พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอุโบสถ มี ๓ อย่าง

 
สารธรรม
วันที่  7 ก.ย. 2565
หมายเลข  43733
อ่าน  488

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อุโปสถสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของอุบาสิกา วิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี วิสาขาอุบาสิกาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านมาแต่ไหน ยังวันอยู่ วิสาขาอุบาสิกาก็ได้กราบทูลว่า วันนี้เข้าจำอุโบสถ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอุโบสถ มี ๓ อย่าง ให้วิสาขาอุบาสิกาฟัง อุโบสถ ๓ ประการนั้นคือ

โคปาลกอุโบสถ ๑ นิคัณฐอุโบสถ ๑ อริยอุโบสถ ๑

ท่านที่รักษาอุโบสถควรทราบว่าอุโบสถของท่านเป็นอุโบสถประเภทไหน และอุโบสถประเภทไหนเป็นอุโบสถที่มีประโยชน์มาก

โคปาลกอุโบสถ เปรียบเหมือนนายโคบาล เวลาเย็นมอบโคให้เจ้าของแล้ว ก็พิจารณาว่า วันนี้โคไปไหน กินน้ำที่ไหน พรุ่งนี้โคจะไปไหน โคจะกินน้ำที่ไหน แม้ฉันใด คนรักษาอุโบสถบางคนในโลกนี้ พิจารณาดังนี้ว่า วันนี้เราเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ ชนิดนี้ กินของชนิดนี้ ชนิดนี้ พรุ่งนี้เราจะเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ ชนิดนี้ กินของชนิดนี้ ชนิดนี้ ทำวันให้ล่วงไปด้วยความโลภนั้น

อุโบสถนี้ไม่มีผลมาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก

เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่อุบาสิกาที่ละอาคารบ้านเรือน แต่เป็นอุบาสิกา ที่รักษาอุโบสถ ก็ควรที่จะพิจารณาว่า จิตตกไป เป็นไปเหมือนอย่างโคปาลกอุโบสถนี้หรือไม่

อุโบสถประการที่ ๒ คือ นิคันฐอุโบสถ เป็นการปฏิบัติอย่างสมณะนิกายหนึ่ง ซึ่งมีนามว่านิครนถ์ สมณะนิกายนี้มีกฎเกณฑ์ ให้มีกรุณาในขอบเขตของทิศเลย ๑๐๐ โยชน์ไป ไม่ครองผ้า แล้วพูดอย่างนี้ว่า

เราไม่เป็นที่กังวลของใครๆ ในที่ไหนๆ และตัวเราก็ไม่มีความกังวลใน บุคคลและสิ่งของใดๆ ในที่ไหนๆ

พอล่วงราตรีนั้นไป ก็บริโภคโภคะเหล่านั้น ที่เจ้าของไม่ได้ให้ อุโบสถนี้ไม่มีผลมาก

ถ้าเป็นอุโบสถของสมณะนิกายหนึ่งที่ชื่อว่า นิครนถ์ มีกฎเกณฑ์แม้แต่ความกรุณาก็ต้องอยู่ในขอบเขตของทิศที่เลย ๑๐๐ โยชน์ไป เป็นผู้ที่ไม่ครองผ้า แล้วก็กล่าวว่า ไม่เป็นที่กังวลของใครๆ และตัวเขาก็ไม่มีความกังวลในบุคคล และในสิ่งของใดๆ แต่พอหมดราตรีนั้นแล้ว ก็กลับบริโภคโภคะที่เจ้าของไม่ได้ให้

นี่ไม่ใช่ลักษณะของผู้ที่มีศีล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถ้าศาสดาไม่ใช่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ธรรมนั้นควรติ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อขัดเกลาอย่างแท้จริง

สำหรับอุโบสถประการที่ ๓ คือ

อริยอุโบสถ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ ด้วยความเพียรอย่างไร

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคต ว่าเป็นพระอรหันต-สัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ระลึกถึงพระคุณประการอื่นๆ เมื่อระลึกแล้วก็เกิดปราโมทย์ เปรียบเหมือนศีรษะที่เปื้อน ทำให้สะอาดได้ ด้วยความเพียร เพราะอาศัยขี้ตะกรัน ดินเหนียว น้ำ และความเพียรอันควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำพรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม เพราะเหตุว่าลักษณะของพรหมนั้น ก็เป็นผู้ที่ประเสริฐ

พยัญชนะนี้ไม่ใช่คำว่า เข้าจำพุทธอุโบสถอยู่ร่วมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กล่าวว่า เข้าจำพรหมอุโบสถอยู่ร่วมกับพรหม ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ

ประการที่ ๒ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงพระธรรมด้วยประการ ต่างๆ ซึ่งก็เปรียบเหมือนกายที่เปื้อน จะทำให้สะอาดได้ ด้วยความเพียร เพราะอาศัยเชือก จุณสำหรับอาบน้ำ น้ำ และความเพียรอันควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำธรรมอุโบสถ อยู่ร่วมกับธรรม

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ารักษาอุโบสถเฉยๆ แล้วคิดเรื่องต่างๆ แต่เป็นผู้รักษาอุโบสถ ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์ด้วยการระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ระลึกถึงพระธรรม ถ้าบางท่านไม่ได้ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค พระคุณต่างๆ ของพระองค์ และก็ไม่ได้ระลึกถึงพระธรรมอยู่เนืองนิจ ก็จะระลึกถึงสิ่งอื่นประการอื่นได้อีก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์สาวก เปรียบเหมือนผ้าที่เปื้อน จะทำให้สะอาดได้ ด้วยความเพียร เพราะอาศัยเกลือ น้ำด่าง โคมัย น้ำ กับความเพียรอันควรแก่เหตุ อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำสังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์

สงฆ์ที่กล่าวนี้ ก็หมายถึงพระอริยสาวก ซึ่งเป็นผู้สะอาดเป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ ประพฤติตรง เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ก็เป็นการเข้าจำสังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์

อริยอุโบสถประการที่ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทแก่ตัว ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาทิฏฐิลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เปรียบเหมือนกระจกเงาที่มัว กระทำให้ใสได้ ด้วยความเพียร เพราะอาศัยน้ำมัน ข้าว แปรง กับความพยายามอันควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล

คุณธรรมทุกอย่างที่เป็นความดี เมื่อระลึกถึงย่อมทำให้จิตผ่องใส ไม่เหมือน ขณะที่ระลึกถึงอกุศลแล้ว จิตไม่ผ่องใส ระลึกถึงการกระทำที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา หรือว่าทางใจที่เคยเกิดขึ้น ขณะนั้นทำให้จิตใจเศร้าหมอง หรือว่าเดือดร้อนใจ แต่ตรงกันข้าม ไม่ว่าท่านจะเคยวิรัติทุจริต เว้นการฆ่า มีการช่วยชีวิตสัตว์เล็ก สัตว์น้อย เว้นการพูดวจีทุจริต เว้นการกระทำทุจริตใดๆ ทั้งปวง เวลาที่ท่านระลึกขึ้นได้ครั้งใด ก็ย่อมจะทำให้จิตใจสงบ ขณะนั้นก็ชื่อว่า เข้าจำศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล

อริยอุโบสถประการที่ ๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงเทวดาว่า ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญาเช่นใด ตนก็มีเช่นนั้น เปรียบเหมือนทองที่หมอง จะทำให้สุกได้ เพราะอาศัยเบ้าหลอมทอง เกลือ ยางไม้ คีม กับความพยายามอันควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำเทวดาอุโบสถ อยู่ร่วมกับเทวดา

นี่ก็เป็นเรื่องขัดเกลาทั้งนั้น บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า จะเกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานอย่างไร ให้ทราบว่าชีวิตปกติเป็นอย่างไร ทุกๆ ขณะนั้นเป็นที่ตั้งของการระลึกรู้ เพื่อให้ปัญญาพิจารณารู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ถึงแม้ในขณะที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์ หรือระลึกถึงศีลก็ตาม ในขณะที่จิตกำลังน้อมไป ระลึกไป ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ย่อมจะทราบว่า ขณะนั้นเป็นนาม หรือเป็นรูป

สำหรับอริยอุโบสถประการที่ ๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร วิสาขา พระอริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายละการฆ่าสัตว์ มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการฆ่าสัตว์ มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ตลอดคืนหนึ่ง กับวันหนึ่งในวันนี้

แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่า ได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

เพราะเหตุว่าพระอรหันต์เป็นผู้ที่เว้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง จากการฆ่าสัตว์ จากการเบียดเบียนผู้อื่น จากอกุศลจิต จากอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดระลึกถึงพระอริยะ และเห็นว่าพระอรหันต์ทั้งหลายละเว้นทุจริตกรรม ตัวท่านเองที่เข้าจำอุโบสถตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนั้น ก็ได้ชื่อว่า ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย

แม้ไม่สามารถทำตามพระอรหันต์ได้ตลอดชีวิตก็จริง แต่ถ้ามีโอกาส จะ กระทำตามพระอรหันต์ได้สักคืนหนึ่งวันหนึ่ง ก็เป็นประโยชน์ในการสะสมบารมี ต่อไปข้างหน้า เพราะจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสนั้นจะต้องอาศัยการขัดเกลามากมาย ถ้าเป็นวัตถุ พระองค์ก็อุปมาว่า จะต้องใช้ขี้ตะกรัน ดินเหนียว หรืออาศัยเกลือ น้ำด่าง โคมัย น้ำ อาศัยน้ำมัน อาศัยเถ้า นั่นเป็นวัตถุ แต่กิเลสนี้ต้องอาศัยการเจริญกุศลทีละเล็กละน้อย ท่านยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐานมากพอที่จะเป็นพระอริยบุคคลในเร็ววันถึงจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่ขณะใดมีโอกาสเจริญกุศล ขัดเกลากิเลส ก็ไม่ควรละเว้นโอกาสนั้น

เพราะฉะนั้น พระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นไม่ใช่ให้หมดจดจากความเห็นผิด บรรลุคุณธรรมเพียงขั้นพระโสดาบัน แต่วันใดในเดือนหนึ่ง อาทิตย์หนึ่ง มีโอกาสเพียรพยายามเจริญกุศลให้มากขึ้นด้วยการรักษาศีลอุโบสถ สะสมอุปนิสัยของพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นสิ่งที่ควรเจริญ และต่อจากนั้น สำหรับผู้ที่เข้าจำศีลอุโบสถ ก็ตามระลึกต่อไปว่า

อุโบสถมีองค์ ๘ คือ ละการฆ่าสัตว์ ละการลักทรัพย์ ละการประพฤติ อพรหมจรรย์ ละการพูดเท็จ ละการดื่มน้ำเมา ละการบริโภคในเวลาวิกาล เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นจากทัดทรงประดับตกแต่งกายด้วยดอกไม้ของหอม เว้นการนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่ นอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้า

พระอรหันต์ท่านละแล้ว แม้ผู้รักษาอุโบสถก็ได้ชื่อว่า ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อริยอุโบสถเป็นเช่นนี้ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

จะเห็นได้ว่า การรักษาอุโบสถ ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงนอน เป็นเรื่องละ ขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าถึงแม้จะนอน ก็เว้นการนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่ ท่านคงสงสัยว่า ทำไมเวลานอนก็ต้องเว้นที่นอนสูงใหญ่ เพราะเหตุว่าในเวลากลางวันก็เว้นการประดับตกแต่งร่างกาย การทัดทรงดอกไม้ ซึ่งเป็นเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ที่ทำให้จิตใจเป็นไปในอกุศลทั้งสิ้น แม้แต่นอนก็ยังต้องเว้นการนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่ นอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียง หรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้า ที่นอนสูงใหญ่รวมความหมายว่า ที่นอนที่สวยๆ งามๆ ประดับประดาตกแต่งอย่างวิจิตร เพราะเหตุว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เป็นไปในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ได้ขัดเกลากิเลสเพราะเมื่อนอนบนที่นอนสูงใหญ่ วิจิตร ประดับประดา ย่อมพอใจในที่นอนเช่นนั้น อย่างน้อยที่สุดบางท่านยังคงสำคัญตน ถือตนในความเป็นเจ้าของ หรือการได้นอนบนที่นั่ง ที่นอนที่สวยงาม ที่สูงใหญ่ ที่วิจิตรต่างๆ

เพราะฉะนั้น ในการรักษาอุโบสถ เวลานอนก็ยังเว้นจากที่นอนที่นั่งอันสูงใหญ่ ที่สวยงามต่างๆ เพื่อให้หมดความคิดที่สำคัญตน พอใจแม้ในที่นอนวิจิตรสวยงามนั้น

นี่เป็นการขัดเกลากิเลส สำหรับความดีนั้นไม่จำกัด ยิ่งเจริญมากเท่าไร ก็ยิ่งดี ยิ่งเจริญบ่อยเท่าไร ก็ยิ่งดี ฉันใด อุโบสถก็เช่นเดียวกัน เวลาที่ท่านเจริญกุศล ไม่ควรจำกัดเวลาว่าเฉพาะวันอุโบสถเท่านั้นที่จะวิรัติทุจริตต่างๆ แต่ว่าควรเจริญกุศลทุกประการโดยไม่จำกัดเวลา

เพราะฉะนั้น ก็น่าสงสัยว่า อุบาสก อุบาสิกาควรรักษาศีลอุโบสถเฉพาะในวันอุโบสถเท่านั้นหรือ หรือถ้ามีโอกาสรักษาได้มากยิ่งกว่านั้นก็ควรที่จะรักษา ซึ่งอันนี้ก็คงจะเป็นต้นเหตุของอุบาสิกาที่ละการครองเรือน และก็รักษาศีล ๘ เป็นประจำ เป็นอีกประเภทหนึ่งของอุบาสิกา เพราะอุบาสิกานั้นไม่ใช่ภิกษุณี แต่อุบาสิกาที่มีศรัทธา มีความเลื่อมใสที่จะขัดเกลากิเลสนั้น ไม่ได้จำกัดว่าให้รักษาอุโบสถ หรือว่ารักษาศีล ๘ เพียงเฉพาะในวันอุโบสถ กุศลทุกประเภทเจริญได้มากเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุณีหมดสิ้นไปแล้ว อุบาสิกาทั้งหลายที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น ปรารถนาจะเจริญกุศลยิ่งขึ้น ด้วยการที่รักษาศีล ๘ เป็นประจำ ในพระไตรปิฎกก็มีข้อความกล่าวถึงการรักษาศีลนั้นไม่จำกัดกาลเวลา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 37

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 38


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ