ภิกษุย่อมเห็นจิตในจิตอยู่ เห็นธรรมในธรรมอยู่ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ

 
สารธรรม
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43974
อ่าน  190

ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า

สมัยนั้น ภิกษุย่อมเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุใด

เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติ สำหรับผู้มีสติหลง ไม่มีสัมปชัญญะ

ถ้าหลง ไม่มีสัมปชัญญะ เวทนาเกิดก็ไม่รู้ หรือว่าธรรมชาติใดปรากฏก็ไม่รู้

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ดูกร อานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจะพิจารณาเห็นความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก หายใจเข้า

ภิกษุย่อมคลายกำหนัด หายใจออก หายใจเข้า

ภิกษุจักพิจารณาความดับ หายใจออก หายใจเข้า

ภิกษุจักพิจารณาความสลัดคืน หายใจออก หายใจเข้า

สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉยเสียได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ดูกร อานนท์ เปรียบเหมือนมีกองดินใหญ่อยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ถ้าเกวียนหรือรถผ่านมาในทิศบูรพา ก็ย่อมกระทบกองดินนั้น ถ้าผ่านมาในทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ย่อมกระทบกองดินนั้นเหมือนกัน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ย่อมจะกำจัดอกุศลธรรมอันลามกนั้นเสียได้

ไม่ใช่ให้จำกัด คือ รู้เฉพาะกายานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนาตามใจชอบ แต่จะต้องรู้จริง รู้ชัด รู้แจ้ง รู้ทั่ว จึงจะละได้

ถ้าใครยังไม่พิจารณาเวทนา อย่าคิดที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามรูป ไม่ใช่ว่าจะรู้กายอย่างเดียวโดยไม่รู้อย่างอื่น ถ้าโดยลักษณะนั้นแล้ว ปัญญาไม่เจริญ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่ได้พิจารณารู้เวทนาที่กำลังปรากฏ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่ได้พิจารณารู้จิตที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่หลงลืมสติ มีสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงชื่อว่า เป็นผู้มีสติ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 89


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ