ถ้าเหตุถูกก็เป็นทางที่จะให้ผลที่ถูกต้องเกิดขึ้นได้

 
สารธรรม
วันที่  7 ก.ย. 2565
หมายเลข  43725
อ่าน  358

ถ. ผู้ที่จะรู้ว่า สติและปัญญาจะเกิดได้ ก็อย่างเสียงนี้ก็มี ก็เคยเรียนอาจารย์แล้ว ก็มีอยู่ รู้กันอยู่ทุกคน ไปถามเขาก็เล่าให้ฟังอย่างนี้ เขาบอกว่าฟังอาจารย์มานี้ เสียงก็มี เย็น ร้อน อ่อน แข็งอะไรก็มี ก็มีทั้งนั้น แต่คำว่าขั้นปัญญาเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อไปอีก นี่อีกอย่างหนึ่ง เพียงรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น โลภะก็มี โทสะก็มี บางครั้งก็มี บางครั้งก็เฉยๆ แต่หยุดเพียงแค่รู้เท่านั้น คำว่าปัญญาที่จะรู้ซึ้งขึ้นไปอีก เขาบอกว่าเขายังรู้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะแปลว่าอย่างไร

สุ. เขายังรู้ไม่ได้ เพราะว่าเขาเจริญเหตุถูกต้องกับผลหรือไม่ ผลทุกอย่างที่จะเกิดก็ต้องเกิดเพราะเหตุ ถ้าเหตุผิดผลก็ผิด ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็ไม่ได้รู้อะไร ถ้าเหตุถูกก็เป็นทางที่จะให้ผลที่ถูกต้องเกิดขึ้นได้

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค รโหคตสูตร ที่ ๑ ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้น ท่านหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกขึ้นในใจอย่างนี้ว่า

สติปัฏฐาน ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เบื่อแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่า เบื่ออริยมรรค ที่จะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

สติปัฏฐาน ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปรารภแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรค ที่จะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ รู้ความปริวิตกในใจของท่านพระ อนุรุทธะด้วยใจ จึงไปปรากฏในที่เฉพาะหน้าท่านพระอนุรุทธะเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า ดูกร ท่านอนุรุทธะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงจะชื่อว่าปรารภ สติปัฏฐาน ไม่น่าที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะจะถามท่านพระอนุรุทธะ แต่ท่านถามเพื่อให้เห็นว่า เป็นพระอรหันต์ที่ถามพระอรหันต์ เป็นคำตอบที่พระอรหันต์ตอบพระอรหันต์ ซึ่งไม่น่าจะถามเลย แต่เพื่อที่ให้ผู้ฟังในภายหลังไม่เข้าใจผิด ไม่คลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ได้ถามพระอนุรุทธะว่า ดูกร ท่านอนุรุทธะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงจะชื่อว่า ปรารภสติปัฏฐาน ดีใช่ไหม เพราะว่าจะได้ทราบว่า ใครเจริญสติปัฏฐาน ใครไม่เจริญสติปัฏฐานผู้ใดปรารภสติปัฏฐาน ผู้ใดไม่ปรารภสติปัฏฐาน ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า

ดูกร ผู้มีอายุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกาย ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมไปในกาย ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและเสื่อมไปในกาย ในภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูกร ผู้มีอายุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกาย ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมไปในกาย ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและเสื่อมไปในกาย ในภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ข้อความต่อไปมีว่า ภิกษุนั้น ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้มีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้มีความสำคัญว่า ไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญว่า ไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้เว้นขาดสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลทั้งสองนั้น แล้วมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ ในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ แล้วต่อจากนั้นท่านกล่าวถึง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในเวทนา ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมไปในเวทนา ในภายในอยู่พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในเวทนา ในภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในเวทนา ในภายนอกอยู่ฯลฯ ต่อไปเรื่อยๆ รวมทั้ง เป็นผู้มีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูล และไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลด้วย

และต่อจากนั้น ก็เป็นข้อความที่ว่า ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในจิต ในภายในฯลฯ ต่อไปเรื่อยๆ ในภายนอก รวมทั้งสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูล และสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าปฏิกูล แล้วต่อจากนั้นก็เป็นข้อความว่า ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในธรรมทั้งหลาย ในภายใน ต่อไปถึงในภายนอก พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

และต่อจากนั้นก็เป็นข้อความเรื่อง สำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูล และสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นปฏิกูล ก็ย่อมเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ ดูกร ท่านผู้มีอายุ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่า ปรารภสติปัฏฐาน ๔ ให้เว้นอะไรหรือไม่ แล้วท่านจะเว้นเองได้ไหม ไม่พิจารณาสิ่งโน้นสิ่งนี้ พิจารณาแต่เฉพาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วจะละได้ไหม ในเมื่อผู้ที่ปรารภสติปัฏฐานนั้น พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เจริญความรู้ เพื่อละความไม่รู้ และไม่ได้มีข้อความเรื่องสถานที่เลย ผู้ที่ชื่อว่าปรารภสติปัฏฐาน คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ไม่ได้มีข้อความที่ท่านพระอนุรุทธะกล่าวเรื่องของสถานที่

แต่ผู้ใดก็ตามเป็นผู้ปรารภสติปัฏฐาน เมื่อพิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา พิจารณาจิตในจิต พิจารณาธรรมในธรรมขณะไหนก็ได้ ถ้าท่านเป็นบรรพชิตอยู่ ณ สถานที่ใด มีเห็น มีได้ยิน มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ มีธัมมารมณ์ ท่านก็พิจารณาในขณะนั้น ถ้าท่านเป็นฆราวาส ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ใช่หลอกตัวเอง ไม่ใช่ไปสร้างอะไรขึ้นมารู้ แต่เวลาที่ท่านมีชีวิตปกติธรรมดาแล้วไม่มีปัญญา ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่เป็นตัวท่านจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะละได้ เพราะเหตุว่าท่านยังผูกพันในบ้านเรือน ในวงศาคณาญาติ ท่านไม่ใช่บรรพชิตผู้ละโภคสมบัติน้อยบ้างมากบ้าง ละวงศ์ญาติเล็กบ้างใหญ่บ้าง ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แต่ท่านไม่ใช่อย่างนั้น

ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่จะทำให้ได้ฟังพระดำริของพระโพธิสัตว์ ในชาติที่เป็นพระมหาชนก จะเห็นความคิดของพระโพธิสัตว์ที่มีความหน่ายในชีวิตของฆราวาส

ขุททกนิกาย ชาดก มหาชนกชาดก (มหานิบาตชาดก) มีข้อความว่า

เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ ซึ่งนายช่างผู้ฉลาดจัดการสร้างแบ่งไว้เป็นส่วนๆ ออกบวชได้ ทั้งที่เป็นพระนครอันบริบูรณ์ จัดสร้างไว้เป็นส่วนๆ มีความเพียบพร้อม สมบูรณ์ มีปราสาทราชมณเฑียรต่างๆ แต่พระโพธิสัตว์ก็ยังมีพระดำริว่า

เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละวิเทหรัฐอันบริบูรณ์ มีการสะสมธัญญาหาร เป็นต้น ไว้พร้อมมูล อันพระเจ้าวิเทหราชทรงปกครองโดยธรรมออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละพระราชมณเฑียรอันรื่นรมย์ มีกลิ่นหอมจรุงใจ ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละบัลลังก์ทอง อันลาดด้วยผ้าโกเชาว์อย่างวิจิตร ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าโขมพัสตร์ ผ้าโกทุมพรพัสตร์ ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละสระโบกขรณี อันน่ารื่นรมย์ มีนกจากพรากมาส่งเสียงพร่ำเพรียกอยู่ ดารดาษด้วยดอกมณฑา ดอกปทุม และดอกอุบล ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละรถทอง มีเครื่องครบครัน ติดธงประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนายสารถีสวมเกราะ ถือธนู ขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละพวกราชบุตร ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมเกราะอันวิจิตร กล้าหาญ ถือกฤชทอง ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละหมู่พราหมณ์ผู้ครองผ้า ประดับประดาลูบไล้ตัว ด้วยจุรณจันทน์เหลือง ทรงผ้าเนื้อดี อันมาแต่แคว้นกาสี ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละหมู่อำมาตย์ ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมเกราะเหลือง กล้าหาญ เดินไปข้างหน้า เป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละนางสนมกำนัล ประมาณ ๗๐๐ คน ผู้ละมุนละไม สะโอด สะอง ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละนางสนมกำนัล ประมาณ ๗๐๐ คน ผู้ว่านอนสอนง่าย เจรจาไพเราะน่ารัก ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละถาดทองคำหนัก ๑๐๐ ปัลละ จำหลักลวดลายตั้ง ๑๐๐ ออกบวชได้

เมื่อไรผู้ซึ่งเคยติดตามเรา จึงจะไม่ติดตามเรา

เมื่อไรเราจึงจักได้ปลงผม ห่มผ้าสังฆาฏิ อุ้มบาตร เที่ยวบิณฑบาตไป

เมื่อไรเราจึงจักทรงผ้าสังฆาฏิ อันทำด้วยผ้าบังสุกุลซึ่งเขาทิ้งไว้ที่หนทางใหญ่

เมื่อไรเมื่อฝนตกตลอด ๗ วัน เราจึงจักมีจีวรเปียกชุ่ม เที่ยวบิณฑบาต

เมื่อไรเราจึงจักได้จาริกไปตามต้นไม้ ตามราวป่า ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน เที่ยวไปโดยไม่ต้องห่วงหลัง

เมื่อไรเราจึงจักละความกลัวและความขลาดได้เด็ดขาด เที่ยวไปผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง ตามซอกเขาและลำธาร

เมื่อไรเราจึงจักได้ทำจิตให้ตรง ดังคนดีดพิณ ดีดสายพิณทั้ง ๗ สาย ให้เป็นเสียงรื่นรมย์ใจ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

เมื่อไรเราจึงจักตัดเสียได้ซึ่งกามสังโยชน์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เหมือนช่างหนังตัดรองเท้าโดยรอบ ฉะนั้นเคยคิดอย่างนี้ไหม ไม่ใช่ว่าปกติก็ผูกพัน ชอบไว้เต็มเลย แต่แล้วก็จะไปละชั่วคราวด้วยความต้องการ แต่ใจจริงๆ นั้นไม่เคยหน่ายเลย ผูกไว้แน่นทีเดียว แต่จะไปทำ ได้แล้วจะกลับมา นี่ไม่ตรง ไม่ถูกตามเหตุผลเลย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 34

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 35


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ