ลาภปลิโพธ จะละได้ ก็ต้องรู้ว่าสิ่งนั้น ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไป
ที่ยกเรื่องตัณหาของพระภิกษุ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าตราบใดยังมีกิเลส ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะเป็นฆราวาสหรือจะเป็นบรรพชิตก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าท่านละอาคารบ้านเรือนไปแล้วจะหมดตัณหาได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นฆราวาสแล้วเจริญสติปัฏฐาน ก็ย่อมจะพิจารณาสภาพของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติ เพื่อการรู้ชัด ไม่ใช่ว่าผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานต้องไม่มีโลภะเสียก่อน ไม่มีโทสะเสียก่อน แล้วจึงจะเจริญสติปัฏฐาน นั่นไม่ถูก เพราะเหตุว่ามีข้อความในพระสูตรนี้ว่า
ภิกษุผู้มีสติสัมปชัญญะ รู้โทษนี้ และรู้ตัณหาเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น ย่อมเว้นรอบ
การไม่ถือมั่นได้นั้น ไม่ใช่ไม่ถือมั่นได้โดยไม่รู้ หรือว่าไม่ใช่จะไม่ถือมั่นได้โดยบังคับ แต่ผู้ที่จะไม่ถือมั่นได้ ต้องเป็นผู้รู้ แต่ไม่ถือมั่น เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้ทุกสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ตามสภาพของสิ่งนั้น แล้วจึงจะไม่ถือมั่นได้ ทุกคนก็ยังมีโลภะ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ให้ไม่ถือมั่นได้ไหม บอกตัวเองว่า ไม่ให้ถือมั่น ไม่ให้ถือมั่น ได้ไหม ไม่ได้เลย
แต่ผู้ที่จะไม่ถือมั่นได้นั้น ผู้นั้นจะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ เว้นรอบ ละโดยรอบ ไม่ใช่ว่าเพียงประการเดียวหรือสองประการเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ในข้อนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ว่าต้องหมดลาภปลิโพธ เสียก่อน แล้วจึงจะเจริญสติปัฏฐาน แต่สามารถเจริญได้ ไม่ว่าในเพศของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะเป็นบรรพชิต ละอาคารบ้านเรือนไปแล้ว ก็ยังมีความยินดีที่เป็นลาภปลิโพธ ซึ่งผู้นั้นจะละได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ รู้โทษ คือความจริงของสิ่งนั้น ที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ขุททกนิกาย เถรคาถา ติสสเถรคาถา พระเถระกล่าวว่า
ภิกษุศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ได้ข้าว น้ำ ผ้า และที่นั่ง ที่นอน ย่อมชื่อว่าได้ข้าศึกไว้มาก
ภิกษุ รู้โทษในลาภสักการะว่าเป็นภัยอย่างนี้แล้ว ควรเป็นผู้มีลาภน้อย มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ มีสติ งดเว้นความยินดีในลาภ
ในตอนท้ายมีข้อความว่า มีสติ งดเว้นความยินดีในลาภ
ที่กล่าวว่า ภิกษุครองผ้าสังฆาฏิ ได้ข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ที่นั่ง ย่อมชื่อว่า ได้ข้าศึกไว้มาก เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าบรรพชิตเป็นผู้ละอาคารบ้านเรือนแล้ว ถ้าไม่ใช่บรรพชิต ก็ยังเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นั่ง ที่นอน เหมือนอย่างคฤหัสถ์หรือฆราวาส แต่เพราะว่าไม่ต้องการที่จะคลุกคลี หมกมุ่นอยู่ในสิ่งเหล่านี้ คือไม่ต้องการคลุกคลีเพลิดเพลินไปอย่างชีวิตของฆราวาส
เพราะฉะนั้น เมื่อท่านสละชีวิตอย่างฆราวาสไปแล้ว แล้วได้รับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไว้มาก ก็ย่อมชื่อว่า ได้ข้าศึกกับสิ่งที่ท่านได้สละไปแล้ว แต่ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาสก็ตาม ถ้าพิจารณาโดยสภาพของปรมัตถธรรม การเห็นสิ่งต่างๆ ที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้รสที่ดี ได้สัมผัสที่ดีนั้น เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ไม่จำกัดเจาะจงว่า เป็นบรรพชิตหรือฆราวาส ซึ่งผู้ที่มีสติจะต้องพิจารณารู้สภาพลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ที่ได้รับนั้น ให้รู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ว่าท่านจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยสมบัติ หรือว่าเกิดในสวรรค์ก็ตาม เจริญสติปัฏฐานได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องละทิ้งสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แล้วไปเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น แล้วแต่เพศของคฤหัสถ์หรือของบรรพชิต แต่จะเห็นได้ว่า ที่เป็นข้าศึกนั้น ก็ในขณะที่มีจิตติดข้อง ชุ่มด้วยราคะ แต่ถ้าจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ เป็นผู้ที่มีสติงดเว้นความยินดีในลาภ ถึงแม้ว่าจะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ต่างๆ แต่ไม่หมกมุ่น ไม่เพลิดเพลิน ไม่เป็นไปด้วยความรู้สึกว่า เป็นตัวตน แต่ว่ามีสติงดเว้นความยินดี คือ หมกมุ่นเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ด้วยการรู้ลักษณะของสิ่งนั้น ตามความเป็นจริง
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...