มิตรมี ๒ จำพวก คือ มิตรคฤหัสถ์ ๑ มิตรบรรพชิต ๑

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43712
อ่าน  314

ในสูตรนี้ อธิบายคำว่า มิตร ว่ามิตรมี ๒ จำพวก คือ มิตรคฤหัสถ์ ๑ มิตรบรรพชิต ๑ มิตรคฤหัสถ์นั้น ย่อมให้ของซึ่งให้กันยาก ย่อมสละของที่สละกันยากทำกิจที่ทำกันยาก อดทนอารมณ์ที่อดทนกันยาก บอกความลับแก่มิตร ปิดบัง ความลับของมิตร ไม่ละทิ้งในคราวที่มีอันตราย ถึงชีวิตก็ยอมสละเพื่อประโยชน์แก่มิตร เมื่อมิตรยากจนก็ไม่ดูหมิ่น ส่วนลักษณะของมิตรบรรพชิตนั้น ก็อธิบายไว้ว่า ภิกษุเป็นที่เคารพ เป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ เป็นผู้อดทนถ้อยคำ เป็นผู้ทำถ้อยคำลึก ย่อมไม่ชักชวนในเหตุอันไม่ควร ย่อมชักชวนแต่อธิศีลในการขวนขวายบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ย่อมชักชวนในการขวนขวายบำเพ็ญอริยมรรค์มีองค์ ๘ นี้ชื่อว่ามิตรบรรพชิต

สำหรับลักษณะของคนที่มีใจดี ก็มีคำอธิบายว่า การไปสบาย มาสบาย การยืนสบาย นั่งสบาย นอนสบาย พูดสบาย เจรจาสบาย สนทนาสบาย ปราศรัยสบายกับบุคคลใด บุคคลนั้นท่านกล่าวว่า คนที่มีใจดี และในพยัญชนะข้างต้นก็แสดงไว้แล้วว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตรและพวกที่มีใจดี การอนุเคราะห์ท่านก็จะสังเกตุได้ว่า ท่านย่อมอนุเคราะห์มิตรและผู้ที่มีใจดี เพราะเหตุว่า ผู้ใดที่เป็นมิตร ผู้นั้นก็ย่อมรับการอนุเคราะห์ หรือว่าคนที่มีใจดีก็ย่อมจะง่ายแก่การที่จะอนุเคราะห์ด้วย ไม่เหมือนกับผู้ที่ไม่ใช่มิตรแล้ว ก็ผู้ที่ไม่ใช่คนใจดี การอนุเคราะห์ก็อนุเคราะห์กันยากทั้งผู้ที่จะอนุเคราะห์และผู้ที่จะรับการอนุเคราะห์ด้วย แต่ถ้าผู้ใดเป็นมิตรกันก็อนุเคราะห์กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งมิตรคฤหัสถ์ และมิตรบรรพชิต หรือว่าคนที่มีใจดีก็ตาม ก็ย่อมจะมีเหตุการณ์ที่จะทำให้อนุเคราะห์กันเสมอ แต่ต้องระวังในการอนุเคราะห์นั้น อย่าให้ประโยชน์เสื่อมไป การอนุเคราะห์ควรจะเป็นสิ่งที่ดีแน่นอนทีเดียว การให้ การอนุเคราะห์ การสงเคราะห์ให้คนอื่นได้รับความสะดวกสบายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ควรกระทำ แต่ว่าเมื่อจะกระทำก็ควรที่จะไม่ให้ประโยชน์เสื่อมไปด้วย

สำหรับประโยชน์ที่เสื่อมนั้น ก็มีข้อความอธิบายไว้ว่า ได้แก่ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสอง ประโยชน์ชาตินี้ชาติหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง เสื่อมไป อันตธานไป ที่ประโยชน์จะเสื่อมนั้น ก็ต้องเป็นอกุศล ที่อกุศลจะเกิดขึ้นในการ อนุเคราะห์สงเคราะห์นั้น ท่านแสดงว่า ย่อมเป็นผู้มีจิตผูกพัน และในพระสูตรนี้ก็อธิบายว่า การเป็นผู้มีจิตผูกพัน นั้น มีด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ๑ เมื่อตั้งตนไว้ต่ำ ๑ ตั้งคนอื่นไว้สูง ๑ ประการที่ ๒ เมื่อตั้งตนไว้สูง ๑ ตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ๑ เพราะฉะนั้น เวลาให้เวลารับ ก็อาจจะมีความรู้สึกผูกพันว่า ตนเองต่ำบ้าง คนอื่นสูงบ้าง หรือว่าตนเองสูง คนอื่นต่ำบ้าง

เพราะฉะนั้น ข้อความที่อธิบายเรื่องตั้งตนไว้ต่ำ ตั้งคนอื่นไว้สูง และตั้งตนไว้สูงตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ตั้งตนไว้ต่ำ ตั้งคนอื่นไว้สูง คือเมื่อตนเองเป็นฝ่ายรับ ก็ตั้งผู้ให้ไว้ในฐานะสูง ได้แก่ความคิดผูกพันว่า คนอื่นเป็นผู้ให้ ตนเองเป็นผู้รับ ถ้าจิตใจในขณะนั้นผ่องใสเป็นกุศล ก็เป็นความกตัญญูกตเวที ก็ไม่อยู่ในฐานะที่ว่าเป็นผู้มีจิตผูกพัน แต่ถ้าบางครั้งผู้รับเกิดมีความรู้สึกผูกพันว่า ไม่ว่าผู้ให้นั้นจะชักชวนให้เป็นไปในเรื่องของอกุศลก็ตาม ก็ควรที่จะคล้อยตามทำตาม เพราะเหตุว่าตนอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าอยู่ในฐานะที่เป็นผู้รับ ก็ย่อมจะทำให้ประโยชน์ของตนเสื่อม ย่อมทำให้ประโยชน์ชาตินี้ชาติหน้าเสื่อมด้วย เพราะว่าเมื่อผู้ให้ชักชวนไปในทางที่เป็นอกุศล ผู้รับซึ่งมีจิตผูกพันว่าจะต้องเชื่อหรือว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ในฐานะที่เป็นผู้รับก็ทำอกุศลนั้นตาม ก็จะทำให้ประโยชน์เสื่อมได้ หรือว่าในเรื่องของธรรมก็อาจจะเป็นได้ เพราะว่าบางท่านได้รับฟังธรรมจากท่านผู้หนึ่งผู้ใด ก็มีความผูกพันตนเองในฐานะว่าเป็นผู้รับ

ฉะนั้น ความผูกพันนี้ก็อาจจะทำให้จำเป็นต้องเชื่อตามทุกสิ่งทุกอย่าง จำเป็นต้องเชื่อ หรือว่าจะต้องตามประพฤติปฏิบัติตามทุกอย่าง ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยหรือแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล ก็ย่อมทำให้ประโยชน์ตนเสื่อม ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งด้วย ผู้ที่มีความเห็นอย่างพระเทวทัตก็มีเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น เมื่อท่านพระเทวทัตมีความเห็นอย่างไร มีความต้องการที่จะแตกแยกออกไปอย่างไร ผู้ติดตามท่านพระเทวทัต ก็ติดตามไปโดยฐานะที่มีความผูกพันกับท่านพระเทวทัต นี่ก็สำหรับผู้ที่รับ แล้วตั้งตนไว้ต่ำ ตั้งคนอื่นไว้สูง ซึ่งเป็นเรื่องของ อกุศล ไม่ใช่เรื่องของกตัญญูกตเวที

สำหรับข้อความที่ว่า ตั้งตนไว้สูง ตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ในสูตรนี้อธิบายว่าได้แก่การคิดผูกพันว่าตนให้คนอื่นรับ เช่นเพราะเราคนอื่นจึงถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์เป็นต้น เราย่อมบอกบาลีบ้างอรรถกถาบ้าง ศีลบ้าง อุโบสถบ้างแก่ท่านทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนั้นท่านทั้งหลายยังสละฉันไปสักการะ เคารพนับถือ บูชาบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตรและพวกคนที่มีใจดี ย่อมให้ประโยชน์เสื่อมไป ย่อมเป็นผู้มีจิตผูกพัน ถ้าผู้ให้ตั้งคนไว้สูงและตั้งผู้รับไว้ต่ำ ขณะนั้นไม่ใช่การอนุเคราะห์ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ มีความผูกพันว่าผู้รับจะต้องเคารพ นับถือ สักการะตนซึ่งเป็นผู้ให้ นี่ก็เป็นอกุศล เพราะว่าอนุเคราะเพื่ออะไร เพื่อให้บุคคลนั้นมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก เป็นการอนุเคราะห์ที่แท้จริง แต่ไม่ใช่ผูกพันไว้ว่าผู้รับจะต้องมาเคารพมานับถือหรือว่ามาสรรเสริญ เป็นการตั้งตนไว้สูงตั้งคนอื่นไว้ต่ำ เป็น อกุศลไม่ควรมี ถ้าผู้ใดมีก็ควรจะขัดเกลา เพราะเหตุว่าไม่ควรจะเป็นผู้สะสมอกุศล

และสำหรับคำว่าภัย เพราะข้อความนั้นมีว่า บุคคลนั้นเมื่อเห็นภัยนั้นในความสนิทสนม พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้นคำว่า ภัย ได้แก่ ชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย ภัย คือ การติเตียนตน ภัย คือ การติเตียนของผู้อื่น ภัย คือ อาชญา ภัย คือ ทุคคติ เป็นต้น เวลานี้ที่เราต้องเกิดกันอยู่เรื่อย ก็เพราะเหตุว่า ยังมีกิเลสยังมีอกุศลอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความผูกพัน แม้ในการให้ แม้ในการรับก็เป็นกิเลส เป็นอกุศล ซึ่งย่อมไม่พ้นจากภัยคือการเกิด

และสำหรับคำว่าภัย เพราะข้อความนั้นมีว่า บุคคลนั้นเมื่อเห็นภัยนั้นในความสนิทสนม พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้นคำว่า ภัย ได้แก่ ชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย ภัย คือ การติเตียนตน ภัย คือ การติเตียนของผู้อื่น ภัย คือ อาชญา ภัย คือ ทุคคติ เป็นต้น เวลานี้ที่เราต้องเกิดกันอยู่เรื่อย ก็เพราะเหตุว่า ยังมีกิเลสยังมีอกุศลอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความผูกพัน แม้ในการให้ แม้ในการรับก็เป็นกิเลสเป็นอกุศล ซึ่งย่อมไม่พ้นจากภัย คือการเกิด เมื่อเกิดก็ไม่พ้นจากภัยคือความแก่ ไม่พ้นจากภัยคือโรคภัยไข้เจ็บพยาธิต่างๆ ไม่พ้นจากภัยคือความตาย และบางท่านยังมีชีวิตวนเวียนในวัฏฏะ ก็ไม่มีใครทราบแน่ว่ามีราชภัย โจรภัย อัคคีภัยเกิดกับแต่ละบุคคลเมื่อไร และภัยที่ละเอียดกว่านั้นก็คือการติเตียนตน อกุศลมีมากทีเดียวและเวลาที่ได้กระทำไม่ว่าจะเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา แม้แต่อกุศลที่เกิดกับใจ ผู้ที่มีสติรู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นสภาพธรรมที่น่ารังเกียจ เกิดหิริความรังเกียจในอกุศลนั้น มีโอตตัปปะความเห็นภัยแม้ในอกุศลที่เล็กน้อยเช่นนั้น ก็ย่อมติเตียนตนที่ได้มีกาย วาจา หรือมีจิตที่เป็นอกุศลเช่นนั้น นอกจากนั้นก็ยังมีการติเตียนของผู้อื่น หรือว่าย่อมได้รับภัยคืออาชญา และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือภัย คือ ทุคติได้แก่อบายภูมิ คงไม่มีใครที่ต้องการจะไปทุคติอบายภูมิเป็นแน่ แต่ถึงจะอยากไปไม่อยากไปอย่างไรก็ตาม ถ้ามีทุจริตกรรมแล้วละก็ ย่อมเป็นเหตุที่จะให้ปฏิสนธิในทุคติ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลก็จะไม่ทำให้ปฏิสนธิในทุคติอบายภูมิเลย นี่ก็เป็นเรื่องภัยของกิเลสอกุศล ซึ่งถ้าผู้ใดพิจารณาตนเองมากก็ยิ่งมีโอกาส ที่จะขัดเกลากิเลสละเอียดมากขึ้น

สำหรับในเรื่องของ ความสนิทสนมก็มี ๒ อย่าง คือ ความสนิทสนมด้วย อำนาจตัณหา ๑ ความสนิทสนมด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑ เมื่อเห็นภัยในความสนิทสนม พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น ทุกท่านก็ย่อมจะมีผู้ที่มีความคุ้นเคยสนิทสนม ซึ่งท่านก็พอจะแยกได้ว่าผู้ที่ท่านคุ้นเคยสนิทสนมนั้น ท่านคุ้นเคยสนิทสนมด้วยอำนาจของตัณหาหรือด้วยอำนาจของทิฏฐิ อย่างญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่มีความสนิทสนม อันนี้ก็เห็นได้ชัดว่าด้วยอำนาจตัณหา เพราะเหตุถึงแม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคลไม่มีความเห็นผิดก็ตาม แต่ก็ยังมีโลภะ ยังมีความสนิทสนม อันนี้ท่านผู้ฟังก็คงจะพิจารณาได้เรื่องของจิตใจของท่านเอง แล้วท่านก็จะได้เห็นจริงๆ ว่าความสนิทสนมนั้น บางฐานะบางบุคคลก็เป็นความสนินสนม ด้วยอำนาจของตัณหา แต่ท่านไม่ได้มีแต่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ท่านยังมีความสนใจในธรรมด้วย แล้วท่านก็จะสังเกตได้จริงๆ ว่าความสนใจในธรรมนั้น ย่อมแล้วแต่ทิฏฐิคือความเห็น ผู้ใดที่พอใจในความเห็นอย่างไร ก็สนิทสนมกับบุคคลที่มีความเห็นอย่างนั้น ไม่สนิทสนมกับบุคคลอื่นซึ่งมีความเห็นคนละอย่าง หรือว่ามีความเห็นตรงกันข้าม ฉะนั้น ความสนิทสนมด้วยอำนาจของทิฏฐิ ถ้าเป็นการทำให้ประโยชน์ตนเสื่อมทั้งชาตินี้ชาติหน้า ก็หมายความถึงความสนิทสนมด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด เพราะว่าถ้าเป็นด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิไม่เป็นโทษไม่เป็นภัย พระภิกษุในสำนักพระผู้มีพระภาค ท่านพระสารีบุตร ท่านพระโมคคัลลานะ ท่านพระอานนท์ ท่านพระมหากัสสป ท่านก็มีความสนิทสนมกลมเกลียวกัน ไม่เป็นโทษไม่เป็นภัย ไม่ใช่ด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิ เพราะเหตุว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นถูกเสมอกัน

สำหรับบุคคลในครั้งนี้ ก็ย่อมจะมองเห็นได้ว่า ท่านมีความสนิทสนมในเรื่องของความเห็นกับบุคคลใด ลองพิจารณาความเห็นของท่านกับบุคคลนั้นว่าคล้ายคลึงกันหรือไม่ สอดคล้องกันหรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่จึงได้สนิทสนมกันทำไมท่านไม่สนิทสนมกับบุคคลอื่น อาจจะเป็นเพราะว่าความคิดเห็นไม่ตรงกันฉะนั้น เรื่องของภัยของความเห็นผิดก็เป็นสิ่งซึ่งมีอันตรายมากทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเชื่อผิด มีความเห็นผิด ความดำริก็ผิด วาจาก็ต้องผิดตามไปด้วย เพราะฉะนั้นก็ จะเห็นได้ว่าคำพูดใดๆ ก็ตาม ส่องไปถึงความเห็นและความดำริของผู้นั้น ฉะนั้น ในมรรค์มีองค์ ๘ จึงมีทั้งสัมมามรรค์ ๘ และมิจฉามรรค์ก็ ๘ เหมือนกัน สัมมามรรค์ก็เป็นความเห็นถูก เวลาที่มีความเห็นถูกเกิดขึ้น ความดำริก็ถูก คำพูดวาจาก็ถูก ความเพียรก็ถูก การเจริญสติก็ถูก แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด ความดำริก็ผิด คำพูดคำแนะนำก็ผิด ซึ่งท่านก็แสดงไว้ว่า อุปมาเหมือนกับการปลูกสะเดาและเถาบอระเพ็ดล้อมรอบต้นมะม่วง รากและกิ่งของมะม่วงเกี่ยวพันกับรากและกิ่งของสะเดาและเถาบอระเพ็ด รสมะม่วงก็เลยกลายเป็นรสขมคล้ายใบสะเดา

เพราะฉะนั้น การอยู่กับคนพาลเห็นผิด ก็เหมือนกับอยู่ร่วมกับศัตรูหรือสัตว์ร้าย ส่วนการคบกับบัณฑิตนั้น ก็เหมือนสมาคมกับหมู่ญาติ ซึ่งมีแต่จะนำความสุขมาให้ แต่คบกับคนพาลนั้นท่านอุปมาว่า เหมือนกับการอยู่ร่วมกับศัตรูหรือสัตว์ร้าย เพราะเหตุว่าถ้ามีความเห็นผิด ก็ย่อมจะทำให้เสื่อมจากประโยชน์ทั้งชาตินี้ ชาติหน้า บุคคลที่ทำความเสื่อมให้ ผู้นั้นจะเป็นมิตรหรือว่าเป็นศัตรู เรื่องโทษของคนพาล ใน ขุททกนิกาย ปราภวสูตร ที่ ๖ มีข้อความว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นเมื่อปฐมยามสิ้นไปแล้ว เทวดาท่านหนึ่ง มีรัศมีอันงดงามยิ่ง ทำพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ข้าพระองค์มาเพื่อจะทูลถามถึงคนผู้เสื่อมและคนผู้เจริญ กับท่านพระโคดม จึงขอทูลถามว่า "อะไรเป็นทางของคนเสื่อม" พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม ผู้ใคร่ธรรมเป็นเจริญ ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม เพราะเหตุนั้นแล จงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๑" เทวดาก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๒ "อะไรเป็นทางของคนเสื่อม" พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "คนมีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่กระทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล จงทราบข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้น เป็นที่ ๒" เทวดากราบทูลถามถึงทางของคนเสื่อม ทางของคนเจริญอีกหลายประการ แต่จะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม" ไม่ใช่ผู้ไม่รู้ แต่รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม "ผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม"

ท่านที่ใคร่ธรรม คือท่านที่ไม่ละเลยการที่จะฟังธรรม พิจารณาธรรมใคร่ครวญศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงด้วย อย่าเพียงแต่ฟังแล้วเชื่อ แต่ว่าไม่ว่าท่านผู้ใด จะกล่าวธรรมใดก็ตาม เมื่อฟังแล้วควรพิจารณา แล้วก็สอบทานกับพระวินัยด้วย อย่าให้ต่างคนต่างคิดว่าพระธรรมวินัยนั้นมีมากเหลือเกิน เรียนไม่ไหว ไม่มีเวลาพอที่จะศึกษาค้นคว้า แต่ขอให้เราทุกคนคิดว่า แต่ละคนควรจะช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อจะให้เข้าใจธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดที่จะกล่าวว่าข้อความนั้นผิด ก็ควรที่จะอ้างด้วยว่าผิดจากข้อใด ตอนใด ในพระวินัย ในพระสูตร หรือในพระอภิธรรม ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวเฉยๆ ว่าผิด หรือกล่าวเฉยๆ ว่าถูก แต่ควรจะมีข้อเทียบเคียงพิสูจน์พิจารณาอ้างอิง พร้อมทั้งเหตุผลด้วยว่าผิดกับข้อความใดถูก หรือตรงกับข้อความใดด้วย นอกจากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า คนมีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่กระทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก ชอบใจธรรมของ อสัตบุรุษ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม พระผู้มีพระภาคไม่ใช่อสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น ธรรมใดๆ ที่ได้ฟังเทียบเคียงกับพระไตรปิฏก ถ้ามีเหตุผลตรงตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง นั่นก็เป็นธรรมของสัตบุรุษ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 28

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 29


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ