ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43706
อ่าน  262

สำหรับความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วก็ควรจะแสดงความนอบน้อม ซึ่งมีปรากฏในพระไตรปิฏก ใน สังยุตตรนิกาย สคาถวรรค ภาค ๑ นสันติสูตร ที่ ๔ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทำให้พระวิหารเชตวันนั้นสว่างไสว เมื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายอภิวาทแล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวคาถาในสำนักของพระผู้มีพระภาค สรรเสริญพระอรหันต์ผู้พ้นจากเครื่องข้องทั้งปวงได้ เมื่อเทวดากล่าวสรรเสริญแล้ว ท่านพระโมฆราช ก็กล่าวว่า ก็หากว่าพวกเทวดา พวกมนุษย์ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ไม่ได้เห็นพระขีณาสพนั้น ผู้อุดมกว่านรชน ผู้ประพฤติประโยชน์เพื่อพวกนรชน ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ

แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ แม้พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ พวกเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้ขีณาสวภิกษุนั้น ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น ดูกรภิกษุ แม้เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นรู้ธรรมแล้ว ละวิจิกิจฉาแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ล่วงแล้วซึ่งธรรมเป็นเครื่องข้อง เมื่อมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว ข้อปฏิบัติก็ถูกได้ เพราะเหตุว่าไม่มีการคลาดเคลื่อนไปตามความคิดเห็นของบุคคล ซึ่งอาจจะมีการบกพร่องหรือว่าการคลาดเคลื่อน การไขว้เขวได้ ถ้าไม่สอบทานเทียบเคียงพิจารณาเหตุผลให้ตรงกับพระธรรมวินัย แต่ถ้าผู้ใดมีพระธรรมวินัย มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่แท้จริง พิจารณาสอบทานเทียบเคียงอยู่เสมอ ก็ย่อมจะทำให้ข้อประพฤติปฏิบัติของผู้นั้นสมบูรณ์ไม่คลาดเคลื่อน

วันนี้ก็เป็นเรื่องของพระสูตรหลายๆ สูตร ซึ่งก็เป็นความประสงค์ที่อยากจะให้ท่านเพิ่มความสนใจ ศึกษา สอบทาน เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยให้ยิ่งขึ้น ไม่ว่าท่านจะมีความข้องใจสงสัยในธรรมประการหนึ่งประการใด แม้แต่ในเรื่องข้อสนทนาที่ว่า การบวชเป็นบรรพชิตจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างไร ท่านก็จะได้ฟังความคิดเห็นของบุคคลในครั้งอดีต พร้อมทั้งเหตุผล แล้วก็ยังมีเรื่องที่จะทำให้ท่านหายข้องใจได้นานาประการทีเดียว

สำหรับในวันนี้ก็จะขอกล่าวถึงอีกสูตรหนึ่ง คือ ใน สังยุตตรนิกาย มหาวารวรรคภาค ๑ สูกรขาตาสูตร ซึ่งก็เป็นเรื่องของการนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตร แล้วตรัสถามว่า ดูกรสารีบุตร ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต ท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวก เป็นผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลมมาก แต่แม้กระนั้น ปัญญาของท่านพระสารีบุตรก็ไม่เสมอกับพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสใดที่พระผู้มีพระภาคต้องการที่จะให้มีการสนทนาให้ได้เหตุผล ให้ได้ความแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น พระองค์ก็ทรงพระมหากรุณาตรัสเรียก แม้ท่านพระสารีบุตรไปเฝ้าแล้วก็ตรัสถาม เพื่อให้ท่านพระสารีบุตรได้แสดงเหตุผลที่ชัดเจน สำหรับในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า ภิกษุผู้ขีณาสพ (คือภิกษุผู้เป็นอรหันต์) เห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม จึงประพฤติ นอบน้อมอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาค หรือในศาสนาของพระผู้มีพระภาค

ไม่ใช่ว่าจะนอบน้อมโดยไม่มีเหตุผลเลย เพราะเหตุว่า การนอบน้อมจะเพิ่มขึ้นในบุคคลใด ก็เนื่องมาจากธรรมที่ได้รับมาจากบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนที่จะนอบน้อมในพระรัตนตรัยมากเท่ากับผู้ที่เป็นอริยบุคคลนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นปุถุชนที่ได้ฟังธรรมน้อย ความนอบน้อมในพระรัตนตรัยก็น้อยกว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมมาก ถ้าเป็นปุถุชนผู้ที่ได้ประพฤติปฏิบัติเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้ธรรมเพิ่มขึ้นมากขึ้น ความนอบน้อมในพระรัตนตรัยก็เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นความนอบน้อมของปุถุชน ความนอบน้อมของพระอริยะขั้นพระโสดาบัน ความนอบน้อมของพระอริยะขั้นพระสกทาคามี ความนอบน้อมของพระอริยะขั้นพระอนาคามี ความนอบน้อมของพระอริยะขั้นพระอรหันต์ จึงต่างกัน แล้วท่านก็คงจะทราบได้ว่า ผู้ใดมีความนอบน้อมในพระรัตนตรัยมากกว่ากัน ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ ซึ่งได้เห็นธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถามต่อไปอีกว่า ก็ธรรมะเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ที่ภิกษุขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคตเป็นไฉน ท่านพระสารีบุตรก็กราบทูลว่า ภิกษุผู้ขีณาสพ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัทธินทรีย์ อันให้ถึงความสงบให้ถึงความตรัสรู้ ย่อมเจริญวิริยินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ย่อมเจริญสตินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ย่อมเจริญสมาธินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ย่อมเจริญปัญญินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้นั่นเป็นธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ

คงจะสงสัยว่าทำไมท่านพระสารีบุตรท่านกล่าวถึงอินทรีย์ ๕ ซ้ำถึง ๒ ครั้ง คือกล่าวว่าย่อมเจริญสัทธินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ไม่ใช่ให้หยุดเพียงแค่ว่าให้ถึงความสงบ แต่ว่าอันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ นั่นจึงจะเป็นความสมบูรณ์ของพระธรรมของพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่เพียงแค่สมาธิซึ่งเป็นความสงบ แต่ต้องให้ถึงความตรัสรู้ด้วย เพราะฉะนั้น การเจริญสัทธาเป็นอินทรีย์ทำให้จิตใจสงบผ่องใสนั้น ไม่ใช่เพียงแค่นั้น แต่จะต้องมีปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อให้ถึงความตรัสรู้ด้วย ฉะนั้นเวลาที่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว มีสติเกิดขึ้นขณะใด แสดงถึงสัทธาที่จะพิจารณาลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงให้ถึงความสงบ แต่ให้ถึงความตรัสรู้ด้วย

เพราะฉะนั้น พยัญชนะจึงแสดงไว้โดยละเอียดในการเจริญอินทรีย์ ๕ นั้น ทั้ง สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกละ ถูกละ สารีบุตร ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยมนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต ดูกรสารีบุตร การนอบน้อมอย่างยิ่งที่ภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต เป็นไฉน คือต้องการความสมบูรณ์ของข้อความที่ท่านพระสารีบุตรกราบทูลต่อ ท่านพระสารีบุตรก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ขีณาสพในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ในสมาธิ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การนอบน้อมอย่างยิ่งนี้แล ที่ภิกษุขีณาสพประพฤติในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกละ ถูกละ สารีบุตร การนอบน้อมอย่างยิ่งนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต

ขอให้พิจารณาพยัญชนะอีกครั้งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ภิกษุผู้ขีณาสพในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ในสมาธิ ท่านเป็นพระขีณาสพ เป็นผู้ที่มีกาย วาจา ใจ สงบ ไม่ได้เว้นในการศึกษาเลย ท่านต้องศึกษาพระวินัย เพราะเหตุว่าถ้าท่านไม่ได้ศึกษาพระวินัย ท่านก็อาจจะทำผิดพลาดได้ ในเรื่องระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติไว้ แต่เมื่อท่านเป็นผู้ที่ศึกษาเช่นนี้ ท่านก็ย่อมจะอุปการะทั้งแก่พระวินัยและแก่บุคคลอื่นภายหลังด้วย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 26


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ