เห็นอาจารย์ คือ เห็นเป็นรูปอาจารย์ อย่างไรที่ว่าเห็นถูก

 
สารธรรม
วันที่  5 ก.ย. 2565
หมายเลข  43625
อ่าน  307

ผมขอถามต่ออีกนิด ที่ยกตัวอย่างทางตา อย่างผมเห็นอาจารย์คือ เห็นเป็นรูปอาจารย์ หรือเห็นเป็นสีเป็นแสง หรือเห็นเป็นตัวบุคคล หรือว่าเห็นเป็นไมโคร โฟน เห็นเป็นโต๊ะ อย่างไรครับที่ว่าเห็นถูก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 พ.ย. 2566

นี่คือความละเอียดของสภาพธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้แต่เรื่องเห็นซึ่งก็เห็นกันอยู่ทั้งนั้น แต่ส่วนมากก็ไม่เคยพิจารณาให้รู้ความจริงของสภาพเห็น จนตายปัญญาก็ไม่เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพเห็นและธรรมอื่นๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ในเรื่องของสภาพเห็นนี้ก็ต้องเริ่มพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ว่า เห็นมีจริง และสิ่งที่ถูกเห็นก็มีด้วย สิ่งที่ถูกเห็นนั้น ทางธรรมใช้คำว่า รูปารมณ์ อะไรก็ตามที่จิตกำลังรู้ สิ่งที่ถูกรู้เป็นอรัมมณะหรืออารมณ์

จิตได้ยินเสียงคือจิตที่รู้เสียง ฉะนั้น เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้เสียง มีอารมณ์ ๕ อารมณ์ ที่รู้ได้ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ อารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา ภาษาบาลีเรียกว่า รูปารัมมณะ หรือ รูปารมณ์ เสียง คือสัททะ เมื่อกำลังปรากฏทางหูก็เป็นสัททารมณ์ เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดเสียง เสียงก็เกิด แต่เสียงใดก็ตามที่จิตไม่ได้ยิน เสียงนั้นก็ไม่ใช่อารมณ์ของจิตในขณะนั้น เสียงใดก็ตามที่จิตได้ยิน เสียงนั้นคือสัททารมณ์ สัทท + อารัมมณะ รวมเป็นสัททารมณ์

กลิ่นที่จิตรู้ทางจมูกเป็นคันธารมณ์ รสที่จิตรู้ทางลิ้นเป็น รสารมณ์ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่จิตรู้ได้ทางกายเป็นโผฏฐัพพารมณ์ สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง จะเรียกเป็นภาษาอะไรก็ได้ แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้นั้นเป็นภาษาบาลี สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั้นยากที่จะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เพราะเคยชินกับความคิดนึกว่าสิ่งที่เห็น เป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ จริงๆ

แต่ขอเปรียบเทียบกับการส่องกระจกว่าเวลาส่องกระจกนั้น เห็นใครในกระจก ทุกคนก็จะบอกว่าเห็นตัวเองในกระจก แต่มีใครจริงๆ ในกระจกบ้างไหม ไม่มีอะไรในกระจกเลย แต่ขณะใดที่เห็นเงาในกระจกก็คิดว่าเป็นตัวเราจริงๆ ในกระจก ลืมคิดถึงตัวนอกกระจกด้วยซ้ำไป ขณะที่คิดว่ามีตัวเราและมีอะไรๆ อยู่ในกระจกนั้น ลองกระทบสัมผัสกระจกก็จะรู้สึกว่าเพียงแข็ง หามีอย่างอื่นใดไม่ในกระจกนั้น ฉันใด สิ่งที่เพียงปรากฏทางตาก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง

ซี่งจะต้องฟังและพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจว่า สภาพธรรมนี้เป็นของจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ต้องแยกสิ่งที่ปรากฏออกจากความคิดนึก เพราะว่าทันทีที่ได้ยินเสียงก็คิดนึกถึงเสียงสูงต่ำที่ได้ยิน และจำความหมายเป็นคำๆ รู้เรื่องราวไปเลย เหมือนกับว่าแยกออกจากกันไม่ได้เลย ระหว่างได้ยินเสียงกับรู้เรื่อง ไม่ว่าใครจะพูดภาษาอะไร ถ้ารู้ภาษานั้น ก็สามารถที่จะเข้าใจความหมายของคำนั้นๆ ได้

นี่แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่ได้แยกโลกทางตาออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางหูออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางจมูกออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางลิ้นออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางกายออกจากทางใจ เพราะ เหตุว่า โลกมี ๖ โลก คือ

โลกทางตา เห็นแสงสีต่างๆ

โลกทางหู ได้ยินแต่เสียงเท่านั้น ไม่ได้คิดนึกอะไรทั้งสิ้น

โลกทางจมูก รู้ได้เฉพาะกลิ่น

โลกทางลิ้น ลิ้มรสต่างๆ กำลังปอกมะม่วงไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย จน กว่ารสนั้นจะกระทบชิวหาปสาทรูปที่อยู่กลางลิ้น จิตลิ้มรสจึงเกิดขึ้นโดยอาศัยลิ้น จิตลิ้มรสต่างๆ ซึ่งวิจิตรมาก รสผลไม้ รสข้าว รสปลาต่างๆ เหล่านี้ จิตเป็นสภาพที่รู้รสโดยลิ้มรสต่างๆ เท่านั้น แยกออกไปจากโลกของความนึกคิด ขณะที่จิตกำลังลิ้มรสก็มีรสเท่านั้นปรากฏ ไม่มีปลา ไม่มีเนื้อ ไม่มีชื่ออะไรเลย แล้วหลังจากนั้นก็เป็นโลกของความคิดนึกเรื่องปลา เรื่องผัก เรื่องอะไรต่างๆ

โลกทางกาย รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงหรือไหวขณะที่กระทบสัมผัสสิ่ง หนึ่งสิ่งใด หลังจากนั้นก็คิดนึกเป็นเรื่องของเสื้อผ้าแพรพรรณต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ตาจะไม่ได้เห็นสิ่งต่างๆ หูก็ไม่ได้ยินเสียง จมูกก็ไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่ได้ลิ้มรส กายก็ไม่ได้กระทบสัมผัส แต่โลกทางใจก็คิดนึกได้ทุกเรื่องตามที่เคยจำไว้

การจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องแยกธรรมแต่ละลักษณะออกจากกัน โดยพิจารณาให้เห็นความจริงว่าขณะคิดถึงเรื่องเมื่อวานนี้ จะเห็นไฟที่ประดับตามถนนหรือจะเห็นอะไรก็แล้วแต่ คิดนึกถึงสิ่งที่เคยเห็นเคยได้ยิน เป็นต้นได้ แต่ถ้าไม่เคยเห็นเลยจะคิดนึกเรื่องนั้นๆ ได้ไหม ก็คิดไม่ได้

ฉะนั้น เมื่อเห็นแล้วก็จำแล้วคิดต่อทันที ซึ่งความจริงเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับแต่ละขณะ ถ้าความคิดกับสิ่งที่เห็นใกล้ชิดกันมากเราไม่รู้เลย เรารู้เหมือนกับว่าเราเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ทันทีแต่ตามความจริงถ้าเราแยกออกให้ห่างกันคือ เห็นเท่านั้น เพียงลืมตาแล้วเห็น ไม่เป็นอะไรทั้งหมด หลังจากนั้นคิด แล้วจะเรียกเห็นตรงนี้ว่าอะไร จะเรียกได้ยินตรงนั้นว่าอะไร ก็จำเป็นต้องสมมติชื่อ แต่ให้เข้าใจความจริงว่า เห็น เกิดเรียกว่าชื่อนี้ ถ้าธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดเรียกว่าชื่อนั้น ฉะนั้นเราจะเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่าสมมติหรือบัญญัติว่า เป็นเพียงแต่ชื่อใช้เรียกสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจความหมาย

ฉะนั้น ก่อนอื่นอย่าเพิ่งปฏิบัติอะไรเลย อย่าเข้าใจว่า ปฏิบัติธรรมคือต้องทำอะไร แต่การปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ กำลังปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจตามความเป็นจริงได้ แต่เมื่อไม่เคยฟังก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ ฉะนั้นก็ต้องฟัง ศึกษา พิจารณาจนกว่าจะค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าเสียงไม่กระทบหูได้ยินก็เกิดไม่ได้เลยฉันใด ถ้าความเข้าใจสภาพธรรมไม่มี สติจะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ ปัญญาจะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของปัญญาก็ไม่ได้ฉันนั้น ถ้าเสียงไม่กระทบหู จิตได้ยินเกิดไม่ได้ ถ้าความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมไม่มี ก็จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้เลย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 7

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ