ในธุดงค์ ๑๓ เป็นเรื่องของเสนาสนะ ๕ ประการ

 
สารธรรม
วันที่  8 ก.ย. 2565
หมายเลข  43760
อ่าน  312

สุ. ถ้าท่านศึกษาในพระไตรปิฎกโดยละเอียด ก็ย่อมจะได้เหตุผล เป็นต้นว่า ธุดงค์ ๑๓ ประการ สำหรับธุดงค์ ๑๓ นั้น เป็นองค์เครื่องกำจัดธรรมอันเป็นข้าศึก ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นจากสิกขาบท ในธุดงค์ ๑๓ ก็คงจะทราบว่า เป็นเรื่องของเสนาสนะ ๕ ประการ คือ

เสนาสนะประการที่ ๑ อารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ

ท่านใช้คำว่า เป็นปกติ เพราะเหตุว่าเป็นอัธยาศัยของภิกษุนั้น ไม่ใช่อยู่ในสิกขาบท แต่ผู้ใดมีอัธยาศัยที่จะขัดเกลา มีองค์ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดธรรมอันเป็นข้าศึก โดยการอยู่ในป่าเป็นปกติ สมาทานที่จะอยู่ในป่าเป็นวัตร อันนั้นก็เป็นอารัญญิกังคะ

เสนาสนะประการที่ ๒ คือ รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการอยู่โคนไม้เป็นปกติ

ท่านใช้คำว่า เป็นปกติ ให้เห็นว่า เป็นอัธยาศัย ไม่ใช่เรื่องที่ภิกษุแต่ละท่านจะเอาอย่างกัน โดยที่ไม่ใช่อัธยาศัยของท่านจริงๆ หรือไม่ใช่อุบาสกอุบาสิกาที่ไม่มีอัธยาศัยอย่างนั้น แล้วจะทำอย่างนั้น เพื่อหวังจะบรรลุมรรคผล แต่เป็นการฝืนอัธยาศัย ซึ่งไม่สามารถทำให้รู้แจ้งธรรมได้เลย

เสนาสนะประการที่ ๓ คือ อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ

นี่ก็เป็นอัธยาศัยซึ่งอุบาสกอุบาสิกาควรจะคิดว่า ถ้าท่านจะทำอย่างนี้ เป็นอัธยาศัยจริงๆ ของท่านหรือไม่ สำรวจตรวจจิตใจของท่านเองว่า ท่านมีอัธยาศัยจะกระทำอย่างนี้ไหม คือ เป็นผู้มีปกติอยู่ในที่แจ้ง ไม่ใช่ครั้งคราว แต่ว่าเป็นปกติ

เสนาสนะประการที่ ๔ คือ โสสานิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ

อันนี้ก็คงจะเข้าใจได้ว่า สำหรับท่านที่ต้องการกำจัดธรรมอันเป็นข้าศึกนั้น ท่านก็รักษาองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ

เสนาสนะประการที่ ๕ ก็คือ ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้เป็นปกติ

การที่พระภิกษุจะอยู่ในที่ใดนั้น ก็ต้องมีภิกษุที่กำหนดให้เป็นผู้ดูแลว่า ควรจะอยู่ในเสนาสนะใด เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดมีฉันทะ มีความสันโดษ พอใจที่จะอยู่ในเสนาสนะที่ตนได้ อันนั้นก็เป็นเรื่องธุดงค์ประการที่เกี่ยวกับเสนาสนะ

ที่กล่าวถึงเรื่องธุดงค์ ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ธุดงค์ประการใดเหมาะควรสำหรับเพศใด เพราะตอนท้ายท่านจะแสดงไว้ให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่สามารถหรือว่าไม่ควรที่จะรักษาธุดงค์ประเภทใดแล้ว ย่อมจะไม่อุปการะแก่การที่จะให้รู้แจ้งธรรม

ในธุดงค์ ๑๓ ประการ ที่เกี่ยวกับบิณฑบาตก็มี ๕ ประการ คือ

ประการที่ ๑ บิณฑปาติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปบิณฑบาตเป็นปกติ

ประการที่ ๒ สปทานจาริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับเรือนเป็นปกติ

ประการที่ ๓ เอกาสนิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการฉัน ณ อาสนะเดียว เป็นปกติ

ประการที่ ๔ ปัตตปิณฑิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการถือเอาก้อนข้าวในบาตร เป็นปกติ หมายความว่า ฉันภาชนะเดียว คือเฉพาะในบาตรเท่านั้น

ประการที่ ๕ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันไม่ฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว ท่านก็ไม่มีการฉันภัตหลังจากที่ท่านฉันเสร็จแล้วอีกเลย

ในธุดงค์ ๑๓ ประการ ที่เกี่ยวกับจีวรก็มี ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ปังสุกูลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ

ประการที่ ๒ เตจีวริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งไตรจีวรเป็นปกติ

นี่ก็เป็นธุดงค์ ๑๒ ประการ

สำหรับธุดงค์ประการสุดท้ายนั้น ไม่เนื่องกับเสนาสนะ ไม่เนื่องกับบิณฑบาต แต่เนื่องกับความเพียร มี ๑ ประการ คือ เนสัชชิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยการนั่ง เป็นปกติ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ลองคิดดูว่า ท่านเคยทำอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๑๓ ประการนี้บ้างไหม ทำด้วยความเข้าใจผิด คิดว่าจะต้องทำ หรือท่านเห็นพระภิกษุ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ที่บางท่านก็อยู่ในป่าเป็นปกติ บางท่านก็ฉันภัตตาหารเพียงครั้งเดียว หรือบางท่านก็ฉันในภาชนะเดียว คือในบาตรเป็นปกติ

สำหรับธุดงค์ ๑๓ ประการ ภิกษุย่อมจะสมาทานรักษาได้ทั้ง ๑๓ ข้อ สำหรับสามเณรนั้นได้เพียง ๑๒ ประการ คือ เว้นเต่เตจีวริกังคะ อันนี้ก็ตามสิกขาบท สำหรับภิกษุณี ธุดงค์ที่สมควรก็มี ๙ ประการ คือ เว้นเสนาสนะที่ไม่สมควร ๔ ประการ คือ เว้นการอยู่ป่าเป็นปกติ เว้นการอยู่โคนไม้เป็นปกติ เว้นการอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ เว้นการอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ เพราะเหตุว่าไม่เหมาะสมกับเพศภิกษุณี

และสำหรับอุบาสกอุบาสิกานั้น จะรักษาธุดงค์อะไรได้บ้างใน ๑๓ ประการ สำหรับท่านที่ต้องการมีองค์ของธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดธรรมอันเป็นข้าศึกควรทราบ เพราะ ท่านไม่ใช่เพศบรรพชิต ท่านจะอยู่ป่าเป็นปกติได้ไหม อยู่โคนไม้เป็นปกติได้ไหม อยู่ในที่แจ้งเป็นปกติได้ไหม อยู่ในป่าช้าได้ไหม ถ้าอยู่แล้วจะเป็นเพศไหน และถ้าอยู่แล้วจะสำเร็จประโยชน์ไหม เพราะเหตุว่า เป็นตัวจริงๆ ของท่านหรือไม่ ถ้าไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของท่านแล้ว การอยู่นั้นอยู่อย่างไร อยู่เพราะอะไร นั่นก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องคิด แต่ที่ท่านแสดงไว้ว่า ในธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น มีธุดงค์ที่อุบาสกอุบาสิกาอาจจะรักษาได้ ๒ ประการ คือ ในเรื่องของอาหาร ได้แก่ เอกาสนิกังคะ การเป็นผู้รับประทานอาหาร ณ อาสนะเดียวเป็นปกติ ประการหนึ่ง และปัตตปิณฑิกังคะ คือ การรับประทานอาหารในภาชนะเดียวเป็นปกติ นี่เป็นสิ่งที่อุบาสกอุบาสิกาสามารถที่จะรักษาได้ในธุดงค์ ๑๓ ประการ ไม่จำกัดสถานที่อยู่ของอุบาสกอุบาสิกา ไม่จำกัดเครื่องนุ่งห่มของอุบาสกอุบาสิกา เพราะเหตุว่าอัธยาศัยของอุบาสกอุบาสิกาเป็นผู้หนักในกามอยู่แล้ว ไม่ใช่หนักในเนกขัมมะ ในที่อยู่ที่อาศัย ในเครื่องนุ่งห่ม แต่ผู้ที่ต้องการขัดเกลาที่จะรักษาธุดงค์ได้ในเพศของอุบาสกอุบาสิกานั้น ก็อาจที่จะประพฤติเป็นไปได้ในเรื่องของอาหาร คือ เป็นผู้รับประทานอาหาร ณ ที่นั่งแห่งเดียว ไม่ย้ายที่ รับประทานยังไม่พอที่นี่ ลุกไปรับประทานที่โน่นอีก เมื่อจะนั่งรับประทานที่ไหน ก็รับประทานอิ่มในที่นั้นแล้วก็พอแล้ว สำหรับการดำเนินชีวิตให้เป็นไป ให้ไม่ติดในรส เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้รับประทานอาหารเพื่อบริหารร่างกายให้เป็นไป และอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นผู้ที่รับประทานอาหารในภาชนะเดียว ข้อนี้ก็สามารถรักษาได้

ในพระธรรมวินัยนั้นแสดงให้เห็นว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สำหรับเพศใด สำหรับเพศภิกษุนั้นย่อมขัดเกลาได้ยิ่งขึ้น ไม่ว่าในเรื่องของเสนาสนะ สำหรับภิกษุณีนั้นไม่เหมาะสม ไม่ใช่สิ่งที่จะรักษาได้โดยง่าย ในเรื่องของเสนาสนะก็เว้นที่ไม่สมควร และสำหรับอุบาสกอุบาสิกา อัธยาศัยจริงๆ นั้นไม่ใช่ผู้อยู่ป่าเป็นปกติ ไม่ใช่ผู้อยู่โคนไม้เป็นปกติ ไม่ใช่ผู้อยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในป่าช้าเป็นปกติ การที่อุบาสกอุบาสิกาจะเข้าไปอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่หนักในเนกขัมมะ ไม่ใช่เป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน ไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของผู้ที่ยังเป็นอุบาสกอุบาสิกา

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของธุดงค์ที่ได้แสดงไว้ว่า เพศใดสามารถจะรักษาธุดงค์ได้ประการใดนั้น ก็จะช่วยให้ท่านพิจารณาการประพฤติปฏิบัติของท่านว่า ที่ท่านประพฤติปฏิบัตินั้นมีเหตุผลถูกต้องไหม เป็นไปด้วยความเข้าใจถูก หรือว่าเป็นไปด้วยความเข้าใจผิด

ถ้าท่านต้องการขัดเกลากิเลส แล้วศึกษาพระธรรมวินัย สิ่งใดที่จะประพฤติปฏิบัติขัดเกลาทำตามได้ ก็พยายามประพฤติปฏิบัติขัดเกลาได้ เป็นสิ่งที่ควร แต่ว่าไม่ใช่ทำด้วยความเข้าใจผิดคิดว่า ต้องทำอย่างนั้น เพราะเหตุว่าท่านทำด้วยความเข้าใจผิด ฝืนอัธยาศัยของท่าน จะไม่ทำให้สำเร็จประโยชน์ในการกระทำอย่างนั้นเลย

พระธรรมนั้นสมบูรณ์ทั้งอรรถและพยัญชนะ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะข้ามข้อความในพระสูตร เพื่อที่จะให้ท่านได้เข้าใจเรื่องของการเจริญสติ เพราะเหตุว่า ถ้ามีข้อความจากพระไตรปิฎกโดยตรงให้ท่านได้พิจารณา สอบทาน ก็จะทำให้เข้าใจกว้างขวาง พิจารณาได้มากขึ้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 43


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ