เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43692
อ่าน  240

สำหรับวันนี้ก็จะได้กล่าวถึงใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสถ์ ภิกขุวรรค จูฬราหุโลวาทสูตร เพื่อจะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเห็นว่า ชีวิตของบรรพชิตนั้นก็เป็นชีวิตปกติ ณ พระวิหารเวฬุวัน ในเขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาท ชื่อว่า ปราสาทอัมพลัฏฐิกา พระผู้มีพระภาคได้ให้ท่านพระราหุลพิจารณาชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยที่พระองค์ตรัสสอนท่านพระราหุลว่า

บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสา ทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่ง ไม่มี เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น

ดูกร ราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกร ราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แว่นมีประโยชน์อย่างไร

ท่านพระราหุลก็กราบทูลว่า มีประโยชน์สำหรับส่องดูพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ฉันนั้นก็เหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

เป็นเรื่องธรรมดา ทำไมพระผู้มีพระภาคจะต้องทรงโอวาทท่านพระราหุลอย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่ามิได้ทรงบังคับ มิได้ทรงจำกัดว่าจะต้องเจริญสติปัฏฐานอยู่ในสถานที่นั้นสถานที่นี้ ไม่ว่าชีวิตปกติของท่านพระภิกษุแต่ละท่าน ท่านจะดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร ถ้าสิ่งนั้นไม่อุปการะแก่สติ พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุเคราะห์โดยการทรงแสดงธรรม เพื่อที่จะให้ผู้นั้นได้เจริญสติมากขึ้น ชีวิตของบรรพชิต ก็เป็นชีวิตที่มีสัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย แต่ว่าก็เป็นชีวิตจิตใจของปุถุชนนี่เอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นปุถุชนไม่ว่าจะเป็นฆราวาส หรือไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต เคยรู้ตัวบ้างไหมคะ ว่ามีกิเลสมากน้อยสักเท่าไร ถ้าดูคนอื่นอาจจะเห็นชัดว่า คนอื่นนั้นกิเลสมากเหลือเกิน แต่ว่าตัวเองความสลับซับซ้อน ความซ่อนอย่างลึกของกิเลส ซึ่งอาจจะยังไม่ทันเอ่ยออกมาทางวาจา หรือว่ายังไม่ประพฤติเป็นไปทางกายก็ตาม แต่ใครจะรู้ถ้าไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้แน่นอนที่สุด เพราะเหตุว่าไม่ได้พิจารณาตัวเอง แต่ว่าผู้ที่พิจารณาตัวเอง และมีการเจริญสติปัฏฐานนั้น ผู้นั้นไม่ใช่เพียงแต่จะเห็นกิเลสของตัวเอง แต่ยังรู้ว่าสภาพธรรมนั้น ว่าก็เป็นแต่เพียงนามหรือรูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ใช่เพียงแต่จะให้รู้จักตัวเองเท่านั้น แต่ว่ายังทำให้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่ชีวิตที่แสร้งขึ้น สร้างขึ้น แต่ว่าเป็นชีวิตธรรมดาของแต่ละคน ผู้เจริญสติที่จะต้องพิจารณานามและรูปละเอียดขึ้น มากขึ้น เพิ่มขึ้น แล้วก็ละคลายการที่ยึดถือ หรือการที่จะเป็นไปกับนามและรูป ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นให้ลดน้อยลงด้วย

เพราะฉะนั้น ขอให้คิดว่าในพระไตรปิฎก ก็เป็นชีวิตของบุคคลในครั้งอดีต ซึ่งก็ต้องเหมือนกับชีวิตของบุคคลในปัจจุบันนี้ กิเลสของบุคคลในครั้งโน้น ก็อาจจะมากทีเดียว ถ้าอ่านดูในพระสูตร ก็จะเห็นได้ว่าไม่น้อยเลย แต่ว่าด้วยพระมหากรุณา หรือด้วยความกรุณาของท่านพระเถระเหล่านั้น ท่านก็ยังแสดงชีวิตจริงๆ ของท่าน ทั้งๆ ที่มีกิเลสมากๆ อย่างนี้ ให้เป็นตัวอย่าง เพื่อว่าคนในสมัยไหนก็เป็นคนมีกิเลสทั้งนั้น แต่คนที่มีกิเลสในครั้งโน้น สามารถที่จะละคลายกิเลสให้หมดสิ้นได้ ความหนาแน่นของกิเลสของคนในสมัยโน้น ไม่ได้น้อยกว่าคนในสมัยนี้ แต่ว่าความสามารถ หรืออินทรีย์ของคนสมัยโน้นที่เจริญอินทรีย์มาแล้ว สามารถที่จะละความเห็นผิด ความยึดมั่นนามรูปได้ ด้วยข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็เป็นประโยชน์สำหรับคนสมัยนี้ที่ว่า ถ้าคิดถึงว่าทุกคนก็มีกิเลส ถ้ายังเป็นปุถุชน แล้วกิเลสก็ยังหนาแน่นมากทีเดียว การสะสมของกิเลส ก็วิจิตรต่างกันไปมากน้อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรละเลยโอกาสที่จะพิจารณาสภาพของนามและรูปที่เป็นจริงๆ เกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ เพื่อที่จะละความที่เคยยึดถือนามรูปเหล่านั้นว่า เป็นตัวตน ถ้ามิฉะนั้นแล้ว ก็อาจจะคิดท้อถอยว่า คนในสมัยนี้คงจะละกิเลสไม่ได้แล้ว คงจะละได้เฉพาะคนในอดีต เพราะเหตุว่า มีพระผู้มีพระภาค และได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์บ้าง แต่ว่าคนในสมัยนี้กับคนในสมัยก่อน ก็มีตาเหมือนกัน มีโลกทางตาเหมือนกัน มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีกิเลสเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรจะคิดว่า สมัยนี้จะหมดโอกาส หรือว่าสุดวิสัยที่จะเจริญสติที่จะละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน สำหรับเรื่องกิเลสของแต่ละคน แต่ละคนก็ทราบ คนอื่นไม่มีโอกาสทราบได้เลย เพราะฉะนั้น ก็จะขอกล่าวถึงแต่เฉพาะชีวิตของบุคคลที่ปรากฏในพระสูตร


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 19


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ