กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

 
chatchai.k
วันที่  18 ก.ย. 2565
หมายเลข  44054
อ่าน  177

ขอทบทวนอีกครั้ง จากพระไตรปิฎก ที่ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววัน ๑ บ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

ระลึกที่กายของตนเป็นภายในก็ได้ เวลาเห็นคนอื่นก็ระลึกได้ โครงกระดูกทั้ง นั้นที่นั่งอยู่ที่นี่แน่นอนที่สุด กายก็เป็นเครื่องให้ระลึกได้ถึงความเป็นจริง คือ ความเป็น อสุภะ เวลานี้ยังไม่ขึ้นพอง ยังไม่เขียวน่าเกลียด น้ำเหลืองยังไม่ไหล แต่ทุกคนจะไม่พ้นสภาพอันนี้เลย ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ถ้าเกิดความรู้สึกว่าจะพอใจ จะยินดีในบุคคลที่เห็น ถ้าเพียงระลึกอย่างนี้ก็สังเวช แล้วก็สลด ละความยินดีพอใจในบุคคลที่เห็นได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี เพียงให้สติระลึกได้ แล้วก็รู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏ

อีกประการหนึ่ง ท่านที่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ในหมวดของกายานุปัสสนา อาจจะเคยได้ยินได้ฟังว่า ในหมวดของอานาปานบรรพก็ดี ในหมวดของปฏิกูลมนสิการบรรพก็ดี ธาตุมนสิการบรรพก็ดี หรือว่า อสุภบรรพก็ดี ถ้าท่านเคยได้ ยินได้ฟังมาว่า จะต้องเจริญฌานเสียก่อนแล้วจึงจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ก็ขอให้เข้าใจ ด้วยว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่สมาธิ ซึ่งสมถภาวนา หรือสมาธินั้น ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่มีในขณะนี้ ไม่ใช่การรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย นี่เป็นความต่างกันของสมาธิกับวิปัสสนา

ถ้าเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะโดยกัมมัฏฐานหนึ่งกัมมัฏฐานใดที่เป็นสมถภาวนาแล้ว เป็นการทำให้เกิดความสงบ ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่มีในขณะนี้ แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึก เพื่อรู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะ ไม่ต้องไปทำให้เกิดขึ้น

การได้ยิน ในขณะนี้ก็มีแล้ว เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้ได้ยิน การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการระลึก แล้วรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น การเจริญสติต้องรู้ลักษณะของสติว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ หรือว่าปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ อสุภบรรพในมหาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไปทำให้เกิดความสงบ หรือว่าไปทำให้ฌานจิตเกิดขึ้น แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเพื่อรู้ชัด ดังพยัญชนะที่ท่านทรงแสดงไว้ว่า

กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

กายนี้หมายความถึงนามกายด้วย สติเป็นนามกาย ผู้ที่มีกายแต่ไม่รู้ลักษณะของสติ เจริญสติไม่ถูก เจริญสติไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่า ขณะใดเป็นขณะที่หลงลืมสติ และขณะใดเป็นขณะที่มีสติ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 100


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ