จด ... จำ ... เข้าใจ และประภัสสร
ขออนุญาตส่งคำถาม เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน และละเอียดลึกซึ้งเพิ่มขึ้นค่ะ
สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เกิดและดับพร้อมจิต ทำกิจหน้าที่จำ คำถามคือ
1. ลักษณะของความจำ กับ ลักษณะของความเข้าใจ ในขณะที่ฟังธรรม มีความแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
2. ในการฟังธรรม สมัยพุทธกาล การจดบันทึกเพื่อทบทวนความจำ มีบ้างหรือเปล่าคะ และในขณะที่จดบันทึกการฟังเรียกว่า มีความเป็นเราไปทำมั้ยคะ ถือว่าเป็นปกติหรือเปล่า
3. จิตประภัสสร เป็นจิตที่ผ่องใสด้วยกุศลธรรม และในขณะที่เป็นภวังคจิต ก็ถือว่า จิตนั้นประภัสสรด้วย คำถามคือ จุติจิต และปฏิสนธิจิต เป็นจิตชาติวิบาก ที่รับรู้อารมณ์เดียวกับภวังคจิตเช่นกัน แต่ไม่ได้กล่าวถึงจิตสองดวงนี้เลยว่าเป็นประภัสสรด้วยหรือเปล่า ไม่ทราบว่า ด้วยเหตุผลใดค่ะ อ้างอิงข้อมูล ตามลิ้งค่ะ ปัณฑระ กับ ประภัสสร (dhammahome.com)
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลยิ่งค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เกิดและดับพร้อมจิต ทำกิจหน้าที่จำ คำถามคือ
1. ลักษณะของความจำ กับ ลักษณะของความเข้าใจ ในขณะที่ฟังธรรม มีความแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
สัญญากับปัญญา เป็นสภาพธรรมที่แตกต่างกัน โดยที่สัญญา เป็นสภาพที่จำ เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ว่าจิตจะรู้อารมณ์อะไร สัญญาก็จำในอารมณ์นั้น สัญญา ทำกิจจำหมายในอารมณ์ ส่วนปัญญา เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นปัญญาในระดับใด ก็ทำกิจเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ให้ทราบว่า ทั้ง ๒ ประการ แตกต่างกัน ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน ซึ่งจากประเด็นคำถาม ก็พิจารณาได้ว่า ในขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ปัญญา เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ปัญญาเข้าใจสิ่งที่ที่ได้ฟัง และ ขณะนั้น ก็ไม่ปราศจากสัญญา ด้วย เพราะสัญญาเกิดกับจิตทุกขณะ ครับ
2. ในการฟังธรรม สมัยพุทธกาล การจดบันทึกเพื่อทบทวนความจำ มีบ้างหรือเปล่าคะ และในขณะที่จดบันทึกการฟังเรียกว่า มีความเป็นเราไปทำมั้ยคะ ถือว่าเป็นปกติหรือเปล่า
ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระเถระทั้งหลาย เพื่อฟังพระธรรม หรือ แม้แต่การสนทนาธรรมกัน ทั้งหมด ก็เพื่อความเข้าใจความจริง ทรงจำด้วยความเข้าใจ มีการทบทวนเพื่อความเข้าใจอย่างมั่นคง และมีการสืบต่อความเข้าใจพระธรรม ด้วยความทรงจำอย่างมั่นคงในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นหลัก ครับ
ทุกขณะ ไม่พ้นจากธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมที่เป็นความเห็นผิดเกิดขึ้นได้ ตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่งๆ ไม่เหมือนกันเลย ครับ
3. จิตประภัสสร เป็นจิตที่ผ่องใสด้วยกุศลธรรม และในขณะที่เป็นภวังคจิต ก็ถือว่า จิตนั้นประภัสสรด้วย คำถามคือ จุติจิต และปฏิสนธิจิต เป็นจิตชาติวิบาก ที่รับรู้อารมณ์เดียวกับภวังคจิตเช่นกัน แต่ไม่ได้กล่าวถึงจิตสองดวงนี้เลยว่าเป็นประภัสสรด้วยหรือเปล่า ไม่ทราบว่า ด้วยเหตุผลใดค่ะ อ้างอิงข้อมูล ตามลิ้งค่ะ ปัณฑระ กับ ประภัสสร (dhammahome.com)
สำหรับจิตที่เป็นประภัสสร มุ่งหมายถึง กุศลจิต กับ ภวังคจิต มีข้อที่น่าพิจารณา คือ ขณะจิตเป็นกุศล แน่นอนว่า มีสภาพธรรมฝ่ายดีประกอบด้วย เช่น ศรัทธา สติ หริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดร่วมด้วย ย่อมผ่องใส ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี และ ภวังคจิต เป็นจิตที่เกิดสืบต่อกันหลายขณะ อย่างเช่นในเวลาที่หลับสนิท ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อกันหลายขณะ ปรากฏความผ่องใสที่ชัดเจน เพราะขณะที่ภวังคจิตเกิดขึ้นนั้น อกุศลใดๆ ก็เกิดไม่ได้เลย ส่วนปฏิสนธิจิต กับ จุติจิต เกิดขึ้นเพียงขณะเดียว จึงไม่ปรากฏความผ่องใสที่ชัดเจนเหมือนอย่างภวังคจิต ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...