จักทั้ง ๒ สีมา, ภิกษุเหล่านั้นจักไม่อาจเพื่อจะถอน จักไม่อาจเพื่อจะผูกเป็นแท้. จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าสีมานี้ ย่อมไม่เป็นสีมาด้วยกรรมวาจาบ้าง ด้วยความสาบสูญแห่งศาสนาบ้าง และภิกษุทั้งหลายผู้ไม่รู้จักสีมา. ไม่สามารถทำกรรมวาจา เพราะฉะนั้นภิกษุผู้ไม่รู้จักสีมา ไม่พึงถอนสีมา. อันสีมานั้น อันภิกษุผู้รู้จักดีเท่านั้น พึงถอนด้วย พึงผูกด้วย.

อรรถกถาวิธีถอนสีมา จบ

อรรถกถาอพัทธสีมา

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสมานสังวาสและความเป็นผู้มีอุโบสถอันเดียวกัน เนื่องด้วยพัทธสีมาอย่างนี้แล้ว บัดนี้จะทรงแสดงสมานสังวาส และความเป็นผู้มีอุโบสถอันเดียวกันนั้นในโอกาสทั้งหลาย แม้ที่มิได้ผูกสีมา จึงตรัสดำว่า อสมฺมตาย ภิกฺขเว สีมาย อฏฺปิตาย เป็นอาที.

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 424

วินิจฉัยในคำนั้น บทว่า อฏฺปิตาย ได้แก่ ไม่ได้กำหนด. ก็แม้นครย่อมเป็นอันทรงถือเอาแล้วทีเดียว ด้วย คาม ศัพท์ ในคำว่า คามํ วา นิคมํ วา นี้.

บรรดาคามสีมาและนิคมสีมานั้น ท่านผู้ครองบ้านนั้น ย่อมได้พลีในประเทศเท่าใด ประเทศเท่านั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตามที ย่อมถึงความนับว่าคามสีมา ทั้งนั้น. แม้ในนครสีมาและนิคมสีมา ก็นัยนี้แล.

พระราชาทรงกำหนดประเทศอันหนึ่งแม้ใด ในคามเขตอันหนึ่งเท่านั้นว่า นี้จงเป็นวิสุงคาม พระราชทานแก่บุคคลบางคน ประเทศแม้นั้น ย่อมเป็นวิสุงคามสีมาแท้. เพราะเหตุนั้น วิสุงคามสีมานั้นด้วย คามสีมา นครสีมา และนิคมสีมาตามปกตินอกนี้ด้วย ย่อมเป็นเช่นกับพัทธสีมาเหมือนกัน. แต่สีมาเหล่านี้ไม่ได้ความคุ้มครองการอยู่ปราศจากไตรจีวรอย่างเดียว.

อรรถกถาอพัทธสีมา จบ

อรรถกถาสัตตัพภันตรสีมา

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกำหนดสีมาแก่ภิกษุผู้มักอยู่ในละแวกบ้านอย่างนี้แล้ว บัดนี้จะทรงแสดงแม้แก่ภิกษุผู้มักอยู่ป่า จึงตรัสคำว่า อคามเก เจ เป็นอาทิ.

วินิจฉัยในคำนั้น บทว่า อาคามเก เจ ได้แก่ ประเทศแห่งดงที่ไม่ได้กำหนดด้วยคามสีมา นิคมสีมา และนครสีมา.

อีกประการหนึ่ง บทว่า อคามเก เจ มีความว่า ภิกษุย่อมอยู่ในป่าเช่นดังดงชื่อวิชฌาฏวี, ครั้งนั้น ๗ อัพภันตรโดยรอบจากโอกาสที่ภิกษุนั้นยืนเป็นสมานสังวาสกสีมา. สีมานี้ย่อมได้ความคุ้มการอยู่ปราศจากไตรจีวรด้วย.

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 425

บรรดา ๗ ส้ตตัพภันตรนั้น อัพภันตร ๑ ประมาณ ๒๘ ศอก. ๗ อัพภันตรโดยรอบ แห่งสงฆ์ผู้ตั้งอยู่ตรงกลาง ย่อมเป็น ๑๔ อัพภันตรโดยทะแยง. ถ้าสงฆ์ ๒ หมู่แยกกันทำวินัยกรรม ต้องเว้น ๗ อัพภันตรอีกระยะหนึ่ง ไว้ในระหว่างแห่ง ๗ อัพภันตรทั้ง ๒ เพื่อประโยชน์แก่อุปจาร.

สัตตัพภันตรสีมากถาที่เหลือ พึงถือเอาตามนัยที่กล่าวแล้ว ในวรรณนาแห่งอุทโทสิตสิกขาบท ในมหาวิภังค์ (๑) .

อรรถกถาสัตตัพภันตรสีมา จบ

อรรถกถาอุทกุกเขปสีมา

ข้อว่า สพฺพา ภิกฺขเว นที อสีมา มีความว่า แม่น้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ได้ลักษณะแห่งแม่น้ำ แม้ภิกษุกำหนดนิมิตกระทำแล้วด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายทำแม่น้ำนี้ให้เป็นพัทธสีมาดังนี้ ย่อมไม่เป็นสีมาเลย. แต่แม่น้ำนั้นย่อมเป็นเช่นกับพัทธสีมาโดยสภาพของตนเท่านั้น จะทำสังฆกรรมทั้งปวงในแม่น้ำนี้ ย่อมควร แม้ในทะเลและชาตสระ ก็มีนัยเหมือนกัน.

ก็บรรดาทะเลและชาตสระนี้ ที่ชื่อ ชาตสระ เป็นชลาสัย ที่ผู้ใดผู้หนึ่งมิได้ขุดทำไว้ เป็นบึงที่เกิดเอง เต็มด้วยน้ำซึ่งมาได้รอบด้าน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงห้ามข้อที่แม่น้ำทะเลและชาตสระเป็นพัทธสีมา อย่างนั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงกำหนดแห่งอพัทธสีมาในแม่น้ำทะเลและชาตสระเหล่านั้นอีก จึงตรัสคำว่า นทิยา วา ภิกฺขเว เป็นอาทิ.

วินิจฉัยในคำนั้น. ข้อว่า ยํ มชฺฌิมสฺส ปุริสสฺส สมนฺตา อุทกุกฺเขปา มีความว่า สถานที่ใดกำหนดด้วยวักน้ำสาดโดยรอบแห่งบุรุษผู้มีกำลัง


๑. สมนฺต. ทุติย. ๑๗๙.

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 426

ปานกลาง คือบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ก็น้ำอันภิกษุจะพึงวักสาดอย่างไร? นักเลงสกาซัดลูกสกาไม้ฉันใด บุรุษผู้มีกำลังปานกลาง พึงเอามือวักน้ำหรือกำทรายซัดไปด้วยกำลังทั้งหมด ฉันนั้น. น้ำหรือทรายที่ซัดไปอย่างนั้น ตกลงในโอกาสใด โอกาสนี้เป็นอุทกุกเขป ๑. ภิกษุผู้ละหัตถบาสตั้งอยู่ภายในอุทกุกเขปนั้น ย่อมทำกรรมให้เสีย. บริษัทขยายออกเพียงใด แม้สีมาย่อมขยายออกไปเพียงนั้น. เฉพาะอุทกุกเขป ๑ จากที่สุดโดยรอบแห่งบริษัทเป็นประมาณ.

แม้ในชาตสระและทะเล ก็นัยนี้แล ก็แลบรรดาแม่น้ำ ชาตสระ และทะเลเหล่านี้ ถ้าแม่น้ำไม่ยาวเกินไป สงฆ์นั่งอยู่ในที่ทั้งปวง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปากน้ำ ขึ้นชื่อว่าการทำสีมาด้วยอุทกุกเขป ย่อมไม่มี. แม่น้ำแม้ทั้งสิ้น ย่อมพอดีแก่ภิกษุเหล่านั้นเสียแล้ว.

ก็คำใดที่พระมหาสุมัตเถระกล่าวว่า แม่น้ำเฉพาะที่ไหลเพียงโยชน์ ๑. ในแม่น้ำนั้นต้องละกึ่งโยชน์ตอนบนเสีย ทำกรรมในกึ่งโยชน์ตอนล่าง จึงควร ดังนี้. คำนั้นพระมหาปทุมัตเถระค้านเสียแล้ว.

ในมหาอรรถกถากล่าวว่า อันประมาณแห่งแม่น้ำ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ฉะนี้ว่า ภิกษุณีนุ่งห่มได้มณฑล ๓ ข้ามอยู่ ณ เอกเทสแห่งใดแห่งหนึ่ง อันตรวาสกเปียก แต่โยชน์ ๑ หรือกึ่งโยชน์ หาได้ตรัสไว้ไม่ เพราะเหตุนั้น แม่น้ำใดมีลักษณะดังกล่าวแล้วในหนหลัง ด้วยอำนาจแห่งสูตรนี้ จะทำสังฆกรรมตั้งแต่ต้นน้ำแห่งแม่น้ำนั้น ย่อมควร. แต่ถ้าภิกษุมากหลายจะแยกๆ กันทำกรรมในแม่น้ำนี้ไซร้. เธอทั้งปวงพึงเว้นอุทกุกเขปอื่นไว้ในระหว่างแดน กำหนดแห่งอุทกุกเขปของตน และของภิกษุพวกอื่น เพื่อประโยชน์แก่สีมันตริก เว้นไว้เกินกว่าอุทกุกเขป ๑ นั้น ควรแท้. แต่หย่อนกว่านั้น ไม่ควร.

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 427

ในชาตสระและทะเล ก็นัยนี้แล ก็แลภิกษุทั้งหลายพากันไปด้วยคิดว่า เราจักทำสังฆกรรมในแม่น้ำ ถ้าแม่น้ำเต็มเสมอฝั่ง จะต้องนุ่งผ้าอาบน้ำก็ได้ พึงทำกรรมในแม่น้ำนั่นแล ถ้าไม่อาจ เพียงสถิตอยู่ในเรือก็ได้ กระทำเถิด แต่ไม่ควรทำในเรือซึ่งกำลังเดิน. เพราะเหตุไร เพราะว่าชั่วอุทกุกเขป ๑ เท่านั้นเป็นประมาณแห่งสีมา เรือย่อมพาสงฆ์นั่นแลให้ล่วงเลยสีมานั้นไป; เมื่อเป็นเช่นนั้น ญัตติจะอยู่ในสีมา ๑ อนุสาวนาจะอยู่ในอีกสีมา ๑ เพราะ เหตุนั้น พึงจอดเรือไว้กับหลัก หรือทอดสมอ หรือผูกที่ต้นไม้ที่เกิดภายในแม่น้ำกระทำกรรม. สถิตอยู่บนร้านที่ผูกขึ้นในภายในแม่น้ำก็ดี บนต้นไม้ที่เกิดในภายในแม่น้ำก็ดี กระทำกรรมก็ควร. แต่ถ้ากิ่งแห่งต้นไม้ก็ดี ย่านที่ออกจากต้นไม้นั้นก็ดี จดอยู่ที่วิหารสีมา หรือที่คามสีมา นอกฝั่งแม่น้ำ ต้องชำระสีมาให้เรียบร้อย หรือตัดกิ่งไม้เสีย แล้วจึงทำกรรม. จะผูกเรือที่กิ่งแห่งต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนตลิ่ง ซึ่งยื่นลงไปในแม่น้ำ หรือที่ย่านไทรแล้ว กระทำกรรมไม่ควร. เมื่อจะทำ ต้องชำระสีมาให้เรียบร้อย หรือต้องตัดเสีย ให้กานที่กิ่งไม้หรือย่านไทรนั้น ซึ่งจดในภายนอกขาดจากกัน. อนึ่ง จะปักหลักที่ฝั่งแม่น้ำแล้ว ทำกรรมในเรือซึ่งผูกที่หลักนั้น ก็ไม่ควรเหมือนกัน. ชนทั้งหลายทำสะพานไว้ในแม่น้ำ, ถ้าตัวสะพาน หรือเชิงสะพานอยู่ในภายในแม่น้ำเท่านั้น, จะสถิตอยู่บนสะพาน ทำกรรมก็ควร. แต่ถ้าตัวสะพาน หรือเชิงสะพานตั้งอยู่บนฝั่ง. จะสถิตอยู่บนสะพานนั้นทำกรรม ไม่ควร. ต้องชำระสีมาให้เรียบร้อยแล้ว จึงทำกรรม. ถ้าเชิงสะพานทั้งอยู่ในแม่น้ำ ส่วนตัวสะพานเชิดอยู่ในอากาศบนฝั่งทั้ง ๒ ย่อมควร. แก่งศิลาหรือเกาะ มีอยู่ภายในแม่น้ำ, ใน ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เฉพาะกาลฝนตามปกติมีประการดังกล่าวแล้วในหนหลัง น้ำท่วมประเทศเท่าใด แห่งแก่งศิลาหรือเกาะนั้น, ประเทศเท่านั้น นับเป็นแม่น้ำเหมือนกัน แต่ไม่

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 428

ควรถือเอาโอกาสที่ห้วงน้ำท่วม ในคราวฝนชุกเกินไป. เพราะว่าโอกาสนั้น ย่อมถึงความนับว่าเป็นคามสีมาด้วย.

ชนทั้งหลายเมื่อจะไขน้ำเข้าลำราง ย่อมทำทำนบในแม่น้ำ, และน้ำท่วม หรือเซาะแทงทำนบนั้นไหลไป จะทำกรรมในที่ซึ่งน้ำไหลทุกแห่ง ย่อมควร. แต่ถ้ากระแสน้ำขาดสายทำนบกั้นก็ดี ด้วยถูกถมทำสะพานก็ดี (๑) น้ำย่อมไม่ไหล จะทำกรรมในที่ซึ่งน้ำไม่ไหลไม่ควร. จะทำแม้บนยอดทำนบ ก็ไม่ควร. ถ้าประเทศแห่งทำนบบางแห่ง น้ำท่วมน้ำ เหมือนประเทศแห่งแก่งศิลาและเกาะ ซึ่งกล่าวแล้วในหนหลัง, จะทำกรรม ณ ประเทศแห่งทำนบที่น้ำท่วมถึงนั้น ย่อมควร. เพราะว่าประเทศแห่งทำนบนั้นย่อมถึงความนับว่าแม่น้ำเหมือนกัน. ชนทั้งหลายจะกั้นแม่น้ำเสีย ทำให้เป็นบึง, ก่อคันไว้ที่ปลายน้ำ น้ำไหลมาขังอยู่เต็มบึง จะทำกรรมในบึงนี้ ไม่ควร. น้ำที่เขาทิ้งเสียในที่ซึ่งไหลตอนบนและตอนล่างแห่งบึงนั้น ย่อมควร จำเดิมแต่ที่ซึ่งล้นแล้วไหลบ่าลงสู่แม่น้ำ. ในเมื่อฝนไม่ตก ในคราวฝนแล้ง หรือในฤดูร้อนและในฤดูหนาว จะทำกรรมแม้ในแม่น้ำที่แห้ง ย่อมควร. ในลำรางที่เขาชักออกจากแม่น้ำ ไม่ควร. ถ้า ลำรางนั้นพังกลายเป็นแม่น้ำในกาลอื่น ย่อมควร. แม่น้ำบางสายขึ้นท่วมคามสีมาและนิคมสีมาไหลไปตามฤดูกาล, แม่น้ำนั้นย่อมเป็นแม่น้ำเหมือนกัน สมควรทำกรรมได้. แต่ถ้าท่วมวิหารสีมา ย่อมถึงความนับว่า วิหารสีมาด้วย. อันภิกษุทั้งหลายผู้จะทำกรรมแม้ในทะเลเล่า น้ำที่ขึ้นอย่างสูง ย่อมท่วมประเทศ


๑. ปาฐะในอรรถกถาว่า อาวรเณน วา โกฏฺกพนฺธเนน วา. โยชนาหน้า ๒๔๖ แก้ว่า อาวรเณน วาติ ทารุอาทึ นิกฺขนิตฺวา อุทกนีวารเณน. โกฏฺลสมฺพทฺเธน วาติ มตฺติกาทีหิ ปูเรตฺวา กตเสตุพทฺเธน แม้อักษรจะเพี้ยนไปบ้างก็ตาม เสตุพนฺธ หมายความว่าทำสะพานตามความนิยมของภาษา เช่นในมงฺคลตฺถทีปนี ภาค ๒ ตอนอนวชฺชกมฺมกถา หน้า ๑๒๔ มีกล่าวถึงอุบาสกคนหนึ่ง ... อุทกกาเล มาติกาสุ เสตุํ พนฺธติ. ดังนั้นอาศัยนัยโยชนา จึงได้แปลเช่นนี้ให้ได้ความชัดลงไป.

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 429

ใดหรือคลื่นตามปกติมาด้วยกำลังลม ย่อมท่วมประเทศใด ไม่ควรทำกรรมในประเทศนั้น แต่คลื่นตามปกติเกิดขึ้นแล้ว หยุดอยู่แค่ประเทศใด ประเทศนั้นจำเติมแต่ชายน้ำลงไป จัดเป็นภายในทะเล ภิกษุทั้งหลายพึงตั้งอยู่ในประเทศนั้น ทำกรรมเถิด ถ้ากำลังคลื่นรบกวน พึงสถิตอยู่บนเรือ หรือร้านกระทำกรรม.

วินิจฉัยในเรือและร้านเหล่านั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในแม่น้ำนั่นแล. ศิลาดาดมีอยู่ในทะเล. บางคราวคลื่นมาท่วมศิลาดาดนั้น บางคราวไม่ท่วม ไม่ควรทำกรรมบนศิลาดาดนั้น. เพราะว่าศิลาดาดนั้นย่อมนับเป็นคามสีมาด้วย. แต่ถ้าเมื่อคลื่นมาก็ดี ไม่มาก็ดี ศิลาดาดนั้นอันน้ำตามปกตินั่นเองท่วมอยู่ ย่อมควร.

เกาะหรือภูเขา มีอยู่ ถ้าเกาะหรือภูเขานั้นอยู่ในย่านไกลไม่เป็นทางไปของพวกชาวประมง เกาะหรือภูเขานั้น ย่อมนับเข้าเป็นอรัญญสีมานั่นแล. ส่วนร่วมในแห่งปลายทางเป็นที่เป็นไปของพวกชาวประมงเหล่านั้น นับเป็นคามสีมา. ไม่ชำระคามสีมาให้เรียบร้อยแล้ว ทำกรรมที่เกาะภูเขานั้น ไม่ควร. ทะเลท่วมคามสีมาหรือนิคมสีมาตั้งอยู่ คงเป็นทะเล; จะทำกรรมในทะเลนั้น ย่อมควร. แต่ถ้าท่วมวิหารสีมา ย่อมถึงความนับว่า วิหารสีมาด้วย.

อันภิกษุทั้งหลายผู้จะทำกรรมในชาตสระเล่า ในพรรษกาลมีประการดังกล่าวแล้วในหนหลัง พอฝนขาด น้ำในสระใดไม่พอเพื่อจะดื่ม หรืออาบ หรือล้างมือและเท้า แห้งหมด; สระนี้ไม่จัดเป็นชาตสระ ถึงความนับว่าเป็นคามเขตนั่นเอง; ไม่ควรทำกรรมในสระนั้น. แต่ในพรรษกาลมีประการดังกล่าวแล้ว น้ำขังอยู่ในสระใด สระนี้แลจัดเป็นชาตสระ. ตลอด ๔ เดือนฤดูฝนน้ำขังอยู่ในประเทศเท่าใดแห่งชาตสระนั้น สมควรทำกรรมในประเทศเท่านั้นได้.

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 430

ถ้าน้ำลึก จะผูกร้านแล้วตั้งอยู่บนร้านนั้นก็ดี ตั้งอยู่บนร้านที่ผูกไว้บนต้นไม้ที่เกิดภายในชาตสระก็ดี กระทำกรรมย่อมควร.

ส่วนวินิจฉัยในศิลาดาดและเกาะ ในชาตสระนี้ เป็นเช่นกับที่กล่าวแล้วในแม่น้ำนั่นเอง. อนึ่ง ชาตสระที่มีน้ำพอใช้ในกาลที่ฝนตกเสมอ. แม้หากว่าในคราวฝนแล้งหรือฤดูร้อนและฤดูหนาวจะแห้ง ไม่มีน้ำ, จะทำสังฆกรรมในชาตสระนั่น ก็ควร.

ไม่ควรเชื่อถือคำที่ท่านกล่าวไว้ในอันธกอรรถกถาว่า ชาตสระทั้งปวงที่แห้งไม่มีน้ำ ย่อมจัดเข้าเป็นคามเขตไป แต่ถ้าชนทั้งหลายขุดบ่อหรือสระโบกขรณีเป็นต้น เพื่อต้องการน้ำในชาตสระนี้ สถานนั้นไม่เป็นชาตสระ. นับเป็นคามสีมา แม้ในการปลูกน้ำเต้าและแตงโมเป็นต้น ที่เขาทำในชาตสระนั้น ก็มีนัยเหมือนกัน.

อนึ่ง ถ้าชนทั้งหลายถมชาตสระนั้นให้เต็ม ทำให้เป็นบกก็ดี ก่อคันในทิสาภาคอันหนึ่ง ทำชาตสระนั้นทั้งหมดทีเดียวให้เป็นบึงใหญ่ก็ดี ไม่เป็นชาตสระแม้ทั้งหมด, นับเป็นคามสีมานั่นเอง. ถึงทะเลสาบ ก็จัดเป็นชาตสระเหมือนกัน. จะทำกรรมในโอกาสเป็นที่ขังน้ำตลอด ๔ เดือนฤดูฝน ควรอยู่ ฉะนี้แล,

อรรถกถาอุทกุกเขปสีมา จบ

อรรถกถาสีมาสัมเภท

ข้อว่า สีมาย สีมํ สมฺภินฺทนฺติ มีความว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ผูกสีมาของตนคาบเกี่ยวพัทธสีมาของภิกษุเหล่าอื่น. ก็ถ้าว่าในทิศตะวันออกแห่งวัดที่อยู่เก่า มีต้นไม้ ๒ ต้น คือ มะม่วงต้น ๑ หว้าต้น ๑ มีค่าคบพาด

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 431

เกี่ยวกัน, ในต้นมะม่วงและต้นหว้านั้น ต้นหว้าอยู่ทางทิศตะวันตกของต้นมะม่วง และวัดที่อยู่มีสีมาเป็นแดนที่ภิกษุกันเอาต้นหว้าไว้ข้างใน กำหนดต้นมะม่วงเป็นนิมิตผูกไว้ หากว่าภายหลังภิกษุทั้งหลายจะผูกสีมาทำวัดที่อยู่ในทิศตะวันออกแห่งวัดที่อยู่นั้น จึงกันเอาต้นมะม่วงไว้ภายในกำหนด ต้นหว้าเป็นนิมิตผูกไซร้, สีมากับสีมาย่อมคาบเกี่ยวกัน. พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้กระทำอย่างนี้.

เพราะเหตุนี้ พระอุบาลีเถระจึงกล่าวว่า สีมาย สีมํ สมฺภินฺทนฺติ

แปลว่า เจือสีมาด้วยสีมา.

ข้อว่า สีมาย สีมํ อชฺโฌตฺถรนฺติ มีความว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทับพัทธสีมาของภิกษุเหล่าอื่น ด้วยสีมาของตน คือผูกสีมาของตน เอาพัทธสีมาของภิกษุเหล่าอื่นทั้งหมด หรือบางตอนแห่งพัทธสีมานั้นไว้ภายในสีมาของตน.

ในข้อว่า สีมนฺตริกํ เปตฺวา สีมํ สมฺมนฺนิตุํ นี้ มีวินิจฉัยว่า หากสีมาแห่งวิหารที่ทำไว้ก่อนแดนที่มิได้สมมติ พึงเว้นอุปจารแห่งสีมาไว้. หากเป็นแดนที่สมมติ พึงเว้นสีมันตริกไว้ประมาณศอก ๑ โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด.

ในกุรุนทีแก้ว่า แม้เพียงคืบเดียวก็ควร. ในมหาปัจจรีแก้ว่า แม้เพียง ๘ นิ้วก็ควร.

อนึ่ง แม้ต้นไม้ต้นเดียวเป็นนิมิตแห่ง ๒ สีมา และต้นไม้นั้นเมื่อโตขึ้นย่อมทำสีมาให้สังกระกัน; เพราะเหตุนั้น ไม่ควรทำ.

อรรกถาสีมาสัมเภท จบ

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 432

วันอุโบสถมี ๒

[๑๖๖] ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า วันอุโบสถมีเท่าไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วันอุโบสถนี้มี ๒ คือ อุโบสถมีในวัน ๑๔ ค่ำ อุโบสถมีในวัน ๑๕ ค่ำ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วันอุโบสถ ๒ นี้แล.

การทำอุโบสถมี ๔ อย่าง

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า การทำอุโบสถมีเท่าไรหนอแล แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การทำอุโบสถนี้มี ๔ คือ การทำอุโบสถเป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรม ๑ การทำอุโบสถพร้อมเพียงโดยไม่เป็นธรรม ๑ การทำอุโบสถเป็นวรรคโดยธรรม ๑ การทำอุโบสถพร้อมเพียงโดยธรรม ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในการทำอุโบสถ ๔ อย่างนั้น การทำอุโบสถนี้ใดเป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรม การทำอุโบสถเห็นปานนั้น ไม่ควรทำ และเราก็ไม่อนุญาต.

ในการทำอุโบสถ ๔ นั้น การทำอุโบสถนี้ใดที่พร้อมเพรียงโดยไม่เป็นธรรม การทำอุโบสถเห็นปานนั้นไม่ควรทำ และเราก็ไม่อนุญาต.

ในการทำอุโบสถ ๔ นั้น การทำอุโบสถนี้ใดเป็นวรรคโดยธรรม การทำอุโบสถเห็นปานนั้นไม่ควรทำ และเราก็ไม่อนุญาต.

ในการทำอุโบสถ ๔ นั้น การทำอุโบสถนี้ใดที่พร้อมเพรียงโดยธรรม การทำอุโบสถเห็นปานนั้นควรทำ และเราก็อนุญาต.

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 433

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละพวกเธอพึงทำในใจว่า จักทำอุโบสถกรรมชนิดที่พร้อมเพรียงโดยธรรม ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.

อรรถกถาอุโบสถและอุโบสถกรรม

ในอุโบสถสอง (๑) นี้ คือ อุโบสถวันที่ ๑๔ และอุโบสถวันที่ ๑๕ เมื่อทำบุพกิจแห่งอุโบสถวันที่ ๑๔ แล้วพึงบอกว่า อชฺชุโปสโถ จาตุทฺทโส แปลว่า อุโบสถวันนี้ที่ ๑๔.

วินิจฉัยในอุโบสถกรรม ๔ มีข้อว่า อธมฺเมน วคฺคํ เป็นอาทิ. หากว่าในวัดที่อยู่เดียวกัน เมื่อภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป ๓ รูปนำฉันทะและปาริสุทธิของรูปหนึ่งมาแล้ว ทำปาริสุทธิอุโบสถ หรือเมื่ออยู่ด้วยกัน ๓ รูป ๒ รูปนำฉันทะและปาริสุทธิของรูปหนึ่งมา แล้วสวดปาติโมกข์ อุโบสถกรรมย่อมเป็นวรรคโดยอธรรม, แต่ถ้าทั้ง ๔ รูปประชุมกันทำปาริสุทธิอุโบสถ, ๓ รูปหรือ ๒ รูป สวดปาติโมกข์ อุโบสถกรรมชื่อพร้อมเพรียงโดยธรรม. ถ้าอยู่ด้วยกัน ๔ รูป ๓ รูปนำปาริสุทธิของรูปหนึ่งมาแล้วทำปาริสุทธิอุโบสถ, หรืออยู่ด้วยกัน ๓ รูป ๒ รูปนำปาริสุทธิของรูปหนึ่งมาแล้วทำปาริสุทธิอุโบสถ, อุโบสถกรรมชื่อเป็นวรรคโดยธรรม. แต่ถ้าภิกษุ ๔ รูปอยู่ในวัดที่อยู่เดียวกัน ประชุมกันทั้งหมด สวดปาติโมกข์, ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ, ๒ รูปทำปาริสุทธิกะกันและกัน, อุโบสถกรรมชื่อพร้อมเพรียงโดยธรรม.

อรรถกถาอุโบสถและอุโบสถกรรม จบ


๑. แต่ในโยชนา เอตฺถ โยควจเน และเป็นอาธารในวตฺตพฺพํ.

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 434

ปาติโมกขุทเทส ๕

[๑๖๗] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ปาติโมกขุทเทสมีเท่าไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาติโมกขุทเทสนี้มี ๕ คือ

ภิกษุสวดนิทานจบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๑.

สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ จบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๒.

สวดนิทาน สวดปาราชิก สวดสังฆาทิเสส ๑๓ จบแล้ว พึงสวดอุทเทส ที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๓.

สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ สวดอนิยต ๒ จบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขทเทสที่ ๔.

สวดโดยพิสดารหมด เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๕.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาติโมกขุทเทสที่ ๕ นี้แล.

ทรงห้ามสวดปาติโมกข์ย่อ

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการสวดปาติโมกข์ย่อ ดังนี้ จึงสวดปาติโมกข์ย่อทุกครั้ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 435

พระพุทธานุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อเมื่อมีอันตราย

สมัยต่อมา ณ อาวาสแห่งหนึ่งในโกศลชนบท คนชาวดงได้มาพลุกพล่านในวันอุโบสถ ภิกษุทั้งหลายไม่อาจสวดปาติโมกข์โดยพิสดาร จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอันตรายเราอนุญาตให้สวดปกติโมกข์ย่อ.

อันตราย ๑๐ ประการ

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ แม้เมื่ออันตรายไม่มี ก็สวดปาติโมกข์ย่อ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีอันตราย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

เมื่อมีอันตราย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อ

อันตรายในเรื่องนี้เหล่านี้ คือ:-

๑. พระราชาเสด็จมา.

๒. โจรมาปล้น.

๓. ไฟไหม้.

๔. น้ำหลากมา.

๕. คนมามาก.

๖. ผีเข้าภิกษุ

๗. สัตว์ร้ายเข้ามา.

๘. งูร้ายเลื้อยเข้ามา.

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 436

๙. ภิกษุอาพาธหนักจะถึงเสียชีวิต.

๑๐. มีอันตรายแก่พรหมจรรย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อในเพราะอันตรายเห็นปานนี้ เมื่อไม่มีอันตราย ให้สวดโดยพิสดาร.

อรรถกถาปาติโมกขุทเทส

ข้อว่า นิทานํ อุทฺทิสิตฺวา อวเสสํ สุเตน สาเวตพฺพํ มีความว่า ครั้นสวดนิทานนี้ว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆฯปฯ อาวิกตา หิสฺส ผาสุ โหติ แล้ว พึงกล่าวว่า อุทฺทิฏฺํ โข อายสฺมนฺโต นิทานํ. ตตฺถายสฺมนฺเต ปุจฺฉามิ. กจฺจิตฺถ ปริสุทฺธา? ทุติยมฺปิ ปุจฺฉามิฯปฯ เอวเมตํ ธารยามิ (๑) แล้วพึงสวด ๔ อุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท อย่างนี้ว่า สุตา โข ปนายุสฺมนฺเตหิ จตฺตาโร ปาราชิกา ธมฺมาฯปฯ อวิวทมาเนหิ สิกขิตพฺพํ. ปาฏิโมกขุทเทส ๔ ที่เหลือ พึงทราบตามนัยนี้.

สัญจรภัยนั้น ได้แก่ ภัยเกิดแก่มนุษย์ผู้ท่องเที่ยวไปในดง.

วินิจฉัยในอันตราย ๑๐ คือ ราชันตรายเป็นอาทิ. ถ้าเมื่อภิกษุทั้งหลายคิดว่า เราจักทำอุโบสถ นั่งประชุมกันแล้ว พระราชาเสด็จมา นี้ชื่อว่าราชันตราย. พวกโจรพากันมา นี้ชื่อโจรันตราย. ไฟป่าลามมา หรือไฟเกิดขึ้นในอาวาส นี้ชื่ออัคคยันตราย. ฝนตกหรือน้ำหลากมา นี้ชื่ออุทกันตราย. มนุษย์มากันมาก นี้ชื่อมนุสสันตราย. ผีเข้าภิกษุ นี้ชื่ออมนุสสันตราย. สัตว์ร้ายมีเสือเป็นต้น เข้ามา นี้ชื่อวาฬันตราย. สัตว์พิษมีงูเป็นต้น กัดภิกษุ นี้ชื่อสิรึสปันตราย. ภิกษุอาพาธ หรือทำกาลกิริยา หรือพวกคนมีเวรกัน ปองจะฆ่า


๑. นิทานุทเทส ไม่น่าจะต้องถาม ดูอธิบายในวินัยมุขเล่ม ๒ กัณฑ์ที่ ๑๗.

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 437

จับภิกษุนั้น นี้ชื่อชีวิตันตราย. มนุษย์ประสงค์ให้ภิกษุรูปเดียวหรือหลายรูปเคลื่อนจากพรหมจรรย์ จับเอาไป นี้ชื่อพรหมจริยันตราย.

ในอันตรายเห็นปานนี้ พึงสวดปาติโมกข์ย่อได้. จะพึงสวดอุทเทสที่ ๑ หรือสวด ๒ อุทเทส. ๓ อุทเทส, ๔ อุทเทส เบื้องต้นก็ตาม. ในอุทเทสเหล่านั้น มีอุทเทสที่ ๒ เป็นต้น เมื่ออุทเทสใดยังสวดไม่จบ มีอันตราย อุทเทสแม้นั้น พึงสวดด้วยสุตบททีเดียว.

อรรถกถาปาติโมกขุทเทส จบ

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 438

จะแสดงธรรมต้องได้รับอาราธนาก่อน

[๑๖๘] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนา แสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนา ไม่พึงแสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระแสดงธรรมเอง หรือให้อาราธนาผู้อื่น แสดง

ถามพระวินัยต้องได้รับสมมติก่อน

[๑๖๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับสมมติ ถามพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ได้รับสมมติ ไม่พึงถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดถาม ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้ว ถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์ได้.

วิธีสมมติเป็นผู้ถาม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงสมมติอย่างนี้ ตนเองสมมติตนก็ได้ ภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่นก็ได้.

อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองสมมติตน.

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 439

กรรมวาจาสมมติตน

พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าขอถามพระวินัยต่อผู้มีชื่อนี้.

พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าขอถามพระวินัยต่อผู้มีชื่อนี้.

อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองสมมติตน.

อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น?

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

กรรมวาจาสมมติผู้อื่น

พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ขอผู้มีชื่อนี้ถามพระวินัยต่อผู้มีชื่อนี้.

อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น.

ถามพระวินัยต้องตรวจดูบริษัทก่อน

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ได้รับสมมติแล้ว ถามพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์ พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแม้ที่ได้รับสมมติแล้ว ตรวจดูบริษัท พิจารณาดูบุคคลแล้วจึงถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์.

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 440

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับสมมติ วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระ ภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ยังไม่ได้รับสมมติ ไม่พึงวิสัชนาวินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดวิสัชนา ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุได้รับสมมติแล้ว วิสัชนาวินัยในท่ามกลางสงฆ์.

วิธีสมมติเป็นผู้วิสัชนา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุพึงสมมติอย่างนี้ ตนเองสมมติก็ได้ ภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่นก็ได้.

อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองสมมติตน

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

กรรมวาจาสมมติตน

พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันผู้มีชื่อนี้ถามถึงพระวินัยแล้ว ขอวิสัชนา.

อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองสมมติตน.

อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น?

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 441

กรรมวาจาสมมติผู้อื่น

พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ผู้มีชื่อนี้ อันผู้มีชื่อนี้ถามถึงพระวินัยแล้ว ขอวิสัชนา.

อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น.

วิสัชนาพระวินัยต้องตรวจดูบริษัทก่อน

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ได้รับสมมติแล้ว วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์ พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแม้ที่ได้รับสมมติแล้ว ตรวจดูบริษัท พิจารณาดูบุคคลก่อน จึงวิสัชนาวินัยในท่ามกลางสงฆ์.

โจทก์ต้องขอโอกาสต่อจำเลย

[๑๗๐] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์โจทภิกษุผู้มีได้ทำโอกาสด้วยอาบัติ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงโจทภิกษุผู้มิได้ทำโอกาสด้วยอาบัติ รูปใดโจท ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โจทขอให้จำเลยทำโอกาส ด้วยคำว่า ขอท่านจงทำโอกาส ผมใคร่จะกล่าวกะท่าน ดังนี้ แล้วจึงโจทด้วยอาบัติ.

ก่อนโจทต้องพิจารณาบุคคล

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักขอให้พระฉัพพัคคีย์ทำโอกาส แล้วโจทด้วยอาบัติ พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 442

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โจทแม้เมื่อจำเลยทำโอกาสแล้ว พิจารณาดูบุคคลก่อน จึงโจทด้วยอาบัติ.

ก่อนขอโอกาสต้องพิจารณาดูบุคคล

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์คิดว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ขอให้พวกเราทำโอกาสก่อนดังนี้ จึงรีบขอให้ภิกษุทั้งหลายที่บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ ทำโอกาสในอธิกรณ์ที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่มีเหตุ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้พระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขอให้ภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ ทำโอกาสในอธิกรณ์ที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่มีเหตุ รูปใดขอให้ทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พิจารณาดูบุคคลก่อน จึงขอให้ทำโอกาส.

เรื่องห้ามทำกรรมไม่เป็นธรรม

[๑๗๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทำกรรมไม่เป็นธรรมในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำกรรมไม่เป็นธรรมในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

พระฉัพพัคคีย์ยังขืนทำกรรมไม่เป็นธรรมอยู่ตามเดิม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คัดค้านในเมื่อภิกษุทำกรรมไม่เป็นธรรม.

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 443

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักพากันคัดค้านในเมื่อพระฉัพพัคคีย์ทำกรรมไม่เป็นธรรม พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำความเห็นแย้งได้.

ภิกษุทั้งหลายทำความเห็นแย้งในสำนักพระฉัพพัคคีย์เหล่านั้นนั่นแหละ พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔ - ๕ รูปคัดค้าน ให้ภิกษุ ๒ - ๓ รูปทำความเห็นแย้ง ให้ภิกษุรูปเดียวนึกในใจว่า กรรมนั้นไม่ควรแก่เรา.

แกล้งสวดปาติโมกข์ไม่ให้ได้ยิน

[๑๗๒] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์แกล้งสวดปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ไม่ให้ได้ยิน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สวดปาติโมกข์ไม่พึงแกล้งสวดไม่ให้ได้ยิน รูปใดสวดไม่ให้ได้ยิน ต้องอาบัติทุกกฏ.

สมัยต่อมา ท่านพระอุทายีเป็นผู้สวดปาติโมกข์แก่สงฆ์ แต่มีเสียงเครือดุจเสียงกา ครั้งนั้นท่านพระอุทายีได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงญัตติไว้แล้วว่า ภิกษุสวดปาติโมกข์ต้องสวดให้ได้ยินทั่วกัน ก็อาตมามีเสียงเครือดุจเสียงกา อาตมาจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ จึงแจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุที่สวดปาติโมกข์

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 444

พยายามสวดด้วยตั้งใจว่าจะสวดให้ได้ยินถ้อยคำทั่วกัน เมื่อพยายาม ไม่ต้องอาบัติ.

ห้ามสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์

[๑๗๓] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเทวทัตต์สวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ต้องได้รับอาราธนาจึงสวดปาติโมกข์ได้

[๑๗๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนาสวดปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลความเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีภาคเจ้ารับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนา ไม่พึงสวดปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของพระเถระ.

อัญญติตถิยภาณวารที่ ๑๑ จบ

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 445

อรรถกถาอัชเฌสนา

บทว่า อนชฺฌิฏฺา ได้แก่ ไม่ได้รับบัญชา หรือไม่ได้รับเชิญ.

ก็ในอัชเฌสนาธิการนี้ การเชิญ เนื่องด้วยภิกษุผู้เชิญแสดงธรรมซึ่งสงฆ์สมมติก็มี เนื่องด้วยพระสังฆเถระก็มี. เมื่อภิกษุผู้เชิญแสดงธรรมนั้นไม่มี ภิกษุเรียนพระสังฆเถระแล้ว หรืออันพระสังฆเถระอัญเชิญแล้ว ย่อมได้เพื่อกล่าวธรรม.

พระสังฆเถระเล่า ถ้าในวัดที่อยู่มีพระธรรมกถึกมาก, พึงสั่งตามลำดับวาระ. ภิกษุผู้ซึ่งท่านสั่งว่า เธอจงสวดธรรม ก็ดี ว่าเธอจงแสดงธรรม ก็ดี ว่าเธอจงให้ธรรมทาน กีดี พึงกล่าวธรรมได้ทั้ง ๓ วิธี แต่ภิกษุผู้ได้รับคำสั่งว่า จงสวด ย่อมได้เพื่อสวดเท่านั้น ผู้ได้รับคำสั่งว่า จงแสดง ย่อมได้เพื่อแสดงเท่านั้น ผู้ได้รับคำสั่งว่า จงสวดสรภัญญะ ย่อมได้เพื่อสวดสรภัญญะเท่านั้น.

ฝ่ายพระเถระเล่า ผู้นั่งบนอาสนะสูงกว่า ย่อมไม่ได้เพื่ออัญเชิญ. ถ้าพระสังฆเถระเป็นอุปัชฌาย์ และพระธรรมกถึกเป็นสัทธิวิหาริก และพระอุปัชฌาย์นั่งบนอาสนะสูง สั่งสัทธิวิหาริกนั้นว่าเธอจงสวด. พึงตั้งใจสาธยายแล้วสวดเถิด. แต่ถ้าในสำนักอุปัชฌาย์นี้ มีภิกษุหนุ่มมาก, พึงตั้งใจว่า เราสวดแก่ภิกษุเหล่านั้น แล้วสวดเถิด.

ถ้าพระสังฆเถระในวัดที่อยู่ให้สวดแต่นิสิตของตนเท่านั้น, ไม่อัญเชิญภิกษุเหล่าอื่นที่สวดไพเราะบ้าง, ภิกษุเหล่าอื่นพึงเรียนท่านว่า ท่านผู้เจริญ พวกผมขอให้ภิกษุชื่อโน้นสวด. ถ้าท่านตอบ สวดเถิด หรือท่านนิ่งเสีย สมควรให้สวดได้. แต่ถ้าท่านห้าม ไม่ควรให้สวด.

หากว่า เริ่ม ธรรมสวนะ แต่เมื่อพระสังฆเถระยังมิได้มา. เมื่อท่านมากลางคัน กิจที่จะต้องหยุดขอโอกาส ไม่มี.

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 446

อนึ่ง เมื่อสวดแล้วจะอธิบายเนื้อความ พึงขอโอกาสท่านแล้ว จึงอธิบายก็ได้. ไม่หยุดเลยอธิบายทีเดียวก็ได้ แม้ในพระสังฆเถระผู้มากลางคัน เมื่อกำลังอธิบายก็มีนัยเหมือนกัน. ถึงในอุปนิสินนกถาพระสังฆเถระเป็นเจ้าของ, เพราะฉะนั้น พระสังฆเถระนั้นพึงกล่าวเอง, หรือสั่งภิกษุอื่นว่า เธอจงกล่าว ก็แลพระเถระนั่งสูงกว่าไม่ควรสั่ง. แต่ว่าจะสั่งแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า ท่านจงกล่าว ควรอยู่ ชนทั้งหลายถามภิกษุผู้รู้จักตน ภิกษุนั้นพึงขอโอกาสพระเถระก่อนจึงค่อยตอบ. ถ้าพระเถระได้รับตอบว่า ท่านผู้เจริญ ชนเหล่านี้ถามปัญหากะผม ดังนี้แล้ว สั่งว่า ตอบเถิดก็ดี นิ่งเสียก็ดี จะตอบก็ควร.

แม้ในการอนุโมทนาเป็นต้น ในละแวกบ้าน ก็นัยนี้แล ถ้าว่าพระสังฆเถระอนุญาตว่า เธอพึงกล่าวในวัดที่อยู่หรือในละแวกบ้านเถิด ไม่ต้องบอกเล่าฉันละ เป็นอันได้ข้ออ้าง, สมควรกล่าวได้ในที่ทั้งปวง. แม้เมื่อจะทำการสาธยายเล่า ก็ต้องขอโอกาสพระเถระเหมือนกัน. เมื่อขอโอกาสองค์ ๑ แล้วกำลังสาธยาย องค์อื่นมาอีก กิจที่จะต้องขอโอกาสอีก ย่อมไม่มี. หากว่าเมื่อผูกใจว่าเราจักพัก แล้วหยุดอยู่ พระเถระมา, เมื่อเริ่มอีกต้องขอโอกาส แม้เมื่อ กำลังสาธยายธรรมที่ตนเริ่มไว้แล้ว แต่เมื่อพระสังฆเถระยังมิได้มา ก็นัยนี้แล. พระสังฆเถระองค์ ๑ อนุญาตแล้วว่า ไม่ต้องขอโอกาสฉันละ ท่องตามสบายเถิด ดังนี้ สมควรสาธยายตามสบาย แต่เมื่อพระสังฆเถระองค์อื่นมา ต้องขอโอกาสท่านก่อนจึงสาธยาย.

ข้อว่า อตฺตนา วา (๑) อตฺตานํ สมฺมนฺนิตพฺพํ มีความว่า พึงสมมติตนด้วยตนเองก็ได้. แต่เมื่อจะถาม ต้องแลดูบริษัท ถ้าอุปัทวะไม่มีแก่ตน, พึงถามวินัย


๑. พระบาลีวินัยเป็น อตฺตนา ว. แต่อตฺตนา วา น่าจะถูกกว่า.

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 447

ข้อว่า กเตปิ โอกาเส ปุคฺคลํ ตุลยิตฺวา มีความว่า เราตถาคตอนุญาตให้ภิกษุ แม้เมื่อตนขอโอกาสแล้ว ต้องพิจารณาอย่างนี้ว่า อุปัทวะจากบุคคลนี้จะมีแก่เราหรือไม่มีหนอ? ดังนี้ แล้วจึงโจทด้วยอาบัติ.

ข้อว่า ปุคฺคลํ ตฺลยิตฺวา โอกาสํ กาตุํ มีความว่า เราตถาคตอนุญาตให้ภิกษุพิจารณาอย่างนี้ว่า ผู้นี้จะกล่าวอาบัติเฉพาะที่เป็นจริงเท่านั้น หรือจะกล่าวที่ไม่เป็นจริงหนอ ดังนี้แล้ว จึงค่อยให้โอกาส.

บทว่า ปุรมฺหากํ ได้แก่เราทั้งหลาย ... ก่อน.

บทว่า ปฏิกจฺเจว ได้แก่ ก่อนกว่าทีเดียว. กรรมไม่เป็นธรรมมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

บทว่า ปฏิกฺโกสิตุํ ไค้แก่ เพื่อห้าม.

ข้อว่า ทิฏฺิมฺปิ อาวิกาตุํ มีความว่า เราตถาคตอนุญาตให้ภิกษุประกาศความเห็นของตนในสำนักภิกษุอื่นอย่างนี้ว่า กรรมนี้ไม่เป็นธรรม นั่นไม่ชอบใจข้าพเจ้า.

คำว่า ๔ รูป ๕ รูป เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อต้องการมิให้มีอันตรายแก่ภิกษุเหล่านั้น.

ข้อว่า สญฺจิจฺจ น สาเวนฺติ มีความว่า แกล้งสวดค่อยๆ ด้วยตั้งใจว่า ภิกษุเหล่าอื่นจะไม่ได้ยินด้วยประการใด เราจักสวดด้วยประการนั้น.

บทว่า เถราธิกํ มีความว่า เราตถาคตอนุญาตปาติโมกข์ ให้มีพระเถระเป็นใหญ่ อธิบายว่า เพื่อเป็นกิจเนื่องด้วยพระเถระ.

บาลีว่า เถราเธยฺยํ ก็มี แปลว่า ให้มีพระเถระเป็นเจ้าหน้าที่. เพราะเหตุนั้น พระเถระพึงสวดเองก็ได้ พึงเชิญภิกษุอื่นก็ได้.

ในอธิการว่าด้วยการอัญเชิญปาติโมกข์นี้ วิธีเชิญมีนัยดังกล่าวแล้วในการอัญเชิญธรรมนั่นแล.

 
  ข้อความที่ 72  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 448

หน้าที่สวดปาติโมกข์

[๑๗๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกโดยมรรคาอันจะไปเมืองโจทนาวัตถุ เสด็จจาริกโดยลำดับ ลุถึงเมืองโจทนาวัตถุแล้ว ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่งมีภิกษุอยู่ด้วยกันมากรูป บรรดาภิกษุเหล่านั้น พระเถระเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ท่านไม่รู้อุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ ไม่รู้ปาติโมกข์ หรือวิธีสวดปาติโมกข์ จึงภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วว่า ปาติโมกข์เป็นหน้าที่ของพระเถระ ก็พระเถระของพวกเรารูปนี้เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้อุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ ไม่รู้ปาติโมกข์ หรือวิธีสวดปาติโมกข์ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปใดเป็นผู้ฉลาด สามารถ เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปนั้น.

ส่งภิกษุไปศึกษาปาติโมกข์

[๑๗๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่ด้วยกันมากรูป ล้วนเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด พวกเธอไม่รู้อุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ ไม่รู้ปาติโมกข์ หรือวิธีสวดปาติโมกข์ พวกเธอจึงอาราธนาพระเถระว่า ขอพระเถระจงสวดปาติโมกข์ขอรับ ท่านตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เราสวดปาติโมกข์ไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๒ ว่า ขอพระเถระจงสวดปาติโมกข์ขอรับ แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เราสวด

 
  ข้อความที่ 73  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 449

ปาติโมกข์ไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๓ ว่า ขอพระเถระจงสวดปาติโมกข์ขอรับ แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เราสวดปาติโมกข์ไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นได้อาราธนาจนถึงพระสังฆนวกะ โดยวิธีนี้แหละว่า ขอคุณจงสวดปาติโมกข์ แม้เธอก็ตอบอย่างนี้ว่า ผมสวดปาติโมกข์ไม่ได้ขอรับ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่งหนึ่งถึงวันอุโบสถ ภิกษุในศาสนานี้อยู่ด้วยกันมาก ล้วนเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด พวกเธอไม่รู้อุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ ไม่รู้ปาติโมกข์ หรือวิธีสวดปาติโมกข์ พวกเธอจึงอาราธนาพระเถระว่า ขอพระเถระจงสวดปาติโมกข์ขอรับ ท่านตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เราสวดปาติโมกข์ไม่ได้ พวกเธอจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๒ ว่า ขอพระเถระจงสวดปาติโมกข์ขอรับ แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เราสวดปาติโมกข์ไม่ได้ พวกเธอจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๓ ว่า ขอพระเถระจงสวดปาติโมกข์ขอรับ แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เราสวดปาติโมกข์ไม่ได้ พวกเธอได้อาราธนาจนถึงพระสังฆนวกะ โดยวิธีนี้แหละว่า ขอคุณจงสวดปาติโมกข์ แม้เธอรูปนั้นก็ตอบอย่างนี้ว่า ผมสวดปาติโมกข์ไม่ได้ขอรับ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปสู่อาวาสใกล้เคียง พอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ดูก่อนอาวุโส เธอจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดยพิสดารมา.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า จะพึงส่งภิกษุรูปไหนหนอไป แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระใช้ภิกษุผู้นวกะไป.

 
  ข้อความที่ 74  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 450

ภิกษุนวกะทั้งหลายอันพระเถระบัญชาแล้วไม่ยอมไป ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่อาพาธ อันพระเถระบัญชาแล้วจะไม่ยอมไปไม่ได้ รูปใดไม่ยอมไป ต้องอาบัติทุกกฏ.

พระพุทธานุญาตให้เรียนปักขคณนา

[๑๗๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองโจทนาวัตถุ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จกลับมายังพระนครราชคฤห์อีก ก็โดยสมัยนั้นแล ชาวบ้านถามภิกษุทั้งหลายที่กำลังเที่ยวบิณฑบาตว่า ดิถีที่เท่าไรแห่งปักษ์ เจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกอาตมาไม่รู้เลย ชาวบ้านจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า แม้เพียงนับปักษ์ พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านั้นก็ยังไม่รู้ ไฉนจะรู้คุณความดีอะไรอย่างอื่นเล่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เรียนปักขคณนา

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอพึงเรียนปักขคณนา แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทุกๆ รูปเรียนปักขคณนา.

ก็โดยสมัยนั้นแล ชาวบ้านถามภิกษุทั้งหลายที่กำลังเที่ยวบิณฑบาตว่า ภิกษุมีจำนวนเท่าไร เจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกอาตมาไม่รู้เลย ชาวบ้านจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า แม้พวกกันเอง พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ก็ยังไม่รู้ ไฉนจักรู้ความดีอะไรอย่างอื่น

 
  ข้อความที่ 75  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 451

เล่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นับภิกษุ.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิติกว่า เมื่อไรหนอเราพึงนับภิกษุ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เราอนุญาตให้นับภิกษุด้วยเรียกชื่อหรือให้จับสลากในวันอุโบสถ.

พระพุทธานุญาตให้บอกวันอุโบสถ

[๑๗๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายไม่รู้ว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถไปบิณฑบาต ณ หมู่บ้านที่ไกล พวกเธอมาถึงเมื่อกำลังสวดปาติโมกข์ก็มี มาถึงเมื่อสวดจบแล้วก็มี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอพึงบอก แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระบอกแต่เช้า

สมัยต่อมา พระเถระรูปหนึ่งเวลาเช้าตรู่ระลึกไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกแม้ในเวลาภัตกาล แม้ในเวลาภัตกาลพระเถระนั้นก็ระลึกไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกในกาลที่ตนระลึกได้.

 
  ข้อความที่ 76  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 452

บุพกรณ์และบุพกิจในโรงอุโบสถ

[๑๗๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง โรงอุโบสถรก พวกพระอาคันตุกะพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงไม่กวาดโรงอุโบสถเล่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กวาดโรงอุโบสถ.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอพึงกวาดโรงอุโบสถ แล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ.

ภิกษุนวกะทั้งหลายอันพระเถระใช้แล้วไม่ยอมกวาด ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่อาพาธอันพระเถระบัญชาแล้ว จะไม่กวาดไม่ได้ รูปใดไม่กวาด ต้องอาบัติทุกกฏ.

สมัยต่อมา ในโรงอุโบสถไม่มีใครปูอาสนะไว้ ภิกษุทั้งหลายนั่งที่พื้นดิน ทั้งตัวทั้งจีวร เปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูอาสนะในโรงอุโบสถ.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอพึงปูอาสนะในโรงอุโบสถ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผ้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระบัญชาภิกษุนวกะ.

 
  ข้อความที่ 77  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 453

ภิกษุนวกะทั้งหลายอันพระเถระบัญชาแล้วไม่ปูอาสนะ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่อาพาธอันพระเถระบัญชาแล้ว จะไม่ปูอาสนะไม่ได้ รูปใดไม่ปู ต้องอาบัติทุกกฏ.

สมัยต่อมา ในโรงอุโบสถไม่ได้ตามประทีปไว้ เวลาค่ำคืนภิกษุทั้งหลายเหยียบกายกันบ้าง เหยียบจีวรบ้าง แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตามประทีปในโรงอุโบสถ.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอพึงตามประทีป แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระบัญชาภิกษุนวกะ.

ภิกษุนวกะทั้งหลายอันพระเถระบัญชาแล้วไม่ยอมตามประทีป ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่อาพาธอันพระเถระบัญชาแล้วจะไม่ตามประทีปไม่ได้ รูปใดไม่ตามประทีป ต้องอาบัติทุกกฏ.

จะไปไหนต้องอาปุจฉาก่อน

[๑๘๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุหลายรูปด้วยกันเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ ไม่อำลาพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้หลายรูปด้วยกันเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ ไม่อำลาพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ พวกเธออันพระอุปัชฌาย์ อาจารย์พึงถามว่า

 
  ข้อความที่ 78  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 454

ท่านทั้งหลายจักไปไหน จักไปกับใคร ถ้าพวกเธอเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด พูดอ้างถึงภิกษุเหล่าอื่นที่เป็นผู้เขลาไม่ฉลาดด้วยกัน พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ไม่พึงอนุญาต ถ้าอนุญาต ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด อันพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ไม่อนุญาต ถ้ายังขืนไป ต้องอาบัติทุกกฏ.

พึงสงเคราะห์พระพหูสูต

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้อยู่ในอาวาสแห่งหนึ่งมากรูปด้วยกันล้วนเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด พวกเธอไม่รู้อุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ ไม่รู้ปาติโมกข์ หรือวิธีสวดปาติโมกข์ ภิกษุรูปอื่นมาในอาวาสนั้น เป็นผู้คงแก่เรียนชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย รังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นพึงสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ปราศรัย บำรุงเธอด้วยจุณดิน ไม้ชำระฟัน น้ำบ้วนปาก ถ้าไม่สงเคราะห์ อนุเคราะห์ ปราศรัย บำรุงด้วยจุณดิน ไม้ชำระฟัน น้ำบ้วนปาก ต้องอาบัติทุกกฏ.

ส่งพระไปเรียนปาติโมกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ ภิกษุในศาสนานี้อยู่ด้วยกันมากรูป ล้วนเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด พวกเธอไม่รู้อุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ ไม่รู้ปาติโมกข์ หรือวิธีสวดปาติโมกข์ ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปสู่อาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทันในวันนั้น

 
  ข้อความที่ 79  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 455

ด้วยสั่งว่า ดูก่อนอาวุโส เธอจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อ หรือโดยพิสดารมา ถ้าได้ภิกษุเช่นนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นทุกๆ รูปพึงพากันไปสู่อาวาสที่มีภิกษุรู้อุโบสถ หรือวิธีทำโอสถ รู้ปาติโมกข์ หรือวิธีสวดปาติโมกข์ ถ้าไม่พากันไป ต้องอาบัติทุกกฏ.

พึงจำพรรษาในอาวาสที่มีผู้สวดปาติโมกข์ได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้ อยู่จำพรรษาในอาวาสแห่งหนึ่งมากรูปด้วยกัน ล้วนเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด พวกเธอไม่รู้อุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ ไม่รู้ปาติโมกข์ หรือวิธีสวดปาติโมกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้พึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปสู่อาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ดูก่อนอาวุโส เธอจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดยพิสดารมา ถ้าได้ภิกษุเช่นนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปชั่วระยะกาล ๗ วัน ด้วยสั่งว่า ดูก่อนอาวุโส เธอจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดยพิสดารมา ถ้าได้ภิกษุเช่นนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสนั้น ถ้าขืนอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ.

อรรถกถาอัชเฌสนา

วินิจฉัยในข้อว่า โส น ชานาติ อุโปสถํ วา เป็นอาทิดังนี้:-

พระเถระนั้นไม่รู้จักอุโบสถ ๓ อย่าง โดยต่างด้วยจาตุททสิกอุโบสถ ปัณณรสิกอุโบสถ และสามัคคีอุโบสถ และไม่รู้จักอุโบสถ ๙ อย่าง โดยต่างด้วยสังฆอุโบสถเป็นต้น ไม่รู้อุโบสถกรรม ๔ อย่าง ไม่รู้ปาติโมกข์ ๒ อย่าง ไม่รู้ปาติโมกขุทเทส ๙ อย่าง.

 
  ข้อความที่ 80  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 456

ในข้อว่า โย ตตฺถ ภิกฺขุ พฺยตฺโต ปฏิพโล นี้ มีวินิจฉัยว่า ปาฏิโมกข์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้ฉลาดแม้ยังหนุ่มก็จริงแล. ถึงกระนั้น ในข้อนี้ ควรทราบอธิบายดังนี้:-

ถ้าปาฏิโมกขุทเทส ๕ หรือ ๔ หรือ ๓ ของพระเถระ ยังจำไม่ได้ ส่วน ๒ อุทเทสเป็นของไม่บกพร่อง ชำนาญดี คล่องปาก ปาติโมกข์คงเนื่องด้วยพระเถระ. แต่ถ้าแม้เพียงเท่านี้ ท่านย่อมไม่อาจเพื่อทำให้ชำนาญได้ ย่อมเป็นหน้าที่ของพระภิกษุผู้ฉลาดเทียว.

สองบทว่า สามนฺตา อาวาสา ได้แก่ อาวาสใกล้เคียงกัน.

บทว่า สชฺชุกํ มีความว่า เพื่อประโยชน์แก่การมาในวันนั้นเอง.

วินิจฉัยในข้อว่า นวกํ ภิกขุํ อาณาเปตุํ นี้ว่า ภิกษุใดสามารถจะเรียนได้ พึงบังคับภิกษุเห็นปานนั้น อย่าบังคับภิกษุที่โง่.

บทว่า ถตมี (๑) ภนฺเต นี้ มีอธิบายว่า ดิถีเป็นที่เต็มแห่งดีถีทั้งหลายเท่าไร ชื่อว่า ดิถีที่เท่าไร คือกี่ค่ำ. มนุษย์ทั้งหลายหมายเอากุศลกรรมที่เนื่องด้วยพระผู้เป็นเจ้า ถามว่า ภิกษุมีประมาณเท่าไรขอรับ?

ข้อว่า สลากํ วา คาเหตุํ มีความว่า เราตถาคตอนุญาตให้ภิกษุถือเอา คือ รวมสลากแล้วนับ.

บทว่า กาลวโต ได้แก่ ต่อกาลทีเดียว ความว่า แต่เช้าทีเดียว.

ในข้อว่า ยํ กาลํ สรติ นี้ มีความว่า แม้ในเวลาเย็น จะบอกว่า วันนี้อุโบสถ ท่านทั้งหลายจงมาประชุม ก็ควร.

แม้ในข้อว่า เถเรน ภิกฺขุนา นวํ ภิกฺขุํ อาณาเปตุํ นี้ มีวินิจฉัยว่า ภิกษุผู้ทำกรรมบางอย่างก็ดี ภิกษุผู้ช่วยภาระอย่างหนึ่งตลอดกาลในกาลทุก


๑. พระบาลีวินัยเป็น กติมี, ฎีกาวิมติโนทนีก็เป็น กติมี.

 
  ข้อความที่ 81  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 457

เมื่อทีเดียวก็ดี ภิกษุผู้สรภาณกะและธรรมกถึก เป็นต้นรูปใดรูปหนึ่งก็ดี พระเถระไม่ควรสั่งบังคับเพื่อกวาดโรงอุโบสถ ส่วนภิกษุที่เหลือพึงสั่งบังคับตามวาระ คือผลัดเปลี่ยนกัน หากว่าภิกษุผู้ได้รับคำสั่งแล้ว จะไม่ได้ไม้กวาดแม้เป็นของยืมไซร้ พึงวานกัปปิยการกหักกิ่งไม้ทำให้ควรแล้วกวาด เมื่อเธอไม่ได้แม้ซึ่งกัปปิยการกนั้น เป็นอันได้ข้ออ้าง. ถึงในการสั่งบังคับเพื่อให้ปูลาดอาสนะ ก็พึงสั่งบังคับตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.

ฝ่ายภิกษุผู้รับคำสั่งแล้ว ถ้าอาสนะในโรงอุโบสถไม่มี พึงขนมาจากสังฆิกาวาส ปูลาดแล้ว ต้องขนไปคืน. เมื่ออาสนะไม่มีจะปู เสื่อลำแพนก็ดี เสื่ออ่อนก็ดี ย่อมควร ถึงเมื่อเสื่ออ่อนไม่มี ก็พึงวานกัปปิยการกให้ช่วยหักกิ่งไม้ ทำให้ควรแล้วปูลาดเถิด เมื่อเธอไม่ได้กัปปิยการก เป็นอันได้ข้ออ้าง.

ในการตามประทีปเล่า พระเถระก็พึงสั่งบังคับตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. และเมื่อจะสั่งบังคับ ต้องบอกว่า น้ำมัน หรือไส้ หรือตะเกียง มีอยู่ในโอกาสโน้น เธอจงถือเอาสิ่งนั้นๆ มาตามประทีป. หากน้ำมันเป็นต้น ไม่มี ภิกษุผู้รับคำสั่งต้องแสวงหามา เมื่อแสวงหาแล้วไม่ได้ เป็นอันได้ข้ออ้าง. อีกอย่างหนึ่ง จะพึงติดไฟให้โพลงบนกระเบื้องก็ได้.

ข้อว่า สงฺคเหตพฺโพ มีความว่า ภิกษุผู้เป็นพหูสูตนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสงเคราะห์ด้วยถ้อยคำอันไพเราะอย่างนี้ว่า ท่านมาแล้วก็ดีแหละขอรับ ที่นี่ภิกษาหาได้ง่าย แกงและกับข้าวก็มี อย่าต้องเป็นกังวลเลย นิมนต์อยู่เถิด พึงอนุเคราะห์เนื่องด้วยการพูดจากันบ่อยๆ พึงเกลี้ยกล่อมด้วยให้เธอให้คำตอบว่า ขอรับผมจักอยู่.

 
  ข้อความที่ 82  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 458

อีกประการหนึ่ง พึงสงเคราะห์และอนุเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔ พึงเกลี้ยกล่อมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ อธิบายว่า พึงเจรจาให้เสนาะหู พึงให้บำรุงด้วยสิ่งของต่างๆ มีจุณเป็นต้น.

ข้อว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า ถ้าสงฆ์แม้ทั้งมวลไม่ทำไซร้, ต้องทุกกฏทั้งหมด. ในอธิการนี้ พระเถระทั้งหลายก็ไม่พ้น พวกภิกษุหนุ่มก็ไม่พ้น. ภิกษุทั้งปวงพึงให้เปลี่ยนวาระกันบำรุง เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่บำรุงในวาระของตน. แต่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตนั้น อย่าพึงยินดีวัตรมีการกวาดบริเวณ และให้ไม้สีฟันเป็นต้น ของพระมหาเถระทั้งหลาย. แม้เมื่อข้อที่เธอได้ยินดีมีอยู่ พระมหาเถระทั้งหลายก็ควรมาสู่ที่บำรุงทั้งเย็นเช้า. แต่ภิกษุผู้พหูสูตนั้นรู้ความมาของพวกท่านแล้ว พึงไปสู่ที่บำรุงของพระมหาเถระทั้งหลายเสียก่อน. ถ้าภิกษุผู้สหจร ซึ่งเป็นอุปัฏฐากของเธอมีอยู่ เธอพึงห้ามเสียว่าอุปัฏฐากของผมมี ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยอยู่เถิด. แม้ถ้าว่าภิกษุผู้สหจรของเธอไม่มี. แต่ภิกษุรูปหนึ่งหรือ ๒ รูป ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรในวัดที่อยู่นั่นเอง กล่าวว่า ผมจักทำกิจที่ควรทำแก่พระเถระเอง ภิกษุที่เหลือจงอยู่เป็นผาสุกเถิด ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งปวง.

ข้อว่า โส อาวาโส คนฺตพฺโพ มีความว่า อาวาสนั้น อันภิกษุทั้งหลายผู้เขลา ไม่ฉลาด พึงไปทุกกึ่งเดือน เพื่อประโยชน์แก่การทำอุโบสถ ก็อาวาสนั้นแล ควรไปทั้งเหมันตฤดู และคิมหฤดูทีเดียว แต่พระผู้มีพระ ภาคเจ้าตรัสคำเป็นต้นว่า ผู้เขลาไม่ฉลาดจำพรรษา ดังนี้ ก็เพื่อแสดงกิจที่ควรทำในฤดูฝน.

 
  ข้อความที่ 83  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 459

ในพระบาลี ข้อว่า น ภิกฺขเว เตหิ ภิกฺขูหิ ตสฺมึ อาวาเส วสฺสํ วสิตพฺพํ มีความว่า ในการเข้าพรรษาแรก อย่าจำพรรษาปราศจากภิกษุผู้สวดปาฏิโมกข์. หากว่าภิกษุผู้สวดปาติโมกข์นั้นหลีกไปเสีย หรือสึกเสีย หรือทำกาลกิริยาเสีย ต่อเมื่อภิกษุทั้งหลายจำพรรษาแล้ว เมื่อภิกษุอื่นที่สวดได้มีอยู่นั่นแล จึงควรจำพรรษาหลัง เมื่อไม่มี ต้องไปในอาวาสอื่น เมื่อไม่ไป ต้องทุกกฏ. แต่ถ้าภิกษุผู้สวดปาติโมกข์นั้น หลีกไปเสีย หรือสึกเสีย หรือทำ กาลกิริยาเสีย ในการเข้าพรรษาหลัง พึงอยู่ในที่นั้นตลอด ๒ เดือน.

อรรถกถาอัชเฌสนา จบ

 
  ข้อความที่ 84  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 460

พระพุทธานุญาตให้นำปาริสุทธิของพระอาพาธมา

[๑๘๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักทำอุโบสถ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ยังมีภิกษุอาพาธ ท่านมาไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิ.

วิธีมอบปาริสุทธิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงมอบปาริสุทธิ อย่างนี้:-

ภิกษุอาพาธนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้วกล่าวคำมอบปาริสุทธิอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอมอบปาริสุทธิ ขอท่านจงนำปาริสุทธิของข้าพเจ้าไป ขอท่านจงบอกปาริสุทธิของข้าพเจ้า.

ภิกษุรับด้วยกาย รับด้วยวาจา รับด้วยทั้งกายและวาจาก็ได้ เป็นอันภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว ไม่รับด้วยกาย ไม่รับด้วยวาจา ไม่รับด้วยทั้งกายและวาจา ไม่เป็นอันภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิ ถ้าได้ภิกษุเช่นนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงใช้เตียงหรือตั่งหามภิกษุอาพาธนั้นมาในท่ามกลางสงฆ์ แล้วทำอุโบสถ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลไข้คิดอย่างนี้ว่า ถ้าพวกเราจักย้ายภิกษุอาพาธ อาพาธจักกำเริบหนัก หรือมิฉะนั้นก็จักถึงมรณภาพ

 
  ข้อความที่ 85  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 461

ดังนี้ ไม่พึงย้ายภิกษุอาพาธ สงฆ์พึงไปทำอุโบสถในสำนักภิกษุอาพาธนั้น แต่สงฆ์เป็นวรรค ไม่พึงทำอุโบสถเลย ถ้าขืนทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิหลบไปจากที่นั้น ภิกษุอาพาธพึงมอบปาริสุทธิแก่รูปอื่น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิสึกเสียในที่นั้นแหละ ถึงมรณภาพ ปฏิญาณเป็นสามเณร ปฏิญาณเป็นผู้บอกลาสิกขา ปฏิญาณเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ ปฏิญาณเป็นผู้วิกลจริต ปฏิญาณเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญาณเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัติ ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่ทำคืนอาบัติ ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่สละคืนทิฏฐิอันลามก ปฏิญาณเป็นบัณเฑาะก์ ปฏิญาณเป็นไถยสังวาส ปฏิญาณเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ปฏิญาณเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่ามารดา ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่าบิดา ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ปฏิญาณเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ปฏิญาณเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ปฏิญาณเป็นผู้ทำ ร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ภิกษุอาพาธพึงมอบปาริสุทธิแก่รูปอื่น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิหลบไปเสียในระหว่างทาง ปาริสุทธิไม่เป็นอันนำมา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิสึกเสียในระหว่างทาง ถึงมรณภาพ ... ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปาริสุทธิไม่เป็นอันนำมา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าประชุมสงฆ์แล้วหลบไปเสีย ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว.

 
  ข้อความที่ 86  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 462

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าประชุมสงฆ์แล้ว สึกเสีย ถึงมรณภาพ ... ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าประชุมสงฆ์แล้ว หลับเสียไม่ได้บอก เผลอไปไม่ได้บอก เข้าสมาบัติไม่ได้บอก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปาริสุทธิไม่ต้องอาบัติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าประชุมสงฆ์แล้ว แกล้งไม่บอก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำปาริสุทธิแกล้งไม่บอก ต้องอาบัติทุกกฏ.

พระพุทธานุญาตให้นำฉันทะของภิกษุอาพาธมา

[๑๘๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักทำกรรม เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ยังมีภิกษุอาพาธ ท่านมาไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธมอบฉันทะ.

วิธีมอบฉันทะ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงมอบฉันทะ อย่างนี้:-

ภิกษุอาพาธนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำมอบฉันทะอย่างนี้ว่า.

 
  ข้อความที่ 87  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 463

ข้าพเจ้ามอบฉันทะ ขอท่านจงนำฉันทะของข้าพเจ้าไป ขอท่านจงบอกฉันทะของข้าพเจ้า.

ภิกษุรับด้วยกาย รับด้วยวาจา รับด้วยทั้งกายและวาจาก็ได้ เป็นอันภิกษุอาพาธมอบฉันทะแล้ว ไม่รับด้วยกาย ไม่รับด้วยวาจา ไม่รับด้วยทั้งกายและวาจา ไม่เป็นอันภิกษุอาพาธมอบฉันทะ ถ้าได้ภิกษุผู้รับอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงใช้เตียงหรือตั่งหามภิกษุอาพาธนั้นมาในท่ามกลางสงฆ์แล้วทำกรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลไข้คิดอย่างนี้ว่า ถ้าพวกเราจักย้ายภิกษุอาพาธ อาพาธจักกำเริบหนัก หรือมิฉะนั้นก็จักถึงมรณภาพ ดังนี้ ไม่พึงย้ายภิกษุอาพาธ สงฆ์พึงไปทำกรรมในสำนักภิกษุอาพาธนั้น แต่สงฆ์เป็นวรรค ไม่พึงทำกรรมเลย ถ้าขืนทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุนำฉันทะหลบไปเสียจากที่นั่น ภิกษุอาพาธพึงมอบฉันทะแก่รูปอื่น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะสึกเสียในที่นั้นแหละ ถึงมรณภาพเสีย ปฏิญาณเป็นสามเณร ปฏิญาณเป็นผู้บอกลาสิกขา ปฏิญาณเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ ปฏิญาณเป็นผู้วิกลจริต ปฏิญาณเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญาณเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัติ ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่ทำคืนอาบัติ ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่สละคืนทิฏฐิอันลามก ปฏิญาณเป็นบัณเฑาะก์ ปฏิญาณเป็นไถยสังวาส ปฏิญาณเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ปฏิญาณเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่ามารดา ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่าบิดา ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ปฏิญาณเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ปฏิญาณเป็นผู้ทำลายสงฆ์

 
  ข้อความที่ 88  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 464

ปฏิญาณเป็นผู้ทำลายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ภิกษุอาพาธพึงมอบฉันทะแก่รูปอื่น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะหลบไปเสียในระหว่างทาง ฉันทะไม่เป็นอันนำมา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะสึกเสียในระหว่างทาง ถึงมรณภาพ ... ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ฉันทะไม่เป็นอันนำมา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าประชุมสงฆ์ แล้วหลบไปเสีย ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าประชุมสงฆ์ แล้วสึกเสีย ถึงมรณภาพ ... ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าประชุมสงฆ์ แล้วหลับเสียไม่ได้บอก เผลอไปไม่ได้บอก เข้าสมาบัติไม่ได้บอก ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำฉันทะไม่ต้องอาบัติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าประชุมสงฆ์ แล้วแกล้งไม่บอก ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำฉันทะต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิ มอบฉันทะด้วย เผื่อสงฆ์จะมีกรณียกิจ.

 
  ข้อความที่ 89  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 465

พวกญาติเป็นต้นจับภิกษุ

[๑๘๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ถึงวันอุโบสถหมู่ญาติได้จับภิกษุรูป ๑ ไว้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในวันอุโบสถ หมู่ญาติจับภิกษุในศาสนานี้ไว้ หมู่ญาติเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอท่านกรุณาปล่อยภิกษุรูปนี้สักครู่หนึ่ง พอภิกษุรูปนี้ทำอุโบสถเสร็จ ถ้าได้ตามขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ หมู่ญาติเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอท่านกรุณารออยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สักครู่ก่อน พอภิกษุนี้มอบปาริสุทธิเสร็จ ถ้าได้ตามขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ หมู่ญาติเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอท่านกรุณานำภิกษุนี้ไปนอกสีมาสักครู่หนึ่ง พอพระสงฆ์ทำอุโบสถเสร็จ ถ้าได้ตามขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ สงฆ์เป็นวรรค ไม่พึงทำอุโบสถ ถ้าขืนทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่งในวันอุโบสถ พระราชาทั้งหลายได้จับภิกษุในศาสนานี้ไว้ ... พวกโจรได้จับ ... พวกนักเลงได้จับ ... พวกภิกษุที่เป็นข้าศึกได้จับภิกษุในศาสนานี้ไว้ พวกนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอท่านกรุณาปล่อยภิกษุรูปนี้สักครู่หนึ่ง พอภิกษุรูปนี้ทำอุโบสถเสร็จ ถ้าได้ตามขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พวกนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอท่านกรุณารออยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งสักครู่ก่อน พอภิกษุรูปนี้มอบปาริสุทธิเสร็จ ถ้าได้ตามขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พวกนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอท่านกรุณานำภิกษุรูปนี้ไปนอกสีมาสักครู่หนึ่ง พอพระสงฆ์ทำอุโบสถเสร็จ

 
  ข้อความที่ 90  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 466

ถ้าได้ตามขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ สงฆ์เป็นวรรค ไม่พึงทำอุโบสถเลย ถ้าขืนทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ภิกษุวิกลจริต

[๑๘๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงประชุมกัน กรณียกิจของสงฆ์มีอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูป ๑ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ยังมีภิกษุชื่อคัคคะ เป็นผู้วิกลจริต ท่านไม่มา พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุวิกลจริตนี้มี ๒ จำพวกคือ ภิกษุที่วิกลจริตระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกไม่ได้เสียเลยทีเดียวก็มี มาสู่อุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสู่สังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ไม่มาเสียเลยทีเดียวก็มี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุวิกลจริตเหล่านั้น รูปใดที่ยังระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาสู่อุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสู่สังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง เราอนุญาตให้อุมมัตตกสมมติแก่ภิกษุวิกลจริตเห็นปานนั้น.

วิธีให้อุมมัตตกสมมติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงให้อุมมัตตกสมมติอย่างนี้.

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่าดังนี้:-

 
  ข้อความที่ 91  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 467

กรรมวาจาให้อุมมัตตกสมมติ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อคัคคะเป็นผู้วิกลจริตระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาสู่อุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสู่สังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้อุมมัตตกสมมติแก่คัคคะภิกษุผู้วิกลจริต คือ คัคคะภิกษุระลึกอุโบสถได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม ระลึกสังฆกรรมได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม มาสู่อุโบสถก็ตาม ไม่มาก็ตาม มาสู่สังขกรรมก็ตาม ไม่มาก็ตาม สงฆ์พร้อมกับคัคคะภิกษุ หรือเว้นจากคัคคะภิกษุ พึงทำอุโบสถได้ พึงทำสังฆกรรมได้ นี้เป็นญัตติ.

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อคัคคะเป็นผู้วิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาสู่อุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสู่สังฆ์กรรมบ้าง ไม่มาบ้าง สงฆ์ให้อยู่บัดนี้ซึ่งอุมมัตตกสมมติแก่คัคคะภิกษุผู้วิกลจริต คือคัคคะภิกษุระลึกอุโบสถได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม ระลึกสังฆกรรมได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม มาสู่อุโบสถก็ตาม ไม่มาก็ตาม มาสู่สังฆกรรมก็ตาม ไม่มาก็ตาม สงฆ์พร้อมกับคัคคะภิกษุ หรือเว้นจากคัคคะภิกษุ จักทำอุโบสถก็ได้ จักทำสังฆกรรมก็ได้ การให้อุมมัตตกสมมติแก่คัคคะภิกษุผู้วิกลจริต คือ คัคคะภิกษุระลึกอุโบสถได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม ระลึกสังฆกรรมได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม มาสู่อุโบสถก็ตาม ไม่มาก็ตาม มาสู่สังฆกรรมก็ตาม ไม่มาก็ตาม สงฆ์พร้อมกับคัคคะภิกษุ หรือเว้นจากคัคคะภิกษุ จักทำ

 
  ข้อความที่ 92  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 468

อุโบสถก็ได้ จักทำสังฆกรรมก็ได้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

อุมมัตตกสมมติอันสงฆ์ให้แล้ว แก่คัคคะภิกษุผู้วิกลจริต คือ คัคคะภิกษุระลึกอุโบสถได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม ระลึกสังฆกรรมได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม มาสู่อุโบสถถ็ตาม ไม่มาก็ตาม มาสู่สังฆกรรมก็ตาม ไม่มาก็ตาม สงฆ์พร้อมกับคัคคะภิกษุ หรือเว้นจากดัคคะภิกษุ จักทำอุโบสถก็ได้ จักทำสังฆกรรมก็ได้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

อาการทำอุโบสถ ๓ อย่าง

๑. สวดปาติโมกข์

[๑๘๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่งถึงวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป จึงภิกษุเหล่านั้นได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุต้องทำอุโบสถ ดังนี้ ก็พวกเรามีอยู่เพียง ๔ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ? จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป สวดปาติโมกข์.

๒. บอกความบริสุทธิ์

สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่งถึงวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๓ รูป ภิกษุเหล่านั้นจึงได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูปสวดปาติโมกข์ ก็พวกเรามีอยู่เพียง ๓ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ

 
  ข้อความที่ 93  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 469

จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กัน.

วิธีทำปาริสุทธิอุโบสถสำหรับภิกษุ ๓ รูป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงทำปาริสุทธิอุโบสถ อย่างนี้.

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

ญัตติกรรมวาจา

ท่านทั้งหลายเจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า อุโบสถวันนี้ที่ ๑๕ ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว เราทั้งหลายพึงทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กันเถิด

ภิกษุผู้เถระพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วบอกความบริสุทธิ์ของตนต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า:-

คำบอกความบริสุทธิ์

ฉันบริสุทธิ์แล้ว เธอ ขอเธอจำฉันว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ฉันบริสุทธิ์แล้ว เธอ ขอเธอจำฉันว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ฉันบริสุทธิ์แล้ว เธอ ขอเธอจำฉันว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ภิกษุผู้นวกะพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วบอกความบริสุทธิ์ของตนต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า:-

 
  ข้อความที่ 94  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 470

ผมบริสุทธิ์แล้ว ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจำผมว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ผมบริสุทธิ์แล้ว ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจำผมว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ผมบริสุทธิ์แล้ว ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจำผมว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่งถึงวันอุโบสถมีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๒ รูป ภิกษุเหล่านั้นจึงได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูปสวดปาติโมกข์ ให้ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กัน ก็พวกเราเพียง ๒ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ.

วิธีทำปาริสุทธิอุโบสถสำหรับภิกษุ ๒ รูป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงทำปาริสุทธิอุโบสถอย่างนี้:-

ภิกษุผู้เถระพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกะโหย่ง ประคองอัญชลีแล้วบอกความบริสุทธิ์ของตนต่อภิกษุผู้นวกะอย่างนี้ว่า:-

คำบอกความบริสุทธิ์

ฉันบริสุทธิ์แล้ว เธอ ขอเธอจำฉันว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ฉันบริสุทธิ์แล้ว เธอ ขอเธอจำฉันว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ฉันบริสุทธิ์แล้ว เธอ ขอเธอจำฉันว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

 
  ข้อความที่ 95  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 471

ภิกษุผู้นวกะพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประคองอัญชลี แล้วบอกความบริสุทธิ์ของตนต่อภิกษุผู้เถระอย่างนี้ว่า:-

คำบอกความบริสุทธิ์

ผมบริสุทธิ์แล้ว ขอรับ ขอท่านจำผมว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ผมบริสุทธิ์แล้ว ขอรับ ขอท่านจำผมว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ผมบริสุทธิ์แล้ว ขอรับ ขอท่านจำผมว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

๓. อธิษฐาน

สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุรูปเดียว ภิกษุนั้นจึงได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูปสวดปาติโมกข์ ให้ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กัน ให้ภิกษุ ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ ก็เรามีอยู่เพียงรูปเดียว จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุในศาสนานี้อยู่รูปเดียว ภิกษุนั้นพึงกวาดสถานที่เป็นที่ไปมาแห่งภิกษุทั้งหลาย คือจะเป็นโรงฉัน มณฑป หรือโคนต้นไม้ก็ตาม แล้วตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ปูอาสนะ ตามประทีปไว้ แล้วนั่งรออยู่ ถ้ามีภิกษุเหล่าอื่นมา พึงทำอุโบสถร่วมกับพวกเธอ ถ้าไม่มีมา พึงอธิษฐานว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถของเรา ถ้าไม่อธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป จะนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่งมา แล้ว ๓ รูปสวดปาติโมกข์ไม่ได้ ถ้าขืนสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

 
  ข้อความที่ 96  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 472

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๓ รูป จะนำปาริสุทธิของภิกษุรูป ๑ มา แล้ว ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถไม่ได้ ถ้าขืนทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๒ รูป จะนำปาริสุทธิของภิกษุรูป ๑ มา แล้วอีกรูป ๑ จะอธิษฐานไม่ได้ ถ้าขืนอธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ.

อรรถกถาปาริสุทธิและฉันทะ

ข้อว่า กาเยน วิญฺาเปติ มีความว่า ภิกษุผู้อาพาธย่อมให้รู้คือ ย่อมให้ทราบการให้ปาริสุทธิ ด้วยอวัยวะใหญ่น้อยอันใดอันหนึ่งก็แลเมื่ออาจเปล่งวาจา ย่อมให้รู้ด้วยวาจา เมื่ออาจทั้ง ๒ ประการ ย่อมให้รู้ทั้งกายวาจา.

ข้อว่า สงฺเฆน ตตฺถ คนฺตฺวา อุโปสโถ กาตพฺโพ มีความว่า ถ้าภิกษุผู้อาพาธเช่นนั้นมีมาก สงฆ์พึงตั้งอยู่ตามลำดับกระทำภิกษุผู้อาพาธทั้งปวงไว้ในหัตถบาส. ถ้าภิกษุผู้อาพาธมีในระยะไกล สงฆ์ไม่พอ วันนั้นไม่ต้องทำอุโบสถ อันสงฆ์ผู้เป็นวรรค ไม่พึงทำอุโบสถแท้.

ข้อว่า ตตฺเถว ปกฺกมติ มีความว่า ภิกษุผู้นำปาริสุทธิ ไม่มาสู่ท่ามกลางสงฆ์ จะไปในที่บางแห่งจากที่นั้นทีเดียว.

ข้อว่า สามเณโร ปฏิชานาติ มีความว่า ภิกษุผู้นำปาริสุทธิ ปฏิญญาอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเป็นสามเณร หรือบอกข้อที่ตนเป็นสามเณรจริงๆ หรือทั้งอยู่ในภูมิแห่งสามเณรในภายหลัง. ในบททั้งปวง ก็นัยนี้.

 
  ข้อความที่ 97  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 473

ข้อว่า สงฺฆปฺปตฺโต ปกฺกมติ มีความว่า ภิกษุผู้นำปาริสุทธิถึงหัตถบาสของภิกษุ ๔ รูปกำหนดอย่างต่ำที่สุด ผู้ประชุมกันเพื่อประโยชน์แก่อุโบสถแล้ว หลีกไปเสีย. ในบททั้งปวงก็นัยนี้.

ก็แลวินิจฉัยในการนำปาริสุทธินี้ พึงทราบดังนี้:-

ปาริสุทธิของภิกษุผู้มากรูป อันภิกษุรูป ๑ นำมาแล้ว เป็นอันนำมาแล้วแท้. แต่ถ้าภิกษุผู้นำนั้น พบภิกษุอื่นในกลางทาง จึงให้ปาริสุทธิของภิกษุทั้งหลายที่ตนรับมาด้วยปาริสุทธิของตนด้วย ปาริสุทธิของภิกษุผู้นำนั้นเท่านั้น ย่อมมา ส่วนปาริสุทธินอกจากนี้จัดเป็นปาริสุทธิดังโซ่ล่ามแมว ปาริสุทธินั้นย่อมไม่มา.

ข้อว่า สุตฺโต น อาโรเจติ มีความว่า ภิกษุผู้นำปาริสุทธินั้นมาแล้ว หลับเสีย ไม่บอกว่า ปาริสุทธิ อันภิกษุโน้นให้แล้วเจ้าข้า.

วินิจฉัยในข้อว่า ปาริสุทฺธิหารกสฺส อนาปตฺติ นี้ พึงทราบดังนี้:-

ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิ แกล้งไม่บอก เธอต้องทุกกฏ ส่วนปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้วแท้. แต่ไม่เป็นอาบัติแก่เธอ เพราะมิได้แกล้งไม่บอก และอุโบสถของเธอทั้ง ๒ รูป เป็นอันทำแล้วเหมือนกัน.

วินิจฉัยในการให้ฉันทะเล่า ย่อมเป็นเช่นกับวินิจฉัยที่กล่าวแล้วในการให้ปาริสุทธินั่นแล.

วินิจฉัยในข้อว่า ปาริสุทฺธึ เทนฺเตน ฉนฺทมฺปิ ทาตุํ นี้ พึงทราบ ดังนี้:-

หากว่า ภิกษุผู้อาพาธให้ปาริสุทธิเท่านั้น ไม่ให้ฉันทะ อุโบสถย่อมเป็นอันสงฆ์ทำแล้ว แต่สงฆ์ทำกรรมอันใด กรรมอื่นนั้นไม่เป็นอันสงฆ์ได้ทำ. ภิกษุผู้อาพาธให้แต่ฉันทะเท่านั้น ไม่ให้ปาริสุทธิ ทั้งอุโบสถทั้งกรรมของภิกษุ

 
  ข้อความที่ 98  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 474

สงฆ์ เป็นอันสงฆ์ทำแล้วแท้ แต่อุโบสถของภิกษุผู้ให้ฉันทะ ไม่จัดว่าอันเธอได้ทำเลย. ถ้าแม้ภิกษุบางรูปอธิษฐานอุโบสถในแม่น้ำ หรือในสีมาแล้วจึงมา เธอย่อมไม่ได้เพื่อจะอยู่เฉยด้วยคิดว่า เราทำอุโบสถแล้ว ต้องให้สามัคคี หรือฉันทะ.

ข้อว่า สรติปิ อุโปสถํ นปิ สรติ มีความว่า บางคราวก็ระลึกได้ บางคราวก็ระลึกไม่ได้.

ข้อว่า อตฺถิ เนว สรติ มีความว่า ภิกษุบ้ารูปใดระลึกไม่ได้เสียเลยโดยส่วนเดียว กิจที่จะต้องให้สมมติแก่ภิกษุบ้ารูปนั้น ย่อมไม่มี.

หลายบทว่า โส เทโส สมฺมชฺชิตฺวา ได้แก่ พึงกวาดประเทศนั้น.

สองบทว่า โส เทโส เป็นปฐมาวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ.

คำว่า ปานียํ ปริโภชนียํ เป็นอาทิ มีเนื้อความชัดแล้ว. ก็เพราะเหตุไรเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนั้นไว้? เพื่อแสดงกิจมีบุพพกรณ์เป็นต้นแห่งอุโบสถ. เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า:-

การปัดกวาด ตามประทีป ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ พร้อมทั้งปูลาดอาสนะ เหล่านี้ เรียกว่า บุพพกรณ์ของอุโบสถ.

กรรม ๔ อย่างนี้ ท่านเรียกว่า บุพพกรณ์ ด้วยประการฉะนี้.

นำฉันทะ ปาริสุทธิ บอกฤดู นับภิกษุ สอนนางภิกษุณี เหล่านี้ บุพพกิจแห่งอุโบสถ.

กรรม ๕ อย่างนี้ ท่านกล่าวว่า บุพพกิจ เพราะจะต้องทำภายหลังบุพพกรณ์.

วันอุโบสถ ๑ ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าไร ๑ สภาคาบัติไม่มี ๑ บุคคลควรเว้นไม่มีในหัตถบาสสงฆ์นั้น ๑ รวมเรียกว่า ปัตตกัลละ แปลว่า ความพรั่งพร้อมถึงที่.

 
  ข้อความที่ 99  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 475

ลักษณะ ๔ ประการนี้ ท่านเรียกว่า ปัตตกัลละ.

ข้อว่า เตหิ สทฺธึ มีความว่า พึงทำบุพพกรณ์เป็นต้นเหล่านี้แล้วทำอุโบสถกับภิกษุทั้งหลายผู้มาแล้วเหล่านั้น.

วินิจฉัยในข้อว่า อชฺช เม อุโปสโถ นี้ พึงทราบดังนี้:-

ถ้าเป็นวัน ๑๕ ค่ำ จะอธิษฐานว่า อชฺช เม อุโปสโถ ปณฺณรโส แปลว่า วันนี้อุโบสถวัน ๑๕ ค่ำของเรา ดังนี้บ้าง ก็ควร. แม้ในอุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ ก็นัยนี้แล.

คำว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติว่า ภิกษุผู้มีอาบัติติดตัวไม่พึงทำอุโบสถ นี้ บัณฑิตพึงทราบสันนิษฐานว่า ข้อนั้นเป็นอันพระองค์ทรงบัญญัติแล้ว ด้วยคำว่า ยสฺส สิยา อาปตฺติ เป็นอาทิ ๑ ด้วยบัญญัติการให้ปาริสุทธิอุโบสถ ๑.

อรรถกถาปาริสุทธิและฉันทะ จบ

 
  ข้อความที่ 100  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 476

แสดงอาบัติก่อนทำอุโบสถ

[๑๘๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูป ๑ ต้องอาบัติในวันอุโบสถ เธอได้มีความปริวิตกในขณะนั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึงทำอุโบสถ ดังนี้ ก็เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ จึงบอกเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้ต้องอาบัติในวันอุโบสถ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหา ภิกษุรูป ๑ ห่มผ้าอุคราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ผมต้องอาบัติมีชื่อนี้ ผมแสดงคืนอาบัตินั้น.

ภิกษุผู้รับพึงถามว่า ท่านเห็นหรือ?

ภิกษุผู้แสดงพึงตอบว่า ครับ ผมเห็น.

ภิกษุผู้รับพึงบอกว่า ท่านพึงสำรวมต่อไป.

สงสัยในอาบัติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้มีความสงสัยในอาบัติ ในวันอุโบสถภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูป ๑ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ผมมีความสงสัยในอาบัติมีชื่อนี้ จักหมดสงสัยเมื่อใด จักทำคืนอาบัตินั้นเมื่อนั้น ครั้นแล้วพึงทำอุโบสถ ฟังปาติโมกข์แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่อุโบสถ เพราะข้อที่สงสัยนั้นเป็นปัจจัย.

 
  ข้อความที่ 101  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 477

แสดงสภาคาบัติไม่ตก

[๑๘๓] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์แสดงสภาคาบัติ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแสดงสภาคาบัติ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ.

สมัยต่อมา ภิกษุฉัพพัคคีย์รับแสดงสภาคาบัติ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ ตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงรับแสดงสภาคาบัติ รูปใดรับแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ.

ระลึกอาบัติได้เมื่อกำลังสวดปาติโมกข์

[๑๘๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูป ๑ เมื่อกำลังสวดปาติโมกข์ ระลึกอาบัติได้ ภิกษุนั้นจึงได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึงทำอุโบสถ ก็เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ ภิกษุในศาสนานี้ระลึกอาบัติได้ ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียงนี้ว่า อาวุโส ผมต้องอาบัติมีชื่อนี้ ลุกจากที่นี้แล้วจักทำคืนอาบัตินั้น ครั้นแล้วพึงทำอุโบสถฟังปาติโมกข์ แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่อุโบสถ เพราะข้อที่ระลึกอาบัติได้นั้นเป็นปัจจัย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ ภิกษุในศาสนานี้มีความสงสัยในอาบัติ ภิกษุนั้นพึงบอกกะภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ผมมีความสงสัยในอาบัติมีชื่อนี้ จักหมดสงสัยเมื่อใด จักทำคืนอาบัตินั้นเมื่อนั้น

 
  ข้อความที่ 102  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 478

ครั้นแล้วพึงทำอุโบสถฟังปาติโมกข์ แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่อุโบสถ เพราะข้อที่สงสัยนั้นเป็นปัจจัย.

สงฆ์ต้องสภาคาบัติ

[๑๘๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่ง ๑ ถึงวันอุโบสถ สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ จึงภิกษุเหล่านั้นได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุจะแสดงสภาคาบัติไม่ได้ จะรับแสดงสภาคาบัติไม่ได้ ดังนี้ ก็สงฆ์หมู่นี้ล้วนต้องสภาคาบัติแล้ว พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่ง ๑ ถึงวันอุโบสถ สงฆ์ทั้งหมดในศาลนานี้ ต้องสภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูป ๑ ไปสู่อาวาสใกล้เคียง พอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า อาวุโสเธอจงไปทำคืนอาบัตินั้นแล้วมา พวกเราจักทำคืนอาบัติในสำนักเธอ ถ้าได้ภิกษุเช่นนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

ญัตติกรรมวาจา

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้องสภาคาบัติ เห็นภิกษุรูปอื่นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติเมื่อใด จักทำคืนอาบัตินั้นในสำนักเธอเมื่อนั้น ครั้นแล้วพึงทำอุโบสถสวดปาติโมกข์ แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่อุโบสถ เพราะข้อที่ต้องสภาคาบัตินั้นเป็นปัจจัย.

 
  ข้อความที่ 103  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 479

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ สงฆ์ทั้งหมดในศาสนานี้มีความสงสัยในสภาคาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

ญัตติกรรมวาจา

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้มีความสงสัยในสภาคาบัติ หมดความสงสัยเมื่อใด จักทำคืนอาบัตินั้นเมื่อนั้น ครั้นแล้วพึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่อุโบสถ เพราะข้อที่มีความสงสัยนั้นเป็นปัจจัย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สงฆ์ในศาสนานี้จำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง เป็นผู้ต้องสภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นส่งภิกษุรูป ๑ ไปสู่อาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า อาวุโส เธอจงไปทำคืนอาบัตินั้นแล้วมา พวกเราจักทำคืนอาบัตินั้นในสำนักเธอ ถ้าได้ภิกษุเช่นนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้พึงส่งภิกษุรูป ๑ ไปชั่วระยะกาล ๗ วัน ด้วยสั่งว่า อาวุโส เธอจงไปทำคืนอาบัตินั้นแล้วมา พวกเราจักทำคืนอาบัตินั้น ในสำนักเธอ.

[๑๙๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ สงฆ์หมู่นั้นไม่รู้จักชื่อ ไม่รู้จักโคตรของอาบัตินั้น มีภิกษุรูปอื่นมาในอาวาสนั้น เธอเป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา ละอาย รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ภิกษุรูป ๑ เข้าไปหาภิกษุนั้น แล้วได้เรียนถามข้อความนี้กะภิกษุนั้นว่า ภิกษุรูปใด ทำอย่างนี้ด้วย อย่างนี้ด้วย ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่ออะไร ขอรับ.

 
  ข้อความที่ 104  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 480

พระพหูสูตตอบอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้ด้วย อย่างนี้ด้วย ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ขอรับ ท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย.

ภิกษุรูปนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า มิใช่ผมแต่ผู้เดียวที่ต้องอาบัตินี้ ขอรับ สงฆ์หมู่นี้ล้วนต้องอาบัตินี้ทั้งนั้น.

พระพหูสูตกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปอื่นที่ต้องอาบัติแล้ว หรือมิได้ต้อง จักช่วยอะไรท่านได้ ขอรับ นิมนต์ท่านออกจากอาบัติของตนเสียเถิด ขอรับ.

ภิกษุนั้นจึงได้ทำคืนอาบัตินั้นตามคำของพระพหูสูต แล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วได้แจ้งความข้อนี้กะภิกษุเหล่านั้นว่า อาวุโสทั้งหลาย ได้ทราบมาว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้ด้วย อย่างนี้ด้วย ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ พวกท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอรับ จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย แต่ภิกษุเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะทำคืนอาบัตินั้น ตามคำของพระผู้บอก ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่ง ๑ สงฆ์ทั้งหมดในศาสนานี้ต้องสภาคาบัติ สงฆ์หมู่นั้นไม่รู้จักชื่อ ไม่รู้จักโคตรของอาบัตินั้น มีภิกษุรูปอื่นมาในอาวาสนั้น เธอเป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา ละอาย รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ภิกษุรูป ๑ เข้าไปหาภิกษุนั้น แล้วได้เรียนถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้ด้วย อย่างนี้ด้วย ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่ออะไร ขอรับ.

พระพหูสูตตอบอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้ด้วย อย่างนี้ด้วย ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ขอรับ ท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย.

 
  ข้อความที่ 105  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 481

ภิกษุรูปนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า มิใช่ผมแต่ผู้เดียวที่ต้องอาบัตินี้ ขอรับ สงฆ์หมู่นี้ล้วนต้องอาบัตินี้ทั้งนั้น.

พระพหูสูตกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปอื่นที่ต้องอาบัติแล้ว หรือมิได้ต้อง จักช่วยอะไรท่านได้ ขอรับ นิมนต์ท่านออกจากอาบัติของตนเสียเถิด ขอรับ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุนั้นทำคืนอาบัตินั้น ตามคำของพระพหูสูตแล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วบอกภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ได้ทราบมาว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้ด้วย อย่างนี้ด้วย ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ พวกท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอรับ จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย ถ้าภิกษุเหล่านั้นจะพึงทำคืนอาบัตินั้น ตามคำของภิกษุผู้บอก ทำได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าจะไม่พึงทำคืน ภิกษุนั้นไม่ปรารถนา ก็ไม่พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้น.

โจทนาวัตถุภาณวาร จบ

อรรถกถาวิธีแสดงอาบัติ

คำว่า อิตฺถนฺนามํ อาปตฺตึ มีความว่า บรรดาอาบัติมีอาบัติถุลลัจจัยเป็นต้น พึงระบุชื่ออาบัติตัว ๑ กล่าวอย่างนี้ว่า ถุลฺลจฺจยํ อาปตฺตึ, ปาจิตฺติยํ อาปตฺตึ.

คำว่า ตํ ปฏิเทเสมิ นี้ แม้กล่าวว่า ตํ ตุมฺหมูเล ปฏิเทเสมิ ข้าพเจ้าแสดงคืนซึ่งอาบัตินั้น ในสำนักท่าน ดังนี้ ย่อมเป็นอันกล่าวชอบเหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 106  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 482

ส่วนคำว่า ปสฺสสิ นี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ปสฺสสิ อาวุโส ตํ อาปตฺตึ เธอเห็นอาบัตินั้นหรือ? ปสฺสถ ภนฺเต ตํ อาปตฺตึ ท่านเห็นอาบัตินั้นหรือ?

ก็คำว่า อาม ปสฺสามิ นี้ แม้กล่าวอย่างนี้ว่า อาม ภนฺเต ปสฺสามิ ขอรับ ข้าพเจ้าเห็น. อาม อาวุโส ปสฺสามิ เออ ข้าพเจ้าเห็น, ย่อมเป็นอันกล่าวชอบแล้วเหมือนกัน.

ส่วนวินิจฉัยในคำว่า อายตึ สํวเรยฺยาสิ นี้ พึงทราบดังนี้:-

ถ้าภิกษุผู้แสดงแก่กว่า ภิกษุผู้รับอาบัติพึงกล่าวว่า อายตึ สํวเรยฺยาถ ท่านพึงระวังต่อไป.

ฝ่ายผู้แสดงได้รับตอบอย่างนั้นแล้ว พึงกล่าวว่า สา สุฏฺุ สํวริสฺสามิ ดีละ ข้าพเจ้าจักสำรวมด้วยดี ดังนี้ทีเดียว.

วินิจฉัยในข้อว่า ยทา นิพฺเพมติโก นี้ พึงทราบดังนี้

ในอันธกอรรถกถา ท่านแก้ว่า ถ้าเป็นผู้ไม่หมดความสงสัยทีเดียว แม้จะแสดงระบุวัตถุ ก็ควร วิธีแสดงในอาบัติที่สงสัยนั้นดังนี้:-

เมื่อพระอาทิตย์ถูกเมฆบัง ภิกษุฉันพลางมีความสงสัยว่า นี่จะเป็นกาลหรือวิกาลหนอ? ภิกษุนั้นพึงระบุวัตถุอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความสงสัย ฉันแล้ว ถ้ามีกาล ข้าพเจ้าต้องทุกกฏมากหลาย ถ้าไม่มีกาล ข้าพเจ้าต้องปาจิตตีย์มากหลาย ดังนี้แล้ว พึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าต้องอาบัติเหล่าใด เป็นทุกกฏมากหลายก็ดี เป็นปาจิตตีย์มากหลายก็ดีเพราะวัตถุนั้น ข้าพเจ้าแสดงอาบัติเหล่านั้นในสำนักท่าน. ในอาบัติทั้งปวงก็นัยนี้.

วินิจฉัยในข้อว่า น ภิกฺขว สภาคาปตฺติ นี้ พึงทราบดังนี้:-

ภิกษุทั้ง ๒ รูปต้องอาบัติใดด้วยวัตถุรวมกัน มีวิกาลโภชนะเป็นต้น อาบัติเห็นปานนั้น ท่านเรียกว่า วัตถุสภาค ฝ่ายภิกษุผู้ต้องเพราะวิกาลโภชนะเป็นปัจจัย ย่อมควรเพื่อแสดงในสำนักของภิกษุผู้ต้องเพราะอนติริตตโภชนะเป็นปัจจัย.

 
  ข้อความที่ 107  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 483

อันอาบัติที่มีวัตถุร่วมกันนี้เล่า ซึ่งภิกษุแสดงแล้ว เป็นอันแสดงแล้วด้วยดีทีเดียว, แต่เธอทั้ง ๒ ย่อมต้องอาบัติทุกกฏอื่น คือผู้แสดงต้องเพราะเหตุที่แสดง และผู้รับต้องเพราะเหตุที่รับ, อาบัติทุกกฏที่ต้องเพราะแสดงและรับนั้นเป็นอาบัติมีวัตถุต่างกัน, เพราะฉะนั้น สมควรแสดงกะกันและกันได้.

วินิจฉัยในข้อว่า สามนฺโต ภิกฺขู เอวมสฺส วจนีโย นี้พึงทราบ ดังนี้:-

ในอันธกอรรถกถาแก้ว่า พึงบอกภิกษุผู้เป็นสภาคกันเท่านั้น. จริงอยู่ เมื่อบอกแก่ภิกษุผู้เป็นวิสภาคกัน ความบาดหมาง ความทะเลาะและความแตกแห่งสงฆ์เป็นต้น ย่อมมีได้ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรบอกแก่เธอ แต่พึงทำความผูกใจว่า เราออกจากที่นี่แล้วจักทำคืน ดังนี้แล้ว ทำอุโบสถเถิด.

อรรถกถาวินิจฉัยในอนาปัตติปัณณรสกะ พึงทราบดังนี้:-

ข้อว่า เต น ชานึสุ มีความว่า ภิกษุผู้เจ้าถิ่นเหล่านั้นไม่รู้ว่าภิกษุทั้งหลายเข้าสีมาแล้ว หรือไม่รู้ว่ากำลังเข้า.

ข้อว่า อถฺเ อาวาสิกา ภิกฺขู อาคจฺฉนฺติ มีความว่า ภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นไปสู่บ้านหรือป่าด้วยกรณียกิจบางอย่างแล้ว มาสู่สถานที่ภิกษุเหล่านั้นนั่งแล้ว.

ข้อว่า วคฺคา สมคฺคสญฺิโน มีความว่า พวกภิกษุผู้เจ้าถิ่น ชื่อว่า เป็นวรรค เพราะภิกษุเหล่าอื่นนั้นล่วงล้ำสีมาเข้ามา แต่พวกเธอ ชื่อว่า เป็นผู้มีความสำคัญว่า พร้อมเพรียงเพราะไม่ทราบข้อที่ภิกษุเหล่าอื่นนั้นล่วงล้ำสีมาเข้ามา.

อรรถกถาวินิจฉัยในอนาปัตติปัณณรสกะ จบ

 
  ข้อความที่ 108  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 484

ทำอุโบสถไม่ต้องอาบัติ ๑๕ ข้อ

[๑๙๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นมากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มี พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน ได้ทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ เมื่อพวกเธอกำลังสวดปาติโมกข์ ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึงมีจำนวนมากกว่า ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-

๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ เมื่อพวกเธอกำลังสวดปาติโมกข์ ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่าภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถสวดปาติโมกข์ เมื่อพวกเธอกำลังสวดปาติโมกข์ ขณะนั้นมีภิกษุเจ้าถิ่น

 
  ข้อความที่ 109  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 485

พวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงฟังส่วนที่ยังเหลือต่อไป พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นโนศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ เมื่อพวกเธอกำลังสวดปาติโมกข์ ขณะนั้นมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงฟังสวดที่ยังเหลือต่อไป พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่งในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุ ผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๕. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวก

 
  ข้อความที่ 110  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 486

ภิกษุผู้มาทีหลัง พึงบอกปาริสุทธิในสำนักพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๖. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีพวกภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พวกเธอสวดปาติโมกข์จบ ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๗. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มี พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ บริษัทยังไม่ทันลุกไป ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๘. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึง

 
  ข้อความที่ 111  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 487

ทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ บริษัทยังไม่ทันลุกไป ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึงมีจำนวนเท่ากัน.

๙. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ... มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้ว ก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลัง พึงบอกปาริสุทธิในสำนักพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๑๐. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง. ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ บริษัทบางพวกลุกไปแล้ว ขณะนั้นมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้น ต้องสวดปาติโมกข์โหม่ พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๑๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถมีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอภิกษุเหล่านั้นสวดปาติโมกข์จบ บริษัทบางพวกลุกไปแล้ว ขณะนั้นมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ... มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้ว ก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลัง พึงบอกปาริสุทธิในสำนักพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๑๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง

 
  ข้อความที่ 112  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 488

พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ บริษัทลุกไปหมดแล้ว ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

๑๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่ายังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ บริษัทลุกไปหมดแล้ว ขณะนั้นมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๕. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ... มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้ว ก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ไม่ต้องอาบัติ.

ทำอุโบสถไม่ต้องอาบัติ ๑๕ ข้อ จบ

ทำอุโบสถเป็นหมู่สำคัญว่าพร้อมกัน ๑๕ ข้อ

[๑๙๒] ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอรู้อยู่ว่ายังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ เมื่อพวกเธอกำลังสวดปาติโมกข์ ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่น

 
  ข้อความที่ 113  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 489

มาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๒ ... ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึงมีจำนวนเท่ากัน ...

๓ ... มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงฟังส่วนที่เหลือต่อไป พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอรู้อยู่ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวก ภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๕ ... ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

๖ ... มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๗. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอรู้อยู่ว่า ยังมีพวกภิกษุเจ้าถิ่นอื่นที่ยังไม่มา พวกเธอมีความสำคัญว่าเป็นธรรม มีความสำคัญว่าเป็นวินัย เป็นหมู่ มีความสำคัญว่าพร้อมกัน จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ บริษัทยังไม่ทันลุก ไป ... มีจำนวนมากกว่า ...

 
  ข้อความที่ 114  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 490

๘ ... .มีจำนวนเท่ากัน ...

๙ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ...

๑๐ ... บริษัทบางพวกลุกไปแล้ว ... มีจำนวนมากกว่า ...

๑๑ ... .มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๒ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ...

๑๓ ... บริษัทลุกไปหมดแล้ว ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๑๔ ... ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๕ ... มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ทำอุโบสถเป็นหมู่สำคัญว่าพร้อมกัน ๑๕ ข้อ จบ

มีความสงสัยทำอุโบสถ ๑๕ ข้อ

[๑๙๓] ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอรู้อยู่ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา และมีความสงสัยว่า พวกเราควรทำอุโบสถหรือไม่ควรหนอ ดังนี้ แล้วยังขืนทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ เมื่อพวกเธอกำลังสวดปาติโมกข์ ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึงมีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๒ ... ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

 
  ข้อความที่ 115  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 491

๓ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว ภิกษุผู้มาทีหลัง พึงฟังส่วนที่เหลือต่อไป พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอรู้อยู่ว่า มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา และมีความสงสัยว่า พวกเราควรทำอุโบสถหรือไม่ควรหนอ ดังนี้ แล้วยังขืนทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ ขณะนั้นมีภิกษุ ... มีจำนวนมากกว่า ...

๕ ... .มีจำนวนเท่ากัน

๖ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ...

๗ ... บริษัทยังไม่ทันลุกไป ... มีจำนวนมากกว่า ...

๘ ... .มีจำนวนเท่ากัน ...

๙ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ...

๑๐ ... บริษัทบางพวกลุกไปแล้ว ... มีจำนวนมากกว่า ...

๑๑ ... มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๒ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ...

๑๓ ... บริษัทลุกไปหมดแล้ว ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๑๔ ... ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๕ ... มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

มีความสงสัยทำอุโบสถ ๑๕ จบ

 
  ข้อความที่ 116  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 492

ฝืนใจทำอุโบสถ ๑๕ ข้อ

[๑๙๔] ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นมากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอรู้อยู่ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา แต่ฝืนใจทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ ด้วยเข้าใจว่าพวกเราควรทำอุโบสถแท้ มิใช่ไม่ควร เมื่อพวกเธอกำลังสวดปาติโมกข์ ขณะนั้นมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๒ ... ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

๓ ... มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้ว ก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุที่มาทีหลังพึงฟังส่วนที่เหลือต่อไป พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่งในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอรู้อยู่ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มา แต่ฝืนใจทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ ด้วยเข้าใจว่า พวกเราควรทำอุโบสถแท้ มิใช่ไม่ควร พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ ขณะนั้นมีภิกษุ ... มีจำนวนมากกว่า ...

๕ ... .มีจำนวนเท่ากัน ... .

๖ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ...

๗ ... บริษัทยังไม่ทันลุกไป ... มีจำนวนมากกว่า.

๘ ... .มีจำนวนเท่ากัน ...

๙ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ...

๑๐ ... บริษัทบางพวกลุกไปแล้ว ... มีจำนวนมากกว่า ...

 
  ข้อความที่ 117  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 493

๑๑ ... มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๒ ... มีจำนวนน้อยกว่า ...

๑๓ ... บริษัทลุกไปหมดแล้ว ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

๑๔ ... ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๕ ... จำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้วก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลัง พึงบอกปาริสุทธิในสำนักของพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ฝืนใจทำอุโบสถ ๑๕ ข้อ จบ

มุ่งความแตกร้าวทำอุโบสถ ๑๕ ข้อ

[๑๙๕] ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอรู้อยู่ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มาและมุ่งความแตกร้าวว่า ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ ขอภิกษุเหล่านั้นจงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ เมื่อพวกเธอกำลังสวดปาติโมกข์ ขณะนั้นมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติถุลลัจจัย.

๒ ... ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

๓ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้ว ก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุที่มาทีหลัง พึงฟังส่วนที่เหลือต่อไป พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติถุลลัจจัย.

 
  ข้อความที่ 118  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 494

๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอรู้อยู่ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่ยังไม่มาและมุ่งความแตกร้าวว่า ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ ขอภิกษุเหล่านั้นจงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ จึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พอพวกเธอสวดปาติโมกข์จบ ขณะนั้น มีภิกษุ ... มีจำนวนมากกว่า ...

๕ ... .มีจำนวนเท่ากัน ...

๖ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ...

๗ ... บริษัทยังไม่ทันลุกไป ... มีจำนวนมากกว่า ...

๘ ... มีจำนวนเท่ากัน ...

๙ ... มีจำนวนน้อยกว่า ...

๑๐ ... บริษัทบางพวกลุกไปแล้ว ... มีจำนวนมากกว่า ...

๑๑ ... .มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๒ ... .มีจำนวนน้อยกว่ากัน ...

๑๓ ... บริษัทลุกไปหมดแล้ว ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องสวดปาติโมกข์ใหม่ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติถุลลัจจัย.

๑๔ ... ขณะนั้น มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ...

๑๕ ... .มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่สวดแล้ว ก็เป็นอันสวดดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลัง พึงบอกปาริสุทธิในสำนักของพวกเธอ พวกภิกษุผู้สวด ต้องอาบัติถุลลัจจัย.

มุ่งความแตกร้าวทำอุโบสถ ๑๕ ข้อ จบ

การทำอุโบสถ ๒๕ ติกะ จบ

 
  ข้อความที่ 119  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 495

เปยยาลมุข ๗๐๐ ติกะ

[๑๙๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง พวกเธอไม่รู้ว่า ยังมีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นกำลังเข้ามาภายในสีมา ...

... พวกเธอไม่รู้ว่า มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นเข้ามาภายในสีมาแล้ว ...

... พวกเธอไม่เห็นภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่กำลังเข้ามาภายในสีมา ...

... พวกเธอไม่เห็นภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นที่เข้ามาภายในสีมาแล้ว ...

... พวกเธอไม่ได้ยินว่า มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นกำลังเข้ามาภายในสีมา ...

... พวกเธอไม่ได้ยินว่า มีภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นเข้ามาภายในสีมาแล้ว ...

โดยนัย ๑๗๑ ติกะ ภิกษุเจ้าถิ่นกับภิกษุเจ้าถิ่น ภิกษุอาคันตุกะกับภิกษุเจ้าถิ่น ภิกษุเจ้าถิ่นกับภิกษุอาคันตุกะ ภิกษุอาคันตุกะกับภิกษุอาคันตุกะ รวม เป็น ๗๐๐ ติกะ โดยเปยยาลมุข.

วันอุโบสถต่างกัน

[๑๙๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็วันอุโบสถของพวกภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ เป็นวัน ๑๔ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะ เป็นวัน ๑๕ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุเจ้าถิ่นมีจำนวนมากกว่าพวกภิกษุอาคันตุกะ พึงอนุวัตตามพวกภิกษุเจ้าถิ่น ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุอาคันตุกะพึงอนุวัตตามพวกภิกษุเจ้าถิ่น ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะมีจำนวนมากกว่าพวกภิกษุเจ้าถิ่น พึงอนุวัตตามพวกภิกษุอาคันตุกะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง วันอุโบสถของพวกภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ เป็นวัน ๑๕ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะ เป็นวัน ๑๔ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุเจ้า

 
  ข้อความที่ 120  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 496

ถิ่นจำนวนมากกว่าพวกภิกษุอาคันตุกะ พึงอนุวัตตามพวกภิกษุเจ้าถิ่น ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุอาคันตุกะพึงอนุวัตตามพวกภิกษุเจ้าถิ่น ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะมีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุเจ้าถิ่นพึงอนุวัตตามพวกภิกษุอาคันตุกะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง วันอุโบสถของพวกภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ เป็นวัน ๑ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะ เป็นวัน ๑๕ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุเจ้าถิ่นมีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุเจ้าถิ่นไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องให้ความสามัคคีแก่พวกภิกษุอาคันตุกะ พวกภิกษุอาคันตุกะพึงไปนอกสีมา แล้วทำอุโบสถเถิด ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุเจ้าถิ่นไม่ปรารถนา ก็ไม่ต้องให้ความสามัคคีแก่พวกภิกษุอาคันตุกะ พวกภิกษุอาคันตุกะพึงไปนอกสีมา แล้วทำอุโบสถเถิด ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะมีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุเจ้าถิ่นพึงให้ความสามัคคีแก่พวกภิกษุอาคันตุคันกะ หรือพึงไปนอกสีมา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง วันอุโบสถของภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ เป็น วัน ๑๕ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะเป็นวัน ๑ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุเจ้าถิ่นมีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะพึงให้ความสามัคคีแก่พวกภิกษุเจ้าถิ่น หรือไปนอกสีมา ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุอาคันตุกะพึงให้ความสามัคคีแก่พวกภิกษุเจ้าถิ่น หรือพึงไปนอกสีมา ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะมีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะไม่ปรารถนา ก็ไม่ต้องให้ความสามัคคีแก่พวกภิกษุเจ้าถิ่น พวกภิกษุเจ้าถิ่นพึงไปนอกสีมา แล้วทำอุโบสถเถิด.

มุ่งความแตกร้าว

[๑๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พวกภิกษุอาคันตุกะในพระศาสนานี้ ได้เห็นอาการเจ้าถิ่น ลักษณะเจ้าถิ่น เครื่องหมายเจ้าถิ่น สิ่งที่แสดงเจ้าถิ่น ของภิกษุเจ้าถิ่น เตียง ตั่ง ฟูก หมอน ปูลาด จัดให้เรียบร้อย น้ำฉัน น้ำใช้

 
  ข้อความที่ 121  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 497

แต่งตั้งไว้เป็นระเบียบ บริเวณกวาดสะอาดสะอ้าน ครั้นแล้วมีความสงสัยว่า พวกภิกษุเจ้าถิ่นยังมีหรือไม่มีหนอ พวกเธอมีความสงสัยแต่ไม่เที่ยวค้นหา ครั้นแล้วขืนทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหาแล้ว แต่ไม่พบจึงทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหาแล้วพบ จึงทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหาแล้วพบ ครั้นแล้วแยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหาแล้วพบ ครั้นแล้วมุ่งความแตกร้าวว่า ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ ขอภิกษุเหล่านั้นจงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ จึงทำอุโบสถ ต้องอาบัติถุลลัจจัย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุอาคันตุกะในศาสนานี้ ได้ยินอาการเจ้าถิ่น ลักษณะเจ้าถิ่น เครื่องหมายเจ้าถิ่น สิ่งที่แสดงเจ้าถิ่น ของพวกภิกษุเจ้าถิ่น ได้ยินเสียงเท้าของพระภิกษุเจ้าถิ่นกำลังเดินจงกรม ได้ยินเสียงสาธยาย เสียงไอ เสียงจาม ครั้นแล้ว มีความสงสัยว่า พวกภิกษุเจ้าถิ่นยังมี หรือไม่มีหนอ พวกเธอมีความสงสัย แต่ไม่ค้นหา ครั้นแล้วขืนทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ, พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วไม่พบ ครั้นแล้ว จึงทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วจึงพบ ครั้นพบแล้วจึงทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วจึงพบ ครั้นพบแล้ว จึงแยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วจึงพบ ครั้นพบแล้วมุ่งความแตกร้าวว่า ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ ขอภิกษุเหล่านั้นจงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยภิกษุเหล่านั้น. ดังนี้ จึงทำอุโบสถ ต้องอาบัติถุลลัจจัย.

 
  ข้อความที่ 122  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 498

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ได้เห็นอาการอาคันตุกะ ลักษณะอาคันตุกะ เครื่องหมายอาคันตุกะ สิ่งที่แสดงอาคันตุกะของภิกษุอาคันตุกะ ได้เห็นบาตร จีวร ผ้านิสีทนะ อันเป็นของภิกษุพวกอื่น ได้เห็นรอยน้ำล้างเท้า ครั้นแล้วมีความสงสัยว่า พวกภิกษุอาคันตุกะยังมีหรือไม่มีหนอ พวกเธอมีความสงสัย แต่ไม่ค้นหา ครั้นแล้วขืนทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วไม่พบ ครั้นแล้วทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วจึงพบ ครั้นพบแล้วจึงทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วจึงพบ ครั้นพบแล้วได้แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วจึงพบ ครั้นพบแล้วมุ่งความแตกร้าวว่า ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ ขอภิกษุเหล่านั้นจงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ จึงทำอุโบสถ ต้องอาบัติถุลลัจจัย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ ได้ยินอาการอาคันตุกะ ลักษณะอาคันตุกะ เครื่องหมายอาคันตุกะ สิ่งที่แสดงอาคันตุกะของพวกภิกษุอาคันตุกะ ได้ยินเสียงเท้าของพวกภิกษุอาคันตุกะกำลังเดินมา ได้ยินเสียงรองเท้ากระทบพื้น ได้ยินเสียงไอ เสียงจาม ครั้นแล้ว มีความสงสัยว่าพวกภิกษุอาคันตุกะยังมีหรือไม่มีหนอ พวกเธอมีความสงสัยแต่ไม่ค้นหา ครั้นแล้วขืนทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วไม่พบ ครั้นแล้วจึงทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วจึงพบ ครั้นพบแล้วจึงได้ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหาแล้วจึงพบ ครั้นพบแล้วแยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอมีความสงสัยได้ค้นหา ครั้นค้นหา

 
  ข้อความที่ 123  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 499

แล้วจึงพบ ครั้นพบแล้วมุ่งความแตกร้าวว่า ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ ขอภิกษุเหล่านั้นจงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ จึงทำอุโบสถ ต้องอาบัติถุลลัจจัย.

ภิกษุนานาสังวาสและสมานสังวาส

[๑๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พวกภิกษุอาคันตุกะในศาสนานี้ได้เห็นภิกษุเจ้าถิ่นสังวาสต่างกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสเสมอกัน ครั้นแล้วก็ไม่ไต่ถามจึงทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุอาคันตุกะในศาสนานี้ ได้เห็นพวกภิกษุเจ้าถิ่นมีสังวาสเสมอกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสต่างกัน ครั้นแล้วก็ไม่ไต่ถาม ทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ ได้เห็นพวกภิกษุอาคันตุกะมีสังวาสต่างกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสเสมอกัน ครั้นแล้วก็ไม่ไต่ถามจึงทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ ได้เห็นพวกภิกษุอาคันตุกะมีสังวาสเสมอกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสต่างกัน

 
  ข้อความที่ 124  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 500

ครั้นแล้วก็ไม่ไต่ถาม ทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ.

ไม่ควรไปไหนในวันอุโบสถ

[๒๐๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากอาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสที่มีภิกษุไม่ครบจำนวน เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากอาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน สู่ถิ่นที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุไม่ครบจำนวน เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากอาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุไม่ครบจำนวน เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากถิ่นที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสที่มีภิกษุไม่ครบจำนวน.

... สู่ถิ่นที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุไม่ครบจำนวน เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

... สู่อาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุไม่ครบจำนวน เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากอาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสที่มีภิกษุไม่ครบจำนวน ...

 
  ข้อความที่ 125  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 501

... สู่ถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุไม่ครบจำนวน ...

... สู่อาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุไม่ครบจำนวน เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากอาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้มีสังวาสต่างกัน เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากอาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน สู่ถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน อันเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้มีสังวาสต่างกัน เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากอาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาส หรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน อันเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้มีสังวาสต่างกัน เว้นแต่ไปกับสงม์ เว้นแต่มีอันตราย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน ...

... สู่ถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน ...

... สู่อาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน อันเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้มีสังวาสต่างกัน เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ ไม่พึงไปจากอาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน ...

... สู่ถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน ...

... สู่อาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน อันเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้มีสังวาสต่างกัน เว้นไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย.

 
  ข้อความที่ 126  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 502

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ พึงไปจากอาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสซึ่งมีภิกษุครบจำนวน อันเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุที่มีสังวาสเสมอกัน ที่รู้ว่า เราสามารถจะไปถึงในวันนี้ทีเดียว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ พึงไปจากอาวาสที่มีภิกษุครบจำนวนสู่ถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน.

... สู่อาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน อันเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน ที่รู้ว่า เราสามารถจะไปถึงในวันนี้ทีเดียว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ พึงไปจากถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน ...

... สู่ถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน ...

... สู่อาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน อันเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุที่มีสังวาสเสมอกัน ที่รู้ว่า เราสามารถจะไปถึงในวันนี้ทีเดียว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อถึงวันอุโบสถ พึงไปจากอาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน สู่อาวาสที่มีภิกษุครบจำนวน.

... สู่ถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน.

... สู่อาวาสหรือถิ่นที่มิใช่อาวาส ซึ่งมีภิกษุครบจำนวน อันเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน ที่รู้ว่า เราสามารถจะไปถึงในวันนี้ทีเดียว.

วัชชนียบุคคล ในอุโบสถ

[๒๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่ภิกษุณีนั่งอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีสิกขมานานั่งอยู่ด้วย ...

 
  ข้อความที่ 127  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 503

... ที่สามเณรนั่งอยู่ด้วย ...

... ที่สามเณรีนั่งอยู่ด้วย ...

... ที่ภิกษุผู้บอกลาสิกขานั่งอยู่ด้วย ...

ไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่ภิกษุผู้ต้องอันติมวัตถุนั่งอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ไม่พึงสวดปาติโมกข์ ในบริษัทที่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัตินั่งอยู่ด้วย รูปใดสวด พึงปรับอาบัติตามธรรม.

... ในบริษัทที่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่กระทำคืนอาบัตินั่งอยู่ด้วย ...

ไม่พึงสวดปาติโมกข์ ในบริษัทที่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่สละคืนทิฏฐิอันลามกนั่งอยู่ด้วย รูปใดสวด พึงปรับอาบัติตามธรรม.

ไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่บัณเฑาะก์นั่งอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่คนลักเพศนั่งอยู่ด้วย ...

... ที่ภิกษุเข้ารีตเดียรถีย์นั่งอยู่ด้วย ...

... ที่คนคล้ายสัตว์ดิรัจฉานนั่งอยู่ด้วย ...

... ที่คนฆ่ามารดานั่งอยู่ด้วย ...

... ที่คนฆ่าบิดานั่งอยู่ด้วย ...

... ที่คนฆ่าพระอรหันต์นั่งอยู่ด้วย ...

... ที่คนประทุษร้ายภิกษุณีนั่งอยู่ด้วย ...

... ที่ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั่งอยู่ด้วย ...

... ที่คนผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิตนั่งอยู่ด้วย ...

 
  ข้อความที่ 128  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 504

ไม่พึงสวดปาติโมกข์ ในบริษัทที่อุภโตพยัญชนกนั่งอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

[๒๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงทำอุโบสถ ด้วยการให้ปาริสุทธิค้างคราว เว้นแต่บริษัทยังไม่ลุกไป.

[๒๐๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ไม่พึงทำอุโบสถ ในกาลมิใช่วันอุโบสถ เว้นแต่วันสังฆสามัคดี.

อุโบสถขันธกะ จบ ภาณวารที่ ๓ จบ

เรื่องในขันกะนี้มี ๘๖ เรื่อง

หัวข้อประจำขันธกะ

[๒๐๔] ๑. เรื่องพวกเดียรถีย์ ๒. เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร ๓. เรื่องประชุมกันนั่งนิ่ง ๔. เรื่องประชุมกล่าวธรรม ๕. เรื่องประทับในที่สงัด ๖. เรื่องสวดปาติโมกข์ครั้งนั้นทุกวัน ๗. เรื่องทรงอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ปักษ์ละครั้ง ๘. เรื่องสวดปาติโมกข์ในบริษัทเท่าที่มีอยู่ ๙. เรื่องสวดปาติโมกข์แก่ภิกษุผู้พร้อมเพรียงกัน ๑๐. เรื่องทรงอนุญาตสามัคคี ๑๑. เรื่องมัททกุจฉิมฤคทายวัน ๑๒. เรื่องสมมติสีมา ๑๓. เรื่องสมมติสีมาใหญ่เกินขนาด ๑๔. เรื่องสมมติทีปารสีมา ๑๕. เรื่องสวดปาติโมกข์ที่อนุบริเวณ ๑๖. เรื่องสมมติโรงอุโบสถ ๒ โรง ๑๗. เรื่องสมมติโรงอุโบสถเล็กเกินขนาด ๑๘. เรื่องพวกนวกภิกษุ ๑๙. เรื่องพระนครราชคฤห์ ๒๐. เรื่องสมมติสีมาให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ๒๑. เรื่องสมมติสมานสังวาสสีมาก่อน ๒๒. เรื่องถอนสมานสังวาสสีมาทีหลัง ๒๓. เรื่องคามสีมาที่ไม่ได้สมมติ

 
  ข้อความที่ 129  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 505

๒๔. เรี่องอุทกุกเขปในแม่น้ำ ๒๕. เรื่องอุทกุกเขปในสมุทร ๒๖. เรื่องอุทกุกเขปในชาตสระ ๒๗. เรื่องสีมาคาบเกี่ยว ๒๘. เรื่องสมมติสีมาทับสีมา ๒๙. เรื่องวันอุโบสถมีเท่าไร ๓๐. เรื่องอาการที่ทำอุโบสถมีเท่าไร ๓๑. เรื่องปาติโมกขุทเทสมีเท่าไร ๓๒. เรื่องคนชาวดงมาพลุกพล่าน ๓๓. เรื่องไม่มีอันตราย ๓๔. เรื่องแสดงธรรม ๓๕. เรื่องถามวินัย ๓๖. เรื่องกล่าวคุกคาม ๓๗. เรื่องวิสัชนาวินัย ๓๘. เรื่องกล่าวคุกคามอีกเรื่องหนึ่ง ๓๙. เรื่องโจทด้วยอาบัติ ๔๐. เรื่องทำโอกาส ๔๑. เรื่องค้านกรรมที่ไม่เป็นธรรม ๔๒. เรื่องภิกษุ ๔ - ๕ รูปทำความเห็นแย้ง ๔๓. เรื่องแกล้งสวดปาติโมกข์ไม่ให้ได้ยิน ๔๔. เรื่องทรงอนุญาตให้พยายามสวด ๔๕. เรื่องสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย ๔๖. เรื่องไม่ได้รับอาราธนาสวดปาติโมกข์ ๔๗. เรื่องภิกษุไม่รู้ในโจทนาวัตถุนคร ๔๘. เรื่องภิกษุมากรูปด้วยกันไม่รู้จักอุโบสถเป็นต้น ๔๙. เรื่องส่งไปพอจะกลับมาทันในวันนั้น ๕๐. เรื่องไม่ยอมไป ๕๑. เรื่องดิถีที่เท่าไรแห่งปักษ์ ๕๒. เรื่องภิกษุมีเท่าไร ๕๓. เรื่องไปบิณฑบาตบ้านไกลทรงอนุญาตให้บอก ๕๔. เรื่องระลึกไม่ได้ ๕๕. เรื่องโรงอุโบสถรก ๕๖. เรื่องอาสนะและประทีป ๕๗. เรื่องภิกษุไปสู่ทิศ ๕๘. เรื่องภิกษุรูปอื่นเป็นพหูสูต ๕๙. เรื่องส่งภิกษุไปพอจะกลับมาทันในวันนั้น ๖๐. เรื่องจำพรรษา ๖๑. เรื่องทำอุโบสถ ๖๒. เรื่องให้ปาริสุทธิ ๖๓. เรื่องทำกรรม ๖๔. เรื่องพวกญาติ ๖๕. เรื่องภิกษุชื่อคัคคะ. ๖๖. เรื่องภิกษุ ๕ รูป ๓ รูป ๒ รูป และรูปเดียว ๖๗. เรื่องต้องอาบัติ ๖๘. เรื่องแสดงสภาคาบัติ ๖๙่. เรื่องภิกษุรูป ๑ ระลึกอาบัติได้ ๗๐. เรื่องสงฆ์ทั้งหมด ต้องสภาคาบัติและสงสัย ๗๑. เรื่องไม่รู้ชื่อและโคตรอาบัติ ๗๒. เรื่องภิกษุพหูสูต ๗๓. เรื่องภิกษุมามากกว่า มาเท่ากัน และมาน้อยกว่า ๗๔. เรื่อง

 
  ข้อความที่ 130  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 506

บริษัทยังไม่ทันลุกไปและบางพวกลุกไปแล้ว ๗๕. เรื่องบริษัทลุกไปหมดแล้ว ๗๖. เรื่องภิกษุรู้ ๗๗. เรื่องภิกษุสงสัย ๗๘. เรื่องภิกษุฝืนใจทำด้วยเข้าใจว่าควร ๗๙. เรื่องภิกษุรู้ ได้เห็นและได้ยิน ๘๐. เรื่องภิกษุอาคันตุกะกับภิกษุเจ้าถิ่น ๘๑. เรื่องวันจาตุททสี วันปัณณรสี ๘๒. เรื่องวันปาฏิบทกับวันปัณณรสี ๘๓. เรื่องลิงค์ ๘๔. เรื่องสังวาส ๘๕. เรื่องให้ปาริสุทธิค้างคราว ๘๖. เรื่องทำอุโบสถในกาลมิใช่วันอุโบสถ นอกจากวันสังฆสามัคคี.

อุทานที่จำแนกแล้วเหล่านี้ เป็นหัวข้อบอกเรื่อง.

หัวข้อประจำขันธกะ จบ

อรรถกถาในวัคคาสมัคคสัญญิโนปัณณรสกาทิกถา

วินิจฉัยในวัคคาสมัคคสัญญิโนปัณณรสกะ พึงทราบดังนี้:-

ข้อว่า เต ชานนฺติ มีความว่า พวกภิกษุผู้เจ้าถิ่น สถิตอยู่บนภูเขา หรือบนบก เห็นภิกษุเหล่าอื่นล่วงล้ำสีมาเข้ามาแล้ว หรือกำลังล่วงล้ำเข้ามา แต่พวกเธอผู้มีความสำคัญว่า พร้อมเพรียงเพราะไม่รู้ หรือเพราะสำคัญว่า จักเป็นผู้มากันแล้ว. เวมติกปัณณรสกะ มีอรรถตื้นทั้งนั้น.

วินิจฉัยในกุกกุจจปกตปัณณรสกะ พึงทราบดังนี้:-

บุคคลผู้ถูกความอยากครอบงำแล้ว ท่านกล่าวว่า ผู้อันความอยากตรึงไว้แล้ว ฉันใด ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น แม้ทำความสันนิษฐานในชั้นต้นแล้ว ยังถูกความรังเกียจกล่าวคือ ความเป็นผู้มีความสำคัญในการไม่ควรว่าเป็นการควร ครอบงำ ในขณะกระทำ พึงทราบว่า ผู้อันความรังเกียจตรึงไว้แล้ว ฉันนั้น.

 
  ข้อความที่ 131  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 507

ในเภทปุเรกขารปัณณรสกะ ท่านปรับถุลลัจจัย เพราะเหตุที่อกุศลจิตแรงกล้า.

ใน อาวาสิเกนะ อาคันตุกเปยยาละ พึงทราบคำเป็นต้นว่า เต น ชานนฺติ อตฺถญฺเ อาคนฺตุกา เหมือนคำที่ได้กล่าวแล้วใน อาวาสิเกนะ อาวาสิกเปยยาละ อันมีมาก่อนว่า เต น ชานนฺติ อตฺถญฺเ อาวาสิกา เป็นอาทิ.

ส่วนใน อาคันตุเกนะ อาวาสิกเปยยาละ พึงเติมคำว่า อาคนฺตุกา ภิกฺขู สนฺนิปตนฺติ เหมือนคำที่มาใน ปุริมเปยยาละ ว่า อาวาสิกา ภิกฺขู สนฺนิปตนฺติ แต่ใน อาคันตุเกนะ อาคันตุกเปยยาละ พึงประกอบด้วยอำนาจภิกษุอาคันตุกะ ในบททั้ง ๒ ฉะนี้แล.

วินิจฉัย ในข้อว่า อาวาสิกานํ ภิกฺขูนํ จาตุทฺทโส โหติ, อาคนฺตุกานํ ปณฺณรโส นี้ พึงทราบดังนี้:-

อุโบสถของอาคันตุกะเหล่าใด เป็นวัน ๑๕ ค่ำ พึงทราบว่า อาคันตุกะเหล่านั้นมาแล้วจากนอกแว่นแคว้น หรือได้ทำอุโบสถที่ล่วงไปแล้วเป็นวัน ๑๔ ค่ำ.

ข้อว่า อาวาสิกานํ อนุวตฺติตพฺพํ มีความว่า เมื่อพวกภิกษุผู้เจ้าถิ่นทำบุพกิจอยู่ว่า อชฺชุโปสโถ จาตุทฺทโส อุโบสถวันนี้ ๑๔ ค่ำ พวกภิกษุอาคันตุกะพึงคล้อยตาม คือ ไม่พึงคัดค้าน.

ข้อว่า นากามา ทาตพฺพา มีความว่า สามัคคี อันพวกภิกษุผู้เจ้าถิ่น ไม่พึงให้แก่พวกภิกษุอาคันตุกะ ด้วยความไม่เต็มใจ.

บทว่า อาวาสิกาการํ ได้แก่ อาการ อธิบายว่า อาจาระของภิกษุผู้เจ้าถิ่น. ในบททั้งปวงก็นัยนี้.

 
  ข้อความที่ 132  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 508

สภาพเป็นเครื่องจับอาจารสัณาน ของภิกษุผู้เจ้าถิ่นเหล่านั้นว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรหรือไม่? ชื่อว่า อาการ.

ธรรมชาติซึ่งส่อ (๑) ภิกษุผู้เจ้าถิ่นเหล่านั้น ผู้เร้นอยู่ในที่นั้นๆ อธิบายว่า ซึ่งให้รู้ได้ แม้มองไม่เห็น. ชื่อว่า ลิงค์.

ธรรมชาติเป็นที่เห็นแล้วรู้ซึ่งภิกษุผู้เจ้าถิ่นเหล่านั้นว่า มี ชื่อว่า นิมิต.

สภาพเป็นเครื่องใช้ ภิกษุผู้เจ้าถิ่นเหล่านั้นว่า เป็นผู้มีบริขารเช่นนี้ อธิบายว่า เป็นเหตุได้ข้ออ้างเช่นนั้น ชื่อว่า อุทเทส.

คำว่าอาการนั้นเป็นต้นทั้งหมด เป็นชื่อของเสนาสนบริขารต่างๆ มีเตียงและตั่งที่จัดตั้งไว้เป็นอันดีเป็นต้น และเป็นชื่อของเสียงฝีเท้าเป็นต้น ก็แลคำว่า อาการเป็นต้นนั้น พึงประกอบตามที่ควรประกอบ แม้ในอาการของภิกษุอาคันตุกะเป็นต้น ก็นัยนี้แล.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺาตกํ ได้แก่ เป็นของๆ ภิกษุเหล่าอื่น.

สามบทว่า ปาทานํ โธตํ อุทกนิสฺเสกํ ได้แก่ สถานที่รดน้ำแห่งเท้าทั้งหลายที่ล้างแล้ว. เอกพจน์ในบทว่า โธตํ พึงทราบในอรรถแห่งพหูพจน์.

อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า ปาทานํ โธตอุทกนิสฺเสกํ. ความว่า สถานเป็นที่รดน้ำสำหรับล้างเท้าทั้งหลาย.

วินิจฉัยในนานาสังวาสกาทิวัตถุ พึงทราบดังนั้น:-

บทว่า สมานสํวาสกทิฎฺึ ได้แก่ ความเห็นว่า ภิกษุผู้เจ้าถิ่นเหล่านั้น มีสังวาสเสมอกัน.

บทว่า น ปุจฺฉนฺติ ได้แก่ ไม่ถามถึงลัทธิของภิกษุผู้เจ้าถิ่นเหล่านั้น คือ ไม่ถามก่อน ทำวัตรและวัตรอาศัย คือวัตรใหญ่น้อยแล้ว ทำอุโบสถร่วมกัน.


๑. ฎีกาและโยชนา แก้ คมยติ ว่า โพเธติ โดยนัยนี้ก็แปลว่า ธรรมชาติซึ่งให้รู้ ...

 
  ข้อความที่ 133  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 509

บทว่า นาภิวิตรนฺติ ได้แก่ ไม่สามารถจะย่ำยี คือ ปราบปรามข้อที่เป็นนานาสังวาสกันได้ อธิบายว่า ให้ภิกษุผู้เข้าถิ่นเหล่านั้นสละทิฏฐินั้นไม่ได้.

ข้อว่า สภิกฺขุกา อาวาสา มีความว่า ภิกษุทั้งหลายผู้ทำอุโบสถมีอยู่ในอาวาสใด ภิกษุไม่อาจออกจากอาวาสนั้นไปสู่อาวาสใดในวันนั้นเทียว อาวาสนั้นยังไม่ได้ทำอุโบสถ ไม่ควรไป.

สองบทว่า อญฺตฺร สงฺเฆน ได้แก่ เว้นจากภิกษุทั้งหลายซึ่งครบจำนวนเป็นสงฆ์.

สองบทว่า อญฺตฺร อนฺตรายา ได้แก่ เว้นอันตราย ๑๐ อย่าง ที่กล่าวแล้วในหนหลังเสีย. แต่ว่าเมื่อมีอันตราย ก็ควรจะไปกับสงฆ์. มีตนเป็นที่ ๔ หรือมีตนเป็นที่ ๕ โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด.

ประเทศแห่งใดแห่งหนึ่ง มีศาลานวกรรมเป็นต้น ชื่ออนาวาส. เหมือนอย่างว่า อาวาสเป็นต้นภิกษุไม่ควรไป ฉันใด ถ้าภิกษุทั้งหลายทำอุโบสถกัน ในวัดสีมาก็ดี แม่น้ำก็ดี อันภิกษุไม่ควรไปเพื่ออธิษฐานอุโบสถ ก็ฉันนั้น แต่ถ้ามีภิกษุบางรูปอยู่ที่สีมาและแม่น้ำนี้ไซร้ จะไปสู่สำนักภิกษุนั้น ควรอยู่. จะไปเสียจากอาวาส แม้ที่เลิกอุโบสถเสียแล้ว ควรอยู่. ภิกษุผู้ใดไปแล้วอย่างนั้น ย่อมได้แม้เพื่ออธิษฐาน อันภิกษุแม้ผู้อยู่ป่า ในวันอุโบสถ เที่ยวบิณฑ บาตในบ้านแล้ว ต้องกลับไปวัดของตนเท่านั้น. ถ้าเข้าไปสู่วัดอื่น ต้องทำอุโบสถในวัดนั้นก่อน จึงค่อยไป ไม่ทำก่อนแล้วไปเสีย ไม่ควร.

ข้อว่า ยํ ชญฺา สกฺโกมิ อชฺเชว คนฺตุํ มีความว่า ภิกษุพึงทราบซึ่งอาวาสใดว่า เราสามารถไปที่นั่นได้ในวันนี้ทีเดียว อาวาสเห็นปานนั้น ควรไป. จริงอยู่ ภิกษุนี้แม้ทำอุโบสถกับภิกษุทั้งหลายในอาวาสนั้น จักเป็นผู้ไม่ทำอันตรายแก่อุโบสถเลยทีเดียว ฉะนี้แล.

 
  ข้อความที่ 134  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 มี.ค. 2565

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 510

การเข้าสู่หัตถบาสเท่านั้น เป็นประมาณ ในข้อว่า ภิกฺขุนิยา นิสินฺนปริสาย เป็นอาทิ.

ข้อว่า อญฺตฺร อวุฏฺิตาย ปริสาย มีความว่า จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า การให้ปาริวาสิยปาริสุทธิ ปาริสุทธิที่แรมวัน นี้ย่อมไม่ควร จำเดิมแต่การที่บริษัทลุกออกไป แต่เมื่อบริษัทยังไม่ลุกออกไป ย่อมควร เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เว้นแต่บริษัทยังไม่ลุกออกไป. ลักษณะแห่งปาริวาสิยปาริสุทธินั้น พึงถือเอาจากวรรณนาแห่งปาริวาสิยฉันททานสิกขาบทในภิกขุนีวิภังค์. (๑)

วันที่ไม่ใช่วันอุโบสถนั้น ได้แก่วันอื่น นอกจากวันอุโบสถ ๒ วัน นี้ คือ วันอุโบสถ ๑๔ ค่ำ ๑ วันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ๑

ข้อว่า อญฺตฺร สงฺฆสามคฺคียา มีความว่า เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว สังฆสามัคดีอันใด อันสงฆ์กลับทำได้อีก เหมือนสังฆสามัคคีของภิกษุชาวโกสัมพี เว้นสังฆสามัคดีเห็นปานนั้น เสีย. ก็แลในกาลนั้น สงฆ์พึงทำอุโบสถ สวดว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ อชฺชุโปสโถ สามคฺคี.

อนึ่ง ภิกษุเหล่าใด เมื่อมีภิกษุผู้ทำการทะเลาะวิวาทกันเล็กน้อยไม่สู้สำคัญ จึงงดอุโบสถไว้แล้ว กลับเป็นผู้พร้อมเพรียงกันอีก อันภิกษุเหล่านั้นต้องทำอุโบสถแท้ ฉะนี้แล.

อรรถกถาในวัคคสมัคคสัญญิโนปัณณรสกาทิกถา จบ

อุโบสถกขันธกวรรณนา จบ


๑. สมนฺต. ทุติย.

 
หัวข้อถัดไป
หัวข้อก่อนหน้า

หน้าบัญชีเรื่อง