แทงตลอดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ ได้ยากโดยแท้

 
chatchai.k
วันที่  16 ก.ย. 2565
หมายเลข  43913
อ่าน  296

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วาลสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ท่านพระอานนท์ได้เห็นลิจฉวีกุมารมากด้วยกัน กำลังทำการยิงศรอยู่ในศาลาสำหรับเรียนศิลปะ ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน โดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด ครั้นแล้ว ได้มีความคิดว่า พวกลิจฉวีกุมารเหล่านี้ที่จักยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน โดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด เป็นผู้ศึกษาแล้ว ศึกษาดีแล้ว

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลเรื่องที่ได้ไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี แล้วได้เห็นพวกลิจฉวีกุมาร ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน โดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด เป็นผู้ศึกษาแล้ว ศึกษาดีแล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือจะให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน คือ การที่จะยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน โดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด กับการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทราย ที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทราย ที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน กระทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ยากกว่า พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ชนเหล่าใดย่อมแทงตลอดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ชนเหล่านั้นย่อมแทงตลอดได้ยากกว่าโดยแท้ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เธอพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ถ้าเทียบกับข้อความในสูตรก่อน จะเห็นได้ว่า อายุของสังขารรวดเร็วยิ่งกว่าอย่างอื่น นามชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับทันที ทางตาก็เหมือนกัน ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นและดับไปนั้นเป็นทุกขอริยสัจ สำหรับผู้ที่รู้การเกิดขึ้นและดับไปของนามของรูปตามความเป็นจริง จะยากกว่าการยิงลูกศร หรือว่าการที่จะแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งแล้วเป็น ๗ ส่วน

นั่นเป็นการฝึกหัด นั่นเป็นทางโลก นั่นเป็นรูป แต่การประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรม ของนามของรูปแต่ละชนิดได้นั้น ต้องอาศัยความเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง เมื่อมีความเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว ยังต้องอาศัยอะไรอีก

เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เธอพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ถ้าไม่มีความเพียร จะระลึกลักษณะของนามที่กำลังปรากฏ รูปที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ไหม

ถ้าไม่มีความเพียร จะระลึกรู้ลักษณะของนามที่กำลังปรากฏ รูปที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ไหม

ถ้าไม่มีความเพียร ที่จะระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ปัญญาจะรู้ชัดได้ไหมว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เพราะฉะนั้น การรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว จะเพียงทีละเล็กทีละน้อยในวันหนึ่ง ก็จะต้องช้ามากทีเดียวจนกว่าจะสมบูรณ์เป็นญาณแต่ละขั้น เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยพระธรรมเทศนาให้เกิดความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปจึงจะรู้ชัดได้ ถ้าขาดความเพียรแล้ว ไม่มีหนทางเลย และต้องเป็นนามรูปตามปกติธรรมดา ถ้าต้องไปสร้าง ไปทำขึ้น เพิ่มความลำบากขึ้นอีกเท่าหนึ่ง เพราะต้องไปสร้าง ต้องไปทำความลำบากขึ้น แต่นี่ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องทำความลำบากอะไรเลย ในขณะนี้มีนามรูปเกิดปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย

สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือ เพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นเห็น เป็นสี เป็นเสียง เป็นได้ยิน ทุกอย่างเป็นของจริงที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด ข้ามไม่ได้ ถ้าข้าม ปัญญาก็ไม่สมบูรณ์ ไม่ละ ไม่คลาย ไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของแต่ละรูปแต่ละนาม

ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วาลสูตร ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี แล้วได้เห็นลิจฉวีกุมารมากด้วยกัน ยิงศรได้อย่างแม่นยำทีเดียว แล้วได้มากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า การที่จะยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน ในช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด กับการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน อย่างไหนจะกระทำได้ยากกว่ากัน

ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เป็นการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน แต่ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ เป็นการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๑๐๐ ส่วน เพราะเหตุว่าฉบับภาษาไทย ทั้งที่แปลเป็นภาษาไทยและเป็นฉบับภาษาบาลี ใช้คำว่า สตฺต ที่แปลว่า ๗ แต่สำหรับฉบับภาษาอังกฤษนั้นเป็น สต ที่แปลว่า ๑๐๐

นี่เป็นความต่างกัน ภาษาบาลีของไทยทั้งฉบับรัชกาลที่ ๗ ฉบับรัชกาลที่ ๕ เป็น สตฺต เพราะฉะนั้น การแปล ไม่ใช่ว่าแปลผิดจากบาลี บาลีเป็น สตฺต ก็แปลเป็น ๗ แปลตรง แต่เรื่องของภาษา เวลาที่ภาษาหนึ่งออกเสียงอย่างหนึ่ง แล้วภาษาไทยเราออกเสียงอีกอย่างหนึ่ง คล้ายคลึงกันมาก บางทีอาจจะเน้นเสียง แทนที่จะพูด สัตตะ เป็นสะตะ เพราะความใกล้ชิด แต่โดยสำนวน ท่านพระเถระผู้รู้ให้ความเห็นว่า ควรจะเป็น ๑๐๐ ส่วน เพราะเป็นการแสดงความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งของการที่จะแทงตลอดอริยสัจ ซึ่งยากกว่าการที่จะแบ่งขนทรายออกเป็น ๑๐๐ ส่วน

นี่เป็นเรื่องที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะแก้ไขไม่ได้ ที่จะมีผู้หนึ่งผู้ใดไปเปลี่ยนพระไตรปิฎก แก้จากสัตตะให้เป็นสะตะ ทำไม่ได้ เพราะจะต้องเป็นหมายเหตุของความต่างกันว่าในฉบับไหนอะไรเป็นพื้นฐานหรือมูลฐาน และได้รับมาจากทางไหน สายไหน เพราะเหตุว่าภาษาอังกฤษก็ต้องมาจากลังกา และครั้งหนึ่งลังกาก็มาจากไทย แต่ด้วยการออกเสียง อาจจะทำให้สะตะ เป็น สัตตะ หรือว่า สัตตะ เป็น สะตะได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 77


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ