กำลังรับประทาน มีกิเลสไหม
ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต กุสินาราสูตร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ไพสณฑ์ ชื่อว่าหลิหรณะ ใกล้พระนครกุสินารา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ แล้วรับสั่งว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีเข้าไปหาแล้วนิมนต์ เพื่อฉันอาหารในวันรุ่งขึ้น ภิกษุรับนิมนต์ รุ่งเช้าก็ไปฉัน คฤหบดีก็ถวายอาหารที่มีรสประณีต ภิกษุก็คิดว่า ขอให้เขาถวายอาหารที่มีรสที่ประณีตอย่างนี้ต่อไป แล้วบริโภคอาหารเหล่านั้นด้วยความหมกมุ่นพัวพัน ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสละออก ขณะที่บริโภคบิณฑบาตนั้น ก็ตรึกเป็นกามวิตก คือพอใจในเรื่องต่างๆ หรือว่าพยาปาทวิตก มีความไม่พอใจ อาจจะเป็นในเรื่องรสอาหาร หรือว่าในเรื่องต่างๆ ในเรื่องที่เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง แล้วก็อาจจะมีวิหิงสาวิตกบ้าง ในเพราะบิณฑบาต
เป็นไปได้ไหม กำลังรับประทานอาหาร ที่จะมีกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ถ้าไม่คิดถึงท่านพระภิกษุที่กำลังฉันบิณฑบาต คิดถึงชีวิตของเราจริงๆ เป็นไปได้ไหมกำลังรับประทาน มีกิเลสไหม กิเลสยังมีเกิดแน่ทีเดียว ถ้าในขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา ขณะนั้นก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง ถ้าอาหารอร่อยก็ชอบ บางทีสีก็สวย กลิ่นก็น่ารับประทาน โลภะก็เป็นไปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง หรือถ้าตรงกันข้าม พยาปาท ความไม่พอใจก็ต้องเกิด อาหารนี้ไม่อร่อย รสไม่ดี จัดก็ไม่เป็น และสมมติว่ามีมาก วิหิงสาวิตก คิดไหมคะ คิดจะว่า ใครนะช่างทำไม่อร่อย หรือว่าทำไม่เป็น รสชาติก็ไม่กลมกล่อม
เพราะฉะนั้น ความคิดที่จะเบียดเบียนทางกาย ก็อาจจะมีบ้าง บางคนก็อาจจะระงับไม่อยู่ โกรธมาก อาจจะปาทิ้งไป หรือทางวาจา วิหิงสาวิตกคิดที่จะเบียดเบียนด้วยคำพูดก็มี ปุถุชนฆราวาสรับประทานอาหารแล้ว ก็มีโลภะ โทสะ โมหะ ฉันใด ภิกษุที่เป็นปุถุชนจะต่างกันไหมคะ ยังเป็นปุถุชนอยู่ ไม่ต่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นเพศบรรพชิต พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัยแล้ว ก็ยังทรงอนุเคราะห์ด้วยการแสดงธรรม เพื่อขัดเกลา เพื่อที่จะได้ให้เจริญกุศลสมกับที่มีสัทธาที่จะบวช ฉะนั้น ในข้อความต่อไปนี้ก็มีว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บิณฑบาตที่ถวายแก่ภิกษุผู้เห็นปานดังนี้ เรากล่าวว่าไม่มีผลมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุเป็นผู้ประมาทอยู่ ส่วนภิกษุที่ไม่ได้คิดเช่นนั้น แม้คฤหบดีจะถวายอาหารที่ประณีต ก็ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน มีปัญญาคิดสลัดออก เมื่อบริโภคบิณฑบาตนั้น ก็ตรึกเป็นเนกขัมมาวิตกบ้าง ตรึกเป็นอัพยาปาทวิตกบ้าง ตรึกเป็นอวิหิงสาวิตกบ้าง ในเพราะบิณฑบาตนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บิณฑบาตที่ถวายแก่ภิกษุผู้เห็นปานดังนี้ เรากล่าวว่ามีผลมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ ที่ยกพระสูตรนี้ ก็เพื่อที่จะให้ท่านได้สังเกตคำว่า “เนกขัมมะ” อีกครั้งหนึ่ง ในข้อความตอนที่ว่า เมื่อบริโภคบิณฑบาตนั้น ก็ตรึกเป็นเนกขัมมวิตกบ้าง ตรึกเป็นอัพยาปาทวิตกบ้าง ตรึกเป็นอวิหิงสาวิตกบ้าง
เป็นบรรพชิตแล้ว ทำไมรูปหนึ่ง ขณะที่กำลังฉันบิณฑบาต ตรึกเป็นกามวิตก แต่อีกรูปหนึ่ง ตรึกเป็นเนกขัมมวิตก ถ้าเนกขัมมะหมายถึงออกจากบ้านเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านก็เป็นบรรพชิตแล้ว เนกขัมมะแล้ว แต่ในที่นี้ทรงมุ่งหมายถึงอะไร ในขณะที่ฉันบิณฑบาต ก็ตรึกเป็นเนกขัมมวิตก ออกจากความพัวพันในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่กำลังปรากฏ ไม่หมกมุ่นไม่พัวพัน เพราะว่าถ้าหมกมุ่นพัวพันเพลิดเพลินไป หลงลืมสติ ฉะนั้น ถ้าขาดสติไม่เป็นเนกขัมมวิตก เพราะว่าเป็นกามวิตกบ้าง พยาปาทวิตกบ้าง แต่ไม่ได้หมายความให้บังคับว่า ไม่ให้ไปฉันนิมนต์ เวลาที่มีคนนิมนต์ ไม่ให้ไป ไม่ใช่อย่างนั้น ไป เวลาที่มีผู้นิมนต์ก็ไป และฉันภัตตาหารที่ประณีต แต่ว่าขณะที่กำลังฉันนั้นเป็นเนกขัมมวิตก มีสติพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้น ถ้าอาหารมีรสประณีต ความยินดีชอบใจเกิดขึ้น ถ้าหลงลืมสติ ขณะนั้นก็เป็นไปกับกามวิตก แต่ถ้าในขณะที่กำลังฉันภัตตาหารที่ประณีต ความยินดีพอใจเกิดขึ้น สติรู้ลักษณะของความยินดีพอใจนั้น ว่าเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือเวลาที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้างก็พิจารณารู้นามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นเนกขัมมวิตก คือไม่พัวพันในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต เป็นฆราวาส จิตใจของปุถุชนแล้ว ก็เหมือนกันทั้งนั้น คือมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ถึงแม้จะบวชแล้วเป็นบรรพชิตแล้ว ขณะที่กำลังฉันบิณฑบาต ก็ยังจะต้องมีเนกขัมมวิตก คือการเจริญสติด้วย ไม่ใช่เนกขัมมะนั้น จะหมายเฉพาะการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แต่หมายความว่าขณะใดก็ตามที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ถ้าเป็นเนกขัมมวิตกแล้ว สติต้องเกิดขึ้นพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นตามความเป็นจริง นี่ถึงจะเป็นเนกขัมมวิตก ไม่ตรึกไปในกาม ไม่ตรึกไปในพยาปาท ไม่ตรึกไปในวิหิงสา ที่จะเบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ที่จะล่วงศีลเป็นทุจริตไปนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า สติรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็มีอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เมื่อพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ก็เป็นเครื่องที่จะทำให้ไม่ล่วงทุจริต หรือว่าไม่ล่วงศีล
ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสถ์ ก็มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญความปฏิบัติผิดของคน ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังกุศลธรรม ที่นำออก ให้สำเร็จได้ เพราะเหตุแห่งการทำความปฏิบัติผิด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญความปฏิบัติชอบของคน ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมยังกุศลธรรม ที่นำออก ให้สำเร็จได้ เพราะเหตุแห่งการทำความปฏิบัติชอบ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นว่า ถ้าท่านเป็นฆราวาส แล้วท่านก็มีการรับประทานอาหารอยู่ มีการเห็น มีการได้ยิน ควรที่จะเจริญสติปัฏฐาน ถ้าชีวิตของปุถุชนไม่ยาก ไม่ลำบากในการที่จะเจริญสติปัฏฐานแล้ว ท่านพระเถระท่านก็คงจะไม่ภาษิตคำที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตเป็นของยากอย่างไร โดยเฉพาะชีวิตของผู้ที่จะเจริญปัญญา
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...