ลักษณะของเวทนา อุปมาเหมือนลมต่างชนิดที่พัดไป

 
สารธรรม
วันที่  24 ก.ย. 2565
หมายเลข  44164
อ่าน  287

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค วาตสูตรที่ ๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนลมต่างชนิด พัดไปแม้ในอากาศ คือ ลมทิศตะวันออกบ้าง ลมทิศตะวันตกบ้าง ลมทิศเหนือบ้าง ลมทิศใต้บ้าง ลมมีธุลีบ้าง ลมไม่มีธุลีบ้าง ลมหนาวบ้าง ลมร้อนบ้าง ลมอ่อนบ้าง ลมแรงบ้าง ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ดูเหมือนเรื่องธรรมดาแท้ๆ แต่กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังทรงโอวาทพระภิกษุในครั้งกระโน้น เพื่ออุปการะแก่การที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ซึ่งเป็นของธรรมดา อุปมาเหมือนกับลมต่างชนิดที่พัดไป คือ มีทั้งลมทิศตะวันออก มีลมทิศตะวันตก มีลมทิศเหนือ มีลมทิศใต้ ลมมีธุลีคือมีฝุ่นบ้าง ลมไม่มีธุลีคือไม่มีฝุ่นบ้าง เป็นลมหนาวบ้าง เป็นลมร้อนบ้าง เป็นลมอ่อนบ้าง เป็นลมแรงบ้าง ฉันใด เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ความรู้สึกบางครั้งแรงไหม โกรธนี่วัดได้เลย เหมือนกับลมต่างชนิด บางครั้งก็อ่อน เล็กๆ น้อยๆ แต่บางครั้งก็เป็นลมแรง แม้แต่ความรู้สึกโทมนัสบางครั้งก็เล็กน้อย แต่บางครั้งก็รุนแรงมาก หรือความรู้สึกโสมนัสก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็เล็กน้อย แต่บางครั้งก็ตื่นเต้นปลาบปลื้ม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีอยู่ที่กายสารพัดชนิด บางครั้งก็เป็นลมที่มีธุลี บางครั้งก็ปราศจากธุลี

สำหรับผู้ที่เจริญสติ ขณะที่เป็นกุศลจิต ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรม เวทนาที่เกิดร่วมด้วยก็เปรียบเหมือนกับลมที่ปราศจากธุลี คือ ไม่มีกิเลส ไม่เห็นผิด หรือหลงเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งถ้ายังเป็นไปกับกามคุณ เป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน เป็นไปกับการยึดถือหลงผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็เหมือนกับลมที่มีธุลี


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 112


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ