การบวชกระทำได้ยากแท้ การอยู่ครองเรือนก็ยากแท้

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43694
อ่าน  478

ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา เชนตเถรคาถา มีข้อความว่า การบวชกระทำได้ยากแท้ การอยู่ครองเรือนก็ยากแท้ ธรรมเป็นของลึก การหาทรัพย์เป็นของยาก การเลี้ยงชีพของเราด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ก็เป็นของยาก ควรคิดถึงอนิจจตาเนืองๆ นี่ค่ะ คือผู้ที่เห็นชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตแบบไหน ไม่ใช่ของง่ายเลย การบวชเป็นบรรพชิตเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ที่ว่ามีโอกาสที่จะประพฤติข้อปฏิบัติ ที่จะขัดเกลากิเลสเพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจ์ได้สดวก เพราะเหตุว่า ไม่พัวพันกับเรื่องของกิเลสต่างๆ แต่ว่าจิตของปุถุชนยากไหมคะ ในเพศของบรรพชิต

ไม่ว่าจะเป็นชีวิตแบบไหน ไม่ใช่ของง่ายเลย การบวชเป็นบรรพชิตเป็นสิ่งประเสริฐ ที่ว่ามีโอกาสที่จะประพฤติข้อปฏิบัติที่จะขัดเกลากิเลส เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจ์ได้สะดวก เพราะเหตุว่าไม่พัวพันกับเรื่องของกิเลสต่างๆ แต่ว่าจิตของปุถุชนยากไหมคะในเพศของบรรพชิต เพราะเหตุว่า มีความยินดีมีความพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นบรรพชิตแล้วจะไม่ยาก เรื่องของการเจริญสติแล้วเป็นเรื่องยาก ถ้ายิ่งไม่เจริญสติ ก็ยิ่งยากมากทีเดียว เวลาที่โลภะเกิด โทสะเกิด ใคร่ที่จะประพฤติอย่าง ฆราวาส ก็เป็นเรื่องของความอึดอัด ความไม่สะดวกใจนานาประการ

เพราะฉะนั้น ใน เชนตเถรคาถานี้ ท่านจึงได้กล่าวเพราะท่านรู้ชีวิตจริงๆ รู้จิตใจของปุถุชนด้วยการเจริญสติว่า การบวชกระทำได้ยากแท้ การอยู่ครองเรือนก็ยากแท้ ยากไหม? การอยู่ครองเรือนน้อยกว่าหรือมากกว่า ยากทั้งนั้นเลย บรรพชิตก็ยากอย่างบรรพชิต ฆราวาสไปบวชไม่ได้ก็ยากอย่างฆราวาส ไม่เห็นมีฆราวาสคนไหนสักคนหนึ่งที่จะบอกว่าง่าย ใช่ไหมคะ ธรรมเป็นของลึก ลึกจริงๆ เพราะเหตุว่าอยู่ใกล้ตลอดเวลา แต่ไม่รู้สภาพความจริงของธรรมนั้น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เกิดดับตลอดเวลากำลังได้ยินก็เกิดดับตลอดเวลา กำลังเย็น ร้อน อ่อน แข็งทุกขณะ ก็ไม่ใช่ตัวตนสักอย่างเดียว ก็เป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะเหตุว่าธรรมเป็นของลึก ผู้ที่ไม่เจริญสติ ไม่พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูป ผู้นั้นก็ย่อมไม่เห็นสภาพของธรรมตามความเป็นจริง

การหาทรัพย์เป็นของยาก ใช่ไหมคะ? ไม่ใช่หามาได้ง่ายๆ เลย นี่ก็เป็นความจริงอีกเหมือนกัน สำหรับฆราวาสยังยากในเรื่องของปัจจัย ในเรื่องของทรัพย์ที่จะเลี้ยงชีวิตไป สำหรับผู้ที่มีการประกอบอาชีพต่างๆ ก็ยังยาก ฉะนั้นสำหรับบรรพชิตการเลี้ยงชีพด้วยปัจจัย ๔ ถึงแม้ว่าจะเป็นตามมีตามได้ก็เป็นของยาก เพราะฉะนั้น ภาษิตสุดท้ายของท่านก็คือว่า "ควรคิดถึงอนิจจตาเนืองๆ " ความไม่เที่ยงเป็นของจริง แล้วก็ไม่เที่ยงอยู่ทุกๆ ขณะด้วย เมื่อกี้นี้ก็อาจจะ เป็นเย็นที่มากระทบปรากฏแล้วก็ดับไปแล้ว หรือว่าอาจจะเป็นได้ยิน หรือว่าเป็นเสียงที่ปรากฏเมื่อกี้นี้ก็ดับไปแล้ว ทุกอย่างเป็นแต่สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานตั้งต้นเมื่อไร ที่ไหนได้ทุกๆ ขณะด้วย เพราะว่าสิ่งที่หมดไปแล้วก็หมดไปแล้ว สิ่งที่กำลังมีอยู่ก็พิจารณาเดี๋ยวนี้ไม่ต้องคอย การระลึกถึงอนิจจตาหรือความไม่เที่ยงนี้ ทำให้ผู้เจริญสติ เจริญสติตรงตามสภาพของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะเหตุว่าขณะนี้นามใดกำลังปรากฏรูปใดกำลังปรากฏ ระลึกขึ้นได้ในขณะใด ก็พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทันที

แม้ว่าจะเป็นภาษิตเพียงสั้นๆ คือว่าควรคิดถึงอนิจจตาเนืองๆ แต่ก็มีประโยชน์สำหรับการเจริญสติปัฏฐานว่า ท่านจะเจริญในขณะไหนก็ได้ เพราะว่าไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ขณะไหนก็ตาม ก็มีนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ยังมีอะไรที่จะกั้นไว้อีกไหมคะ ที่จะไม่ให้เจริญสติปัฏฐาน เก็บเล็กประสมน้อยไปเรื่อยๆ ระลึกได้เมื่อไร ก็มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่กำลังปรากฏ รู้ที่ลักษณะนั้นนิดเดียวก็ยังดี เพราะเหตุว่า การรู้นี้ถ้ารู้ที่ลักษณะของนามและรูปขณะหนึ่ง ก็จะทำให้ท่านได้เจริญสัมมาสติ เพราะไม่มีความจดจ้องต้องการ ไม่มีความเห็นผิดว่าจะต้องเฉพาะนามนั้นรูปนี้ เฉพาะเวลานั้นเวลานี้ หรือว่าเฉพาะสถานที่นั้นสถานที่นี้ สัมมาสติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าเกิดขึ้นทำให้ท่านสำเหนียกใส่ใจรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป ถ้าเป็นทางหู ได้ยินไม่เคยได้พิจารณาเลย ไม่เป็นไร

เมื่อกี้หมดไปแล้ว อนิจจตา กำลังได้ยินขณะใด จะเป็นเดี๋ยวนี้ก็ได้หรือเวลาที่ผักผ่อน เพราะในตอนแรกนี้จะให้มีสติรู้ลักษณะในขณะที่กำลังทำงาน หรือกำลังรีบ หรือกำลังพูด หรือกำลังทำธุระยุ่งๆ อยู่ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสตินั้นยัง ไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการระลึกได้ แล้วก็พิจารณารู้ลักษณะของได้ยินขณะนั้น การสำเหนียกรู้ว่าสภาพนั้นเป็นสภาพรู้ไม่ใช่เสียง เพียงรู้ความจริงขณะนั้นก็จะช่วยอุปการะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนพอระลึกได้ก็รู้ลักษณะของได้ยินในขณะนั้นเกิดขึ้นอีกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะชิน

ข้อสำคัญก็คือว่า ให้สำเหนียกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป นี่คือปัญญา ถ้าปัญญายังไม่ได้พิจารณา ยังไม่รู้ว่าสภาพนี้เป็นสภาพรู้ ต่อให้จะอยู่ที่ไหนยังไงก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามได้ยินนั้นได้ ถ้าได้รู้สักครั้งหนึ่งเวลาที่จะนั่ง นอน ยืน เดินอยู่ที่ไหนแล้วก็มีการระลึกได้ ก็จะไม่ปนกันว่าสภาพเสียงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหูกับสภาพได้ยินซึ่งเป็นสภาพรู้ทางหูนั้น เป็นสภาพที่ต่างกันแล้วสติสามารถจะรู้นามได้ยินก็ได้ หรือว่ารู้เสียงก็ได้ เพราะเหตุว่าจะต้องรู้ทั่วจึงจะละความไม่รู้ได้ ไม่ใช่ว่ารู้เพียงนิดๆ หน่อยๆ ก็ละได้

ท่านที่ศึกษาพระไตรปิฏกน่าจะเฉลียวใจ ที่พระผู้มีพระภาคไม่เคยเว้นเลยจักษุไม่เที่ยง รูปคือสีไม่เที่ยง จักขุวิญญาณไม่เที่ยง โสตหูไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง สัททหรือสัททารมณ์ไม่เที่ยง โสตวิญญาณไม่เที่ยง หมดทั้ง ๖ ทวาร ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ๆ แต่ว่าทำไมผู้ปฏิบัติบางท่านจึงคิดที่จะเว้น เว้นไม่ได้นะคะเพราะเหตุว่าท่านไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูที่จะว่าทรงแสดงโดยย่อ ในขณะนั้นมีสภาพธรรมใดปรากฏก็สามารถที่จะแทงตลอดในสภาพนั้น ประจักษ์การเกิดดับ เพราะเหตุว่าได้เจริญอินทรีย์มาแล้ว แต่ว่าผู้ที่ยังเต็มไปด้วยความสงสัย วิธีเดียวที่จะละคลายความสังสัยได้ก็คือการเจริญสติ พิจารณารู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏ ซึ่งถ้าไม่พิจารณาสงสัยอยู่ เวลานี้ก็อาจจะไม่รู้ว่า ทางตาเห็น กับสีที่ปรากฏที่เป็นของจริงนั้น ต่างกันอย่างไรหรือว่าทางหูก็อาจจะยังสงสัย ยังไม่แน่ชัดว่าได้ยินกับเสียงที่ปรากฏทางหูนั้น ต่างกันอย่างไร แต่ถ้ามีการเจริญสติรู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละทาง ก็จะเจริญสติบ่อยขึ้น ชินขึ้น ความไม่รู้ความสงสัยก็จะค่อยๆ คลายไปและหมดไปได้

นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่แล้ว ใครเป็นเพศบรรพชิตก็เจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ใครเป็นฆราวาสก็เจริญสติปัฏฐานในเพศของฆราวาส ถ้าสมมติว่าฆราวาสอยากจะเป็นบรรพชิต เพราะเหตุว่าชีวิตของฆราวาสนี้ ยุ่งยากมาก ไม่สามารถที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ ถ้าเป็นความคิดความพอใจมีสัทธาเช่นนั้นจริงๆ ผู้นั้นก็บวชเป็นบรรพชิต แล้วเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต เพราะเหตุว่าผู้นั้นมีชีวิตจริงๆ เป็นบรรพชิต แต่ไม่ได้หมายความว่าไปหลบหลีกเพียงชั่วคราว แล้วก็ไม่รู้ตัวจริงๆ ชีวิตจริงๆ ของตัวเอง ไม่รู้ในขณะที่กำลังเห็นกำลังได้ยิน แต่ว่าไปรู้อย่างอื่นนั้นไม่ได้ เพราะว่าถ้าเป็นการสร้างขึ้นหรือทำขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะคลายความไม่รู้ในชีวิตจริงๆ ได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 19

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 20


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ