ข้อความในพระสูตรสั้นๆ ที่กล่าวถึงปลิโพธ

 
chatchai.k
วันที่  11 ก.ย. 2565
หมายเลข  43778
อ่าน  320

ในปลิโพธ ก็มีข้อความในพระสูตรสั้นๆ ที่จะขอกล่าวถึง

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นาคทัตตสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระนาคทัตตะ พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล สมัยนั้นท่านพระนาคทัตตะเข้าไปสู่บ้านแต่เช้าตรู่ และกลับมาหลังเที่ยง ครั้งนั้น เทวดาผู้ที่สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ท่านพระนาคทัตตะ ใคร่จะให้ท่านสังเวช จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวแก่ท่านด้วยคาถาว่า

ท่านนาคทัตตะ ท่านเข้าไปแล้วในกาล และกลับมาในกลางวัน ท่านมีปกติเที่ยวไปเกินเวลา คลุกคลีกับคฤหัสถ์ พลอยร่วมสุขร่วมทุกข์กับเขา เราย่อมกลัวพระนาคทัตตะ ผู้คะนองสิ้นดี และพัวพันในสกุลทั้งหลาย ท่านอย่าไปสู่อำนาจของมัจจุราชผู้มีกำลัง กระทำซึ่งที่สุดเลย

ลำดับนั้น ท่านพระนาคทัตตะ เป็นผู้อันเทวดานั้นให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดใจแล้ว

ที่กล่าวถึงท่านพระนาคทัตตะ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เป็นภิกษุ พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง กิเลสความกังวลที่เป็นกุลปลิโพธก็ยังมี เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าท่านจะละกุลปลิโพธ หรือปลิโพธอื่นๆ ให้หมดแล้ว จึงจะเจริญสติปัฏฐาน เพราะไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ในป่า เป็นภิกษุมีกิเลส ก็ยังมีปลิโพธ

อีกสูตรหนึ่ง ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค วัชชีปุตตสูตรที่ ๙ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น วาระแห่งมหรสพตลอดราตรีทั้งปวง ย่อมมีในเมืองเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุนั้นได้ฟังเสียงกึกก้องแห่งดนตรี อันบุคคลตีและบรรเลงแล้วในเมืองเวสาลี คร่ำครวญอยู่ ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า

เราเป็นคนๆ เดียว อยู่ในป่า ประดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งแล้วในป่าฉะนั้น ใครจะเป็นผู้ลามกกว่าเราในราตรีเช่นนี้หนอ

ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่เธอ ใคร่จะยังเธอให้สลด จึงเข้าไปหาจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะเธอด้วยคาถาว่า

ท่านเป็นคนๆ เดียวเท่านั้นอยู่ในป่า ประดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งแล้วในป่าฉะนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากย่อมรักท่าน ประดุจสัตว์นรก รักผู้ที่จะไปสวรรค์ ฉะนั้น

ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้นเป็นผู้อันเทวดาให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดแล้วแล

นี่เป็นผู้ที่ยังมีกิเลส เวลาที่ได้ฟังเสียงดนตรีที่บรรเลงในเมืองเวสาลี ก็คร่ำครวญด้วยความคิดว่า ตนเป็นผู้ที่น่าอนาถ น่าสังเวชยิ่งกว่าใครๆ เพราะว่าอยู่คนเดียวในป่า เหมือนกับท่อนไม้ที่เขาทิ้งแล้ว รู้สึกว้าเหว่ เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้นมีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ท่าน จึงได้กล่าวกะท่านด้วยคาถา

ไม่ทราบท่านผู้ฟังเห็นประโยชน์ที่เทวดาท่านกล่าวภาษิตว่า

ท่านเป็นคนๆ เดียวเท่านั้นที่อยู่ในป่า ประดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งแล้วในป่าฉะนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ย่อมรักท่าน ประดุจสัตว์นรกรักผู้ที่จะไปสวรรค์ฉะนั้น

ใครกำลังเป็นสัตว์นรก ใครกำลังเป็นผู้ที่จะไปสวรรค์ คนที่แวดล้อมพัวพันอยู่ในเมืองเวสาลี กำลังเพลิดเพลินฟังดนตรีที่กำลังบรรเลง อาจจะรู้สึกว่าเป็นผู้ที่ไม่ว้าเหว่ สนุก มีมิตรสหายมาก มีตัณหา มีความเพลิดเพลิน มีความเกี่ยวข้องกับตา กับหู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่าท่านไม่ทราบว่า ความยินดีพอใจ ที่เกี่ยวข้องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ โลภะ โทสะ โมหะจะพาท่านไปไหน ไปสวรรค์หรือเปล่า พาไปไหน พาไปนรก พาไปอบายภูมิ

เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ไม่ได้ฟังพระธรรมด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง ท่านจะไม่ทราบเลยว่า พระธรรมนั้นมีอุปการะมาก แท้ที่จริงที่ท่านกำลังเพลินอยู่ เหมือนคนที่ไม่ว้าเหว่ แท้จริงแล้ว ทุกๆ ขณะที่เกี่ยวข้อง ผูกพันเพลิดเพลินไป ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างนั้น ท่านมีเชื้อที่จะพาไปอบายภูมิ แต่ว่าผู้ใดก็ตามที่พรากตนจากการเพลิดเพลินไป ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กาย ใจบ้างนั้น ย่อมปรากฏแก่เทวดา และเทวดาเป็นอันมากนั้นย่อมรักท่านผู้นั้น ประดุจสัตว์นรกรักผู้ที่จะไปสวรรค์

ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่จะไปสวรรค์ เพราะท่านกำลังตัดเชื้อที่ทำให้ท่านไปสู่อบายภูมิ

ท่านอาจจะไม่รู้สึกตัว กุลปลิโพธ ผูกพันกับบุคคลในตระกูล กับวงศาคณาญาติกับมิตรสหาย ถ้าเป็นไปในกุศล เป็นเมตตา อุปการะแก่กันและกัน เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ในขณะที่สำรวจจิตใจของท่าน แล้วก็รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ใจของท่านเป็นโลภะผูกพันไว้ หรือว่าเป็นการอุปการะด้วยกุศลจิต ท่านย่อมรู้ คนอื่นไม่รู้ได้ว่า ความผูกพันความกังวล ที่เป็นกุลปลิโพธของท่านนั้นมากน้อยแค่ไหน แต่ผู้ที่เข้าใจกุศลธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ความที่เข้าใจถูกนั้นย่อมบรรเทาฝ่ายที่เป็นอกุศลให้ลดน้อยลง แล้วก็เพิ่มฝ่ายที่เป็นกุศลให้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วก็พิจารณารู้ชัด ก็น้อมนำธรรมนั้น มาเป็นประโยชน์ขัดเกลาฝ่ายอกุศลให้เบาบาง แล้วก็เพิ่มพูนทางฝ่ายกุศลให้มากขึ้น หลงลืมสติขณะใด ขณะนั้นก็ไม่ได้ทำลายเชื้อที่จะพาไปสู่อบายภูมิ ผูกพันไว้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากสักเท่าไร กับบุคคลในตระกูล กับมิตรสหาย วงศาคณาญาติ ผู้อุปัฏฐากหรืออะไรก็ตามแต่ นั่นก็ให้ทราบว่า ถ้าเป็นอกุศลแล้ว เป็นเชื้อที่จะพาไปสู่อบายภูมิทั้งสิ้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 48

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ