พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการมีสติสัมปชัญญะ
ในคราวก่อนนั้นเป็นเรื่องของอัทธานปลิโพธ ซึ่งไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา และได้ยกตัวอย่างในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระองค์ได้เสด็จดำเนินทางไกลมาก เมื่อประทับ ณ พระนครราชคฤห์แล้ว ก็ได้ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า จะไปยังอัมพลัฏฐิกา และพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ก็ได้ไปสู่อัมพลัฏฐิกา
ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จดำเนินทางไกลไป ณ ที่ใดก็ตาม พระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงส่วนมากนั้นเป็นเรื่องของศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา
จากอัมพลัฏฐิกา พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปยังนาลันทคาม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ต่อจากนั้นก็เสด็จต่อไปปาฏลิคาม ได้ทรงแสดงธรรมเป็นอันมากทุกๆ แห่งที่เสด็จไป
จากนั้นเสด็จไปโกฏิคาม ได้ทรงแสดงธรรมเรื่องของศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถาเป็นอันมาก
จากนั้นเสด็จไปยังนาทิกคาม จากนั้นก็เสด็จไปยังเมืองเวสาลี ประทับใน อัมพปาลิวัน ซึ่ง ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมเรื่องของการมีสติสัมปชัญญะ ได้ทรงแสดงว่า อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
ทุกท่านเวลาที่เจริญสติปัฏฐาน คงจะต้องการทราบว่า พยัญชนะความหมายของสตินั้นคืออะไร และความหมายของสัมปชัญญะนั้นคืออะไร ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงอธิบายไว้แก่บรรดาภิกษุทั้งหลายว่า
อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาใน เวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัวในการก้าว ในกายถอย ในการแลในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว ในการลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุศาสนีของเรา สำหรับเธอ
ก็คงจะหมดความสงสัยว่า มีสติสัมปชัญญะนั้นคืออย่างไร
มีสัมปชัญญะ คือ การรู้สึกตัว ไม่ว่าจะเป็นในขณะไหน เป็นต้นว่า ในขณะยืนหรือเดิน หรือนั่ง นอน พูด หลับ ตื่น นิ่ง ลิ้ม เคี้ยว
คือ ทุกขณะ ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นแล เหลียว คู้เข้า เหยียดออก เป็นผู้มีความรู้สึกตัว
นี่ก็เป็นสัมปชัญญะ ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะความรู้สึกตัว จะต้องมีสติ คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมด้วย
เพราะฉะนั้น สองพยัญชนะนี้จะเห็นได้ว่า การเจริญสติไม่จำกัดเลย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด ในอิริยาบถใด กระทำการงานใด ขณะใดทั้งสิ้น
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...