ตั้งสติไว้มั่น คือ เป็นผู้ที่มีสติ ไม่หลงลืมสติ

 
สารธรรม
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43955
อ่าน  203

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา มีข้อความเรื่องสติระลึกที่ลมกระทบว่า

ภิกษุนั่ง ตั้งสติไว้มั่น

คำว่า ตั้งสติไว้มั่น คือ เป็นผู้ที่มีสติ ไม่หลงลืมสติ บางคนคิดว่า จะต้องให้เป็นสมาธิ สงบทีเดียว แต่ทุกครั้งที่พยัญชนะว่า ตั้งสติไว้มั่น หมายความถึง เป็นผู้ไม่หลงลืมสติ

ภิกษุนั่ง ตั้งสติไว้มั่นที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปาก ไม่ได้ใส่ใจถึงลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ออกหรือเข้า ลมอัสสาสะปัสสาสะ ออกหรือเข้าจะไม่ปรากฏก็หามิได้ จิตปรากฏเป็นประธาน จิตให้ประโยชน์สำเร็จ และบรรลุถึงผลวิเศษ เหมือนบุรุษตั้งสติไว้ด้วยสามารถฟันเลื่อยอันผูกที่ต้นไม้ เขาไม่ได้ใส่ใจถึงฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไป ฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไปจะไม่ปรากฏก็หามิได้

คือ ไม่ต้องติดตาม เพราะว่าถ้าติดตาม ต้องการรู้ จดจ้องลม จะทำให้จิตกวัดแกว่ง เพียงแต่มีสติรู้ลมที่ปรากฏที่กระทบ นั่นเป็นการรู้ลักษณะของลมหายใจ

สำหรับเรื่องของการเจริญอานาปานสติที่ว่า จะต้องเจริญให้ถูก มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะทำให้จิตตั้งมั่นได้ ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา ได้พูดถึงความละเอียดของอุปกิเลสซึ่งมีถึง ๑๘ ประการ แต่จะขอกล่าวเพียง ๖ ประการเท่านั้น

สำหรับอุปกิเลสที่จะมีในขณะที่เจริญอานาปานสตินั้น คือ

เมื่อบุคคลใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งลมหายใจออก จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายใน ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

เมื่อบุคคลใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งลมหายใจเข้า จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายนอก ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ความปรารถนา ความพอใจลมหายใจออก การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ความปรารถนา ความพอใจลมหายใจเข้า การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ความหลงในการได้ลมหายใจเข้า แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจออกครอบงำ ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ความหลงในการได้ลมหายใจออก แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจเข้าครอบงำ ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ถ้าพอใจ หรือหลงคิดว่า เป็นลมหายใจออกในขณะที่หายใจเข้า หรือหลงคิดว่า เป็นลมหายใจเข้าในขณะที่หายใจออก ก็ไม่ทำให้สติตั้งมั่น

และที่ว่า ถ้าตามลมหายใจเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จิตถึงความฟุ้งซ่านนั้น ใน สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มีข้อความเรื่องเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของลมหายใจไว้ด้วยว่า

การใช้สติไปตามนั้น ไม่ใช่ด้วยสามารถการไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ก็ลมออกภายนอกมีนาภีเป็นเบื้องต้น มีหทัยเป็นท่ามกลาง มีนาสิกเป็นที่สุด ลมเข้าภายในมีปลายนาสิก คือ ปลายจมูกเป็นเบื้องต้น มีหทัย คือ หัวใจเป็นท่ามกลาง มีนาภี คือ ท้องเป็นที่สุด

คือ ตามไปทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ทั้งกาย ทั้งจิตย่อมมีความกระวนกระวาย หวั่นไหว และดิ้นรน เพราะจิตฟุ้งซ่านในภายใน เมื่อกำหนดลมหายใจออกบ้าง ลมหายใจเข้าบ้าง หรือจิตย่อมฟุ้งซ่านในภายนอก เมื่อกำหนดลมหายใจเข้าบ้าง ลมหายใจออกบ้าง เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะติดตามได้ถูกต้องทุกระยะ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 86


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ