ภิกษุที่ท่านไม่ติดในลาภ ไม่มีลาภปลิโพธ - ท่านพระมหกะ

 
สารธรรม
วันที่  11 ก.ย. 2565
หมายเลข  43789
อ่าน  420

ตัวอย่างของพระภิกษุที่ท่านไม่ติดในลาภ ไม่มีลาภปลิโพธ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเหมือนกันหมด คือ จะต้องเป็นผู้ที่หนักหรือติดข้องอยู่ในลาภ แม้แต่ฆราวาสก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน การที่จะติดในลาภมากบ้างน้อยบ้าง ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน บางท่านอาจจะไม่ติดข้องอยู่ในลาภนั้นเลย ตัวอย่างที่จะขอกล่าวถึงคือ

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มหกสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากรูปอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้น จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย

สำหรับท่านจิตตคฤหบดีนี้ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกสาวกผู้เป็นธรรมกถึก เพราะฉะนั้น ถ้าอ่านพระไตรปิฎกที่มีข้อความเกี่ยวถึงท่านจิตตคฤหบดี ก็จะเห็นถึงความที่ท่านเป็นผู้ที่ฝักใฝ่สนใจในธรรมเป็นอันมาก

ครั้งนั้น จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย อาราธนาให้พระเถระให้ไปรับภัตตาหารที่โรงโคของท่านในวันรุ่งขึ้น

รุ่งเช้า ภิกษุผู้เถระทั้งหลายก็ได้ไปยังโรงโคของจิตตคฤหบดี จิตตคฤหบดีก็ได้อังคาสภิกษุผู้เถระทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญเพียงพอ ด้วยข้าวปายาสเจือด้วยเนยใสอย่างประณีตด้วยมือของตนเอง เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว ก็ลุกจากอาสนะกลับไป จิตตคฤหบดีได้เดินตามไปส่งภิกษุผู้เถระทั้งหลายข้างหลังๆ (คือ ตามไปข้างหลัง) ขณะนั้นเป็นเวลาร้อนจัด ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้เดินไปด้วยกายที่คล้ายจะหดเข้าฉะนั้น ทั้งที่ได้ฉันโภชนะอิ่มแล้ว

อากาศร้อนมาก เพราะฉะนั้น ก็ได้รับทุกขเวทนาจากการที่จะต้องเดินกลับไปที่อารามในขณะที่อากาศร้อนจัด

ในครั้งนั้น ท่านพระมหกะเป็นผู้อ่อนกว่าทุกองค์ในภิกษุสงฆ์หมู่นั้น ท่านพระมหกะได้พูดกับพระเถระผู้เป็นประธานว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมีลมเย็นพัดมาและพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ

ท่านพระเถระกล่าวว่า

ท่านมหกะ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมีลมเย็นพัดมาและพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ

เมื่อท่านพระมหกะได้ฟังดังนั้น ก็บันดาลอิทธิปาฏิหาริย์ให้มีลมเย็นพัดมาและมีแดดอ่อน ทั้งให้มีฝนโปรยลงมาทีละเม็ดๆ

ท่านจิตตคฤหบดีก็คิดว่า ภิกษุผู้อ่อนกว่าทุกองค์ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้เป็นผู้มี ฤทธานุภาพเห็นปานนี้ทีเดียว เมื่อท่านพระมหกะไปถึงอารามแล้ว ท่านก็ได้ถามพระเถระผู้เป็นประธานว่า การบันดาลฤทธิ์เท่านี้เป็นการเพียงพอหรือ

เพราะเหตุว่าพระภิกษุท่านก็เหน็ดเหนื่อย ถ้ามีสิ่งใดที่ท่านพระเถระผู้เป็นประธานต้องการ ท่านพระมหกะก็จะได้บันดาลให้

พระเถระผู้เป็นประธานก็ได้กล่าวว่า

เพียงพอแล้ว

จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาท่านมหกะถึงที่อยู่ และขอให้แสดงปาฏิหาริย์ เพราะ เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแสดงฤทธิ์ ท่านพระมหกะก็ให้จิตตคฤหบดีปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วก็เอาฟ่อนหญ้าโปรยลงที่ผ้านั้น แล้วท่านมหกะก็เข้าไปสู่พระวิหารใส่กลอน บันดาลให้เปลวไฟแลบออกมานอกห้องไหม้หญ้า แต่ไม่ให้ไหม้ผ้าห่ม ซึ่งก็ทำให้จิตตคฤหบดีตกใจกลัวสลัดผ้าห่ม

ท่านพระมหกะก็ออกมาจากห้องแล้วก็ถามว่า

การบันดาลฤทธิ์เท่านี้ เพียงพอไหม

ซึ่งจิตตคฤหบดีก็บอกว่าเพียงพอแล้ว แล้วเมื่อเห็นท่านพระมหกะเป็นพระภิกษุผู้มีฤทธิ์ เห็นความสามารถในทางสมณธรรมของท่าน ก็ได้ขอให้ท่านพระมหกะ พำนัก ณ อัมพาฏกวนารามที่น่ารื่นรมย์ ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ โดยที่ท่านจิตตคฤหบดีจักบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานเภสัชบริขาร

ท่านพระมหกะกล่าวว่า

ดูกร คฤหบดี นั่นท่านกล่าวดีแล้ว

ครั้งนั้น ท่านมหกะได้เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเดินทางออกจากราวป่าชื่อมัจฉิกาสณฑ์ ไม่ได้กลับมาอีกเหมือนกับภิกษุรูปอื่นๆ ที่เดินทางจากไป ฉะนั้น แม้ว่าท่านคฤหบดีจะมีความเลื่อมใสขอให้ท่านพำนักอยู่ และจะบำรุงให้ความสะดวกสบายแก่ท่านทุกประการ

แต่เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่ติดไม่ข้องในลาภ เพราะฉะนั้น แทนที่ท่านจะอยู่ ท่านก็จากไปโดยที่ไม่ได้กลับมาอีกเลย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 51


หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

ลาภปลิโพธ ติดข้องในลาภ หรือในปัจจัยที่คนเอามาถวาย

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ