พระอนาคามีบุคคล เวลาที่ท่านเจ็บหนัก อาพาธเป็นไข้หนัก

 
สารธรรม
วันที่  15 ก.ย. 2565
หมายเลข  43900
อ่าน  254

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สิริวัฑฒสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่งท่านพระอานนท์อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นสิริวัฑฒคฤหบดีอาพาธเป็นไข้หนัก ได้ให้คนไปกราบเท้าท่านพระอานนท์ ขอความอนุเคราะห์ให้ท่านพระอานนท์ไปบ้านของสิริวัฑฒคฤหบดี

ท่านพระอานนท์ก็รับคำด้วยดุษณีภาพ แล้วได้ไปยังบ้านของสิริวัฑฒคฤหบดี ครั้นแล้วก็ได้ถามถึงความไข้ของสิริวัฑฒคฤหบดี

สิริวัฑฒคฤหบดีก็ตอบว่า

ทุกขเวทนากำเริบหนัก ไม่เสื่อมคลาย ไม่ทุเลาเลย

ท่านพระอานนท์ก็ได้กล่าวกับสิริวัฑฒคฤหบดีว่า

ดูกร คฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

จักพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

จักพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

จักพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ดูกร คฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล

เป็นสิ่งที่ควรเตือนบุคคลที่กำลังเป็นไข้หนัก มีทุกขเวทนาเกิดขึ้นมากทีเดียวในขณะนั้นว่า สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดในขณะนั้น คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ

สิริวัฑฒคฤหบดีก็ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า

ธรรม คือ สติปัฏฐาน ๔ เหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในกระผม และกระผมย่อมเห็นชัดในธรรมเหล่านั้น ก็กระผมย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ .... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ .... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ กระผมยังไม่แลเห็นสังโยชน์ข้อใดข้อหนึ่งที่ยังละไม่ได้แล้วในตน

ท่านพระอานนท์ก็ได้กล่าวกับคฤหบดีนั้นว่า

ดูกร คฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว อนาคามิผลอันท่านได้กระทำให้แจ้งแล้ว

ขณะนั้นท่านพระอานนท์เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่คฤหบดีท่านนี้เป็นพระอนาคามีบุคคล เวลาที่ท่านเจ็บหนัก ท่านก็ให้คนไปกราบเท้าท่านพระอานนท์ แล้วขอความอนุเคราะห์ให้มาหาท่านที่บ้าน เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องไปวิเวกอยู่คนเดียว ไม่พบไม่เห็นใคร ไม่พูดอะไร เป็นอัธยาศัย เมื่อท่านต้องการพบผู้ทรงศีลเหนือกว่าท่าน คือ โดยธรรมท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่พระอนาคามีบุคคลเป็นผู้ที่ไม่หลงผิดในตน ตนเองเป็นฆราวาส เป็นคฤหัสถ์ มีคุณธรรมขั้นพระอนาคามี แต่ไม่ใช่บรรพชิต ทางด้านธรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ทางด้านศีล ผู้ที่เป็นบรรพชิตก็เป็นบรรพชิตตามความเป็นจริง คือ เป็นผู้ที่ทรงศีลมากกว่าฆราวาส

เพราะฉะนั้น เวลาที่คฤหบดีไม่สบาย ทั้งๆ ที่ท่านเจริญสติเป็นปกติ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ท่านก็ไม่ใช่ว่าวิเวก ไม่ต้องการพบ ไม่ต้องการเห็นใคร แต่ก็ยังให้คนไปกราบเท้าขอความอนุเคราะห์ท่านพระอานนท์ ซึ่งท่านพระอานนท์ก็แสดงธรรมีกถาที่มีประโยชน์ คือ ให้ระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ไม่ใช่มีแต่สิริวัฑฒคฤหบดี แต่ยังมีคฤหบดีท่านอื่นอีก อย่างเช่น มานทินนสูตร ข้อ ๗๙๓ มานทินนคฤหบดี เป็นพระอนาคามี ก็โดยนัยเดียวกัน

ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้ว คฤหบดีท่านนี้ก็จะไม่ไปนิมนต์ท่านพระอานนท์ไปที่บ้าน จะต้องอยู่วิเวกตามลำพัง แล้วพิจารณานามรูป แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นปกติธรรมดาทุกประการ

ถ. มีคนเขาพูดกันว่า ขณะที่มีเวทนากล้าไม่สามารถจะเจริญสติได้

สุ. เขาว่าก็ช่างเขา ท่านพระอานนท์ท่านว่าอย่างนี้ มิฉะนั้น ท่านพระอานนท์ก็ต้องบอกว่า ให้เวทนาลดคลายเสียก่อนแล้วจึงค่อยเจริญสติ เรื่องของเขาก็เรื่องของเขา เรื่องของพระไตรปิฎก เรื่องธรรม เรื่องของเหตุผล ต้องไตร่ตรอง สอบทานเทียบเคียงกับความเป็นจริงด้วย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 75


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ