ลาภปลิโพธใน มหากัจจายนเถรคาถา อุปการะแก่ความเข้าใจ
ในเรื่องของลาภปลิโพธยังมีในพระสูตร ที่คิดว่าจะทำให้อุปการะแก่ความเข้าใจในเรื่องนี้ได้
ขุททกนิกายเถรคาถา อัฏฐกนิบาต มหากัจจายนเถรคาถา
สำหรับท่านพระมหากัจจายนะ นี่ก็คงจะทราบแล้วว่า ท่านเป็นพระภิกษุผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อให้พิสดาร ข้อความในมหากัจจายนเถรคาถา มีว่า
ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ควรหลีกเร้นหมู่ชน ไม่ควรขวนขวายเพื่อปัจจัยให้เกิด เพราะภิกษุใดเป็นผู้ติดรสอาหาร ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ขวนขวาย เพื่อปัจจัยให้เกิด และชื่อว่าละทิ้งประโยชน์ อันจะนำสุขมาให้ พระอริยะทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น กล่าวการไหว้ การบูชาในสกุลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนได้ยาก เพราะสักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก ภิกษุไม่ควรแนะนำสัตว์อื่นให้ทำกรรมอันเป็นบาป และไม่พึงส้องเสพกรรมนั้นด้วยตนเอง เพราะสัตว์มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คนเราย่อมไม่เป็นโจร เพราะคำของบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น บุคคลรู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร แม้เทพเจ้าทั้งหลาย ก็รู้จักบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างนั้น ก็พวกคนอื่นย่อมไม่รู้สึกตัวว่า พวกเราที่สมาคมนี้จะพากันยุบยับในหมู่ชน พวกนั้นพวกใด มารู้สึกตัวว่า พวกเราจักพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาทย่อมระงับไป เพราะพวกนั้น บุคคลผู้มีปัญญา ถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังเป็นอยู่ได้ ส่วนบุคคลถึงจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้ปัญญา บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหู ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ แต่นักปราชญ์ ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวง ที่ได้เห็น ได้ฟังมาแล้ว ผู้มีปัญญาถึงมีตาดี ก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงมีหูดี ก็ทำเป็นดังคนหูหนวก ถึงมีปัญญา ก็ทำดังคนใบ้ ถึงมีกำลัง ก็ทำเป็นดังคนทุรพล แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย ก็ยังทำประโยชน์นั้นได้
ถ้าพิจารณาข้อความในสูตรนี้ วรรคแรกที่ว่า ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ทำการงาน แต่บอกว่า ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ข้อความต่อไปที่ว่า ควรหลีกเร้นหมู่ชน คำนี้ก็หมายความว่าไม่คลุกคลี หรือไม่ติดในบุคคลในตระกูล
ในเถรนามสูตร การอยู่ผู้เดียว ไม่ใช่หมายความว่า ปลีกตน แต่ว่าการปลีกตน หรือว่าการอยู่ผู้เดียวนั้น หมายความถึง การมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปลีกจากสิ่งอื่นทั้งหมด ก็ชื่อว่า ไม่คลุกคลีกกับหมู่ชน แต่ว่ามีสติรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘
ที่กล่าวว่า ไม่ควรขวนขวายเพื่อปัจจัยให้เกิด นี่ก็เป็นไปเพื่อลาภ ซึ่งเป็นลาภปลิโพธ ถ้าท่านมีความขวนขวายเพื่อปัจจัย
และที่กล่าวว่า การไหว้การบูชาในสกุลทั้งหลาย เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนได้ยาก เพราะสักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก
การที่ยังมีความสำคัญ หรือคิดว่าการไหว้ การบูชา การสักการะของคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญนั้นก็เป็นเพราะเหตุว่ากลัวการที่จะอยู่ผู้เดียว หรือว่ากลัวการที่จะมีความรู้สึกเหมือนกับถูกทอดทิ้ง ไม่เป็นที่รักของหมู่คณะ หรือว่าไม่เป็นที่รักของบุคคลอื่น จึงได้มีการพอใจในการไหว้ การบูชาในสกุลทั้งหลาย แต่ข้อความที่ท่านพระมหากัจจายนเถระกล่าว ท่านกล่าวว่า การไหว้ การบูชา ในสกุลทั้งหลาย เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนได้ยาก เพราะสักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก ความพอใจมีมากมายเหลือเกิน อาจจะเป็นไปในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อาจจะปลีกตนไปแล้ว ไม่พัวพันกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็จริง แต่ก็ยังมีความยินดีในการไหว้ การบูชา การสรรเสริญของคนอื่นก็ได้ ซึ่งแม้แต่ความยินดีเช่นนั้น สำหรับบุรุษชั่วแล้วก็เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนได้ยาก ละได้ยาก นอกจากนั้น ในมหากัจจายนเถรคาถา ยังมีข้อความว่า
ภิกษุไม่ควรแนะนำสัตว์อื่นให้ทำกรรมอันเป็นบาป และไม่พึงส้องเสพกรรมนั้นด้วยตนเอง เพราะสัตว์มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
ที่ว่าภิกษุไม่ควรแนะนำสัตว์อื่นให้ทำกรรมอันเป็นบาปนี้ ก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า พระภิกษุก็คงจะไม่สอนให้ใครไปฆ่าสัตว์ ไปลักทรัพย์ ไปประพฤติผิดในกาม แต่ถ้าท่านมีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติผิด แล้วสอนผิด อันนั้นก็เป็นกรรมอันเป็นบาป ซึ่งก็ไม่ควรจะส้องเสพกรรมนั้น เพราะเหตุว่าถ้าปฏิบัติผิด ผลที่ได้รับผิด ผู้อื่นก็ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับผลที่ถูกต้อง และการกระทำเช่นนั้นก็เป็นกรรมที่หนักมาก เพราะเหตุว่าตัดการเจริญปัญญา การเจริญมรรค และไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้
ข้อความที่ว่า คนเราย่อมไม่เป็นโจร เพราะคำของบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น บุคคลรู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร แม้เทพเจ้าทั้งหลายก็รู้จักบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างนั้น
ไม่ว่าจะเป็นที่รักหรือจะเป็นที่ชัง แต่ให้ทราบว่า ถ้าผู้นั้นเป็นบัณฑิต แล้วไม่เป็นที่รักของคนพาล บัณฑิตนั้นย่อมไม่เป็นโจร เพราะคำของบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น แต่การที่จะเป็นผู้รู้ ถูกต้องตามความเป็นจริงได้นั้น ผู้นั้นจะต้องรู้จักตนเอง แล้วก็ไม่ใช่แต่เฉพาะตนเองที่รู้ใจของตัวเอง รู้นามรู้รูปที่เกิดปรากฏแก่ตน เพราะเหตุว่ามีสติ แม้เทพเจ้าทั้งหลายก็รู้จักบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างนั้น
ยังมีผู้ที่รู้จิตใจของคนอื่น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะทำกรรมดีกรรมชั่ว ในที่ลับในที่แจ้งอย่างไรก็ตาม นอกจากบุคคลนั้นจะรู้ตัวเอง ว่าที่ทำนั้น เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว แต่แม้เทพเจ้าทั้งหลาย ก็ยังรู้ด้วย ไม่ใช่ว่าจะไม่มีบุคคลอื่นรู้เลย
นอกจากนั้น ในมหากัจจายนเถรคาถา ยังมีข้อความว่า ในหมู่ชนพวกนั้น พวกใดมารู้สึกตัวว่า พวกเราจะพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาทย่อมระงับไป เพราะพวกนั้น
ทุกขณะก็ใกล้มัจจุราช โดยไม่มีใครทราบว่า มัจจุราชจะอยู่ใกล้สักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ประโยชน์ว่า สิ่งใดควรปฏิบัติ ผู้นั้นก็ย่อมจะไม่เห็นประโยชน์ของการทะเลาะวิวาท หรือกล่าวแสดงความเห็นต่างๆ โดยไร้ประโยชน์ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่จะอุปการะแล้ว ก็ควรกระทำ
ข้อความที่ว่า บุคคลที่มีปัญญา ถึงจะสิ้นทรัพย์ก็ยังเป็นอยู่ได้ ส่วนบุคคลถึงจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้ปัญญา บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหู ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ แต่นักปราชญ์ ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวงที่ได้เห็นได้ฟังมาแล้ว
ทุกคนมีหู บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหูมากมายหลายเสียง ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ ตาก็เหมือนกัน วันหนึ่งๆ ก็เห็นอะไรๆ ตั้งหลายอย่าง แต่นักปราชญ์ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวงที่ได้เห็นได้ฟังมาแล้ว
ไม่ใช่ฟังเพียงผ่านไปๆ แล้วก็ทิ้งสิ่งทั้งปวงที่ได้เห็น ที่ได้ฟังมาหมด แต่ว่าประโยชน์ของการฟังนั้นคือว่าเมื่อฟังสิ่งใดแล้ว ก็ควรพิจารณาไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่รู้ ปล่อยให้ผ่านไปๆ การฟังนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นความจริง พร้อมที่จะให้พิสูจน์ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังแล้วก็ไม่ควรจะปล่อยให้ผ่านไป แต่ควรจะพิจารณาให้เกิดปัญญา ให้รู้ ไม่ใช่ว่า ไม่คิด ไม่พิจารณา ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ถึงจะฟังหลายสิบปี ประโยชน์ก็น้อย หรือว่าอาจจะไม่ได้ประโยชน์เลย
ข้อความที่ว่า ผู้มีปัญญาดี ถึงมีตา ก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงมีหู ก็ทำเป็นดังคนหูหนวก
หมายความว่าอย่างไรคะ จะฉลาดได้อย่างไร มีตาก็ทำเหมือนคนตาบอด มีหูก็ทำเป็นเหมือนคนหูหนวก
แต่นี่เป็นภาษิตของท่านพระเถระ คือท่านพระมหากัจจายนเถระ ผู้มีปัญญา ถึงมีตาดีก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงมีหูดีก็ทำเป็นดังคนหูหนวก การที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ได้ยินก็สักแต่ว่า ได้ยิน ก็จะต้องเป็นเพราะปัญญาเกิดขึ้น รู้ลักษณะของนามว่า เป็นนาม รู้ลักษณะของรูปว่า เป็นรูปด้วย ที่ว่า ถึงมีปัญญาก็ทำเป็นดังคนใบ้ ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ แก่งแย่ง แต่รู้ว่า คำนั้นควรพูดกับบุคคลใด ถ้าพูดกับบุคคลใดแล้วไม่มีประโยชน์ ถึงมีปัญญาก็ทำดังคนใบ้ เพราะเหตุว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าการพูดนั้นมีประโยชน์ ก็ย่อมพูด ถึงมีกำลังก็ทำเป็นดังคนทุรพล
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. จะใช้กำลังทำอะไรคะ รบราฆ่าฟันเบียดเบียนประทุษร้ายต่อสู้กันหรืออย่างไร เพราะเหตุว่ากำลังของร่างกายที่มีนี้ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตไปวันหนึ่งๆ ให้เป็นประโยชน์ในทางธรรม ไม่ใช้ร่างกายที่แข็งแรงไปเบียดเบียน ไปประทุษร้าย ไปต่อสู้กัน เพราะเหตุว่า ข้อความต่อไปมีว่า แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย ก็ยังทำประโยชน์นั้นได้
ถึงมีกำลังก็ทำเป็นดังคนทุรพล
สุ. จะใช้กำลังทำอะไร รบราฆ่าฟันเบียดเบียนประทุษร้ายต่อสู้กันหรืออย่างไร เพราะเหตุว่ากำลังของร่างกายที่มีควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตไปวันหนึ่งๆ ให้เป็นประโยชน์ในทางธรรม ไม่ใช่เอาร่างกายที่แข็งแรงไปเบียดเบียนไปประทุษร้ายไปต่อสู้กัน เพราะเหตุว่าข้อความต่อไปมีว่า
แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย ก็ยังทำประโยชน์นั้นได้ นั่นคือผู้ที่มีปัญญาจริง เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาพละ
ที่ว่ากำลังในที่นี้ ถึงแม้ว่าจะมีร่างกายแข็งแรง ก็ควรที่จะใช้ร่างกายที่แข็งแรงนั้นเจริญปัญญาให้เป็นปัญญาพละ เพราะปัญญาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ทุกขณะ แม้เวลาที่นอนอยู่ในเวลาใกล้ตายก็ยังทำประโยชน์นั้นได้
ทุกคนไม่ทราบว่าจะตายที่ไหน ด้วยโรคภัยไข้เจ็บอะไร ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดไม่เจริญสติไม่เจริญปัญญาเนืองๆ ในเวลาที่ใกล้จะตายเป็นอันว่าหมดหวัง เพราะเหตุว่าสติก็ไม่เคยเจริญ
แต่ถ้าผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ถ้าเป็นปัญญาจะไม่จำกัดสถานที่
จะเห็นได้ว่า แม้ข้อความใน มหากัจจายนเถรคาถา ก็ได้กล่าวไว้ว่า ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตายก็ยังทำประโยชน์นั้นได้ หมายความถึงผู้ที่เจริญสติเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเวลาจะเจ็บไข้ ไม่ว่าใกล้จะตาย ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ก็สามารถที่จะเจริญสติเจริญปัญญาได้ทั้งสิ้น
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...