ธรรมของพระผู้มีพระภาค ขัดเกลากิเลสละเอียดอย่างยิ่ง

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43714
อ่าน  262

ธรรมของพระผู้มีพระภาคจะเห็นได้ว่าขัดเกลาตลอดหมดทั้ง ๓ ปิฏกแล้วก็ขัดเกลากิเลสละเอียดอย่างยิ่งเพียงใดนั้น ก็จะขอกล่าวถึง

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วนสังยุตต์ ปทุมปุบผสูตร มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ภิกษุนั้นกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาฉัน ลงสู่สระโบกขรณีแล้วสูดดมดอกปทุม คือ ดมดอกบัว ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ภิกษุนั้น หวังจะให้เธอสลด จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะเธอด้วยคาถาว่า ท่านสูดดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำซึ่งใครๆ ไม่ได้ให้แล้ว นี้เป็นองค์อันหนึ่งแห่งความเป็นขโมย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่นฯ ความละเอียดของกิเลสที่จะต้องขัดเกลา เพียงแค่ดมดอกบัวที่เกิดในสระโบกขรณีเท่านั้น แต่เมื่อเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส คือ โลภะ เทวดาซึ่งมีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์ ก็ได้กล่าวคาถาเพื่อให้ภิกษุนั้นระลึกได้ โดยกล่าวว่า ท่านสูดดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำซึ่งใครๆ ไม่ได้ให้แล้ว นี้เป็นองค์อันหนึ่งแห่งความเป็นขโมย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเทวดาจึงมากล่าวหาว่าท่านเป็นผู้ขโมย ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ได้ทำอะไร ท่านไม่ได้เอาอะไรไปด้วย พระภิกษุก็กล่าวตอบว่า เราไม่ได้นำไป เราไม่ได้หัก เราดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำห่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านจะเรียกว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่นด้วยเหตุดังฤๅ ส่วนบุคคลที่ขุดเง่าบัว หักดอกบัวบุณฑริกเป็นผู้มีการงานอันเกลื่อนกล่นอย่างนี้ ไฉนท่านจึงไม่เรียกเขาว่าเป็นขโมยฯ

พวกชาวบ้านที่ไปขุดเง่าบัวหรือหักดอกบัว ทำไมเทวดาไม่เรียกบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นขโมย แต่ท่านเพียงแต่ดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำห่างๆ ทำไมจึงกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น เทวดาก็กล่าวตอบว่า บุรุษผู้มีบาปหนา แปดเปื้อนด้วยราคาทิกิเลสเกินเหตุ เราไม่พูดถึงคนนั้น แต่เราควรจะกล่าวกะท่าน บาปประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏแก่บุรุษผู้ไม่มีกิเลส ดังว่าเนิน ผู้มักแสวงหาไตรสิกขาอันสะอาดเป็นนิจ ประดุจเท่าก้อนเมฆในนภากาศฯ คือ ความห่างไกลกันของเพศบรรพชิตกับฆราวาส เมื่อท่านเป็นผู้ที่แสวงหาไตรสิกขา โทษเพียงเล็กน้อยของท่านนั้น ก็ปรากฏดังว่าเนิน หรือว่าเท่ากับก้อนเมฆในอากาศทีเดียว พระภิกษุก็กล่าวตอบเทวดาว่า ดูก่อนเทวดา ท่านรู้จักเราแน่ละ และท่านเอ็นดูเรา ดูก่อนเทวดา ท่านเห็นกรรมเช่นนี้ในกาลใด ท่านพึงกล่าวอีกในกาลนั้นเถิดฯ

สติเกิดขึ้นหรือยังในตอนนี้ ระลึกได้หรือยังว่า ผู้ที่กล่าวคาถาเช่นนั้น เป็นผู้ที่หวังดี เป็นบัณฑิต หรือว่าเป็นคนพาลที่เป็นศัตรู ถ้ามีสติระลึกได้ ก็รู้ได้ทีเดียวว่า ผู้ที่กล่าวเช่นนั้น เป็นผู้ที่เอ็นดูท่าน เพราะฉะนั้น สติของท่านก็เกิดต่อ โดยการกล่าวว่า ท่านเห็นกรรมเช่นนี้ในกาลใด ท่านพึงกล่าวอีกในกาลนั้นเถิด หมายความว่า ถ้าท่านได้กระทำเช่นนี้อีกเมื่อไร ก็ขอให้เทวดานั้นกล่าวคาถาที่เป็นข้อเตือนใจท่านเช่นนี้อีก นี่เป็นเรื่องของสติ ซึ่งไม่เพียงแต่ระลึกได้ว่า สิ่งนั้นไม่ควร แต่ยังมีสติใคร่ที่จะขอให้ผู้อื่นได้กล่าวคาถาเตือนท่านเช่นนั้นอีก แต่เทวดาจะกล่าวว่าอย่างไร เพราะเหตุว่าบางครั้งการที่จะเอ็นดู อนุเคราะห์ผู้อื่นนั้น ก็อาจจะต้องใช้คำพูดซึ่งฟังดูเหมือนรุนแรงสักหน่อยว่า ท่านมีเจตนาดีและรู้ว่าทำเช่นนั้นจะเป็นการอนุเคราะห์อุปการะให้ผู้นั้นมีความสลดมากขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องกล่าว คำใดที่เป็นคำจริง อาจจะไม่น่าฟัง แต่ว่าประกอบด้วยประโยชน์ คำนั้นแม้ว่าจะเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ แม้พระผู้มีพระภาคก็ตรัสคำนั้น เทวดาก็กล่าวตอบภิกษุนั้นว่า เราไม่ได้อาศัยท่านเป็นอยู่เลย และเราไม่ได้มีความเจริญ เพราะท่าน ดูก่อนภิกษุ ท่านพึงไปสุคติได้ด้วยกรรมที่ท่านพึงรู้ฯ ความหมายว่า ใครก็อาศัยใครไม่ได้ทั้งนั้น ใครทำกรรมดีก็ย่อมได้รับผลของกรรมดีนั้น ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้นเป็นผู้อันเทวดานั้นให้สลด ถึงซึ่งความสังเวชแล้วแลฯ ผู้ที่มีสติ สติย่อมอุปการะทำให้ระลึกได้ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำ ภาษิตสั้นๆ ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 29

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 30


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ