บรรลุฌานขั้นต่างๆ โดยการที่มนสิการ อานาปานสติสมาธิ

 
สารธรรม
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43978
อ่าน  315

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ทีปสูตร มีข้อความว่า

อานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของสติที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มีข้อความต่อไปว่า

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า จะบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นอรูปฌาน

ผู้ที่สามารถเจริญรูปฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌานแล้วทิ้งนิมิต คือ รูป ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต แต่ใส่ใจในอากาศ จนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอากาสานัญจายตนฌานได้ จะต้องเป็นผู้มีวสี มีความชำนาญ มีความแคล่วคล่อง รู้เรื่องของการที่จะเจริญสมาธิในขั้นสงบประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่สามารถในการเจริญสติ ในการเจริญสมาธิแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถถึงขั้นที่จะบรรลุอรูปฌานได้

ผู้ที่จะเจริญอรูปฌานได้นั้นจะต้องบรรลุจตุตถฌานเสียก่อน ซึ่งเป็นฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์ แล้วทิ้งรูปนิมิต ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต จึงจะสามารถทำให้จิตตั้งมั่นคงในอรูปกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์สามารถที่จะพิจารณาลักษณะของลมหายใจได้จนกระทั่งถึงจตุตถฌานย่อมพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยการที่มนสิการอานาปานสติเป็นเบื้องต้น

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ ถ้าแม้ภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

สำหรับสัญญาเวทยิตนิโรธ ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล และพระอรหันตบุคคลที่ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว สามารถที่จะระงับดับจิตและเจตสิกได้ในระหว่างที่เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ จิต เจตสิกไม่เกิดเลย และรูปซึ่งเกิดจากจิตก็ไม่เกิดด้วย เพราะเป็นผู้ที่เห็นว่า การที่จิต เจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ไม่สาระอะไรเลย เพียงเห็นแล้วก็หมดไป ได้ยินเสียงแล้วก็หมดไป ได้กลิ่นแล้วก็หมดไป ได้รสแล้วก็หมดไป คิดนึกสิ่งต่างๆ แล้วก็หมดไป ถึงแม้ว่าจะเป็นความสงบของสมาธิก็ไม่เที่ยง ความสงบที่เป็นสมาธิเกิด แล้วก็ดับไปๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเกิดเลย ย่อมจะเป็นการสงบระงับอย่างยิ่ง แม้ในขณะที่ยังไม่สิ้นชีวิตไปจากโลกนี้ก็ตาม

เพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถจะดับจิต เจตสิกได้ด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น ก็มีแต่เฉพาะบุคคลที่เป็นพระอนาคามีบุคคล และพระอรหันต์ ผู้ที่ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วเท่านั้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 89


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ