ฆตวาอวชานาติสูตร กล่าวถึง บุคคล ๕ จำพวกมีปรากฏในโลก

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43713
อ่าน  228

ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ฆตวาอวชานาติสูตร มีข้อความว่า บุคคล ๕ จำพวกมีปรากฏในโลก คือ

บุคคลย่อมให้แล้วดูหมิ่น ๑

บุคคลย่อมดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน ๑

บุคคลเป็นผู้เชื่อง่าย ๑

บุคคลเป็นผู้โลเล ๑

บุคคลเป็นผู้เขลา หลง งมงาย ๑

มีประโยชน์ไหมคะพระสูตรนี้ มีประโยชน์สำหรับใคร ไม่ใช่ไปแก้ไขคนอื่น แต่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ฟัง อ่าน ศึกษาพิจารณาตนเองว่า จะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดในบุคคลที่ปรากฏในโลก ๕ จำพวก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในที่นี้บ้างหรือไม่

บุคคลที่ ๑ บุคคลย่อมให้แล้วดูหมิ่น คือเมื่อให้อะไรใครก็คิดว่า เราเป็นผู้ให้ คนอื่นเป็นผู้รับ ตั้งตนไว้สูงในฐานะที่เป็นผู้ให้ ตั้งผู้อื่นไว้ต่ำในฐานะที่เป็นผู้รับ ขณะใดที่เกิดความรู้สึกอย่างนี้ ขอให้ทราบว่าเป็นอกุศลจิต การให้เป็นการดี แต่ก็ควรจะดีบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยการที่ให้แล้วอย่าดูหมิ่น เพราะว่าในชีวิตของแต่ละคนก็ย่อมจะต้องมีการให้บ้าง การรับบ้างอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าไม่มีพระธรรมที่แสดงไว้ บางครั้งจิตใจอาจจะหลงไปเผลอไป ฉะนั้น ก็ทำให้ไม่ได้สังเกตจิตใจของตนว่าในขณะนั้น ได้มีความรู้สึกดูหมิ่นผู้รับบ้างหรือเปล่า แต่ถ้าได้พิจารณาสูตรนี้แล้วก็จะได้เห็นว่า บุคคล ๕ จำพวกนี้ ไม่ควรที่จะเป็นตัวท่าน ควรที่จะได้ขัดเกลามากๆ ก็จะได้ระลึกได้ทุกครั้งที่ให้สิ่งใดก็อย่าเป็นผู้ให้แล้วดูหมิ่น

บุคคลจำพวกที่ ๒ ย่อมดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน เวลาที่คุ้นเคยกันมากขึ้น ก็อาจจะดูหมิ่นกัน อันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งอาจจะมีได้ คือธรรมไม่ใช่นอกโลก แต่ว่าทุกชีวิตจริงๆ ที่มีอยู่ในโลก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างละเอียดทีเดียว ไม่ใช่พระองค์ทรงรู้แจ้งแต่ธรรมขั้นสูงที่เป็นโลกุตตระ แต่ไม่ว่าจิตใจของใคร จะมีความรู้สึก มีกิเลสมากน้อยหนาแน่นเบาบางสักเท่าไร เป็นไปเพราะเหตุใด พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้ง และทรงแสดงธรรมไว้ เพื่อให้มีการขัดเกลากิเลสให้มาก แม้ว่าจะเป็นการดูหมิ่นเพราะว่าคุ้นเคยกัน เพราะสนิทสนมกัน เพราะอยู่ร่วมกัน นั่นก็เป็นธรรมที่เป็นอกุศลที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น เพราะว่าธรรมที่เป็นกุศลนั้นคือการนอบน้อม การแสดงความเคารพ ไม่ใช่การดูหมิ่น

บุคคลจำพวกที่ ๓ คือ บุคคลเป็นผู้เชื่อง่าย ข้อนี้ก็คือ เวลาที่มีผู้ใดกล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่น ผู้นั้นก็ย่อมน้อมใจเชื่อโดยเร็วพลัน อันนี้ก็แสดงลักษณะว่าเป็นบุคคลผู้เชื่อง่าย เพราะเหตุว่าคุณและโทษของผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ฟัง แล้วก็จะเป็นจริงตามคำพูดที่ได้ยินได้ฟัง แต่จะต้องอาศัยการพิจารณา พิจารณาจากกาย พิจารณาจากทางวาจา พิจารณาจากจิตใจ หรือว่าหลักธรรมต่างๆ อันนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เวลาที่ยังมีผู้หนึ่งผู้ใด กล่าวถึงคุณและโทษของผู้อื่นนั้น เราเป็นผู้ที่น้อมใจเชื่อโดยเร็วพลันหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของธรรมก็จะเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่าบางท่านนั้น เวลาที่ได้ฟังผู้ใดสรรเสริญคุณธรรม อาจเป็นอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็เชื่อทันที น้อมใจเชื่อโดยเร็วพลัน ไม่ได้คำนึงถึงว่าอิทธิปาฏิหารย์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น เป็นผลซึ่งเนื่องมาจากเหตุอย่างไร ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ผลนั้นก็จะเป็นความจริงไป ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ไตร่ตรอง ไม่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะกล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่น ก็ต้องพิจารณาก่อน ไม่ใช่ผู้ที่น้อมใจเชื่อโดยเร็วพลัน

บุคคลจำพวกที่ ๔ บุคคลเป็นผู้โลเล ที่ว่าเป็นผู้โลเล คือเป็นผู้ที่มีสัทธาเล็กน้อย มีความภักดีเล็กน้อย มีความเลื่อมใสเล็กน้อย สัทธาหรือความเลื่อม ใสในพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายความถึงสัทธาหรือความเลื่อมใสในบุคคล เพราะว่าสัทธาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา เป็นสัทธาในธรรมในเหตุผล ไม่ใช่ในบุคคล พุทธบริษัทมีสัทธาในพระผู้มีพระภาค เพราะพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ เป็นสัทธาในคุณธรรมที่เลิศยิ่งกว่าบุคคลใด ผู้ที่มีสัทธาน้อยนั้น คือผู้ที่ไม่ได้มีสัทธาพร้อมด้วยปัญญา จึงกล่าวว่าเป็นผู้ที่มีสัทธาเล็กน้อย ถ้ามีสัทธาพร้อมด้วยปัญญา คือสัทธาพิจารณาในเหตุในผลในธรรม สัทธานั้นหนักแน่นเพิ่มขึ้นมากขึ้น เพราะว่าไม่ใช่สัทธาในบุคคล แต่เป็นสัทธาที่พร้อมด้วยเหตุพร้อมด้วยผล ที่ได้พิจารณาไตร่ตรอง สัทธานั้นจึงเป็นสัทธาที่มีกำลัง ไม่ใช่เป็นผู้ที่โลเล

อันนี้ก็จำเป็นที่แต่ละท่านก็จะต้องพิจารณาดู ว่าท่านเป็นผู้ที่โลเลไหม ถ้าท่านเป็นผู้มีสัทธาน้อยเป็นเพราะเหตุใด เพราะว่าท่านไม่ได้พิจารณาธรรม ไม่ได้ฟังมากไม่ได้ศึกษามาก เพราะฉะนั้น บางทีบางครั้งความเชื่อของท่านก็คลอนแคลนและเปลี่ยนแปลงไปได้ เหมือนอย่างบางท่านพุทธศาสนิกชนบางคน ก็ยังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นได้ เพราะเหตุใด ถ้าได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดประพฤติปฏิบัติตาม รู้แจ้งธรรม ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ โดยโลกุตตรสรณคมน์ หมายความว่าเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ผู้นั้นจะไม่มีการเปลี่ยนอีก แต่เพราะเหตุว่าเป็นผู้ขาดการศึกษา ขาดความเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ยังคงเปลี่ยนความคิดเห็นหรือความเชื่อได้

บุคคลจำพวกที่ ๕ คือ บุคคลเป็นผู้เขลา หลงงมงาย บุคคลซึ่งเป็นผู้เขลาหลงงมงายนั้น ย่อมไม่รู้กุศลธรรม และอกุศลธรรม ย่อมไม่รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ ย่อมไม่รู้ธรรมที่เลวและประณีต ย่อมไม่รู้ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว บางท่านก็ยังไม่ได้พิจารณาถึงความละเอียดของธรรมว่า ท่านรู้ลักษณะสภาพของธรรมฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศลถูกต้องหรือยัง หรือว่ารู้ว่าธรรมใดมีโทษ ธรรมใดไม่มีโทษ อย่างสติเป็นธรรมฝ่ายกุศลหรือว่าเป็นธรรมฝ่ายอกุศล เป็นธรรมที่มีโทษหรือว่าเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ พอที่จะตัดสินใจได้แน่นอนหรือยัง ว่าควรเจริญหรือไม่ควรเจริญสติ หรือบางครั้งบางขณะควรจะเว้นไม่เจริญสติ ถ้าเป็นในลักษณะนั้นละก็สติไม่ใช่ธรรมที่เป็นกุศลถ้าจะต้องเว้น แต่ในพระไตรปิฏกไม่ได้เคยมีในที่ใดกล่าวไว้เลยถึงโทษของสติ และธรรมของพระผู้มีพระภาคจะเห็นได้ว่าขัดเกลาตลอดหมดทั้ง ๓ ปิฏกแล้วก็ขัดเกลากิเลสละเอียดอย่างยิ่งเพียงใดนั้น ก็จะขอกล่าวถึง

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วนสังยุตต์ ปทุมปุพพสูตร มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้น ภิกษุนั้นกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาฉันท่านก็ลงสู่สระโบกขรณี แล้วสูดดมดอกปทุม คือ ดมดอกบัว ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้นมีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์แก่ภิกษุนั้น หวังจะให้เธอสลด จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 29


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ