โลภะ โทสะ โมหะ นี่เป็นตัวตน หรือไม่เป็นตัวตน

 
สารธรรม
วันที่  15 ก.ย. 2565
หมายเลข  43905
อ่าน  210

ถ. ผมอยากขอคำอธิบายละเอียดที่ว่า โลภะ โทสะ โมหะ นี่เป็นตัวตน หรือไม่เป็นตัวตน

สุ. โลภะเป็นสภาพของความพอใจ ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ยังละไม่หมด ความพอใจตามปกติของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน มากน้อยต่างกัน บางคนพอใจในรูปมากกว่าเสียง มากกว่ากลิ่น มากกว่ารส บางคนพอใจในเสียงมากกว่ารูป มากกว่ากลิ่น บางคนพอใจมากในรส สภาพของความพอใจเกิดขึ้นขณะใด ก็เพราะมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ขณะใดที่ความพอใจเกิดขึ้น สติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยนั้นๆ เกิดขึ้น

ถ้าไม่รู้ลักษณะของโลภะในขณะนั้นว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ก็จะยึดถือโลภะ ความชอบใจที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นในขณะนั้นว่าเราชอบใจ เราพอใจ แต่ความจริงสภาพของความพอใจก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติกับผู้ที่หลงลืมสติต่างกันที่ว่า ผู้ที่หลงลืมสติ เวลาที่เกิดความพอใจ ก็เป็นเราพอใจ เป็นตัวตน แต่ผู้ที่มีสติ เจริญสติ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของความพอใจที่เกิดปรากฏในขณะนั้นว่า เป็นลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ค่อยๆ คลายการยึดถือไปทีละเล็กทีละน้อย

โทสะ โมหะ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ โทสะเป็นความไม่แช่มชื่น ความหยาบกระด้างของจิตซึ่งเกิดเป็นประจำ ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ผู้ที่หลงลืมสติ เวลาที่โทสะเกิด ก็เป็นเราโกรธ แต่ผู้เจริญสติรู้ว่า ลักษณะที่ไม่แช่มชื่น หยาบกระด้างของจิตนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะไม่เหมือนโลภะ ไม่เหมือนเห็น ไม่เหมือนคิดนึก เป็นลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมแต่ละชนิด

เวลาที่หลงลืมสติก็เป็นเรา เวลาเห็นแล้วจำได้ทันที ที่จำได้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เวลาเห็นแล้วรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เป็นสัญญา ความจำทางตา เวลาที่ได้ยินรู้ว่าเสียงอะไร เป็นสัญญาทางหู ความจำทางหูไม่ใช่ความจำทางตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างกัน สภาพของความจำเป็นลักษณะนามธรรมชนิดหนึ่ง เวลาที่กำลังเห็นแล้วรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน เวลาที่ได้ยินเกิดขึ้นแล้วรู้ความหมายของเสียง สัญญาทางหูเกิดขึ้น รู้ทางหู จำทางหู เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งแล้วก็ดับ แม้แต่สัญญาความจำก็ดับ ทางตาก็ดับ ทางหูก็ดับ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดับทั้งนั้น

ถ้าระลึกได้อย่างนี้ เนืองๆ บ่อยๆ ก็ไม่หลงยึดถือสภาพนามและรูปว่าเป็นตัวตน


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 75


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ