ธาตุ คืออะไร
คำว่า "ธาตุ" ในทางพระไตรปิฏก คืออะไรหนอ?
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอกล่าว คำว่า ธาตุ ตามที่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนี้ ครับ
สภาพธรรมที่ชื่อว่า ธาตุ มีหลายความหมายดังนี้ ครับ
ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น
ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่สัตว์ทั้งหลาย ยึดถือไว้
ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ตั้งไว้
ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์
ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่จัดแจง จัดสรร
ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่เป็นไปตามอำนาจ เพราะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสภาพธรรม
ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน
ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ
ดังนั้น ความหมายของธาตุ จึงหลายอย่าง แต่ธาตุทั้งหลาย ก็เพียงให้เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม ทั้งที่เป็นจิต เจตสิก รูป และ นิพพาน ต่างก็ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนแปลง มีลักษณะเฉพาะ เช่น ได้ยิน จะรู้สีก็ไม่ได้ ก็ต้องรู้เฉพาะเสียง เป็นต้น และธาตุ เป็นอนัตตา หาสัตว์ บุคคลไม่ได้เลย และ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะเป็นแต่เพียงธาตุ ไม่มีเรา อยู่ในธาตุใด ครับ
และ ธาตุที่เป็น จิต เจตสิก รูป ก็ทรงไว้ซึ่งทุกข์ คือ ทรงไว้ในลักษณะที่ทุกข์ คือ เกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ เป็นธาตุที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ครับ การศึกษาเรื่องธาตุ ประโยชน์ คือ เข้าใจความเป็นธรรม ว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรมที่ เป็นธาตุแต่ละอย่างเพื่อประโยชน์ในการไถ่ถอนความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล อันเป็นหนทางการละกิเลส ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรม เมื่อได้ยินชื่ออะไรใน พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ไม่พ้นจากควาเมป็นธาตุ แม้ใช้ชื่อต่างกัน เช่น ขันธ์ ๕ ธรรม อายตนะ ธาตุ ก็ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความจริงที่เหมือนกัน คือ เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา การศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง เพื่อเข้าใจความเป็น ธรรม เป็นธาตุ ย่อมจะทำให้ถึงการละกิเลสได้ โดยละเป็นลำดับ คือ ความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ บุคคลก่อน เพราะ รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียง ธาตุ ธรรม ครับ
เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ
ธาตุคือสภาวะของตนซึ่งทรงไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
วีระ ธาตุหมายถึงความบริสุทธิ์หรือครับ ตอนที่ผมเรียนตอนเด็กๆ ธาตุ เช่น ยูเรเนียมออกซิเจน ไฮโดรเจน คือความบริสุทธิ์ของอันนั้นใช่ไหมครับถึงเรียกว่าธาตุ
สุ. คืออันนั้น เป็นธาตุทางวิทยาศาสตร์ แต่ธาตุทางธรรม ถ้ามาจากภาษาบาลีก็คือ สภาพซึ่งทรงไว้ ที่มีลักษณะเฉพาะๆ ของตนๆ แต่ละธาตุๆ ซึ่งอาจจะใช้สำหรับรูป ธาตุหรือนามธาตุ หรือทางวิทยาศาสตร์ก็อาจจะมีอีกหลายธาตุ ก็หมายความถึง สภาพซึ่งทรงไว้ ซึ่งสภาวะที่มีจริงของตนๆ อย่างเห็น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เลย เป็นธาตุชนิดหนึ่ง
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธาตุ หมายถึง สภาพที่ทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตามข้อความใน[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้าที่ ๔๐๘ ธาตุสูตร ดังนี้
“ความที่ธรรมมีสภาพต่างกัน ได้ชื่อว่า ธาตุ เพราะอรรถว่า เป็นสภาวะ (มีจริงๆ) กล่าวคือ มีอรรถว่า มิใช่สัตว์ และ มีอรรถว่า เป็นของสูญ (ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน) ดังนี้ ชื่อว่า ความต่างแห่งธาตุ”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งมีแล้ว แต่ไม่รู้ ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงธาตุ ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ และเป็นธรรม ด้วย เพราะธาตุกับธรรมมีความหมายอย่างเดียวกัน สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ก็คือ แต่ละหนึ่งไม่ได้ปะปนกันเลย มีจริง แต่หลากหลายต่างกัน เช่น ความโกรธ เป็นอย่างหนึ่ง ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นอย่างหนึ่ง ศรัทธา เป็นอย่างหนึ่ง ความละอาย เป็นอย่างหนึ่ง ความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นอย่างหนึ่ง รูปแต่ละรูป เป็นแต่ละหนึ่ง เป็นต้น
ถ้ามีความเข้าใจแต่ละธาตุๆ ทั้งหมด ว่าแท้ที่จริงก็เป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งมีลักษณะปรากฏเพียงชั่วคราวและเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็สามารถจะรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงให้ผู้อื่นได้เข้าใจถูกเห็นถูกว่า ขณะนี้เป็นธาตุ ทั้งหมดเลย ไม่มีเรา ถ้ายิ่งฟัง ยิ่งจะเข้าใจถึงความเป็นธาตุที่มีจริงตามความเป็นจริงจนกว่าจะละคลายการยึดถือว่าเป็นเรา เพราะว่าได้มีความเข้าใจในความเป็นธาตุ และที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างนี้ ได้ นั้น ต้องรู้ว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ โดยไม่มีใครสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่างๆ เป็นธาตุที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ (นามธรรม) กับ ธาตุที่ไม่ใช่สภาพรู้ (รูปธรรม) เท่านั้นจริงๆ ซึ่งจะต้องมีความอดทน มีความเพียร มีความจริงใจ มีความมั่นคงที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้นต่อไป ครับ
…ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....