ราคานุสัยนั้นย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยสุขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่

 
สารธรรม
วันที่  24 ก.ย. 2565
หมายเลข  44154
อ่าน  194

อีกสูตรหนึ่ง คือ ปหานสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงละราคานุสัยในสุขเวทนา พึงละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา พึงละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนา เพราะเหตุที่ภิกษุละราคานุสัยในสุขเวทนา ละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา ละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนาภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่มีราคานุสัย มีความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ

ราคานุสัยนั้นย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยสุขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่ มีปกติไม่เห็นธรรมเป็นเครื่องสลัดออก ปฏิฆานุสัยย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยทุกขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่ บุคคลเพลิดเพลินอทุกขมสุขเวทนาซึ่งมีอยู่ อันพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาประดุจปฐพีทรงแสดงแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์เลย

เพราะเหตุที่ภิกษุผู้มีความเพียร ละทิ้งเสียได้ด้วยสัมปชัญญะ เธอชื่อว่า เป็นบัณฑิต ย่อมกำหนดรู้เวทนาทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรม ถึงที่สุดเวทย์ เมื่อตายไป ย่อมไม่เข้าถึงความนับว่า เป็นผู้กำหนัดขัดเคือง เป็นผู้หลง ดังนี้

ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เป็นสุขเวทนา ถ้าไม่รู้สึกตัว ไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา หรือนามรูปในขณะนั้น ก็เป็นราคานุสัย เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่แสวงหาความสุขเพลิดเพลิน สุขเวทนา แล้วไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปในขณะนั้น เป็นผู้ไม่รู้สึกตัว เท่ากับผู้นั้นสะสมเพิ่มพูนราคานุสัยหนาแน่นมากขึ้นๆ เรื่อยๆ วันหนึ่งๆ มีความไม่พอใจ มีความขัดเคือง มีความไม่แช่มชื่น แต่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปในขณะนั้น เป็นผู้ที่ไม่รู้สึกตัว สะสมปฏิฆานุสัย แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติย่อมเป็นผู้ที่ละราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัยได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 111


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ